22 เมษายน 2548 12:13 น.
สุชาดา โมรา
น้ำพริกแกงเผ็ดรสเด็ดของบ้านบางคู้ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านในหมู่ที่ ๑๓ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิรักษ์ไทย กรุงเทพมหานคร ตามโครงการสร้างอาชีพพัฒนาหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนนำในการรวมกลุ่มครั้งนี้และสมาชิกในกลุ่มลงความเห็นว่าควรจะตำน้ำพริกขายเพราะเป็นหัวใจสำคัญในการประกอบอาหารและแทบทุกครัวเรือนจะต้องมีติดบ้านไว้ใช้ ซึ่งสามารถขายได้ตลอดปี
ที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า น้ำพริกแกงรสเด็ดและตำด้วยมือทั้งสองข้างเห็นจะมีแต่ที่หมู่ที่ ๑๓ ของบ้านบางคู้เท่านั้น เพราะผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสทุกขั้นตอนการผลิตจนออกมาเป็นน้ำพริกแกงเผ็ดรสเด็ด ทุกขั้นตอนทุกกระบวนการผลิตด้วยมือทั้งสิ้น ไม่มีเรื่องทุ่นแรงใด ๆ ทั้งเครื่องปั่นหรือมอเตอร์ที่ใช้ในการโม่ส่วนผสม
วัตถุดิบส่วนใหญ่ได้มาจากท้องถิ่นของบ้านบางคู้เอง เช่น มะกรูด ตะไคร้ ข่า จะมีที่ต้องซื้อก็คือ กระชาย พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ พริกไทยดำ และเกลือ
ในการผลิตน้ำพริกแกงเผ็ด กลุ่มแม่บ้านจะผลิตครั้งละประมาณ ๘ กิโลกรัม โดยมีวัตถุดิบดังนี้
๑. พริกแห้ง ๑ กิโลกรัม
๒. ข่า ๐.๘ กิโลกรัม
๓. กระชาย ๐.๘ กิโลกรัม
๔. ตะไคร้ ๐.๖ กิโลกรัม
๕. หอมแดง ๑.๒ กิโลกรัม
๖. กระเทียม ๑.๘ กิโลกรัม
๗. ผิวมะกรูด ๐.๕ กิโลกรัม
๘. กะปิ ๐.๓ กิโลกรัม
๙. เกลือ ๐.๕ กิโลกรัม
๑๐.พริกไทยดำ ๐.๒ กิโลกรัม
ขั้นตอนการผลิต
๑. นำพริกแห้ง ข่า ตะไคร้ กระชาย มะกรูด ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาผึ่งแดดให้พอหมาด
๒. หั่นข่า ตะไคร้ กระชายเตรียมไว้
๓. ปลอกเปลือกหอมแดง, กระเทียมและผิวมะกรูดเตรียมไว้
๔. ตำผิวมะกรูดและพริกไทยดำให้ละเอียด ผสมเกลือเล็กน้อยเพื่อให้ตำง่ายและไม่กระเด็นเข้าตา
๕. คั่วพริกแห้ง
๖. น้ำส่วนผสมทั้งหมดมาโม่ (ด้วยมือ) ให้พอหยาบ
๗. ตำส่วนผสมทั้งหมดให้ละเอียดเพื่อเพิ่มความหอมของพริกแกง เทคนิคในการสังเกตว่าพริกแกงนั้นละเอียดพอหรือยัง ให้สังเกตจากเม็ดพริกว่ามีปริมาณน้อยลงในการตำแต่ละครั้ง
๘. จะได้น้ำพริกแกงตามต้องการ ส่วนผสมทั้งหมดจะได้พริกแกงน้ำหนักประมาณ ๘ กิโลกรัม
ทุกขั้นตอนในการผลิตล้วนกลั่นกรองออกมาด้วยหัวใจของคนทำ จึงทำให้น้ำพริกแกงเผ็ดของบ้านบางคู้ มีเอกลักษณ์ความรอยไม่เหมือนที่อื่น ๆ และราคาขายก็ไม่แพง ถ้าเทียบกับกระบวนการผลิต เพราะจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ ๖๐ บาทเท่านั้น
ถ้าหากจะหาน้ำพริกแกงเผ็ดที่มีรสชาติเด็ด ๆ ก็อย่าลืมแวะเวียนไปหาซื้อกันได้ที่ หมู่ที่ ๑๓ ตำบลบางคู้ อำเอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี กลุ่มแม่บ้านยินดีต้นรับทุกท่านด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพที่ดี
22 เมษายน 2548 12:12 น.
สุชาดา โมรา
ภูมิปัญญาที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งของชาวบ้านในตำบลก็คือ หัตถกรรมเครื่องจักสานเสื่อรำแพน ที่ช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่ง
วันนี้การเดินทางในครั้งนี้ของดิฉันเป็นการเดินทางที่ต่างจากทุกครั้งที่มาเพราะทุกครั้งที่มาจะมาด้วยจุดประสงค์อื่น ๆ เพราะดิฉันมีเพื่อนที่สนิทอยู่ในตำบลบางคู้หนึ่งคน จะแวะมาเยี่ยมเยียนและเที่ยวหากันเป็นประจำ แต่การมาในครั้งนี้คือการมาหาข้อมูลการสานเสื่อรำแพนของชาวบ้านตำบลบางคู้ จากการสอบถามผู้สานเสื่อรำแพนและเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงไม่มีผู้ใดทราบว่าใครเป็นผู้ที่ริเริ่มสานเสื่อรำแพนขึ้นเป็นคนแรก ซึ่งในการสานเสื่อรำแพนสมัยก่อนนั้น ทุกบ้านจะสานกันเป็นทุกคน แต่ในปัจจุบันแล้วผู้ที่สานเสื่อรำแพนเป็นก็ล้มหายตายจากไปบ้าง เท่าที่ดิฉันได้ทราบผู้ที่สานเป็นและยังมีชีวิตอยู่มีเพียงไม่กี่คน คือ คุณป้าทองสุข บุญรับ อายุ ๖๔ ปี และคุณยายจ้อย ขำปู่ อายุ ๘๐ปี ซึ่งก็ป่วยด้วยโรคชรา ไม่ได้ทำแล้วเพราะร่างกายของท่านไม่เอื้ออำนวย
คุณป้าทองสุขบอกว่า ที่สานเสื่อรำแพนเป็นเพราะว่าแม่กับยายสอนเป็นผู้สอนให้ หลังจากนั้นก็ฝึกและก็หัดทำมาเรื่อยๆ พออายุเริ่มมากเข้า ก็เกิดความคิดที่จะถ่ายทอดให้กับลูกหลานของตน และผู้ที่สนใจ แต่ก็ไม่มีใครคิดอยากทำ เนื่องจากการจักตอกและลอกเนื้อไม้เพื่อนำมาสานนั้นทำได้ยาก ต้องอาศัยความชำนาญและความอดทนอย่างมาก
วัตถุดิบที่ใช้สานเสื่อรำแพนและเป็นองค์ประกอบร่วมที่สำคัญคือ ไม้ไผ่สีสุก เป็นตัวชูโรงอย่างดี และมีดสำหรับจักตอกซึ่งจะต้องคมอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ไม่กินเนื้อไม้ ส่วนไม้ไผ่ที่ใช้จะต้องเป็นไม้ไผ่สีสุกเท่านั้น เพราะมีลำต้นตรงเรียวยาว เนื้อไม้และผิวไม้มีสีเขียวปนเหลืองนวลและเป็นไม้ที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไปเหมาะสำหรับสานเสื่ออย่างดี ไม้ไผ่สีสุกนั้นคุณยายทองสุกจะซื้อมาจากที่อื่น ซึ่งไม้ไผ่สีสุกขนาดใหญ่ลำละ ๒๐ บาท ทำเสื่อรำแพนได้ประมาณ ๓ ผืน แต่ถ้าเป็นขนาดเล็กลำละ ๑๕ บาท ทำเสื่อได้ประมาณ ๑ ผืนกว่า ๆ
ขั้นตอนในการทำนั้นไม่ได้ยุ่งยาก คือ เราต้องมีวิธีการในการเลือกไม้ไผ่ที่ยังอยู่ในขนาดที่เข้าลำ คือ มีขนาดพอเหมาะมือ ลำต้นตรงเขียวสดปนเหลืองนวลไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป ถ้าเราต้องการที่จะทำเสื่อรำแพนผืนใหญ่ ความยาวที่ได้ขนาดคือ ๔ ปล้อง ขนาดสั้นความยาว ๒ ปล้อง หลังจากทอนเป็นท่อนเรียบร้อยแล้ว คือขั้นตอนการผ่าครึ่ง ลอกและเหลาเนื้อไม้ไผ่ให้ได้บางที่สุด หลังจากนั้นตากแดดจัด ๆ เพียงแดดเดียวเพื่อให้เกิดความเหนียว เวลาขัดลายหรือขึ้นลายเนื้อไม้จะได้ไม่หักหรือคดงอง่าย การขึ้นลายจะเรียกว่าลายสอง คือ ยก ๒ ข่ม ๒ ตั้งแต่ตรงกลางผืนไปจนกระทั่งจบพอถึงตรงมุมของสื่อเขาจะเรียกกันว่า ดี จะต้องขึ้นลาย ข้าม ๓ ยก ๒ นั่นคือวิธีการทำหนึ่งผืน
ในหนึ่งวันคุณยายทองสุกสามารถสานเสื่อได้มากที่สุดเพียงแค่ ๑ ผืน เพราะจะใช้ว่างทำเท่านั้นไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลักแต่อย่างใด
การจำหน่ายเสื่อรำแพนจะจำหน่ายในราคาขายส่ง คือ ขนาดใหญ่ ๗๐ บาท ขนาดเล็ก ๔๐ บาท หากเป็นคนกันเองราคาเสื่อรำแพนก็จะถึงลง คือ ขนาดใหญ่ราคา ๕๐ บาท และขนาดเล็ก ๓๐ บาท เท่านั้น
เสื่อรำแพน เป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าพวกเราคนรุ่นใหม่ควรจะอนุรักษ์และช่วยกันสืบถอดกันไว้ให้อยู่คู่กับพวกเราและลูกหลานของเราตลอดจนไป
22 เมษายน 2548 12:10 น.
สุชาดา โมรา
เมื่อสิ่งเหล่านี้หมดไปทำให้คนต่างจังหวัด เริ่มอยู่อย่างตัวใครตัวมันมากขึ้น ความมีน้ำใจเริ่มหมดไป ความเห็นแก่ตัวเข้ามาแทนที่ จากที่เคยอยู่กันอย่างเครือญาติ อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ก็แยกตัวออกมาเป็นอิสระ ความเป็นญาติที่ใกล้ชิดกลับเป็นเพียงญาติห่าง ๆ ความรักความสามัคคี การช่วยเหลือจุนเจือกัน ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ลดน้อยลงจนเริ่มจางหายไปในที่สุด
ในปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทกับสังคมของคนชนบททำให้สิ่งทั้งหลายเริ่มหายไป แต่บางอย่างก็ยังคงอยู่ เช่น การขอแรงกันไปช่วยหุงข้าวทำกับข้าวในงานบุญต่าง ๆ ซึ่งยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นประเพณีที่ดีที่ควรอนุรักษ์ไว้และในงานบุญต่าง ๆ ในสมัยก่อน ชาวบ้านยังไม่มีโรงสีข้าวเหมือนในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันตำข้าวเพื่อให้เปลือกข้าวหลุด เมื่อตำเสร็จแล้วจึงมาใสกระด้งฝัดให้เปลือกออก และนำข้าวที่ได้มาหุงทำให้เกิดความสามัคคีในการร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน แต่พอมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ทำให้ภาพความสามัคคีที่เกิดขึ้นในอดีตหายไป จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ชาวบ้านในตำบลบางคู้เกิดความคิดที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าๆ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งอดีต ทำให้เกิดโรงสีชุมชนขนาดเล็กที่ชาวบ้านหมู่ ๑๓ ตำบลบางคู้ ร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อสีข้าวให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงรวมทั้งบุคคลทั่วไปด้วย ถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนสร้างความรักความสามัคคีและความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้านให้เกิดขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง
โรงสีชุมชนแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ โดยการระดมหุ้นจากชาวบ้านในหมู่บ้าน ได้ทุนในการดำเนินกิจการ ๒๔๕,๐๐๐ บาท และที่ดินที่ใช้ในการสร้างชาวบ้านต่างยินยอมยกให้ใช้จัดตั้งโรงสีชุมชน เมื่อโรงสีสามารถดำเนินการได้ก็สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในหมู่บ้านได้ดี เช่น ปัญหาการขาดอาชีพ เมื่อมีโรงสีทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการบริหารจัดการ ปัญหาข้าวที่สีแล้วมีราคาแพง ช่วยให้ชาวบ้านซื้อข้าวในราคาที่ถูกลงหรือใครจะนำข้าวของตนมาสีก็ได้แต่ทางโรงสีจะขอแกลบ ปลายข้าว รำข้าว เอาไว้ขายเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำค่าไฟ และใช้ในการดูแลรักษา นอกจากนี้โรงสีชุมชนยังได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของตำบลบางคู้ด้วย
นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของคนในชุมชนแล้ว โรงสีชุมชนยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอีกด้วยเพราะจะมีผู้ขอมาศึกษาดูจากงานเป็นจำนวนมาก
ต่อมาโรงสีชุมชนได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนชุมชนเพื่อสังคมเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๔ ในการปรับปรุงโรงสีชุมชนเป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อเพิ่มกำลังผลิตและเพิ่มคุณภาพของการสีข้าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ได้รับงบสนับสนุนจาก สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จัดสรรงบถ่ายโอนผ่านองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นทุนดำเนินการโครงการจัดซื้อข้าวเปลือกแก่โรงสีชุมชน เป็นเงิน ๓๔๐,๐๐๐ บาท จากเงินส่วนนี้ทำให้โรงสีชุมชนมีทุนในการซื้อข้าวเปลือกมาสีขายให้กับชาวบ้าน
ข้าวเปลือกที่หาซื้อได้ก็ได้จากชาวบ้านในหมู่บ้านเพราะคนในตำบลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักทำให้มีข้าวที่ชาวบ้านนำมาสีเพื่อไว้เองหรือที่โรงสีชุมชนซื้อมาจากชาวบ้านเพื่อสีขาย และซื้อข้าวจากนอกพื้นที่มาขายเช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมกุหลาบ เป็นต้น มาสีขายในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด
อย่างไรก็ตามโรงสีชุมชนก็ถูกสร้างขึ้นมาจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านเพื่อประโยชน์ของคนในหมู่บ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของชุมชนรวมทั้งสามารถสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ทำให้ความสามัคคี ความมีน้ำใจ ของคนต่างจังหวัดกลับมาเยื้อนจนทำให้เราสามารถรำลึกถึงบรรยากาศแห่งน้ำใจไมตรีได้อีกครั้งหนึ่ง
19 เมษายน 2548 01:38 น.
สุชาดา โมรา
แม่น้ำกับมนุษย์เป็นของคู่กันมานาน เพราะเรายังต้องใช้แม่น้ำในการดำรงชีพตลอดทุกยุคและสมัย นอกจากจะใช้ดื่มกินหรือชำระร่างกายแล้วเรายังใช้น้ำในการเดินทาง เพาะปลูกพืชผักเพื่อนำไปประกอบอาหาร ถ้าชีวิตขาดน้ำก็ไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปอีกได้ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องหาที่อยู่อาศัยที่ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อการดำรงชีพ จังหวัดลพบุรีก็มีแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งที่อยู่คู่กับชาวลพบุรีมาช้านาน ซึ่งก็คือแม่น้ำลพบุรีนั้นเอง แม่น้ำลพบุรีมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มเป็นดินตะกอนลุ่มแม่น้ำใหม่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านหมี่ อำเภอท่าวุ้ง และอำเภอเมือง แม่น้ำลพบุรีเป็นลำน้ำธรรมชาติสายหลักที่แยกสาขาออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางพุทรา อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี แล้วไหลผ่านอำเภอท่าวุ้ง เข้าสู่ตำบลต่าง ๆ เช่น ตำบลบางขันหมาก โพธิ์เก้าต้น ตะลุง ฯลฯ ก่อนผ่านเข้าสู่เขตจังหวัดอ่างทองและอยุธยา บรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป
พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำลพบุรีในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกและปริมาณน้ำมากทุกปี นำพาปุ๋ยธรรมชาติเข้าสู่ท้องนาและปลาหลากชนิดมาผสมพันธุ์วางไข่ แต่อย่างไรก็ตามเมืองถึงฤดูแล้ง ปริมาณน้ำค่อนข้างลดลงต่ำ จึงมีการแก้ไขโดยการสร้างระบบชลประทานขึ้นมา ทำให้ฝั่งตะวันตกของจังหวัดลพบุรีมีคลองชลประทานหนาแน่นมากที่สุด
เนื่องจากแม่น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งบรรพบุรุษ ซึ่งทางจังหวัดลพบุรีได้ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จังหวัดลพบุรีจึงได้จัดงาน "วันรวมใจคืนธรรมชาติความสดใสให้แม่พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ" ในวันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม 2547 การจัดงานครั้งนี้ได้จัดกิจกรรมการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมน้ำลพบุรี เพื่อเทิดไท้องค์สมเด็จพระราชินี และเพื่อคืนธรรมชาติความสดใสให้แม่น้ำ คูคลอง โดยการรณรงค์ปลูกสร้าง จิตสำนึกสาธารณะร่วมด้วยช่วยกันดูแลรักษาคุณและหล่อเลี้ยงชีวิต เพื่อดำรงความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนที่ผูกพันกับแม่น้ำคูคลองให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
แม่น้ำลพบุรี อันมีความหมายและสำคัญยิ่งต่อชาวชนบทเป็นอันมาก เปรียบประดุจสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวไร่ชาวนาพร้อมทั้งสัตว์เลี้ยงและพืชไร่นานาชนิดตลอดจนกระทั่งการคมนาคมและขึ้นล่องการสัญจรไปมา นับว่าแม่น้ำลพบุรีมีความสำคัญและมีความหมาย อย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของคนลพบุรี จนเรียกได้ว่า แม่น้ำลพบุรี คือ สายเลือดสายหนึ่งที่มีความหมายสำคัญมากสำหรับชาวลพบุรีโดยทั่วไป
19 เมษายน 2548 00:11 น.
สุชาดา โมรา
คนในบ้านบางคู้จะรู้จักและคุ้นเคยกับสมุนไพรเป็นอย่างดี เพราะเป็นสิ่งที่พบเห็นและใช้บริโภคในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว อาทิ เช่น ตะไคร้ ขี้เหล็ก ขิง ข่า ใบบัวบก ใบเตย มะขาม สะระแหน่ โหระพา มะระ กระเทียม ตำลึง ฯลฯ ซึ่งคนในบ้านบางคู้ก็รู้จักดัดแปลงสมุนไพรเหล่านี้มาทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรได้ด้วย
ที่บ้านบางคู้มีน้ำสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพไม่แพ้เครื่องดื่มทั่วไปในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นน้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะตูม น้ำเก๊กฮวย น้ำว่านกาบหอย น้ำใบบัวบก น้ำตะไคร้ น้ำขี้เหล็ก น้ำขิง น้ำข่า น้ำสะระแหน่ เป็นต้น
นับวันความตื่นตัวในเรื่องเครื่องดื่ม สมุนไพร หรือที่เรียกกันว่า ชาสมุนไพร ในบ้านเรายิ่งเพิ่มขึ้น จะสังเกตเห็นว่าในปัจจุบันมีการผลิตเครื่องดื่มสมุนไพรออกมาให้เลือกซื้อกันมากมายหลายยี่ห้อ จนบางครั้งก็ให้นึกสงสัยว่าเครื่องดื่มสมุนไพรเหล่านั้นมีประโยชน์สมคำโฆษณาเพียงใด
สำหรับชาวบ้านบางคู้แล้ว เครื่องดื่มประเภทสมุนไพรเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะได้ดื่มบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นชาสมุนไพรทั้งหลาย เครื่องดื่มเหล่านี้ได้มาจากส่วนประกอบต่างๆของพืช และผลไม้ ผัก และธัญพืชต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในธรรมชาติ อาจจะได้จากส่วนใดส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ลำต้น ใบ เหง้า ราก เปลือก ดอก หรือเมล็ดก็นำมาผ่านกระบวนการ คั้น ต้ม ออกมาเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรให้เราได้ดื่มกัน สมุนไพรเหล่านั้นอาจมีสรรพคุณในการดื่มเพื่อบำรุงร่างกาย แก้กระหาย คลายร้อน หรือ บรรเทาโรค แล้วแต่ชนิดของสมุนไพร
น้ำสมุนไพรมีรสชาติที่ได้จากธรรมชาติ และยังให้คุณค่าและประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย เพราะจะช่วยให้ร่างกายและจิตใจสดชื่น ยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น ช่วยเจริญอาหาร ช่วยบำรุงโลหิต และให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆที่ช่วยให้ร่างกายสามารถเปิดรับคุณค่าจากสารอาหารแหล่งอื่นอื่นๆได้อย่างเต็มที่
นอกเหนือจากสรรพคุณ เครื่องดื่มสมุนไพรยังหมายถึงเครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติทางยาเพื่อการช่วยบำบัดและเยียวยาโรคบางชนิดอีกด้วย แต่ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสามารถทำเองได้ เครื่องดื่มสมุนไพรจะต้องมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านด้านหนึ่ง เช่น สมุนไพรชนิดดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะตูม น้ำเก๊กฮวย ในขณะที่บางชนิดช่วยบำรุงหัวใจ เช่น ใบเตย ว่านกาบหอย น้ำใบบัวบก บางชนิดบรรเทาอาการหวัด ขับเหงื่อ เช่น น้ำตะไคร้ บางชนิดช่วยให้เจริญอาหาร เช่น น้ำชา น้ำขี้เหล็ก
สมุนไพรก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆของคนบางคู้ เพราะเป็นสิ่งคู่ชีวิตของคนบางคู้มาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เห็นหรือเปล่าว่าสมุนไพรตามท้องถิ่นบ้านเราก็สามารถเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ และมีประโยชน์ต่อร่างกายของคนในชุมชนได้เช่นกัน สมุนไพรให้ประโยชน์ต่อสุขภาพนั้นขึ้นอยู่กับเราว่าต้องการดื่มอะไร ต้องการดื่มเพื่อบำรุงสุขภาพ ต้องการดื่มเพื่อช่วยในการรักษาโรค ก่อนที่จะดื่มควรมีการศึกษาและเลือกดื่มให้พอดี จะเห็นได้จากผู้สูงอายุของชาวบ้านตำบลบางคู้ เพราะทุกคนเติบโตมาพร้อมกับสมุนไพรจริงๆ จึงทำให้ชีวิตยืนยาวได้นานถึงทุกวันนี้