ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้ ยายละเมียด ชุมชนมหาดไทย 1 การัญ เพิ่มลาภ - [ 16 มิ.ย. 49, 11:04 น. ] การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองและครอบครัวได้อยู่รอดในสังคม สำหรับคนจนแล้วถือว่าเป็นการต่อสู้ที่แสนเจ็บปวดและมีอุปสรรคมากมาย บางคนอาจมีความเชื่อเรื่องบุญวาสนา หรือการเป็นกรรมเก่า แต่ถ้ามองในเชิงโครงสร้างทางสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นน่าศึกษายิ่ง คนจนถือว่าเป็นบุคคลชนชั้นล่าง (แบ่งตามโครงสร้างทางสังคม) บุคคลเหล่านี้แต่ชาติก่อนทำบุญมาน้อยจริง? หรือว่า เป็นกรรมแต่ชาติปางก่อน ทำให้ชาตินี้ต้องชดใช้กรรม นี่เป็นการมองจากความเชื่อทางไสยศาสตร์ แต่ถ้ามองลึกในเชิงวิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการกระทำจากโครงการสร้างทางสังคม ที่กดทับไม่ให้พวกเข้าได้มีโอกาสต่อสู้ เพื่อการดำรงชีวิตที่ดีกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ระบบทางเศรษฐกิจ ระบบทางการเมือง ฯลฯ ยายละเมียด วัย 61 ปี มีบุตร 3 คน เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ปัจจุบันอาศัยอยู่กับหลาน 2 คน ซึ่งแม่เด็กก็คือลูกแท้ๆ ของลูกสาวที่คลอดและทิ้งไว้ให้เป็นภาระ ยายละเมียดอาศัยอยู่ในชุมชนมหาดไทย 1 มาเป็นเวลา 3 ปี แต่ก่อนยายมีอาชีพขายขนมครกรายได้ก็พอจุนเจือครอบครัว แต่หลังจากสามีได้เสียชีวิตไป (ประมาณ 10 ปี) ยายละเมียดก็ต้องรับภาระในครอบครัวเพียงคนเดียว สำหรับจุดเปลี่ยนชีวิตของยายละเมียด คือเมื่อครั้งลูกสาวได้แต่งงาน ตัวลูกเขยเป็นคนไม่รับผิดชอบจึงหลอกยายละเมียดขายบ้านแล้วก็โกงเงินค่าบ้าน ยายละเมียดได้เงินประมาณ 100,000 บาท จึงตัดสินใจซื้อบ้านในชุมชนมหาดไทย 1 เพื่ออาศัยอยู่กับหลานวัย 12 ปี และรับจ้างเลี้ยงเหลน (ลูกของหลาน) มีรายได้เดือนละ 1,500 บาท รายได้ยายละเมียด ประมาณเดือนละ 1,500 บาท นั้นพอเพียงสำหรับการดำรงชีวิตไหม ไหนจะค่าเล่าเรียนของหลาน วันละ 20 บาท (ค่ารถ 10 บาท ที่เหลือเป็นค่าขนมอาหารกลางวันรับประทานที่โรงเรียน) ยายละเมียด มักตอบว่า ไม่พอแล้วจะเอาที่ไหน สำหรับลูกของยายที่เลี้ยงมาเติบโตมีครอบครัวมีฐานะทั้ง 3 คน ยังไม่ดูแลยายเลย จะมาบ้างก็ปีละครั้ง มาก็ไม่รู้มาทำไม มาเพื่อคิดถึงหรือมาตามหน้าที่ เงินก็ไม่เคยส่งมาช่วยเลี้ยงหลาน “พูดแล้วป้าก็ร้องไห้แบบไม่อายใคร” ที่ มีชีวิตอยู่ก็เพื่อหลาน กลัวหลานอด กลัวหลานลำบาก บางวันถ้าไม่มีเงินจริงๆ ก็ต้องไปกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 ที่สำคัญ กลัวว่าถ้าตายไปแล้วไม่รู้เขาจะอยู่กับใคร อดทนต่อสู้ต่อไป ข้าวปลาอาหารก็กินตามมีตามเกิด บ้างครั้งก็ได้จากเพื่อนบ้าง บุคคลใจบุญให้บ้าง เด็กชายวัชรพงษ์ บุญวิภักดิ์ อายุ 12 ปี เกิดมาไม่เคยเห็นหน้าพ่อ มีแต่แม่คนเดียว หลังจากเลิกเรียนก็ต้องมาดูแลหลานที่คุณยายรับจ้างเลี้ยงไว้ พร้อมทำความสะอาดบ้าน หรือช่วยงานบ้านต่างๆ เช่น ล้างจานและงานอื่นๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อแบ่งเบาภาระยาย เพราะสงสารยาย กลัวยายเหนื่อย น้องวัชรพงษ์บอกว่า ผมมีพ่อแม่ก็เหมือนไม่มี เคยเห็นแต่หน้าแม่หน้าตาพ่อเป็นอย่างไรไม่รู้ คุณยายบอกคำเดียวว่าพ่อตายแล้ว น้องวัชรพงษ์คิดในใจว่า พ่อตายจริงหรือเป็นการพูดเพื่อประชดชีวิตของคุณยาย ถามน้องว่าระหว่างแม่กับยายรักใครมากกว่ากัน น้องตอบแบบไม่ต้องคิดมาก “บอกว่ารักยายครับ” เพราะยายเลี้ยงผมมาตั้งแต่เล็ก แต่ถ้าเป็นไปได้ยากเจอหน้าพ่อแม่และยากอยู่กันแบบครอบครัวเท่านี้ก็มีความสุข น้องวัชรพงษ์วาดฝันไว้ว่า อนาคตจะตั้งใจเรียนหนังสือให้เก่งๆ เพื่อจะได้ทำงานดีๆ มีเงินเลี้ยงยาย ถ้ามีโอกาสอยากจะเป็นทหาร เพราะการเป็นทหารคือการเสียสละและมีความอดทน และได้ทำอะไรเพื่อประเทศชาติหรือทดแทนคุณที่เราเกิด เห็นการเสียสละของทหารแล้วมีความสุข การเรียนปัจจุบันถือว่าใช้ได้ แต่อนาคตถ้าไม่มีคุณป้าหรือเงินในการเล่าเรียนในระดับที่สูงกว่านี้ ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ชีวิตของยายละเมียดและน้องวัชรพงษ์ ถ้าพูดถึงบุญวาสนาหรือกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนคงจะมีกรรมเยอะนะ แต่ถ้ามองกับไปถึงระบบโครงการสร้าง การศึกษาถือว่าเป็นหัวใจของการพัฒนา ภาครัฐหรือส่วนที่เกี่ยวข้องต้องกับมามองระบบการศึกษาเสียใหม่ ถาม ว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบันดีไหมตอบได้เลยว่าดี แต่ก็มีบางส่วนที่ต้องแก้ไข เช่น ความเสมอภาคของระบบการศึกษา ระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท เด็กในเมืองมีโอกาสที่ดีมากมาย มีโรงเรียนกวดวิชา มีอุปกรณ์การศึกษาที่เพียบพร้อม ส่วนเด็กชนบทแค่เปรียบเทียบด้านอุปกรณ์การศึกษาก็แย่แล้ว ปากกับนโยบายก็บอกว่าจะปฏิรูปการศึกษาแต่การปฏิบัติกลับตรงกันข้าม ทำให้การศึกษาของไทยมีปัญหามากมายไม่ว่าประเด็นข่าวตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ นักศึกษาบางรายยอมขายบริการทางเพศ เพื่อจะได้เงินมาบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย หรือโลกของวัตถุนิยมสมัยใหม่ การแก้ปัญหานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ปวดหัวจนไม่มีเวลาทำอะไรแล้ว ทำไมจึงเกิดปัญหาก็เพราะการศึกษาของไทยสอนให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นทรัพยากร บุคคลที่มีค่าของชาติ คิดได้เพียงในกรอบ (1+1 จะต้องเป็น 2 นี่คือสูตรสำเร็จตายตัว ทำไมไม่เป็น 3 หรือ 4 อะไรก็ได้ที่เด็กคิด) เด็กจากมหาวิทยาลัยดังๆ หลายแห่งจบออกมา เห็นแก่ตัว ขาดการดูแลเอาใจใส่สังคม ไม่เหลียวแล ไม่รับรู้ปัญหา รู้แต่เพียงอย่างเดียวขอให้ตนเองและครอบครัวมีความสุขก็พอ นี่คือระบบการศึกษาของไทย หรือถ้าจะมองให้เห็นภาพที่ชัดเจน คือ การไปก๊อบปี้ระบบการศึกษาจากหลายๆ ประเทศ มารวมกันแล้วปรับใช้ เพื่อจะบอกกับสังคมโลกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งตรงกันข้ามการปูพื้นฐานเพื่อการรองรับสิ่งใหม่ของระบบการศึกษาเป็นสิ่ง ที่สำคัญ แต่ของเรากลับลืมมองจุดนี้ไป ฉะนั้น จึงควรกลับมาทบทวนและเริ่มต้นใหม่ของระบบการศึกษาไทย เพื่อให้มีอนาคตที่ดีกว่า “คิดใหม่ทำใหม่เพื่อคนไทยทุกคน” “นี่มันเป็นกรรมเก่าของยายละเมียดกับน้องวัชรพงษ์ หรือการกดทับทางสังคมทางด้านการศึกษา หรืออื่นๆ ที่ตามมามากมาย ที่ใครจะให้คำตอบได้ ” การัญ เพิ่มลาภ เจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชน มูลนิธิดวงประทีป
20 พฤษภาคม 2552 08:30 น. - comment id 105071
his is thailand
24 พฤษภาคม 2552 22:58 น. - comment id 105122
สวัสดีครับ ไม่ใช่ผมไม่เชื่อเรื่องกรรมเก่าน่ะครับ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า การใช้ชีวิตกับความเป็นอยู่จริงในสภาพความเป็นจริง ตรงนี้ต่างหากที่เป็นตัวชี้วัด ยายแกอาจจะมีบุญก็ได้ครับ เพราะอะไรเหรอครับ ก็เพราะท่านลำบากมามากมายแล้วไงครับ งั้นกับสภาพความเป็นจริงผมว่ายายแกคงมีกำลังใจแข็งแกร่งพอสมควรครับ แน่นอนครับ มีลูกแต่ก็เหมือนไม่มี ตรงนี้ผมว่าเจ็บปวดมากกว่าครับ ส่วนสิ่งที่จะรอให้สังคมหยิบยื่นความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นนั้น ผมว่าต้องรอให้มนุษย์ที่มีความอยากเกินเส้นขอบความเป็นจริง เหลือน้อยลงสักหน่อยครับ น่าจะมีอะไรดีขึ้นบ้างบนความเป็นจริง ....ส่วนลูกที่ไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ ยามท่านแก่เถ้า....พวกนี้แค่อาศัยร่างมนุษย์มาเกิดเท่านั้นครับ เพราะโดยส่วนลึกนั้นภายในยังเป็นสัตว์ประเภทที่ด้อยพัฒนาอยู่ครับ ไม่ทางได้รับความสุขหลอกครับ สัตว์ประเภทนี้...