1 ตุลาคม 2551 20:05 น.
ลุงแทน
เคยมีชีวิตคนเรามีอะไรมากมายที่ผ่านเข้ามาให้ซึมซับรับรู้ ในชีวิตคนเรามีผู้คนมากมายที่ผ่านเข้ามาให้รู้จักมักคุ้น แต่ในผู้คนมากมายเหล่านั้น อย่างน้อยคงต้องมีใครบางคนที่ทำให้เรารู้สึก “ไม่ธรรมดา” ที่จะนึกถึงเรียกว่าเป็น “ความพิเศษ” ที่เราจะยกเว้นเอาไว้จากความปกติทั่วไปของจิตใจ ก็ในเมื่อคำว่า “พิเศษ” หมายถึงความจำเพาะ ความแปลกแยก ความดีงาม ความอบอุ่นในหัวใจ
กระนั้นทำไมเราไม่ปฏิบัติต่อเขาให้ตรงกับที่ใจคิด
ให้ “ความรู้สึกดีดี” จากจิตใจที่ดีดี
ให้ “ความอาทรถึง” จากจิตใจที่นึกถึง
ให้ “ความห่วง” จากจิตใจที่เป็นห่วง
ให้ไปเถอะ ให้ไปอย่างดีดี แต่มี “สติ”
ให้ไปเถอะ ให้ไปอย่างอบอุ่น แต่ไม่ “คุกรุ่น”
ให้ไปเลย ให้ไปเท่าไหร่ก็ได้
แต่เมื่อให้ไปแล้วต้อง “ไม่ร้อนรุ่มกลัดกลุ้ม” และหากเมื่อใดจิตใจอาจระส่ำระสาย สะดุดกับอะไรขึ้นมาบ้าง ก็จงหยุดพักตรึกตรอง อย่าปล่อยให้พายุอารมณ์โถมพัด “สิ่งดีดี” จนกระจัดกระจาย เพราะ “การให้ความหมาย” ไม่ใช่ “การตั้งความหวัง”
คนสองคนให้ความหมายซึ่งกันและกัน แต่คนสองคน “จะไม่ตั้งความหวังในกันและกัน”
เพราะการตั้งความหวังมักนำมาซึ่ง “การเรียกร้อง” “ความอยากเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ” โดยที่ไม่รู้ตัว มันร้อนนัก หนาวนัก และไม่เป็นสุข
เราต้องไม่ลืมปรับอุณหภูมิจิตใจเอาไว้ที่องศาอุ่นๆ หากเริ่มรู้สึกตัวว่า ความร้อนเริ่มทวีขึ้น เราต้องค่อยๆเดินออกมาสูดอากาศเย็น หากตรงกันข้ามเราก็ต้องหลบเร้นจากความหนาวมาอาบไอแดดเช่นกัน และอย่าลืมว่า “ความพิเศษ” ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นพิเศษมากหรือพิเศษสุด หรือพิเศษอย่างยิ่งในคนคนเดียว ทั้งเราและเขาอาจจะมีคนพิเศษในวิถีชีวิตได้หลายลักษณะ พิเศษในเรื่องนั้น พิเศษในเรื่องนี้ ในเมื่อหัวใจเป็นของเรา เราก็ย่อมเลือกให้ความพิเศษกับใครก็ได้ที่ เราจะไม่ต้องแลกกับความทุกข์อย่างพิเศษกลับมา
จงให้ “ความพิเศษ” เป็นชีวิตชีวา เป็นแววตาที่แจ่มใส เป็นความห่วงใยที่เมื่อนึกถึงทีไรก็ยิ้มได้ ไม่วิ่งหนี แต่ไม่วิ่งตาม ไม่หักห้าม แต่ไม่กระโจนใส่ ไม่เป็นน้ำตาลที่หวานอ่อนไหว แต่เป็นความอบอุ่นในหัวใจและเอื้ออาทร จงเป็นความแจ่มใสในอารมณ์ของตัวเอง เป็นความชุ่มชื่น สดใส เช่นสายน้ำ เป็นสีสันงดงามเช่นมวลผกา เป็นสีเขียวของใบไม้ ที่เย็นที่ตาและที่ใจ และที่ตรงนี้ จะอีกนานเท่าใด ไม่ว่า “คนพิเศษ” คนนั้นจะอยู่ใกล้ หรือต้องจากกันไกล “ความพิเศษ” นั้นก็จะคงอยู่อย่างมีคุณค่า ณ ที่เดิม ที่ซึ่งใจข้างซ้ายตรงกัน
.....คัดลอกจากเมล.....
1 ตุลาคม 2551 20:01 น.
ลุงแทน
เมื่อความรัก หมายถึง ความห่วงใย
เคยมีใครถามคุณไหมว่า “ความรักคืออะไร?” ผมคิดว่าวันนี้ผมมีคำตอบให้คุณแล้วล่ะ คำที่ใช้แทนคำว่า “ความรัก” ได้ดีที่สุด น่าจะเป็นคำว่า “ใส่ใจ”
หากคุณคิดที่จะบอกรัก หรือรู้สึกว่าตัวเองเริ่มที่จะรักใครซักคน ลองถามตัวเองดูว่า คุณใส่ใจเค้ามากน้อยแค่ไหน?
ความใส่ใจ ไม่ใช่ ความเอาใจ
หากคนรักของคุณจำได้ขึ้นใจว่า คุณเคยพูดว่าอยากได้อะไร แล้วเค้าหาซื้อของชิ้นนั้นให้ ไม่ใช่สักแต่ว่าซื้อซื้อซื้อของเยอะแยะมากมาย เพื่อเอาใจ...
นั่นแหละถึงเรียกว่า ความใส่ใจ ความใส่ใจ ไม่ใช่ ความหึงหวง หากคนรักของคุณโทรหาคุณทุกคืน ถามว่ากลับถึงบ้านหรือยัง เพียงเพราะเค้าเป็นห่วง ไม่ต้องการให้คุณได้รับอันตรายในยามดึก ไม่ใช่กลัวว่าคุณจะไปกับคนอื่น... นั่นแหละเรียกว่าความใส่ใจ
ความใส่ใจ ไม่ใช่ ความมีน้ำใจอย่างเดียว หากแต่มีความถนอมน้ำใจด้วย หากคนรักของคุณทำอะไรเพื่อคุณซักอย่างด้วยความตั้งใจ แต่คุณกลับไม่ชอบมัน คิดไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะพูดอะไรออกไป ใส่ใจในความรู้สึกของเค้าด้วย
หากคุณทะเลาะกับคนรัก แต่แล้ววันรุ่งขึ้น คนรักของคุณยังโทรมา แสดงความเป็นห่วงในเรื่องต่างๆ เหมือนทุกๆวัน ทั้งๆที่ยังไม่หายโกรธ... นั่นแหละเรียกว่าความใส่ใจ
หากคนรักของคุณยอมสละเวลาทำบางสิ่ง เอาไว้ทีหลัง เพียงเพื่อช่วยทำในสิ่งที่คุณขอ...นั่นแหละเรียกว่า ความใส่ใจ คนเราบางครั้งก็ต้องการมีใครซักคนคอยใส่ใจเราบ้าง
หากคุณต้องเดินทางไกล มันจะรู้สึกดีเอามากๆถ้าคนรักของคุณโทรมาถามว่า “ถึงหรือยัง” “ปลอดภัยดีไหม” “เหนื่อยไหม”
หากคุณต้องปฏิบัติภาระกิจสำคัญ ไม่ว่าจะเรื่องงาน หรือเรื่องเรียน มันจะรู้สึกดีเอามากๆ ถ้าคนรักของคุณจำได้ และโทรมาบอกว่า “โชคดีนะ” “ชั้นจะคอยเป็นกำลังใจให้ “
หากคุณต้องขับรถคนเดียว มันจะรู้สึกดีเอามากๆ ถ้าคนรักของคุณโทรมาบอกว่า “ขับรถดีๆนะ” หากคุณป่วยเป็นไข้ ไม่สบาย มันจะรู้สึกดีเอามากๆ ถ้าคนรักของคุณโทรมาเตือนให้คุณกินยา และพักผ่อนมากๆ
ความใส่ใจ กับ ความเกรงใจ คล้ายกันในหลายๆด้าน คุณอาจคิดว่า ยิ่งคบกันสนิทสนมกันมากเท่าไหร่
ก็ไม่จำเป็นต้องเกรงใจกันให้มากเหมือนคนที่เพิ่งเริ่มรู้จักกัน
แต่ผมกลับไม่คิดอย่างนั้น ยิ่งสนิทกันมากเท่าไหร่ ต้องยิ่งเกรงใจซึ่งกันและกัน
ความเกรงใจเป็นสิ่งดี และเป็นบ่อเกิดของความสัมพันธ์อันยั่งยืน คุณเห็นไหมล่ะว่า ไม่ยากเลยที่จะแสดงความใส่ใจต่อใครซักคน
1 ตุลาคม 2551 10:04 น.
ลุงแทน
ถ้า บทนิยาม "คนชายขอบ" คือ ผู้คนที่มีชีวิตอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางทั้งในทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม วัฒนธรรมแล้ว ก็ดูเหมือนว่าความแร้นแค้นกับกลุ่มชนนี้จะเป็นของคู่กัน แต่นับเป็นความโชคดีกับการเกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งสังคมของเราไม่ไร้การเกื้อกูลกัน
ล่า สุด คณะสื่อมวลชนได้ย่ำเมืองดอกบัวแดนอีสาน จ.อุบลราชธานี เรียนรู้วิถีชุมชนในหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับแนวชายแดน ไทย-ลาว ซึ่ง มูลนิธิรักษ์ไทย ได้เข้ามาสนับสนุนและช่วยเหลือการสร้างงานในชุมชน การศึกษา ตลอดจนงานด้านการเกษตรและการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
" มูลนิธิรักษ์ไทย" เป็นองค์กรพัฒนาท้องถิ่นที่เข้าใจและรู้ซึ้งแก่นแท้ของปัญหาความยากจน ด้อยโอกาส โดยได้รับการสนับสนุนและถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานกว่า 25 ปี จาก องค์การแคร์ประเทศไทย ที่เริ่มต้นทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสงครามอินโดจีน เมื่อ พ.ศ. 2522 ในค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนของประเทศไทยและกัมพูชา โดยการจัดหาปัจจัยจำเป็นต่อการดำรงชีพไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำสะอาด และยารักษาโรค จวบจนปัจจุบันยังทำงานพัฒนาชุมชนที่ด้อยโอกาส และแก้ไขปัญหาความยากจนทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นภาคีเครือข่ายกับ "องค์การแคร์นานาชาติ" ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่ทำงานด้านพัฒนาชุมชนและแก้ไขปัญหาความยากจน ที่มีอายุกว่า 50 ปี และมีสำนักงานอยู่ใน 80 ประเทศทั่วโลก
มา อุบลฯ คราวนี้ มูลนิธิรักษ์ไทยพาสื่อมุ่งไปที่อ.โขงเจียม อ.สิรินธร อ.บุณฑริก และอ.นาจะหลวย เน้นดูผลงานการสนับสนุนด้านการศึกษา ซึ่งมูลนิธิ ได้ดำเนิน โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ และ โครงการสร้างเสริมภาวะผู้นำเยาวชน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก บริษัท แอมเวย์ ประเทศไทย จำกัด
" ไก่" ศิริพร แท้สูงเนิน เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย อธิบายว่า สภาพปัญหาของชุมชนตามแนวชายแดนเหล่านี้มีสภาพปัญหาแตกต่างจากชนบทอื่นๆ ทั่วไป อาทิ ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โอกาสหรือทางเลือกในอาชีพมีน้อย การอพยพครอบครัวเนื่องจากสภาพความยากจน เป็นต้น
ทาง ภูมิศาสาตร์ กลุ่มคนชายขอบต้องเคลื่อนย้ายจากภูมิลำเนาดั้งเดิมด้วยเหตุผลทางด้านต่างๆ เช่น การประกอบอาชีพ วิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับการแข่งขันเพื่อเข้าถึงทรัพยากรที่มี อยู่อย่างจำกัด ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดของ เทิดศักดิ์ บุญรินทร์ ผ.อ.โรงเรียนห้วยทราย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.บุณฑริก กล่าวว่า "เด็กจะอพยพตามพ่อแม่ไปรับจ้างเก็บกาแฟที่ภาคใต้ในเดือนพฤศจิกายน กลับมาอีกครั้งเดือนมีนาคม คือสภาพเด็กๆ ของที่นี่"
การสนุนสนุนช่วยเหลือด้านการศึกษาให้กับ 'เด็กชายขอบ' เหล่านี้ จึงเป็นพันธกิจหลักที่มูลนิธิ ต้องดำเนินการต่อไป
โดย มูลนิธิ สนับสนุนโครงการห้องสมุดรถโมบายเคลื่อนที่ เริ่มต้นเมื่อ ปี 2546 ได้รับการช่วยเหลือด้านการเงินจากองค์การแคร์ ประเทศญี่ปุ่น มีโรงเรียนชายแดนอีสานเข้าร่วมโครงการ 20 โรงเรียน 4 อำเภอ คือ โขงเจียม สิรินธร บุณฑริก และนาจะหลวย เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทยผู้ดูแลโครงการนี้ ประทีป โลห์นาราย์ เผยว่า หลักเกณฑ์การคัดเลือกคือ ดูโรงเรียนด้อยโอกาสเป็นหลัก อย่างเช่น โรงเรียนห้วยหมากใต้ ใน อ.โขงเจียม โรงเรียนตะเข็บชายแดนเหล่านี้มีแนวชายแดนติดริมแม่น้ำโขง จึงมีเด็กลาวข้ามฟากไปกลับมาเรียนหนังสือด้วย
" อ.บุญฑริก เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ของ จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่ติดกับแนวชายแดน ไทย-ลาว เด็กชายแดนเขาก็รักการอ่านนะ พอรถโมบายห้องสมุดขนหนังสือนิทานสวยๆ มาที่โรงเรียน เด็กก็กระตือรือร้นอยากอ่านนิทานรูปสัตว์ ด้านคุณครูจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วย โดยสอนการประยุกต์นิทานเหล่านี้มาเป็นละครหุ่น หรือสอนงานศิลปะวาดรูปเรื่องราวในนิทานลงบนก้อนหิน เป็นต้น" ประทีป บอก
แล้ว การอ่านนิทานอย่างเดียวอาจจะไม่ตื่นเต้นเท่ากับเรื่องราวเหล่านั้นออกมาโลด แล่นบนเวที 'ละครหุ่น' ของ โรงเรียนห้วยทราย วันนี้นำเสนอโชว์คนมาเยือนเรื่อง "เพื่อนสนิท" ชื่อเรื่องเร้าใจ! แต่ไม่ใช่เรื่องราวของไข่ย้อยกับดากานดาหรอกนะ ดารานำแสดงเรื่องนี้เป็นจระเข้กับลิง!! ฝีมือเชิดหุ่นและกำกับการแสดงโดยศิลปินน้อยแดนอีสาน "...เรื่องราวของจระเข้กับลิงคบหากันเป็น 'เพื่อนสนิท' แต่ในใจลึกๆ กลับคิดหาประโยชน์จากกันและกัน ลิงหัวแหลมคิดจะพึ่งขี่หลังจระเข้ให้ว่ายน้ำพาข้ามฝั่งไปเก็บผลไม้ฟากขะโน้น ส่วนจระเข้ก็แอบคิดว่าหัวใจลิงจะรสอร่อยไหมหนอ?!!.." ละครหุ่นเล่าเรื่องโดยใช้ตัวละครเป็นสื่อนิทานแทรกคติสอนใจ นิทานเรื่องนี้สอนว่า เพื่อนกินหายาก (จริงๆ)
ประทีป เล่าเพิ่มเติมว่า การสนับสนุนละครหุ่นเป็นโครงการสร้างเสริมภาวะผู้นำเยาวชนด้วย แล้วในส่วนห้องสมุดเคลื่อนที่ ก็จะมีกล่องหนังสือ 25 กล่องหมุนเวียนให้โรงเรียนในโครงการ เด็กๆ อาจยืมหนังสือไปอ่านที่บ้านได้ แต่ก็มีอุปสรรคเพราะเด็กยากจนเหล่านี้เขา 'ไม่มีเวลา!' เพราะต้องไปช่วยพ่อแม่ทำมาหากินด้วย
หลัง เลิกเรียนจึงได้เห็นๆ เด็กร่วมโครงการเลี้ยงปลาดุก ปลานิล หรือทำนาโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสร้างเสริมภาวะผู้นำเยาวชน ที่มูลนิธิ เน้นย้ำว่า "วัตถุประสงค์หลักของสองโครงการคราวนี้ คือ "เน้นเยาวชนมีศักยภาพและบทบาทการส่งเสริมกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในกุล่ม เยาวชน ชุมชน และเกิดเครือข่ายเยาวชนพัฒนาท้องถิ่นต่อไป"
1 ตุลาคม 2551 09:57 น.
ลุงแทน
ความเป็นธรรมในการจัดสรรงบประมาณให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดาร เป็นอีกปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษาของประเทศให้ได้มาตรฐานตามเจตนารมณ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ประกาศให้ปีนี้เป็นปีแห่งการปฏิรูปการศึกษา ติดตามได้จากรายงานพิเศษ
“ยามร้อน แสนร้อน ยามหนาว ก็หนาวถึงใจ ไม่มีผ้าห่มคลุมกาย โรงเรียนมีครูหนึ่งคน ครูผู้เสียสละตน อดทนอยู่ห่างไกลความสบาย ใช่จะวอนให้เห็นใจ ความสำนึกของเพื่อนไทย ไทยกับไทยใยแตกต่างกัน โรงเรียนของหนู อยู่ไกล ไกล ไกล อยากให้คุณๆ หันมอง โรงเรียนของหนู”
เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงตัวน้อยที่ร้องเพลงโรงเรียนของหนูดังกระหึ่มทั่วอาคารเรียนไม้หลังเก่า ของโรงเรียนบ้านทุ่งต้นงิ้ว อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ แม้ไม่เพราะพริ้ง และสำเนียงยังไม่ชัด แต่กลับสะกิดหัวใจของคณะจากกระทรวงศึกษาธิการซึ่งนำโดย นายอุดม ไกรวัตนุสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เดินทางไปรับฟังปัญหาในการจัดการศึกษา จนทำให้ไม่สามารถมองข้ามความเดือดร้อนขาดแคลนของโรงเรียนแห่งนี้
โรงเรียนบ้านทุ่งต้นงิ้ว ตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ต้องใช้เวลาเดินทางโดยรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อขึ้นเขานานเกือบ 10 ชั่วโมง ยิ่งช่วงนี้หน้าฝนการเดินทางยิ่งอันตราย เพราะทางเละเป็นโคลนเสี่ยงกับการตกหน้าผาเป็นอย่างยิ่ง แต่แม้จะอยู่บนพื้นที่ชายขอบของประเทศ ที่มองไปทางไหนก็เห็นเพียงความขาดแคลน แต่ชาวบ้านทุ่งต้นงิ้วซึ่งทั้งหมดเป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงยังหวังให้ลูกหลานของตนเองได้รับการศึกษาที่ดี เพราะมองว่าเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของลูกหลานไปสู่ความสุขสบาย ได้เป็นหมอ เป็นครู ไม่ต้องอยู่อย่างยากไร้อย่างที่ตัวเองต้องเผชิญอยู่ทุกวัน
ด้านนายจรัญ แสงบุญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งต้นงิ้ว ยอมรับว่า ความหวังดังกล่าวของผู้ปกครองในบ้านทุ่งต้นงิ้วเป็นเรื่องยาก แต่ละปีมีเด็กนักเรียนน้อยมากที่ได้เรียนต่อสูงกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพราะส่วนใหญ่ยากจนและยังไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ดี ทำให้การเรียนรู้ช้ากว่านักเรียนในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งอยากให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการเรื่องการรับสัญญาณดาวเทียมและการใช้อินเทอร์เน็ต เพราะครูที่นี่ถูกปิดโอกาสด้านข้อมูลข่าวสารทั่วไป และจากหนังสือราชการของส่วนกลาง นอกจากนี้ในการจัดสรรเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจากรัฐบาล ซึ่งได้รับการจัดสรรเท่ากับโรงเรียนพื้นราบทั่วไป ทั้งๆ ที่โรงเรียนบนดอยต้องเสียค่าขนส่งต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว จึงอยากให้รัฐมีการปรับเงินอุดหนุนฯ สำหรับโรงเรียนบนดอยเพิ่มขึ้น