13 กุมภาพันธ์ 2549 20:58 น.
สร้อยแสงแดง
และเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง ผมก็พบการตอกย้ำแนวคิดของเรื่องนี้โดยบังเอิญ ผมขับรถพาครอบครัวไปเที่ยวระยอง ขากลับลองขับกลับทางฉะเชิงเทราด้วยกลัวรถติด ผมขับมาตามทาง ๓๓๑ เลี้ยวซ้ายไปทางแปลงยาวแล้วมาเลี้ยวซ้ายอีกทีที่สี่แยกบางคล้า ขับเข้าสู่ฉะเชิงเทราด้วยความเร็วสบายๆ สักครู่ก็มาหยุดที่เก๋งจีนด้านซ้ายมือ อาคารทรงจีนโมเดอร์นน่ารักทีเดียว มีป้ายเขียนไว้ว่า ตั้งเซ่งจั๊วะ ซึ่งเป็นร้านทำขนมเปี๊ยะที่มีชื่อของบางคล้ามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ร้านนี้ถือว่าเป็นเทือกเถาที่สามนับแต่ต้นตระกูลมาตั้งรกรากทำมาหากินที่บางคล้า พอเดินเข้าสู่บริเวณก็นึกชอบ ภรรยาผมซึ่งเป็นคนบางคล้าบอกว่าหลานชายร้านนี้เป็นสถาปนิก มิน่าเล่าจึงออกแบบได้โดนใจทีเดียว เหมือนกับตั้งใจจะยกเอาอำเภอบางคล้ามาใส่อาคารนี่เสียทั้งหมด เราเดินผ่านซุ้มขนาดกะทัดรัดเข้าไปในอาคารทรงจีน เปิดประตูเข้าไปก็มองเห็นเรือนแถวไม้เก่าสร้างตระหง่านอยู่เบื้องหน้าเหมือนเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ยังไงยังงั้น เรือนแถวสร้างไว้ห้องเดียวมีเล่าเต๊ง จำได้ว่าหลังจากประสพอัคคีภัยเมื่อราว ๒๐ ปีก่อน ห้องแถวไม้สองชั้นในบางคล้าทั้งอำเภอก็แปรสภาพเป็นอาคารแถวก่ออิฐถือปูน สามสี่ชั้น เหลือของเดิมไว้ให้เห็นเพียงไม่กี่ห้อง และห้องที่จำลองขึ้นในร้านขนมเปี๊ยะนี้ก็ช่างสะท้อนอดีตได้ดีเหลือเกิน นอกจากขนมเปี๊ยะหลากชนิด ยังมีชา กาแฟ ไว้ขายและให้บริการ ส่วนที่แตกต่างออกไปจากร้านอื่นๆก็คือ ความตั้งใจของผู้ออกแบบที่พยายามจะถ่ายทอดอดีตและประวัติของบรรพบุรุษด้วยการนำเสนอภาพในอดีต เรื่องราวของอำเภอบางคล้า ของที่ระลึกระดับตั้งแต่ยี่ห้อตนเองจนถึงระดับอำเภอไปจนถึงค้างคาวแม่ไก่ที่คงไม่ได้ค่าสปอนเซอร์ สรุปโดยรวมแล้วต้องขอชมเจตคติของผู้ออกแบบ เจ้าของร้านและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแม้แต่ลูกชายผมยังถามเลยว่า ทำไมต้องทำเสียดีเลย แค่ร้านหนมเปี๊ยะ ผมอึ้งสักครู่แล้วตอบไปนำขุ่นๆ อ้าว ก็ รุ่นหนึ่งต่อสู้กระเสือกกระสน รุ่นสองเสริมสร้างฐานะด้วยการทำงานหนักจนรวย รุ่นสามก็ต้องเอ็นจอยน่ะซี ไม่น่าถามเลย ลูกชายผมก็เลยเสริมต่อว่า อ๋อ เรียกว่า ๓ ยุคใช่ไหมพ่อ คือยุค กระเสือกกระสน ทุรนทุราย สบายลูกหลานไง ผมก็ได้แต่ตอบในใจ เออว่ะ เออว่ะ
มายังไง
โจทย์ที่ผมได้รับมาคือขอให้เขียนเรื่องก่อบ้านสร้างเมืองนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่อธิบายถึงการเจริญเติบโตของกรุงเทพฯในด้านสถาปัตยกรรมโดยรวม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมีผู้เขียนที่ทรงคุณวุฒิมากมายท่านได้เขียนไว้ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแข็งแรงที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของคนบางกอกตั้งแต่วันวานจวบจนปัจจุบัน ดังนั้นผมจึงใช้เวลาค่อนข้างนานที่จะหาอรรถาธิบายอีกทั้งแรงดลใจในการที่จะพยายามอธิบายหัวเรื่องดังกล่าวในลักษณะความเข้าใจพื้นๆที่ไม่ต้องเป็นสถาปนิกก็อ่านได้มากกว่า จึงต้องเรียนให้ทราบตั้งแต่ต้นว่าทั้งบ้านทรงสเปนและร้านขนมเปี๊ยะกลายเป็นแรงบันดาลใจในแนวคิดของเรื่องนี้ ต้องขอขอบคุณ
ก่อบ้าน สร้างเมือง
ที่จริงคำว่า ก่อบ้าน ไม่น่าจะเกิดในบ้านเรามาก่อน แต่คงจะเป็นเพราะการต้องการความหมายเก๋ๆของชื่อ ทั้งนี้เพราะ คนไทยไม่ก่อบ้าน แต่จะก่อสิ่งที่เป็นโครงสร้างที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิความเชื่อมากกว่าเช่นก่อพระเจดีย์เป็นต้น โดยความรู้สึกพื้นๆแล้วเราน่าจะเรียกว่า ผูกบ้าน หรือ สับบ้าน เพราะบ้านไทยแต่โบราณมีเพียงเรือนผูกหรือเรือนสับเท่านั้น คราวนี้เราลองมานั่งจินตนาการให้เห็นการอยู่ร่วมกันของสัตว์ต่างๆเช่นแมลงดูบ้าง เราก็คงจะเริ่มเข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันจนในที่สุดจากสังคมบ้านก็ขยายกลายเป็นสังคมเมือง เพราะจากแมลงเม่าไม่กี่ตัวต่อมาก็กลายเป็นจอมปลวกมหึมา เหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากสัญชาติญาณทั้งสิ้น มนุษย์ในฐานะที่เข้าใจเองว่าประเสริฐกว่าสัตว์อื่นก็นำสัญชาติญาณเหล่านี้มาคิดพิจารณาจนกลายเป็นกฎเกณฑ์เพื่อนำมาบังคับตนเองตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
ตั้งแต่สมัยที่เรียกกรุงเทพว่า ขนอนบางกอก หรือท่าผ่านเรือบางกอกที่ชาวเรือจะต้องแวะก่อนเดินทางต่อไปยังกรุงศรีอยุธยาหรือออกปากอ่าวไทย ถ้าลองนับดูก็น่าจะถอยหลังเข้าไปจนถึงสมัยสุโขทัยก็เป็นได้ที่ขนอนบางกอกทำหน้าที่เมืองท่าและเมืองผ่าน แต่น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์ไทยพยายามที่จะเน้นสถานที่ต่างๆในลักษณะความสำคัญของกลุ่มมากกว่าสังคม ชื่อบางกอกจึงมีประวัติอยู่เพียงตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมาเท่านั้นเอง
ดังที่กล่าวมาข้างต้น ความเป็นไปได้ของสังคมเมืองของบางกอกน่าจะมีอายุอย่างน้อยก็ห้าร้อยปี โดยช่วงสามร้อยปีแรกเป็นสังคมอิสสระที่ต้องอาศัยการค้าขายเป็นจุดรวมของสังคม ถ้ามองให้ลึกถึงอุปนิสัยของชาวสยามด้วยแล้ว ผมยิ่งกล้าพูดได้เลยว่าขนอนบางกอกในอดีตแทบจะไม่มีชาวสยามพันธุ์แท้อยู่ในสังคมนี้เลย ด้วยไม่มีนิสัยรักการค้าขายแต่กลับรักบ้านรักถิ่น ทำไร่ทำนาตามฤดูกาลเท่านั้น ดังนั้นก็พอจะอนุมานได้ว่าสังคมเมืองของบางกอกยุคต้นและกลางเป็นแหล่งที่พำนักของชาวต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่าชาวภารตะเดินทางมาสยามเป็นเวลานับพันปีมาแล้ว ส่วนจีนมีการค้าขายกันมานานพอๆกัน แม้แต่ชาวญี่ปุ่นก็มีการติดต่อกับสยามมากว่าหกร้อยปี นอกนั้นยังมีชาวยุโรป ฯลฯ อีกมากมาย ดังนั้นขนอนบางกอกน่าจะเป็นสังคมเมืองที่หลากหลายและมีความเป็นนานาชาติยิ่งกว่าที่ใดในสยาม และถ้าจะคิดแบบคนรักชาติด้วยแล้ว ถ้าคนบางกอกเป็นเพียงชาวสยามพันธุ์แท้แต่กลุ่มเดียวแล้วละก้อ ชาวบางกอกยุคนั้นคงจะโดนข่มขืนทางใจจากอิทธิพลของทั้งอารยะและอนารยะประเทศเป็นแน่แท้ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเหล่านั้นให้เราเห็นกันเลย ผมจึงเชื่อว่าวิถีชีวิตของชาวบางกอกเกิดจากการคัดสรรสิ่งที่ดีๆและรับได้จากนานาวัฒนธรรมที่หลั่งล้นจากแหล่งอื่นจนกลับกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของตนเองคล้ายๆกับเมืองท่าที่มีชื่อเสียงต่างๆในโลก
จากสมมุติฐานที่กล่าวมา มันก็น่าแปลกที่พฤติกรรมต่างๆก็มิไดเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เป็นต้นว่ากรุงเทพฯในปัจจุบันก็ยังนับเมืองท่าที่สำคัญ เป็นแหล่งที่ยังคัดสรรสิ่งที่ดีๆจากที่อื่นและน่าจะมีการผสมผสานของเชื้อชาติมากกว่าสังคมเมืองอื่นๆในเมืองไทย แถมยังกลายเป็นแหล่งโคจรเพื่อทำมาหากินของชาวเมืองต่างๆของทุกภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเหนือ ไต้ ตะวันออก ตะวันตก ดังนั้นการที่จะอธิบายถึงคุณลักษณะของกรุงเทพฯแล้ว คงจะต้องใช้คำจำกัดความที่หลากหลายความหมายเสียเหลือเกิน จึงเพียงขอให้เข้าใจความหลากหลายนี้เป็นพื้นฐานเพียงเท่านี้ก่อน
เมื่อภาพในอดีตเริ่มปรากฏลางๆเบื้องหน้า การที่จะนำสู่หัวข้อเรื่องก็น่าจะมองในมุมของสิ่งก่อสร้างเป็นแกนนำ ซึ่งในที่นี้ก็ได้เกริ่นมาก่อนว่าสถาปัตยกรรมเป็นตัวบ่งชี้สังคม แต่สถาปัตยกรรมเองก็ไม่มีอิทธิพลพอที่จะคงรูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ ทั้งนี้สังเกตได้จากการแปรผัน (น่าจะมีความหมายดีกว่าคำว่า พัฒนา) ของสถาปัตยกรรมในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในปัจจุบัน โดยที่อิทธิพลแปลกๆใหม่ๆเกิดขึ้นทุกขณะ ทั้งจากครูบาอาจารย์ ผู้ออกแบบ ผู้เลียนแบบ ผู้ลอกแบบ ผู้ขโมยแบบ ฯลฯ จิปาถะ โดยเฉพาะผู้ออกแบบที่เผลอสลัดความเป็นคนไทยออกไปชั่วขณะ และเป็นที่น่าสังเกตว่าถ้าจะแบ่งเป็นยุคๆแล้วละก้อ ยุคที่หนึ่งน่าจะกินเวลาถึง ๓๐๐ ปีเป็นอย่างน้อย พอมาถึงยุคที่สองก็กินเวลาราว ๒๐๐ ปี และยุคสุดท้ายก็น่าจะเริ่มเอาตอนมีบ้านจัดสรรกันนี่แหละ และก็ยุคที่สามอีกเช่นกันที่เกิดอิทธิพลนานาจิตตังอย่างรุนแรงที่สุด และผลที่เห็นชัดเจนที่สุดคือความหลากหลายของรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่สเปนจรดอเมริกา ตั้งแต่โรมันจนจรดถึงบาหลี ดังนี้เป็นต้น และยิ่งมีการพัฒนารูปแบบและระบบการก่อสร้างอีกทั้งวัสดุก่อสร้างใหม่ๆขึ้นมาตลอดเวลา ก็น่าจะประเมินไว้ได้เลยว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างของกรุงเทพนอกจากจะอยู่ในยุคสบายลูกหลานแล้ว ยังจะต้องมีการแข่งขันชนิดเอาเป็นเอาตายกันเลยทีเดียว
ยุคที่ ๑ กระเสือกกระสน
ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว การก่อสร้างบ้าน ในยุคแรกนี้คงไม่ได้ใช้ฝีมือในเชิงช่างอะไรมากมาย งานก่อสร้างที่อยู่อาศัยก็คงเป็นแค่หนึ่งในสัญชาติญาณ ของมนุษย์ ด้วยแนวคิดง่ายๆเช่น หลังคากันฝนกันแดด ผนังไว้บังลม พื้นยกสูง ไว้ป้องกันสัตว์ร้ายและน้ำหลาก ผมไม่รู้ว่าสุภาษิตที่ว่า ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน มีใช้มานานเท่าไรแล้ว แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นก็คือ บ้านเรือนของผู้ที่มีอันจะกิน น่าจะอยู่ลึกเข้าไปในริมคลองใหญ่น้อย ส่วน พ่อค้า ชาวบ้านทั่วไป คงจะมารวมกันอยู่เป็นจุดๆ เช่น ตลาดแก้วตลาดขวัญที่สาบสูญแถวๆนนทบุรี เป็นต้น ลักษณะของที่อยู่อาศัยจึงน่าจะเป็นรูปแบบสะเทินน้ำสะเทินบก โดยมีการปลูกเรือนบนพื้นดิน และปลูกกันเป็นแพ เพื่อผลทางการค้า โดยมีการปลูกเรือนบนพื้นดิน และปลูกแพเพื่อผลทางการค้า ดังนั้น จึงน่าจะแยกประเภทอาคารออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มชาวนาชาวสวนและกลุ่มค้าขาย ตรงนี้แหละที่อาจจะแยกส่วน ชาวสยามพันธ์แท้กับพันธ์ทางได้ชัด ด้วยอุปนิสัยพื้นฐาน กลุ่มพันธ์แท้ ก็คงยึดมั่นอยู่กับการทำไร่ทำสวนทำนา ปีหนึ่งๆก็ว่างเสียกว่าครึ่ง จึงหาทางแก้เหงาด้วยกุศโลบายหลายแบบ จนเกิดเป็นประเพณีมากมาย ตลอดจนอุปนิสัยที่ติดมาถึงปัจจุบัน เช่น การละเล่นต่างๆ การดื่มสุรา การร้องเพลงเกี้ยวกันฯลฯ สวนทางด้านพันธ์ทางนั้นเพียงแค่ยึดถือประเพณีที่ตนนำมาจากบ้านเกิดเมืองนอน มาปฏิบัติจะเกิดความแน่นเเฟ้นขึ้น เช่น การไหว้เจ้า การไหว้พระจันทร์ การแห่บูชาเทพเจ้าของแขก ฯลฯ เมื่อมีความแปลกแยกในขนบประเพณี ความแตกต่างก็กลายเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ ความปรองดองกันชนิดที่บ้านเมืองอื่นเค้าไม่รู้จักกัน เราลองมามองดูแถบชุมชนที่ต่างกันกันแต่อยู่รวมกันมานับร้อยๆปี เช่น บ้านหม้อ พาหุรัด วังบูรพา ที่มีทั้ง จีน แขก กลุ่มไทย ซึ่งต่างฝ่ายก็ทำมาหากินกันไปอย่างไม่มีปัญหา แบบนี้ รัฐน่าจะมองเป็นตัวอย่างก็จะดี
คราวนี้เราก็กลับมาที่การก่อสร้างอีกครั้ง เราได้ว่าถึงช่างสร้างบ้านที่ใช้สัญชาติญาณมากกว่าความรู้ทางด้านวิชาชีพในยุคแรกๆนี้หาได้เป็นวิชาชีพไม่ แต่ทุกคนเรียนรู้ต่อๆกันมา เมื่อไม่แน่ใจก็สอบถามเอาความแล้วก็ไปทำการก่อสร้างกันเอง เครื่องไม้เครื่องมือก็ใช้ชนิดหยาบๆแค่ ตัด ถาก เหลา ไม่ถึงกับแกะสลักหรือกลึงเกลา โดยคำนึงถึงความแข็งแรงเป็นเกณฑ์ ดังนั้นความสวยงามของอาคารจึงขึ้นอยู่กับความเป็นธรรมชาติของวัสดุที่ใช้ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเครื่องไม้ เรื่องวัสดุแปรรูปคงไม่ต้องพูดถึง แม้แต่ห้องหับที่มิดชิดเช่นส้วมก็ปลูกห่างออกไปจากเรือนใหญ่เพราะปัญหาเรื่องสุขอนามัย ส่วนฝ่ายพันธ์ทางก็ระบายลงแม่น้ำลำคลองให้ไหลไปย่อยสลายตามธรรมชาติ
แม้ว่าชุมชนกรุงเทพจะเป็นรูปแบบสังคมเมืองมาตั้งแต่ต้นก็ตาม ความหนาแน่นมิได้เป็นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ดังนั้นปัญหาสุขาภิบาลและขยะมูลฝอยจึงกลายเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ไม่มีใครพูดถึงกัน เรื่องประเภทน้ำเสียบ้านโน้นไหลเข้าบ้านนี้เป็นอันว่าลืมไปได้เลยเพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นร่องสวนเป็นแนวโดยรอบอยู่แล้ว ปัญหาของสยามพันธ์แท้ในเรื่องที่พักอาศัยจึงเป็นประเภทแยกกันโดยเด็ดขาด เขยิบเข้ามาตามจุดแออัดก็ไม่น่าจะเลวกว่าที่เป็นตามริมแม่น้ำลำคลองในปัจจุบัน สิ่งที่น่าสังเกตในยุคนี้ก็คือรูปแบบการขยายตัวของชุมชนที่แตกต่างกันสองแบบ นั่นก็คือแบบไทยแท้และแบบไทยปน
ในขณะที่ชุมชนไทยแท้คัดสรรสมาชิกชุมชนด้วยรูปแบบเครือญาติ การขยายตัวของชุมชนนี้จึงเป็นไปในลักษณะใกล้ชิดมีแบบแผนและการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่าลูกชายจะปลูกเรือนติดเรือนใหญ่ ลูกเขยก็จะไกลออกไปหน่อยแต่ก็ยังมีกิจกรรมร่วมกันอยู่ ส่วนสังคมทาสก็มีชุมชนของตนเองภายไต้การควบคุมของเจ้าบ้านเป็นต้น ส่วนสังคมไทยปนกลับขยายตามลักษณะภูมิศาสตร์ ทำเลการประกอบอาชีพ แม้จะต้องแยกครัวออกไปเพราะไม่มีพื้นที่ลงหลักปักฐานใกล้เคียงกับบุพพการีก็ตาม ดังนั้นกลุ่มพ่อค้าจึงขยายตัวไปได้ไกลและกว้างขวางกว่าชาวไทยเดิม
การที่ผมจำแนกรูปแบบชุมชนออกเป็นเพียงสองชนิดนั้นมิได้ใช้เชื้อชาติหรือศาสนาเป็นตัวกำหนดแต่ใช้อุปนิสัยของชุมชนนั้นๆเป็นตัวเปรียบเทียบ ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าชุมชนมุสลิมที่บ้านครัวฯลฯ มิได้มีอุปนิสัยในทางค้าขายแบบคนจีนที่สำเพ็งหรือชาวภารตะที่พาหุรัด พวกเขาก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองเด่นชัด ยิ่งมองในแนวถิ่นที่อยู่อาศัยหรือในด้านสถาปัตยกรรมด้วยแล้ว เราก็จะเข้าใจในพื้นฐานความเป็นอยู่ ความเป็นระเบียบและความรักสวยรักงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามความเป็นอยู่ชนิดเอาตัวรอดเกิดขึ้นดาษดื่นในยุคนี้ เป็นยุคที่ชาวจีนเรียกว่ายุคเสื่อผืนหมอนใบ เป็นยุคที่ผู้มาเยือนทุกตนต้องกระเสือกกระสนทำมาหาเลี้ยงชีพชนิดหนักเอาเบาสู้ กระแสการโยกย้ายเข้ามาหากินในสยามยุคนั้นดูเหมือนว่าในบางกอกเองจะมีชาวต่างชาติมากกว่าชาวสยามอยู่หลายเท่าทีเดียว ในขณะที่ความเป็นอยู่ของชาวสยามในบางกอกก็ดำเนินไปเนิบๆไม่ขึ้นกับตัวแปรใดๆ
ในช่วงที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ขนอนบางกอกก็ถือว่าเป็นแหล่งชุมชนใหญ่แล้ว แถมเป็นชุมชนนานาชาติ มากเผ่าหลายพันธ์เสียด้วย ดังนั้นสถาปัตยกรรมที่ใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่ก็มีการพัฒนาการก่ออิฐถือปูนสำหรับอาคารสำคัญที่เคยเป็นมาก็ได้รับการถ่ายทอดมาก่อสร้างบ้านเรือนร้านค้ามากมาย ระยะรอยต่อสุโขทัย อยุธยา จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการพัฒนาสังคมเมืองของบางกอก มีการสร้างป้อมปราการที่ก่อด้วยอิฐโดยชาวยุโรป ซึงที่จริงก็ไม่ได้หวังผลอะไรมากไปกว่าหาประโยชน์ใส่ตน กอบโกยทรัพยากรท้องถิ่นโดยท่าทีว่าจงรักภักดีเสียเหลือเกิน บางกอกจึงเป็นชุมชนที่ค่อนข้างแปลกกว่าที่อื่น บางกอกเป็นแหล่งที่ทุกๆ คนจ้องหาประโยชน์กันอย่างไม่ลืมหูลืมตา ถึงขนาดมีการ ขึงโซ่ไว้ใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อดักเรือที่ไม่เสียภาษีปากเรือ แล้วรายได้ก็นำไปประเทศของตนเอง ฝ่ายชาวเอเชียที่มาอาศัยอยู่ก็ทำมาหากิน ก่อร่างสร้างตัวกันไป ที่เหลือก็คือชาวสยามพื้นเมืองที่มีชื่อเรียกเสียโก้ว่า ไพร่ มีหน้าที่เป็นทหารกองหนุนคอยรับใช้ประเทศชาติ ปล่อยให้คนอื่นกอบโกยทรัพยากรมีค่าไปเรียบ ดังนั้นรอยต่อของยุคที่ 1 มายุคที่ 2 จึงแยกออกเป็น สังคมพ่อค้าวานิช สังคมไพร่เมือง ฯลฯ รูปแบบของสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน ในช่วงนั้นก็น่าจะมีอิทธิพลยุโรปเข้ามาเผยโฉมในรูปแบบอาคารศาสนา ฯลฯ เราคงจะหนีคำว่าชุมชนเมืองนานาชาติ (Cosmopolitan) ไม่พ้นตั้งแต่ช่วงนั้นแล้ว
ยุคที่ ๒ ทุรนทุราย
หลังจากขนอนบางกอกเปลี่ยนโฉมมาเป็นเมืองท่าสำคัญเป็นประตูสู่อาณาจักรศรีอยุธยา บางกอกก็เป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ของชนชาติไทยไป โดยเป็นที่รองรับชุมชนที่มาจากทุกมุมโลก อาคารบ้านเรือนก็เริ่มเป็นตึกใหญ่โต ศูนย์การค้าขายเกิดขึ้น ตามจุดรวมชุมชนบริเวณปากคลองต่างๆ สิ่งเหล่านี้มีการบันทึกโดยชาวต่างชาติมากมาย ครั้นบางกอกกลายมาเป็นมหานครที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก ก็ยิ่งทำให้ความสำคัญของกรุงเทพโดดเด่นขึ้น การค้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น มีการตั้งรกรากโดยชาวต่างชาติมากมายขึ้น และยิ่งอุดมไปด้วยชาวต่างชาติ ความโดดเด่นของหมู่เหล่าก็ชัดเจน เช่น บ้านญวน บ้านเขมร บ้านลาง บ้านมอญ กุฎีจีน ชุมชนวัดกาลหว่า ฯลฯ ในตอนต้นของยุคนี้เริ่มมีอาคารบ้านเรือนรูปร่างแปลกออกไป ตั้งแต่แบบ กอธิค (Gothic) หนักๆ ไปจนถึง เก๋งจีน สวยงาม ระยะนี้ชาวไทยสยามเองก็รับอิทธิพลเหล่านี้มาผสมผสานอย่างกลมกลืน น่าจะเป็นช่วงนี้เองที่เกิดวิชาช่างก่อสร้างที่แตกแขนงมากมาย แต่อยู่คนละกลุ่มกับช่างสิบหมู่ เป็นต้นว่า ช่างไม้ ช่างปูน ช่างเหล็ก ช่างกระจก ฯลฯ ส่วนมากช่างเหล่านี้ก็มักเป็นช่างต่างชาติที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในสยาม เราเคยเรียกกันว่า ช่างไหหลำบ้าง ช่างกวางตุ้งบ้าง ต่างก็มีฝีมือกันคนละแบบ ส่วนลูกน้องก็เป็นคนสยามที่มาจากถิ่นอื่นๆ ภาพของวิชาชีพทางก่อสร้างก็เริ่มชัดเจนขึ้น
เราเริ่มเห็นสถาปัตยกรรมที่หลากหลายในกรุงเทพ มีตึกรามบ้านช่อง ปราสาทราชวังที่งดงาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนวิถีชีวิต จากการติดต่อไปมาหาสู่ทางน้ำมาเป็นทางบกมากขึ้น มีการใช้ยวดยานพาหนะหลากหลายขึ้น มีการพัฒนาปรับปรุงที่ดินที่ห่างจากน้ำข้น แต่ก็ยังกระจายกันอยู่ทั่วไป ในยุคนี้น่าจะเป็นรุ่นลูกของ นักผจญภัยที่มาตั้งรกรากรุ่นแรก จึงมีการแข่งขันกันในด้านธุรกิจเสียเป็นส่วนใหญ่ เสริมด้วยการล้นทะลักเข้ามาของชาวจีนมากเป็นพิเศษ โชคดีที่มีช่างฝีมือติดเรือมาพอสมควร ธุรกิจการก่อสร้างจึงเจริญเติบโตด้วยพื้นเพนิสัยของผู้ประกอบการ กล่าวได้ว่า การก่อสร้างช่วงนั้นมีความสมดุลดีทีเดียว ด้วย แบบฝรั่ง ช่างจีน กรรมกรนานาชาติ ผลงานที่ออกมาจึงเข้าข่ายสวยงามโอฬาร
เมื่อหันกลับมาดูวิถีชีวิตไทยสยาม กลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนักนอกจาก การประกอบสัมมาอาชีวะเปลี่ยนไป มีการทำเรือกสวนไร่นาลดลง เพราะส่วนหนึ่งไปรับราชการ ที่ค้าขายก็แค่ทำแต่พอตัว ในรูปแบบหาบเร่ ส่วนแผงลอยเกิดจากการจับจองสถานที่ในตลาดซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง ในสมัยนั้นก็ยังเห็นสตรีสยามพายเรือร้องขายของตามแม่น้ำลำคลองส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็หาบของเร่ขายไปตามตรอกซอกซอยเป็นกิจวัตร ที่พักอาศัยของไทยสยามก็ยังหนีไม้ไปไม่พ้น มีการสร้างบ้านเรือนด้วยไม้เหมือนเดิม แต่รูปแบบสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไป มีการยอมรับการปลูกบ้านที่ยกพื้นไม่สูงนักมากขึ้น แบบบ้านก็ออกไปทางทรงมนิลามากขึ้น หลังคาก็มาการใช้วัสดุหลากหลายเช่น สังกะสี กระเบื้อง ปั้นลม เชิงชาย หางหงส์ ก็เริ่มหายไป กลายเป็น หลังคาทรงปั้นหยาเรียบๆ โดยยังรักษาระดับเพดานสูง เพื่อช่วยระบายอากาศไม่ให้ร้อนมาก การถ่ายเทอากาศก็ยังอาศัยร่มเงาของไม้ใหญ่ใกล้บ้าน ในช่วงนั้นการคายความร้อนของอาคารเหล่านี้ ไม่ได้เป็นปัจจัยในการออกแบบเลย ตรงกันข้ามกับอาคารก่ออิฐถือปูน ก็มีการนำกระเบื้องหินอ่อนมาใช้เพื่อลดอุณหภูมิภายในอาคาร มีการนำกระจกสีมาประดับตกแต่งช่องแสง มีการแกะฉลุไม้เป็นลวดลายตามชายคาชายน้ำ มีการทำสวนปลูกไม้โดยรอบเพื่อลดความร้อนที่สะท้อนเข้าบ้าน ถนนคอนกรีตในช่วงนั้นยังไม่เด่นชัดนัก ยกเว้นถนนสำคัญบางสาย กรุงเทพจึงดูร่มเย็น ไม่ร้อนรุ่มอย่างในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำลำคลองก็ยังใสสะอาด เสียส่วนมาก ยกเว้น แหล่งชุมชนที่ปลูกอาคารติดคลอง เช่น แถบคลองมหาพฤฒาราม คลองผดุงกรุงเกษม ฯลฯ ที่ผู้อยู่อาศัยถือโอกาสถ่ายเทของเสียลงคลอง อาคารราชการมีการสร้างใหญ่โตด้วยอิทธิพลจากยุโรปแสดงให้เห็นความอลังการและความขลังของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ในขณะที่ร้านค้าก็มีการขยายและพัฒนารูปแบบออกไป ถ้าจะมองเซี่ยงไฮ้ในตอนนั้นเป็นราชินีแห่งตะวันออกไกล กรุงเทพก็คงจะไม่ด้อยกว่ากันสักเท่าไรนักในด้านความเจริญ การค้าและธุรกิจ
จากความหนาแน่นที่จับเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในบริเวณชุมชน ระบบประปาสุขาภิบาลก็เริ่มมีบทบาทที่ผู้อยู่อาศัยต้องปรับตัวเข้าหา ห้องน้ำห้องส้วมที่เคยออกแบบไกลจากตัวบ้านก็โดนบีบให้เข้าไปอยู่ในบริเวณบ้านหรือห้องแถวด้วยความแออัดของพื้นที่ใช้สอย จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องใช้อุปกรณ์ที่ถูกสุขลักษณะอีกทั้งไม่เป็นที่รบกวนต่อเพื่อนบ้าน ส้วมซึมดูเหมือนจะเป็นพระเอกก่อนใครๆ และในที่สุดก็แพร่ไปสู่บ้านไทยสยามเดิมจนเป็นที่ยอมรับ
ในระยะหลังๆ ของยุคนี้ ที่อยู่อาศัย ทำเลการค้ากลายเป็นตัวกำหนดสภาวะของสังคมนั้นๆ บางแห่งก็ดูดีมาก บางแห่งก็กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ยกตัวอย่างด้านถนนเยาวราช ย่านสำเพ็ง ก็แทบจะกลายเป็นต่างประเทศไปโดยไม่รู้ตัว แต่ปัจจุบัน เราก็ยังพบคนจีนที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ทั้งๆที่มาอยู่กรุงเทพหลายสิบปีแล้วก็มี ด้านพาหุรัดก็อุดมไปด้วยชาวภารตะมากมาย ทั้งๆที่พูดกันคนละภาษา ขนบประเพณีที่แตกต่างกัน ทางฝั่งสีลมสาธรก็เต็มไปด้วย ชาวยุโรปและชาวจีนที่มีฐานะ ลองมามองทางด้านบางลำพู ก็มีชาวมุสลิมมากมาย จึงน่าแปลกที่กระแสต่างวัฒนธรรมเหล่านี้กลับผสานกันได้อย่างสงบสันติตลอดมา และในที่สุดความกลมกลืนเหล่านี้ก็กลายเป็นหนึ่งเดียว เสมือนเมล็ดพืชต่างชนิดกันกลับมารวมกันเป็นกองได้ด้วยยางไม้ และยางไม้ที่ว่าก็คือ ชาวไทยสยามที่อยู่กรุงเทพมาตั้งแต่รุ่นขนอนบางกอกนั่นเอง มีคนเคยพูดว่า บรรดาพ่อค้าวาณิชที่มาตั้งรกรากอยู่ในกรุงเทพนั้นขายของให้ใคร ใครซื้อ ใครสนับสนุน คำตอบก็น่าจะชัดว่าใครใคร่ขายอะไรก็ขาย นอกจากจะซื้อบริโภคกันเองแล้ว ไทยสยามพื้นเมืองนั่นแหละ คือผู้ที่จรรโลงธุรกิจให้อยู่ได้มั่นคง
ยิ่งนานเข้าความสัมพันธ์เหล่านี้ยิ่งแข็งแรงกลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนเมือง ที่มีความหลากหลายในตัวเองเสมอมา แหล่งพำนักอาศัยก็เช่นกัน ดูเหมือนว่า รูปแบบต่างๆ ที่นำเข้ามาจากต่างชาติก็จะค่อยๆ หลอมละลายกลายเป็นสถาปัตยกรรมไทยใหม่ เช่น การสร้างบ้านติดดินมีสองชั้นเป็นอย่างน้อย มีการนำเอางานไม้มาผสมกับงานปูนได้แนบเนียนขึ้น จนกลายเป็น บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ และตรงส่วนต่อนี้เอง สถาปัตยกรรมไทยแท้เป็นอันว่าโดนเบียดออกไปจากสังคมเมืองกรุงเทพแทบจะหมดสิ้น ที่เหลืออยู่ก็แค่นับจำนวนได้เท่านั้นเอง
ในยุคนี้มีการเน้นความจำเป็นของช่างก่อสร้างขึ้นพร้อมๆ กับวิชาชีพทางด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ ในช่วงนั้น มีการใช้กระแสไฟฟ้า น้ำประปา การสุขาภิบาล ฯลฯ ทำให้วิชาชีพด้านช่างแตกแยกออกหลายแขนง แม้กระทั่งช่างสี ที่เริ่มเป็นที่รู้จักโดยเฉพาะงานทาสีอาคาร ราชการ ร้านค้า ฯลฯ ในขณะที่บ้านไทยเดิมที่ยังเหลือ ก็ยังสงบเสงี่ยมนิ่งอยู่ ยุคนี้ดูเหมือนว่าเหล่าเสื่อผืนหมอนใบเริ่มมีฐานะมั่นคงและกลายเป็นชนชั้นที่เชื่อมไพร่กับผู้ดีได้อย่างสนิทจึงไม่น่าแปลกที่ลูกหลานชุมชนกลุ่มนี้กลายเป็นผู้ที่มีฐานะทางสังคมเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
ยุคที่ ๓ สบายลูกหลาน
เมื่อมองภาพรวมของกรุงเทพอย่างคร่าวๆ ด้วยสายตาที่ละทิ้งความเป็นวิชาการ จะเห็นในยุคที่ ๑ เป็นยุคที่ทุกคนพยายามปรับตัวเข้าหากันในรูปแบบของสังคมรวม พอตกยุคที่ ๒ ก็คือยุคที่ กรุงเทพ รองรับความอลังการของอยุธยาในฐานะเมืองด่านต่อกันช่วง สถาปนา กรุงเทพเป็นราชธานี เป็นยุคที่ทุกคนทำมาหากินหาความร่ำรวย ด้วยกรรมวิธีต่างๆกัน ในขณะเดียวกันความเป็นอยู่ก็สะท้อน สถาปัตยกรรมของไทยให้แปลกออกไป มีการยอมรับมากขึ้น อีกทั้งการผนวกเอาวัฒนธรรมต่างๆ คัดสรรมาเป็นของตน จึงไม่แปลกอะไรที่กรุงเทพสามารถฉลอง ตรุษจีน ตรุษไทย ตรุษแขก ตรุษฝรั่ง ได้อย่างไม่เคอะเขิน มิหนำซ้ำยังนำเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้มากมาย ผลพวงเหล่านี้เห็นได้ในยุคที่ 3 คือยุคปัจจุบันที่คนกรุงเทพสามารถปรับตัวเปลี่ยนสภาพมาเป็นรูปแบบชุมชนสากลได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ในยุคสุดท้ายนี้อิทธิพลเดิมๆของ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ค่อยๆถูกกลืนไปเหมือนโดนซับด้วยกระดาษซับ ในขณะที่อิทธิพลตะวันตก เช่น ยุโรป และ อเมริกา ค่อยๆหลั่งไหลมาอย่างไม่หยุดยั้ง ที่จริงน่าจะพูดว่าเราต่างหากที่ไปไขว้คว้ามาเสียเป็นส่วนใหญ่
มองในด้านประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นโกลาหลนี้ น่าจะเริ่มในช่วงสมัย เปลี่ยนแปลงการปกครองจาก สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย มีการส่งเด็กไทยไปร่ำเรียนในประเทศตะวันตกมากขึ้น การไปเห็นสิ่งที่ผิดแผกจากบ้านเราก็กลับกลายเป็นปีศาจจอมตื้อ ตามหลอกหลอนจิตใต้สำนึกของคนไทย คนที่ไม่เคยไปเมืองนอกก็กลายเป็นผู้ไม่รู้ไป ส่วนนักเรียนนอกทั้งเทียมทั้งแท้ก็ระดมสรรพความคิดเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตกันใหญ่โต ยิ่งเมื่อมีโทรศัพท์ โทรทัศน์ เข้ามาก็ยิ่งไปกันใหญ่ ข่าวสารมีการแลกเปลี่ยนกันมากยิ่งขึ้น ในด้านวิชาสถาปัตยกรรมซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นวิชาชีพที่สำคัญ ก็ขยายตัวอย่างหาขอบเขตไม่ได้ การก่อสร้างด้วยสรรพเทคนิค ก็มีการนำมาใช้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้บรรดาอาคารบ้านเรือนก็แปรรูป แปรการใช้สอยออกไป โดยเพิ่มความสะดวกสบายขึ้นมากมาย ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ความหนาแน่นของชุมชนในยุคต้นๆนั่นน้อยมาก ความร้อนเทียมที่เกิดจึงน้อยมากเช่นกัน แต่ต่อมาเมือมีงาน คอนกรีต และวัสดุดูดความร้อน สะท้อนความร้อนเช่นกระจก ยางมะตอยฯลฯ มากขึ้น การคายความร้อนจากถนนโครงสร้าง อาคาร บ้านพัก จึงมากขึ้น ผู้ร้ายตัวสำคัญที่เห็นได้ชัดก็คือ ความร้อนเทียมที่กำเนิดจาก เครื่องยนต์ของยวดยานพาหนะ ทั่งหลายทั่งปวงนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กรุงเทพ มีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ การได้เครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือนจึงเป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกที่การใช้กระแสไฟฟ้าในกรุงเทพสูงขึ้นตลอดเวลา และเจ้าอุปกรณ์ทำความเย็นต่างๆเหล่านี้ก็มีบทบาทในการแปรผันการออกแบบสถาปัตยกรรม มากทีเดียว แต่เดิมเราอาศัย สวนได้ธรรมชาติเป็นที่ลดอุณหภูมิของชุมชน ปัจจุบันแทบว่าจะต้องติดเครื่องปรับอากาศกันตามถนนเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ สวนสาธารณะ จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในภาวะที่กรุงเทพ มีพื้นที่สีเขียวลดลงทุกๆปี จะสังเกตได้ว่าปัจจุบัน ฟ้าบางกอกไม่สวยอย่างในอดีตเสียแล้วเพราะเต็มไปด้วย มลภาวะที่สกปรก อันเป็นปัจจัยหรือที่ทำให้สุขภาพของชุมชนโดยรวมแย่ลง
จากสังคมที่แน่นแฟ้น เกื้อกูลกัน แม้จะอยู่ห่างๆกัน ก็กลายเป็นสังคมที่ปิดมากขึ้น ในยุคนี้เป็นยุคทองของ วิชาชีพทางด้านออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรม เป็นยุคที่รอคอยวัสดุใหม่ๆที่จะนำมาทดแทนวัสดุธรรมชาติ เป็นยุคเทียมๆที่ สบายๆถ้ามีเงินมีทอง
ยุคที่ลูกหลานสบายนี้ เป็นยุคที่ลูกหลานเสวยสุขจากพ่อแม่ที่คอยหาไว้ให้ เป็นยุคแห่งการลองของ เห็นได้จากการออกแบบที่อยู่อาศัยที่อิงอิทธิพลต่างชาติที่เด่นชัด การนำธรรมชาติอัดเข้าสู่บ้านตนเองที่มีที่ดินผืนน้อยนิด สังคมเมืองนี้จึงกลายเป็นสังคมปิด ประเภท โลกาภิวัฒน์ คือ บ้านใกล้กันแต่ไม่คบหากัน กลับไปคบผู้ที่อยู่ห่างออกไป แต่ละบ้านพยายามที่จะปกป้องรักษาทรัพย์สมบัติของตัวเอง
ผมเคยจำได้ว่านั่งเรือเข้าไปในคลองแถวๆกรุงเทพฯกับคุณพ่อคุณแม่ ได้ยินเสียงคนตะโกนกันด้วยภาษาที่น่ารักว่า อ้าวไปยังไงมายังไงนี่ แล้วกินข้าวหรือยัง ในปัจจุบันคงไม่ได้ยินการแสดงออกแบบนี้อีกแล้ว แต่คงได้ยันว่า มากันได้ยังไงนี่ พอดีไม่มีใครอยู่เลย ทีหลังเอสเอ็มเอสมาก่อนนะ
ถ้าจะเรียกวัฒนธรรมยุคนี้ คงหนีไม่พ้น วัฒนธรรมพลาสติก เพราะ ทุกอย่างประกอบด้วย พลาสติกทั้งหมด แม้แต่สีทาบ้าน ดั้งนั้น กระบวนการ ก่อบ้านสร้างเมือง เราก็คงหนีไม่พ้น ฝาพลาสติก หลังคาพลาสติก พื้นพลาสติก สุขสุขภัณฑ์ พลาสติก ฯลฯ ที่เป็นพลาสติก ตามด้วยสัพลาสติกเป็นแน่แท้
ว่างๆ ผมอยากให้ผู้อ่านลองศึกษาต่อนะครับว่ายุคที่ ๔ หลังปีสองพันน่าจะเป็นยุคอะไรดี
4 กุมภาพันธ์ 2549 23:02 น.
สร้อยแสงแดง
เมื่อต้นเดือนกันยายนก่อนปีกลาย ตอนที่ฝนโปรยปรายอย่างหนักหน่วงขึ้นในกรุงเทพ ผมและคณะอีก 2 คนคือคุณสกลและคุณธีระ ออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ หลังจากได้รับเชิญจากชาวปาปัวนิวกิเนียน ในนามของรัฐบาลของเขาให้ไปชมป่าเพื่อที่จะดำเนินการทางด้านป่าไม้ให้เขา เราออกเดินทางเวลาย่ำค่ำด้วยสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก สาเหตุใหญ่ที่เลือกสายการบินนี้คือ ราคาที่ค่อนข้างถูกกว่าสายอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลกว่าสายอื่น นั่นก็คือ เราต้องบินขึ้นเหนือไปฮ่องกง แล้วเปลี่ยนเครื่องบินมุ่งลงทางทิศใต้สู่แคนส์(Cairns) อันเป็นเมืองตากอากาศเลื่องชื่อด้านตะวันออกเฉียง เหนือของออสเตรเลีย ที่ใกล้กับป่าปะการังใต้ทะเลที่สวยที่สุดในโลก จากนั้นก็มุ่งทิศเหนืออีกครั้งสู่ประเทศปาปัวนิวกินีไปยังเมืองพอร์ทมอเรสบี้ (Port Moresby) ซึ่งเป็นเมืองหลวง
พอบินถึงฮ่องกงเวลาราว ๆ สองทุ่มเศษ ๆ เวลาฮ่องกง ผมและคณะก็เดินไปทางออกเพื่อไปเอาบัตรผ่านเปลี่ยนเที่ยวบิน สนามบินเช็คลับกก(Chek Lap Kok) เป็นสนามบินที่ยังใหม่อยู่ มีหลายจุดที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยเลยดูโล่งโจ้งพอควร ทำให้ผู้โดยสารงงเอาง่าย ๆแต่ก็ยังไม่ปวดหัวเท่าสนามบินชาส์ลเดอโกล ที่ฝรั่งเศส ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสนามบินที่สร้างความปวดกบาลง่ายที่สุดจากการที่มีทางเลื่อนซ้อนไปซ้อนมายุ่งเหยิง โดยเฉพาะบรรดาผู้โดยสารที่ไม่พูดฝรั่งเศส
หลังจากเดินไปตามทางบังคับถึงทางแยกก็มีอาหมวยโฮสเตสสองคนยืนถือป้ายชื่อผู้โดยสารรออยู่และในจำนวนนั้นก็มีเราสามคนรวมอยู่ด้วย อาหมวยก็นำเราไปสู่ประตูที่ห้าสิบกว่าเพื่อเช็คอินตามระเบียบโดยต้องผ่านการตรวจเข้าของร่างกายอีกครั้ง คงจะเป็นความเผลอไผลที่ผมดันเอาชุดเครื่องตัดเล็บใส่กระเป๋าสะพายไปด้วย เมื่อผ่านเครื่องตรวจเอ็กซ์เรย์ก็ต้องมีการเปิดตรวจค้นกันตามระเบียบ อาหมวยบอกว่าจำเป็นต้องยึดมีดพับและตะไบไว้เพราะไม่อนุญาต จึงเป็นอุทาหรณ์ว่า ทีหลังจำเอาไว้ของมีคม แม้แต่เหล็กแคะขี้เล็บก็ติดตัวไปไม่ได้ ถ้าไม่อยากมีปัญหาก็อย่าพยายามพก ไอ้พวกแหลม ๆ หรือปากกาแปลก ๆ ไปไม่งั้นคงโดนเอาโยนทิ้งถังขยะเอาง่ายๆ
หลังจากตรวจกันครู่ใหญ่ ๆ พวกเราก็ผ่านไปรอในห้องพักรอขึ้นเครื่อง จากนั้นเราก็เห็นเหินฟ้าสู่ออสเตรเลียด้วยเวลาประมาณเจ็ดชั่วโมงครึ่ง การเดินทางชั้นประหยัดค่อนข้างทรมานเพราะเก้าอี้แคบอึดอัด โชคดีที่ผมได้นั่งในแถวกลางที่มีเก้าอี้ติดกันสี่ตัว อีกสองคนนั่งด้วยกันทางริมหน้าต่าง ส่วนแถวที่ผมนั่งก็มีแหม่มออสซี่คนหนึ่งนั่งอยู่อีกข้าง หะแรกก็ดูเหมือนว่าจะสบายดี แต่พอแม่คุณเริ่มคิดจะนอนดันเหยียดขามาทางที่ผมนั่ง แถมเอาเท้าเขี่ยเอาหมอนกับผ้าห่มของผมออกแบบไม่มีสันดานผู้ดีเลย ที่ร้ายกาจที่สุดดูเหมือนว่ายายแหม่มนี้คงไม่เคยล้างเท้ามาละกระมัง คืนนั้นจึงเป็นคืนที่อบอวลด้วยกลิ่นสาบ ตุๆ ของตีนฝรั่งที่ชวนคลื่นเหียนพอควรทีเดียว
อากาศที่แคนส์ค่อนข้างสบายไม่ร้อนนักมีลมพัดอ่อน ๆ ตลอดเวลา สนามบินนานาชาติที่แคนส์ ไม่ใหญ่โตนัก ถ้าจะเทียบกับสนามบินในเมืองไทยคงจะแค่สนามบินที่ขอนแก่นละกระมัง
พวกเราเดินตามกันเข้าสู่ด่านตรวจศุลกากร ทีแรกก็คิดว่าไม่น่าจะมีอะไร แต่กลับถูกกันออกมาสามคนแยกมาสอบถามอยู่อีกด้านหนึ่ง ในขณะที่ผู้โดยสารอื่น ๆ เดินออกไปกันหมดแล้ว ปัญหาที่ตั้งขึ้นมาทำเหมือนว่าเราเป็นผู้ลักลอบ ฉกฉวย หรือทำอะไรผิดทำนองนั้น เผอิญอีกสองคนไม่คล่องเรื่องภาษา ผมเลยบอกกันไว้ก่อนว่าไม่ต้องพูดปล่อยให้ผมจัดการมิฉะนั้นฝรั่งเอเชียขาวมันจะสงสัยยิ่งขึ้น
คุณมาทำอะไรที่นี่ ออสซี่ในเครื่องแบบ ทะมัดทะแมงหนุ่มถามด้วยสายตาเคร่งขรึม
ผมผ่านมาเพื่อจะไปปาปัวนิวกินี
คุณจะไปทำอะไรที่ปาปัวนิวกินี
พวกผมได้รับเชิญให้ไปดูงานป่าไม้ที่นั่น
แล้วคุณทั้งหลายเป็นใคร
สองท่านนี้เป็นผู้ชำนาญการป่าไม้ ส่วนผมเป็นที่ปรึกษา
ใครเชิญคุณให้ไปปาปัว
ตัวแทนรัฐบาลปาปัว
แล้วคุณมีสัญญากับรัฐบาลไหม คุณมีหลักฐานอาชีพของคุณไหม
ที่คุณถามนี่เป็นสิ่งที่คุณถามผู้โดยสารอื่นหรือไม่ ถ้าไม่ผมขอสงวนสิทธิ์เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล และผมไม่คิดว่า ทางคุณจะได้ประโยชน์อะไรจากคำตอบของพวกผม อย่าลืมว่าพวกผมคงจะไม่นึกสนุกบินไปดูป่าประเทศอื่นกันเล่น ๆ หรอกนะ
เอเชียขาวลังเลอยู่สักครู่แล้วจึงเปลี่ยนคำถาม
ถ้าอย่างนั้นตั๋วไปปาปัวอยู่ที่ไหน
อ๋อ ผมจะต้องออกไปรับทางด้านหน้าเพราะจะมีคนมาส่งให้
ทำไมไม่ซื้อมาจากไทยแลนด์เลยล่ะ
โอ๊ย! ราคาผิดกันยังกับฟ้ากับดินเลยให้ทางปาปัวซื้อตั๋วให้ ซึ่งเขาก็ยินดีในฐานะผู้เชิญพวกเรา
เอาละครับ เข้าใจแล้ว แล้วคุณจะไปนานไหม
3-4 วัน พอเสร็จธุระเราก็จะกลับบ้านเลย
เราคุยกันอยู่เกือบครึ่งชั่วโมง ผมเลยเลี่ยงบาลีถามเกี่ยวกับออสเตรเลีย แคนส์ธุรกิจไปเรื่อยเปื่อย จนในที่สุดก็ประทับตราผ่านได้ จากนั้นเขาก็นำแบสเส็ทฮาวน์ดตัวเล็กน่ารักมาไล่เราทั่วตัว พร้อมกับกระเป๋าเดินทาง
ให้ผมถอดกางเกงด้วยไหมล่ะ ผมถามติดตลกพลางเลื่อนมือทั้งสองไปที่ซิบกางเกง
โอ โน โน แหม่มที่จูงเจ้าบ๊อกปฏิเสธเสียงขรม
ผ่านด่านน้ำลายออกมาด้านหน้าอาคารผมมองหาคนถือป้ายชื่อพวกเราก็ไม่ยักกะเจอ เช้านั้นมีคนเดินอยู่แถวนั้นไม่กี่คนคณะของเราเริ่มลังเล
เอาไงดีพี่ ไม่มีใครมาหาเราเลย สกลเริ่มปั่นป่วน
ใจเย็น ๆ เดี๋ยวผมจัดการเอง คุณนั่งรออยู่แถวนี้ก็แล้วกันนะ
ผมปล่อยให้สองหนุ่มเหยียดแข้งเหยียดขาอย่างสบายในห้องโถงใหญ่จากนั้นก็ถาม พนักงานว่าสำนักงานสายการบินแอร์นิวกินีอยู่ที่ไหน ในที่สุด ผมก็ต้องเดินขึ้นทางข้ามถนนไปยังอีกตึกหนึ่ง ที่มีสำนักงานสายการบินต่าง ๆ
ฮัลโหล น็อค น็อค ผมทำเสียงทัก
กู้ดมอร์นิ่ง คำอิน แคนไอเฮลพ์ยู้ แหม่มออสซี่หน้าหวานตัวล่ำบึ้กทักทายอย่างเป็นกันเอง
ผมมาจากแบ็งค็อค ได้รับแจ้งว่าผมและเพื่อนจะต้องมารับตัวไปพอร์ทมอเรสบี้ที่นี่ เลยอยากทราบว่าคุณทราบเรื่องหรือเปล่า
โอ เค คุณชื่ออะไรล่ะ
ผมบอกชื่อเราทั้งสามคน แหม่มอวบก็ยื่นตั๋วให้ด้วยที่ที่แจ่มใส ผมถามปัญหาจิปาถะอยู่ชั่วครู่ก็รีบเดินกลับมาหาคณะ
เป็นไงพี่ สำเร็จไหม
สบายมากครับ ตั๋วเราอยู่นี่ครบถ้วน
ทั้งสองลุกขึ้นอย่างลิงโลดพร้อมถอนหายใจ แล้วเราก็เช็คอินโดยไม่รีรอ
พี่ แล้วมันจะถามอะไรอีกหรือเปล่า
อย่าห่วง ใส่ยิ้มสยามไว้บนใบหน้าเยอะๆ ที่เหลือผมจัดการเอง ผมเพิ่มความมั่นใจ
เราเดินผ่านช่องตรวจสอบพร้อมกับตอบปัญหาเล็กๆน้อยๆตามธรรมเนียม ก่อนจะผ่านพิธีกรรมที่น่าเบื่อหน่ายนั่นก็คือการผ่านช่องเอ็กซเรย์ที่ผมเรียกว่าช่องรีรีข้าวสาร พร้อมกับการล้วงข้าวของออกจากกระเป๋าเสื้อกางเกงอีกครั้ง มันเป็นพิธีกรรมที่เป็นที่น่าเบื่อหน่ายจริงๆของผู้โดยสารเครื่องบินต่างประเทศ ยิ่งผ่านหลายประเทศยิ่งต้องเล่นรีรีข้าวสารซ้ำซากน่าหงุดหงิดไม่น้อย
ภายในโถงรอขึ้นเครื่องเต็มไปด้วยร้านค้าปลอดภาษีที่ราคาสินค้าแพงหูดับ เสื้อยืดพิมพ์รูปหมีโควอาลาตัวละ 20 เหรียญ (ลด 50% แล้ว) เจ้าดิ๊ดจะรีดู (Didgeridoo) หรือ ขลุ่ยพื้นเมืองของชาวอบอริจินีส์ที่ทำด้วยไม้ทะลวงไส้ออกเขียนลวดลายพร้อมมีขี้ผึ้งยาไว้ตรงปากเป่า ราคา 150 เหรียญ เคยเห็นที่ขายที่ถนนข้าวสาร เมดอินไทยแลนด์อันละสองร้อยกว่าบาทเหมือนกันยังกับแกะ สกล
หนึ่งในคณะไปซื้อน้ำเปล่ามาขวดหนึ่ง แกบ่นตั้งแต่ซื้อจนถึงปาปัวเพราะราคาถึงขวดละ 2.95 เหรียญ(ราวๆ 80 กว่าบาท)
มันคงจะให้เรากินขวดด้วยแน่เลย ราคาแพงชะมัดญาติ สกลพึมพำ
ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ สนามบินแคนส์จะมีภาษาญี่ปุ่นแสดงรายละเอียดอยู่ทั่ว ๆ ไป แม้ร้านค้าบางร้านก็เป็นคนญี่ปุ่น มีชาวญี่ปุ่นเดินทางมากมาย นอกนั้นก็เป็นชาวจีนแต่มีสิ่งที่ผมต้องภูมิใจสุด ๆ ก็คือ ตั้งแต่กรุงเทพฯเป็นต้นมา ถึงฮ่องกงและแคนส์ เครื่องดื่มบนเครื่องบินพื้นฐานนอกจากจะเป็นไวน์น้ำอัดลมแล้ว น้ำผลไม้มาลีและไอศกรีมครีโมของไทยก็เป็นพระเอกของงานเลยทีเดียว โดยเฉพาะน้ำส้มที่มีเนื้อส้มด้วย ได้ยินฝรั่งเขาชมกัน สิ่งนี้ต้องยอมรับกันตามตรงว่าภูมิใจและดีใจเหลือเกิน
พวกเราขึ้นเครื่อง F28 ของแอร์นิวกินีตอนเที่ยงตรง เครื่อง F28 เป็นเครื่องเจ็ทขนาดเล็กเข้าใจว่าเป็นของแควนตัสที่โละให้ปาปัว มีที่นั่งไม่ถึง 20 แถว ๆ ละ 5 คน
พอเราขึ้นไปก็มีสจ๊วทตาคมหนุ่มเฟ้อแต่ดำปี๊ดยืนทักทายด้วยภาษาอังกฤษที่ชัดเจน ดูเหมือนจะกระเดียดไปทางแต๋วเล็ก ๆ ซะด้วย
ฮัลโหล ยินดีต้อนรับฮ่ะ ผมแปลตามความรู้สึก
ที่นั่งหมายเลขอะไรฮะ
แถวสี่สิบเจ็ดครับ ผมไม่ทันให้ดูบัตรผ่านละเอียดเลยดันบอกเที่ยวบินไป
ตายแล้ว คุณคงต้องเดินตรงไปทะลุห้องน้ำไปแน่เลยฮ่ะ แต๋วทมึนพูดไปยิ้มไป
ผมเลยมาถึงบางอ้อ เพราะเขามีไม่ถึงยี่สิบแถว
หลังจากดูใบผ่านแล้วพวกเราเลยหัวร่อกันครืน
พอนั่งลงรัดเข็มขัดเรียบร้อยแอร์สาวเจ้าเสน่ห์ก็เดินตรวจที่นั่งพร้อมทักทายผู้โดยสาร ชาวปาปัวมีตากลมโตสวยมาก นอกนั้นก็สุดจะพรรณนา แต่ละคนสูงใหญ่ท่าทางล่ำสัน ผมหมายถึงผู้หญิงหรอกนะ ผิวเนื้อเนียนดำขลับ
พี่นี่ขนาดแอร์ยังขนาดนี้แล้วคนธรรมดาจะเป็นยังไงนะ ธีระเอ่ยถามตาลอย
เดี๋ยวก็รู้ครับ ใจเย็น ๆ ผมไม่อยากเดาเลยนะ พวกเราหัวร่อต่อกระซิกกันเป็นที่สนุกสนาน
ครั้นผู้โดยสารขึ้นประจำที่กันพร้อมเพรียงเครื่องก็ทะยานขึ้นสู่น่านฟ้าที่สดใสไร้เมฆฝน มองลงมาก็เห็นจริง เขาคุยว่าปะการังที่นี่สวยที่สุดในโลกเพราะเบื้องล่างท่ามกลางทะเลเขียวสดมีกลุ่มปะการังอยู่เป็นผืนใหญ่ ๆ สุดลูกหูลูกตา เรากำลังบินผ่านสวรรค์ในทะเลใต้ที่เรียกว่า เดอะ เกรทแบเรียร์ รีฟ (The Great Barrier Reef) ที่ดังไปทั่วโลก มิน่าเล่าเมืองแคนส์ ซึ่งเป็นประตูสู่สวรรค์ในทะเลใต้ที่แท้จริง
ครู่หนึ่งก็มีบริการอาหารว่างเป็นบะหมี่แห้งหมูแดงที่น่าจะทำมาจากออสเตรเลียเพราะรสค่อนข้างจะกลายๆไปแล้ว ที่เข้าท่าก็คือเบียร์กระป๋องยี่ห้อ เซ้าท์แปซิฟิค ของปาปัว ที่มีแอลกอฮอล์แค่ 4 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ รสนิ่มลิ้นทีเดียว
มองทะเลเป็นที่เพลิดเพลิน เข้าสู่น่านน้ำของปาปัวนิวกินีที่เต็มไปด้วยเนินทรายตื้น ๆ คลื่นลมพัดน้ำผ่านเนินทรายเหล่านี้เป็นทางขาวสวยงาม ภายในเวลาเพียงชั่วโมงครึ่งเครื่องแอร์นิวกินี ก็นำเรามาลงที่สนามบินเมืองพอร์ทมอเรสบี้ ด้วยความนิ่มนวล อากาศที่นั่นสดชื่นแจ่มใส แม้จะเป็นช่วงบ่าย อุณหภูมิประมาณ 27 องศาเซลเซียส แต่ไม่เหนอะหนะอย่างบ้านเรา ตัวอาคารเทอร์มินอลไม่น่าจะใหญ่กว่าสนามบินที่น่านหรือเชียงราย ลมพัดเอื่อย ๆ เย็นสบายพวกเราเดินเข้าอาคารเพื่อไปเช็คเอาท์
การไปประเทศปาปัวนิวกินี เราจะต้องไปขอวีซ่าที่สถานทูตออสเตรเลียที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นช่วงที่ได้สนุกที่สุดเพราะก่อนจะเข้าสถานทูตได้ต้องผ่านจุดตรวจตั้งแต่ประตูรั้วเป็นต้นไป ดู ๆ ก็น่าเห็นใจที่เจ้าหน้าที่ไทยในสังกัดสถานทูตต้องทำหน้าที่เข้มงวด แต่นึก ๆ ก็น่าน้อยใจที่มารยาทแบบไทย ๆ ไม่ค่อยจะมีให้เห็นกัน กว่าจะเข้าไปได้ต้องตอบปัญหามากมายจนกระทั่งเข้าไปถึงหน่วยวีซ่า จากนั้นก็มีคำถามแปลก ๆ จากพนักงานไทยที่ทำให้หงุดหงิด แต่เมื่อทราบว่าค่าวีซ่าไปปาปัวไม่มี
ก็สบายใจขึ้น แต่พอไปถึงกลับต้องจ่ายที่สนามบิน พอร์ทมอเรสบี้ เสียคนละ 500 กินา (Kina) ซึ่งเท่ากับประมาณห้าพันบาทไทยอ่วมอรทัยไปเลย
พอผ่านพิธีการที่สนามบินเป็นที่เรียบร้อย พวกเราก็เดินออกมาที่ห้องโถงขนาดกะทัดรัด มีคนถือป้ายชื่อผู้โดยสารกันเต็มไปหมด พวกเราพยายามมองหาชื่อตัวเองแต่ไม่พบ หมึกทะเลใต้นายหนึ่งถามว่าเรามองหาใคร ก็เลยพูดลอย ๆไปว่า
มาพบมิสเตอร์ แวรี เวเล
อ๋อ แกยืนรออยู่ด้านหน้านั่นไง
เรามองออกไปนอกอาคารก็เห็น แวรี ยืนอยู่ริมถนน แวรีเป็นคนเผือก เลยดูขาวตัดกับคนอื่น ๆ ข้าง ๆ กันมีคนไทยอีกคนชื่อทวีที่ดูเผิน ๆ ก็อาจเข้าใจว่าเป็นชาวปาปัวเหมือนกัน ทั้งคู่ใส่เสื้อยืดสีแสบ นุ่งกางเกง ขาสั้นทันสมัยหลายสิบกระเป๋า ใส่รองเท้าแตะดูสบาย ๆ ดี ทักทายกันเรียบร้อย แวรี ก็พาเราไปนั่งรถส่วนตัวของแกเป็นแคมรีสีขาว ออกจากสนามบินมุ่งสู่ตัวเมืองหลวง
เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมขณะที่บินเข้าสู่เมืองหลวง ทิวเขาบริเวณรอบตัวเมืองดูแห้งแล้งไม่มีต้นไม้ใหญ่ ๆ เลย ทำเอาผิดหวังเล็ก ๆ เพราะตั้งใจจะมาเห็นป่าฝนเขียวขจี ดังที่เรากล่าวกัน บริเวณรอบพอร์ทมอเรสบี้มีแต่ภูเขาหัวโล้น เหมือน มร.แวรี ไม่ว่าจะหันไปทางไหนทำให้ประหลาดใจมาก ยิ่งพอออกมานอกอาคารสนามบินเห็นผู้คนนั่งกันเรียงรายตามสนามหญ้ายิ่งแปลก
มร. แวรี พวกนี้เขามานั่งทำอะไรกัน มร.แวรี หัวเราะแล้วบอกว่า
นี่เป็นคำถามแรกที่ชาวต่างชาติแทบทุกคนตั้งถาม คืออย่างนี้คนปาปัวไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่มีงานทำนอกนั้นจะไม่ทำงานทำการเลย ในเมืองนี้มีคนราวสองแสน ผมว่าคงจะถึงแสนห้ากระมังที่ไม่ยอมทำงานทำการ วัน ๆ ได้แต่เดิน นอน นั่งตามถนนที่สาธารณะทั่วไป อ้อ ผมต้องเตือนก่อนนะว่าอย่าเดินไปไหนมาไหนคนเดียว โดยเฉพาะตอนกลางคืน
ทำไมล่ะ อันตรายมากหรือ คนที่นี่ดุหรือ ผมถามด้วยความไม่เข้าใจ
ผมป้องกันไว้ก่อนเพราะเราไม่ค่อยไว้ใจ เรามีคนสี่ล้านคนทั้งประเทศมีภาษากว่า 800 ภาษาต่าง ๆ กันแต่ละคนแต่ละเผ่ามีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน
ก่อนเราจะเข้าไปชมปาปัวนิวกินี ผมต้องขออารัมภบทเกี่ยวกับประเทศนี้สักหน่อยเพื่อจะได้เห็นภาพพจน์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจะขอแปลความจากมุมมองที่ฝรั่งเขาเขียนไว้มาเล่าสู่กันฟังดังนี้
ปาปัวนิวกินีได้ชื่อว่าเป็นดินแดนดงดิบที่ค่อนข้างอุดมไปด้วยความป่าเถื่อนที่ล้าหลังและไม่ค่อยได้ภูมิอากาศมีตั้งแต่ร้อนแทบดิ้นไปจนถึงหนาวเหน็บบนเทือกเขาสูง ทำให้เป็นที่สนใจของนักสำรวจ นักมานุษยวิทยาและนักผจญภัยที่แสวงหาสิ่งตื่นเต้นในชีวิต
เป็นที่เลื่องชื่อว่าดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยอันตรายร้อยแปดแม้ในเมืองหลวงด้วยสาเหตุใหญ่ๆจากการที่ขาดแคลนการจ้างงาน เป็นผลให้เกิดอัตราอาชญากรรมที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งการที่ต่างชาติเข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ทางทรัพยากรของดินแดนนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศนี้ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่เตาะแตะเสียเหลือเกินด้วยข้อจำกัดทางด้านสาธารณูปโภคและความพร้อมในการรับสถานการณ์ เป็นเหตุให้สินค้าข้าวของ ค่าที่พักฯลฯสูงมากเกินความเป็นจริง
ประเทศปาปัวนิวกินีมักเป็นที่กล่าวขานในเรื่องที่ไม่ค่อยจะเป็นมงคลเท่าใดนัก อาทิเช่น การข่มขืน การปล้นจี้ และเรื่องทะเลาะวิวาท ทั้งๆที่ข่าวคราวที่ออกมาค่อนข้างจะเกินจริง นักท่องเที่ยวมักจะต้องขอคำแนะนำในการท่องเที่ยว สนทนากับชาวพื้นเมือง และไม่เตร็ดเตร่ในยามวิกาลนอกบริเวณที่พัก
ชื่อประเทศที่เป็นทางการของประเทศนี้คือ สาธารณรัฐเอกราชปาปัวนิวกินี (The Independent State of Papua New Guinea) มีพื้นที่ทั้งหมด 462,840 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรเพียง 4.5 ล้านคนประกอบด้วยหลายเชื้อชาติดังนี้ เมลานีเชียน 95% (Melanesian) โพลีนีเชียน 5% (Polynesian)ไมโครนีเชียน (Micronesian) และ จีน ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเผ่าต่างๆมีถึงราว 800 ภาษา รวมทั้งภาษาอังกฤษเจ๊าะแจ๊ะที่เรียกว่า Pidgin English และภาษา โมตู(Motu) ศาสนาก็มี คริสเตียนนิกายโปรเตสแต๊นท์ 44% คาธอลิก 22% และอีกร้อยละ 34 เป็นความเชื่อท้องถิ่น รัฐบาล ของปาปัวเป็นประชาธิปไตยมีนายกรัฐมนตรีที่ผ่านการเลือกตั้งเป็นประมุข ผลผลิตมวลรวมของชาติ $US11.6 billion (เท่าไรคิดเอาเอง) ส่วนรายได้ต่อหัวต่อปี ประมาณ US$2650(ตัวเลขนี้น่าจะไม่ตรงกับความจริงนัก) ด้วยเป็นประเทศเอกราชน้องใหม่และโดนคุมเข้มโดยออสเตรเลียสภาวะ เงินเฟ้อ จึงค่อนข้างสูงถึง 5.3% ปาปัวมีอุตสาหกรรมหลักๆคือ กาแฟ ทองแดง ทอง เงิน เนื้อมะพร้าวแห้งบด น้ำมันปาล์มและไม้ซุง ความเป็นดงดิบทำให้โรคภัยไข้เจ็บค่อนข้างชุกชุมเช่น มาเลเรีย ไข้เลือดออก และโรคท้องร่วง เวลาที่ปาปัวจะก่อนบ้านเรา 3 ชั่วโมง กระแสไฟฟ้าที่ใช้เหมือนบ้านเราคือ 240 โวลท์ 50 เฮิร์ท อุปกรณ์ที่ใช้เป็นแบบของออสเตรเลีย เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมตัวอแดปเตอร์ของปลั๊กไฟไปด้วย ปาปัวใช้มาตรวัดระบบเมตริคสากล พอจะสรุปได้ว่าคล้ายๆกับของบ้านเรา
เชื่อกันว่าชาวพื้นเมืองกระเส็นกระสายเคลื่อนย้ายมาจากแผ่นดินใหญ่แถบอุษาคเนย์กว่า50,000ปีมาแล้ว ชาวยุโรปที่เข้ามาติดต่อ(แสวงหาอาณานิคมโดยสันดาน)ครั้งแรกในช่วง พ.ศ. 2069 2070 นำทีมโดยนักสำรวจปอร์ตุเกสชื่อ จอร์ก เดอ เมเนสส์ (Jorge de Meneses) ได้ตั้งชื่อเกาะนี้ว่า Ilhas dos Papuas (เกาะแห่งคนหัวยุ่ง) ต่อมาชาวเสปนนามว่า อีนีโก ออร์ทีซ เดอ เรตเตส (Inigo Ortiz de Retes) ได้ตั้งชื่อเสียใหม่ว่า นิวกินีด้วยเข้าใจว่าชาวพื้นเมืองเป็นพวกเดียวกับชาวกินีในกาฬทวีป หลังจากนั้นก็ได้มีขบวนสำรวจเข้ามาไม่ขาดสาย เช่นขบวนของ นายโบเกนวิลล์(Bougainville) นายคุค (Cook) นายแสตนลีย์ (Stanley) และนายจอห์น มอเรสบี้ย์ (John Moresby) ผู้สถาปนาเมืองท่าซึ่งกลายเป็นเมืองหลวงของประเทศปาปัว นิวกินีในเวลาต่อมา
ด้วยเป็นดินแดนที่ลึกลับน่ากลัว นิวกินีจึงถูกทอดทิ้งเสียหลายศตวรรษจากผู้รุกรานชาวยุโรป ยกเว้นฝรั่งชาติฮอลันดาที่ยังคงกระเสือกกระสนแผ่อำนาจทางการเมืองโดยการมาตั้งอาณาจักรอินเดียตะวันออกของฮอลันดาและพอถึง พ.ศ. 2367 ก็ฮุบเอาส่วนตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะไปเป็นของตนเอง ต่อมาเยอรมันก็เข้ายึดส่วนเหนือของเกาะ พ.ศ. 2427 ส่วนตอนใต้ที่เหลืออังกฤษก็เข้าคุ้มกันหลังจากนั้นไม่นาน ผมลองนึกดูก็น่าเห็นใจชาวพื้นเมืองที่เกิดแก่เจ็บตายอยู่บนแผ่นดินของตนเอง วันดีคืนดี เจ้าผีผมแดงหลายพวกหลายพันธุ์ก็เข้ามาแย่งกันปักธงแล้วบอกพวกเขาว่า ดินแดนนี้ของกู ไม่รู้ว่าถ้าเราเป็นชาวพื้นเมืองจะคิดอย่างไร
พ.ศ.2449 นิวกินีของอังกฤษก็กลายมาเป็น ปาปัวที่ได้รับการดูแลโดยออสเตรเลียที่พึ่งได้เป็นเอกราช ครั้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้น ออสเตรเลียก็บุกเข้ายึดส่วนที่เป็นของเยอรมันมารวมกับส่วนของตน นอกจากนั้นเกาะโบเกนวิลล์ ฯลฯก็กลายมาเป็นผลพลอยได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่นำมารวมกับดินแดนส่วนใหญ่เป็นประเทศปาปัวนิวกินีภายใต้การดูแลของออสเตรเลีย จากความขมขื่นของชาวปาปัวเองที่ไม่เคยมีสิทธิเหนือดินแดนของตนมาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเอกราชเป็นผลสำเร็จเมื่อพ.ศ. 2518 มานี้เอง
เรื่องปาปัวนิวกินีที่จริงมีรายละเอียดมากมายที่เขียนโดยชาวยุโรปซึ่งเป็นแบบใส่แว่นตาฝรั่งดู การที่ยกมาบรรยายพอเป็นสังเขปก็เพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นภาพที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เอาละ เรากลับมาเข้าเรื่องเสียที
ครู่ใหญ่ๆ แวรี่ก็ขับรถพาเราผ่านเมืองที่ดูโล่งๆเข้าสู่บริเวณที่ดูเหมือนผู้ที่มีอันจะกินและแหล่งดาวน์ทาวน์ที่เงียบเหงาตามทางเราเห็นลั่นทมหลากสีสวยงามผสมผสานเฟื่องฟ้าที่บานสะพรั่ง ภูมิประเทศของพอร์ทมอเรสบี้ค่อนข้างแปลกเพราะเต็มไปด้วยเขาหัวโล้นแต่ก็ไม่ร้อนมากเท่ากรุงเทพรถเลี้ยวขึ้นโรงแรมคราวน์พลาซา โรงแรมตั้งอยู่บนยอดเนินล้อมรอบด้วยทิวทัศน์ที่สวยงามในรูปแบบเกาะทะเลใต้ เป็นสาขาหนึ่งของกลุ่มโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลที่มีทั่วโลก ขนาด 157 ห้อง สูง 9 ชั้น นับว่าเป็นโรงแรมระดับห้าดาวมาตรฐานทีเดียว
หลังจากเช็คอินเรียบร้อยพวกเราก็เข้าพักผ่อนตามอัธยาสัย หน่วยรักษาความปลอดภัยแต่งเครื่องแบบสีกรมท่ายืนเรียงรายอยู่หลายคนบริเวณโถงโรงแรม แต่ละคนรูปร่างสูงใหญ่ ผิวคล้ำดูน่าเกรงขาม ปากแดงเปรอะไปด้วยน้ำหมากที่เคี้ยวกันหนึบหนับ ทั้งๆที่หน้าตาน่ากลัว ผมก็อดไม่ได้ก็ต้องทำใจดีสู้เสือเข้าไปทักทาย เพียงไม่กี่ประโยคก็รู้ว่าพวกนี้ดุแต่หน้า แต่จิตใจดี คุยสนุกและไม่มีลับลมคมใน
ผมชื่อจอห์น พวกคุณมาจากไหน รปภ.หนุ่มแนะนำตนเอง
พวกเรามาจากประเทศไทย แล้วคุณเป็นคนแถบนี้หรือปล่า ผมถาม
อ๋อ เปล่าครับ ผมมาจากเกาะมานุสอยู่ทางเหนือโน่น
อ้าว แล้วคุณพูดภาษาอะไรล่ะ
ทั่วๆไปพวกเราพูดพิดจิ้นอิงลิชได้ครับ แต่ที่เกาะผมเราจะพูดบาฮาซ่าคล้ายๆของอินโดนีเซีย
ผมได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายของเผ่าพันธุ์มากขึ้นและนึกขอบใจประเทศไทยที่เรามีความเป็นหนึ่งที่เชื่อว่าหลายๆประเทศอิจฉา คุยกันอยู่ครู่หนึ่งแวรี่ก็เดินเข้ามา
คืนนี้ผมจะมาหาราวๆทุ่มครึ่ง พวกคุณอยากทานอะไรกัน แวรี่ถาม
ผมอยากลองอาหารพื้นเมืองถ้าเป็นไปได้ ผมออกความเห็น
ผมอยากกินข้าวว่ะ สกลแย้ง
พี่ อาหารพื้นเมืองไม่มีอะไรเลย มีแต่กล้วยต้มมันต้ม ผมว่า อย่าดีกว่า ทวีพูดไปหัวร่อไป
เอา เอาไงก็เอา ผมว่าวันแรกกินมันที่โรงแรมนั่นแหละดี. ธีระออกความเห็น
ก็เป็นอันว่าตกลงกันโดยดุษฎี จากนั้นแวรี่ก็ลากลับไป พวกเราก็แยกตัวขึ้นลิฟต์ในโรงแรมไปชั้นที่สี่ผมเข้าพักกับทวี ส่วนธีระกับสกลแยกไปห้องตรงข้ามประตูตรงกัน พอเปิดหน้าต่างลมทะเลก็พัดเข้ามาอย่างสดชื่น
โอ้โฮ ยังงี้เราก็ไม่ต้องเปิดแอร์กันเลยว่ะ ธีระตะโกนบอกคณะ
เราต่างก็แยกย้ายกันนอนพักเอาแรงกันตลอดบ่าย เตรียมพร้อมบุกงานในวันรุ่งขึ้น
พี่ ตื่นเถอะ หกโมงแล้ว ทวีปลุกผมให้ตื่น
โอ เค คุณเรียกสองคนก็แล้วกัน เดี๋ยวขอล้างหน้าล้างตาก่อน
พอร์ทมอเรสบี้ยามเย็นลมทะเลก็ยังไม่ลดราวาศอก ทิวคลื่นพลิ้วเป็นแนวขาวตัดกับสีครามดูสวยงามมาก มองลงมาบนถนนหน้าโรงแรมก็เห็นผู้คนเดินไปเดินมาประปราย พวกเราลงมานั่งกันในค็อฟฟี่ช้อพที่มีฝรั่งนั่งกันอยู่พอควร ทางด้านตรงข้ามเป็นร้านอาหารบุ๊พเฟ่ของโรงแรมที่เริ่มมีแขกเข้ามา รับประทานกัน แขกก็มีทั้งฝรั่งที่ส่วนมากเป็นออสซี่และชาวพื้นเมืองที่ดูมีฐานะ การแต่งกายที่นี่ง่ายๆแค่เสื้อเชิ๊ร์ต บางคนก็ผูกเน็คไท แต่ส่วนมากก็แต่งตัวตามสบายไม่อุจาด พวกเรานั่งคุยกันไปดื่มกันไปจนหมดเบียร์หลายขวดท้องก็เริ่มร้อง
พี่ ไม่ต้องรอแวรีหรอก ผมว่าลุยเลยดีกว่า ทวีเอ่ยตาละห้อย
หิวแล้วละซี่ ธีระกับสกลว่าไงล่ะ
เอาไงก็เอากันพี่ ผมก็เริ่มหิวแล้ว ธีระสำทับ
เป็นอันว่าค่ำนั้นเราก็ดินเนอร์โดยไม่รอเจ้าภาพ อาหารโรงแรมก็ดูเหมือนจะเป็นมาตรฐานสากลมีเนื้อสารพัด ขนมนมเนยเพียบพร้อม ผมเล่นไปหลายรอบจนอิ่มแปล้ ที่สุดยอดก็เห็นจะเป็นกาแฟสดของปาปัวที่มีรสชาติกลมกล่อมมาก เขาเสริฟในหม้อกดกาแฟแก้วขนาดเขื่องทำให้ได้รสที่สม่ำเสมอตั้งแต่ถ้วยแรกจนหมดกา
แวรีโผล่เข้ามาเอาตอนเกือบสองทุ่มก็ไม่พูดพล่ามทำเพลงพี่แกก็ตักอาหารมาร่วมวงอย่างกันเอง ครู่ใหญ่เราก็ย้ายมาที่ค็อฟฟี่ช็อพตามเดิม เราย้ายมานั่งคุยกันจนเกือบเที่ยงคืนโดยแวรี่บอกว่าจะมารับตอนแปดโมงเช้า เพราะมีภารกิจที่ค่อนข้างมากที่จะต้องทำ คืนนั้นพวกเราหลับเป็นตายด้วยความอ่อนเพลีย
เช้าวันรุ่งขึ้นพวกเราก็กุลีกุจออาบน้ำแต่งตัวลงมาทานอาหารเช้ากัน อาหารโรงแรมก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์เหมือนโรงแรมชั้นนำที่อื่นๆ ตามด้วยกาแฟหอมฉุย ครู่ใหญ่แวรีก็มารับที่โรงแรมด้วยจิ๊ปโตโยต้าพาเจโรมุ่งสู่บริษัทของเขาทางอีกด้านหนึ่งของเมือง
ถนนรนแคมหลักๆที่พอร์ทมอเรสบี้กว้างขวางและราบเรียบ เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะนั่งรถไปตลอดทางเจอสัญญาณไฟจราจรเพียงแยกเดียว นอกนั้นจะเป็นวงเวียนทั้งหมด แต่แปลกที่คนขับกลับถือกฎรถทางขวาไปก่อนแบบอังกฤษอย่างเคร่งครัด ถึงแม้จะมีการแอบแซงซ้ายบ้างก็ดูไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด รถราที่นั่นส่วนมากก็เป็นรถจากญี่ปุ่นเช่นบรรดาปิคอัพทั้งหลาย แต่รถโดยสารดูไม่ออกว่ามาจากประเทศอะไร รถโดยสารประจำทางคันขนาดย่อมจุคนประมาณ 30 คน ตัวถังไม่สูงนักแต่สภาพดูสกปรกกว่าบ้านเรา บางคันเห็นรอยน้ำหมากเปรอะหน้าต่างเป็นทาง ตามทางเท้าริมถนนเต็มไปด้วยชาวพื้นเมืองหอบลูกจูงหลานเดินกันขวักไขว่อย่างไร้จุดหมาย แต่ละคนสะพายเป้กันเหมือนส่วนหนึ่งของร่างกายเห็นด้ามมีดเล่มเขื่องโผล่อยู่เป็นที่ชินตา ผู้หญิงจะเอาสายย่ามพาดหน้าผากแล้วเอาตัวย่ามไว้ด้านหลังเหมือนแม้วแถวๆทางเหนือบ้านเรา เรื่องการแต่งกายไม่ต้องพูดถึงแฟชั่น ทั่วๆไปผู้ชายใส่เสื้อยืดสีแสบหรือเสื้อเชิ้ร์ตปล่อยชาย ยากนักที่จะเห็นคนผูกเน็คไท ส่วนกางเกงเป็นกางเกงขาสั้นทรงจตุจักร นั่นคือทุกรูปแบบตั้งแต่แบบเจ๊กขายหมูไปจนถึงแบบร้อยกระเป๋าที่กำลังฮิตในบ้านเรา ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าคล้ายผ้าซิ่นสีตุ่นๆ เสื้อก็เหมือนเสื้อผู้ชาย ความจริงก็ดูคล้ายๆกับชนบทบ้านเราแต่ที่ผิดกันยิ่งกว่าฟ้ากับดินก็คือดูเหมือนว่าพวกนี้จะไม่ยอมซักเสื้อผ้าเลยเพราะดูสกปรกสิ้นดี
ป้ายโฆษณาตามทางเป็นป้ายขนาดกลางไม่ใหญ่โตอย่างบ้านเรา ส่วนมากก็โฆษณารถญี่ปุ่นบ้าง อาหารสำเร็จรูปประเภทซีเรียลของออสซี่บ้าง ข้าวไทยที่ออสซี่ซื้อไปขายบ้าง ไม่ได้เป็นธุรกิจที่ต้องวุ่นวายแข่งขันกันอย่างในบ้านเรา ซึ่งดูเรียบร้อยดี
ร้านรวงในพอร์ทมอเรสบี้แตกต่างจากบ้านเราโดยสิ้นเชิง เราไม่เห็นกระจกบานกว้างๆหรือประตูเปิดโอ่โถง แต่เป็นลูกกรงเหล็กแข็งแรง ลูกค้าต้องเรียกเจ้าของร้านให้เปิดประตูให้ เลยทำให้ดูน่ากลัวหนักเข้าไปอีก
พอนั่งรถมารอที่วงเวียนก็มองเห็นลานกว้างเต็มไปด้วยผู้คนซื้อขายของจิปาถะที่ดูไม่ผิดกับตลาดนั่นที่เห็นกลาดเกลื่อนกรุงเทพตั้งแต่ตอนไอเอ็มเอ็ฟกินเมือง
แวรี่ ว่างๆหยุดรถหน่อยซี่ ผมอยากเดินเล่นตลาดนัด ผมแกล้งแย็บ
ผมว่าอย่าดีกว่า ผมกลัวเรื่องปล้นจี้ เวลาต่างชาติไปเดินเอ้อระเหยมักจะไม่คอยดี เขาว่ากันนะ ผมเองก็ไม่เคยเจอ แวรี่แย้ง
ในที่สุดความอยากก็วืดไป เรามาถึงบริษัท แวรี่ เวเล เอาราวๆสิบโมงเช้า บริษัท แวรี่ เวเลตั้งอยู่ในบริเวณคล้ายๆนิคมอุตสาหกรรมบ้านเราแต่ไม่เรียบร้อยเท่า บริษัทแถวนั้นล้อมรั้วแข็งแรงแถมมีหน่วยรักษาความปลอดภัยเข้มงวด แต่กระนั้นก็ยังมีคนยืนเกะกะกันอยู่หน้าบริษัทหลายคน
แวรี่ เขามายืนทำไมกันน่ะ ผมถามขณะรถเข้าจอด
พวกนี้มาหางานทำ แล้วเลยมายืนรอกันทั้งวัน ทั้งๆที่ไม่มีงานให้ทำ แวรี่พูดพลางหัวเราะพลาง ผมก็เลยเข้าใจ เพราะบริษัทนี้ประกอบกิจการที่แทบจะเรียกว่าครอบจักรวาลเลยทีเดียว ตั้งแต่งานเสมียนไปจนถึงรับเหมาก่อสร้างทุกชนิดและมาลงเอยที่รับส่งสินค้า จัดการพิธีการขนส่งออกและนำเข้าต่างประเทศ จึงทำให้มีการใช้แรงงานมากเป็นครั้งคราว
เราเข้าไปในห้องทำงานที่เป็นห้องใหญ่มีโต๊ะทำงานและพนักงานห้า หก คนไม่มีการแยกว่าใครเป็นใคร ฝ่ายไหน
สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อเบทซี่ สาวผอมบางผมหยิก แนะนำตนเองตรงหน้าห้อง เธอเป็นแผนกต้อนรับที่ดูเหมือนว่าจะต้องทำหน้าที่เสมียนและเลขาควบกันไปด้วย พวกเราก็แนะนำตัวเองให้เธอทราบแล้วก็ไปนั่งล้อมโต๊ะแวรี่อย่างสบายๆไม่อึดอัด
ตานสบายนะ ที่จริงโต๊ะตัวนี้ก็ไม่ใช่ของผมหรอก ผมให้น้องชายดูแลบริษัททั้งหมด ส่วนผมเดินทางแทบจะตลอดเวลา แวรี่เล่าให้เราฟัง
นี่ไงพี่ แกก็เลยเอารูปแกมาติดไว้ข้างหลังยังไง ไว้คอยดูลูกน้อง หรือไม่ก็ให้ลูกน้องคิดว่าแกอยู่ตลอดเวลา ทวีพูดพลางชี้ไปที่รูปแขวนอยู่ตรงข้ามกับโต๊ะที่แวรี่นั่ง รูปเขียนสีถ่านขนาดราวๆ 8 นิ้วคูณ 10 นิ้วเป็นรูปหน้าตรงของแวรี่ใส่แว่นดำสนิท หน้าซีเรียสพอควร มองจริงๆก็อาจผวาได้เหมือนกัน พวกเราเลยหัวร่อกันครืน
ช่วงนั้นมีคนเดินเข้าออกห้องทำงานขวักไขว่ ชายหนุ่มคนหนึ่งก้มหน้าก้มตาทำงานบนคอมพิวเตอร์อย่างไม่พะวง ดูจากความสามารถในการใช้โปรแกรมโฟโต้ช้อพแล้ว แกทำได้ไม่น้อยหน้าเด็กไทยเลย
เป็นอันว่าเราจองได้เฮลิคอปเตอร์แล้วนะ เราจะไปขึ้นเครื่องที่สนามบินตอนเที่ยง ผมให้ทีมผมขับรถขึ้นไปรอบนเขาแล้ว พอเราบินดูบริเวณแล้วก็จะไปลงที่ โอเม่ โอเม่ จากนั้นเราก็ขับรถกลัมมา ประเดี๋ยวจะมีเจ้าของที่ดินไปด้วยกับเราคนหนึ่ง แวรี่ชี้แจงในขณะที่พวกเราเริ่มรู้สึกว่าชักจะรอนาน
เจ้าของที่ดิน หรือที่เรียกกันว่า Landowners คือบรรดาหัวหน้าหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในป่าซึ่งก็เป็นผู้พิทักษ์ป่าเขาส่วนนั้นไปโดยปริยาย สิทธิของที่ดินเป็นของดั้งเดิมของแต่ละเผ่าพันธุ์ รัฐบาลกลางไม่มีกรรมสิทธิ์ใดๆเหนือที่ดินเหล่านี้ แต่ถ้าทางรัฐจะต้องจัดสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ก็ต้องตกลงซื้อขายหรือเช่าจากเหล่าเจ้าของที่ดินดังกล่าวให้เรียบร้อยเสียก่อน ดังนั้นในการทำป่าไม้เหล่าเจ้าของที่ดินก็จะรวบรวมที่ดินของตนนำเสนอเพื่อหาผู้ที่จะเข้าไปทำป่าไม้ การทำป่าไม้ดังกล่าวคือการตัดท่อนซุงเพื่อการส่งออก อันเป็นรายได้หลักหนึ่งในสามของประเทศซึ่งอยู่ภายไต้การควบคุมดูแลของกระทรวงป่าไม้ เมื่อรวบรวมที่ดินแจ้งผู้แสดงความจำนง ผู้แสดงความจำนงก็เสาะแสวงหาผู้ปฏิบัติการเช่นบริษัทที่ทำป่าไม้นานาชาติที่มีศักยภาพเพียงพอเหมาะสมมาทำงาน ปัจจุบันบริษัทที่ทำป่าไม้จากประเทศมาเลเซียมีบทบาทมากต่องานป่าไม้ของปาปัว หลังจากตัดไม้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทรวงสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูก็จะเข้ามาดำเนินการปลูกป่าทดแทนโดยเรียกเก็บเงินการฟื้นฟูจากผู้ทำการ
ขอแนะนำให้รู้จักกับไมเคิล เป็นหนึ่งในเจ้าของที่ดินกลุ่มโอเม่ โอเม่ (Ome Ome) ที่เราจะเข้าไป แวรี่แนะนำให้พวกเรารู้จักกับชายกลางคนผิวดำตัวผอมเกร็ง ใส่เสื้อยืดที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสีเนื้อ และกางเกงขาก๊วยสีดำ เราทักทายกันเล็กน้อยขณะที่ไมเคิลแบมือขอบุหรี่จากธีระ ผมล้วงท้อฟฟี่รสกาแฟมาแจกพวกเรา ยอดชายนายไมเคิลแกก็สอดมือมามีเอี่ยวด้วย
เราไปกันเถอะ ทุกอย่างพร้อมแล้ว แวรี่ตะโกนบอกหลังจากรับโทรศัพท์
พวกเราขึ้นรถแวรี่ที่เปลี่ยนจากพาเจโรมาเป็นแคมรี่คันเดิม เพราะมีคนเอาพาเจโรขึ้นเขาไปรอเราอยู่ก่อนแล้ว ส่วนผู้ติดตามอีกสามสี่คนก็ควบปิคอัพเปิดประทุนตามไปอย่างกระชั้นชิด ไม่กี่อึดใจเราก็มาถึงสนามบินพอร์ทมอเรสบี้ทางด้านการบินพลเรือน จากนั้นผู้ที่จะโดยสารก็ทำการชั่งน้ำหนักตัวเก็บบันทึกก่อนที่จะเดินออกไปยังลานจอด
กัปตันปาปัวหน้าตาหล่อสาธิตการขึ้นลงและการใช้หูฟังฯลฯ ก่อนขึ้นเครื่องช้อปเปอร์ขนาดหกที่นั่งกระทัดรัด แวรี่ขึ้นนั่งคู่กัปตัน ผมและธีระนั่งหันไปทางด้นหลังตรงข้ามก็มีสกล ทวี และ ไมเคิล ใบพัดเริ่มหมุนช้าๆในขณะที่เสียงเครื่องยนต์ดังแทบหูทะลุ พวกเราเอาหูฟังสวมเพื่อบรรเทาเสียงที่ดังเกินรับ ขณะที่เครื่องกำลังเร่งเอารอบผมสังเกตเห็นเหงื่อที่ท้ายทอยธีระเม็ดโป้งยดแหมะๆลงบนปกเสื้อ ผมคิดว่าแกคงอึดอัดหรือไม่ก็เกิดอาการปอด พอสะกิดให้ทราบแกก็ตะโกนบอกว่าแกมีอะไรบนหัวไมได้จะรู้สึกร้อนและอึดอัด
เครื่องช้อปเปอร์ค่อยๆยกตัวลอยขึ้นเนิบๆ สักครู่เมื่อเลยทิวเขาก็มุ่งสู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือเลียบทะเลสีครามดูเพลินตายิ่งนัก พวกเราตื่นตาตื่นใจกับพอร์ทมอเรสบี้ ในมุมมองที่แปลกๆ เมืองนี้มีระบบถนนหนทางสวยงามแม้ว่าบ้านพักอาศัยจะไม่เข้าข่ายทันสมัยแต่ก็ดูดาษดื่น สบายตาดี เนินเขาหัวโล้นใหญ่น้อยใช้เป็นที่พักอาศัยที่ดูจากมุมสูงจะรู้สึกแห้งแล้งทีเดียว ผมเพลินกัการมองดูบ้านช่องที่ปลูกกันตามเชิงเกาะเล็กๆที่มีลักษณะเหมือน กัมปงของเขมรหรือมาเลเซีย เครื่องบินไปสักยี่สิบนาทีเราก็ยังไม่เห็นป่าที่ว่า ผมเลยถามทวีด้วยความฉงน
ใจเย็นๆพี่ อีกไม่เกินรอก็จะถึงแล้ว ทวีอธิบายยังไมทันขาดคำ ช้อปเปอร์น้อยก็ยกตัวสูงขึ้นช้าๆ เพื่อให้พ้นยอดเขาข้างหน้า เรามาถึงจุดที่ผมคิดว่าเป็นยอดเขาแต่เป็นการเดาที่ผิดคาด เมื่อเลยระดับดังกล่างเราพบพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบสูงกว่าที่เรามามากลานมหึมาที่เดาไม่ถูกถึงขนาดความกว้างใหญ่เขียวขจีไปด้วยไม้ใหญ่ที่เบียดเสียดกํนขึ้นมาอย่างหนาแน่น
นี่ไงพี่ เขียวไม๊ล่ะ บอกแล้วไม่เชื่อ ทวีเยาะ
ธีระกับสกลนั่งเงียบจ้องดูป่าเขม็ง ผมไม่รู้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่
เฮ้...... ค็อฟฟี่ ท้อฟฟี่ ..... เวรี่กู้ด ไมเคิลยิ้มและแบมือขอท้อฟฟี่ ผมก็กำส่งให้ในขณะที่คนอื่นมองออกไปข้างนอกด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกันไป
ช้อปเปอร์น้อยร่อนเหนือยอดไม้ช้าๆ มันช่างเพลินดีเหลือเกิน เรามองเห็นนกเงือกราวๆ ห้าหกตัวบินตามกันอย่างสวยงามเหนือยอดไม้สูง การที่เราเห็นนกเงือกเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าแถบนั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอยู่มากมาย มองต่ำลงไปเป็นแม่น้ำขนาดย่อมที่คดไปเคี้ยวมาปิดบังด้วยไม้ใหญ่ใบเขียวชอุ่มสมกับที่กล่าวว่านี่คือส่วนหนึ่งของป่าฝนแหล่งสุดท้ายของโลก ขณะที่ช้อปเปอร์ร่อนต่ำเหนือแนวแม่น้ำ ทวีสะกิดให้ดูรอยน้ำแตกกระจายเป็นจุดๆ จ้องดูจึงรู้ว่าเหล่าชาลวันกุมภีร์คงรำคาญเสียงของเฮลิคอปเตอร์ก็เลยโผลงน้ำไป
เราร่อนลมชมป่าด้วยช้อปเปอร์อยู่กว่าชั่วโมงก็มาถึงที่หมายนั่นคือ โอเม่ โอเม่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากพอร์ทมอเรสบี้ราวๆร้อยกิโลเมตรเศษ ช้อปเปอร์ค่อยๆช้าลงและบินวนหมู่บ้านกลุ่มเล็กๆก่อนจะค่อยๆลดความสูงลงตรงบริเวณสนามกว้างหลังหมู่บ้านดังกล่าว ในขณะที่ลดตัวลงเราเห็นเด็กๆเกือบร้อยคนวิ่งตรูมาตรงที่เป็นลานจอด มีผู้ใหญ่คอยกั้นไม่ให้เข้ามาใกล้จนเกินไป
เมื่อเครื่องจอดนิ่งแต่ใบพัดยังหมุนติ้วอยู่ พวกเราก็ก้มหัวย่องออกมาทางด้านหน้าเครื่อง มีคนยืนดูพวกเรามากมายไม่รู้ว่าใครเป็นใคร พอเดินมาห่างเครื่องพอควรกัปตันรูปหล่อก็โดดขึ้นเครื่องโบกมือลาแล้วบังคับเครื่องลอยขึ้นลับตาไป ความเงียบสงบก็คืนสู่หมู่บ้านอย่างรวดเร็ว ได้ยินก็แต่เสียงพิดจิ้นอิงลิชที่ต่างคนต่างคุยเท่านั้น
แวรี่เดินเข้าไปคุยกับฝรั่งคนหนึ่งอายุราวๆเกือบเจ็ดสิบเห็นจะได้ แกสวมเสื้อโปโลสีขาวนุ่งกางเกงขาสั้นสีดำ ใส่หมวกแก็ปสีเทาดูทะมัดทะแมงดี
ผมขอแนะนำให้รู้จักกับบาทหลวงที่ท่านมาสอนอยู่ที่ โอเม่ โอเม่ หลายปีแล้ว ที่แท้ผู้เฒ่าที่เราเห็นคือบาทหลวงคาธอลิคที่อุทิศตนมาอยู่ในบ้านป่าแห่งนี้ เรายืนคุยกันพักหนึ่ง มีเด็กชาวบ้านมายืนดูพวกเราราวกับว่าเป็นตัวประหลาด ยอดชายไมเคิลแยกไปฝอยเสียงลั่นกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง
พวกคุณจะมาทำลายป่าของเราหรือ คำถามที่ฟังดูทะแม่งๆหลุดออกมาจากปากบาดหลวง
เดี๋ยวก่อนคุณพ่อ การจัดการการป่าไม้กับการทำลายป่ามันใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันทั้งการกระทำและแนวคิดนะครับ เราต้องเข้าใจตรงนี้ให้ดีเสียก่อน ผมแหวใส่บาทหลวงเพราะเห็นว่าชักจะไมได้รื่อง เห็นแกพึมพำอะไรเบาๆแล้วเดินไปหาแวรี่ ผมเลยหันมาดูเด็กๆที่ยืนออกันอยู่
พี่ ระวังเหานะ ทวีตะโกนเตือน
คงจะจริงอย่างที่ทวีว่า บนหัวเด็กอายุราวๆ 8 ขวบมีสังคะตังติดแน่นหนากว่าเหรียญบาททั่งทั้งหัว เรียกว่ามองหนังหัวไม่เห็นเอาเลยละ ผมเลยแกล้งถามว่า อาบน้ำบ่อยไหม คำตอบก็คือ ไม่อาบเพราะกลัวจรเข้ มาถึงตรงนี้แล้วก็ขอตั้งข้อสังเกตเสียเลยว่าเด็กเล็กๆในป่าชัฎ สามารถฟัง พูด ภาษาอังกฤษได้เก่งกว่าเด็กในสภาพเดียวกันในบ้านเรา ถึงแม้จะเป็นภาษาที่เรียกว่าภาษาแบบนกพิราบ แต่อันที่จริงแล้วไอ้เจ้าอังกฤษเจ๊าะแจ๊ะหรือพิดจิ้นอิงลิชนี่คือภาษาที่พูดโดยชนชาติที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ดังที่มีการเรียกภาษาชนิดนี้ว่า ปาปัวพิดจิ้นอิงลิช ฮาวายพิดจิ้นอิงลิช เซี่ยงไฮ้พิดจิ้นอิงลิช ฯลฯอีกมากมายและผมมั่นใจว่า พัทยาพิดจิ้นอิงลิชก็อาจมีในสารบบการเรียกแล้วด้วย ทำให้เกิดการคิดที่โอฬารพันลึกว่าไอ้เจ้าพิดจิ้นอิงลิชนี่หรือเปล่าที่อาจกลายเป็นภาษาที่ชาวโลกจะใช้กันในอนาคต
ขณะที่เพ้อเจ้อไปเรื่อยก็พลันไปมองเห็นหนุ่มฉกรรจ์สะพาย เอ็มสิบหก อยู่ เลยรี่เข้าไปคุย
สวัสดี คุณอยู่แถวนี้หรือ ผมถามหนุ่มหล่อที่อยู่ในชุดหมีสีน้ำเงินเข้มสวมไอ้โอ๊บสีดำ
เปล่า ผมเป็นตำรวจ มาคุ้มกันแวรี่
ผมก็เลยถึงบางอ้อ แม้จะยังหนุ่มยังแน่น ตำรวจนายนี้ก็ยังเคี้ยวหมากปากแดงเหมือนผู้ใหญ่คนอื่นๆ เราคุยกันสักครู่ผมก็พยายามจะเลี่ยงไปดูสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ แต่ไม่ทันจะเดินไปไกล บาดหลวงคนเดิมก็เดินเข้ามา
ผมไม่รู้ว่าคุณมาทำอะไรกันแต่การนั่งรถจิ๊ปแบบนี้ พ่อว่า คุณตกเป็นเป้าแน่ๆ ผมไม่เข้าใจที่แกพูด
เป้าให้ใคร เป้าอะไรหรือครับ คุณพ่อ เราไม่ได้มาทำร้าย รบกวนใครสักหน่อย ผม จะต้องกลัวทำไม ผมย้อนอย่างฉุนๆ กล้าพูดได้ว่าภาษาอังกฤษที่ผมใช้ตอนนั้นมีอารมณ์พอควร แกเห็นเรายั๊วะแกก็หยุดไม่กล้าพูดต่อ ผมเลยเดินเลี่ยงไปมองหาสกล ธีระและทวีแต่ไม่พบก็เลยอ้อมไปดูต้นไม้ใบหญ้า สักครู่เสียงสต็าร์ทรถ ทั้งสองคันก็ดังขึ้น ทุกคนขึ้นรถหมดแล้วยกเว้นผม เลยต้องวิ่งรี่มาอย่างรวดเร็ว
เฮ้ เว้ทฟอร์มี ผมตะโกนเสียงหลง สามหนุ่มมุมเดียวกันนั่งหัวร่อลั่นอยู่ในรถ ผมโดดขึ้นพาเจโรไปนั่งกับสกลและเจ๊ยบแถวที่สอง ส่วนด้านหน้าทวีนั่งคู่กับแวรี่ที่ทำหน้าที่เป็นพลขับ ส่วนไมเคิลและผู้ช่วยแวรี่นั่งอยู่ด้านหลังสุด ตามด้วยปิคอัพคันเดิมที่มีหน่วยคุ้มกันอีกห้าหกคน
ขบวนซาฟารีวิ่งปุเลงๆไปตามถนนดินที่มีช่องจราจรเพียงช่องเดียวด้วยความเร็วราวๆ 50 กม.ต่อชั่วโมง ถนนดินค่อนข้างชื้นเพราะมีฝนพรำๆอยู่เล็กน้อย สองข้างทางเป็นป่าทึบมีต้นไม้ขนาดใหญ่ๆสูงจนต้องแหงนคอตั้งบ่า ริมทางเต็มไปด้วยไม้พุ่มประเภทขิงหรือดาหลา เราเห็นกอชุมเห็ดที่มีใบใหญ่หนาและดอกโตกว่าบ้านเรา สภาพป่าไม่ผิดอะไรนักกับที่เห็นในบ้านเราตอนนั่งรถไฟขึ้นเหนือ ดอกคูนบานสะพรั่งเป็นหย่อมๆ นอกนั้นก็มีแต่ความเขียวขจี มันเป็นลักษณะป่าฝนที่แท้จริง เห็นนกกะปูด นกคล้ายนกปรอดบินเรี่ยพุ่มไม้ข้างทาง สกลกับธีระจ้องดูป่าทึบแบบครุ่นคิด ส่วนผมมองหาพืชที่คล้ายๆกับบ้านเราด้วยเชื่อว่าดินแดนนี้น่าจะเต็มไปด้วยพืชสมุนไพรที่ผมมั่นใจว่าจะต้องมีอย่างอุดมสมบูรณ์แน่ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเลย เสียดายที่ไม่มีความรู้ในด้านนี้เพียงพอ เพียงแต่หวังว่าสักวันคงมีเวลามาเสาะแสวงหามากกว่านี้แน่
ขบวนปาปัวซาฟารีวิ่งผ่านป่าทึบมากว่าชั่วโมง ไม่เห็นผู้คนเลย
แวรี่ ที่นี่มีสัตว์อะไรบ้าง มีเสือไหม ผมถาม
อ๋อ ไม่มีหรอก เรามีงูแบบออสเตรเลีย ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ นอกนั้นก็จะเป็นนกสีสวยๆ ส่วนนกตัวใหญ่ที่บินไม่ได้เรามีนกคาสเซอวารี ที่หงอนมีสีสวย ตัวสูงเกือบเมตร แต่คงจะไม่ได้เห็น อ้อ พอเราผ่านเนินหรือลานป่าออสเตรเลียนกัมเราอาจจะเห็นวอลลาบี้ตัวเล็กๆ. แวรี่อธิบาย
แล้วตอนนี้เรากำลังจะไปไหน
ไปหมู่บ้านของไมเคิลเพื่อดูบริเวณที่เราจะเข้าไปทำงานได้ก่อนที่อื่น แวรี่พูดต่อในขณะที่ไมเคิลสะกิดหลังผม
มีอะไรหรือ ผมถามไมเคิล
ขอค้อฟฟี่ ทอฟฟี่อีก
นั่นไง กูว่าแล้ว มันกินหมดแน่เลย ผมพูดกับตัวเองขณะที่ธีระหัวร่อด้วยความขำขัน
เอ้า เอาไปหมดถุงเลย ผมยื่นให้ด้วยความฉุนเล็กๆ
หลังจากเดินทางแบบขึ้นเขาลงห้วยมาพักใหญ่เราก็เริ่มเห็นกระท่อมกลุ่มหนึ่งบนยอดเนิน
นั่นไง บ้านของไมเคิล แวรี่ชี้ให้ดูพร้อมกับเลี้ยวขวาปีนขึ้นเนิน
บนยอดเนินมีบ้านอยู่ประมานแปดหลัง บ้านของไมเคิลดูดีกว่าเพื่อน มีฝาสานด้วยไม้ไผ่ลวดลายสวยงาม ส่วนหลังอื่นๆเป็นฟากเปลือกไม้ บางหลังไม่มีฝาเลย
บ้านหรือกระท่อมเป็นไม้ทั้งหมด สร้างแบบยกพื้นสูงต่ำตามปัจจัยของวัสดุ เสาที่ใช้ก็ไมใหญ่โต เรียกว่าถ้ามีลมหอบละก้อรับรองไม่เหลือแน่ บันใดที่ใช้ขึ้นเรือนเป็นไม้ทั้งต้นขนาดราวๆ 4 นิ้วยาวตลอดแนว หลังคาเป็นใบเหมือนใบจาก มุงสังกะสีเพียงบางหลัง ชาวบ้านผู้หญิงพอเห็นรถวิ่งขึ้นมาก็คว้าผ้านุ่งรั้งขึ้นมากระโจมอก เพราะธรรมดาแกก็ปล่อยนมโตงเตงสบายๆ เด็กๆวิ่งกรูเข้ามาด้วยหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ผมไดโอกาสเลยชักภาพกับเด็กๆเป็นที่ระลึก ในหมู่บ้านมีลูกหมาผอมโซอยู่สองตัว ไม่มีสัตว์เลี้ยงประเภทไก่เป็ดให้เห็นเลย
ลักษณะการอยู่อาศัยง่ายๆ หลังบ้านปลูกกล้วยสองสามต้น ที่เห็นชัดคือต้นหมาก มีมะละกอและฝรั่งลูกเล็กๆอยู่นับต้นได้ นอกนั้นก็จะเป็นกอเผือกหรือมัน พืชพันธุ์ที่เห็นเป็นแบบเทวดาเลี้ยงคือขึ้นตามมีตามเกิด ไฟฟ้า ประปาไม่ต้องพูดถึง เพราะด้วยไกลปืนเที่ยงเสียเหลือเกิน นับว่ามีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างจะแร้นแค้นพอสมควร จากรูปการแสดงให้เห็นว่าที่นี่ฝนคงจะตกไม่แรง แค่พรำๆ และคงจะอับลมด้วย เพราะโครงสร้างบ้านเรือนไม่แข็งแรง ที่เห็นแปลกตาก็คือเมื่อรถจอดสนิท ก็มีเจ้าสี่ขาตัวเล็กๆวิ่งเข้ามาเอาหลังสีกับยางรถยนต์ที่ค่อนข้างร้อนเนื่องจากวิ่งมานาน มองดูทีแรกคิดว่าเป็นลูกสุนัข แต่กลับเป็นลูกหมูป่าลายเหมือนลูกแตงโมน่ารัก
นี่คุณรู้ไหม ทีแรกผมตั้งใจว่าจะเอาท้อฟฟี่มาแจกเด็ก แต่ไอ้หัวหน้าเผ่ามันดันกินเรียบเลย น่าเตะชะมัดไอ้ ไมเคิลแจ๊คสันนี่ ผมบ่นให้เพื่อนๆฟัง
พี่ เอามาเท่าไรก็ไม่ถึงมือเด็กๆหรอก ไอ้ค้อฟฟี่ทอฟฟี่มันดักอยู่ก่อนแล้ว ธีระกระเซ้า
ไมเคิล ต้นนี้ชื่ออะไร ผมชี้ไปที่ต้นชุมเห็ดพุ่มใหญ่
ไม่รู้ชื่อ มันขึ้นเองเราฟันมันทิ้งเรื่อยๆ
ยูรู้ไหม นี่เป็นสมุนไพรช่วยระบายท้องขนานเอก เยอรมันมาซื้อจากบ้านไอไปทำยาลดความอ้วน แล้วเอากลัยมาขายเราด้วยราคาที่แพงมากเลย ไมเคิลทำหน้าฉงน
แต่ยูไม่ต้องกินนะ แค่นี้ก็ผอมโกโรโกโสพอแล้ว ไมเคิลหัวร่อก้าก
พวกเราเดินดูบริเวณรอบๆในขณะที่ไมเคิลและทีมงานพาสกลกับธีระเดินเลยเนินลงไปดูป่าที่หนาทึบ
เป็นไงครับ ผมถามสกล
ต้นไม้อื้อซ่าเลยพี่ ใหญ่ๆทั้งนั้น สกลเล่าให้ฟัง
แล้วผู้ชายไปไหนกันหมดล่ะ ผมถามทวีด้วยความสงสัย
ก็มันไปเดินอยู่ที่พอร์ทมอเรสบี้ไง ถามได้ ทวีไขความ ผมเลยมาถึงบางอ้อ นี่แสดงว่าบรรดากระทาชายจากหลายๆหมู่บ้านคงคิดเข้าแสวงโชคในเมืองหลวง เลยต้องมาเป็นนักวิจัยฝุ่นกันเกลื่อนเมือง น่าเสียดายที่โครงสร้างของเศรษฐกิจยังไม่เอื้องานให้ประชาชนเพียงพอ เราก็ยังคงเห็นผู้คนเดินไปเดินมาอย่างไร้จุดหมายอยู่ต่อไป
หลังจากใช้เวลาที่หมู่บ้านพอควรพวกเราก็กลับออกมาด้วยการล่ำลาโบกไม้โบกมือกับเด็กจนแขนล้า จากนั้นขบวนปาปัวซาฟารีก็ล่องลงจากเขาเลาะลัดไปตามถนนดินแดงที่ค่อนข้างลื่น ผ่านหมู่บ้านสองสามแห่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน สภาพป่าที่รกชัฏค่อยๆเปลี่ยนไป สองข้างทางมีบริเวณพื้นราบกว้างขึ้น
แนวนี้เป็นแนวที่พวกทำไม้มาเลย์ชักลากซุง เป็นถนนหลวง แวรี่อธิบายทั้งๆที่ถนนหลวงที่ว่ายังเป็นทางดินแคบๆอยู่
วิ่งกันมาได้ครู่ใหญ่ เราก็มาจอดที่ลานกองไม้ร้างเพื่อทานอาหารกลางวัน ลูกทีมที่มากับรถปิคอัพจัดแจงยกกล่องคูลเลอร์ใบเขื่องสองใบมาวางบนพื้นดิน ในกล่องหนึ่งเต็มไปด้วยน้ำอัดลมกระป๋อง ส่วนอีกกล่องมีแซนด์วิชที่เตรียมมาอัดอยู่เต็ม
โอ้โห นี่มันแซนด์วิชให้ช้างกินหรือเปล่า อันใหญ่ชมัดเลย ผมอุทานเมื่อเห็นแซนด์วิชที่เตรียนมาอันใหญ่มหึมาที่ใช้ขนมปังหนาถึง 6 ชั้น
แม่เจ้าโวย ผมขอแบ่งกับสกลดีกว่า แต่ของพี่คงไม่ต้องแบ่ง ผมว่าอันแค่นี้พี่สบายมาก ธีระแหย่ผมนิดๆ และก็จริงอย่างว่า อันเท่านั้นกับการอดข้าวตั้งแต่ขึ้นช้อปเปอร์มันก็ยังสูสีกันดี
อีกอันไหมพี่ สกลแหย่ต่อ
ไม่ไหวแล้วครับ ขอเชวปส์กระป๋องเดียวก็พอ ผมหมายถึงเลมมอนเนดกระป๋องยี่ห้อเชวปส์
อาหารกลางวันกึ่งข้าวลิงในป่าช่างมีรสชาติดีพอควร หลังจากหลบหน้าหลบตากันไปยิงกระต่ายคนละฝูงเราจึงออกเดินทางต่อ ขบวนเดินทางวิ่งผ่านป่าที่สงบเงียบ ตลอดช่วงที่วิ่งมาตามถนนไม่มีรถผ่านมาแม้แต่คันเดียว มีแต่ชาวบ้านท่านานๆจะพบแบกกล้วยเครือโตเดินผ่านไป
ราวๆอีกสักชั่วโมงผ่านไปรถก็มาถึงทางแยกสู่ถนนบนพื้นราบ ปิคอัพที่ตามมาก็แยกตัวออกไป
ทางนี้วิ่งเข้าพอร์ทมอเรสบี้ อีกสักสองชั่วโมงก็จะถึงแล้ว แวรี่หันมาบอกพวกเรา
สภาพผิวดินแถบนี้ไม่ชุ่มฉ่ำเหมือนข้างบน กลับกลายเป็นหินปนทรายแดงแห้งๆ มีไม้ประเภทออสเตรเลียนกัมขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ วิ่งมาได้สักครู่เราก็เห็นเจ้าจิงโจ้น้อยที่เรียกว่าวอลลาบี้กระโดดโหยงๆข้ามถนน ภูมิภาคแถวนี้แตกต่างกับที่เห็นบนเขาราวกับมาถึงอีกดินแดนหนึ่ง จากนั้นแวรี่ก็ควบพาเจโรเร็วขึ้นโดยไม่ได้แคร์ว่าถนนมันช่างเต็มไปด้วยหลุมบ่อ เราเริ่มเห็นชุมชนประปราย หมู่บ้านเหล่านี้ดูเหมือนหมู่บ้านริมทางของภาคอีสาณของเราเมื่อหลายสิบปีก่อน ถนนเริ่มกว้างขึ้นแต่ก็ยังเป็นถนนดินเหมือนเดิม ริมทางเป็นทุ่งกว้างสุดลูกหูลูกตา มีต้นไม้ที่ดูเหมือนต้นจันทร์ผา(Cabbage Tree) ขึ้นอยู่ทั่วไป แต่แปลกที่มีลูกโตขนาดลูกมะพร้างระเกะระกะดูแปลกตา ดูแล้วคล้ายป่าดงลานแถวๆกบินทร์บุรี ป่านี้น่าจะเป็นป่าตั้งแต่ช่วงหลังยุคจูราสสิกที่ยังหลงเหลืออยู่
พวกเราเดินทางมาโดยไม่ได้คุยอะไรกันมากนัก สกลคงจะเพลียเลยแอบเข้าฌานเงียบๆ ธีระก็ยังคงนั่งครุ่นคิดอะไรไปตามเรื่อง ส่วนทวีคงไม่กล้าหลับรอลุ้นแวรี่ที่ขับรถลุยฝุ่นอย่างขมักเขม้น ส่วนสองปาปัวข้างหลังเงียบสนิทหลังจากเผด็จศึกค้อฟฟี่ท้อฟฟี่ของผมหมดเกลี้ยง
ราวๆหกโมงเย็นเราก็มาถึงสำนักงานของแวรี่ ลงมายืดแข้งยืดขาหน่อยก่อนจะเปลี่ยนรถเป็นแคมรี่คันเดิมกลับโรงแรม
โอ เค ผมจะมารับคุณตอนทุ่มคร่ง เราจะไปทานอาหารกันที่ภัตตาคารจีน แวรี่ส่งเราลงที่โรงแรมเพื่ออาบน้ำอาบท่า ในระหว่างการรอคอยผมอดไม่ได้ที่จะงีบเอาแรงสักหน่อยหนึ่ง วันนี้ได้อาบน้ำด้วยความรู้สึกที่ดีเพราะได้กำจัดคราบไคลที่ป่าฝากไว้ให้อย่างหมดจด
ดีใจจะได้กินข้าวจริงๆแล้วว่ะธีระ สกลกล่าวขณะที่เราลงมานั่งรอแวรี่ในค้อฟฟี่ช้อพ
หรือพี่ว่าไง สกลหันมาถามผม
โอ๊ยอย่าไปถามแกเลย เห็นแกกินอะไรดูเอ็นจอยไปเสียหมด ขนาดไอ้เนยเหม็นแกยังเคี้ยวตุ้ยๆเลย ธีระแขวะผมเนิบๆ
นั่นซี ก็แกยังบอกว่าอยากกินอาหารพื้นเมืองเลย รู้งี้ให้กินกล้วยต้มให้ยางกัดปากเสียก็ดี ผมยังไม่วายโดนแขวะต่อโดยทวี
แหมเป็นปี่เป็นขลุ่ยกันจังนะ พวกเรานั่งคุยเย้าแหย่กันไปเสียงลั่น โต๊ะถัดไปเป็นฝรั่งออสซี่และชาวเอเชียเช่นจีน ญี่ปุ่น แอบฟังแล้วดูเหมือนจะสัมภาษณ์งานกันอยู่
ธีระ ผู้หญิงปาปัวนี่ทำไมขี้เหร่บริสุทธิ์จังวะ หา ที่หน้าตาดีๆไม่มีเลย สกลถาม
โธ่ นี่ถ้าขืนอยู่จนเห็นปาปัวสวยละก้อ ผมว่าได้เรื่องแล้วละ ผมมาที่นี่หลายครั้งยังไม่เคยเห็นเลย ทวีย้ำ
แวรี่โผล่เข้ามาตอนทุ่มสิบนาที เปลี่ยนเครื่องทรงเป็นเสื้อยืดสีส้มแปร๊ด กางเกงร้อยกระเป๋าสีเนื้อ หัวที่ล้านเลี่ยนออกสีชมพูจัดๆเพราะโดนแดดโดนลมทั้งวัน พวกเราออกจากโรงแรมมุ่งสู่ร้านอาหารจีนซึ่งอยู่ในแถบเดียวกันกับสำนักงานของแวรี่ ภัตตาคารจีนอยู่ในส่วนของร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ปิดแล้ว ยามร่างใหญ่เปิดประตูเหล็กให้เข้าไปจอดเรียบร้อย ร้านนี้มีขนาดกว้างขวางประมาณ 30 โต๊ะเห็นจะได้ มีเวทีอยู่ที่ด้านหนึ่ง สภาพเหมือนกับว่ารับจัดงานเลี้ยง ฯลฯ ด้วย เราตกลงกันว่าจไม่คุยเรื่องป่าไม้ด้วยร้านนี้จะมีชาวจีนมาเลย์ ฯลฯ มาใช้บริการเป็นประจำ พนักงานต้อนรับเดินออกมาเชิญพวกเราเข้าไปนั่ง
แปลกนะ คนไทยแต่งจีนยังพอดู นี่ปาปัวดันแต่งจีน ดูพิลึกดีแฮะ สกลตั้งข้อสังเกต
อ้าวแล้วสองคนนั่นไม่ใช่ปาปัวหรอกเหรอ ธีระพูดพลางหันไปมอง สาวเอซียในชุดกี่เพ้าสีเทาอ่อน
สงสัยเป็นคนจีนจริงๆว่ะ ทวีออกความเห็น
ผมว่าเป็นจีนมาเลย์ ธีระแย้ง
ผมว่าไม่ใช่ น่าจะเป็นคนไทย ผมเล่นด้วย
พอนั่งลงเรียบร้อบก็ทำการสั่งอาหาร มีปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว ผัดผักบุ้ง และอีกสองสามอย่าง
ไม่ต้องดูราคาเลย อาหารแพงบัลลัย ทวีกล่าว เราเริ่มสั่งอาหารพนักงานที่เป็นคนจีนก็เข้ามารับรายการ
คุณมาจากประเทศอะไร ผมถามเพราะอยากรู้
อ๋อ มาจากฟิลลิปปินส์ค่ะ เป็นอันว่าการคาดเดาพลาด
แล้วคุณอีกคนล่ะมาจากไหน ผมเลยถามต่อ
จากเซี่ยงไฮ้ค่ะ สรุปแล้วการคาดเดาของพวกเราใช้ไม่ได้สักคน
คืนนั้นสกลได้กินข้าวสวยอย่างจุใจ อาหารทุกจานอร่อยมาก เราไม่เหลือเผื่อใครเลย เรียกได้ว่าแทบจะไม่ต้องล้างจานก็สะอาดแล้ว นี่ยังไม่นับเบียร์ไอซ์อีกเป็นโหล พออิ่มหนำสำราญเราก็กลับโรงแรม ถึงโรงแรมเกือบเที่ยงคืน
พรุ่งนี้ผมจะมารับคุณก่อนเที่ยงจะได้พักผ่อนให้เต็มที่ พรุ่งนี้เราจะไปกินข้าวกับที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกัน แวรี่บอกแผนการของวันรุ่งขึ้น เรารับปากแล้วส่งแวรี่กลับ พอยามมาปิดประตูรั้วโรงแรมเราก็ขึ้นลิฟท์ไปด้วยความอิ่มหนำ
พี่ก่อนนอนขอคุยอะไรหน่อยนะ ธีระตะโกนบอกขณะผลัดผ้าอาบน้ำ
โอ เค ครับ ทวีตอบรับ
อาบน้ำอาบท่าเรียบร้อยก็ปาไปเที่ยงคืน ทวีก็โทรสั่งเบียร์ขึ้นมาในห้อง สักครู่ธีระก็เดินยิ้มกริ่มเข้ามา
อ้าวสกลไปไหนล่ะ ผมถาม
เข้าเฝ้าพระอินทร์แล้วละพี่ แกดูเหนื่อยๆ
เราเอกเขนกคุยกันอย่างเป็นกันเอง ถามไถ่กันเรื่องสัพเพเหระ หัวร่อต่อกระซิกกัน พูดเรื่องงานบ้างเรื่องไม่เป็นเรื่องบ้างจนลืมดูนาฬิกา ฟ้าเริ่มกระจ่างขึ้นช้าๆ ฝูงนกทะเลบินสู่ทะเลที่เงียบสงบ ตอนนั้นบ้านเมืองยังเงียบสงัด ผมจำได้ว่าหลับตาลงตอนหกโมงเช้าพอดี
พี่ๆ ตื่นได้แล้ว สิบโมงแล้ว เมื่อคืนนอนกันกี่โมงล่ะ ผมสดุ้งตื่นเพราะได้ยินเสียงสกล
อ้าวแล้วธีระไปไหนล่ะ ผมถามขณะที่ได้ยินเสียงฝักบัวซู่ซ่าในห้องน้ำ
ยังหลับอยู่เลยพี่ พอดีพี่ทวีแกเปิดประตูก่อนแกอาบน้ำ ผมเลยเข้ามา
อ้อ ผมพยายามปะติดปะต่อเรื่อง
เราใช้เวลาละเลียดอยู่ในห้องอีกราวๆชั่วโมงก่อนที่จะลงมาที่ห้องอาหารเพราะกลัวขาดทุน
เรามาเลทเบรกฟาสต์กันหน่อยนะ เดี๋ยวขาดทุน ทวีนำทีมไปนั่งที่โต๊ะอาหาร ดูเหมือนธีระและสกลจะยังไม่หิวอะไรนักแต่ก็จัดการไข่คนและขนมปังไปคนละชุดในขณะที่ทวีและผมสาละวนหาของแปลกๆทาน แต่เราก็ไม่วายสั่งกาแฟร้อนมาคนละเหยือกเพื่อช่วยปลุกองคาพยพที่ยังหลับใหลอยู่ ตามกำหนดแล้วเราจะไปทานกลางวันกับที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่รานอาหารจีนอีกแห่งหนึ่งแต่แวรี่โทรมาบอกว่าพอดีที่ปรึกษามาทำธุระอยู่แถวๆโรงแรมจึงน่าจะมาทานกลางวันที่โรงแรมจะสดวกกว่า ก็เป็นอันตกลงกันว่าเราไม่เคลื่อนย้ายไปไหน
จากการสนทนาเมื่อคืนปรากฏว่าทั้งสกลและธีระอยากดูบริเวณกองไม้ก่อนขนส่งแต่เราไม่มีโอกาสได้เข้าไปทำให้ทวีร้อนใจจึงปรึกษากับแวรี่เมื่อเขาโทรมาบอกข่าวเรื่องที่ปรึกษา เราก็เลยคิดกันว่าถ้าเราว่างตอนบ่ายน่าจะเข้าชมเมืองกัน แต่พอแวรี่เข้ามาตอนเที่ยง เราก็รับทราบว่า ความกังวลของสองหนุ่มจะต้องแก้ไขให้ถูกต้อง นั่นก็คือเขาได้จองช้อปเปอร์เอาไว้ตอนบ่ายอีกครั้ง ก็นับว่าโชคดีที่จะได้สรุปกันให้มั่นใจอีกครั้ง
เที่ยงครึ่งหลังจากแวรี่มาแล้วเราก็เข้าไปในห้องที่จัดไว้ในภัตตาคารของโรงแรมสั่งอาหารกันเสร็จสรรพที่ปรึกษานายกฯก็มาถึงและแวรี่ก็แนะนำให้เรารู้จักในฐานะกลุ่มนักลงทุนชาวไทย
นี่คือมิสเตอร์ แดเนียล คาปี เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของนายกรัฐมนตรีฃองเรา แวรี่แนะนำ พวกเราจับมือกับแกและบอกชื่อไปทีละคน
มิสเตอร์คาปีหรือที่ผมเรียกล้อเรียนว่านายกะปิเป็นชายรูปร่างสันทัดไม่คอยสูงนัก อายุอานามไม่น่าจะเกินห้าสิบแต่งกายสุภาพเรียบร้อยด้วยเสื้อเชิร์ตแขนสั้นสีขาวผูกเน็คไทดูภูมิฐานทีเดียวจะแปลกก็ตรงที่หัวแกมีผมสั้นเกรียนและกะโหลกเป็นลอนหยักๆคล้ายลูกบวบหรือฟักทอง เราเดาเอาภายหลังว่าน่าจะเป็นประเพณีของเผ่าพันธุ์ที่นิยมทำกะโหลกเป็นลอนตั้งแต่ยังเด็กๆกระมัง การสนทนาวันนั้นเป็นไปอย่างกันเอง ผมค่อนข้างแปลกใจที่ได้พบกันความเป็นกันเองราวกับพูดภาษาเดียวกัน เราได้รับรู้อะไรต่ออะไรหลายอย่างที่ทำให้เห็นว่าทั้งสองประเทศมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างในระดับคล้ายๆกันแม้ว่าขนบประเพณีแตกต่างกัน นายกะปิป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ทรงคุณค่าของปาปัวเพราะแกมีแนวคิดที่จะจรรโลงประเทศของตนด้วยการเสนอโครงการใหม่ๆให้รัฐบาลนำไปพิจารณา ผมเริ่มเข้าใจสังคมอันหลากหลายซับซ้อนและคิดว่าเราโชคดีที่บ้านเรามีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว คุยกันออกรสออกชาติพักหนึ่งก็ต้องอำลากันเพราะต้องรีบไปสนามบิน
อากาศวันนั้นแจ่มใสมีลมพัดอ่อนๆแดดไม่แรงนัก เฮลิคอปเตอร์ลำเดิมร่อนทำระดับไปตามไหล่เขาห่างจากสนามบินพอร์ทมอเรสบี้ช้าๆ มองออกไปทางทิศไต้ เห็นพื้นทะเลสีครามตัดกับกลุ่มปะการังเป็นหย่อมๆ สิ่งที่ประทับใจที่เห็นก็คือทิวไม้ที่เขียวชอุ่มสุดลูกหูลูกตาเต็มไปด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ยังไม่ได้โดนแทะโลมด้วยฝีมือมนุษย์ มองลงไปข้างล่างเห็นหมู่บ้านริมทะเลประปรายห่างกันเป็นระยะๆ แปลกที่มองไม่ค่อยเห็นถนนที่เชื่อมแต่ละหมู่บ้านจะเป็นเพียงทางดินจางๆแสดงถึงการใช้งานที่น้อยมาก การติดต่อกับสังคมเมืองน่าจะเป็นทางเรือเพราะเห็นเรือขนาดย่อมอยู่ประปราย ดูลักษณะการประมงที่ปาปัวแล้วดูเหมือนจะมีน้อยมาก นับว่าเป็นสถานที่เป็นน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งทำให้ผมนึกถึงความเป็นอยู่ของช่าวโอรัง ลาโว้ยแถวๆสิเหร่ของไทยในหนังสือเรื่องเสียงเพรียกจากท้องน้ำที่เขียนโดย ประทีป ชุมพล
ประมาณเกือบชั่วโมงหลังจากที่ช้อปเปอร์ลัดเลาะชายทะเลมาเรื่อยๆ เราก็มองเห็นลานซุงที่กว้างขวางริมทะเลมีถนนต่อเชื่อมที่ทอดหายไปบนขุนเขาที่เขียวทึบ มีซุงขนาดใหญ่กองอยู่ประปรายพร้อมกับแค้มป์คนงานและเครื่องจักร ลานซุงดังกล่าวเป็นของทีมมาเลย์ที่มาทำธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นเมื่อเรามาร่อนรอบๆบริเวณก็มีคนออกมายืนดูช้อปเปอร์ด้วยความสงสัย เราบินรอบยริเวณสักสามรอบก็จากไปทิ้งความฉงนฉงายไว้ให้ผู้ที่อยู่ข้างล่างพอควร
ทางที่เราบินกลับเป็นคนละแนวที่ไปทำให้เห็นทิวทัศน์เพิ่มมากขึ้น ผมค่อนข้างที่จะตื่นเต้นกับแม่น้ำที่กว้างใหญ่แต่คดเคี้ยวมาก มองเห็นส่วนที่น้ำทะเลปะทะน้ำจืดชัดเจนตรงปากแม่น้ำ เราเห็นสันดอนที่คลื่นจากทะเลพัดพาทรายมาเจอกับโคลนเลนที่ไหลมาจากด้านในของแม่น้ำเป็นเนินแนวไต้น้ำแบ่งแยกทะเลและแม่น้ำออกจากกัน ในขณะที่สีสันบนบกก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันด้วยความหนาแน่นและความแตกต่างของไม้นานาพรรณ จนกระทั่งตะวันคล้อยลงพอควรเราก็บินเข้าเขตพอร์ทมอเรสบี้อีกครั้ง สังเกตได้ง่ายๆจากสีสันและความแห้งแล้งของพื้นดินที่ไม่น่าเชื่อเลยว่าเพียงไม่กี่อึดใจจะเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่อิจฉาของประเทศที่สูญเสียป่าฝนไปแล้วและผู้ที่กำลังจะสูญเสียเช่นบ้านเราด้วยการตัดไม้กันอย่างบ้าเลือดโดยไม่คำนึงถึงการบูรณาการให้แก่ธรรมชาติเลย
การมาปาปัวครั้งนี้ดูเหมือนจะมีรายการทำธุระอยู่เต็มเพียบจนต้องละเว้นสิ่งที่ต้องการไปรู้ไปเห็นต่างหากไปหมด เช่นการเดินดูบ้านเมือง การได้ไปพูดคุยกับชาวบ้าน แต่ก็ต้องยอมรับว่า แม้จะได้รับการบอกเล่าถึงสถานการณ์ทั่วๆไปในเมือง ผม ก็ยังมิอาจกล้าคว้ากล้องไปเดินดุ่มๆคนเดียวเหมือนกับไปที่อื่น นั่นคงจะเป็นเพราะความไม่ไว้วางใจที่เขาเล่าขานกระมัง
แคมรี่คันเดิมพาเรามาถึงหน้าโรงแรม รปภ. ร่างยักษ์วิ่งลงมาเปิดประตูเลื่อนบานมหึมา แวรี่ขับรถเข้าไปอย่างช้าๆ
ทุ่มครึ่งผมจะมารับคุณไปทานข้าวกับรัฐมนตรีนะ แวรี่บอกเราเมื่อเขาขับรถมาส่งเราที่หน้าโรงแรม
คืนนี้เราจะทานที่ไหนล่ะ ทวีถาม
อ๋อ คืนนี้เราไปทานกันที่ภัตตาคารเกาหลี ชานเมือง พวกคุนคงไม่เหนื่อยมากนะวันนี้ แวรีตอบและแสดงความเป็นห่วง
พวกเราไม่เหนื่อยเลย คุณน่าจะเหนื่อยกว่าพวกเราเยอะเพราะบริการเราแทบทุกอย่าง ขอบคุณมากนะ ผมขอบอกขอบใจแวรี่
เย็นนั้นพออาบน้ำอาบท่าเป็นที่สดชื่นเราก็ลงมารอแวรี่อยู่ในล้อบบี้โรงแรม พักเดียวเขาก็ตีวงเข้ามา คืนนี้ดูแวรี่จะแต่งตัวเรียบร้อยเหมือนเมื่อตอนทานข้าวกับนายกะปิตอนกลางวัน เขาอยู่ในชุดซาฟารีสีครีมดูมีมาด ส่วนพวกเราก็เรียบร้อยกันอยู่แล้วเพราะรู้ว่าจะไปพบใคร แวรี่ขับรถพาพวกเราลัดเลาะถนนเรียบทะเลที่ฝรั่งเรียกว่าวอเตอร์ฟร้อนท์ (water front)ภายไต้แสงสลัวของไฟถนน ผมแน่ใจว่าไฟถนนที่นั่นไม่สว่างเท่าไฟตามถนนใหญ่บ้านเราแต่ก็ไม่น่าจะมืดกว่าไฟตามซอยในกรุงเทพ ดีตรงที่รถวิ่งกันน้อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน อากาศเลยไร้ควันพิษแถมเย็นสบายด้วยลมทะเล ผมไม่ได้เอาใจใส่ว่าเขาจะขับไปไหนเพราะมัวเพลินแหงนดูบ้านที่เปิดไฟวอมแวมบนเขา ทำให้คิดถึงเมืองเวลลิงตันของนิวซีแลนด์เมื่อสมัยเป็นนักเรียนอยู่ที่นั่นราวๆ 40 ปีมาแล้วด้วยรูปแบบคล้ายๆกัน
ไม่นานเราก็มาถึงบ้านหลังหนึ่งมีรั้วรอบขอบชิด บนรั้วมีกล่องไฟป้ายชื่อภัตตาคารทั้งภาษาอังกฤษและเกาหลี ด้านหน้าเป็นทางคู่ขนานที่หาทางเข้าไม่เจอเพราะกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แวรี่ต้องวิ่งวนอยู่สองรอบกว่าจะหาทางเข้าเจอ
ประตูลูกกรงเหล็กเปิดออกโดย รปภ. ที่ผายมือให้ขับรถเข้าไป พูดตรงๆว่าผมชักจะชินกับการเปิดประตูเลื่อนประตูในปาปัวซะแล้วซี
อีกแล้วนะพี่ เมื่อคืนเจออาตี๋ปาปัว คืนนี้จะเจออะไรหว่า ทวีพูดยิ้มๆ
บ้านที่ทำเป็นภัตตาคารเป็นบ้านสองชั้น พื้นชั้นล่างเสมอพื้นด้านนอก น่าจะแสดงว่าไม่เคยมีน้ำท่วมแถวนั้น ตัวบ้านสร้างด้วยไม้มีบางส่วนที่เป็นก่ออิฐถือปูน รอบๆบริเวณก็ไม่ค่อยแตกต่างจากบ้านเราเท่าไรเพียงแต่ค่านิยมการเลือกไม้ปลูกไม้ประดับอาจไม่เหมือนกัน เช่นไม้กอประเภทฤาษีผสมหรือโกสนเขาก็ปลูกกระจายทั่วสนามแต่ไม่ปลูกหญ้า แต่ที่จริงก็คอนข้างจะมืดมากเลยไม่มีโอกาสซึมวับเท่าที่ควร
ในตัวบ้านเป็นโถงกลางต้อนรับแขกตกแต่งในรูปแบบเกาหลีโพ้นทะเลคือใช้ของเกาหลีแท้บ้างของพื้นเมืองบ้างคละกันไปซึ่งก็ดูเรียบเกินไป สักครู่อารีดังปาปัวก็มานำพวกเราเดินไปตามทางเดินแคบๆสู่ห้องที่จองไว้
นั่นไง คืนนี้เจออารีดังตกปล่องภูเขาไฟจนได้ ผมพูดยังไม่ทันจบพวกเราก็หัวเราะครืน
พอไปถึงอารีดังก็เคาะประตู หนุ่มปาปัวในชุดแขนยาวธรรมดาก็เปิดประตูโค้งให้พวกเราเข้าไป ห้องดังกล่าวมีขนาดเพียงประมาณสี่เมตรคูณสองเมตรเศษ มีโต๊ะกลมหนึ่งตัวต่อกับโต๊ะสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกหนึ่งตัว มันช่างดูลำลองเสียเหลือเกิน เทียบกับร้านอาหารจีนเมื่อคืนก่อนแล้วต่างกันยิ่งกว่าฟ้ากับดิน
ทำไมมันแคบอย่างนี้นะ ขอให้อาหารอร่อยก็แล้วกัน เสียงสกลพึมพำอยู่ในคอ
สาธยายเรื่องห้องเสียยาว ขอวกกลับมาตอนที่เปิดประตูเข้าไปอีกครั้ง ในห้องมีชายหนุ่มนั่งอยู่สองคนด้านใน แวรี่ก็เข้าไปทักทายด้วยภาษาอังกฤษเจ๊าะแจ๊ะตามธรรมเนียม จากนั้นก็แนะนำให้พวกเรารู้จักกับแขกทั้งสอง เราก็ยืนเรียงแถวเข้าจับไม้จับมือพร้อมพึมพำทักทายกันตามมารยาท คนแรกผอมเกร็งดำ สูงพอๆกับพวกเรา หน้าตาเหมือนแขกขายถั่งบ้านเรา ชื่อ จอห์น มาตาว เป็นเลขาประจำกระทรวงป่าไม้ อีกคนจนบัดนี้ก็จำชื่อไม่ได้เพราะมัวเพลินชมหนวดเคราที่ฟูฟ่องอยู่เต็มใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส รายนี้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม เป็นชายหนุ่มที่รูปร่างสูงใหญ่กว่าพวกเราเป็นคืบ
อีกสักครู่ ท่านรัฐมนตรีกระทรวงป่าไม้ก็จะมา เมื่อกี้ท่านโทรมาบอกแล้ว เลขามาตาวบอกพวกเรา
เป็นอันว่าทีมไทยนั่งล้อมโต๊ะกลมที่ต่อจากโต๊ะเหลี่ยม ส่วนทีมปาปัวก็นั่งอยู่ด้านในของห้อง ไม่นานนักอาหารก็ได้รับการลำเลียงเข้ามามีเนื้อกะทะ ผัดผัก กิมจิ ข้าวผัดกระเทียม ปลาทอด และ อีกสองสามอย่างที่เลือนๆไปแล้ว ไม่พูดพล่ามทำเพลง วีไอพีปาปัวก็เริ่มบรรเลง
เชิญทานเลย ไม่ต้องรอเพราะท่านทานมาแล้ว วันนี้ท่านแค่อยากมารู้จักคุณ
ท่านมาตาวกล่าวพร้อมขยับตะเกียมไม้ไผ่ในมือ จากนั้นทั้งมือเผือก มือเหลือง มือดำ ก็เริ่มปฎิบัติการด้วยความเอร็ดอร่อย
อาหารเขาใช้ได้นะครับ ผมบอกธีระ
ของพี่แกใช้ได้ทั้งนั้นแหละ เพราะแกกินสนุก สกลแซว
แซวทั้งปีเลยนะน้อง อ้อ เดี๋ยวมากันครบแล้วเราคงจะคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว ทวีคุณช่วยแปลด้วยนะเพราะถ้าผมคุยไปแปลไปเดี๋ยวจะหลงประเด็น ผมหันมาบอกสามหนุ่ม
เอาเฮอะพี่ ยังไงๆผมก็รู้ว่าพี่ฉอเลาะอยู่แล้ว สกลยังแหย่เล่นอย่างกันเอง
เอ้า ถ้าไม่ฉอเลาะป่านนี้คุณก็ยังคงโดนสอบถามอยู่ที่แคนส์นั่นแหละ ยังไม่ได้มาถึงนี่หรอก ผมย้อน พวกเราก็คุยกันสองภาษาสนุกสนานกัน บางครั้งก็มีการคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติกันอย่างเป็นกันเอง
อาหารชุดแรกค่อยๆบางตาลง พอแวรี่สั่งอาหารชุดที่สอง ท่านรัฐมนตรีป่าไม้ก็เดินเข้ามา พวกเราก็ลุกขึ้นแนะนำตัวแล้วทุกคนก็นั่งลงประจำที่ ท่านรัฐมนตรีเป็นหนุ่มปาปัวที่มีสีผิวปาปัวแท้คือดำสนิทจนทำให้ผมรู้สึกตัวเองว่าหล่อขึ้นอย่างประหลาด ท่านทานอาหารพอเป็นพิธีแล้วก็คุยกับพวกเรา การสนทนาก็มีพิธีรีตรองไม่เบาด้วยการเปิดการเจรจาในลักษณะการทูตนิดๆ พอจะจับความได้ดังนี้
ท่านสุภาพบุรุษ ในนามของพวกเราชาวปาปัว ผมขอต้อนรับผู้มาเยือนจากประเทศไทย ปาปัวนิวกินีไม่ค่อยได้มีโอกาสเปิดตัวกับใคร ยิ่งกับเพื่อนบ้านแถบเอเชียยิ่งแทบไม่มีโอกาสมากนัก แต่ก็ต้องขอบอกท่านว่าตอนนี้นายกรัฐมนตรีของเราอยู่ที่กรุงเทพ เรากำลังจะปรับปรุงแนวทางการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันเพื่อนบ้าน รัฐบาลชุดนี้ถือว่าเป็นกลุ่มเลือดไหม่ที่พร้อมจะบริหารประเทศให้เป็นไปอย่างถูกต้อง แต่ปัจจุบันเรายังต้องพึ่งออสเตรเลียอยู่มาก ขอเรียนให้ทราบด้วยใจจริงว่าเราอยากจะปลดแอกจากการต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นมาเป็นประเทศที่มีอิสรภาพในทุกรูปแบบ แต่ท่านก็คงจะตระหนักดีว่าแม้เรามีประชากรเพียง 4ล้านคน เรามีภาษามากกว่า 800 ภาษา และนั่นก็เป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งนอกเหนือจากข้อจำกัดอื่นๆที่ยังคงเป็นภาระที่รัฐบาลยังต้องใช้ความพยายามในการแก้ไขอยู่ เรามีความยินดีที่จะทำธุรกิจร่วมกับท่านในฐานะผู้บุกเบิกซึ่งเกือบจะกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มแรกๆจากประเทศไทย เรายินดีที่จะสร้างสัมพันธุ์อันดีกับประเทศไทย เราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับท่านที่จะมาทำงานในปาปัว ไม่ว่าจะเป็นด้านบริการหรือการดูแลความปลอดภัย ดังที่ท่านคงจะทราบดีอยู่แล้วว่าป่าฝนของเราถือได้ว่าเป็นแหล่งสุดท้ายของโลกแต่อย่าลืมว่าการป่าไม้นำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับสามซึ่งมีความหมายต่อเรามาก ดังนั้นเราจึงตั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อมขึ้นเข้าควบคุมการทำป่าไม้ การปลูกป่าทดแทน และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จะสามารถรักษาสภาพป่าและธรรมชาติให้คงเดิมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราดีใจที่ได้รู้จักกับท่านและหว้งว่าการลงทุนร่วมกันจะเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย
แม้จะเป็นคำพูดที่ไม่เยิ่นเย้อเหมือนคำพูดของนักการเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้ว ความรู้สึกที่ดีก็เกิดขึ้นในใจของเราทุกคน ผมประทับใจตรงที่ท่านพยายามจับจุดด้อยของปาปัวมาเน้นเช่นในด้านความปลอดภัย การตกเป็นรองประเทศพี่เลี้ยง ฯลฯ คืนนั้นผมตอบรันการต้อนรับด้วยความรู้สึกที่ดีต่อชาวปาปัว ความเห็นใจอันพึงมีต่อผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา ผมพูดถึงสภาพทั้วไปของบ้านเรา พูดถึงช่วงที่เราถูกรังแกจากการแผ่อาณานิคมในยุค ร.ศ. 112 เรื่องเศรษฐกิจฟองสบู่ที่เกิดทั้งคุณและโทษต่อประเทศและภูมิภาตโดยรวมเมื่อหกเจ็ดปีก่อน การเข้าใจและแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการปรับตัวรับกระแสเทคโนโลยีจากตะวันตก การรับมือกับการล่าอาณานิคมในรูปแบบใหม่ที่แฝงอยู่ในครามเศรษฐศาสตร์ ไปจนถึงโครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงประทานให้คนไทยทั้งมวลและมาจบลงที่หนึ่งตอหนึ่งผอที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า OTOP ผลจากการพูดเรื่องราวเหล่านี้ทำเอาแขกที่มาทึ่งและตั้งใจฟังอย่างจริงใจ นับว่าเป็นการสนทนาที่น่าจะให้ประโยชณ์แก่เขามากพอควร
งานเลี้ยงมาจบลงตรงที่เราเอาของขวัญจากเมืองไทยแจกแขกแต่ละคนที่แถมคำคมว่า
เป็นธรรมเนียมของคนไทยทั้งมวลที่จะแสดงความรู้สึกที่ดีที่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ด้วยการกำนัลของที่ระลึกจากประเทศไทยให้กับมิตรใหม่และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าไมตรีจิตที่เรามีต่อกันจะเป็นรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราทั้งสองตลอดไป จากนั้นเราก็มอบเน็คไทไหมไทยสีสดให้พร้อมจัยมือแสดงความจริงใจพร้อมเพรียงกัน นายมาตาวถึงกับเข้ามากอดผมแล้วหยอดคำหวานๆว่า
ขอบคุณ พี่ชาย
หลังจากอำลากันเรียบร้อยแวรี่ก็พาพวกเรากลับโรงแรมด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ
ผมเชื่อว่าการไปปาปัวนิวกินีครั้งนี้ก่อให้เกิดผลในทางบวกโดยรวมและเราได้โอกาสในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อเขาอันจะเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์สัมพันธุ์ที่ดีในอนาคตสำหรับประเทศของเรา มีคนไทยมากมายที่ได้ไปต่างประเทศแต่คงจะมีไม่มากนักที่จะไปยังดินแดนที่เจริญน้อยกว่าเรา เพราะส่วนมากมักจะไปศึกษา ณ ประเทศที่เจริญไปด้วยเทคโนโลยีโดยเข้าใจว่านั่นคือผู้นำ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดาผู้รู้ของไทยยังมักยึดติดแนวคิดแบบตะวันตกโดยลืมปรัชญาแนวทางชีวิตที่เป็นไทยๆไปหมด มิหนำซ้ำยังกลับดูแคลนพวกเดียวกันเองด้วยเข้าใจว่าที่ตนศึกษามานั้นสุดยอด จึงน่าเสียดายนักที่เขาเหล่านั้นร่ำเรียนกันมาในแนวที่ได้รับการสอนเพื่อนำไปปฏิบัติตามแนวคิดที่ผู้สอนมอบให้ แต่กลัยไม่ได้เรียนรู้และเข้าใจในกระบวนการการคิดภายไต้ขนบประเพณืของตนโดยกลับบอกว่าล้าสมัย ผมอยากเห็นคนไทยคิดปรับกระบวนทัศน์จองตนให้เข้าถึงอริยสัจสี่ที่แท้จริงเพื่อวันหนึ่งเราอาจเป็นเสาหลักแห่งแนวคิดในภูมิภาคก็ได้ .... ใครจะรู้