16 เมษายน 2547 12:43 น.

ครั้งสุดท้ายกับ โหมโรง

เชษฐภัทร วิสัยจร

สัปดาห์ที่ 1 วันที่ 11-17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 

ในสัปดาห์แรก นักวิจารณ์ส่วนมากเริ่มต้นบทวิจารณ์ของตนโดยการเล่าเรื่องย่อของภาพยนตร์เสียก่อน แล้วจึงค่อยวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ของภาพยนตร์ภายหลัง ผู้เขียนจำได้ว่าในสมัยที่ผู้เขียนเรียนวิชาปริทัศน์การละครเมื่อครั้งยังเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ท่านอาจารย์ผู้สอนก็คือ อ.ปวิตร มหาสารินันท์ได้เน้นย้ำถึงกลวิธีในการเขียนวิจารณ์ในลักษณะนี้ว่าเป็นวิธีเขียนขั้นพื้นฐานและเหมาะสำหรับผู้ฝึกหัดวิจารณ์ศิลปะการละครที่สุด เพราะนอกจากจะเรียบเรียงง่ายแล้ว ผู้อ่านยังสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายอีกด้วย เพราะเหตุนี้เองนักวิจารณ์จึงนิยมเขียนเรื่องย่อก่อนแล้วจึงค่อยวิเคราะห์องค์ประกอบตลอดจนบรรยายความรู้สึกของตนที่มีต่อภาพยนตร์ภายหลัง 

กล่าวกันว่าการเขียนเรียงความจะดีได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของโครงเรื่องที่นักเขียนร่างเอาไว้ฉันใด ภาพยนตร์จะดีได้ก็ขึ้นอยู่กับโครงเรื่องที่ผู้กำกับภาพยนตร์ได้ฉันเดียวกัน 

อาจจะเป็นเพราะว่าอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์เป็นสถาปนิกมืออาชีพ เมื่อเขาต้องหันมารับบทผู้กำกับภาพยนตร์เขาจึงสามารถจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ของภาพยนตร์ โหมโรง ตลอดจนลำดับเวลาทุกอย่างสอดประสานกันได้อย่างลงตัวเกือบไม่มีที่ติ 

นักวิจารณ์แต่ละคนต่างก็ชื่นชมโครงเรื่องที่ดัดแปลงมาจากชีวประวัติของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ( ศร ศิลปะบรรเลง ) จากท้องเรื่อง เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนบทภาพยนตร์เขียนบทโดยแบ่งออกเป็นสองช่วงเวลาของชีวิตตัดฉากสลับกันไปมาได้อย่างลงตัว กระชับ น่าสนใจ ไม่น่าเบื่ออย่างผู้ชมหลาย ๆ คนกังวลก่อนเข้าชม 
นักวิจารณ์บางคนอย่างเธียรชัย อัครเดช พยายามมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อขัดแย้ง (conflict) ในภาพยนตร์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อขัดแย้งภายนอก (external conflict) ในยุคแรกของชีวิตตัวละครเอก ศร ที่จะต้องต่อกรประชันฝีมือกับขุนอิน ข้อขัดแย้งประเภทนี้จัดเป็นข้อขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ (conflict between man and man) ซึ่งนักวิจารณ์แต่ละคนล้วนแต่มีความเห็นแตกต่างกันออกไป บางคนเล็งเห็นถึงคุณค่าของลักษณะไทยที่ผู้กำกับภาพยนตร์ได้สอดแทรกไว้ในเนื้อเรื่อง คือเมื่อศรประลองชนะขุนอินแล้ว แทนที่มือระนาดหนุ่มผู้นี้จะลิงโลดยินดีกับชัยชนะของตน เขากลับก้มลงกราบขอขมาขุนอินอย่างนอบน้อม ในขณะเดียวกันขุนอินก็ให้ศีลให้พรขอให้ศรรักษาศิลปะแขนงนี้สืบต่อไป ศิลปะแห่งการสงวนอารมณ์แขนงนี้ซึ่งเป็นจุดที่นักวิจารณ์ไทยน่าจะนำมาขยายใหญ่และนำเสนอให้สังคมโดยเฉพาะเยาวชนของชาติได้ศึกษา แต่ในความเป็นจริงนักวิจารณ์อีกหลาย ๆ คนกลับมุ่งเน้นไปวิเคราะห์วิจารณ์เฉพาะช่วงจุดสูงสุดของภาพยนตร์ (climax) ในขณะที่นักดนตรีทั้งสองคนกำลังประหัดประหารอย่างเอาเป็นเอาตาย จนอาจลืมมองประเด็นเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนหลังเสร็จสิ้นการประลองไปเสียสิ้น 

กระแสความนิยมในภาพยนตร์แอ๊คชั่นจากฮอลลีวูดอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เหล่านักวิจารณ์ให้ความสำคัญกับการแข่งขันชิงความเป็นหนึ่งระหว่าง ศร กับ ขุนอินมากเกินไป จนกระทั่งมองข้ามความอ่อนน้อมถ่อมตนของตัวละครซึ่งเป็นเอกลักษณ์ไทย ที่ผู้กำกับภาพยนตร์พยายามจะสื่อ 

นักวิจารณ์ที่ดีควรจะเสนอมุมมองที่หลากหลายออกมาเพื่อให้คนในสังคมได้ฉุกคิด ในสภาพสังคมปัจจุบันที่ผู้คนแก่งแย่งชิงดีกัน หากนักวิจารณ์จะมุ่งนำเสนอสนับสนุนแต่ภาพการชิงดีชิ่งเด่นรบราฆ่าฟันของภาพยนตร์ด้านเดียวก็รังแต่จะเป็นการปลูกฝังผู้เสพภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนของชาติให้รู้สึกว่าการแข่งขันห้ำหันกันเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งไม่น่าจะก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย ถ้าหากนักวิจารณ์จะพิจารณาให้ทะลุ เปลือก แล้วลองนำเสนอ แก่น ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องการจะสื่อในเรื่องความมีสัมมาคารวะออกไปบ้างก็น่าจะเป็นผลดีอยู่บ้าง 

อีกประเด็นหนึ่งที่นักวิจารณ์หลาย ๆ คนมองข้ามทั้ง ๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้ประเด็นอื่น ๆ ก็คือการวิเคราะห์ข้อขัดแย้งภายใน (inner conflict) ที่ตัวละครเอกคือ ศร จะต้องเอาชนะใจข่มใจตนให้อดทนฝึกซ้อมจนกระทั่งเอาชนะคู่แข่งผู้เคยมีฝืมือเหนือกว่าอย่างขุนอินได้ในที่สุด ถ้าหากว่า ศร ไม่สามารถชนะใจตัวเองได้แล้วเขาจะไม่สามารถชนะใครอื่นอีกได้เลย 

ในขณะที่ในช่วงที่สองนั้นตัวละครเอกก็คือ ครูศร จะต้องต่อสู้กับกระแสวัฒนธรรมทางตะวันตกรวมถึงอำนาจของผู้นำประเทศที่ไม่เห็นคุณค่าของศิลปะ ข้อขัดแย้งทั้งสองที่กล่าวมานี้จัดเป็นข้อขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม (conflict between man and society) ซึ่งผู้เขียนบทวิจารณ์ทุกคนล้วนแล้วแต่ลงความเห็นว่าตัวละครเอกมีกลวิธีต่อสู้กับข้อขัดแย้งดังกล่าวได้อย่างแยบยล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกชายของครูศรได้นำเปียโนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีตะวันตกเข้ามาในบ้าน แทนที่ครูศรจะรังเกียจเครื่องดนตรี แปลกหน้า ชิ้นนี้ ท่านครูกลับเปิดใจยอมรับและลองบรรเลงระนาดร่วมกับเปียโนเพลงลาวดวงเดือนในกลิ่นอายของการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกได้อย่างลงตัวและมีเสน่ห์ ซึ่งผู้เขียนจะขออนุญาตขยายความในประเด็นเพลงประกอบภาพยนตร์ต่อไป 

คง ฤทธิ์ดี ได้นำช่วงสูงสุด (climax) ของภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ในตอนที่ ครูศรบรรเลงระนาดเพราะจับใจเสียจนผู้พันตัดใจไม่จับกุมท่านครูและลูกศิษย์ ไปเปรียบเทียบกับ climax ของภาพยนตร์รางวัลออสการ์เมื่อปีที่แล้วคือ "The Pianist" เมื่อ "วลาเด็ก" นักเปียโนชาวโปแลนด์เชื้อสายยิวเล่นเปียโนสะกดนายทหารชาวเยอรมันผู้พิสมัยในเสียงดนตรีจนใจอ่อนและยอมไว้ชีวิตเขาในที่สุด นักวิจารณ์ผู้นี้ให้ความเห็นว่าหากจะเทียบกับภาพยนตร์ระดับฮอลลีวู้ดแล้ว จุด climax ของโหมโรงดูจะยังอ่อนด้อยอยู่มาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าเพลงที่ผู้กำกับเลือกมาให้ "ครูศร" ในวัยชราอยู่ในระดับที่ไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าที่ควร จึงทำให้ไม่อาจจะชักจูงผู้ชมให้เชื่อ ได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว ผู้พันซาบซึ้งกับเสียงเพลงที่ ครูศรได้บรรเลงเพียงใด 

ทั้งคง ฤทธิ์ดี และ ประภาส ชลศรานนท์ ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องโหมโรงมีความไพเราะเป็นเอกลักษณ์ในแบบที่ไม่เคยมีดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องใดทำมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงซอคลอด้วยเสียงเปียโนเพลง คำหวาน ในฉากที่แม่โชติ นางเอกของเรื่องออกมาเก็บดอกลีลาวดีที่สวนท้ายวัง 

อย่างไรก็ตามผู้วิจารณ์ทั้งสองมิได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องความสมจริงของการบรรเลงเครื่องดนตรีจากซีกโลกตะวันออกและตะวันตกพร้อม ๆ กัน กล่าวคือผู้มีความรู้ทั้งทางด้านดนตรีไทยและดนตรีคลาสสิกบางท่านอาจนึกแย้งอยู่ในใจว่าหากจะต้องตีระนาดหรือสีซอพร้อมกับการบรรเลงเปียโนสด ๆ โดยที่มิได้มีการปรับระดับเสียงให้เท่ากันก่อน คุณภาพของเสียงที่ออกมาจะไพเราะดังเช่นในภาพยนตร์ได้อย่างไร เพราะดนตรีไทยมีระดับเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ตรงตามบันไดเสียงของดนตรีตะวันตกเสียทีเดียว 

ผู้เขียนเห็นว่าข้อผิดพลาดในเรื่องความสมจริงของภาพยนตร์มิได้มีแต่เฉพาะเรื่องเสียงประกอบภาพยนตร์เท่านั้น บางครั้งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในองค์ประกอบฉากก็ยังคลาดเคลื่อนไปอีกด้วย เช่น ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงครามเป็นผู้นำประเทศ ไม่น่าจะมีนายทหารไทยคนใดใช้รถ "จีป" เป็นพาหนะ เพราะประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะนำรถยนต์ประเภทนี้เข้ามาในเมืองไทยในช่วงสงครามเวียดนามนี่เอง แต่ในช่วงท้ายของภาพยนตร์เรากลับพบภาพ "ผู้พัน" นั่งรถจีปออกจากบ้านของครูศรโดยที่ผู้ชมเองก็คงมิได้รู้สึกขัดแย้งแต่อย่างใด ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าภาพยนตร์เป็นเพียงโลกแห่งการสมมติ หลาย ๆ ครั้งผู้ชมเองคงมิได้เจาะรายละเอียดลึกไปจนถึงขั้นที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องสมจริงไปเสียหมด เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เราอาจจะต้องเห็นนางสนมในพระบรมหาราชวังเปลือยอกอยู่ทุก ๆ ฉากในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์อย่าง สุริโยทัย เป็นแน่ 

เธียรชัย อิศรเดชเล็งเห็นว่าการที่ครูศรเปิดใจยอมรับเครื่องดนตรีตะวันตกโดยไม่มีอคติถือว่าเป็นสาระสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องการจะสื่อให้ผู้ชมได้ทราบ กล่าวคือ หากคนไทยหลงไหลได้ปลื้มกับกระแสอารยธรรมต่างชาติจนเกินงาม และรังเกียจวัฒนธรรมรากเหง้าของตนแล้ว ประเทศชาติก็คงจะพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่มั่นคงเท่าใดนัก แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อก็มิได้หมายความว่าคนไทยทุกคนจะต้องปิดกั้นตนเองโดยที่ไม่ยอมรับสิ่งใหม่ใด ๆ เลย ตรงกันข้าม น่าจะเป็นเรื่องน่ายินดีเสียอีกหากว่าเรารู้จักนำวัฒนธรรมจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับวิถีแบบไทย ๆ ได้อย่างเหมาะสมจนเกิดประโยชน์มากกว่าโทษ ดังที่ครูศรบรรเลงระนาดร่วมกับร่วมกับลูกชายที่เล่นเปียโนออกมาเป็นเพลง ลาวดวงเดือน ได้อย่างไพเราะ 
นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้วที่คนไทยรับอารยธรรมจากภายนอกเข้ามาประยุกต์จนกลายเป็นของไทย ๆ ในที่สุด ดังจะเห็นได้จากที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐิ์อักษรไทยโดยดัดแปลงมาจากอักษรขอมและมอญ เทคนิคการผลิตถ้วยชามสังคโลกจากจีน รวมถึงการรับพุทธศาสนานิกายหินยานมาจากลังกาที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตแบบไทย ๆ ร่วมกับคติแบบพราหมณ์ฮินดูตลอดจนการถือผีสางเทวดาจนหากจะมองแต่เพียงผิวเผินเราคงมิอาจจะแยกแยะได้ว่าความเชื่อแบบใด ไทยแท้ แบบใด ไทยเทียม 

ในทัศนะของผู้เขียนเอง วัฒนธรรมไทยมิได้เป็นวัฒนธรรมบริสุทธิ์อยู่แล้ว กล่าวคือ จะหาสิ่งใดที่เป็นของไทยแท้ ๆ นั้นหาได้ยาก ( เว้นก็เสียแต่ ความขี้เกียจ หรือพูดให้ดูดีหน่อยก็คือ การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายจนบางครั้งมักง่าย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแผ่นดินแม่ที่ดูจะหยั่งลึกฝั่งรากอยู่ในลักษณะนิสัยของไทยจนแก้ไม่หาย ) ดังนั้นเสียงเปียโนคลอระนาดที่สะกดผู้ชมในโรงภาพยนตร์แบบตะวันตกก็คงจะมิใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรนัก ในภาพยนตร์ เสียงระนาดที่ครูศรบรรเลงเพลง ลาวดวงเดือน ทำหน้าที่เป็นทำนองหลัก (melody) ในขณะเดียวกันเสียงเปียโนที่ลูกชายครูศรเล่นทำหน้าที่เป็นคอร์ด (chord) และเบส (bass) ช่วยพยุงทำนองให้ก้าวเดินได้งดงามยิ่งขึ้น แม้ว่าลักษณะคอร์ดที่ลูกชายครูศรเล่นจะกระเดียดไปทางดนตรีแจ๊ซบ้าง แต่การผสมผสานทางศิลปะจากวัฒนธรรมสองสายเช่นนี้ก็ทำให้ผู้เขียนอดนึกถึงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในบริเวณพระบรมมหาราชวังไม่ได้ พระที่นั่งซึ่งได้รับการขนานามว่าเป็น ฝรั่งสวมชฎา แห่งนี้มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรียน กล่าวคือหลังคาที่มีลักษณะทรงไทยซึ่งประกอบไปด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีความอ่อนหวานงดงามเสมือนทำนองเพลงไทยเดิมที่ยุรยาตรอยู่บนคอร์ดและเบสที่มันคงของเสียเปียโนซึ่งเปรียบเสมือนโครงสร้างที่มั่นคงของตึกตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมวิกตอเรียนซึ่งสถาปนิกชาวอังกฤษ จอห์น คลูนิส (John Clunis) เป็นผู้ออกแบบ 

อีกประเด็นหนึ่งนักวิจารณ์กล่าวถึงน้อยมากอิทธิพลของตัวละครเอกหญิง แม่โชติ อันแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ศรศรีซอออกมาได้อย่างไพเราะ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะความอ่อนด้อยไม่ชัดเจนของบทบาทของแม่โชติ นักวิจารณ์จึงไม่ได้ให้ความสนใจในตัวละครเอกฝ่ายหญิงเท่าใดนัก 

นักวิจารณ์หลายท่านลงความเห็นว่าหากผู้มีอำนาจทางการเมืองไม่เข้าใจและไม่เห็นคุณค่าศิลปะพวกเขาก็มักจะไปขีดเส้นชี้ทางเดินให้กับศิลปินในการสร้างสรรค์งานศิลปะ จนบางครั้งอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังจะเห็นได้จากในเนื้อเรื่องที่รัฐบาลในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงครามมีนโยบายนำพาประเทศไปสู่ความเป็น อารยะ โดยรณรงค์ให้คนไทยลดละเลิกวัฒนธรรมแผ่นดินแม่ เช่นการเคี้ยวหมาก การนั่งกับพื้น จนทำให้ดนตรีไทยก็มีอันต้องประสบเคราะห์กรรมไปด้วย สืบเนื่องมาจากคำสั่งห้ามเล่นดนตรีของรัฐบาลนักดนตรีไทยหลายคนขาดเงินรายได้ที่เคยได้จากการทำมาหาเลี้ยงชีพจากการเล่นดนตรี จนต้องเปลี่ยนอาชีพไปเป็นกรรมกรแบกหามเหมือนอย่างในเรื่อง อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ต่างก็วิเคราะห์กันว่า วิธีการต่อสู้กับอำนาจรัฐอย่างสงบที่ ครูศรนำมาใช้แสดงให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตแบบไทย ๆ บนครรลองของพุทธศาสนาอย่างเห็นได้ชัด 

ในช่วงปลายสัปดาห์แรกหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องโหมโรงเข้าฉายผู้วิจารณ์บางคนอย่างประภาส ชลศรานนท์เริ่มกล่าวถึงจำนวนผู้ชมที่ค่อนข้างจะโหรงเหรง ทั้งนี้ผู้วิจารณ์ได้วิเคราะห์ว่าเนื่องจาก คนรุ่นใหม่ ในอายุระหว่าง 18-30 ปีซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักทางการตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีทัศนคติต่อดนตรีไทยในแง่ลบ จึงมีผู้เข้าชมภาพยนตร์ค่อนข้างน้อยจนภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง เกือบจะ ลาโรง ไปก่อนเวลาอันควร 

นอกจากผู้วิจารณ์จะโฆษณาเชิญชวนให้ผู้อ่านเข้าชมภาพยนตร์เรื่องโหมโรงแล้ว ผู้วิจารณ์ยังชื่นชมอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่กล้าเสี่ยงสร้างภาพยนตร์สวนกระแสตลาดทุนนิยม ดังเช่นภาพยนตร์ในแนว หนังผี เซ็กส์ แอ๊กชั่น ที่ผู้กำกับคนอื่น ๆ มักสร้างสรรค์ออกมาให้วัยรุ่นได้ชื่นชมกัน 
การที่นักวิจารณ์ชื่นชมและให้กำลังใจแก่ผู้สร้างภาพยนตร์คุณภาพที่สวนกระแสความนยมของตลาดถือว่าเป็นหน้าที่ที่นักวิจารณ์ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยส่งเสริมและสร้างสรรค์พลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัยควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้มีผู้กำกับภาพยนตร์กล้าสร้างหนังในแนวใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาด จนกระทั่งผู้เสพสามารถเลือกชมภาพยนตร์ได้หลากหลายประเภทมากขึ้น 


สัปดาห์ที่ 2 วันที่ 18 - 24 กุมภาพันธ์ 2547 

เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง ผู้เขียนพบว่านักวิจารณ์ที่ใช้นามปากกว่า "พน" ใช้กลวิธีเล่าเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับดนตรีไทยแล้วจึงวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ แทนที่จะเล่าเรื่องของภาพยนตร์ก่อนสอดแทรกความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์ลงไปภายหลังดังที่นักวิจารณ์ท่านอื่น ๆ นิยมเขียนกัน 

พน สร้างความเชื่อถือให้กับตนเองโดยเล่าประสบการณ์การเข้าฟังดนตรีไทยของเขาในอดีตเพื่อแสดงให้ผู้อ่านทราบว่าเขามีความรู้เกี่ยวกับดนตรีไทยอยู่พอตัวและสามารถประเมินค่าว่าการบรรเลงดนตรีแบบไหนจัดว่าดีหรือไม่ดีเพียงใด ด้วยเหตุนี้ทำให้บทวิเคราะห์การประชันดนตรีระหว่างศรและขุนอินซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเรื่อง (climax) ในชีวิตช่วงวัยหนุ่มของตัวละครเอกที่ผู้วิจารณ์มองว่าน่าสนใจจึงฟังดูมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือมากขึ้น 

เป็นที่ทราบกันดีว่า "คนรุ่นใหม่" ในอายุระหว่าง 18-30 ปีซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายหลักทางการตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่ใคร่จะสนใจในเนื้อหาของ "โหมโรง" ซึ่งเกี่ยวระนาดเอกและดนตรีไทยสักเท่าใดนัก ทั้งนี้นอกจากจะเป็นเพราะในปัจจุบันดนตรีไทยถือว่าเป็นเรื่องห่างไกลจากชีวิตคนกรุงแล้ว ผู้คนในยุคโลภาภิวัฒน์ก็ยังดูจะมีอคติมองว่าจังหวะและท่วงทำนองของดนตรีไทยล้าสมัยและน่าเบื่อ แม้ว่าจะไม่เคยได้สัมผัสกับเนื้อแท้ของดนตรีไทยเลยทั้งชีวิต อย่างไรก็ตามผู้วิจารณ์ได้พยายามเน้นย้ำว่าภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง มิได้น่าเบื่ออย่างที่หลาย ๆ คนคิดแม้ว่าองค์ประกอบจุดเล็ก ๆ บางจุดจะยังไม่ค่อยลงตัวก็ตามที ดังที่ปรากฎในเนื้อเรื่อง ทีมงานภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าอันที่จริงดนตรีไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวะถ้วงทำนองของการประชันระนาดเอกนั้นสนุกตื่นเต้นและเร้าใจเพียงใด อีกทั้งการดำเนินเรื่องเชิงเส้นขนาน (parallelism) โดยแบ่งโครงเรื่องซึ่งดัดแปลงมาจากชีวประวัติของ "ดุริยกวีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์" หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ออกเป็นสองยุคแล้วตัดฉากสลับไปมาก็ยิ่งทำให้เรื่องโหมโรงดูสนุกยิ่งขึ้น จนผู้วิจารณ์มองว่ากุศโลบายในการดำเนินเรื่องแบบนี้น่าจะดึงดูดกระแสมหาชลได้มาก หากมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี 

ผู้วิจารณ์ได้ทำหน้าที่เป็น กระบอกเสียงของสังคม ในฐานะนักวิจารณ์ได้อย่างน่าชมเชย เขากล่าวเน้นถึงโครงเรื่องที่ผู้เขียนบทภาพยนตร์จัดลำดับไว้อย่างหน้าตื่นเต้นเพื่อแสดงเห็นว่า บางครั้ง อคติทำให้ผู้ชมภาพยนตร์พลาดชมหนังสนุก ๆ ไป เมื่อผู้ชมภาพยนตร์อาจจะเลือกหรือไม่เลือกชมภาพยนตร์บางเรื่องเพียงเพราะไม่ชอบดารา ไม่ชอบเนื้อหา หรือไม่ชอบ หนังไทย ทั้ง ๆ ที่เพียงหากพวกเขาเหล่านั้นลองได้ชมภาพยนตร์นั้น ๆ แล้วพวกเขาอาจจะรู้สึกชอบมากอย่างที่ตนไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยก็ได้ ซึ่งจุดนี้ผู้วิจารณ์มิได้ตำหนิติเตียนคนเหล่านั้นแต่ประการใด หากแต่เสนอแนะเป็นนัย ๆ ว่า บางครั้งถ้ามนุษย์เราลบอคติออกไป เราก็จะสามารถรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเราบ้าง 

ผู้วิจารณ์ได้เปรียบเทียบองค์ประกอบเชิงสัญลักษณ์ในภาพยนตร์ โหมโรง กับเรื่อง Forrest Gump ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องใช้สัญลักษณ์ในการเปิดและปิดภาพยนตร์ในลักษณะที่คล้าย ๆ กัน โดย โหมโรง ใช้ผีเสื้อ ในขณะที่ Forrest Gump ใช้ใบไม้ อย่างไรก็ตามผู้วิจารณ์เพียงแต่กล่าวว่าสัญลักษณ์จากภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ทำให้ตนนึกถึง สัญลักษณ์ของ Forrest Gumpเท่านั้น โดยที่มิได้กล่าวถึงการตีความสัญลักษณ์แต่อย่างใด 

นับตั้งแต่มีการตีพิมพ์บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องโหมโรง พน เป็นผู้วิจารณ์คนแรกที่กล่าวถึงสัญลักษณ์ แม้จะมิได้มีการตีความที่ชัดเจนก็ตาม สาเหตุที่ผู้วิจารณ์ภาพยนตร์ไทยมักมองข้ามการตีความสัญลักษณ์น่าจะเป็นเพราะว่าผู้วิจารณ์มองว่าสัญลักษณ์มิใช่องค์ประกอบที่สำคัญกับโครงเรื่องของภาพยนตร์ อีกทั้งผู้ชมเองก็คงมิได้สนใจที่จะตีความสัญลักษณ์เท่าใดนัก 

อาจจะเป็นเพราะว่า ทั้งในวงวรรณศิลป์และศิลปะการละครของไทยหากมิใช่การบรรยายบทอัศจรรย์ ก็แทบจะไม่มีการใช้สัญลักษณ์ให้เห็น ด้วยเหตุนี้เอง สัญลักษณ์นิยมในภาพยนตร์ไทยจึงมักถูกมองข้ามจากทั้งผู้สร้างและผู้เสพ ผิดไปจากวรรณกรรมตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องสั้น และนวนิยายอเมริกันสมัยใหม่ที่มีการนำสัญลักษณ์มาใช้ในเรื่องอย่างแพร่หลาย จนบางครั้งออกจะมากเกินความจำเป็น เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดแทบทุกเรื่องมักจะมีการสอดแทรกสัญลักษณ์ใส่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ประกอบฉากต่าง ๆ เสื้อผ้า มุมกล้อง ทุกอย่างสามารถนำมาตีความตามแก่นเรื่อง (theme) ได้แทบทั้งสิ้น 

อาจสรุปได้ว่าผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ได้รับอิทธิพลเชิงสัญลักษณ์นิยมจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด จึงได้ใช้ ผีเสื้อ มาเป็นสัญลักษณ์ในตอนเปิดและปิด แต่เนื่องจากสัญลักษณ์นิยมยังใหม่สำหรับคนไทยเหลือเกิน ประเด็นเรื่องการตีความสัญลักษณ์จึงถูกมองข้ามทั้งจากนักวิจารณ์และผู้ชมภาพยนตร์ 
ดังที่กล่าวมาแล้วในบทวิเคราะห์ของสัปดาห์ที่ 1 ว่า เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง "โหมโรง" ซึ่งเกี่ยวกับดนตรีไทยมิได้อยู่ในความสนใจของกลุ่มผู้บริโภคหลักจนจำนวนผู้เข้าชมภาพยนตร์ค่อนข้างบางตา อย่างไรก็ตาม ความแปลกใหม่ของบทภาพยนตร์ตลอดความสนุกเร้าใจของการดำเนินเรื่องและองค์ประกอบต่าง ๆ ทำให้ผู้เขียนบทความบนหน้าหนังสือพิมพ์หลาย ๆ คนเช่นผู้เขียนบทความ "โหมโรงกับมหัศจรรย์ครั้งแรกวงการหนัง" ย่อมรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายหากภาพยนตร์เรื่องนี้จะต้องลาโรงไปก่อนเวลาอันควรเพราะไม่มีคนสนใจเข้าชม ด้วยเหตุนี้เอง ผู้เขียนบทความจากวารสาร นิตยสาร และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ จึงได้พากันประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนไปชมภาพยนต์เรื่องนี้กัน 

สัปดาห์ที่ 3 วันที่ 25  2 มีนาคม พ.ศ.2547 

บทความในช่วงสัปดาห์ที่ 3 เป็นข่าวที่มิได้ระบุว่าผู้เขียนเป็นใคร ส่วนใหญ่มีเนื้อหาโฆษณาเชิญชวนให้มวลชนไปชมทั้งภาพยนตร์เรื่องโหมโรงเองแล้วก็การแสดงดนตรีไทยของหนึ่งในนักแสดงอย่าง ขุนอิน หรือ อาจารย์ ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า 

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงกระแสนิยมของมหาชนที่มีต่อดนตรีไทยหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องโหมโรงเข้าฉายตลอดจนอุปสงค์ทางกลไกตลาดของเครื่องดนตรีไทยอย่างระนาดเอกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จนระนาดเอกขาดตลาด 
ด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยในเมืองกรุงห่างไกลจากดนตรีไทยมากขึ้นเรื่อยจนทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ไม่รู้สึกผูกพันและมองว่า สังคีตศิลปะแผ่นดินแม่ เป็นเรื่องล้าสมัย แม้ว่าภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง จะเข้ามาปลุกกระแสให้มวลชนหันกลับมามองย้อนดูรากเหง้าของตนได้บ้าง แต่ผู้เขียนบทความหลาย ๆ คนยังคงวิตกกังวลว่ากระแสความนิยมดนตรีไทยหลังจากภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง จะเป็นเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว จึงได้เสนอแนะว่าควรส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจดนตรีไทยในระยะยาวมิใช่เป็นแค่เพียงการเห่อตามกระแสความนิยมของภาพยนตร์เท่านั้น 

โดยสรุป ในช่วงสัปดาห์ที่สามหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง เข้าฉาย ไม่มีบทความใด ๆ ที่จัดว่าเข้าข่ายการวิจารณ์ภาพยนตร์เลย 

สัปดาห์ที่ 4 วันที่ 3  9 มีนาคม พ.ศ.2547 

ลักษณะการเขียนเชิงวิเคราะห์ของนักวิจารณ์ในสัปดาห์ที่ 4 แตกต่างไปจากแนวการเขียนของผู้วิจารณ์ในสัปดาห์ที่ 1 และ 2 เป็นอย่างมาก กล่าวคือ นักวิจารณ์มิได้วิเคราะห์โดยเน้นเนื้อหาของภาพยนตร์ หากแต่หนักไปที่การวิจารณ์ค่านิยมเชิงสังคมวิทยาโดยอิงเนื้อหาของภาพยนตร์เป็นหลัก 

มุกหอม วงษ์เทศ เริ่มบทความของตนด้วยการแจกแจงสาเหตุที่ทำให้มีจำนวนผู้ชมที่ค่อนข้างน้อยในการฉายภาพยนตร์ช่วงแรก ๆ ผู้วิจารณ์กล่าวถึงบริบททางสังคมทั้งในภาพยนตร์ทั้งสองช่วงคือ ในช่วงที่หนึ่งที่ ศรยังหนุ่ม และดนตรีไทยถึงจุดเฟื่องฟูสุดขีด ช่วงที่สองในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ที่วัฒนธรรมแผ่นดินแม่บางอย่าง รวมถึงดนตรีไทยกลายเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะนโยบายรัฐนิยมของผู้นำประเทศ รวมถึงบริบททางสังคมในยุคปัจจุบันที่ดนตรีไทยโดนคนไทยส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องล้าหลังและน่าเบื่อ 

ผู้วิจารณ์ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเข้าชมภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง และไม่เห็นความสำคัญของดนตรีไทย โดยกล่าวว่าในอดีตดนตรีไทยผูกพันกับคนไทยตลอดชีวิตดนตรีไทยเป็นส่วนสำคัญในพิธีกรรมทางศาสนาทุกอย่างตั้งแต่เกิด โกนจุก บวช แต่งงาน จนกระทั่งตาย แต่เนื่องด้วยความเร่งรีบในสังคมเมืองปัจจุบัน ความละเอียดอ่อนของพิธีกรรมต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาได้ถูกตัดตอนออกไปค่อนข้างมาก จนบางครั้งดนตรีไทยก็ถูกตัดออกไปด้วย จึงทำให้ดนตรีไทยกับวิถีชีวิตของคนเมืองค่อนข้างห่างออกจากกันทีละน้อย และหมดความสำคัญในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้วิจารณ์จะค่อนข้างมุ่งเน้นในเรื่องปริบททางสังคมและความรู้สึกชาตินิยมที่ได้รับหลังจากเข้าชมภาพยนตร์ แต่ผู้วิจารณ์ก็ได้กล่าวถึงประเด็นจากภาพยนตร์ที่ค่อนข้างสำคัญและน่าสนใจประเด็นหนึ่ง คือ วัฒนธรรมระนาดทุ้ม 

ในทัศนะของผู้เขียน ถึงแม้ว่าผู้วิจารณ์จะมิได้กล่าวถึงระนาดทุ้มในภาพยนตร์โดยตรง แต่ข้อเสนอแนะที่ต้องการให้วงการดนตรีไทยพัฒนาวัฒนธรรมระนาดทุ้มเป็นหลัก เหมือนกับจะเป็นการประเมินค่าสารจากภาพยนตร์โดยนัย กล่าวคือ เหมือนผู้วิจารณ์กำลังกล่าวว่าผู้สร้างภาพยนตร์มองข้ามประเด็นสำคัญของดนตรีไทยเรื่องผู้เล่นระนาดทุ้มไป 

อันที่จริงแล้ววัฒนธรรมของดนตรีไทยนั้น ในการบรรเลงระนาดผู้เล่นระนาดทุ้มย่อมเป็นผู้ที่มีฝีมือเหนือกว่าผู้เล่นระนาดเอก แม้ว่าท่วงทำนองระนาดเอกจะฟังดูโดดเด่นเป็นทำนองหลักก็ตาม ลักษณะเชิงวัฒนธรรมทางดนตรีเช่นนี้แตกต่างจากวัฒนธรรมดนตรีตะวันตกโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ในวงออร์เคสตร้าของตะวันตก นักไวโอลินหมายเลขหนึ่งย่อมมีฝีมือเหนือกว่านักไวโอลินหมายเลขสองอยู่แล้ว แต่เมื่อภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ดูจะให้ความสำคัญกับการประชันระนาดเอกระหว่าง ศร กับ ขุนอิน จนลืมกล่าวถึงความสำคัญของผู้กำกับจังหวะชั้นครูอย่างผู้ตีระนาดทุ้ม ผู้วิจารณ์ซึ่งมีความรู้ทางดนตรีไทยย่อมจะไม่เห็นด้วย ด้วยอาจเกรงว่าผู้เสพภาพยนตร์ที่ถือว่าค่อนข้างห่างจากดนตรีไทยอยู่แล้วอาจหลงเข้าใจแก่นของวัฒนธรรมดนตรีไทยว่ามุ่งเน้นเพียงแค่การประชันขันแข่งเพื่อเอาชนะและยกยอปอปั้นแต่ผู้เล่นระนาดเอกดุจเป็นเทพบุตรเพียงอย่างเดียว 

หากว่าผู้วิจารณ์มุ่งเน้นที่จะวิเคราะห์บริบททางสังคมเรื่องชาตินิยม ผู้เขียนพบว่ามีประเด็นเชิงสังคมวิทยาประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับการประชันดนตรีไทยในท้องเรื่องซึ่งผู้วิจารณ์มิได้กล่าวถึง คือ ศิลปะการวิจารณ์ของแผ่นดินแม่ 

พื้นฐานวัฒนธรรมสังคีตวิจารณ์ของไทยมิใช่วัฒนธรรมลายลักษณ์ หากแต่เป็นวัฒนธรรมมุขปาฐะ และวัฒนธรรมการประชันดังที่เห็นในภาพยนตร์ การประชันระนาดเอกเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งให้นักระนาดได้พัฒนาความสามารถของตน กล่าวคือ ผู้ประชันตนเองและฝ่ายตรงข้ามโดยการเล่นในเทคนิคที่เป็นจุดเด่นของตนและจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้ามดังที่เห็นในการประชันระหว่างศรกับขุนอิน 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวถึงวัฒนธรรมการประชันดนตรีไทยตลอดจนความสำคัญของหลวงประดิษฐ์ไพเราะที่ปฏิวัติวงการระนาดเอกด้วยการคิดค้นเทคนิคการสะบัด การขยี้การกรอ การกริบและกวัดไกว ในขณะที่ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ พยายามเสนอแนะให้คนไทยกลับมาฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ซึ่งบทความของนักเขียนทั้งสองคนไม่จัดว่าเป็นบทวิจารณ์ภาพยนตร์ 

นอกจากนี้แล้วยังมีบทความจากหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ที่รายงานถึงกระแสความนิยมของมหาชนที่มีต่อภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ชีวิตส่วนตัวของดารานักแสดง เบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์และเชิญชวนให้ประชาชนเข้าชมภาพยนตร์ รวมถึงเรื่องที่โหมโรงได้รับคัดเลือกเข้าร่วมประกวดภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งไม่ถือว่าเป็นบทวิจารณ์แต่อย่างใด 

สัปดาห์ที่ 5 วันที่ 10-16 มีนาคม พ.ศ.2547 

ในสัปดาห์ที่ห้ามีเพียงหนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับที่มีบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง โดยมากเป็นข่าวความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น นายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาพร้อมทั้งคณะทูตานฑูตพร้อมกันเข้าชมภาพยนตร์ และมีการร่างกฎหมายภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นบทวิจารณ์ภาพยนตร์แต่อย่างใด				
15 มกราคม 2546 15:45 น.

CU Music Awards ครั้งที่ 6 "ตบหน้า" คน เสีย "เจ็บ" ( รึเปล่า? )

เชษฐภัทร วิสัยจร

ในทำนองเดียวกันกับดนตรีซึ่งเป็นภาษาสากล ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหน พูดภาษาใด ถ้าหากโดนดนตรีที่ดี "ตบหน้า" เข้าซักฉาด คุณต้องรู้สึก "เจ็บ" กับเสียงท่วงทำนองและจังหวะของเพลงแน่ ก็ดูเอาตอนที่ผมอารมณ์ไม่ดีจนไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรได้อย่างตอนนี้ เสียงเพลงจากการประกวดวงดนตรี CU Music Awards ที่สี่เสาเทวาลัย หน้าตึกสี่คณะ ยังช่วยปลอบโยนผม ให้กลับมีอารมณ์ขึ้นมาปั่นต้นฉบับที่ทุกท่านกำลังอ่านกันอยู่นี้ได้ ( ซึ่งกว่าทุกท่านจะได้อ่านงานก็คงจบไปแล้วเกือบสองสัปดาห์ ) เห็นไหมว่านอกจากดนตรีจะ"ตบหน้า" ได้ "เจ็บ" แล้ว ก็ยังเป็นยารักษาสภาพจิตใจของคนได้ดีอีกต่างหาก เมื่อตัวผมเองรู้สึกว่าอยากจะแหกหูตา ของตนให้ใกล้ ๆ กับเสียงดนตรีให้มากขึ้น ผมก็จึงตัดสินใจลงลิฟต์มาที่บริเวณงานคอนเสิร์ต 
	CU Music Awards หรือ ถ้าเราจะเรียกให้เต็มยศก็คือ การประกวดวงดนตรีชิงชนะเลิศแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 6 ในปี้นี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ " CU Diary " เพื่อน ๆ พี่ ๆ ชาวจุฬาจะสามารถนำเสนอความรู้สึกนึก ทัศนคติ มุมมอง และความคิดเห็น เรื่องราวของพวกเรา ผ่านสื่อทางดนตรี ซึ่งได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ จรรโลงใจ และมีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า"คน"เป็นอย่างมาก  เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวจุฬาฯ ที่มีความสามารถทางดนตรีจึงมีโอกาสได้แสดง พรที่สวรรค์ได้ประทานมาให้ ใช้เป็นเครื่องมือในการ "ตบหน้า" ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา บางคน บางวง แรงเยอะ ก็อาจจะ"ตบหน้า" คนได้ "เจ็บ" มากหน่อย ซึ่งพลังในการตบของแต่ละคนจะมากจะน้อย ก็ขึ้นอยู่ กับความสามัคคีของคนในวง ตลอดจนความมานะพยายามในการฝึกซ้อม จนสามารถสร้างสรรค์ออกมาเป็นเสียงดนตรีที่ดีได้ เท่าที่ผมนั่งสังเกตการอยู่ที่นี่มาเกือบชั่วโมง หลาย ๆ วงนอกจากจะเที่ยวตบหน้าคนอื่นเขาไปทั่วแล้ว ยังลากคนให้มานั่งดู นั่งฟังได้อีก ไม่รู้ว่าเล่นของอะไรรึเปล่า อยู่ ๆ ก็ดูดคนไม่รู้จักให้เข้ามานั่งฟังเพลงอยู่แถวนี้ ( รึเขารู้จักกันอยู่แล้วหว่า )  ก็คนเรามันชอบฟังเพลงนี่ ถ้างั้นก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหรอก ถ้าจะมานั่งฟังเพลงที่เราชอบให้สบายอารมณ์ ตากลมเย็น ๆ ก่อนกลับบ้าน
การประกวดวงดนตรีชิงชนะเลิศแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Music Awards ในปีนี้ มีวงดนตรีของนิสิตในระดับปริญญาตรี สมัครเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 30 วง ซึ่งส่วนใหญ่ ก็มาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์เสียเป็นส่วนใหญ่ สงสัยเพื่อน ๆ นิสิตจากสองคณะนี้ คงจะมีเรื่องอยากจะมาเล่าสู่กันฟัง ผ่านเสียงดนตรีเคล้าสายลมอยู่หลายเรื่อง ก็คุยกันตามประสาผู้ชาย ซึ่งไม่หยาบคาย ผู้หญิงก็ฟังได้ เด็กก็ฟังดี จริงไหม
วัตถุประสงค์ของการจัดการประกวดเป็นไปเพื่อพัฒนาความสามารถทางดนตรีของเพื่อน ๆ แล้วก็ ใช้ดนตรีเป็นสื่อในการถ่ายทอดความคิดได้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างกิจกรรมเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ในหมู่นิสิต และการส่งเสริมให้นิสิตใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นอกจากนี้แล้ววงดนตรีที่ชนะเลิศก็ยังจะมีโอกาสไปใช้เสียงดนตรีท้า "ตบหน้า" ผู้คนในระดับที่สูงขึ้นในกิจกรรมต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย
	การประกวดรอบคัดเลือกจัดขึ้น 2 วัน โดยวันนี้ ( 9 มกราคม ) จัดขึ้นที่ลานสี่เสาเทวาลัย ของคณะอักษรศาสตร์ ส่วนวันพรุ่งนี้ หรือ วันที่ 10 มกราคม จะจัดขึ้นที่ ลาน จามจุรี 5 ต้น ซึ่งท่านผู้อ่าน ก็คงจะไม่สามารถนั่งไทม์แมชชีน ย้อนเวลาไปชมได้แล้ว ส่วนนัดชิงชนะเลิศ เอ๊ย! ไม่ใช่ สิ วันประกวดรอบชิงชนะเลิศ จะจัดขึ้นวันที่ 21 มกราคม ยังไงซะ ถ้าหนังสือพิมพ์ season ฉบับนี้ อยู่ในมือ ท่านก่อนวันประกวด ก็อย่าลืมหาโอกาส ไปโดนตบหน้าล่ะ ท่านจะได้รู้เสียที ว่าปัญหามันอยู่ที่กำลังส่งของเสียงดนตรีที่ท่านฟังอยู่ หรือความหนา บางของผิวหนังบนใบหน้าของท่านกันแน่  พิจารณากันดูให้ดีละกันนะครับ สวัสดี				
12 มกราคม 2546 08:48 น.

การต่อสู้ของชาติมหาอำนาจเพื่อแย่งชิงลูกฟุตบอลเท่านั้นหรือ???

เชษฐภัทร วิสัยจร

ชาวตะวันตกจะรู้สึกแปลกใจมาก ๆ และจะตั้งคำถาม พร้อมกับรอยยิ้มแกมดูถูก ถ้าได้รู้ว่าคนเอเชียก็บ้าบอลยิ่งกว่าอะไรดี ขนาดไม่มีทีมชาติของตนเองลงแข่ง ก็ยังอุตส่าห์อดตาหลับขับตานอนอยู่ได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าฝรั่งพวกนั้น ไม่เคยคิดหรอกว่าบ้านเมืองของเราเป็นเช่นไร จะมีโทรทัศน์ใช้บ้างไหม และก็คงไม่เคยคิดว่าผู้คนอีกซีกโลกหนึ่งจะต้องมาสนใจกิจกรรมของพวกตนทำไม  เป็นพวกตนต่างหากที่ต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจโลก เข้าไปเสนอตัวแก้ไขปัญหา อยู่ตลอดเวลา หารู้ไม่ว่าก็เป็นเพราะบรรพบุรุษของพวก ยู นั่นแหละที่เข้ามาหาอาหารพร้อม ๆ กับลัทธิจักรวรรดินิยมในทวีปเอเชีย เมื่อราว ๆ สองร้อยปีก่อน  ลัทธิจักรวรรดินิยมดังกล่าวถูกนำเข้ามาพร้อมกับอารยธรรมของชาติ ผู้ล่าหลาย ๆ ชาติ จากทวีปยุโรปในตอนนั้นมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมพื้นถิ่น ( indigenous culture ) เป็นอย่างมาก ดังนั้นถ้าหากว่าประเทศที่ ถูกล่าจะสนใจวัฒนธรรมกีฬาการละเล่นของ ผู้ล่า บ้างก็คงไม่แปลก 
		ภาพยนตร์เรื่อง The Cup เป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเณรน้อยในธิเบตซึ่งเป็นแฟนฟุตบอลตัวยง ที่ต้องการจะชมการแข่งขันฟุตบอลโลกจนถึงกับต้องยอมทำผิดกฏของวัด แต่งกายเป็นฆราวาสย่องแอบไปดูบอลในหมู่บ้านยามดึก  อะไรเป็นสาเหตุให้สามเณรอันได้รับการขนานนามว่าเป็นเหล่ากอของสมณะแหกคอกออกไปเช่นนั้น หลาย ๆ คนอาจจะตั้งข้อสังเกตว่าพุทธศาสนานิกายมหายานในธิเบต ที่ไม่เคร่งเท่ากับ พุทธศาสนานิกายเถรวาทในเมืองไทย น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการแหกคอกของเณรน้อยคนดังกล่าว แต่ว่าก็มีเณรในเมืองไทยหลายคนเหมือนกันที่ไปเที่ยว จีบสาวอยู่ตามอินเทอร์เนตคาเฟ่ แทนที่จะศึกษาเล่าเรียนอยู่แต่ในวัด ดังนั้นเหตุผลสำคัญน่าจะเกิดจากกระแสเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน ประกอบกับจิตใจของตัวผู้ปฏิบัติที่ยังตัดขาดจากกิเลสไม่ได้เนื่องจากยังอยู่ในวัยรุ่น คะนอง และอยากรู้อยากเห็น ลองคิดดูเล่น ๆ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่า ขุนแผน ซึ่งครั้งหนึ่งได้บวชเรียนเป็นสามเณรอยู่ใต้ร่มบวรพระพุทธศาสนา แอบหนีไปดูบอลตอนกลางคืน? แต่โชคยังดีที่เมื่อสี่ร้อยปีที่แล้ว กระแสอารยธรรมของตะวันตกยังไม่เข้ามา และสมัยนั้นก็ยังไม่มีการถ่ายทอดฟุตบอลโลกด้วย ขุนแผนก็เลยยังคงรักษาเนื้อรักษาตัว ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนได้รับราชการในที่สุด
		   จุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือเมื่อเทคโนโลยีจะต้องเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมจะเกิดอะไรขึ้น หลายคนคงไม่คาดคิดว่าท่านเจ้าอาวาสจะอนุญาติให้บรรดาเณรน้อยทั้งหลายเช่าจานดาวเทียมและทีวีเพื่อจะดูบอลโลก และถึงขั้นเสียสละเวลาในการบำเพ็ญภาวนามาร่วมชมการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกด้วย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากระแสความนิยมของโลกนั้นมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก จนวัฒนธรรมพื้นถิ่นต้องยอมรับและปรับสภาพตามไปด้วย
		ชาติมหาอำนาจต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงลูกฟุตบอลเป็นคำขยายความของคำว่าฟุตบอล ซึ่ง Geko อธิบายให้ท่านเจ้าอาวาสฟัง เหมือนจะเป็นนัยที่ต้องการจะบอกเราถึงสภาพการเมืองของโลกในปัจจุบัน
                              หากจะย้อนไปในการแข่งขันฟุตบอลเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ส่วนใหญ่หลายทีมจะเน้นความสามาถเฉพาะตัวของผู้เล่นและลีลาที่สวยงามเป็นสำคัญ โดยเฉพาะทีมมหาอำนาจลูกหนังโลกอย่าง บราซิล ซึ่งได้นักฟุตบอลได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถเฉพาะตัวดีที่สุดในโลก แต่เมื่อสองสามทศวรรษหลังสุด ระบบการเล่นเป็นทีมดูจะมีส่วนสำคัญมากขั้นนับตั้งแต่ที่ทีมชาติฮอลแลนด์ภายใต้การคุมทีม Rinus Michell ในปี 1978 ซึ่งคิดค้นระบบ Total Football ขึ้นมาเป็นครั้งแรก จากนั้นมาหลาย ๆ ชาติก็ได้มีการคิดค้นและพัฒนาระบบการเล่นขึ้น จนมีคำถามว่าถ้าหาก Pele ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นราชาลูกหนังโลกมาเกิดในสมัยนี้ และต้องเจอกองหลังอย่าง Jurgen Kohler ของ เยอรมัน หรือ Ciro Ferrara และ ระบบ pressing ของทีมชาติ อิตาลี ซึ่งเป็นการเล่นที่ผู้เล่นทุกคนในทีมจะช่วยไล่ช่วยบีบไม่ให้มีเวลาไม่ให้มีพื้นที่ ผู้เล่นที่มีพรสวรรค์อย่าง Pele จะยังคงมี ดี อะไรเหลืออยู่อีกหรือ 
		ปัจจุบัน แผนการเล่นที่ทีมฟุตบอลหลาย ๆ ทีม ที่รู้ตัวว่าเป็นรองทีมคู่แข่ง มักจะใช้ก็คือ การเล่นแบบ counter attack คือตั้งรับให้แน่นเข้าไว้ พอคู่ต่อสู้เผลอก็ ฉวยโอกาสนั้นทำประตู ระบบนี้หลาย ๆ ทีมเคยใช้ได้ผลมาแล้ว เช่น ทีมชาติซาอุดิอารเบีย ก็ใช้แผนนี้ อัดเบลเยี่ยมซะหงายเก๋ง 1-0 ในฟุตบอลโลกปี 1994 และ ดูเหมือนว่าการเล่นแบบตั้งรับและโต้กลับเร็วนี้จะเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่แต่เฉพาะทีม ที่มีสักยภาพจำกัดเท่านั้น ทั้งอาร์เซน่อล ที่คว้าแชมป์ พรีเมียร์ลีก เมื่อปี 1997/98 และลิเวอร์พูลที่คว้าสามแชมป์เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา  ต่างก็ใช้แผนการดังกล่าวในการเก็บเกี่ยวชัยชนะทั้งสิ้น
		ทางด้านการเมืองและการทหารระหว่างประเทศก็เช่นกัน แต่แรกเริ่มเดิมที ทหารหรือขุนศึก จะเน้นไปที่การฝึกฟันดาบและการต่อสู้ป้องกันตัวเบื้องต้นเป็นสำคัญ จากนั้นมาก็เริ่มมีการคิดค้นปืนไฟที่กระสุนทำด้วยดินแดงขึ้น จนกระทั่งมีปืนใหญ่ มีรถถัง จนกระทั่งมีการคิดค้นอาวุธนิวเคลียร์ขึ้น มาถึงขนาดนี้แล้วต่อให้มีจอมทัพเก่ง ๆ อย่าง บุเรงนอง หรือ กวนอู ถ้าหากว่าเจอระเบิดปรมาณูไปซักลูกสองลูกก็คงจะไปไม่รอดเหมือนกัน
  		ในปัจจุบันการรบแบบกองโจร หรือ แบบสงครามพิเศษดูจะได้รับความนิยมมากขึ้น นับตั้งแต่เวียดนามใช้ยุทธวิธีนี้ ในการต่อกรกับสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจของโลกทั้งทางด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจจนสามารถมีชัยไปได้ในที่สุดในสงครามเวียดนาม
                            ยุทธวิธีการรบแบบนี้เน้นการก่อวินาศกรรมและใช้คนไม่มาก ในการลงมือแต่ละครั้งขอทหารเพียงแค่สองคนกับไม้ขีดไฟ แล้วก็น้ำมันก๊าดก็เพียงพอแล้ว ด้วยต้นทุนที่ประหยัดและไม่เสี่ยงกับการที่ต้องสูญเสียไพร่พลเป็นจำนวนมาก ยุทธวิธีการรบดังกล่าวจึงได้รับความนิยมอย่างสูงจากประเทศโลกที่สามหรือประเทศกำลังพัฒนา เพราะถ้าขืนรบเต็มรูปแบบกับประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ก็มีแต่จะแพ้กับพัง 
		นั้นคือสิ่งที่เราสามารถเปรียบเทียบได้ระหว่างฟุตบอลกับสงคราม แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถจะนำประเด็นทั้งเรื่องฟุตบอลและการเมืองระหว่างประเทศอันเป็นชนวนไปสู่การแย่งชิงของสองอารยธรรมมาเปรียบกันได้เลยก็คือ
                         เจ้าอาวาส : พวกเขาจะรบกันเมื่อไหร่ ( เจ้าอาวาสหมายความว่านัดชิงฟุตบอลโลกจะเริ่มแข่งเมื่อไหร่ )
		Geko : อะไรนะครับ?ใครจะรบกับใคร?
                        เจ้าอาวาส : ก็เจ้าบอกว่าเป็นการรบกันของสองชาติมหาอำนาจเพื่อแย่งลูกฟุตบอลไม่ใช่หรือ ?แล้วถ้าเขาชนะพวกเขาจะได้อะไร ?
		Geko : ถ้วยรางวับครับ
		ในการแข่งขันฟุตบอลโลก ทีมที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเป็นถ้วยชนะเลิส
		แล้วในการสงครามหละ ประเทศที่ชนะจะได้รับอะไร?
                        บางที่เราอาจจะพบคำตอบของคำถามนี้อยู่ในใต้ซากปรักหักพังของอาคารเวิร์ลด เทรดเซ็นเตอร์ในมหานคร นิวยอร์ค ก็ได้กระมัง				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเชษฐภัทร วิสัยจร
Lovings  เชษฐภัทร วิสัยจร เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเชษฐภัทร วิสัยจร
Lovings  เชษฐภัทร วิสัยจร เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงเชษฐภัทร วิสัยจร