19 เมษายน 2548 01:38 น.
สุชาดา โมรา
แม่น้ำกับมนุษย์เป็นของคู่กันมานาน เพราะเรายังต้องใช้แม่น้ำในการดำรงชีพตลอดทุกยุคและสมัย นอกจากจะใช้ดื่มกินหรือชำระร่างกายแล้วเรายังใช้น้ำในการเดินทาง เพาะปลูกพืชผักเพื่อนำไปประกอบอาหาร ถ้าชีวิตขาดน้ำก็ไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปอีกได้ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องหาที่อยู่อาศัยที่ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อการดำรงชีพ จังหวัดลพบุรีก็มีแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งที่อยู่คู่กับชาวลพบุรีมาช้านาน ซึ่งก็คือแม่น้ำลพบุรีนั้นเอง แม่น้ำลพบุรีมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มเป็นดินตะกอนลุ่มแม่น้ำใหม่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านหมี่ อำเภอท่าวุ้ง และอำเภอเมือง แม่น้ำลพบุรีเป็นลำน้ำธรรมชาติสายหลักที่แยกสาขาออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางพุทรา อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี แล้วไหลผ่านอำเภอท่าวุ้ง เข้าสู่ตำบลต่าง ๆ เช่น ตำบลบางขันหมาก โพธิ์เก้าต้น ตะลุง ฯลฯ ก่อนผ่านเข้าสู่เขตจังหวัดอ่างทองและอยุธยา บรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป
พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำลพบุรีในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกและปริมาณน้ำมากทุกปี นำพาปุ๋ยธรรมชาติเข้าสู่ท้องนาและปลาหลากชนิดมาผสมพันธุ์วางไข่ แต่อย่างไรก็ตามเมืองถึงฤดูแล้ง ปริมาณน้ำค่อนข้างลดลงต่ำ จึงมีการแก้ไขโดยการสร้างระบบชลประทานขึ้นมา ทำให้ฝั่งตะวันตกของจังหวัดลพบุรีมีคลองชลประทานหนาแน่นมากที่สุด
เนื่องจากแม่น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งบรรพบุรุษ ซึ่งทางจังหวัดลพบุรีได้ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จังหวัดลพบุรีจึงได้จัดงาน "วันรวมใจคืนธรรมชาติความสดใสให้แม่พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ" ในวันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม 2547 การจัดงานครั้งนี้ได้จัดกิจกรรมการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมน้ำลพบุรี เพื่อเทิดไท้องค์สมเด็จพระราชินี และเพื่อคืนธรรมชาติความสดใสให้แม่น้ำ คูคลอง โดยการรณรงค์ปลูกสร้าง จิตสำนึกสาธารณะร่วมด้วยช่วยกันดูแลรักษาคุณและหล่อเลี้ยงชีวิต เพื่อดำรงความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนที่ผูกพันกับแม่น้ำคูคลองให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
แม่น้ำลพบุรี อันมีความหมายและสำคัญยิ่งต่อชาวชนบทเป็นอันมาก เปรียบประดุจสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวไร่ชาวนาพร้อมทั้งสัตว์เลี้ยงและพืชไร่นานาชนิดตลอดจนกระทั่งการคมนาคมและขึ้นล่องการสัญจรไปมา นับว่าแม่น้ำลพบุรีมีความสำคัญและมีความหมาย อย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของคนลพบุรี จนเรียกได้ว่า แม่น้ำลพบุรี คือ สายเลือดสายหนึ่งที่มีความหมายสำคัญมากสำหรับชาวลพบุรีโดยทั่วไป
19 เมษายน 2548 00:11 น.
สุชาดา โมรา
คนในบ้านบางคู้จะรู้จักและคุ้นเคยกับสมุนไพรเป็นอย่างดี เพราะเป็นสิ่งที่พบเห็นและใช้บริโภคในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว อาทิ เช่น ตะไคร้ ขี้เหล็ก ขิง ข่า ใบบัวบก ใบเตย มะขาม สะระแหน่ โหระพา มะระ กระเทียม ตำลึง ฯลฯ ซึ่งคนในบ้านบางคู้ก็รู้จักดัดแปลงสมุนไพรเหล่านี้มาทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรได้ด้วย
ที่บ้านบางคู้มีน้ำสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพไม่แพ้เครื่องดื่มทั่วไปในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นน้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะตูม น้ำเก๊กฮวย น้ำว่านกาบหอย น้ำใบบัวบก น้ำตะไคร้ น้ำขี้เหล็ก น้ำขิง น้ำข่า น้ำสะระแหน่ เป็นต้น
นับวันความตื่นตัวในเรื่องเครื่องดื่ม สมุนไพร หรือที่เรียกกันว่า ชาสมุนไพร ในบ้านเรายิ่งเพิ่มขึ้น จะสังเกตเห็นว่าในปัจจุบันมีการผลิตเครื่องดื่มสมุนไพรออกมาให้เลือกซื้อกันมากมายหลายยี่ห้อ จนบางครั้งก็ให้นึกสงสัยว่าเครื่องดื่มสมุนไพรเหล่านั้นมีประโยชน์สมคำโฆษณาเพียงใด
สำหรับชาวบ้านบางคู้แล้ว เครื่องดื่มประเภทสมุนไพรเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะได้ดื่มบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นชาสมุนไพรทั้งหลาย เครื่องดื่มเหล่านี้ได้มาจากส่วนประกอบต่างๆของพืช และผลไม้ ผัก และธัญพืชต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในธรรมชาติ อาจจะได้จากส่วนใดส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ลำต้น ใบ เหง้า ราก เปลือก ดอก หรือเมล็ดก็นำมาผ่านกระบวนการ คั้น ต้ม ออกมาเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรให้เราได้ดื่มกัน สมุนไพรเหล่านั้นอาจมีสรรพคุณในการดื่มเพื่อบำรุงร่างกาย แก้กระหาย คลายร้อน หรือ บรรเทาโรค แล้วแต่ชนิดของสมุนไพร
น้ำสมุนไพรมีรสชาติที่ได้จากธรรมชาติ และยังให้คุณค่าและประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย เพราะจะช่วยให้ร่างกายและจิตใจสดชื่น ยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น ช่วยเจริญอาหาร ช่วยบำรุงโลหิต และให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆที่ช่วยให้ร่างกายสามารถเปิดรับคุณค่าจากสารอาหารแหล่งอื่นอื่นๆได้อย่างเต็มที่
นอกเหนือจากสรรพคุณ เครื่องดื่มสมุนไพรยังหมายถึงเครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติทางยาเพื่อการช่วยบำบัดและเยียวยาโรคบางชนิดอีกด้วย แต่ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสามารถทำเองได้ เครื่องดื่มสมุนไพรจะต้องมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านด้านหนึ่ง เช่น สมุนไพรชนิดดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะตูม น้ำเก๊กฮวย ในขณะที่บางชนิดช่วยบำรุงหัวใจ เช่น ใบเตย ว่านกาบหอย น้ำใบบัวบก บางชนิดบรรเทาอาการหวัด ขับเหงื่อ เช่น น้ำตะไคร้ บางชนิดช่วยให้เจริญอาหาร เช่น น้ำชา น้ำขี้เหล็ก
สมุนไพรก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆของคนบางคู้ เพราะเป็นสิ่งคู่ชีวิตของคนบางคู้มาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เห็นหรือเปล่าว่าสมุนไพรตามท้องถิ่นบ้านเราก็สามารถเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ และมีประโยชน์ต่อร่างกายของคนในชุมชนได้เช่นกัน สมุนไพรให้ประโยชน์ต่อสุขภาพนั้นขึ้นอยู่กับเราว่าต้องการดื่มอะไร ต้องการดื่มเพื่อบำรุงสุขภาพ ต้องการดื่มเพื่อช่วยในการรักษาโรค ก่อนที่จะดื่มควรมีการศึกษาและเลือกดื่มให้พอดี จะเห็นได้จากผู้สูงอายุของชาวบ้านตำบลบางคู้ เพราะทุกคนเติบโตมาพร้อมกับสมุนไพรจริงๆ จึงทำให้ชีวิตยืนยาวได้นานถึงทุกวันนี้
19 เมษายน 2548 00:09 น.
สุชาดา โมรา
และในที่สุดฉันก็ได้คำตอบ เมื่อฉันมาพบกับ ป้าชะอ้อน เสืองาม หญิงชราวัย ๕๕ ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ ๑๗ หมู่ ๑๓ ตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ที่บ้านของป้าชะอ้อน นั้นมีอาชีพหลักคือการเลี้ยงไก่พันธ์เนื้อ และเลี้ยงปลาน้ำจืดซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลาสวาย แต่ที่ฉันสนใจคือป้าชะอ้อน ได้ปลูกต้นดอกไม้ไว้ตัดขายให้กับชาวบ้านที่ร้อยมาลัยขาย ป้าชะอ้อนได้ปลูกกุหลาบพวงไว้ประมาณ ๑,๐๐๐ ต้น โดยใช้เนื้อที่ประมาณ ๒ งาน และดอกดาวเรือง โดยใช้พื้นที่ประมาณ ๑ งาน ซึ่งตัวป้าชะอ้อนก็บอกว่าปลูกไม่มากนักเพราะอยู่กันแค่สองตายาย ป้าชะอ้อนยังเล่าให้ฟังอีกว่า ปลูกกุหลาบมาได้เกือบ ๓ ปีแล้ว ปลูกเพราะเห็นชาวบ้านเขาปลูกกัน และเมื่อถามว่าขายอย่างไร ป้าชะอ้อนก็บอกว่า ถ้าเป็นกุหลาบจะขายประมาณร้อยละ ๒๐ บาท แต่ถ้าเป็นดาวเรืองก็จะขายประมาณร้อยละ ๓๐ ถึง ๕๐ บาท แล้วแต่ว่าขนาดของดอกจะใหญ่และสวยหรือไม่ ส่วนขายให้ใครนั้น ป้าชะอ้อนบอกว่าจะนำไปส่งให้กับชาวบ้านหมู่ ๑๔ ที่อยู่กันคนละฝั่งแม่น้ำ เพราะว่า ชาวบ้านแถวนั้นจะมีการร้อยมาลัยขายกัน
และเมื่อฉันถามอีกว่าป้าชะอ้อนดูแลต้นดอกไม้อย่างไร คำตอบที่ได้ก็คือ ฉีดยากันแมลง รบกวนอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง รดน้ำสองวันรดหนึ่งครั้ง แมลงก็จะไม่ค่อยมีมากวน เมื่อฉันถามอีกว่าเก็บดอกไม้ได้ทุกวันเลยหรือแล้วได้จ้างคนมาตัดบ้างไหม คำตอบของป้าชะอ้อนตรงนี้นี่เองที่ทำให้ฉันได้รู้ว่า ยังมีคนอีกคนหนึ่งที่ตื่นเช้าขึ้นมา เพื่อที่จะมาทำเรื่องซ้ำซากได้โดยที่ไม่รู้สึกเบื่อ ป้าชะอ้อน บอกว่า ตัดดอกไม้คนเดียว บางครั้งตาก็ช่วยบ้าง (ถ้าว่างจากการดูแลไก่และปลา) ฉันก็ย้ำคำถามว่าตัดทุกวันเลยหรือ (ใจจริงแล้วอยากถามว่าไม่เบื่อบ้างหรือ) ป้าชะอ้อนบอกว่าตัดเกือบทุกวัน ยิ่งถ้าเป็นปลายฝนต้นหนาว ต้องตื่นมาตัดทุกวัน เพราะดอกจะออกมากทุกวัน ดอกกุหลาบนั้นต้องรอให้แย้มก่อนถึงจะตัด และต้องรีบตัดก่อนที่มันจะบาน เพราะถ้าบานแล้วจะนำไปร้อยมาลัยได้ไม่สวย
ในขณะที่ฉันฟังป้าชะอ้อนเล่า ฉันก็มีความรู้สึกว่าสีหน้าของป้าชะอ้อนบอกว่าเพลิดเพลินและสนุกมากกว่าเบื่อหน่ายกับการที่ต้องตื่นขึ้นมาตัดดอกไม้ เพราะฉันคิดว่า ในขณะที่ป้าชะอ้อนตัดดอกไม้อยู่ ใจของป้าชะอ้อนก็คงจะคิดไปว่า วันนี้ต้นนี้ ดอกจะออกเยอะไหม เดี๋ยวต้องรีบตัดเจ้าดอกกุหลาบเพราะว่ามันจะบานซะก่อน ต้องรีบแข่งกับมัน ถ้าฉันมีความคิดได้กว้าง ๆ อย่างป้าชะอ้อนก็คงจะไม่รู้สึกเบื่ออย่างนี้ คือนอกจากที่ฉันจะตื่นขึ้นมาเพื่ออาบน้ำ ทานบะหมี่สำเร็จรูป และเตรียมตัวไปเรียน ฉันก็ต้องคิดต่อไปว่าวันนี้อาจารย์จะสอนอะไร วันนี้อาจารย์จะอารมณ์ดีไหม และเพื่อน ๆ จะมีอะไรมาเล่าให้ฟังบ้างวันนี้ เช่นเดียวกันรถวน บ.ข.ส.สระแก้ว ถึงแม้ว่ามันจะวิ่งวนอยู่ในเส้นทางเดียวตลอดทั้งวัน แต่ผู้โดยสารก็จะมีหลากหลายผู้คน บรรยากาศภายในรถก็คงจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ หากฉันคิดได้อย่างนี้ชีวิตฉันคงจะมีทางออกจากความรู้สึกที่เบื่อหน่ายกับชีวิตที่มีแต่เรื่องที่ซ้ำซาก และรู้สึกสนุกขึ้นมาเยอะ เหมือนกับป้าชะอ้อนที่ตื่นขึ้นมาเพื่อที่จะตัดดอกไม้ได้เกือบทุกวันโดยที่ไม่รู้สึกเบื่อ
19 เมษายน 2548 00:06 น.
สุชาดา โมรา
ปัจจุบันการร่วมตัวแบบในอดีตที่ผ่านมาเริ่มลดน้อยลง ชาวบ้านจะอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ไม่สนใจว่าบ้านใครจะทำอะไรกันและก็จะรู้กันแต่ในบ้านของตัวเอง ด้วยเหตุนี้คน ต.บางคู้ หมู่ ๑๓ จึงคิดหาวิธีที่จะช่วยสร้างความสามัคคีให้แก่คนในหมู่บ้าน จึงได้มีการจัดตั้งคุ้มบ้านขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เป็นศูนย์รวมของคนในคุ้มนั้น เช่น ใช้ในการประชุมเรื่องต่าง ๆ เมื่อมีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในหมู่บ้าน โดยทุกคนมีสิทธ์มีเสียงเท่าเทียมกันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา เช่น ลูกหลานบ้านใครมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องติดยาเสพติด ก็จะมีการประชุมเพื่อหาทางแก้ไขในทางที่ถูกต้อง และที่สำคัญคุ้มก็ยังเป็นที่ผักผ่อน หย่อนใจของคนชุมชนด้วย คือ จะมีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน มีการเล่นหมากรุก และเป็นที่ชุมนุมคนแก่ในหมู่บ้าน ที่จะมาพบปะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันนั้นคุ้มได้เข้ามามีบทบาทสำคัญของคน ต.บางคู้ หมู่ที่ ๑๓ เป็นอย่างมาก
ลักษณะของคุ้มที่มีในชุมชน ต.บางคู้ หมู่ที่๑๓ นั้นจะมีรูปแบบเป็นศาลาและใช้เสาทั้งหมดสี่เสา มีที่นั่งและมุ่งหลังคาด้วยใบจาก และจะมีความแตกต่างจากในอดีตคือ ในคุ้มจะมีการแบ่งสมาชิกว่าแต่ละครอบครัวว่าอยู่ในคุ้มไหน โดยสมาชิกของแต่ละคุ้มนั้นจะเป็นผู้อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน ในแต่ละคุ้มจะมีหัวหน้าที่สมาชิกจะเรียกว่า หัวหน้าคุ้ม หัวหน้าจะเป็นผู้ที่ถูกสมาชิกเลือกขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของตนเองและคุ้ม ซึ่งการเลือกนั้นหัวหน้าคุ้มจะต้องเลือกจากผู้ผู้ที่มีความสามารถ เป็นที่เคารพของคนในคุ้มและหมู่บ้าน เพราะหัวหน้าคุ้มจะเป็นผู้เข้าประชุมเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับสมาชิก หรือในบริเวณคุ้มของตัวเอง เช่น ในวันพ่อ ก็จะร่วมตัวกันพัฒนาบริเวณคุ้มของตนเองหรือเมื่อมีการประชุมที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของหมู่บ้านก็จะนำมาแจ้งผู้ใหญ่บ้านอีกทีหนึ่งทราบหาวิธีการแก้ไขต่อไป
ในขณะเดียวกันการจัดตั้งคุ้มก็ถือว่าเป็นกลไกลในการทำงานของผู้ใหญ่บ้านอีกทางหนึ่งคือเวลาประชุมประจำเดือนก็จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาแก้ปัญหาร่วมกันหรือเมื่อมีเรื่องมาจากทางอำเภอก็จะแจ้งกับหัวหน้าคุ้มเพื่อไปบอกให้แก่สมาชิกทุกคนให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
การจัดตั้งคุ้มของคนในหมู่ ๑๓ ยังมีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือ ได้มีการนำชื่อของสมุนไพรไทยมาตั้งเป็นชื่อคุ้ม โดยมีทั้งหมด ๕ ชื่อด้วยกัน คือ ม้ากระทืบโรง หนุมานผสานกาย ฟ้าทะลายโจร โด่ไม่รู้ล้ม ประคำดีควาย ซึ่งทำให้เห็นว่าคนในหมู่ ๑๓ นั้นมีความคิดที่สร้างสรรค์อย่างมาก และจากการที่ได้พูดคุยกับผู้ที่ตั้งชื่อคุ้มแล้วทำให้ทราบถึงสาเหตุและที่มาของชื่อคุ้มที่เป็นสมุนไพรได้ดังนี้
๑. เพื่อเป็นเอกลักษณ์ในการจดจำชื่อคุ้มได้โดยง่ายของคนในหมู่บ้าน
๒. ชื่อทุกชื่อล้วนเป็นชื่อของสมุนไพรไทยที่มีความหมายถึงเรื่องของการผสานบาทแผล หรือบำรุงกำลัง และเพื่อต้องการสื่อให้เห็นว่าทุกคนความมีความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาและต้องสามัคคีกันในหมู่บ้าน
๓. เพื่อให้ลูกหลานที่กำลังจะลืมคุณค่าของสมุนไพรได้ทราบถึงประโยชน์และเพื่อเป็นการอนุรักษ์
แนวทางในการพัฒนาคุ้มบ้านนั้นจากการพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านทำให้ทราบว่ามีความพอใจอยู่ในระดับหนึ่งแต่อีกสิ่งที่ต้องการให้คนในหมู่บ้านทำคือหากิจกรรมต่างๆมาทำกันเช่นมีกิจกรรมในทุกวันหยุด โดยให้แต่ละคุ้มพาลูกหลานมาพูดคุยกันมีการฝึกเล่นดนตรีหรือมีหนังสือให้เยาวชนอ่านเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
จะเห็นได้ว่าการจัดตั้งคุ้มบ้านนั้นสร้างประโยชน์ให้แก่คนในหมู่ ๑๓ เป็นอย่างมากเพราะทำให้ทุกคนมีความเข้าใจกันมากขึ้น และภาพการแบ่งปันและพึ่งพาอาศัยกันของคนในหมู่ ๑๓ กำลังจะกลับมาอีกครั้งดังที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตมาแล้ว
19 เมษายน 2548 00:05 น.
สุชาดา โมรา
ชุมชนตำบลบางคู้ก็เช่น ชาวบ้านในตำบลบางคู้เชื่อกันว่าในบริเวณบ้านของตนมีวิญญาณของเทพซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า พระภูมิ อาศัยอยู่ หากได้จัดหาที่อยู่ที่เหมาะสม และให้ความเคารพนับถือ บวงสรวงบูชาเป็นประจำแล้วจะทำให้เจ้าของบ้านและคนในครอบครัวมีความสุข ปลอดภัยและมีความเจริญรุ่งเรือง
ลักษณะของศาลพระภูมิของชาวบ้านในตำบางคู้ จะมีลักษณะเป็นเรือนไม้หรือปราสาทเล็ก ๆ วางอยู่บนเสาต้นเดียวและมีส่วนประกอบ คือ เจว็ด ตุ๊กตาชายหญิง ช้าง ม้า กระถางธูป เชิงเทียน แจกันดอกไม้ เป็นต้น มีการกำหนดวัน เวลา ฤกษ์ยาม ตำแหน่งในการตั้งศาลพระภูมิ ซึ่งจะต้องอยู่ภายในรั้วหรือบริเวณบ้าน การทำพิธีตั้งศาลและเชิญพระภูมิขึ้นประทับบนศาลต้องให้หมอเจ้าพิธีเป็นผู้ดำเนินการ ในวันทำพิธีเจ้าของบ้านต้องจัดหาเครื่องสังเวย มีอาหารคาว เช่น หัวหมู ไก่ เป็ด เป็นต้น อาหารหวาน เช่น ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว เป็นต้น ผลไม้ เช่น กล้วยน้ำว้าสุก และ มะพร้าวอ่อน พร้อมเครื่องบูชาต่าง ๆ เช่น บายศรีปากชาม พวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าแพร ๓ สี ด้ายสายสิญจน์ ขันน้ำมนต์ พานครูของหมอเจ้าพิธี เป็นต้น เมื่อทุกอย่างพร้อม หมอเจ้าพิธีจะทำพิธีตามลำดับ เริ่มจากหมอเจ้าพิธีซึ่งนุ่งห่มชุดขาวอย่างพราหมณ์ทำพิธีบูชาครู ทำน้ำมนต์พรมที่หลุมสำหรับวางฐานเสาศาล วางสิ่งของมงคลที่ก้นหลุม เช่น เหรียญเงินใบเงิน ใบทอง ใบมะยม ดอกพุทธรักษา เป็นต้น ยกเสาตั้งในหลุม ตั้งเครื่องสังเวยตรงหน้าศาล พรมน้ำมนต์เครื่องสังเวย เชิญเทพ เจิมแป้งที่ศาล เจิมเจว็ดและบริวาร ปิดทองคำเปลวที่เจว็ดและตัวศาลผูกสายสิญจน์โยงตัวศาลกับเครื่องสังเวย จุดธูปปักที่เครื่องสังเวยทุกอย่าง หมอเจ้าพิธีกล่าวนำถวายและเซ่นเครื่องสังเวยลาเครื่องสังเวย เชิญพระภูมิขึ้นศาล ลาเครื่องสังเวยอีกครั้ง ตักเครื่องสังเวยทุกชนิดใส่ในกระทงใบตองเล็ก ๆ ๔ ใบ วางไว้ที่มุมศาลทั้ง ๔ มุม ปลดสายสิญจน์ ยกเครื่องสังเวยออก เป็นเสร็จพิธี
ในการตั้งศาลพระภูมิ สิ่งที่ต้องคำนึงคือ สถานที่ตั้ง ทิศทาง ความสูงของศาลพระภูมิและผู้ประกอบพิธีกรรม เพราะการตั้งศาลพระภูมิ สถานที่ที่ตั้งศาล วันเวลาและฤกษ์ยาม มีความสำคัญมาก ควรเลือกวันที่ดีและมีความเป็นสิริมงคลเพื่อให้ประสิทธิ์ผลในทางมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยในบ้านเรือนนั้นสืบต่อไปเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย
การเซ่นสังเวยและการตั้งศาลพระภูมิ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาแต่โบราณ โดยจะกระทำเมื่อปลูกบ้านใหม่ เพราะเชื่อว่าขั้นตอนการตั้งศาลพระภูมิจะเป็นการขับไล่สิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้ออกจากบ้านไป แล้วอัญเชิญพระภูมิมาสิงสถิตเพื่อปกป้องคุ้มครองเจ้าของบ้านและบริวารให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรือง มีโชคลาภ เพื่อให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข