13 กุมภาพันธ์ 2548 19:11 น.

สิ่งที่ควรเก็บไว้

สุชาดา โมรา

จากอดีตสานสู่ปัจจุบัน  วิถีชีวิตคนไทยนับตั้งแต่อดีต  มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายพออยู่พอกิน  มีทรัพย์ในดินมีสินในน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์   และอีกทั้งยังมีภูมิปัญญามายังลูกหลานจนทุกวันนี้  มรดกทางภูมิปัญญาที่ได้มาเราควรจะสานต่อ  นอกจากนี้คนไทยก็ยังมีวัฒนธรรมอันงดงามน่าชื่นชมอย่างยิ่ง
                    ในปัจจุบัน  ประเทศไทยเรามีภูมิปัญญาที่มากมายหลากหลายสิ่งหลายอย่าง   แต่ส่วนใหญ่ภูมิปัญญานั้นส่วนมากจะอยู่ตามพื้นถิ่นบ้านเกิดของตัวเอง  อย่างเช่นจังหวัดลพบุรีก็จะขอนำเสนอตำบลบางคู้  เพราะตำบลบางคู้เป็นถิ่นแห่งภูมิปัญญาที่เราควรจะสืบสานต่อ  และที่สำคัญไปกว่านั้นบางคู้ยังมีสิ่งที่ดี ๆ  ที่มีผู้คนอีกหลายคนยังไม่รู้  แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่อยากรู้
                     จากการที่ได้ไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับตำบลบางคู้  บางคู้เป็นชุมชนที่มีการพัฒนาที่สูงมาก  ไม่ว่าจะเรื่องการประกอบอาชีพ  ความอยู่ดีมีสุขของคนในชุมชนนั้น  การอยู่ดีมีสุขก็รวมไปถึง  การมีสุขภาพอนามัยที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ  มีความรู้  มีงานทำทั่วถึง  มีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพ  มีครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคง  อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
                       การประกอบอาชีพของคนบางคู้  ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกร  เช่น  ทำไร่  ทำนา  เพราะเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนนั้น  การประกอบอาชีพทำไร่ทำนาก็เป็นการสานต่อมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน  ส่วนอาชีพเสริมของผู้คนบางคู้  ก็เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นจากที่ธรรมชาติได้สร้างสิ่งที่ดี ๆ  มาให้เรา  บางคนอาจจะมองข้ามไปโดยไม่เห็นประโยชน์ของสิ่งสิ่งนั้น  แต่ก็ยังมีผู้คนอีกมากมาย  ที่สามารถนำภูมิปัญญาที่มีอยู่มาพัฒนา  ให้เกิดค่าและมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต  กับการผสมผสานภูมิปัญญาที่มีอยู่ให้สืบเนื่องต่อไป
                     ภูมิปัญญาของคนบางคู้นั้น   เป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาทั้งสิ้น เพียงแต่เราจะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยน์อย่างไร  อย่างเช่นบ้านบางคู้  มีการทำผลิตภัณฑ์จากกะลาที่สวยสดงดงามตระการตาที่ผู้คนได้พบเห็น  จากการที่ไปสำรวจสอบถามคนบางคู้ที่ทำผลิตภัณฑ์จากกะลาก็ได้ทราบว่า  การประกอบอาชีพนอกเหนือจากการทำไร่ทำนาแล้ว  อาชีพเสริมก็คือการทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว  เพราะสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว  แล้วยังส่งผลไปยังเศรษฐกิจของชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย   ส่วนกะลามะพร้าวที่นำมาทำผลิตภัณฑ์นั้น  ก็มาจากชุมชนหมู่บ้านบางคู้  ที่มีต้นมะพร้าวเป็นทุนอยู่แล้ว  ก็นำกะลามะพร้าวจากครัวเรือนของเรานี่เอง  เช่น  การทำขนมไทยจากกะทิ  แกงกะทิ   กะลามะพร้าวที่ทุกคนมองข้าม  ที่เราโยนทิ้งโดยไม่เห็นคุณค่าของมันเลย  แต่ปัจจุบันนี้กะลามะพร้าวสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว  และชุมชนบ้านบางคู้ได้มากมหาศาล  และนี่ก็เป็นอีกความคิดใหม่ที่สามารถนำภูมิปัญญาที่มีอยู่  แล้วมาผสมผสานให้เกิดภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์  และมีการพัฒนาได้เป็นอย่างดีจึงจะเป็นสิ่งที่ควรสืบทอดภูมิปัญญาใหม่ให้เกิดในวิถีของคนไทยในปัจจุบัน				
13 กุมภาพันธ์ 2548 19:07 น.

เป็นเหนือกว่าชีวิต

สุชาดา โมรา

ผู้หญิงในสังคมไทย  มีสถานะเป็นได้แค่เพียงแม่และเมียที่ดี  คำว่า แม่ ยังแสดงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ให้เราเข้าใจความหมายของชีวิตอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น   แม่ในวรรณคดีจึงไม่ใช่เป็นเพียงตัวละครที่โลดแล่นตามบทบาทที่กวีกำหนด หากแต่ตัวละครเหล่านี้แสดงให้เห็นความเป็นชีวิตที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน
	ดั่งพระนางมัทรี ในมหาเวสสันดรชาดก ที่เป็นชายาของพระเวสสันดร ซึ่งภรรยาตามแบบอุดมคติของสังคม  คือ  เทิดทูนสวามีเหนือเกล้า  มีความซื่อสัตย์  จงรักภักดีแต่พระสวามีเพียงผู้เดียว  พระนางมัทรีจึงยืนยันอย่างแน่วแน่ว่าพระนางจะขอตามเสด็จพระเวสสันดร ไม่ว่าจะต้องมีชีวิตที่ยากลำบากอย่างไรก็ตาม  เราจะสังเกตได้ว่า  พระนางมัทรีมีลักษณะนิสัยที่เข้มแข็ง  พระนางไม่เพียงคิดตามเสด็จพระสวามี  เพราะเป็นจารีตของภรรยาที่ดีเท่านั้น  แต่ทรงถือเป็นหน้าที่จะปกป้องดูแลพระสวามีทุกอย่าง   เพื่อให้พระเวสสันดรไม่ลำบาก   โดยไม่คำนึงถึงพระองค์เองเลย
	ด้วยความจงรักภักดีและความกตัญญู ต้องการให้พระเวสสันดรบำเพ็ญพรตอยู่สบายโดย ไม่ต้องลำบากพระวรกาย เสด็จไปแสวงหาผลาผลเพื่อเลี้ยงครอบครัว  พระนางจึงขออาสาเป็นผู้ออกป่าไปหาผลไม้ให้สวามีและโอรสธิดา  ความมุ่งมั่นยอมลำบากกายนั้น ยังไม่เทียบเท่าการยอมทุกข์ใจเพื่อประโยชน์แห่งการบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดร  ความทุกข์ใจที่รุนแรงที่สุด คือการสูญเสียพระโอรสและพระราชธิดา  แสดงการพิลาปคร่ำครวญของพระนางมัทรีอย่างสะเทือนอารมณ์  แต่เมื่อพระนางทราบว่าพระโอรสพระธิดาไม่ได้หายไป  หากแต่พระเวสสันดรบริจาคเป็นทานแก่ชูชก  พระเวสสันดรขอให้พระนางช่วยอนุโมทนาทานด้วยศรัทธา  พระนางก็อนุโมทนาให้ด้วยความเต็มพระทัย
	พระนางมัทรีผ่านความทุกข์ทรมานใจรุนแรงสาหัส  ด้วยความเป็นแม่ทำให้พระนางพิลาปร่ำไห้ราวกับจะสละชีวิตเพื่อลูกได้ แต่ด้วยความเป็นพระชายาทำให้มัทรีสละลูกได้เพื่อให้พระสวามี  การเสียสละของนางมัทรีจึงไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน  แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อมนุษย์ในสากลโลก  พระนางมัทรีจึงเป็นนางแก้วคู่บารมีของพระเวสสันดรในการร่วมกันเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขแห่งมนุษย์โลกทั้งปวง
	ความเป็นแม่ที่มีความรักลูกท่วมหัวใจ และหวงแหนลูกสุดชีวิต  เมื่อตัดสินพระทัยตามเสด็จพระเวสสันดรเข้าสู่ป่าหิมพานต์  พระเจ้าสูญชัยและพระนางผุสดีขอพระชาลีและกัณหาไว้พระนางมัทรีไม่ยอมยกให้ แม้จะเข้าพระทัยดีว่า พระเจ้าสูญชัยทรงสงสารพระราชนัดดา ไม่อยากให้ต้องลำบาก  พระนางกราบทูลจึงพระเจ้าสูญชัยด้วยน้ำเสียงเสียดสีว่า
ขึ้นชื่อว่าบุตรเป็นที่สุดแสนเสน่หาถึงชั่วช้าประการใด  ใจสามารถเป็นหนามเสี้ยนเบียดประชาราษฎร์ควรห้ามเฝ้า  จะตัดจากลูกเต้านั้นไม่ขาด  เกล้ากระหม่อมเหมือนฝ่าละอองธุลีพระบาทก็คงจะตัดพระลูกขาดได้คล่อง ๆ ... ข้ามัทรียังมีอาลัยเป็นล้นพ้นกว่าจะเลี้ยงได้ตะละคน ๆ สุดแสนยาก  ทูลกระหม่อมจะมาพรากไปจากอก  ดั่งจะหยิบยกเอาดวงใจไปจากกาย
	เมื่อชูชกเดินทางมาถึงอาศรมสถานในยามเย็น  ชูชกไม่ผลีผลามเข้าไปทูลขอสองกุมารในทันที  เพราะทราบดีว่าพระนางมัทรีจะต้องขัดขวางถึงที่สุดตามธรรมชาติของแม่ที่ต้องหวงแหนลูกยิ่งชีวิต  ชูชกรอคอยจนกว่าจะรุ่งสาง  เป็นเวลาที่พระนางมัทรีต้องออกไปหาผลไม้ตามปกติแต่ในคืนนั้น ด้วยสังหรณ์ว่าจะมีเหตุร้ายทำให้พระนางมัทรีนิมิตฝันน่ากลัวและมีกิริยาอาการเป็นลางอาเพศบอกเหตุหลายอย่าง  ด้วยความเกรงว่าหากทำนายฝันตามที่เป็นจริง  พระนางมัทรีจะเป็นภัยขัดขวางการกระทำปิยบุตรทาน  พระเวสสันดรจึงทำนายนิมิตฝันว่า  เป็นเพราะพระนางมัทรีมาตกระกำลำบากทั้งการเสวยการบรรทม  ดังนั้น ธาตุทั้งสี่จึงวิปริต
	เมื่อปลุกพระชาลีพระกัณหาให้ตื่นบรรทมแล้ว จึงอุ้มแก้วกัณหาพ่อชาลีขึ้นสู่ตัก  สั่งเสียให้พระชาลีดูแลพระกัณหา  ดั่งที่ครวญสั่งพระโอรสธิดาว่า
	...พ่ออยู่หลังระวังน้องให้จงดี พ่ออย่าตีกันฟังแม่ว่าแม่กัณหาเอ่ยแม่อย่าหลงระเริงเลยแล่นไปนักนะแม่ แม่จงเสงี่ยม อย่าตะลีตะเลียมชะล่าไปให้ไกลพี่  พ่อชาลีเหล่าก็อย่าเลินเล่อละพระน้องให้แล่นเล่นแต่ลำพัง  จงฟังแม่พร่ำสอนพร่ำสั่งทุกสิ่งอัน...
	ความรักความห่วงใยที่มีต่อพระกุมาร  ทำให้พระนางมัทรีไม่เป็นสุขเลย  เมื่อต้องเดินทางไปหาผลไม้ในป่าตามที่ทรงกระทำเป็นกิจวัตร  เมื่อพระทัยของพระนางรุ่มร้อนเช่นนี้  สิ่งที่พระนาง เห็น  จึงปรวนแปรไปด้วยพระอารมณ์ที่เศร้าหมอง
	พระนางมัทรีพยายามเก็บผลไม้โดยเร็ว  เพื่อจะได้เสด็จกลับแต่วัน  แต่เนื่องจากเทพยดาทรงทราบดีว่าพระนางรักลูกสุดชีวิต หากเสด็จกลับแต่วัน ก็จะพบว่าพระเวสสันดรได้พระราชทานพระชาลีกัณหาให้แก่ชูชกไปแล้ว  เทพยดาจึงแปลงร่างเป็นราชสีห์และเสือมาขวางทางไว้จนค่ำจึงปล่อยให้พระนางกลับสู่อาศรม  เมื่อเสด็จถึงและไม่พบชาลีกัณหาวิ่งมารับเช่นเคย เมื่อไม่เห็นก็ใจหายคร่ำครวญหวนไห้ เพราะเกรงว่าจะสูญเสียพระกุมารไปเหมือนดังลางสังหรณ์ในนิมิตฝัน
	หากเราคำนึงถึงความเป็นจริงว่าพระชาลีกัณหาเป็นเพียงทารกน้อยที่ยังไม่อดนมก็ถูกพรากไปจากมารดา  ความโหยหาของสองกุมารที่มีต่อพระราชมารดานั้นย่อมมี  แรงผลักดันมาจากความกระหายในน้ำนมแม่อันเป็นธรรมชาติของเด็ก  เมื่อทั้งสามพระองค์ซึ่งมีจิตใจจดจ่อต่อกันอยู่พบกัน  ความตื่นเต้นสะเทือนใจสุดประมาณทำให้ทั้งสามถึงกับสิ้นสติสัมปชัญญะ  แต่สิ่งที่เป็นความปรารถนาฝังลึกในจิตใต้สำนึกของทั้งสามพระองค์  คือ  ความผูกพันของลูกและแม่  เป็นเพศเดียวที่สามารถส่งผ่านกระแสความรักของตนไปสู่ผู้ที่ตนให้กำเนิดด้วยธารน้ำนม  สิ่งอัศจรรย์ที่บังเกิดน้ำนมไหลจากพระเต้าของพระนางมัทรีเข้าสู่ปากพระชาลีกัณหา  จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่แสดงว่าพระนางมัทรีและสองกุมารต่างบรรลุความปรารถนาที่ต้องการพบกันและได้ถ่ายทอดความรักสู่กัน
	เรื่องของชาดกเรื่องนี้ให้ชัดเจนและเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความรักความผูกพันที่ผู้เป็นแม่มีต่อลูกอันเป็นที่รักที่สุดในชีวิต  ถ้าชีวิตจริงของผู้เป็นแม่เจอกับอุปสรรคกับการสูญเสียลูกไป  เชื่อว่าผู้ที่เป็นแม่ไม่ยอมแน่นอน  ความหมายของคำว่ารักยากนักที่จะมาบรรยายเป็นถ้อยคำ  ความรักเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในชีวิต  โดยเฉพาะความรักที่เกิดขึ้นกับแม่และลูก  จะมีแม่ที่ไหนที่ไม่รักลูกบ้างต่อให้ลูกชั่ว ลูกไม่ดีแค่ไหนความผูกพันทางสายเลือดความเป็นแม่ที่มีต่อลูกก็จะยิ่งผูกพันเป็นล้านเท่า  ก็ด้วยความรักความห่วงใยที่ตัดอย่างไรก็ตัดไม่ขาดเพราะลูกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของแม่  ในความเป็นแม่ลูกจึงเป็นเหนือกว่าชีวิตสิ่งอื่นใดๆ
	ถ้าจิตใต้สำนึกกำลังหลงระเริงกับชีวิตสวยหรู ก็อยากให้หันกลับมารักดูแลครอบครัว มาสร้างความอบอุ่นให้กับสถาบันครอบครัวตอนนี้  ก่อนที่อะไรจะสายเกินไปและขอให้เชื่อในความรักของผู้ที่เป็นแม่เถอะว่า  แม่รักลูกทุกคนด้วยความบริสุทธิ์ใจของแม่จริงๆ
	สังคมเจริญขึ้นทุกวันจะมีสักกี่พันคนที่จะนึกถึงพระคุณแม่ผู้ให้กำเนิด  อยากให้สังคมทุก ๆ สังคมมาสร้างจิตสำนึกรักแม่ให้มากที่สุด  ถึงแม้ว่าการแสดงความรักของลูกที่มีต่อแม่อาจจะน้อยกว่าที่แม่มีให้ต่อลูก  แต่ถ้าเราให้ความรักด้วยรักจริงและสิ่งนี้เองที่เป็นของขวัญและเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดในชีวิตของแม่
	อานุภาพของความรักอันยิ่งใหญ่นี้เป็นตัวแทนความรักของแม่ที่มีต่อลูก				
13 กุมภาพันธ์ 2548 18:58 น.

งานโกนจุก

สุชาดา โมรา

ในที่ไกล ๆ บ้านไกล ๆ เมือง  เวลาพระธุดงค์ผ่านไปทางนั้น  ชาวบ้านที่มีลูกหลานไว้จุก  ไว้แกละ  มักจะขอให้ท่านช่วยโกนผมให้เด็กเพื่อเป็นสิริมงคลเพราะจะพาไปวัด  วัดก็อยู่ไกล  ครั้นโกนเองก็ทำไม่ได้  เป็นธรรมเนียมและความเชื่อมาแต่โบราณว่า  ถ้าโกนผมให้เด็กเองแล้ว  เด็กจะบ้า  หรือสติไม่ค่อยดี  จึงไม่มีใครกล้าเสี่ยง
	ทางต่างจังหวัดจะจัดพิธีโกนจุกประจำปีกันที่วัดไหนบ้างไม่ทราบ  แต่ที่กรุงเทพฯ  และเมืองนนทบุรี  มีพิธีโกนจุกเด็กประจำปี  ทุกปีต่อเนื่องกันมานานแล้วไม่ได้ขาด
	แห่งหนึ่งคือโบสถ์พราหมณ์  ที่เสาชิงช้า  ข้างวัดสุทัศน์  เป็นแหล่งที่สำคัญ  เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ตลอดมา  พราหมณ์ทั้งหลายก็ถือเป็นข้าราชการมีเงินเบี้ยหวัดกันเหมือนข้าราชการทั่วไป
	ที่จริง  การโกนจุกที่โบสถ์พราหมณ์นั้นพอเอาเข้าจริง ๆ แล้วการทำพิธีนี้ก็หาใช่จัดขึ้นเพื่อโกนจุกลูกชาวบ้านโดยตรงไม่  ( สำหรับเจ้าฟ้า  เจ้านาย  ย่อมมีพระราชพิธีโสกันต์  และเกศากันต์ในวัง  และลูกผู้ดีมีเงินก็มักจะจัดกันตามบ้านตัวเองอยู่แล้ว )  งานโกนจุกโบสถ์พราหมณ์เป็นผลพลอยได้จากพิธีตรียัมปวาย  หรือพิธีเนื่องในวันปีใหม่ของพราหมณ์
	ในวันขึ้นปีใหม่พระเป็นเจ้าทั้งสามที่พราหมณ์นับถือจะลงมาเยี่ยมโลก  เมื่อขณะที่พระเจ้าลงมานี้  ถือเป็นวันมงคลจะทำการใด ๆ ก็ได้ทั้งสิ้น  แม้ตามทางบวกลบคูณหารจะว่าเป็นวันไม่ดีอย่างไร  แต่ในเมื่อมีพระผู้เป็นใหญ่ประทับเป็นมิ่งขวัญอยู่  สิ่งเลวร้ายใด ๆ ก็ย่อมไม่อาจเข้ามากล้ำกรายได้
	ในที่สุดจะเริ่มเมื่อรัชกาลใดไม่ทราบ  ระหว่างพิธียัมปวายนี้ก็เกิดผนวกเอาการโกนจุกโกนแกละ  ลูกหลานชาวบ้านเข้ามาร่วมด้วย  พ่อแม่ปู่ย่าตายายคนไหน  เห็นว่าลูกหลานถึงอายุหรือได้เวลาควรโกนจุกก็หอบลูกกันมาให้พราหมณ์ทำพิธีตัดจุกให้
	วันที่จะโกนจุกได้แก่  วันแรม 6 ค่ำ  เดือนยี่  ถ้าเทียบกับสมัยนี้คือต้น ๆ เดือนมกราคม  อย่างเช่น  ปีนี้ก็เพิ่งโกนไปเมื่อวันอังคารที่ 7 มกราคม  ( ปกติ  วันอังคารนั้นเขาถือเรื่องไม่ให้ตัดจุก  เพราะเป็นวันพระขันกุมารคอขาด  คราวจะตัดจุกคือพระนารายณ์ท่านได้เชิญให้ไปร่วมงานโกนจุกด้วย  แต่นอนหลับเพลิน ๆ ก็มีคนมาปลุก  ท่านนึกหงุดหงิด  จึงตรัสออกไปว่า  ไอ้ลูกหัวหาย  คือพูดส่งเดชด้วยอารมณ์  ทันใดนั้นหัวพระขันธกุมารก็หายไปจริง ๆ  ภายหลังต้องหาหัวมาต่อให้วุ่นวาย  จนไปได้หัวช้างมา  พลอยให้เรียกกันว่าพระคเณศจนทุกวันนี้  อย่างไรก็ตาม  ดังที่กล่าวแล้วว่าช่วงตรียัมปวายเป็นวันมงคลถึงจะโกนวันอังคารก็ไม่เป็นไร )
	งานโกนจุกที่จริงมี 2 วันคือ  ข้ามไปเย็นวาน  วันแรม  5  ค่ำเดือนยี่  ต้องพาเด็กเข้าฟังพระสวดมนต์เย็นก่อน  เลิกแล้วใครจะไปไหนก็ได้  บางคนก็กลับบ้าน  บางคนก็ต้องนอนที่นั่นเพราะมาไกล  จากหาดใหญ่  บางคนก็มาจากฉะเชิงเทรา  ยิ่งสมัยก่อนก็ต้องมาจากหลาย ๆ จังหวัดเพราะทางโบสถ์พราหมณ์มีบัตรและลงทะเบียนเอาไว้  ตั้งแต่ตอนบ่าย  พอจะค้นดูไว้สถิติที่เด็กมากันมากนั้นว่า  500-600  ก็ยังเคย  ลองเทียบดูกับ  79  คนของปีนี้แล้วก็คงเห็นแล้วว่าเด็กไว้จุกจะน้อยลงไปทุกที				
9 กุมภาพันธ์ 2548 22:42 น.

ต้อนรับวาเลนไทน์

สุชาดา โมรา

เพื่อน ๆ ทราบไหมคะว่าวันที่  14  กุมภาพันธ์  ซึ่งทุกคนก็รู้กันดีว่าเป็นวันวาเลนไทน์นั้นมีความสำคัญอย่างไร  วาเลนไทน์ ( Valentine ) คือวันที่ระลึกถึง นักบุญเซนต์  วาเลนไทน์ ( Saint Valentine ) ผู้เปี่ยมไปด้วยความรักและความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริงแต่เขาต้องจบชีวิตลงด้วยการรับโทษประหารในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 หรือเมื่อประมาณ 1,728 ปีมาแล้วในจักรวรรดิโรมัน  ประวัติความเป็นมาของเรื่องนี้เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 3 มีผู้นำคริสเตียนคนหนึ่งชื่อ "วาเลนตินัส" เขาเป็นคนที่มีความรักและความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์มากทุก ๆ วันเขาจะแอบนำอาหารและของใช้ที่จำเป็นไปวางไว้ประตูหน้าบ้านของคนยากจนโดยไม่ให้คนเหล่านั้นรู้ ซึ่งในสมัยนั้นนะคะศาสนาคริสต์ยังไม่เป็นที่ยอมรับในจักรวรรดิโรมันและถือว่าใครที่นับถือศาสนาคริสต์จะมีความผิดร้ายแรงมาก  พวกคริสเตียนจึงถูกข่มเหงและทารุณกรรมอย่างหนัก   เพื่อบังคับให้เลิกเป็นคริสเตียน ใครที่ไม่ยอมเลิกนับถือคริสต์จะถูกทรมานและฆ่าทิ้ง วาเลนตินัส ก็รวมอยู่ในกลุ่มขบวนการถูกขู่เข็ญและทรมานบังคับให้เลิกนับถือศาสนาคริสต์ แต่เขาไม่ยอมจึงถูกจับเข้าคุก ในข้อหาเป็นคริสเตียน
ในขณะที่เขาถูกจับขังคุกนั้น ก็พบรักกับสาวตาบอดซึ่งเธอเป็นลูกสาวของผู้คุมในนั้น และด้วยความรักและคำอธิษฐานของเขา พระเจ้าได้ทรงโปรดให้ตาของคนรักของเขาซึ่งเธอตาบอด หายเป็นปกติ จากเหตุการณ์นี้เองจึงทำให้ผู้คุมและครอบครัวของเขาหันมานับถือศาสนาคริสต์ เมื่อความนี้นี้เองรู้ถึงจักพรรดิคลอดิอุสที่ 2 ของโรม พระองค์ทรงกริ้วมาก สั่งให้ลงโทษวาเลนตินัส อย่างหนักด้วยการโบยและนำไปประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ
ในคืนสุดท้ายก่อนที่เขาจะถูกนำไปประหารนั้น เขาได้เขียนจดหมายสั้น ๆ เป็นการอำลาส่งไปให้หญิงคนรัก ของเขาและลงท้ายในจดหมายว่า "จากวาเลนไทน์ของเธอ" รุ่งขึ้นของเช้าวันที่  14  กุมภาพันธ์    ค.ศ. 270 วาเลนตินัสก็ถูกนำไปตัดศีรษะและเอาศพไปฝังไว้ที่เฟลมิเนี่ยนเวย์ซึ่งภายหลังมีการสร้างโบสถ์หลังใหญ่คร่อมสุสานของเขาไว้เพื่อเป็น อนุสรณ์รำลึกถึงชีวิตและความรักอันยิ่งใหญ่ของเขา คนทั่วไปประทับใจกับความรักของเขาจึงยึดถือเอาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันวาเลนไทน์" ภาษาอังกฤษเรียกว่า Saint Valentine's Day หรือ Valentine's Day หรือวันแห่งความรัก ซึ่งต่อมาได้นิยมแพร่หลายไปทั่วยุโรปและอเมริกา และเข้ามาในทวีปเอเชียด้วย
แล้วก็ยังมีอีกหลายคนที่สงสัยว่าทำไมความรักต้องแทนด้วยกุหลาบด้วยใช่ค่ะกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้ทราบว่าชายหรือหญิงคนนั้นมีความรักและความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกัน  คุณรู้ไหมว่าตามวรรณคดีเรื่องหนึ่งของไทยนั้นก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับกุหลาบเหมือนกันเรื่องราวอันหอมหวานและความรักที่แสนจะโรแมนติคของนางฟ้ากับพระราชาในเรื่องมัทธนพาทา  ของรัชกาลที่ 6 ซึ่งพระองค์ทรงประพันธ์ขึ้นไว้อย่างจับใจเพื่อน ๆ ก็ลองไปหาอ่านดูนะคะเพราะถ้าดิฉันเล่าต่อเรื่องราวก็คงจะไม่สนุก  ว่าง ๆ ถ้าเพื่อน ๆ พอจะมีเวลาสักนิดก็ลองไปหาอ่านดูนะคะรับรองว่าจะต้องติดใจอย่างแน่นอนค่ะ
แล้วก็ต้องฝากไว้อีกเรื่องนะคะว่าวันวาเลนไทน์เป็นวันที่ทุกคนแสดงความรักต่อกันไปทั่วทั้งโลก  เป็นวันที่เปิดโอกาสให้ชายหญิงแสดงความรักต่อกัน  แต่ตามสถิติที่เป็นข่าวกันอยู่ทุกวันนี้นั้นวันวาเลนไทน์ก็เป็นวันที่ทำให้คู่รักหลายคนปันหัวใจและร่างกายต่อกัน  ซึ่งนั่นเป็นวิธีการแสดงความรักแบบที่ผิดจารีตและประเพณีที่ดีของคนไทย  ดิฉันจึงขอฝากเพื่อน ๆ และกลุ่มวัยรุ่นทุกคนที่รักสนุกไว้ว่า  รักสนุกก็ทุกข์ถนัดนะคะ  คิดถึงพ่อแม่ไว้ให้มาก ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไปอย่าปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่ขัดต่อวัฒนธรรม  จารีต  ประเพณี  ที่ดีของคนไทยซึ่งบรรพบุรุษไทยได้สร้างสมและสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานให้สูญสลายไปเพราะค่านิยมที่ผิด ๆ ของพวกเราเลยนะคะเก็บนิ้วนางของเราเอาให้คนที่เรารักไว้สวมแหวนให้ดีกว่านะคะและก็ต้องรักนวลสงวนหญิงเอาไว้เพื่อให้ตัวเองมีค่ามากที่สุดจนกระทั่งถึงวันแต่งงาน  เพราะนั่นจะแสดงให้เห็นว่าตัวเราเองมีค่ามากแค่ไหนสำหรับคนที่เรารักและปรารถนาที่จะใช้ชีวิตร่วมกันไปจนแก่เฒ่า				
9 กุมภาพันธ์ 2548 21:42 น.

วรรณกรรมเพลงลูกทุ่ง

สุชาดา โมรา

เพลงลูกทุ่ง  หมายถึง  เพลงที่แสดงออกถึงชีวิตชนบทโดยนักร้องนักดนตรีที่เรียกตัวเองว่า ลูกทุ่ง   เพลงลูกทุ่งกำเนิกขึ้นมาเพราะการแสวงหาความอบอุ่นใจของชาวชนบทที่เข้ามาประกอบอาชีพในเมืองหลวงเพื่อให้คลายความคิดถึงบ้านจึงมีลักษณะต่าง ๆ ที่แสดงความเป็นชนบทเพลง  ลูกทุ่งมีลักษณะตัวบางประการที่น่าสนใจ คือ การสร้างเนื้อร้องในลักษณะที่ทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ขัน  การแทรกบทเจรจาและเสียงหัวเราะ  การแต่งเนื้อร้องที่ทันเหตุการณ์ เป็นต้น
	ปัจจุบันมีผู้สนในวิเคราะห์วรรณกรรมเพลงลูกทุ่งเป็นจำนวนมาก  ลักขณา   สุขสุวรรณ  เป็นผู้หนึ่งที่สนใจและได้ทำปริญญานิพนธ์  เรื่อง  การวิเคราะห์วรรณกรรมเพลงลูกทุ่ง  เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต  วิชาเอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร , 2521

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
	๑.  เพื่อศึกษาเพลงลูกทุ่งในแง่การใช้ภาษาในฐานะที่เป็นเพลงซึ่งเข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง
	๒.  เพื่อศึกษาเพลงลูกทุ่งว่าเกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทย
	๓.  เพื่อศึกษาคุณค่าทางจริยธรรมที่แฝงไว้ในเพลงลูกทุ่ง
๔.  เพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าขอ
๕.  เพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าของเพลงลูกทุ่ง

วิธีดำเนินการวิจัย
	ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
	๑.  รวบรวมเนื้อเพลงลูกทุ่งร่วมสมัยจากหนังสือเพลงลูกทุ่ง  แถบบันทึกเสียงและแผ่นเสียง
	๒.  รวบรวมสถิติการจำหน่ายแผ่นเสียง  แถบบันทึกเสียงและแผ่นเสียงตลอดจนการจัดอันดับเพลงตามสถิติตามสถานีวิทยุต่าง ๆ 
	๓.  ศึกษาสภาพของสังคมไทย  เอกลักษณ์และค่านิยมของสังคมไทย
	๔.  ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ  วรรณกรรมและสังคม
	๕.  ศึกษาสภาพสังคมไทย  เอกลักษณ์และค่านิยมของสังคมไทย
	๖.  วิเคราะห์ลักษณะการใช้ภาษาในเพลงลูกทุ่งและสาเหตุทำให้เพลงลูกทุ่งแพร่หลายในหมู่ผู้ฟัง
	๗.  วิเคราะห์สภาพของสังคม  วัฒนธรรม  เอกลักษณ์  ค่านิยมของคนไทยที่ปรากฏในเพลงลูกทุ่งตามหลักวิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา
	๘.  เรียบเรียงข้อมูลที่ได้วิเคราะห์  สรุป  อภิปราย  และเสนอผลการศึกษาแบบพรรณนาวิเคราะห์

ผลการวิจัย
	ผู้วิจัยได้วิเคราะห์วรรณกรรมเพลงลูกทุ่ง เรื่อง เพลงลูกทุ่งกับการใช้ภาษา  การใช้คำสำนวนเพลงลูกทุ่งกับสังคม  อิทธิพลของสังคมที่มีต่อเพลงลูกทุ่ง และอิทธิพลของเพลงลูกทุ่ง      ต่อสังคมซึ่งขอนำมากล่างดังต่อไปนี้
	๑.  การใช้คำ
	การใช้คำในเพลงลุกทุ่งมีหลายลักษณะและปะปนกันอยู่ในแต่ละเพลงคือ
		๑.๑  ใช้คำง่าย  เพลงลูกทุ่งส่วนมากใช้คำง่าย ๆ พื้น ๆ แบบที่ใช้พูดจากันโดยทั่วไปบางทีก็ใช้คำไทยแท้  ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นบ้านทั่ว ๆ ไป  ชาวบ้านไม่นิยมพูดศัพท์ยากเพราะเสียเวลาในการตีความ เพลงลุกทุ่งได้เสียดสีด้วยเพลงเซ้า ๆ อย่าเว้าหลาย  ซึ่งแพร่หลายมากในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๒ - ๒๕๑๓  เช่น  เพลง (เซ้า เซ้า)  อย่าเว้าหลาย  ของสัมฤทธิ์  สีเผือก
			..บ่เคยได้เว้าว่ากินข้างเหนียวเป็น  เรื่องบ่มีช่างพูดให้เป็น  บ่เห็นกับตาบ่น่าเล่าลือ  ภาษาไทยบ่ยากกล้วยนักเพียรจนมีชื่อ หมู แปลว่ากระบือ สุกร  นั้นหรือแปลว่า  ควาย 
		เพราะแทนที่จะพูดด้วยคำธรรมดาว่า  หมู  หรือ  ความ  กลับใช้คำที่ชาวชนบท    ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันจึงก่อให้เกิดช่องว่างทางภาษาขึ้น
		๑.๒ ใช้คำแสดงความรู้สึกได้อย่าสะใจ มีทั้งในลักษณะของคำวิเศษณ์  และคำเปรียบเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกให้แก่ผู้ฟังอย่างเต็มที่ เช่น เพลงหน้าด้านหน้าทน ของจิ๋ว  พิจิตร
			 มีผัวแล้วพี่ก็ยังรัก  ถึงอกจะหักรักษาไม่หาย  จะคอยทูนหัวจนผัวเธอตาย  บอกอย่างไม่อาย  หน้าด้านหน้าทน
		๑.๓  ใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติและเสียงอุทาน  เพื่อให้ความรู้สึกที่สมจริงและได้อารมณ์เพลง  เช่น  เพลงถามทำไมไม่พูด  ชลธี    ธารทอง
			 เห็นทรามวัยพี่ก็รักได้แต่นึก  นึกนึกไปใจมันเต้น  ตั๊กตั๊ก 
		๑.๔  การซ้ำคำ  โดยปกติแล้วเรามักจะซ้ำคำเพื่อให้ความหมายกว้างออกไปและ    ถ้าเปลี่ยนระดับเสียงด้วยจะเป็นการย้ำความรู้สึกมากขึ้น ในเพลงลูกทุ่งมักย้ำคำเพื่อเน้นความรู้สึก  ให้เด่นชัดขึ้น  และเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่จะเน้นความหมายของคำด้วยการซ้ำคำมากที่สุด  ดังเพลงร้อนยิ่งกว่าไฟของราเชนทร์  เรืองเนตร  ดังนี้
			  แสนร้าวรอน  ร้าวรอน  ร้าวรอน  รักร้อนใจ  ร้อนใจ  ร้อนใจ
			รำร้อนกว่าไฟ  เฝ้าสุดอาลัยรำพันไหนบอกว่ารักไม่โกหก
			บอกกล่าวว่านกก็ต้องตามนั้น  กลับมาแปรผันให้เราช้ำใจ
		๑.๕  การเล่นคำ  การเล่นคำในเพลงลูกทุ่งมีทั้งเล่นสัมผัสด้วยเสียงและการเล่นคำด้วยความหมาย  ซึ่งการเล่นสัมผัสมีทั้งสัมผัสสระและอักษร  ดังเช่น  เพลงน้ำตาร่วงเผาะ             ของไพบูลย์  บุตรขัน
			  น้ำตาร่วงเผาะ  หัวอกเดาะ  ถูกรักกัด  ถูกรักแทงเอาชัดชัด
			อมตรมอึดอัด  มันกลัดจนกลุ้ม
		ส่วนการเล่นความหมายจะใช้คำที่ออกเสียงเหมือนกันมาเล่นความหมายที่ต่างกันให้ผุ้ฟังสนใจ  ดังเพลงแก่งคอย ของ ป.ชื่อประโยชน์
 แก่งคอย  หัวใจพี่คอยน้องอยู่เกาะแงเก่าที่เราสมสู่  ยังคอยน้องอยู่         ทุกวัน
		๑.๖  การใช้คำวิเศษณ์ที่ทำให้ภาพชัดเจน  มีลักษณะแปลกแต่น่าสนใจ คือการ     ให้คำมาประกอบหรือขยายคำจะแสดงลักษณะของคำที่ต้องการอย่างชัดเจน  คำที่นำมาประกอบ     ก็ง่าย ๆ เช่น  ที่ใช้ในภาษาพูดทั่วไป  ดังเพลง  ก็คือกันนั่นแหละ  ของ  สันต์    ศิลป์ประสิทธิ์
			 เมียผมดำมิดหมี  ยิ้มแต่ละทีเห็นฟันขาวชัด ๆ   
			หุ่นเมียผมเหมือนไม้เสียบผี
		๑.๗  การใช้คำไพเราะ  เพลงลูกทุ่งจำนวนไม่น้อยมีการใช้คำไพเราะในลักษณะของ กวีโวหาร  คือมีการเลือกใช้คำที่เพริศพริ้ง  มีสัมผัสซึ่งตามปกติแล้วในเนื้อร้องของเพลงประเภทต่าง ๆ ก็มีการส่งสัมผัสอยู่แล้วแม้แต่ในเพลงพื้นเมือง  เช่น  เพลงโคราช  ดังเนื้อร้อง        บทหนึ่งว่า
			  พี่ตามหานาง		เหมือนดังกวางหาหนอง
			พี่ตามหาน้อง		เหมือนดังพรานหาเนื้อ
			โอ้แม่คานน้อยหาบหนัก	ไม่รู้จะหักลงเมื่อ  เอ๋ยไร 
			ซึ่งอาจมีคำสัมผัสมากหรือน้อยแล้วแต่ต้องการ
		๑.๘  การใช้คำที่ให้นัยประหวัด  การใช้คำที่ให้นัยประหวัดหมายถึง  การกล่าว    ถึงสิ่งใดหรือความรู้สึกใดที่ทำให้ผุ้ฟังนึกไปถึงประสบการณ์เดิมของตนเองในเรื่องนั้น  หรือนึกถึงสิ่งที่กล่าวขึ้นนั้นอย่างเข้าใจถึงความหมายที่แฝงอยู่  การใช้คำที่ให้นัยประหวัดในเพลงลูกทุ่งมี 2 แบบ คือ			๑.  ให้ความหมายที่ดี  ส่วนมากใช้ในการกล่างถึงผู้หญิง  ดังเพลง ลานเทสะเทือน  ของวัฒนา  พรอนันต์
			 เขียวเอยขาวเอยแล่นเลยทุกลำ  ไม่มีโฉมงาม
			สาวแก้มนวลทีสุดคะนึง

			๒.  ให้ความหมายสองแง่  ซึ่งมักจะออกไผในทางหยาบ  ดังเพลงบ๊ะจริงนะ  ของรุ่งทิพย์  ธารทอง
			เห็นบั้นท้ายผมแทบจะนอนหงายผึ่ง
			หน้าบ้านคุณคงเป็นหนึ่งมิมีใครกล้ามาเอาชนะ
			หน้าผากผึ่งดังหน้ากลองใครเห็นต้องเหลียวมอง
		๑.๙.  การใช้คำภาษาถิ่น  เนื่องจากเพลงลูกทุ่งนำเอาทำนองเพลงพื้นบ้านถิ่นต่าง ๆ มาใส่ไว้  ดังนั้นเพื่อความสมจริงในเนื้อร้องและอารมณ์เพลงจึงต้องนำคำและสำเนียงมาใส่ไว้ด้วยซึ่งผู้ฟังฟังแลวก็สามารถจะรู้ได้ทันทีว่าเป็นเพลงถิ่นไทย  เช่น
	ภาคเหนือ	ได้แก่  คนึงและลำแม่ปิง  ใต้ฟ้าเจียงอาย  สาวเหนือก็มีหัวใจ     
		คนใต้ใจซื่อ
	อีสาน	ได้แก่  สาระวันรำวง  ฮักสาวลำชี  นักร้องพเนจร  ตามน้องกลับสารคาม
	ใต้		ได้แก่  หวังเหวิด  เมียตัวอย่าง  โนห์ราหาย
	กลาง		ได้แก่  เพลงแหล่ต่าง ๆ รูปหล่อถมไป  แม่ครัวตัวอย่าง  หนุ่มสุพรรณ    ฝันเพ้อ
	๒.  สำนวน  
	เพลงลุกทุ่งมีสำนวนต่าง ๆ ที่น่าสนใจ  เช่นเดียวกับวรรณกรรมอื่น ๆ  และมีลักษณะเฉพาะตัวบางประการแฝงอยู่ด้วย  สำนวนที่เพลงลูกทุ่งใช้คือ
		๒.๑  การเปรียบเทียบ  การเปรียบเทียบให้ผุ้ฟังเกิดภาพในเพลงลูกทุ่ง  มีหลายลักษณะด้วยกันคือ
			๒.๑.๑  อุปมา  คือการเปรียบเทียบลักษระภายนอกหรือเปรียบเทียบโดยตรงเพื่อให้ทราบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง  สิ่งที่เพลงลูกทุ่งนิยมนำมาเปรียบเทียบ คือ
			ธรรมชาติ  เนื่องจากเพลงลูกทุ่งมักจะชอบกล่างถึงชีวิตชนทจึงนิยมนำเอาธรรมชาติมาอุปมา  โดยเฉพาะการอุปมาเกี่ยวกับ น้ำ มีมากมาย  เช่น  เพลงขันหมากเศรษฐี       ของ  ชลธี    ธารทอง
				น้ำนองเจิ่งสองตลิ่งเหมือนใจผู้หญิงหลายใจ  ไหลมาไหลไป  
				ไหลขึ้นไหลลง  คนรวยเหมือนเทวดา
			สัตว์  การอุปมาเกี่ยวกับสัตว์ในเพลงลุกทุ่งมีไม่มากนัก มักจะอุปมากับ  นก  ปลาไหล  เช่น  เพลงรับรักพี่เสีย  ของไพบูลย์  บุตรขัน
				
 ชีวิตของพี่มันเหมือนนก	โผผินบินผกมันเรื่อยมา
				อาชีพของพี่เป็นคนกล่อมโลก	ขึ้นอยู่กับโชควาสนา
			สิ่งไม่มีชีวิต  การนำสิ่งไม่มีชีวิตมาอุปมานั้นมีหลายประเภท  เช่น  เพลงหัวใจกร่อน  ของสุชาติ  เทียบทอง
				หัวใจฉันกร่อนร้าวรอนเหมือนดังข้าวเกรียบ
				เธอย่ำเธอเหยียบ  ย่ำเหยียดฉันลงคอได้
			๒.๑.๒  อุปลักษณ์  คือการเปรียบเทียบโดยนัยด้วยการนำลักษณะเด่นของสิ่งนั้นหรือนำชื่อมากล่าวและมักจะกล่าวถึงผู้หญิงด้วยการเรียกชื่อสิ่งนั้น ๆ เช่น  เพลงโฉมพรูเชียงใหม่  ของ  สามศร  ณ  เมืองศรี
				เอื้องพรเวียงเหนือ  ช่างสุขเหลือเมื่อได้มาเชียงใหม่
				เจอคนงามอ้ายวาบหวามทรวงใน  วิมานเมืองใต้ลืมหลง
		การใช้บุคคลาอธิฐาน  เพลงลูกทุ่งมีการใส่อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดและกิริยาอาการเช่น  มนุษย์  ให้กับสิ่งอื่น ๆ ด้วย เช่น  เพลงเสียงขลุ่ยบ้านนา  ของเกษม  สุวรรณมานะ
				หวิวไผ่ครางเคล้าลมอ่อนโอน  ต้นตาลเดี่ยวสุดฝืนยืนต้น
				ดังคนสูญสิ้นความหวัง  ขลุ่ยบรรเลงเจ้ารับฟังเพลงพี่บ้าง
		การใช้คำแสลง  คำแสลงที่พบในเพลงลูกทุ่งมีทั้งเป็นการสร้างคำแสลงของเพลงลูกทุ่งเองและการนำคำแสลงร่วมสมัยมาใส่ไว้ในเพลงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ฟังอีกด้วย      ซึ่งคำแสลงที่ใช้อาจจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม  คือ
		ความหมายค่อนข้างหยาบ  ซึ่งมักจะก่อไปในทางเพศสัมพันธ์เป็นส่วนมาก เช่น เพลงฉันยากห่าเมีย  ของสมบัติ  เพชรสานนา
			โอ้แม่ถั่วดำนำทำงามหน้าละซี  ทำพี่คราวนี้พี่ทนบ่ได้
			พี่บ่อยู่อยากรู้ครึ่งปีน้องอยู่ทางนี้ไปทีท้องกับใคร
		เพลงความหมายกลาง ๆ คำแสลงลักษณะนี้พบมากในเพลงลุกทุ่ง  จนอาจจะกล่าวได้ว่าเพลงลูกทุ่งส่วนหนึ่งทำหน้าที่บันทึกคำแสลงในแต่ละช่วงไว้  เช่น  เพลงเขมือบ  ของ  ณรงค์  ชมสมบูรณ์
				ถ้อยคำรำพันเธอเสกสรรดุลน้ำตาลเคลือบ
				ถ้าเผลเธอเป็นเขมือบ  จนฉันเกือบช้ำใจตาย
		การสร้างสำนวนใหม่  ซึ่งสำนวนนี้มีลักษณะเป็นคำพูดติดปากในกลุ่มผู้ฟังเพลงลูกทุ่งทั่ว ๆ ไป วิธีการใช้คำเหล่านี้ก็แล้วแต่สถานการณ์  ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้ใช้ในกรณีเดียวกับเพลงลุกทุ่งเพลงนั้น  เช่น  เพลงชู้รายวัน   ของ  ฉลอง  ภู่สว่าง
				

เมียจ๋าไม่น่าเลยนี่  ผัวก็มีนอนกอดด้วยกัน
				ชาวบ้านพุดกันกรอกหู  พอผัวไม่อยู่ก็แอบมีผัวรายวัน
				เจ็บช้ำเขาทำจนแสบ  เหมือนโดนหมัดแย็บเสียจนหน้าสั่น
				เจ็ดวันไกลหูไกลตาชื่นใจไหมแก้วตาเปลี่ยนหน้ามาทุกวัน

การใช้คำภาษาของเพลงลูกทุ่งในลักษระดังกล่าวจึงสรุปได้ว่ามีการใช้ภาษาแตกต่างกัน     ซึ่งขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเพลงลูกทุ่งว่าควรจะใช้คำชนิดใด  ด้วยเหตุนี้เพลงลูกทุ่งซึ่งมีลักษณะจริงใจจากการใช้คำง่าย ๆ พื้น ๆ และการเปรียบเทียบย่างเข้าทีด้วยการนำสิ่งที่คนทั่ว ๆ ไปเข้าใจมาเปรียบกับสิ่งที่ตนเองต้องการแสดงโดยไม่อ้อมค้อม  ประกอบกับการแสดงอารมณ์สนุกอย่างง่าย ๆ แบบไทย จึงเป็นเพลงที่เข้าถึงผู้ฟังได้ง่ายทั้งผู้ฟังที่ฟังอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟสุชาดา โมรา
Lovings  สุชาดา โมรา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟสุชาดา โมรา
Lovings  สุชาดา โมรา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟสุชาดา โมรา
Lovings  สุชาดา โมรา เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงสุชาดา โมรา