27 เมษายน 2553 17:57 น.
สุริยันต์ จันทราทิตย์
ณ ยามกลียุคก็เกิดขุกเข็ญ
ประเทศเดือดเซ่นสนองตัณหา
ฤไทยใกล้ลับจะดับในครา
ฉะนี้แล้วหนาชะตาบ้านเรา
ประชาคิดแผกก็แยกเป็นสี
วิวาทต่อยตีวิธีสุดเขลา
มิลงรอยกันเพราะมั่นยึดเอา
นิยามตนเฝ้าทะลึ่งดึงดัน
ระเบิดเขวี้ยงขว้าง ณ กลางเมืองใหญ่
ละเลงเลือดไทยอะไรหนอนั่น
จะอีกกี่ศพจะจบยอมกัน
ฤต้องล้างพันธุ์ล่ะสัญชาติไทย?
ประเทศเพื่อนบ้านก็รายงานข่าว
สะพัดเกรียวกราวสะพือลือใหญ่
ก็ตื่นหัวอกวิตกกันไกล
อนาถจิตใจสิไทยฆ่ากัน
ฤหัวร่อร่าก็หารู้ได้
ตลบหลังไทยสะใจขบขัน
ริเร่งสร้างชาติผงาดชื่อครัน
จะแซงไทยทันก็พลันครานี้
จะหยุดได้ไหมนะไทยทั้งหลาย
ละเลิกวุ่นวายและฝักฝ่ายสี
เถอะคิดตรองตรึกระลึกให้ดี
สยามป่นปี้เพราะฝีมือใคร?๚๛
25 เมษายน 2553 08:43 น.
สุริยันต์ จันทราทิตย์
หนาวลมคืนร้อน
นั่งนอนเปล่าเปลี่ยว
อยู่แต่ดายเดียว
ภายใต้แสงจันทร์
ลืมตานอนหลับ
เคลิ้มกับความฝัน
ท่ามกลางคืนวัน
ขุ่นข้องหมองใจ
หรีดหริ่งร้องร่ำ
หัวค่ำคืนรุ่ง
ดุจเพลงกล่อมกรุง
บ้านนาป่าใหญ่
วังเวงแว่วหวาน
ซาบซ่านทรวงใน
ห่มผ้าเหงื่อไหล
ชุ่มหยาดน้ำตา
หนาวร้อนนอนรุ่ม
กลัดกลุ้มสับสน
มีไหมสักฅน
คอยคิดห่วงหา
จวบแจ้งแสงสาง
รุ่งรางส่องมา
ทาบทับจับฟ้า
ยังนิทราวรณ์
ใจเจ็บเหน็บหนาว
รวดร้าวขื่นขม
ช่างแสนรื่นรมย์
ความทุกข์หลอกหลอน
หม่นหมองรันทด
ทุกบททุกตอน
หนาวลมหน้าร้อน
ด้วยนอนเดียวดาย ๚๛
--------------------------------------------
วิชชุมมาลาฉันท์ หนาวลมคืนร้อนนี้
ผมเลือกใช้โวหารที่เป็นปฏิภาคพจน์ (paradox) คือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายขัดแย้งกัน จะเห็นได้ในหลาย ๆ วรรค เช่น
หนาวลม-คืนร้อน (หนาวลมในคืนร้อน?)
นั่ง-นอนเปล่าเปลี่ยว (นั่งหรือนอน?)
ลืมตา-นอนหลับ เคลิ้มกับความฝัน (นอนแบบนี้คงไม่มีจริง)
หรีดหริ่งร้องร่ำ หัวค่ำ-คืนรุ่ง (ร้องตอนไหนกันแน่หัวค่ำหรือคืนรุ่ง-ใกล้รุ่ง?)
ดุจเพลงกล่อมกรุง-บ้านนาป่าใหญ่ (กล่อมเมืองหรือกล่อมบ้านนา?)
วังเวง-แว่วหวาน ซาบซ่านทรวงใน (ความวังเวงคือความเงียบ แต่กลับดังแว่วหวานในใจ?)
ห่มผ้า-เหงื่อไหล ชุ่มหยาดน้ำตา (ร้อนแล้วห่มผ้าทำไม? ร้อนจนหนาว?)
หนาว-ร้อน-นอนรุ่ม (ทั้งหนาวทั้งร้อนในตอนเดียวกัน?)
จวบจนแสงสาง รุ่งรางส่องมา ทาบทับจับฟ้า-ยังนิทราวรณ์ (จนแสงอุษาเวียนมาอีกครั้งแต่ก็ยังอาลัยอาวรณ์นอนหลับอยู่)
ใจเจ็บเหน็บหนาว รวดร้าวขื่นขม ช่างแสนรื่นรมย์-ความทุกข์หลอกหลอน (รื่นรมย์เพราะระทมทุกข์?)
หนาวลม-หน้าร้อนด้วยนอนเดียวดาย (หนาวลมหน้าร้อน-ขัดแย้งกันเป็นไปได้ยังไง?)
นอกจากนี้ยังมีการใช้โวหารแบบปฏิปุจฉา (rhetorical question) คือการใช้คำถามโดยไม่ต้องการคำตอบ
นั่นคือวรรค มีไหมสักฅน คอยคิดห่วงหา
อ่านฉันท์บทนี้แล้วหวังว่าคงเข้าถึง
อัพภูตรส หรือรสแห่งความพิศวงประหลาดใจ และ
พีภติรส หรือรสแห่งความชิงชังรังเกียจ
ที่ผู้แต่งต้องการสื่อให้เห็นถึงความพิศวงประหลาดใจและชิงชังรังเกียจอันเป็นลีลาแบบ"พิโรธวาทัง"และ"สัลลาปังคพิไสย" ใน"หนาวลมคืนร้อน" ข้างต้นกันนะครับ
ลองแต่งฉันท์แล้วมานั่งวิเคราะห์ถึงสุนทรียะและอลังการดู
24 เมษายน 2553 08:14 น.
สุริยันต์ จันทราทิตย์
ย่างคิมหันต์
(ย่าง-คิ-มะ-หันต์)
นั้นก็ระรุ่ม
(นั้น-ก็-ระ-รุ่ม)
ร้อนฤสิสุม
(ร้อน-ฤ-สิ-สุม)
แสนระอุไอ
(แสน-ระ-อุไอ)
แดดฤก็จ้า
(แดด-ฤ-ก็-จ้า)
กล้ากลไกล
(กล้า-กะ-ละ-ไกล)
ลามละลุไหม้
(ลาม-ละ-ลุไหม้)
ทั่วธรณี
(ทั่ว-ธะ-ระ-ณี)
เปลวทะลุเข้า
(เปลว-ทะ-ลุ-เข้า)
เผามนให้
(เผา-มะ-นะ-ให้)
ร้อนปะทุใจ
(ร้อน-ปะ-ทุใจ)
หลอมฤดิที่
(หลอม-ฤ-ดิ-ที่)
เกินปะทะต้าน
(เกิน-ปะ-ทะ-ต้าน)
ผลาญสติมี
(ผลาญ-สะ-ติ-มี)
เซ่นและพลี
(เซ่น-และ-พะ-ลี)
แด่ระอุไอ
(แด่-ระ-อุ-ไอ)
สุดจะระกำ
(สุด-จะ-ระ-กำ)
ช้ำและก็เศร้า
(ช้ำ-และ-ก็-เศร้า)
ยากสินะเรา
(ยาก-สิ-นะ-เรา)
เอาชนะได้
(เอา-ชะ-นะ-ได้)
เหงื่อก็ละล้น
(เหงื่อ-ก็-ละ-ล้น)
ท้นอุระใน
(ท้น-ระ-อุ-ใน)
หยาดคละไหล
(หยาด-คะ-ละ-ไหล)
หลั่งระดะริน
(หลั่ง-ระ-ดะ-ริน)
17 เมษายน 2553 10:23 น.
สุริยันต์ จันทราทิตย์
ฟ้ามืดพโยมนภประกาศ
(ฟ้า-มืด-พะ-โยม-นะ-ภะ-ประ-กาศ)
วิปลาสทะมึนดำ
(วิ-ปะ-ลาส-ทะ-มึน-ดำ)
เมฆเคลื่อนคละคล้อยระดะระต่ำ
(เมฆ-เคลื่อน-คละ-คล้อย-ระ-ดะ-ระ-ต่ำ)
ดุจซบประกบดิน
(ดุ-จะ-ซบ-ประ-กบ-ดิน)
กลั่นสายละอองทิพยใส
(กลั่น-สาย-ละ-ออง-ทิ-พะ-ยะ-ใส)
บริสุทธิ์ไอก็ไหลริน
(บ-ริ-สุทธิ์-ไอ-ก็-ไหล-ริน)
สู่หล้าพิภพคละชะธนินทร์
(สู่-หล้า-พิ-ภพ-คละ-ชะ-ธะ-นินทร์)
ก็ยะเยือกยะเย็นครัน
(ก็-ยะ-เยือก-ยะ-เย็น-ครัน)
ฉ่ำชื่นกระแสพิรุณหล้า
(ฉ่ำ-ชื่น-กระ-แส-พิ-รุ-ณะ-หล้า)
ละลุป่าพนาวัน
(ละ-ลุ-ป่า-พะ-นา-วัน)
ส่ำสัตว์ก็พาคณะประชัน
(ส่ำ-สัตว์-ก็-พา-คะ-ณะ-ประ-ชัน)
กะจะร้องคะนึงอล
(กะ-จะ-ร้อง-คะ-นึง-อล)
กบเขียดระเริงวรุณทั่ว
(กบ-เขียด-ระ-เริง-วะ-รุ-ณะ-ทั่ว)
ณ สระบัวชเลชล
(ณ-สระ-บัว-ชะ-เล-ชล)
ปูปลาระริกก็จลจล
(ปู-ปลา-ระ-ริก-ก็-จะ-ละ-จล)
คละฝนกระแสธาร
(คะ-ละ-ฝน-กระ-แส-ธาร)
พฤกษ์ไพรวะไหวเพราะพยุพัด
(พฤกษ์-ไพร-วะ-ไหว-เพราะ-พะ-ยุ-พัด)
ตละซัดละลู่อาน
(ตะ-ละ-ซัด-ละ-ลู่-อาน)
โอนอ่อนสิเอนประดุจปาน
(โอน-อ่อน-สิ-เอน-ประ-ดุ-จะ-ปาน)
จะระราบระเรี่ยนอน
(จะ-ระ-ราบ-ระ-เรี่ย-นอน)
ไอดินคละคลุ้งขจรจบ
(ไอ-ดิน-คละ-คลุ้ง-ขะ-จะ-ระ-จบ)
ณ พิภพภราดร
(ณ-พิ-ภพ-ภะ-รา-ดร)
อวลอบกระจายฑิฆมพร
(อวล-อบ-กระ-จาย-ฑิ-ฆะ-มะ-พร)
พรหมโลกธาตรี
(พระ-มะ-โลก-กะ-ธา-ตรี)
ยวนยั่วพระพรหมสยมศักดิ์
(ยวน-ยั่ว-พระ-พรหม-สะ-ยะ-มะ-ศักดิ์)
ธ ตระหนัก ณ นาที
(ธ-ตระ-หนัก-ณ-นา-ที)
หอมใด ฤ กลิ่นพระธรณี
(หอม-ใด-ฤ-กลิ่น-พระ-ธะ-ระ-ณี)
ละสราญวิมานทอง
(ละ-สะ-ราญ-วิ-มาน-ทอง)
ลงง้วนพระแม่ ธ จะเสวย
(ลง-ง้วน-พระ-แม่-ธ-จะ-สะ-เหวย)
พระจะเชยคระไลลอง
(พระ-จะ-เชย-คระ-ไล-ลอง)
องค์พรหม ธ สม ณ ปิติปอง
(องค์-พรหม-ธ-สม-ณ-ปิ-ติ-ปอง)
รสทิพย์ก็คลาไคล
(ระ-สะ-ทิพย์-ก็-คลา-ไคล)
จวบสายวรุณรุจิละหยาด
(จวบ-สาย-วะ-รุณ-รุ-จิ-ละ-หยาด)
ธรรมชาติก็แปรไป
(ธะ-มะ-ชาติ-ก็-แปร-ไป)
สาดแสงสุรีย์สุริยใส
(สาด-แสง-สุ-รีย์-สุ-ริ-ยะ-ใส)
ก็สว่างมิหมองมน
(ก็-สะ-หว่าง-มิ-หมอง-มน)
เรียวรุ้งระเรืองมหศภาพ
(เรียว-รุ้ง-ระ-เรือง-มะ-หะ-ศะ-ภาพ)
ระดะทาบนภาดล
(ระ-ดะ-ทาบ-นะ-ภา-ดล)
ดั่งสายมณีรตนบน
(ดั่ง-สาย-มะ-ณี-ระ-ตะ-นะ-บน)
มฆวานฑิฆัมพร
(มะ-ฆะ-วาน-ฑิ-ฆัม-พร)
เปล่งปลั่งประกายศุภสวัสดิ์
(เปล่ง-ปลั่ง-ประ-กาย-ศุ-ภะ-สะ-หวัด)
สตตรัตน์อลงกรณ์
(สะ-ตะ-รัตน์-อะ-ลง-กรณ์)
เลื่อมลายจรัสสิอรชร
(เลื่อม-ลาย-จะ-หรัส-สิ-อะ-ระ-ชร)
นภสรวงทิวาวัน
(นะ-ภะ-สรวง-ทิ-วา-วัน)
ทำนองฤดูกลพิภพ
(ทำ-นอง-ฤ-ดู-กะ-ละ-พิ-ภพ)
มิสงบคละเคล้ากัน
(มิ-สะ-หงบ-คละ-เคล้า-กัน)
เปลี่ยนแปลงเสมอประดุจผัน
(เปลี่ยน-แปลง-สะ-เหมอ-ประ-ดุ-จะ-ผัน)
ธรรมชาติ ธ ลีลา
(ธะ-มะ-ชาติ-ธ-ลี-ลา)
3 เมษายน 2553 13:47 น.
สุริยันต์ จันทราทิตย์
แผ่นดินหาญเหือดแห้ง.............กันดาร
อากาศก็พาพาล..............................รุ่มร้อน
ประกายแดดแผดผลาญ.................เกรียมกรอบ
เปลวกรุ่นอบสะท้อน........................ดาดแล้งดินตาย
ตาลายเพราะรุ่มร้อน..................แดดลม
ฝุ่นจับเหงื่อเปียกจม........................อาบหน้า
หัวใจเหี่ยวเฉาฉม..........................แห้งผาก
สลดสุดรอนล้า .................................อกแล้งแรงโหย
โรยโรยชีวิตไร้...........................เรี่ยวแรง
ข้าวยากหมากยังแพง.......................แย่แล้ว
ผู้ใหญ่เด็กเล็กแดง...........................โอยโอด
อีกหน่อยคงไม่แคล้ว.........................กัดก้อนเกลือกิน๚๛