ความแตกต่าง....ถูกกับผิด.... ???

คนกุลา

.
เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ตอนเที่ยง  ฟ้าเริ่มมืดเมื่อเราออกจาก
ตัวเมืองนครสวรรค์..หลังทานข้าวมื้อเย็น  ...นั่งรถฝ่าความมืดมาถึง 
หมู่บ้าน ประมาณตีหนึ่งของวันรุ่งขึ้น  บางคนในคณะที่ไปด้วยกันก็
เข้านอน..เพื่อพักผ่อนเอาแรง...
.
ผมพร้อมกับอีกบางคนซึ่งนอนมาในรถพอสมควรแล้วก็เลยนั่งผิงไฟ 
กินกาแฟและคุยกันจนกระทั่งเช้า  เมื่อฟ้าเริ่มสว่างขึ้นได้มามองเห็น
สภาพบ้านเรือนโดยทั่วไปของหมู่บ้านแม่ทา  เป็นหมู่บ้านชาวปาเกอะญอ  
มีชาวบ้านอยู่อาศัยประมาณ  ๑๕๐  หลังคาเรือน  ส่วนชื่อหมู่บ้านนั้น
ตั้งตามชื่อลำน้ำทาที่ไหลผ่าน เท่าที่ถามดูคร่าวๆ ก็  ทราบว่าได้มีการ
ตั้งบ้านเรือนมาไม่น้อยกว่า  ๗๐ ปี หลังจากนั่งคุยกันอยู่ที่ที่พักจน
ตกตอนบ่าย  หลานๆ และน้องชวนไปเที่ยวบ้านขุนแม่ทา  คำว่าขุน 
น่าจะหมายถึงต้นน้ำ ดังนั้นบ้านขุนแม่ทา  หมายถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ที่ 
ต้นน้ำแม่ทานั่นเอง
.
การเดินทางไปยังหมู่บ้านดังกล่าวมีวิธีเดียวคือการขับรถลงไปตาม
ลำน้ำแม่ทา  ซึ่งหน้านี้มีน้ำไม่มากนัก  ระยะทางอยู่ในราว  ๑๐  
กิโลเมตร  ดังนั้นจึงไม่กล้าคิดเลยว่าในหน้าน้ำมากๆ ชาวบ้านจะ
เดินทางกันอย่างไร  บ้านขุนแม่ทา  มีบ้านเรือนอยู่ ประมาณ ๓๐  หลังคา 
ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าปาเกอะญอ  เช่นเดียวกัน
.
ขณะขับรถขึ้นไปสองฝั่งลำน้ำมีสภาพเป็นไร่  นา สลับกับป่าไม้   หลาน 
ชายเล่าให้ฟังว่า  ชาวบ้านที่นี่พยายามรักษาต้นไม้ไว้  โดยเฉพาะ
บริเวณต้นน้ำหรือขุนน้ำ  บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ราชการเข้ามาตัดไม้
โดยผิดกฎหมาย  ก็จะถูกชาวบ้านล้อมจับ  และแจ้งไปทางอำเภอ 
ให้มารับตัวไปอีกทอดหนึ่ง  แต่ในขณะเดียวกัน  เวลาที่ชาวบ้านใน
หมู่บ้านไปตัดไม้มาทำบ้านเรือน  ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุม
เช่นกัน  โดยเฉพาะช่วงที่กำลังชักลากจากป่าเข้ามาในหมู่บ้าน  
ก็ดูมีการถ่วงดุลย์กันดีนะ ผมเปรยขึ้นมาบ้าง  ด้วยอคติเข้าข้าง
ชาวบ้านที่มักจะซ่อนไว้ไม่มิด
.
หลายชายคนที่ขับรถและเล่าเรื่องนี้  คือคนที่กำลังจะเข้าพิธีวิวาห์
ในวันพรุ่งนี้กับเจ้าสาวชาวปาเกอะญอ  เรือนหอผม  ก็จ่ายค้าจ้าง 
เลื่อยไม้  และจ้างลากไม้และค่าสร้างบ้าน รวมๆ แล้วตกสองแสนบาท
เขาเล่าอีก  แต่ผมคะเนดูด้วยตาเบื้องต้นแล้วถ้าเป็นบ้านที่เราสร้าง 
ในเมืองก็ตกไม่ต่ำกว่า  สอง-สามล้านบาทขึ้นไป  แม้จะไม่เห็นด้วย
กับการสร้างบ้านของเขานัก  เพราะรู้สึกว่าจะเป็นการใช้ไม้มากเกิน
ความจำเป็น  แต่ผมก็ไม่ได้พูดอะไรต่อ
.
บ้านของชาวบ้านที่นี่  โดยทั่วๆ ไปเป็นทั้งบ้านและร้านขายไม้  คือเป็น 
บ้านที่เขาใช้พักอาศัยและทำกิจกรรมอื่นๆ เหมือนกับบ้านของเราๆ 
ท่านๆ โดยทั่วไป  แต่ตัวบ้านของเขามีหน้าที่อีกอย่างคือฝาและพื้นบ้าน
ใช้เป็นที่เก็บไม้สำหรับขายไปในตัว  โดยเขาจะกั้นฝาและพื้นใน
ลักษณะชั่วคราว  เพื่อความพร้อมที่จะงัดออกมาขายหากต้องการใช้เงิน   
ในราคาตกแผ่นละ ๑๕๐ บาท  และหลังจากนั้นก็กลับเข้าป่าไปเลื่อย
ไม้แผ่นจำนวนเท่าเดิมมาทดแทนไว้ดังเดิม  ภายในเวลาไม่เกิน
สองสัปดาห์  พูดตรงๆ ก็คือชาวบ้านที่นี้มีอาชีพรับจ้างและเลื่อยไม้ขาย
.
บ้านของชาวบ้านโดยทั่วไปจะสร้างโดยไม้สักทั้งหลัง หรือไม่ก็ใช้ไม้สักเป็นเสา  พื้นและไม้เครื่องแล้วกั้นด้วยไม้ไผ่สานเป็นฟาก  ส่วนไม้แดง  หรือไม้ที่เราเห็นเป็นไม้มีค่าอื่นๆ เช่นไม้ตะเคียนทอง  เขาใช้ทำฟืนกัน  แต่ก็นับว่ายังดีกว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่ผมมาร่อนเร่อยู่แถวนี้  ซึ่งจำได้ว่าเขาใช้ไม้สักมาทำฟืนกัน  ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวปาเกอะญอแล้ว  ไม้ทุกต้นมีเจ้าของ  การเป็นเจ้าของนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในชุมชน แม้จะอยู่ในแปลงที่รัฐถือว่าเป็นที่ ป่าสงวน   ก็ตามที  ชาวบ้านที่นี่ก็เหมือนชาวเขาเผ่าอื่นๆ นอกจากมีการทำนาข้าวและปลูกกระเทียมซึ่งทำอย่างถาวรแล้วก็มีการทำไร่หมุนเวียน  คือแต่ละครอบครัวจะมีที่จำนวน สี่-ห้าแปลงและทำไร่หมุนเวียนกันไปแปลงละหนึ่งปี  จนครบปีที่สี่ ที่ ห้า ก็จะวนกลับมาสู่ที่เดิม  นัยว่าจะเป็นการให้ที่ดินได้พักสาม สี่ ปี  โดยถางและเผาต้นไม้ที่งอกขึ้นมาใหม่  เพื่อเป็นปุ๋ยให้ต้นพืชที่ปลูกต่อไป
.
ดูไปแล้วทัศนคติและความเชื่อหลายอย่างดูแปลกแปร่งสำหรับ คนในเมืองเช่นเราท่านทั้งหลาย  ซึ่งนั่นก็ต้องนับรวมบรรดาท่านที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ต้องรักษากฎหมายด้วย   ความแตกต่างทางความคิด และความเชื่อเหล่านี้  นำไปสู่ความแปลกแยกและใช้กำลังจับกุมดังที่หลานได้กล่าวไปตอนต้น  ดีที่ทั้งสองฝ่ายใช้กำลัง  โดยที่อิงอยู่กับกฎหมาย โดยเฉพาะฝ่ายชาวบ้าน มิฉะนั้นก็อาจจะมีข้อหาการกระทำผิดอื่นๆ ตามมาอีกแน่นอน 
ดีนะ ที่ที่นี่เป็นชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ไม่ใช่ชายแดนสามจังหวัดภาคใต้  มิฉะนั้น ปัญหาคงจะไม่สามารถจบลงแบบง่ายๆ อย่างที่เป็นอยู่ก็ได้  ผมกล่าวขึ้นเบาๆ  และอดที่จะคิดและกังวลใจอยู่เงียบๆไม่ได้
.
เพราะถ้าจะว่าไปแล้วความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก  คงเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้นกระมังที่แตกต่างกัน  และที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาอย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้น
.
จากตัวอย่างเรื่องที่กล่าวมา  ฝ่ายรัฐหรือแม้แต่เราเองมองว่าชาวบ้านกำลังใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า  และทำลายต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญๆ ในประเทศนี้  ขณะที่ชาวบ้านก็มองว่าเขาอยู่ที่นี่ ดำเนินวิถีชีวิตแบบนี้มานับหลายชั่วอายุคน  เจ้าหน้าที่ของเราต่างหากที่เข้าไปพยายามเปลี่ยนแปลงเขาโดยที่เขาไม่ยินยอม  โดยที่เจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายอยู่ในมือ
.
เขาจึงสรุปว่าเจ้าหน้าที่ต่างหากที่ข่มเหงรังแกเขา  อีกทั้งเจ้าหน้าที่หลายส่วนที่ทำผิดกฎหมายเสียเอง  โดยที่เข้าไปตัดไม้เพื่อการค้าอย่างผิดกฎหมาย  ความคิดและความเชื่อเหล่านี้ดูไปก็เหมือนเส้นขนานที่ยากจะหาจุดที่จะมาบรรจบกันได้อย่างลงตัว
.
เมื่อขับรถไปถึงบ้านขุนแม่ทา  หลังจากทักทายชาวบ้านที่รู้จักแล้ว  หลานชายก็พาเราไปดูโรงเรียน  ซึ่งมีป้ายบอกว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน  มีครูเพียงคนเดียวซึ่งต้องสอนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปด้วย  ดูๆ ไปก็คล้ายกับหมู่บ้านในพื้นราบ  ที่เป็นไปในลักษณะนี้เมื่อประมาณ ๔๐ ๕๐  ปีก่อน
.
ตอนขับรถขากลับลงมาตามทางเดิม  ที่จริงน่าจะพูดว่าตามทางน้ำสายเดิมมากกว่า  เราสวนกับชาวปาเกอะญอชายหญิงคู่หนึ่งอายุราวๆ  ๒๔-๒๕ ปี อุ้มลูกน้อยอายุราวขวบกว่าเดินสวนขึ้นมา  ลูกเขาไม่สบาย  เขาพาลูกไปหาหมอที่ตลาดแม่ลาน้อย  ไปตั้งแต่เมื่อวานแล้ว  เพิ่งกลับ  หลานชายเล่าเบาๆ  เขาต้องเดินจากจุดนี้ไปอีกครึ่งวัน  จึงจะถึงบ้านเขา หลานชายเล่าต่อ  อ้าวแล้วเมื่อคืนเขาพักที่ไหนละ ผมถามอย่างงงๆ  ก็คงพักกับญาติในหมู่บ้านห้วยแม่ทามั๊ง  หลานชายตอบแบบไม่มีอารมณ์อะไร  ขณะที่สำหรับผมเมื่อเจอเรื่องพวกนี้ก็อดคิดถึงความไม่ยุติธรรม  ในการรับบริการจากรัฐของคนยากคนจนไม่ได้สักที  อารมณ์นี้นี่เองที่ทำให้ตัวเองต้องลำบากใจ  บ่อยครั้ง  
.
อ้อ เขาไม่ได้อยู่ที่บ้านขุนแม่ทา  หรอกเหรอ ผมถามขัดขึ้น  อย่างแสดงความสนใจ
.
บ้านเขาอยู่ลึกเข้าไปในป่า  เ ลยบ้านขุนแม่ทาเข้าไปอีก หลานชายขยายความเมื่อเห็นว่าเราอยากรู้
.
แวบหนึ่งของความรู้สึก  อดไม่ได้ที่จะคิดไปถึงพวกเขาสามคนแม่ลูกที่สวนกันเมื่อสักครู่  เพราะตามมาตรฐานของเราแล้ว ชีวิตของเขาดูน่ารันทดในสายตาเราค่อนข้างมาก  แต่ถ้ามาคิดให้ดี  เขาเองก็อาจคิดรันทดต่อชีวิตของเราอยู่เช่นเดียวกันก็เป็นไปได้  ที่ต้องอยู่กับความจอมปลอมต่างๆ  เพื่อแลกกับความสะดวกสบาย  หรือถ้าพูดให้ตรงที่สุดคือ  ยอมทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ตัวตนของตนเอง  ขอเพียงได้เป็นทาสของความทันสมัยและเทคโนโลยีที่ต้องซื้อหามาด้วยราคาแสนแพง
.
ผมนั่งคิดอะไรคนเดียวเงียบๆ  มาจน ใกล้ถึงหมู่บ้านแม่ทาราวๆ ๑-๒ กิโลเมตร  จึงเอ่ยบอกหลานขึ้นว่า  เดี๋ยวจอดส่งอาว์ที่นี่แหละ  อาว์จะเดินเล่นสักพัก  และเดี๋ยวจะเดินเข้าไปในหมู่บ้านเอง  ผมบอกหลานชาย  แต่จุดประสงค์ที่แท้ก็คือ ต้องการลงเดินก็เพราะเห็นมีก้อนหินสวยเรียงรายอยู่ในลำน้ำแม่ทาที่กำลังไหลเอื่อยริน  จึงอยากเก็บเพื่อไปฝากเพื่อนคนหนึ่งที่รู้ว่าเธอชอบสะสมหินสวยๆ  แวบแรกก็ไม่มั่นใจว่าเราจะเก็บก้อนหินไปฝากได้สวยถูกใจเธอหรือเปล่า  แต่หลังจากเริ่มเลือกเก็บก้อนหินอยู่สักพักหนึ่ง  ก็พบว่าตนเองเกิดความสุขสงบอย่างประหลาด  เป็นความรู้สึกที่ยากจะเกิดขึ้นได้ในท่ามกลางความเร่งรีบของเมืองใหญ่  คิดแล้วก็รู้สึกขอบคุณเพื่อนคนนั้น  ที่แนะนำให้เราได้มาพบแง่มุมของความสงบเช่นนี้
.
จากการทบทวนเรื่องที่ผ่านเข้ามาในความคิดคำนึงในช่วงสองสามวันนี้  หรือว่าแท้ที่จริงแล้วพวกเราทุกๆ คนก็กำลังใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  เพื่อจุดมุ่งหมายส่วนตัวอยู่ด้วยกันโดยถ้วนทั่ว......จะต่างกันก็แต่ที่แต่ละคนก็มีเหตุผลและวัตถุประสงค์ในการใช้ของตนเอง  อาจจะไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน  หากแต่เราแต่ละคนเคยหยุดคิดบ้างสักนิดไหมว่า  เหตุผลของผู้อื่นที่กำลังทำในสิ่งที่แตกต่างและเราไม่เห็นด้วย  จริงๆ นั้นคืออะไร  และเขาทำเพราะอะไร  ในขณะเดียวกันเราเองมีบ้างไหมที่กำลังทำสิ่งที่อยู่ในลักษณะที่แทบจะนับได้ว่าเป็นการกระทำในระนาบเดียวกันกับการกระทำของผู้อื่นที่เรากำลังประนามเขาอยู่  
.
เพราะหากทุกคนทำได้ดังนั้นผมคิดว่า  โลกเรานี้คงจะสงบและน่าอยู่ขึ้นอีกมาก  หรือท่านละครับ...ว่าอย่างไร..กันบ้าง..เอ่ย
""""""""""""""""""""""				
				
comments powered by Disqus
  • อัลมิตรา

    22 เมษายน 2552 21:15 น. - comment id 104729

    แลกเปลี่ยนความคิดเห็นไม่ได้เลย 
    ประสบการณ์ด้านนี้ของอัลมิตราไม่มีสักกะติ๊ด
    
    รู้แต่วา ความแตกต่างของถูกกับผิด ก็คือ 
    ผิดเป้นครู .. ถูกเป็นนักเรียน แหะ แหะ
  • พุด

    22 เมษายน 2552 21:17 น. - comment id 104730

    1.gif16.gif
    
    http://blogazine.prachatai.com/user/ongart/post/1907
  • คนกุลา

    22 เมษายน 2552 23:37 น. - comment id 104731

    ก็แลกเปลี่ยนแบบคนไม่รู้ก็ได้นี่ นา
    
    เขาเรียกการวิจัย ไง ครับ   ใช้คำถามเป็น
    
    สำคัญ ครับ
    .
    ผิดเป็นครู นั่นดี แต่อย่า ถึงกับผิดเป็นอาจารย์ ก็แล้วกัน  บรื๋ออออออ..!!!
    
    นะครับ คุณอังมิตรา....ส่วนถูก เป็นนักเรียน
    
    นั้นไม่ตอบ ครับ....1.gif36.gif
  • คนกุลา

    22 เมษายน 2552 23:51 น. - comment id 104732

    ขอบคุณ คุณพุด ที่แนะนำบทความ  ความเคลื่อนไหว และการเสียชีวิตขิง พ้อเลป่า
    ปราชญ์ชาวบ้านชาวปกาเกอะญอ มาให้
    .
    แรงบันดาลใจจากการเขียนเรื่องนี้แม้ไม่ได้มาจาก ความคิดของ พ้อเลป่า โดยตรง แต่ก็ปฏิเสธ ไม่ได้ว่าบางแง่มุม เป็นแนวความคิดเดียวกัน  จึงได้รับอิทธิจากงานของ ปราชญ์ชาวบ้านท่านนี้ มาไม่น้อย 
    
    คนกุลา จึงขอถือโอกาสนี้ ขออ้อนวอนพระเจ้าที่ พ่อเลป่า นับถือ จงมารับวิญญาณ ของท่านไปสถิตย์ ณ สรวงสวรรค์ ที่มีน้ำพุแห่งนิรันดร์
    ผุดพรายอยู่ชั่วกัปป์กัลป์ เพื่อรอล้างบาป ให้กับผู้คน
    
    ขอคารวะ ปราชญ์ชาวบ้านผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้ จริง
    
    ขอขอบคุณ พุด พุดพัชชา ที่มาส่งข่าวแนะนำ ครับ 36.gif
  • ครูพิม

    23 เมษายน 2552 11:04 น. - comment id 104735

    1.gif
    
    ผิดเป็นครู...อืมนะ..ผิดเป็นครูจริงๆ
    
    เมื่อวันที่ ๑-๕ เมษายนที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปแอ่วเมืองเหนือ.ไปร่วมทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษาพบเห็นความสวยงามของน้ำใจผู้คน 
    แต่ชวงเวลานั่งรถจากเมืองเลย ผ่านอ.ภูเรือ
    ด่านซ้าย เห็นร่อยรอยป่าที่ถูกเผา อดคิดไม่ได้ว่า
    มีอะไรในนั้นต้องล้มตายและบาดเจ็บบ้างหนอ
    สัตว์เล็กสัตว์น้อยจะหนีตายกันจ้าละหวั่น..
    พืชพรรณหลายชนิดถูกเผาไหม้..และมีบางต้น บางกอที่ผลิดอก แตกใบอ่อนประดับป่า..
    
    และที่สำคัญทึ่งในฝีมือของคนบนดอยสูงเพียงใดยังปีนป่ายไปทไร่..แล้วคนที่เฝ้าป่า ดูแลป่า.
    ปล่อยให้คนเหลานั้นไปจับจองเป็นเจ้าของได้อย่างไรกัน..
    
    ขอบคุณกับเรื่องที่สะท้อนให้เห็นแนวคิดดีดีคะ
  • คนกุลา

    23 เมษายน 2552 15:12 น. - comment id 104737

    สวัสดี ครับ ครูพิม
    การพัฒนาที่ผ่านๆมา หลายครั้งขาดการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น และมองเพียงการพัฒนาวัตถุ แต่เพียงมุมมองเดียว
    
    ทำให้ขาดมุมในหลายๆด้าน เมื่อทำโครงการ หรือดำเนินกิจกรรม ไปแล้วก็เกิดผลกระทบด้านลบอีกหลายๆด้าน เช่นชีวิตที่ดีงาม สงบ พอเพียง  ดังนั้น เราอาจต้องมองกันใหม่  ที่นักวิชาการบอกว่าต้องเปลี่ยน paradigm กันเลย 
    แล้วออกแบบการพัฒนาที่มองแบบบูรณาการ
    ในทุกๆด้าน ครับ  
    
    ชักจะเข้าห้องเรียน ไปหน่อย แล้ว  จบก่อนดีกว่า นะครับ 
    
    ขอบคุณครูพิม อีกครั้งครับ ที่มาเยี่ยมบ้าน ครับ
  • อนงค์นาง

    23 เมษายน 2552 18:05 น. - comment id 104739

    เคยเป็นครูบ้านป่าสอนนักเรียนชาวเขาเผ่าย้อที่กาฬสินธุ์อยู่สองปี ยังประทับใจไม่เคยลืมเลยค่ะ
    เป็นชีวิตที่สงบ อยู่กับธรรมชาติ เสียงจิ้งหรีดเรไร น้ำใจชาวบ้าน ที่ไม่ต้องหาซื้อด้วยเงินตรา
    ตอนพักกลางวันอนงค์นางนั่งกินส้มตำรสจัดจ้าน มีข้าวเหนียวห่ออุ่นๆหอมละมุน  
    คุยกับนักเรียนใต้ต้นไม้ สายลมพัดโชยอ่อน หอมกลิ่นดอกไม้ป่า สวรรค์ไม่ปานค่ะ
  • โคลอน

    24 เมษายน 2552 17:46 น. - comment id 104750

    มนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายไงคะ
    
    ตราบใดที่มีการทดแทนในสิ่งที่ต้องเสียไปก็พอให้อภัยได้
    
    เมื่อตัดต้นไม้ก็ต้องปลูกต้นไม้ด้วย
    
    ประมารนี้มังคะ...น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
    
    แต่น้อยคนที่จะยอมชดเชยความสูญเสียหากตัวเองไม่ได้จนพอใจเสียก่อน...
    
    
    ปล.เพื่อนคุณที่ชอบ สะสมหิน นี่ เหมือน โคลอน เลยค่ะ 
    
    แม่น้ำโขงสมัยก่อนจะมีหินเยอะมากๆเวลาไปว่ายน้ำเล่นกันตอนเย็นสิ่งที่จะพกกลับมาเต็มเสื้อก็คือหินเล็กๆลายสวยๆคัดสรรมาแล้วว่าอยู่ในโหลที่ใส่น้ำได้พอดี.......นานเข้าไม่มีโหลก็เลยจัดสวนหินเล็กๆไว้ดูเล่น...แต่ดูยังไงความงามของหินก็ไม่สวยเท่ากับตอนที่เราเห็นครั้งแรก ริมแม่น้ำเลยนะคะ
    
    ตอนนี้พอมีท่าน้ำที่ป้องกันการกัดเซาะของน้ำ หินสวยๆก็หายไปหมด...เวลาหน้าแล้งก็จะมีเกาะแก่ง ก้จะมีหินก้อนใหญ่ๆโผล่มาให้เห็นบ้าง ก็จะเห้นชาวบ้านนั่งเรือไปขนหินกลับมาขาย.....
    
    
    กลัวเหลือเกิน...กลัวว่าแม่น้ำโขงจะไม่มีหินสวยๆตามธรรมชาติ
    
    และทำให้ย้อนคิดถึงตัวเองตอนเป็นเด็กที่ชอบเก็บหินกลับมาบ้านเพราะหลงใหลในความงาม หากแต่ลืมคิดไปว่า
    
    
    ความงามใดฤาจะเท่าความงามที่เกิดจากธรรมชาติ...
    
    มนุษย์เราก็คงเป็นแบบนี้มังคะ อยากเป็นเจ้าของธรรมชาติแต่ก็ไม่สามารถรักษาความงามตามธรรมชาติไว้ได้
    
    
    
    เผลอแป๊บเดียวพิมพ์เป็นหางว่าวเลย65.gif
    
    ถือว่าเล่าสู่กันฟังเนาะ
    
    
    ยินดีที่ได้รู้จักด้วยนะคะ40.gif36.gif
  • คนกุลา

    26 เมษายน 2552 09:08 น. - comment id 104761

    ครับ ความประทับใจแบบนี้  จะอ้อยอิ่งอยู่ในบางซอกหลืบของอารมณ์และจิตใจ อยู่ได้เป็นนานๆ รอเวลาอีกบางเหตุการณ์ มากระตุ้นมันก็จะรินไหลออกมา แบบเป็นไปเอง  ผมเองก็เคยไปทำค่ายชาวเขาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ
    เคยไปแถบเชียงราย แม่ฮ่องสอน  ทั้งเผ่าอาข่า ปกาเกอะญอ  จนวันหนึ่งได้ไปเยือนแถบนั้นอีก ก็เลยเขียนมาเล่ากันฟัง  ครับ คุณ อนงค์นาง ตามเรื่องนั่นแหละ ครับ 
    
    ขอบคุณที่มาคุยและเยี่ยมเยียนกัน ครับ
    
    36.gif36.gif36.gif
  • คนกุลา

    26 เมษายน 2552 09:23 น. - comment id 104762

    สวัสดี ครับคุณโคลอน...36.gif
    
    เห็นด้วยอย่างยิ่ง ครับ  การใช้ที่เหมาะสมกับการสร้างและฟื้นฟู เท่านั้น ที่จะทำให้ ธรมชาติกับชีวิต สามารถอิงอาศัยอยู่ร่วมกันนได้านที่สุด ผมคิดอย่างนั้น
    
    ปัญหาที่คุณโคลอนเห็นมันกำลังเกิดขึ้น ผมคิดว่ามันต้องช่วยกันหาทางแก้ไข  ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อม มักจะเกิดปรากฏการณ์ แบ Butterfly Effect  ที่ แม้ เพียงผีเสื้อขยับปีก ก็อาจสะสมจนอาจเกิดเป็นพายุที่รุนแรงได้ ในที่สุด
    
    เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน  ตอนนี้อาจจะแค่หินสวยๆหายไป   ในวันหนึ่งอาจจะกลายมาเป็นพายุโคลน หินถล่มมากับสายน้ำโขงอันเคยการุณย์ ก็ได้  คุณโคลอน คงไม่หาว่าผมมองโลกในแง่ลบจนเกินไป เพราะเหตุการณ์แบบนี้ เกิดขึนบ่อยขึ้น  ดังนั้นการป้องกันปัญหา  ก็ต้องการจินตนาการ  ด้วย  ดังนั้นคนเขียนเรื่องแบบเรา อาจจะช่วยจินตนาการ เพื่อทำให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบ ได้สนใจและใส่ใจ ให้มากขึ้น ขอบคุณที่มาเยี่มเยียน กันครับ
    
    คุณโคลอน ครับ   36.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน