ถ้าเราแต่งงานกัน เรามีลูกคนเดียวพอนะคะ นิล อยากมีลูก อืม หมอว่ามีลูกตอนอายุเยอะไม่ดีนะ เดี๋ยวลูกปัญญาอ่อน จะเป็นไรไปล่ะ พี่ก็เก่ง นิลก็ไม่ได้ไม่ฉลาดนี่คะ หมอว่าผู้ชายอายุเยอะแล้วมีลูกไม่ดีหรอก สงสารลูกถ้าลูกปัญญาอ่อน แล้วเลี้ยงลูกยากนะ รู้ไหม จะยากแค่ไหนเชียว นิลครุ่นคิดถึงการสนทนากับแฟนหนุ่มทั้งคืน ลูกของเราคงน่ารักแน่ๆเลย เป็นสิ่งที่นิลคิดในใจเสมอ แต่แฟนของเธอไม่เห็นด้วย เดี๋ยวลูกดื้อเหมือนแม่ เวลาอารมณ์ดี แฟนของนิลจะแย้งด้วยประโยคนี้เสมอ พี่พร นิลอยากมีลูก นิลเปิดหัวข้อสนทนากับเพื่อนร่วมงานแต่เช้า อืม อายุก็เยอะแล้วนี่ มีได้แล้วล่ะ แต่ว่าเลี้ยวลูกนี่ลำบากพอดูนะ พี่มีสองคนก็แย่แล้วนี่ ทำไมใครๆก็ว่ามีลูกแล้วลำบากนะคะ เห็นมีกันทุกคน ตอนยังไม่มีก็อยากมีหรอก เห็นลูกคนอื่นน่ารักก็อยากมี แต่มีจริงๆแล้ว กว่าจะโต เหนื่อยนะ จริงเหรอคะ อยากลองบ้างจัง มีใครฝากเลี้ยงสักวันสองวันไหมเนี่ย บ้าจังนะเธอเนี่ย เออ น้องสาวพี่ที่เป็นพยาบาลเล่าให้ฟังว่าเมื่อวานมีคนเลี้ยงเด็กพาเด็กที่มูลนิธิมาหาหมอ มีแต่คนน่ารักนะ ถ้าอยากลองเลี้ยงก็ไปสมัครเป็นอาสาสมัครสิ โอย พี่พร ต้องทำงานนี่คะ จะไปได้ยังไงคะ ก็เสาร์-อาทิตย์ไงล่ะ ลองดูสิ จะได้รู้ใจตัวเองว่าอยากมีอยู่อีกไหม น่าสนใจนะคะ เดี๋ยวไปปรึกษาพี่เขาดูก่อนนะคะ แหม เกรงใจตั้งแต่ยังไม่แต่งงานเลยนะ ถ้าแต่งแล้วจะไม่หงอเหรอเนี่ย พี่พรกระเซ้านิลจนนิลหน้าแดงด้วยความอาย พี่พรก็ ไม่คุยด้วยแหละ ไปทำงานต่อดีกว่า หลังจากนั้นนิลก็ตัดสินใจไปสมัครเป็นอาสาสมัครเลี้ยงเด็กกำพร้าที่มูลนิธิแห่งหนึ่งในวันเสาร์อาทิตย์ วันแรกสำหรับการทำงานของนิลเริ่มต้นด้วยความตื่นเต้น แววตาของเธอเป็นประกายเวลาที่มองเด็กเล่นกันอย่างมีความสุข ก็ได้ยินสักพักเสียงร้องทั่วห้อง นิลทำอะไรไม่ถูกไม่รู้จะช่วยดูแลใครดี ตายแหละ จะทำอย่างไรดีเนี่ย ร้องกันหมดเลย เด็กคงหิว นิลรีบไปห้องนม เตรียมขวดนมมาให้เด็กๆ เด็กบางคนกินนมแล้วก็นอน เด็กบางคนก็อ้อนร้องงอแง ทำไงดีละน้องแนน พี่ไม่รู้จะดูใครดีแล้วเนี่ย พี่นิลเลือกได้ค่ะว่าจะดูแลใคร วันนี้ให้พี่นิลดูแลสองคนนะคะ ปกติที่นี่จะแบ่งเด็กสี่คนต่อพี่เลี้ยงหนึ่งคนค่ะ น้องแนน เด็กสาวจากที่ราบสูงที่เป็นพี่เลี้ยงอยู่มูลนิธิให้คำแนะนำว่านิลควรจะทำอย่างไรในการเลี้ยงเด็กแต่ละวัน งั้นพี่เลือกน้องหวิวกับน้องนนท์นะคะ โตแล้วคงดูแลไม่ค่อยยาก ไหวเหรอคะพี่นิล เจ้าหวิวงอแงที่หนึ่งเลยนะคะ ลองดูก่อนล่ะกันนะคะ ไม่ไหวจะบอกค่ะ นิลไม่ได้บอกใครว่าทำไมเลือกเด็กสองคนนี้นอกจากบอกแฟนของเธอ นิลเลือกเลี้ยงน้องหวิว เพราะชื่อคล้ายพี่ เลือกน้องนนท์เพราะเป็นเด็กคนแรกที่ยิ้มให้นิลค่ะ การทำงานวันที่สองของนิลลำบากขึ้น เธอได้เห็นพัฒนาการของเด็กๆวัยต่างๆ ได้เห็นพฤติกรรมของเด็กเวลาที่ต้องการความรัก ความสนใจจากพี่เลี้ยง บางคนเอาหัวโขกพื้นแรงๆจนหัวแดง บางคนนอนชักกระแด่วๆ บางคนร้องกรี๊ดๆ โดยเฉพาะน้องหวิวที่เธอเลี้ยงนั้น จะวางไมได้เลยต้องอุ้มตลอด ทำให้เธอดูแลน้องนนท์ไม่ค่อยสะดวกนัก ครั้นจะวางมือจากน้องหวิว ก็ไม่อยากเห็นภาพเด็กเอาหัวโขกพื้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ เลี้ยงลูกยากเหมือนกันนะ นิลเริ่มคิดในใจ ถ้าเราดูแลคนเดียวคงไหวน่า แต่จะขอดูแลคนเดียวก็น่าเกลียดไปไม่เป็นไร เราต้องทำได้ ทำไม กุ้งปล่อยให้น้องร้องแบบนั้นล่ะ นิลถามพี่เลี้ยงเด็กอีกคนที่ปล่อยให้เด็กร้องไห้โดยไม่สนใจ แต่ทำงานอย่างอื่นต่อไป พี่ไก่สั่งไว้ค่ะว่าอย่าตามใจเด็กมาก เดี๋ยวเด็กเสียคน เด็กคนไหนร้องนาน ก็อย่าสนใจค่ะ เดี๋ยวเขาหยุดเอง บางคนยิ่งโอ๋ ยิ่งร้อง เดี๋ยวเด็กจะเสียคนค่ะ น่าสงสารออกค่ะ อุ้มเขาเถอะ ไม่ได้นะคะพี่นิล ที่นี่มีเด็กหลายคนต้องดูแล เราจะใส่ใจเด็กคนใดคนหนึ่งพิเศษไม่ได้ค่ะ เย็นวันนั้นนิลต้องกลับมาศึกษาพัฒนาการเด็กแต่ละวัยเป็นพิเศษ อดกังวลลึกๆว่าเมื่อโตขึ้นเด็กเหล่านั้นจะมีสภาพอารมณ์และพฤติกรรมอย่างไร เด็กที่นี่มีตั้งแต่แรกเกิดถึงเรียนมหาวิทยาลัย แต่ละคนมีที่มาแตกต่างกัน บางคนมีปัญหาครอบครัว บางคนพ่อเด็กไม่รับผิดชอบ บางคนถูกทิ้งไว้โรงพยาบาล บางคนพ่อแม่เสียชีวิต นิลเห็นใจพี่เลี้ยงมากแต่ไม่รู้จะช่วยพวกเขาอย่างไรในการเลี้ยงดูเด็กเหล่านี้ เด็กไม่ใช่ตุ๊กตาที่นิลนึกอยากกอดก็กอด เป็นไงบ้างนิล ทำงานเลี้ยงเด็กสนุกไหม เหนื่อยค่ะ นิลตอบแฟนหนุ่มแก่ด้วยน้ำเสียงเนือยๆ แล้วยังอยากมีลูกอยู่ไหมล่ะ ถ้าเรามีลูก พี่จะช่วยนิลเลี้ยงไหมคะตอนกลางคืน แล้วลูกเราจะเป็นคนดีไหมคะเมื่อโตขึ้น อืม ไม่รู้สิ นิลทำงานอาสาสมัครที่นั่นหลายเดือนจะผูกพันกับเด็กๆ บ่อยครั้งที่เธอเห็นแนวทางการเลี้ยงเด็กที่ไม่ค่อยถูกใจเธอนัก แต่นิลไม่มีสิทธิที่จะไปเข้าไปแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ เพียงแต่ให้คำแนะนำและแนวทางที่เธออ่านจากหนังสือมาแนะนำพี่เลี้ยง วันนี้ เจ้าเทพไปสร้างเรื่องที่โรงเรียนอีกแล้วพี่นิล ครูจอย ผู้ดูแลเด็กที่มูลนิธิเปรยให้นิลฟัง เมื่อวานถูกครูผู้ปกครองเจ้ากอล์ฟเรียกไปพบเรื่องเด็กโดดเรียน ครูหนู ครูผู้ดูแลเด็กโตเล่าให้นิลฟัง เลี้ยงได้แต่ตัวจริงๆเลยนะ พี่เลี้ยงหลายคนพูดแบบนี้ เวลาผ่านไปหกเดือนที่มูลนิธิที่เด็กกำพร้าสอนให้นิลรู้ว่าการเลี้ยงลูกไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่พ่อแม่เรายังเลี้ยงเรามาได้นี่ เราจะกลัวอะไรเล่า พี่ ถ้าเรามีลูกเราจะเป็นยังไงคะ ถ้าเราเลี้ยงเป็น ลูกเราก็เป็นคนดี ดูแลตัวเองและสังคมได้ แล้วเราเลี้ยงลูกเป็นไหมคะ ไม่รู้สิ ไปฝึกมาแล้วนี่เขา เย้านิลด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ตกลงถ้าเราแต่งงานเราจะมีลูกกันเลยใช่ไหมคะ ไม่เอา สงสารลูกกลัวลูกปัญญาอ่อน ปัญญาอ่อนก็ลูกเรานี่ ยังไงเราก็ต้องรัก แล้วอนาคตของลูกล่ะ ถ้าไม่มีเราลูกจะอยู่อย่างไร ........................................................................ นิลอึ้ง รู้เพียงว่าอยากมีลูกแล้วรักลูกให้เหมือนที่พ่อแม่รักนิล
วันนี้ น้องกานต์ใส่ชุดผ้าไหมสวยจัง พี่เหน่ง เพื่อนร่วมงานเอ่ยทักแต่เช้า ขอบคุณค่ะ ฝีมือแม่กานต์เองนะคะ ตั้งแต่เลี้ยงไหม มัดหมี่ ทำเองทุกขั้นตอนเลยค่ะ โอ้โห ลูกสาวช่างนี่เอง แล้วลูกสาวทำอะไรเป็นบ้างจ๊ะ นั่นสิ ฉันทำอะไรเป็นบ้างนะ นอกจากใส่ผ้าไหมสวยๆพวกนี้ ไม่เป็นเลย คือคำตอบ จำได้ตอนเป็นเด็ก แม่จะใช้ให้ไปเก็บใบหม่อนมาเลี้ยงไหมวันละสองเวลา ตอนเช้าตรู่ตื่นขึ้นมาแล้วก็ตอนเย็น ฉันกับน้องชายจะหิ้วตะกร้าคนละใบเข้าสวนหม่อน แล้วก็แข่งกันเก็บ ใครเต็มตะกร้าก่อน ก็ได้เลิกไปเล่นน้ำก่อน ส่วนใหญ่แล้วน้องชายจะเก็บเสร็จก่อนแต่ไม่ค่อยมีคุณภาพ คือเด็ดใบหม่อนแล้วก็หว่านใส่ตะกร้าซึ่งจะทำให้เต็มเร็วกว่าการยัดใส่ตะกร้าอย่างแน่นหนา แล้วน้องชายก็จะถูกใช้ให้มาเก็บซ่อมอีกรอบ หน้าตาใบหม่อนเป็นแบบนี้ค่ะ ตอนเช้าๆราวๆตีสี่แม่ก็จะตื่นขึ้นมาให้อาหารตัวไหมที่เลี้ยงใส่กระด้งที่วางเรียงกันไว้ในชั้นไม้ไผ่ แต่ละวันจำนวนกระด้งก็จะเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของตัวไหม แม่ให้อาหารตัวไหมประมาณ 4-5 ครั้งแล้วแต่ความขยันของคนเลี้ยงและการกินอาหารของตัวไหม แม่ฉันขยันมาก เลี้ยงดีมากให้อาหารเยอะจนลูกๆบ่นเพราะคร้านเก็บใบหม่อน ตัวไหมจะมีเวลานอนด้วย นอนประมาณสี่ครั้งถึงจะกลายเป็นดักแด้ที่อยู่ฝักที่เรียกรังไหม กว่าจะโตได้ก็หมดหม่อนไปหลายสวนเลย รายละเอียดปลีกย่อยมีอีกมากมายต้องถามแม่ว่าทำอะไรบ้าง ตัวหม่อนตัวเล็กเป็นแบบนี้นะคะ หลังจากตัวไหมสุกคือโตเต็มที่แล้ว ปกติตัวไหมจะสีขาวหม่นๆปนเขียวเพราะกินใบหม่อน พอตัวไหมสุกก็จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อนๆหรือสีเข้มแล้วแต่พันธุ์ของตัวไหม เช้าที่ตัวไหมสุกจะถูกแม่ปลูกแต่เช้าเพื่อมาเก็บตัวไหมใส่จ่อที่ทำด้วยไม้ไผ่ พ่อจะเก่งมากในการเก็บตัวไหม เก็บเร็วมาก ช่วยงานเราได้เยอะเลยในขั้นตอนนี้ เก็บเสร็จก็จะให้ตัวไหมฟักตัวในจ่อหนึ่งคืน หลังจากหนึ่งคืนเราก็จะได้รังไหมสีเหลืองสวยเต็มจ่อ เราก็จะมาเก็บรังไหมออกจากจ่อมาใส่กระด้ง แล้วก็เก็บหยากไย่ออกจากรังไหมเอานำไปให้แม่สาวไหม เช้าวันสาวไหม แม่ตื่นแต่เช้าต้มน้ำร้อนแล้วนำรังไหมลงไปทีละน้อย วันนี้ฉันกับน้องชายจะมีความสุขมาก จะคอยวนเวียนมาช่วยแม่ทำงาน ช่วยตักดักแด้ออกจากหม้อ ทั้งตักทั้งกิน สนุกและอร่อยทีเดียว สงสารแต่พ่อ ช่วยงานมาตั้งนาน ทานดักแด้ไม่ได้เพราะกินทีไรท้อง เสียทุกที มาได้เส้นไหมดิบมา แม่ก็จะนำไปเข้าสู่กรรมวิธีต่างๆที่ฉันเรียกเป็นภาษกลางไม่ค่อยถูกนัก เพราะแม่พูดเป็นแต่ภาษาอีสาน เส้นไหมก็จะถูกนำไปย้อมสี กวัก ปั่น มัดหมี่ ทอ และอะไรอีกมากมาย เคยได้ยินแม่เรียกแบบนี้ การสาวหลอก คือกรรมวิธีสาว (ดึง) เอาไยไหมออกมาจากฝักหลอก (ฝักไหม) มาเป็นเส้นไหม โดยนำเอาฝักหลอก (ฝักไหม) ต้มใส่หม้อดินขนาดใหญ่ มีเครื่องมือคีบดึงเส้นไหมออกมาเป็นเส้นยาวติดต่อกันเป็นเส้นเดียวกันตลอดจนหมดทุกฝัก เมื่อดึงเอาเส้นไหมออกมาจนหมดทุกฝักแล้วจะเหลือแต่ตัวไหม (ตัวหนอน) ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ดักแด้" เป็นอาหารที่ให้โปรตีนและอร่อยมาก เป็นของโปรดของชาวภาคอีสาน ไหมที่ได้จากการสาวหลอกนี้เป็นไหมเส้นแข็ง เรียกกันว่า ไหมดิบ การเหล่งไหม ไหมที่สาว (ดึง) ออกมาจากฝักหลอกนั้น จะยาวติดต่อเป็นเส้นเดียวกันตลอด ชาวบ้านจะนำเส้นไหมดิบมาเหล่งไหม (คล้ายกรอไหม) เพื่อทำเส้นไหมให้เป็นปอยไหม ไหมแต่ละปอยที่เหล่งได้นั้นจะใช้ไหมหนักประมาณ 2 - 3 ขีด การด่องไหม คือกรรมวิธีนำปอยไหมที่ได้มาจากการเหล่งไหม มาต้มในน้ำเดือดโดยเติมผงด่าง เพื่อทำให้เส้นไหมอ่อนตัวลง หลังจากต้มในน้ำเดือดประมาณ 5 - 10 นาที จะนำไหมขึ้นมาบิดเอาน้ำออกจนหมด ผึ่งแดดและสลัดให้แห้ง ไหมที่ผ่านกรรมวิธีการด่องไหมแล้ว เส้นไหมจะอ่อนตัว และนิ่มลงกว่าเดิม การกวักไหม คือกรรมวิธีที่นำเอาปอยไหมที่ผ่านการด่องไหมแล้วมา "กวัก" เพื่อทำให้เส้นไหมติดต่อเป็นเส้นเดียวกันตลอด เพราะกรรมวิธีการด่องไหม จะทำให้เส้นไหมขาดไม่ติดต่อกัน จึงนำปอยไหมมา "กวักไหม" ให้เส้นไหมติดต่อกัน โดยใช้เครื่องมือสองอย่างคือ "กง" (สำหรับใส่ปอยไหม ทำด้วยไม้ไผ่และเชือก) และ "กวัก" การค่นไหม คือกรรมวิธีนำเอาไหมที่กวักเรียบร้อยแล้ว "มาค่น"ทำปอยหมี่เพื่อนำไป "มัดหมี่" ต่อไป เครื่องมือที่ใช้ค่นหมี่เรียกว่า "ฮงค่นหมี่" ปอยหมี่ที่ค่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ละปอยจะมีความยาวเท่ากับความกว้างขงผืนผ้าไหมที่ทอเสร็จเรียบร้อยแล้ว การมัดหมี่ เป็นกรรมวิธีที่สำคัญที่สุดที่จะทำผ้าไหมให้เป็นลายและสีสันต่าง ๆ ในการมัดหมี่ให้เป็นลายและสีต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีและความนิยมของผู้ใช้เป็นสำคัญ เพราะลายและสีของผ้าไหมมีมากมายเหลือเกิน เช่น ถ้าต้องการผ้าไหมมีลายเล็ก ๆ เต็มผืนและหลาย ๆ สี ต้องใช้ผู้ที่มีฝีมือประณีตในการมัดหมี่ ขณะเดียวกันค่าแรงงานในการจ้างมัดหมี่ก็แพงขึ้นด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการมัดหมี่ คือ มีดบางเล็ก ๆ หรือใบมีดโกนชนิดมีด้าม เชือก ฟาง (สมัยก่อนใช้กาบกล้วยแห้ง) "ฮงหมี่" และ "แบบลายหมี่" การมัดลายเต็มตัว (เต็มผืน) ผู้มัดจะต้องมัดลายตามแบบลายหมี่ให้เต็มปอยหมี่ (ผู้ที่ชำนาญในการมัดหมี่จะไม่ดูแบบลายหมี่) ส่วนการมัดลายครึ่งท่อน (ครึ่งผืน) ผู้มัดหมี่จะมัดเพียงครึ่งเดียวของปอยหมี่เท่านั้น ขั้นตอนการหมัดหมี่จะเริ่มจาก เอาปอยหมี่ที่ค่นเสร็จแล้วใส่ "ฮงหมี่" ใช้เชือกฟางที่ซอยเล็ก ๆ มัดลำหมี่แต่ละลำไปตามแบบลายหมี่ ส่วนของไหมที่ถูกเชือกฟางมัดนี้เวลานำไปย้อมสี สีอื่นจะไม่สามารถเข้าไปในส่วนนั้น ๆ ได้ จะคงสีไว้ตามเดิม และส่วนที่ไม่ถูกมัดจะมีสีตามที่ย้อม ถ้ามัดหมี่และย้อมสีสลับกันหลายครั้งจะทำให้ผ้าไหมมีหลาย ๆ สี การย้อมหมี่ คือกรรมวิธีทำให้ผ้าไหมมีสีต่าง ๆ โดยนำปอยหมี่ที่มัดหมี่เรียบร้อยแล้วไปย้อมสีในน้ำเดือด โดยสีย้อมไหมที่มีคุณภาพดี ถ้าหากต้องการให้ผ้าไหมมีหลาย ๆ สีเพิ่มขึ้น เมื่อย้อมหมี่ด้วยสีย้อมไหมเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำไป "โอบหมี่" คือการใช้เชือกฟางที่ซยเล็ก ๆ พันลำหมี่ตรงส่วนที่ยังไม่ถูกมัดหมี่ ตามแบบลายมัดหมี่ การโอบ (พัน) ต้องโอบ (พัน) ให้เชือกฟางแน่นที่สุดและหลาย ๆ รอบ นำหมี่ที่โอบหมี่เรียบร้อย แล้วไปล้างสีออกในน้ำเดือด (จะล้างออกเฉพาะบริเวณที่ไม่ถูกมัดหรือโอบเท่านั้น) โดยเติม "ด่างเหม็น" (ผงด่างที่มีกลิ่นเหม็น" หมี่ส่วนที่โอบหรือมัดไว้ จะคงสีตามเดิมส่วนที่ไม่ถูกโอบหรือมัดจะถูกล้างออกเป็นสีขาว นำไปย้อมเป็นสีอื่นอีกครั้งหนึ่งตามต้องการ บางสีเมื่อย้อมและนำไปโอบ (พัน) เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องนำไปล้างออก ใช้สีอื่นย้อมทับลงไปเลยก็ได้ เช่น ย้อมสีฟ้าหรือสีน้ำเงินแล้ว ต้องการให้ผ้าไหมเป็นสีเขียว ต้องใช้สีเหลืองย้อมทับอีกทีหนึ่ง เป็นต้น การแก้หมี่ คือกรรมวิธีแก้เชือกฟางที่ใช้มัดลำหมี่แต่ละลำออกให้หมดโดยใช้มีดบางเล็ก ๆ หรือใบมีดโกนชนิดมีด้าม การแก้หมี่จะต้องทำอย่างระมัดระวังอย่าให้มีดถูกเส้นไหมขาด หมที่แก้เชือกฟางออกหมดแล้ว จะเห็นลายหมี่ได้สวยงามและชัดเจนมาก การกวักหมี่ คือกรรมวิธีคล้าย ๆ กับการ "กวักไหม" โดยใช้อุปกรณ์ในการกวักเหมือนกัน นำหมี่ที่แก้เรียบร้อยแล้วใส่ "กง" และกวักออกจนหมดบ่อยเหมือนการกวักไหมทุกประการแต่จะต้องระมัดระวังอย่าให้เส้นไหมขาดตอน เพราะเมื่อนำไปทอแล้วจะไม่เป็นลายตามต้องการ การปั่นหลอด คือกรรมวิธีนำเอาหมี่ที่กวักเรียบร้อยแล้วไป "ปั่น" (กรอ) ใส่หลอด (ทำด้วยต้นปอแห้งที่ลอกเปลือกแล้วยาว 2 - 3 นิ้ว) โดยใช้เครื่องมือเรียกว่า "ไน" หมี่หนึ่งปอยจะปั่นใส่หลอดได้ประมาณ 35 - 45 หลอด โดยปั่น "กรอ" เรียงลำดับของหลอดไว้ตั้งแต่หลอดแรกจนถึงหลอดสุดท้ายสลับที่กันไม่ได้ นำหลอดแรกบรรจุใน "กระสวย" (ทำทำด้วยไม้หรือพลาสติก) นำไปทอในไหมเครือ (เส้นยืน) ที่เตรียมไว้จนหมดจำนวนหลอดที่ปั่นได้ แม่เป็นช่างมัดหมี่ที่เก่งที่สุดในหมู่บ้าน มีลูกศิษย์มากมายและได้มีผลงานไปแสดงในศูนย์ศิลปะชีพมากมาย แต่น่าเสียดายที่ลูกสาวสองคนทำไม่เป็นเลยสักคน แม่ก็ไม่เคยสอนให้ทำด้วย ให้ช่วยงานแต่เล็กๆน้อยเท่านั้นเอง เวลาแม่ทอผ้าไหม แม่ก็จะบอกว่านี่ลายอะไร ฉันจำได้ไม่หมดหรอก จำได้แต่ลายช้าง ลายต้นสนเป็นลายแรกที่แม่ทอให้ลูกสาวทั้งสอง ส่วนเมื่อสองปีที่แล้วแม่ทอผ้าไหมไว้ให้แล้วบอกว่า ลายช้างสีส้มนะ ใส่แล้วจะขับผิว และเตือนใจว่าอย่างให้เป็นช้าง น่าเสียดายที่ตอนนี้ใส่ไม่ได้เสียแล้ว กว่าจะเป็นผ้าไหมมาได้ ขั้นตอนยุ่งยากพอดู แต่แม่ก็ยังคงเลี้ยงไหม มัดหมี่เป็นอาชีพเสริมหลังจากการทำนา ตอนนี้แม่อายุเยอะแล้ว ไม่ค่อยได้ทำงานมากแต่มีพี่สาวของฉันคอยช่วยเวลาที่แม่อยากเลี้ยงไหม ลูกๆรู้ว่าห้ามแม่ไม่ได้แน่เพราะแม่ขยันมากและภูมิใจในการทำผ้าไหมให้ลูกๆ ฉันจึงยิ้มยินดีเวลาที่ใส่ผ้าไหมแล้วเพื่อนๆแซวว่า สาวชาวบ้านมาแล้ว ใส่ผ้าไหมมาแต่ไกลเลย