17 กันยายน 2548 22:48 น.
วิจิตรวาทะลักษณ์
ผญา
มีแต่สดใสซื่นคืนวันอันแสนม่วน
ต่างกะซวนพี่น้องมาโฮมเต้าแต่งทาน
ขวงเขตย่านบ้านป่านาหวาย
กลายมาถึงเดือนสิบ สิก่นมันมาต้ม
พ่องกะงมกอข้าวเอาเทากำลังอ่อน
พ่องกะคอนกะต่าน้อยลงห้วยห่อมนา
เดือนนี้บ่ได้ช้าพากันแต่งทานถง
ข้าวสากลงไปวัดถวายหมู่สังโฆเจ้า
มีลาบเทาพร้อมกับหมกดักแด้ของดีคั่วกุดจี่
มีทั้งหมกหมากมี้กะมาพร้อมพร่ำกัน
ความเป็นมา
พุทธกาล ณ นครา พาราณสี
พุทธมุนี เสด็จถิ่น บิณฑบาตรขัณฑ์
สองสามี ภรรยา ผู้จาบัลย์
ตัดฝืนฟัน เลี้ยงชีพมา เป็นอาจิณ
ได้เลื่อมใส ในพระพุทธ ศาสนา
ชวนภรรยา ทำทานภักดิ์ รักษาศีล
อันเหตุด้วย เรายากเข็ญ เป็นอาจิณ
เพราะสิ้นศีล สิ้นทาน แต่นานนม
จึงเข้าป่า เพื่อเก็บผัก หักฝืนขาย
มาใช้จ่าย หม้อข้าวแกง จัดแจงสม
ทั้งกล้วยอ้อย อีกของอื่น น่าชื่นชม
มัดเป็นปม ถวายสลาก ภัตตาทาน
จับสลาก ได้ภิกษุ ผู้พรั่งพร้อม
จึงน้อบน้อม ถวายจัด ภัตตาหาร
เสร็จแล้วริน สินธุ์ประจักษ์ ทักษิโณทาน
อธิษฐาน เมื่อชาติหน้า อย่าจาบัลย์
ครั้นล่วงเลย อายุขัย วายชีวิต
จึงสถิตย์ ดาวดึงส์ ถึงสวรรค์
เสวยสมบัติ อยู่เมืองฟ้า โสภาพรรณ
เพราะบุญปั้น ทานเสริม เพิ่มบุญญา
พิธีกรรม
เมื่อข้างขึ้น สิบห้าค่ำ ยามเดือนสิบ
ลูกหลานหยิบ เอาข่าวสาร ไปบ้านย่า
ย่าก็จัด กล้วยมะพร้าว ให้เรามา
ข้าวตอกแตก ใส่ตะกร้า มาร่วมบุญ
แล้วตระเตรียม ตัดตอง ไว้รองห่อ
ข้าวต้มพอ ห่อเอาไว้ ได้เกื้อหนุน
อีกปลาปิ้ง แจ่วปลาร้า มาร่วมบุญ
ฟักทองอุ่น นึ่งเอาไว้ ใส่น้ำตาล
เอาตองต่อ ห่อข่าวต้ม ประสมข้าว
ทั้งเครื่องคาว ทั้งฟักทอง และของหวาน
ทั้งพริกแห้ง หมากพลู บุหรี่งาน
เอามัดสาน เป็นห่อไว้ ใส่รวมกัน
ครั้นรุ่งสาง ของวันพระ สิบห้าค่ำ
ก็จะนำ ห่อข้าวสาก ที่มากนั้น
ไปแขวนไว้ กำแพงวัด มัดรวมกัน
บ้างมัดมั่น ใต้ต้นไม้ ในวัดมี
แล้วขึ้นสู่ ศาลาวัด จัดอาหาร
ถวายทาน ภิกษุสงฆ์ ส่งศักดิ์ศรี
เสียงลั่นฆ้อง กลองระฆัง กังวาลมี
ให้ภูตผี มารับเอา ข้าวสากไป
หลังจากนั้น ก็จะแย่ง แบ่งข้าวสาก
ที่แขวนฟาก กำแพงวัด และมัดไว้
นำไปวาง ไว้กลางกล้า นาของใคร
ถวายให้ ผีตาแฮก แลกข้าวดี
ความเชื่อ
ในวันขึ้น สิบสี่ค่ำ ตามความเชื่อ
จนถึงเมื่อ สิบห้าค่ำ ยามเดือนนี้
ยมบาล เปิดประตู อเวจี
ให้เหล่าผี ได้คืนกลับ รับผลบุญ
ชาวอิสาน จึงจัดเอา บุญข้าวสาก
ทานบุญจาก ญาตไป ได้เกื้อหนุน
ผู้ล่วงลับ กลับมารอ ขอส่วนบุญ
เป็นแนวหนุน ให้พ้นทุกข์ สู่สุขพลัน
ทั้งเชื่อว่า ในนามี ผีตาแฮก
รักษาแรก ให้ไร่นา เติบกล้านั้น
จึงได้เอา เหล่าข้าวสาก แย่งจากกัน
มาแบ่งปัน ผีตาแฮก แลกความอุดมณ์
วิจิตรวาทะลักษณ์
วันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2548
22.56 น.
3 กันยายน 2548 13:42 น.
วิจิตรวาทะลักษณ์
บุญข้าวประดับดิน เป็นหนึ่งในสิบสองบุญของชาวอีสาน
ที่จัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า เพื่อเป็นการอุทิศส่วน
กุศลให้กับเปรต และญาติที่ล่วงลับไปแล้ว บุญข้าวประดับ
มีความเป็นมาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร ข้าพเจ้าจักถ่าย
ทอดเรื่องราว ความงดงามแห่งวิถีบุญข้าวประดับดิน ผ่าน
บทกวี ให้ทุกท่านได้รับชม ณ บัดนี้
อดีตครั้ง พุทธกาล ขอขานเล่า
พระญาติพระเจ้า พิมพิสาร ในกาลนี้
ได้ยักยอก เงินวัดวา มามั่งมี
สิ้นชีวี จึงเป็นเปรต เขตโลกันต์
เมื่อพระเจ้า พิมพิสาร ทานถวาย
ญาติผู้ตาย มิกรวดน้ำ ไปตามนั้น
ครั้นกลางคืน เปรตโหยหวน ล้วนโสกันต์
มาขอปัน ส่วนบุญมาก จากพระองค์
จึงทรงถาม พุทธองค์ ให้ทรงแจ้ง
ทรงแสดง แจ้งความหลัง ดังประสงค์
ให้กรวดน้ำ อุทิศบุญ หนุนดำรง
เพื่อเสริมส่ง ให้ภูตผี มีผลทาน
ชาวอีสาน จึงถือเอา เดือนเก้านี้
ทำพิธี ข้าวประดับดิน ถิ่นอีสาน
ในวันแรม สิบสี่ค่ำ ตามโบราณ
ให้จัดงาน ข้าวประดับดิน ในถิ่นตน
ในวันแรม สิบสามค่ำ ทำอาหาร
ทั้งเครื่องหวาน ข้าวต้มไว้ ทั้งไม้ผล
ทั้งเครื่องคาว ปลาเนื้อปิ้ง สิ่งมงคล
บุหรี่มน หมากพลูพร้อม น้อมบูชา
บรรจงต่อ แล้วห่อรอง ด้วยตองกล้วย
มัดให้สวย แล้วเตรียมไว้ ใส่ตะกร้า
พอเช้ามืด สิบสี่ค่ำ ตามเวลา
หยิบตะกร้า เข้ามาวัด จัดพิธี
เครื่องคาวหวาน หมากพลู อยู่ในห่อ
ขุดหลุมรอ กลบดินฝัง ข้างวัดนี้
ข้อสำคัญ ต้องทำแข่ง แสงสุรีย์
สิ้นราตรี สิ้นเวลา มาฝังดิน
แล้วกลับบ้าน อาหารห่อ พอมาวัด
ก็แจงจัด เอาอาหาร มาทานศีล
อยู่รับพร กรวดน้ำ ลงตามดิน
ฝากธรณินทร์ นำกุศล สู่คนตาย
เหล่าภูตผี มีหรือไม่ ใครตัดสิน
ข้าวประดับดิน ทำให้ใคร ไม่เสียหลาย
แต่ที่รู้ สามัคคี มิเสื่อมคลาย
เมื่อเลื่อมลาย ข้าวประดับดิน มิสิ้นมนต์
วิจิตรวาทะลักษณ์
วันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2548
เวลา 13.50 น.