8 มีนาคม 2550 11:28 น.
ศารทูล
สัททุลวิกกีฬิตฉันท์
โอ้...ฟูมเฟื่องระอุร้อน ณ ใต้สุริยแสง
แผดกล้าผกายแรง.................บ่วาย
เค้นขึ้งเคียดบ่มิหย่อน ฤ ผ่อนกมลคลาย
ร้อนรุกและร้อนร้าย................ประเทือง
ยามสูรย์วาบ...นภแลพลาหกก็เรือง
แสงสายสยายเรื้อง..................ณ สรวง
เงาใดเปลวรวิยังบ่สอดทะลุทะลวง
ไม่นานสุรีย์ล่วง...................ทลาย
อย่าหวังรอด...ก็เพราะร้อนสิกลืนรพิสิกราย
ตราบฝนประโปรยปราย..........ชโลม
4 มีนาคม 2550 15:42 น.
ศารทูล
ฉันท์ "ชุดแรก" ที่ผมเขียน...
The Lord of The Rings...อีทิสังฉันท์ ๒๐
บทที่ 1-6 เป็นฉันท์ชุดแรกที่ผมแต่งได้ครับ
ส่วนที่เหลือผมมาแต่งเพิ่มทีหลัง
ขอขอบพระคุณท่าน"สดายุ"ที่ช่วยแนะนำนะครับ
๑. พิศเบื้องนภามิพบตะวัน
ขมุกขมัวสลัวเพราะควัน
มิรู้กาล
๒. ด้วยอสูระเจ้ามิได้มลาญ
พลังพระเพลิงอสูรสิผลาญ
ประดังแดน
๓. แสนยมารประเทืองชะโชติเพราะแหวน
พลานุภาพอนันตแสน
คะนองเนือง
๔. คบทหารวะวาบระเรื่อระเรือง
ณ ทัพอสูรนิสัยมิเชื่อง
ละลานตา
๕. รุกระดมพลังบ่เหนื่อยบ่ล้า
ปิศาจผยองสิลองจะท้า
มนุษย์ชน
๖. ศึกอุบัติมหันตภัยะรณ
ประชามนุชชะร่วมระคน
จะป่นมาร
๗ แตรสนั่นไผทสะเทือนสะท้าน
มนุษย์ถะโถมกระโจมทะยาน
ณ ผาหิน
๘. ดาบสะบัดขย้ำขม้ำชิวิน
กระแทกกระทั้นกระทบอรินทร์
ฉะเฉือนกาย
๙. หอกก็ฝ่าละล่วงทลวงสลาย
ณ ทัพอสูรมลาญมลาย
สยบพลัน
๑๐. จอมอสูระโหดพิโรธมหันต์!
มหิทธิเจ้ามไหศวรรย์
จะกล้ำกราย
๑๑. สาธุชนสยองก็แยกสยาย
เพราะกลัวเพราะเกรงมิท้ามิทาย
มหามาร
๑๒. ทัพกระจัดกระจายมิได้ผสาน
ระส่ำระสายทแกล้วทหาร
ก็หันหนี
๑๓. จอมกษัตริย์มนุษย์จะต่อจะตี
สะอึกจะสู้ ธ ยอมพลี
บ่ห่วงตน
๑๔. นั่น! คทาอสูรถลำผจญ
สะบัดและฟาดก็ฆาตก็ป่น
นรินทร...
........................................................
ฉันท์เหล่านี้ ได้แรงบันดาลใจ
จากภาพยนต์เดอะลอร์ดฯภาคแรกครับ...
...........................................................
หมายเหตุ
บทที่ ๗ "ไผท" แปลว่าโลก(แผ่นดิน)ครับ
บทที่ ๑๐ "มหิทธิเจ้ามไหศวรรย์"
มหิทธิ แปลว่า มีฤทธิ์มาก
มไหศวรรย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
3 มีนาคม 2550 14:28 น.
ศารทูล
ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒
๐ “สยายโอษฐ์เสวยไทย”
กระทบใครก็ใคร่ตรอง
ประทับแท่นพิมานทอง
ทว่าท้องมิรู้ตัน
๐ ประกาศว่าจะหยุดยั้ง
กมลยังมิกลับผัน
ประจัญทองก็ทองนั้น
สะบัดหัตถ์สิควานหา
๐ ละเวลาจะตรึกจิต
ประดิษฐ์คิดไฉนหนา
จะให้ทรัพย์ขยับมา
ประดับใกล้ ณ ท้องมัน
๐ สุวรรณนาบกระหนาบนิ้ว
หิรัญริ้วกระหนกพัน
กษาปณ์ถมจะท่วมทัน
ถลุงต่อบ่สาใจ
๐ วรุณเงินพิรุณทอง
กระหน่ำต้องพิภพไกร
พสุนทรามิทานไหว
บ่ได้พอหทัยมาร
อีทิสังฉันท์ ๒๐
๐ มารเขมือบขม้ำขย้ำมลาญ
ถลุงถล่มประหนึ่งจะผลาญ
นครไทย
๐ ปิด ณ เนตร ประชาสลบไสล
กระซิบกระซาบ ณ กรรณมิให้
ฉลาดรู้
๐ เป็นฉะนี้ประชาก็คุดและคู้
และกว่าจะหาญสิต้านจะสู้
ก็เจียนสาย
๐ กรุงสยามจะล้มสิล่มสลาย
พยุงผดุงมิให้ทลาย
ไฉนหนา...
.........................................
15 กุมภาพันธ์ 2550 20:57 น.
ศารทูล
วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
๐ ลมหวนจะเปลี่ยน ณ คิมหันต์..เพราะวสันตคราจร
เกลื่อนดินก็ล้วนบุษบ์สลอน........จะละเล่นระเริงลม
พิศเบื้องนภาสกุณะร่อน............มนหย่อนและผ่อนตรม
มองผืนอุทกก็สุขะสม................สละร้อนกมลคลาย
อีทิสังฉันท์ ๒๐
๐ ม่านวสันต์จะดับสุรียแสง
นภาแจร่มก็ครึ้มก็แคลง
และหม่นกลาย
เมฆะลอยระเริงละเล่นพระพาย
สกุณถลาทุกขมลาย
รตีรมย์
...........................
ฉันท์นี้ แต่งเมื่อตอนบ่ายวันนี้นี่เองครับ
(16 ก.พ. 50 เวลาประมาณบ่ายสองโมง)
ปล. "มนหย่อน"
ยืมมาจากอินทรวิเชียรฉันท์ของ "ครูเทพ"
(สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 17)
เอนเอกเขนกเหนือ.......ติณนุ่มสนามงาม
ร่มรุกขมูลยาม...............มนหย่อนนิยมเย็น
มน อ่านว่า มะ-นะ แปลว่าใจ
ตามบริบท มนหย่อน ในที่นี้ หมายถึง จิตใจผ่อนคลาย
ซึ่งผมใช้ มนหย่อน ในฉันท์ของผมด้วยความหมายเดียวกันครับ
(ใน "มนหย่อนและผ่อนตรม" บทที่ 2 วรรคที่ 2)
อีกอย่างหนึ่ง
ในบทแรก วรรคที่ 3
"เกลื่อนดินก็ล้วนบุษบ์สลอน"
บุษบ์ อ่านว่า บุ-สะ
มาจาก บุษบา ที่แปลว่าดอกไม้ครับ
สุดท้ายนี้...
ขอขอบพระคุณพี่ "ห้วงคำนึง" และคุณ "สดายุ" ที่ช่วยแนะนำครับ
2 กุมภาพันธ์ 2550 19:55 น.
ศารทูล
๐ ค่ำคล้อยจึ่งเคลื่อนพ้น ขอบนภา
แสงอร่ามสาดเวหา แจร่มเรื้อง
พินิจนักขัตราชา นวลผ่อง
สาคเรศ ณ บาทเบื้อง สะเทื้อนเทิ้มสะท้อนจันทร์
๐ งามใดฤาอาจเทียบ ดวงบุหลัน
พักตร์สะคราญงามครัน พ่ายแพ้
อันโฉมแห่งบุษบัน ฤๅเปรียบ เดือนนา
อินธุพิลาสแท้ เลิศล้ำเลอสรวง