21 ธันวาคม 2553 08:34 น.
สมุทร
ทฤษฎีไร้ระเบียบ มาจาก Chaos theory ซึ่งแปลเป็นไทยแล้วใช้ต่างกันหลายคำ อาทิ ทฤษฎีความโกลาหล ทฤษฎีความอลวน หรือบางทีก็เรียกทับศัพท์ว่า ทฤษฎีเคออส
"ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ" มาจาก "butterfly effect" ซึ่งศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ (Edward Lorenz) ค้นพบโดยบังเอิญ จากการเฝ้าดูตัวเลขการจำลองทางอุตุนิยมวิทยาที่มีการปรับเปลี่ยนทุก 0.0000001 สร้างให้เกิดความคลาดเคลื่อนที่คาดไม่ถึง เขาค้นพบว่าความคลาดเคลื่อนเพียงน้อยนิดก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลทางอุตุนิยมวิทยา และในแต่ละครั้งผลลัพธ์ไม่เหมือนเดิมเลย เมื่อพล็อตกราฟออกมาจะเป็นรูปร่างคล้ายผีเสื้อ และเขานำไปอธิบายว่าแม้กระทั่งผีเสื้อตัวเล็กๆ กระพือปีกเบาๆ ที่บราซิล อาจส่งผลกระเทือนถึงเท็กซัสได้ ซึ่งเป็นที่มาของวลีก้องโลก "ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ" และต่อมามีคนขยายความขนาดว่า "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ตั้งเป็นทฤษฎีอะไร ผู้ที่บัญญัติคำว่า Chaos theory คือ เจมส์ เอ ยอร์ค (James A. Yorke)
ทฤษฎีเคออส อธิบายถึงปราฏการณ์ในธรรมชาติที่ดูเหมือนสะเปะสะปะไร้ระเบียบ แต่แท้จริงแล้วมันมีระเบียบของมันอยู่ภายในนั้น ซึ่งไม่เรียงลำดับเป็นเชิงเส้น ไม่ใช่การสุ่มเดา มีความไวต่อการเปลี่ยนภาวะเริ่มต้น และไม่สามารถทำนายล่วงหน้าระยะยาวได้
การนำมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทย เห็นจะมีเพียงด้านสังคม ผ่านหนังสือ "ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) กับทางแพร่งของสังคมไทย ความท้าทาย ณ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ" ของ ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ กับการเมือง โดยนายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นำทฤษฎีไร้ระเบียบมาวิเคราะห์การทำงานของพรรคไทยรักไทย (จาก เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 581 วันที่ 21 - 27 ก.ค. 2546)
การนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน น่าจะเข้ากับหลักพุทธศาสนาที่ว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี" (ปฏิจจสมุปปบาท) หมายถึงสิ่งต่างๆ เกิดจากเหตุและปัจจัยเกี่ยวเนื่องกันไป การทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในปัจจุบันอาจส่งผลใหญ่หลวงในอนาคตได้ จึงไม่ควรประมาท จะการสิ่งใดก็ตริตรองให้รอบคอบเสียก่อน
สังคมที่แย่อยู่ทุกวันนี้อาจเกิดจากความสะเพร่าของเรา การเปลี่ยนแปลงสังคมจึงมิใช่อื่นไกล แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวของเรานั่นเอง