20 มกราคม 2551 10:35 น.

***รู้ไว้ใช่ว่า: ปริศนาธรรม***

ลุงแทน

ความหมายบางอย่าง ที่คนไทยได้สัมผัส แต่ไม่เคยรู้

เพิ่งรู้เหมือนกัน.....เอ้าอ่านๆ กันซะจะได้ปลงๆ ชีวิตก็เป็นเช่นชะนี้เอง
ความจริงแล้วปริศนาธรรมเกี่ยวกับเรื่องงานศพนั้นมีอยู่หลายข้อ
ซึ่งก็สงสัยอยู่เหมือนกันตั้งแต่เด็กมาแล้ว
แต่พ่อกับแม่ก็ไม่เคยเล่าให้ฟังเลย
เหมือนกับว่าเขาให้ทำก็ทำกันไป โง่อยู่ตั้งนาน
พอได้มาอ่านหนังสือธรรมลีลาของธรรมสภาแล้วก็ตาสว่างขึ้น
มีอีกหลายข้อดังนี้

1. มัดตราสังข์สามเปราะ มัดที่คอ หมายถึง บ่วงรักลูก
มัดที่มือ หมายถึง บ่วงรักสามี - ภรรยา
มัดตรงข้อเท้า หมายถึง บ่วงรักทรัพย์สมบัติ
ติดอยู่สามบ่วงนี้ ไปนิพพานไม่ได้
ต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏไม่มีจบสิ้น

2. เคาะโลงรับศีล ไม่ใช่ให้คนตายมารับศีล
แต่เพื่อเป็นการบอกคนที่มาร่วมงานว่า
อย่าเอาแต่มัวประมาทขาดสติ ไม่สนใจในหลักธรรมคำสอน
เมื่อตายไปหมดโอกาสทำความดี จะเคาะจนโลงแตกก็ลุกขึ้นมาไม่ได้

3. สวดอภิธรรม มักสวดเป็นภาษาบาลี คนเป็นฟังไม่รู้เรื่อง
จึงนึกว่าสวดให้คนตาย แต่จริงๆ แล้วเป็นการสวด
เพื่อสอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะได้นำหลักธรรม
ไปปฏิบัติให้เกิดผลดีในชีวิตประจำวัน
ดังนั้นแม้จะฟังไม่เข้าใจแต่เพื่อให้การฟังสวดอภิธรรมเกิดผล
ควรสำรวมส่งจิตไปอยู่กับเสียงพระสวด
ให้จิตสงบนิ่งอยู่กับเสียงพระสวดก็จะเกิดสมาธิจิตได้

4. บวชหน้าไฟ มักเข้าใจกันว่า เป็นการบวชจูงผู้ตายขึ้นสวรรค์
ความจริงนั้น ไม่ใช่ เพราะการบวชหน้าไฟ
เป็นการปลงธรรมสังเวชต่อการเกิด แก่ เจ็บ และตายในที่สุด
มนุษย์ก็มีเท่านี้ ทำให้เกิดการเบื่อหน่ายต่อชีวิตในโลกียวิสัย
ไม่ประสงค์จะอยู่ในเพศฆราวาส แล้วพอใจในสมณะเพศ
มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น เข้าสู่มรรคผลนิพพาน

5. การนิมนต์พระจูงออกหน้าศพ
เพื่อจะสอนคนที่ยังอยู่ให้ได้สำนึกว่าตอนที่ยังอยู่
ต้องเดินตามหลังพระ หมายความว่าให้ดำเนินชีวิตตามพระธรรม
คำสั่งสอนพระพุทธเจ้านั่นเอง จึงจะอยู่ดีมีสุข มีความเจริญก้าวหน้า

6. การเวียนซ้าย 3 รอบ หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้งสาม
อันมี กามภพ รูปภพ อรูปภพ ด้วยอำนาจกิเลสตัณหาอุปทาน
ก็จะเป็นทุกข์ไม่จบสิ้น ฉะนั้นต้องทวนกระแสกิเลส
เป็นการสอนธรรมชั้นสูง จึงได้พาศพเวียนซ้าย

7. การใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ เพื่อชี้ให้เห็นว่า
น้ำมะพร้าวเป็นน้ำสะอาด บริสุทธิ์ ผู้เข้าสู่มรรคผลนิพพาน
ต้องชำระจิตให้สะอาดด้วยน้ำทิพย์จากพระธรรม

8. การแปรรูป หลังจากเผาแล้ว มีการเก็บอัฐิ
และมีการเขี่ยขี้เถ้าผู้ตายให้เป็นรูปร่างกลับไปกลับมา
เพื่อจะบอกว่าได้กลับชาติใหม่แล้ว
ตามวิบากของกรรมต่อไป


จากวารสารธรรมลีลาเพื่อดุลยภาพของสังคม				
18 มกราคม 2551 11:07 น.

*** ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ***

ลุงแทน

ท้องก่อนแต่ง ท้องไม่มีพ่อ ท้องในวัยเรียน คือคำพูดแสลงใจที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นกับตนเอง โดยเฉพาะท้องในวัยเรียน เพราะจะส่งผลต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนาคต หน้าตา ชื่อเสียง แต่หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณแล้วคุณจะทำอย่างไร 
    คงต้องตั้งสติให้ดีและบอกกับตนเองว่า เราคงเก็บปัญหารี้ไว้เนิ่นช้าและแก้ไขเพียงลำพังคงไม่ได้ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดลงไปควรลองทำตามลำดับดังนี้ 
    1. พูดกับคนรักหรือคนที่ทำให้ท้อง ถ้าคนรักรับผิดชอบเรื่องก็ง่ายขึ้นหนึ่งเปลาะ จากนั้นก็ถึงการตัดสินในไปปรึกษาพ่อแม่ของแต่ละฝ่าย เตรียมใจที่จะรับการถูกตำหนิและความรู้สึกผิดหวัง เสียใจของพ่อแม่ไว้ก่อน ต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่ของทั้งคู่จะช่วยกันร่วมกันแก้ไขปัญหา 
    2. ถ้าหากคุยแล้วผู้ชายไม่รับผิดชอบก็ยังไม่หมดหวัง เพราะคุณยังมีคนที่รักและห่วงใยคุณมากที่สุดอย่างแน่นอน คือ แม่หรือพ่อของคุณนั่นเอง 
    3. ถ้ามองไปแล้ว พ่อหรือแม่อาจไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาได้ก็คงต้องหาญาติผู้ใหญ่ที่คุณรักและรู้ว่าท่านจะรับฟัง หวังดีและเป็นที่พึ่งได้ เป็นที่ปรึกษาของคุณ 
    4. คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะเริ่มต้นพูดปัญหานี้กับใครสักคนดังกล่าวข้างต้น ถ้าคุณยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นพูดกับใครและจะพูดอย่างไรดี ขอให้คุณลองใช้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ 24 ชั่วโมง ของหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตที่หมายเลข 1323 หรือ 0 2525 3342 ดูนะ				
17 มกราคม 2551 18:39 น.

***** พิธีสงฆ์ในงานทำบุญ *****

ลุงแทน

ิธีเจริญพระพุทธมนต์
            การเจริญพระพุทธมนต์ เป็นพิธีกรรมฝ่ายสงฆ์พึงปฏิบัติโดยเฉพาะในงานมงคลต่าง ๆ ได้แก่ พระสงฆ์ตามจำนวนนิยมของพิธีร่วมกันสาธยายมนต์ จากคาถาพุทธภาษิตบ้าง จากพระสูตรบ้าง จากมนต์ของเกจิอาจารย์ เป็นธรรมคติบ้าง ตามที่พระโบราณาจารย์กำหนดไว้โดยควรแก่พิธีนั้น ๆ การสาธยายมนต์ของพระสงฆ์ในพิธีทำบุญ ถ้าเป็นงานมงคลนิยมเรียกว่า เจริญพระพุทธมนต์ ถ้าเป็นงานอวมงคลนิยมเรียกว่า สวดพระพุทธมนต์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกกันว่า สวดมนต์ ไม่ว่าจะเป็นงานใด
            บทพระพุทธมนต์ที่ใช้ในงานมงคลต่าง ๆ ใช้กันโดยทั่วไป มีดังนี้
            เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มหาสมยสูตร โพชฌงคสูตร คิริมานนทสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร ชยมงคลคาถา คาถาจุดเทียนชัย และคาถาดับเทียนชัย
            การเจริญพระพุทธมนต์ นิยมใช้บทเจ็ดตำนานเป็นพื้น แต่บทสวดมนต์ที่เรียกว่า เจ็ดตำนานนี้ พระโบราณาจารย์ได้กำหนดพระสูตรคาถา และหัวข้อ พุทธภาษิต บรรดาที่มีอานุภาพในทางแนะนำและป้องกันสรรพภัยพิบัติ ซึ่งรวมเรียกว่าพระปริตต์ ไว้ให้เลือกสวดมากบทด้วยกันคือ
            มงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร ขันธปริตต์ โมรปริตต์ ธชัคคปริตต์ หรือ ธชัคคสูตร อาฏานาฏิยปริตต์ โพชฌงคปริตต์ มีองคุลิมาลปริตต์ เป็นบทต้น เมื่อรวมโมงปริตต์เข้ากับธชัคคปริตต์ ก็จะเหลือเพียงเจ็ดบท
            ในการสวดโดยทั่วไปนิยมใช้สวดเพียงเจ็ดบท หรือน้อยกว่า ทั้งนี้แล้วแต่ความสำคัญของงาน และเวลาที่สวดมนต์จะอำนวยให้ ดังนั้นในการสวดเจ็ดตำนาน จึงเกิดความนิยมในภายหลังเป็นสามแบบ เรียกว่าแบบเต็ม แบบย่อ และแบบลัด
            การสวดมนต์ จะสวดบทสวดมนต์ อย่างไรก็ตาม บทสวดมนต์นั้น ๆ ต้องมีเบื้องต้นเรียกว่า ต้นสวดมนต์ หรือต้นตำนาน ต่อจากบทเบื้องต้นเป็นท่ามกลางสวดมนต์ ซึ่งได้ตำนานหรือพระปริตร์ หรือสูตรต่าง ๆ ตามกำหนด สุดท้ายเป็นเบื้องปลายของบทสวดมนต์ เรียกกันว่า ท้ายสวดมนต์
            ถ้าเป็นงานใหญ่ จะมีสวดมนต์เย็นวันหนึ่งก่อน รุ่งขึ้นเลี้ยงพระ นิยมสวดเจ็ดตำนานเต็ม ให้พระสงฆ์ขัตตำนานขัตนำทุกตอน และทุกบทที่สวดด้วย ดังนี้
            ต้นตำนาน  ขัตนำ สคฺเค ถ้าสวดในงานพระราชพิธีขัตขึ้นต้นตั้งแต่ สรชฺชํ สเสนํ ฯลฯ แต่ถ้าสวดในงานราษฎร์ทั่วไปขัตขึ้นต้นตรง ผริตฺวาน เมตฺตํ ฯลฯ
                ค สวดบทนมัสการ   นโม ตสฺส ภควโต ฯลฯ
                ค สวดบท สรณคมนปาฐะ   พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ
                ค สวดบท สมฺพุทฺเธ ฯลฯ แต่ปัจจุบันใช้บท นมการสิทธิคาถา   โย จกฺขุมา ฯลฯ
                ค สวดบท นมการอัฏฐคาถา   นโม อรหโต ฯลฯ
            ตัวตำนานหรือพระปริตร  จัดขัตตำนาน และต่อนำมงคลสูตร เย สนฺตา ฯลฯ ถึง ญาติภิ ต่อ ยญฺจทฺวาทสวสฺสานิ ฯลฯ จนจบ
                ค สวดมงคลสูตร   เอวมฺเม สุตํ ฯลฯ
                ค ขัตนำ รตนสูตร   ปณิธานโต ปฏฺฐาย ฯลฯ
                ค สวด รตนสูตร   ยานิธ ภูตานิ ฯลฯ
                ค ขัตนำ กรณียเมตตสูตร   ยสฺสานุ ภาวโต ฯลฯ
                ค สวด กรณียเมตตสูตร   กรณียมตฺถกุสฺเลน ฯลฯ
                ค ขัตนำ ขันธปริตต์   สพฺพาสีวิสชาตีนํ ฯลฯ
                ค สวด ขันธปริตต์   วิรูปกฺเขติ เมตฺตํ ฯลฯ
                ค ขัตนำ โมรปริตต์   ปูเรนฺตมฺโพธิสมฺภาเร ฯลฯ
                ค สวด โมรปริตต์   อุเทตยญฺจกฺขุมา ฯลฯ
                ค ขัตนำ ธชัคฺคปริตต  ์ ยสฺสานุสฺสรเณนาปิ ฯลฯ
                ค สวด ธชัคคปริตต์   เอวมฺเม สุตํ ฯลฯ
                ค ขัตนำ อาฏานาฏิยปริตต์   อปฺปสนฺเนหิ นาถสฺส ฯลฯ
                ค สวด อาฏานาฏิยปริตต์   วิปสฺสิ นมตฺถุ ฯลฯ
                ค ขัตนำ องคุลิมาลปริตต์   ปริตฺตํ ยมฺภณนฺตสฺส ฯลฯ
                ค สวด องคุลิมาลปริตต์   ยโตหํ ภคินี ฯลฯ
          ท้ายตำนาน
                ค สวดบท   ยนฺทุนฺนิมิตฺตํ  ฯลฯ
                ค สวดบท   ทุกฺขปฺปตฺตา  ฯลฯ
                ค สวดบท   มหากรุณิโกนาโถ  ฯลฯ
                ค สวดบท   สกฺกตฺวา พุทฺธรตฺตนํ  ฯลฯ
                ค สวดบท   ยงฺกิญฺจิ รตนํ โลเก  ฯลฯ
            ถ้าเป็นงานพระราชพิธีต่อไปให้สวดบท รตนตฺตยปฺปภาวาภิยาจนคาถา อรหํ ฯลฯ และสุขาภิยาจนคาถา ยํยํ ฯลฯ หรือจะสวด อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ฯลฯ แทนก็ได้ ต่อไปสวดบทมงคลจักรวาฬใหญ่ สิริธิติ ฯลฯ
                ค สวดบท   ภวตุ สพฺพมงฺคลํ  ฯลฯ
                ค สวดบท   นกฺขตฺตยกฺขภูตานํ  ฯลฯ
            การสวดเจ็ดตำนานแบบเต็ม ต้องใช้เวลาสวดประมาณ สองชั่วโมง ส่วนการสวดย่อจะใช้เวลาประมาณ ๓๐ - ๔๕ นาที นอกจากนี้ยังมีสวดแบบลัดใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที หลักการสวดแบบลัด จะเว้นไม่สวดมงคลสูตร กับรตนสูตรไม่ได้ เพราะถือกันว่างานบุญมงคลต้องมีมงคลสูตรเป็นหลัก กับรตนสูตรเป็นบททำน้ำพระพุทธมนต์
พิธีสวดพระพุทธมนต์
            การสวดพระพุทธมนต์ คือการสวดมนต์เป็นพิธีสงฆ์ในงานอวมงคล ระเบียบพิธีพึงจัดเหมือนกับงานทั่วไป ต่างแต่ถ้าเป็นงานทำบุญหน้าศพ ไม่ต้องสงสายสิญจน์ และไม่ต้องตั้งน้ำมนต์ ถ้าปรารภศพแต่ไม่มีศพตั้งอยู่ในบริเวณพิธี จะวางสายสิญจน์โดยถือเป็นการทำบุญบ้านไปในตัวด้วยก็ได้ แม้นำมนต์จะตั้งด้วยก็ได้ ส่วนระเบียบพิธีฝ่ายสงฆ์มีนิยมต่างกันตามประเภทของงานเป็นอย่าง ๆ คือ
            งานทำบุญหน้าศพ  หมายถึงทำในขณะศพยังอยู่ ยังมิได้ปลงด้วยวิธีฌาปนกิจ มีที่นิยมทำกันทั่วไปมีสี่ลักษณะ ได้แก่
              ทำบุญเจ็ดวัน  วันแรกนับแต่วันมรณะ ทำเป็นงานออกแขกใหญ่ เรียกว่า ทักษิณานุสรณ์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า งานทำบุญสัตตมวาร
              ทำบุญทุกเจ็ดวัน  ก่อนครบ ๕๐ วัน  มักนิยมทำเป็นการภายในไม่ออกแขกเรียกว่า ทักษิณานุประทาน
              ทำบุญ ๕๐ วันและ ๑๐๐ วัน  เป็นงานออกแขก
              ทำบุญเปิดศพก่อนปลง  เป็นการทำหน้างานปลงศพ อาจทำเป็นการภายใน แล้วออกแขกใหญ่ในงานปลง งานนี้จะทำเป็นงานสองวัน คือมีสวดพระพุทธมนต์เย็นวันหนึ่ง รุ่งขึ้นมีพิธีเลี้ยงพระ และฌาปนกิจในเวลาบ่ายหรือเย็น จะทำเป็นงานวันเดียวโดยเริ่มต้นตอนเช้าทำพิธีสวดพระพุทธมนต์แล้วเลี้ยงพระ บ่ายหรือเย็นชักศพไปทำการฌาปนกิจ ในงานทำบุญดังกล่าวนี้ มีนิยมจัดให้มีพระธรรมเทศนา สวดมาติกา บังสุกุล และสวดพระอภิธรรมด้วย พระสูตรที่นำมาสวดในงานนี้มักใช้ธรรมนิยามสูตร หรือสติปัฏฐานปาฐะ เป็นพื้น
            ถ้ามีการแสดงพระธรรมเทศนาต่อจากพิธีสวดพระพุทธมนต์ เจ้าภาพไม่ต้องอาราธนาศีลก่อน พอจุดธูปเทียนหน้าพระ และหน้าศพเสร็จก็อาราธนาพระปริตร แล้วพระสงฆ์ดำเนินพิธีสวดพระพุทธมนต์ การรับศีลไปประกอบพิธีเทศน์หลังสวดมนต์จบ แต่ถ้าจะรับศีลทั้งสองวาระก็ทำได้
            งานทำบุญอัฐิ  เป็นการทำบุญหลังการปลงศพแล้ว นิยมทำกันสามลักษณะ คือ
              ทำบุญฉลองธาตุ  ต่อจากวันฌาปนกิจเสร็จแล้วเป็นการทำบุญในบ้าน เมื่อเก็บอัฐิแล้วนำมาไว้ในบ้าน หรือจะทำในสถานที่บรรจุอัฐิธาตุ สำหรับผู้ที่เตรียมที่บรรจุไว้ก่อนแล้วก็ได้
              ทำบุญเจ็ดวัน  ทำหลังจากฌาปนกิจ คือปลงศพแล้ว
              ทำบุญอุทิศให้ผู้มรณะในรอบปี  คือทำในวันคล้ายวันมรณะ ที่เวียนมาบรรจบในรอบปี บางท่านอาจนำไปรวมทำในวันเทศกาลของปี เช่นวันสารท วันตรุษสงกรานต์
            งานทำบุญทั้งสามลักษณะดังกล่าว การจัดบริเวณพิธีเหมือนกับงานทำบุญทั่วไป ต่างแต่นำโกศอัฐิมาตั้งเป็นประธานแทนศพ จะใช้รูปถ่ายของผู้มรณะแทนอัฐิก็ได้ บางท่านก็ใช้บริเวณโต๊ะหมู่เครื่องบูชาพระพุทธรูปหัวอาสนสงฆ์ เป็นที่ตั้งโกศอัฐิด้วย คือตั้งโกศชั้นต่ำกว่าพระพุทธรูปลงมา ถ้ามีวงสายสิญจน์ทำบุญบ้านด้วย ห้ามนำสายสิญจน์วงโกศก่อน ตอนจะบังสุกุลอัฐิท้ายพิธี ถ้าไม่มีภูษาโยง หรือสายสิญจน์ที่จะใช้แทนภูษาโยงต่างหาก จะใช้สายสิญจน์วงบ้านวงพระพุทธ ต้องตัดสายสิญจน์ที่วงบ้านหรือพระพุทธรูปให้ขาดก่อน แล้วตั้งต้นวงเฉพาะโกศอัฐิเท่านั้น ชักไปสู่พระสงฆ์แทนภูษาโยง
            สำหรับระเบียบสวดพระพุทธมนต์ต้องดูให้สมควร ถ้าเจ้าภาพวงสายสิญจน์ตั้งน้ำมนต์ เป็นการฉลองบ้านด้วย ก็สวดมนต์เจ็ดตำนานเหมือนงานมงคลทั่วไป ต่างแต่ตอนท้ายพิธีมีชักบังสุกุลอัฐิเป็นงานอวมงคล และอนุโมทนาทานเพื่อผู้มรณะเท่านั้น ถ้าเจ้าภาพไม่วงสายสิญจน์ไม่ตั้งน้ำมนต์ แต่ตั้งโกศอัฐิเป็นประธาน แสดงว่าเจ้าภาพต้องการให้งานนี้เป็นเพื่อผู้ตายโดยตรง และเป็นงานอวมงคล พระสงฆ์ต้องประกอบพิธีสวดพระพุทธมนต์อย่างเดียวกับงานทำบุญเปิดศพที่กล่าวมาแล้ว
พิธีสวดพระอภิธรรม
            งานทำบุญเกี่ยวด้วยศพ นับตั้งแต่มีมรณกรรม จนถึงวันปลงศพด้วยวิธีฌาปนกิจ มักนิยมจัดให้มีพิธีสวดพระอภิธรรมประกอบงานทำบุญศพนั้นด้วย พิธีสวดพระอภิธรรมมีสองอย่างคือ สวดประจำยามหน้าศพ และสวดหน้าไฟในขณะฌาปนกิจ
            การสวดพระอภิธรรมประจำยามหน้าศพ  นิยมจัดในสถานที่ตั้งศพเป็นพิธีในตอนกลางคืนวันที่ศพถึงแก่กรรม การสวดนี้บางแห่งนิยมจัดนิมนต์พระมาสวดเป็นสำรับ สำรับละยาม สวดตลอดรุ่งสี่ยาม บางแห่งสวดแต่ในยามต้นคือเพียงสามทุ่ม หรืออย่างมากไม่เกินสองยามคือเที่ยงคืน มีระเบียบพิธี ดังนี้
            ๑)  เจ้าภาพเตรียมอาสนสงฆ์ สำหรับสวดสี่รูปไว้หน้าศพด้านใดด้านหนึ่ง แล้วแต่เหมาะ มีตู้พระธรรมหนึ่งตู้ ตั้งหน้าอาสนะพระที่สวด ในกึ่งกลางระหว่างรูปที่สองกับรูปที่สาม ตั้งที่บูชาหน้าตู้พระธรรมออกมาที่หนึ่ง ประกอบด้วยพานดอกไม้ตั้งกลางชิดตู้พระธรรมสองข้างพานตั้งแจกันดอกไม้หนึ่งคู่ ถัดออกมาตั้งกระถางธูปตรงกับพานดอกไม้ สองข้างกระถางธูปตั้งเชิงเทียนหนึ่งคู่ตรงกับแจกัน มีเทียนและธูปสามดอกปักไว้พร้อม
            ๒)  นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรม จะเป็นสำรับเดียวหรือหลายสำรับแล้วแต่ศรัทธา
            ๓)  พระสงฆ์ที่รับนิมนต์ทุกรูปมีพัดไปด้วย ได้เวลาประกอบพิธีแล้ว เข้านั่งยังอาสน วางพัดตั้งเรียงไว้ตามระเบียบ เมื่อเจ้าภาพจุดเทียนหน้าศพแล้ว จุดเทียนหน้าที่บูชา อาราธนาศีล หัวหน้าสงฆ์ให้ศีล จบแล้วเจ้าภาพอาราธนาธรรม การสวดพระอภิธรรม ทุกรูปตั้งพัดพร้อมกันแล้วดำเนินการพิธีสวด บทสวดพระอภิธรรมประจำยามหน้าศพมีสองแบบ ถ้าสวดอย่างสวดมนต์ธรรมดา ใช้บทสัตตัปปกรณาภิธรรม คือบทมาติกา พระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง เริ่มต้นด้วย นโม ฯลฯ นำ แล้วสวดตั้งแต่บทธรรมสังคณีไปจนจบปัฏฐาน หยุดพักพอสมควร แล้วตั้งต้นสวดบทธรรมสังคณีไปจนจบปัฏฐานอีกรอบหนึ่งแล้วพัก ต่อไปเริ่มรอบสาม รอบสี่ จบรอบสุดท้ายคือรอบสี่แล้วเจ้าภาพถวายไทยธรรม พระสงฆ์สวดอนุโมทนาต่อด้วยบท
                ยถา วาริวหา ฯลฯ สพฺพีติโย ฯลฯ อทาสิ เม ฯลฯ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
            ถ้าเจ้าภาพประสงค์จะให้สวดทำนอง สรภัญญะ หรือจะเป็นฝ่ายสงฆ์เห็นสมควรจะสวดทำนองสรภัญญะ บทสวดก็ใช้บทพระอภิธัมมัตถสังคหเก้าปริเฉท เริ่มตั้งแต่ปริเฉทที่หนึ่งไปจบปริเฉทหนึ่ง ๆ แล้วพักในระหว่างจนครบเก้าประเฉท เวลาก็พอดีหนึ่งยาม สวดจบเก้าปริเฉทแล้ว เจ้าภาพถวายไทยธรรม พึงอนุโมทนาเช่นเดียวกับแบบแรก เป็นอันเสร็จพิธี
            การสวดพระอภิธรรมหน้าไฟ  นิยมสวดในขณะทำการฌาปนกิจ การจัดสถานที่เช่นเดียวกันกับการจัดสวดหน้าศพ ต่างแต่ไปจัดในบริเวณฌาปนสถาน พิธีสวดของพระสงฆ์ใช้สวดบทสัตตัปปกรณาภิธรรมอย่างเดียว การสวดไม่มีพิธีฝ่ายเจ้าภาพอย่างสวดงานหน้าศพ แต่ถือพิธีเริ่มจุดศพเป็นสำคัญ เมื่อใกล้เวลาเริ่มจุดศพ
พระสงฆ์ผู้ได้รับนิมนต์พึงเข้านั่งประจำที่ให้พร้อม พอเริ่มจะจุดศพก็ตั้งพัดพร้อมกัน พอจุดศพเป็นวาระแรกก็ตั้ง นโม ฯลฯ แล้วสวดบทธรรมสังคณีเป็นลำดับไปจนจบปัฏฐาน เมื่อเจ้าภาพถวายไทยธรรมแล้ว อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
พิธีสวดมาติกา
            การสวดมาติกา คือการสวดบทมาติกาของพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์หรือที่เรียกว่า สัตตัปปกรณาภิธรรม ซึ่งมีการบังสุกุลเป็นที่สุด เป็นประเพณีนิยม จัดให้พระสงฆ์สวดในงานทำบุญหน้าศพอย่างหนึ่ง เรียกในงานหลวงว่า สดับปกรณ์ แต่ราษฎรทั่วไปเรียกว่า สวดมาติกา โดยจัดเป็นพิธีต่อจากการสวดพระพุทธมนต์เย็นบ้าง ถ้ามีเทศน์ต่อจากการสวดพระพุทธมนต์เย็นก็จัดพิธีสวดมาติกาจากการเทศน์ และจัดให้มีต่อจากพิธีเลี้ยงพระในวันรุ่งขึ้นบ้าง นับเป็นพิธีทำบุญแทรกในระหว่างงานทำบุญหน้าศพ
            การจัดพิธีสวดมาติกา มีนิยมทำกัน ดังนี้
            ๑)  ฝ่ายเจ้าภาพพึงเผดียงสงฆ์ ตามจำนวนและแจ้งกำหนดเวลา จำนวนพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีสวดมาติกา นิยมเท่าจำนวนอายุของผู้มรณะ หรือเท่าจำนวนพระสงฆ์ทั้งหมดของวัด หรือน้อยกว่าที่กล่าวนี้ก็ได้
            ๒)  เตรียมจัดที่สำหรับพระสงฆ์สวดมาติกา ถ้าอาสนะไม่พอกับจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์ ก็ให้พระสงฆ์ขึ้นประกอบพิธีเป็นชุด ๆ จนครบจำนวน
            ๓)  พระสงฆ์ที่รับนิมนต์ มีพัดไปด้วยทุกรูปเพื่อใช้ในพิธี ในกรณีที่มีพัดไม่ครบ ก็ให้มีแต่หัวหน้าเพียงรูปเดียว เมื่อได้เวลาก็ขึ้นนั่งบนอาสนะพร้อมกันทั้งหมด ถ้าเป็นงานหลวงใช้พัดยศต้องนั่งเรียงตามศักดิ์พัดที่ตนถือ เมื่อพร้อมแล้วเจ้าภาพจุดธูปเทียนหน้าศพเป็นสัญญาณ ถ้าไม่มีพิธีรับศีลเพราะรับมาก่อนแล้ว พึงตั้งพัดพร้อมกันทุกรูปแล้วหัวหน้าสงฆ์นำสวดบทมาติกา ดังนี้
                ค นำสวด   นโม ฯลฯ
                ค นำสวดบท   กสฺลา ธมฺมา ฯลฯ
                ค นำสวดบท   ปญฺจกฺ ขนฺธา ฯลฯ  (เฉพาะงานหลวงหรืองานใหญ่เป็นพิเศษ)
                ค นำสวดบท   เหตุปจฺจโย ฯลฯ
            เมื่อจบแล้ววางพัด เพื่อให้เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล
            เมื่อพระสงฆ์สวดจบ  เหตุปจฺจโย ฯลฯ ก่อนจบเจ้าภาพพึงลากผ้าภูษาโยง หรือสายโยงจากศพให้ลาดตรงหน้าพระสงฆ์ พอพระสงฆ์สวดจบก็ทอดผ้าลงบนภูษาโยง เท่าจำนวนพระสงฆ์บนอาสนะ
            ๔)  พอเจ้าภาพทอดผ้าเสร็จ พระสงฆ์ทั้งนั้นพึงตั้งพัดชักบังสุกุล เสร็จแล้วเปลี่ยนมือมาจับด้ามพัดตามแบบสวดอนุโมทนา แล้วพึงอนุโมทนา ด้วยบท
                ค ยถา ฯลฯ   สพฺพีติโย ฯลฯ
                ค ในงานหลวงหน้าพระที่นั่ง พระราชาคณะถวายอดิเรก
                ค อทาสิ เม ฯลฯ
                ค ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
                ค ในงานหลวงหน้าพระที่นั่ง พระราชาคณะถวายพระพรลา
            เจ้าภาพกรวดน้ำ เมื่อพระสงฆ์ว่า ยถา ฯลฯ พอพระสงฆ์ว่า สพฺพีติโย ฯลฯ พึงพนมมือรับพร
พิธีสวดแจง
            ในงานฌาปนกิจศพ นิยมจัดให้มีเทศน์สังคีติคาถา หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า เทศน์แจง จะเทศน์ธรรมาสน์เดียว หรือสามธรรมาสน์โดยปุจฉา วิสัชนา ในการนี้นิยมให้มีพระสงฆ์สวดแจงเป็นทำนองการกสงฆ์ ในปฐมสังคายนาด้วย จำนวนพระสงฆ์สวดแจงนี้ ถ้าเต็มที่ก็นับรวมทั้งพระเทศน์ด้วยเต็ม ๕๐๐ รูป เท่าการกสงฆ์ครั้งทำปฐมสังคายนา แต่ในการปฏิบัติจริงอาจลดส่วนพระสวดลงมาเหลือเพียง ๕๐ รูป หรือ ๒๕ รูป อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ก็มี ถือกันว่าเป็นบุญพิธีพิเศษ ซึ่งอุปถัมภ์ให้พระสงฆ์ได้ทำสังคายนาครั้งหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เป็นอุบายประชุมสงฆ์เพื่อให้งานปลงศพนั้น ๆ คึกคักขึ้นเป็นพิเศษ มีระเบียบดังนี้
            ๑)  การสวดแจงและเทศน์แจง จัดให้มีในงานฌาปนกิจก่อนหน้าเวลาฌาปนกิจ ในวัดหรือฌาปนสถาน พึงจัดธรรมาสน์ และอาสนสงฆ์ตามจำนวนที่นิมนต์
            ๒)  เมื่อพระสงฆ์ผู้รับนิมนต์เข้าประจำที่เรียบร้อยแล้ว พอพระผู้เทศน์ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เริ่มตั้งแต่นโม  เทศน์เป็นต้นไป ทุกรูปพึงประนมมือฟังเทศน์ด้วยความเคารพ เมื่อผู้เทศน์เผดียงให้สวด พึงสวดบทโดยลำดับ ดังนี้
                ค สวดบทนมัสการ  นโม ฯลฯ
                ค สวดบาลีพระวินัยปิฎก   ยนฺเตน ภควตา ฯลฯ
                ค สวดบาลี พระสุตตันตปิฎก   เอวมฺเม สุตํ ฯลฯ
                ค สวดบาลี พระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์   กุสลา ธมฺมา ฯลฯ
            ๓)  เมื่อเทศน์จบแล้ว รอให้พระสงฆ์ที่สวดแจงบังสุกุลก่อน จบแล้วหากมีไทยธรรมอื่นอีกนอกจากผ้าทอดให้ถวายในระยะนี้ เสร็จแล้วพระผู้เทศน์ตั้งพัด ยถา ฯลฯ อนุโมทนาบนธรรมาสน์นั้น พระสงฆ์ทุกรูปพึงรับ   สพฺพีติโย ฯลฯ   อทาสิ เม ฯลฯ และ   ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ พร้อมกัน เป็นอันเสร็จพิธี
พิธีถวายพรพระ
            ในงานทำบุญเลี้ยงพระต่อเนื่องจากการเจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดพระพุทธมนต์ ก่อนถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุในพิธี มีนิยมถวายพรพระเป็นพิธีสงฆ์นำด้วย ถ้างานในวันเดียว การสวดถวายพรพระให้ต่อท้ายพิธีสวดมนต์ แต่ถ้ามีพิธีสวดมนต์หลังเลี้ยงพระ ก่อนฉันพระสงฆ์ก็ต้องทำพิธีสวดถวายพรพระนำก่อนทุกครั้งนี้ เป็นธรรมเนียมในงานทำบุญเลี้ยงพระจะเว้นเสียมิได้ พิธีถวายพรพระตามธรรมเนียมนี้มีอยู่สองอย่าง มีระเบียบพิธีดังนี้
            การสวดถวายพรพระกรณีสามัญ  ใช้ในงานทำบุญทั่วไปทั้งงานมงคล และงานอวมงคล เมื่อพระสงฆ์ขึ้นนั่งยังอาสนะเรียบร้อยแล้ว มีการดำเนินการต่อไปดังนี้
            ๑)  เจ้าภาพจุดธูปเทียนหน้าที่บูชา ถ้าทำบุญหน้าศพ ให้จุดธูปเทียนหน้าศพก่อน แล้วอาราธนาศีล
            ๒)  หัวหน้าสงฆ์แจกสายสิญจน์แล้วตั้งพัด ถ้าเป็นงานทำบุญหน้าศพไม่มีวงสายสิญจน์ ไม่ต้องแจกสายสิญจน์ เริ่มตั้งพัดอย่างเดียวแล้วให้ศีล จบแล้ววางพัดเข้าที่ พระสงฆ์ทุกรูปประนมมือพร้อมกัน ถ้ามีสายสิญจน์ พึงคล้องสายสิญจน์ที่ง่ามนิ้วแม่มือทั้งสอง จากนั้นหัวหน้าสงฆ์นำสวดบทถวายพรพระตามลำดับ ดังนี้
                ค สวด    นโม ฯลฯ
                ค สวด    อิติปิ โส ฯลฯ
                ค สวด    พาหุ ํ ฯลฯ
                ค สวด    มหากรุณิโก ฯลฯ
                ค สวด    ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
            ๓)  ถ้ามีพิธีตักบาตรด้วย เช่นในงานฉลองพระบวชใหม่ ในงานทำบุญแต่งงาน เป็นต้น พอพระเริ่มสวดบท พาหุ ํ ฯลฯ เจ้าภาพพึงลงมือตักบาตรในระหว่างนี้ และทุก ๆ งาน จะมีการตักบาตรหรือไม่ก็ตาม พอพระสงฆ์เริ่มสวดบท มหากรุณิโก ฯลฯ ก็ให้เตรียมยกภัตตาหารเข้าประจำที่พระสงฆ์ทันที พอพระสงฆ์สวดจบ เริ่มประเคนพระ หรือเริ่มถวายทานตามนิยม แล้วคอยอังคาสพระสงฆ์ตลอดเวลาที่ฉัน เมื่อพระฉันเสร็จแล้วถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
            ถ้าในงานที่มีพิธีสวดมนต์ก่อนฉัน ฝ่ายพระสงฆ์พึงสวดบทถวายพรพระตั้งแต่บท พาหุ ํ ฯลฯ ต่อท้ายพิธีสวดมนต์ไปจนจบ
เป็นการผนวกพิธีสวดถวายพรพระเข้าด้วยกันกับพิธีสวดมนต์
            การสวดถวายพรพระในกรณีพิเศษ  ใช้ในงานพระราชพิธีที่ประกอบด้วยพระฤกษ์ เช่น พระฤกษ์โสกันต์ พระฤกษ์เกศากันต์ พระฤกษ์สรงในพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้น ระเบียบสวดถวายพรพระก่อนรับพระราชทานฉัน มีดังนี้
            ๑)  สังฆการี อาราธนาศีล สมเด็จพระราชาคณะหรือพระราชาคณะเป็นหัวหน้าสงฆ์แจกสายสิญจน์แล้วตั้งพัดถวายศีล
            ๒)  จบถวายศีลแล้วได้ฤกษ์เจ้าพนักงานลั่นฆ้องชัยประโคมแตรสังข์ พระสงฆ์ทั้งนั้นเริ่มสวด
                ค บท ชยนฺโต ฯลฯ หลาย ๆ จบ จนเสร็จพิธี
                ค บท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ จบแล้วพัก
            พอใกล้เวลาภัตตกิจพึงสวดถวายพรพระตามบท ตั้งแต่ นโม ฯลฯ อิติปิโส ฯลฯ เป็นต้นไปจนจบอีกวาระหนึ่ง แต่ถ้าเวลาฤกษ์อยู่หลังภัตตกิจ ก็ถวายศีล และถวายพรพระอย่างในกรณีสามัญที่กล่าวแล้ว และทำภัตตกิจก่อน เสร็จแล้วได้เวลาพระฤกษ์จึงสวดบท ชยนฺโต ฯลฯ และบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ ในการประกอบพิธีตามพระฤกษ์นั้น แต่การสวดประกอบพระฤกษ์เฉพาะพระฤกษ์หล่อพระ พระฤกษ์ยกยอดพระปราสาท และพระราชมณเฑียร  และพระฤกษ์ยกช่อฟ้าโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เป็นต้น นอกจากสวดบท ชยนฺโต ฯลฯ และ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ แล้วจะนิยมใช้วิธีสวดอีกแบบหนึ่ง คือ พอเริ่มต้นฤกษ์ก็สวด
                ค บท ทิวา ตปฺปติ อาทิจฺโจ ฯลฯ
                ค บท ชยนฺโต ตัดเฉพาะขึ้น สุนกฺขตฺตํ ฯลฯ
                ค บท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
            นอกนั้นสวดถวายพรพระก่อนภัตตกิจ อย่างเดียวกับที่กล่าวแล้ว
            สำหรับงานประกอบฤกษ์ของสามัญชนทั่วไป เช่นงานมงคลโกนผมไฟ มงคลตัดจุก โดยประเพณีนิยม ถือฤกษ์พระเวลาเช้าเป็นสำคัญ การสวดถวายพรพระของฝ่ายสงฆ์ จึงเท่ากับเป็นการเริ่มต้นฤกษ์ พระสงฆ์พึงดำเนินพิธีไปแทรกโดยลำดับได้จนถึงสวดบท มหาการุณิโก ฯลฯ ให้สวดบทนี้ไปยุติตรงคำว่า  โหตุ เต ชยมงฺคลํ เท่านี้ก่อน ถ้ามีฤกษ์โหรประกอบด้วยต้องรออยู่จนได้ฤกษ์ พอพร้อมหรือได้ฤกษ์แล้วพระสงฆ์ก็เริ่มสวดบท ชยนฺโต ฯลฯ ต่อ และสวดบทนี้ไม่น้อยกว่าสามจบ หรือซ้ำอยู่จนพิธีของฝ่ายเจ้าภาพเสร็จ แล้วสวดบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ เป็นอันเสร็จพิธี
พิธีอนุโมทนากรณีต่าง ๆ
            ธรรมเนียมของพระภิกษุสามเณร เมื่อได้รับปัจจัยลาภจะเป็นภัตตาหารหรือทานวัตถุใด ๆ ก็ตามจากทายกทายิกาแล้ว ต้องทำพิธีอนุโมทนาทานนั้นทุกคราว จะเว้นเสียมิได้ ถือว่าผิดพุทธานุญาต ต่างแต่ว่าอนุโมทนาต่อหน้าหรือลับหลัง ทายกทายิกานั้นเท่านั้น ธรรมเนียมนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล การอนุโมทนาลับหลังทายกทายิกามีกรณีเดียวคือ การบิณฑบาต แต่กลับมาวัดฉันอาหารบิณฑบาตนั้นแล้ว พึงอนุโมทนา หรือยกไปรวมอนุโมทนาในพิธีทำวัตรสวดมนต์ทุกตอนเช้าและตอนเย็นก็ได้
            วิธีอนุโมทนา มีนิยมเป็นสองอย่างเรียกว่า สามัญอนุโมทนา และวิเสสอนุโมทนา
            สามัญอนุโมทนา  คือการอนุโมทนาที่นิยมใช้กันทั่วไปปกติ มีระเบียบพิธี ดังนี้
            ๑)  อนุโมทนาในงานต่าง ๆ ร่วมกันหลายรูป ผู้เป็นหัวหน้าตั้งพัดว่าบท ยถา ฯลฯ ถ้าไม่มีพัดพึงประนมมือว่า
            ๒)  เมื่อจบบท ยถา ฯลฯ แล้วรูปที่สองนำรับ สพฺพีติโย ฯลฯ
            ๓)  จบบท สพฺพีติโย ฯลฯ แล้ว หัวหน้านำว่า ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
            ถ้าอนุโมทนารูปเดียว มีพัดก็ตั้งพัด ว่าตั้งแต่บท ยถา ฯลฯ ติดต่อกันไปเป็นจังหวะ ๆ จนจบบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ถ้าไม่มีพัดก็ประนมมือว่า
            วิเสสอนุโมทนา  คือการอนุโมทนาด้วยบทสวดสำหรับอนุโมทนาเป็นพิเศษเฉพาะทาน เฉพาะกาล และเฉพาะเรื่อง ซึ่งบทสวดพิเศษเฉพาะนี้ แทรกสวดระหว่างดำเนินพิธีสามัญอนุโมทนาดังกล่าวแล้ว พอว่าบท สพฺพีติโย ฯลฯ จบก็ว่าบทอนุโมทนาพิเศษขึ้นแทรกต่อ จบแล้วจึงว่าบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ เป็นบทสุดท้าย
            บทอนุโมทนาพิเศษ ที่เป็นบทนิยมเฉพาะทาน มีดังนี้
            ๑)  อนุโมทนาอาหารบิณฑบาตทั่วไป นิยมใช้บท โภชนทานานุโมทนาคาถา   อายุโท พลโธธีโร ฯลฯ บางทีใช้บทมงคลจักรวาฬน้อยทั้งบทขึ้น สพฺพพุทธานุภาเวน ฯลฯ หรือตัดขึ้นตั้งแต่ รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ทุกขโรคภายา เวรา ฯลฯ
            ๒)  อนุโมทนาวิหารแทน คือ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ โรงเรียน กุฎี เสนาสนะที่อยู่อาศัยของสงฆ์ รวมทั้งเครื่องเสนาสนะ จะอนุโมทนาในคราวถวาย หรือในคราวฉลองก็ตาม นิยมใช้วิหารทานคาถา   สีตํ อุณฺหํ ปฏิหนฺติ ฯลฯ
            ๓)  อนุโมทนาการสร้างปูชนียวัตถุ หรือถาวรวัตถุ ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น พระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ และหนังสือธรรมวินัยถวายวัด ตลอดถึงที่บรรจุอัฐิ และฌาปนสถาน เป็นต้น จะอนุโมทนาในกาลถวายหรือในการฉลองวัตถุดังกล่าวนั้นก็ตาม นิยมใช้บท อัคคัปปสาทสูตร   อคฺคโต เว ปสนฺนานํ ฯลฯ หรือ บท นิธิกัณฑสูตร ทั้งสูตรขึ้น   นิธิ นิธิเต ปุริโส ฯลฯ หรืออย่างย่อตัดขึ้นตั้งแต่ ยสฺส ทาเนน สีเลน ฯลฯ เป็นต้นไปก็ได้
            บทวิเสสอนุโมทนาที่นิยมเฉพาะกาล ส่วนมากเกี่ยวด้วยกาลทานโดยเฉพาะ คือในกาลที่ทายกทายิกาถวายผ้าอาบน้ำฝน ผ้าวัสสาวาสิก ตักบาตรน้ำผึ้ง ถวายผ้าอัจเจกจีวร และผ้ากฐิน เหล่านี้นิยมใช้กาลทานสุตตคาถา   กาเล ททนฺติ สปญฺญา ฯลฯ ถ้ากาลทานดังกล่าวเป็นของหลวง เช่นในการพระราชทานผ้ากฐิน เป็นต้น ระเบียบการถวายอนุโมทนาทั้งบทสามัญและบทพิเศษ มีดังนี้
            ๑)  ตั้งพัดพร้อม หัวหน้าว่าบท   ยถา ฯลฯ
            ๒)  รูปที่สองนำว่า บท   สพฺพีติโย ฯลฯ พร้อมกัน
            ๓)  หัวหน้าสงฆ์ว่านำเฉพาะรูปเดียวด้วยบท   เกณิยานุโมทนาคาถา อคฺคิหุตฺตํ มุขา ยญฺญา ฯลฯ
            ๔)  รูปที่สองนำรับ กาลทานสุตตคาถา   กาเล ททนฺติ สปญฺญา ฯลฯ พร้อมกัน
            ๕)  หัวหน้าสงฆ์ถวายอดิเรก
            ๖)  รูปที่สองนำรับ   ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ พร้อมกัน
            สำหรับบทวิเสสอนุโมทนาที่นิยม เฉพาะเรื่อง มีอยู่หลายเรื่องด้วยกันดังนี้
            ๑)  อนุโมทนาในงานทำบุญปี ตามที่เคยทำทุกปี นิยมใช้บท อาทิยสุตตคาถา   ภุตฺตา โภคา ภตา ภจฺจา ฯลฯ
            ๒)  อนุโมทนาในงานบุญอายุใหญ่ สวดนพเคราะห์ มีพิธีโหรบูชาเทวดา และในพระราชพิธีสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล และในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษานิยมใช้บท เทวตาทิสสทักขิณานุโมทนาคาถา   ยสฺมึ ปเทเส กปฺเปติ ฯลฯ และบท เทวตาภิสัมมันตนคาถา   ยานิธ ภูตานิ สมาคตานิ ฯลฯ ต่อกัน ถ้าในงานหรือในพระราชพิธีนั้นมีน้ำมนต์ตั้งเทียนไว้เพื่อให้ทำน้ำพระพุทธมนต์ นิยมสวดบท ปริตตกรณปาฐะ   ยาวตา สตฺตา ฯลฯ สำหรับทำน้ำมนต์ ต่อจากบท เทวตาภิสัมมันตนคาถา
            ๓)  อนุโมทนาในงานทำบุญอายุครบรอบปีธรรมดา นิยมใช้บท โส อตฺถลทฺโธ ฯลฯ สำหรับชาย หรือ สาอตฺถลทฺธา ฯลฯ สำหรับหญิง แล้วต่อด้วยมงคลจักรวาฬน้อย
            ๔)  อนุโมทนาในงานบรรพชาอุปสมบท หรืองานฉลองพระบวชใหม่รูปเดียวใช้ โส อตฺถลทฺโธ ฯลฯ หลายรูปใช้ เต อตฺถลทฺธา ฯลฯ บทเดียว
            ๕)  อนุโมทนาในงานมงคลสมรส ใช้บท โส อตฺถลทฺโธ ฯลฯ บทโส อตฺถลทฺธา ฯลฯ และบท เต อตฺถลทฺธา ฯลฯ ควบกันทั้งสามบท ต่อท้ายด้วยมงคลจักรวาฬน้อย
            ๖)  อนุโมทนาในงานแจกประกาศนียบัตร เป็นต้น ซึ่งร่วมกันหลายคน นิยมใช้บท เต อตฺถลทฺธา ฯลฯ ต่อท้ายด้วยมงคลจักรวาฬน้อย
            ๗)  อนุโมทนาในงานอวมงคลเกี่ยวด้วยศพ นิยมใช้บท ติโรกุฑฑกัณฑ์ มีแตกต่างกันคือ
                     -  ถ้าในงานทำบุญหน้าศพ ขึ้น   อทาสิ เม อกาสิ เม ฯลฯ
                     -  ถ้าในงานทำบุญอัฐิ ขึ้น   อยญฺ จ โข  ทุกฺขิณา ทินนา ฯลฯ
                     -  ถ้าในงานทำบุญ บุพพเปตพลีทาน เช่นในวันสารท มักใช้สวดเต็ม ขึ้น   ติโรกุทฺเทสุ ติฏธนฺติ ฯลฯ หรือจะย่อ ขึ้น อยญฺ จ โข ทกฺขิณา ทินฺนา ฯลฯ ก็ได้
พิธีมีพระธรรมเทศนา
            การจัดให้มีพระธรรมเทศนา หรือที่เรียกกันว่า มีเทศน์ คือการแสดงธรรมฟังกันในที่ประชุมตามโอกาสอันควร นับเป็นบุญพิธีที่นิยมสำคัญประการหนึ่ง ส่วนมากนิยมผนวกเข้าในการทำบุญต่าง ๆ ทั้งงานมงคล และงานอวมงคล แม้ไม่ต้องมีงานบุญอะไรก็นิยมจัดให้มีขึ้นตามโอกาสอันควร เช่นจัดให้มีในวัดหรือตามศาลาโรงธรรมประจำในวันธรรมสวนะ และวันอุโบสถ เป็นต้น การมีพระธรรมเทศนาเป็นประเพณีนิยมของพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งพุทธกาลถือกันว่า พระพุทธศาสนาจะตั้งอยู่ได้ยั่งยืนก็ด้วยมีการประกาศเผยแผ่พระพุทธธรรมคำสั่งสอน
ของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันมีพระธรรมเทศนาสองอย่างคือ เทศน์ธรรมดาโดยผู้เทศน์แสดงรูปเดียวอย่างหนึ่ง เทศน์ปุจฉา วิสัชนา โดยมีผู้เทศน์ตั้งแต่สองรูปขึ้นไปแสดงร่วมกันเป็นธรรมสากัจฉาอีกอย่างหนึ่ง การมีเทศน์นิยมทำกันสี่ลักษณะ คือ
            การมีเทศน์ในงานบุญ  สำหรับงานมงคลส่วนใหญ่นิยมจัดให้มีกันเฉพาะงานเกี่ยวด้วยการฉลองเป็นพื้น นิยมทำเป็นรายการสุดท้ายของงานทำบุญ ถ้าเป็นเทศน์ธรรมดามีได้ท้ายรายการ ทั้งก่อนเพล และหลังเพล เพราะเทศน์ธรรมดาใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเทศน์ปุจฉา วิสัชนา นิยมมีตอนหลังเพล เพราะเทศน์หลายธรรมาสน์ ใช้เวลาตั้งแต่สองชั่วโมงขึ้นไป ส่วนงานอวมงคล นิยมมีเทศน์ผนวกงานได้ทุกกรณี ทั้งชนิดเทศน์ธรรมดา และเทศน์ปุจฉา วิสัชนา มีระเบียบพิธีดังนี้
            ๑)  ฝ่ายเจ้าภาพ  อาราธนาพระผู้แสดง แจ้งความประสงค์ว่า จะให้แสดงเรื่องอะไร นิยมทำเป็นหนังสืออาราธนาแบบเดียวกับอาราธนาพระเจริญพระพุทธมนต์ ในวันงานเมื่อการตั้งธรรมาสน์และการอื่น ๆ พร้อมแล้ว เจ้าภาพจุดเทียนใหญ่แล้วนำไปตั้งบนธรรมาสน์ หรือจุดเทียนประจำธรรมาสน์ เป็นสัญญาณเริ่มมีเทศน์ เมื่อพระขึ้นธรรมาสน์เรียบร้อยแล้ว ถ้าเทศน์มีต่อจากพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดมนต์เย็น ต่อเนื่องกัน และการอาราธนาศีลก่อนเริ่มบุญพิธี ได้มีมาแล้วก็ไม่ต้องอาราธนาศีลก่อนเทศน์ เริ่มต้นด้วยอุบาสกอาราธนาธรรม และเริ่มแสดงธรรมเลย แต่ถ้ามีเทศน์ต่อเลี้ยงพระ การมีเทศน์ต่อถือว่าเป็นบุญพิธีตอนใหม่ ให้เริ่มต้นด้วยอุบาสกอาราธนาศีล พระให้ศีลและรับศีล จบแล้วอาราธนาธรรมแล้วจึงเริ่มแสดงธรรม เมื่อจบการแสดงธรรม ถ้ามีสวดธรรมคาถาต่อท้ายในงานศพ เจ้าภาพต้องจุดธูปเทียนบูชาหน้าพระสวดด้วย สวดจบแล้วถวายไทยธรรม พระอนุโมทนาและกรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธีฝ่ายเจ้าภาพ
            ๒)  ฝ่ายพระผู้เทศน์  เมื่อรับอาราธนาแล้ว พึงเตรียมและจัดการตามสมควร เมื่อถึงวันแสดง จะต้องเตรียมคัมภีร์ใบลาน ห่อผ้าสำหรับห่อ หรือใส่ตู้คัมภีร์กับพัดสำหรับให้ศีลและอนุโมทนาไว้ให้พร้อม เมื่อไปถึงบริเวณงาน มีธรรมเนียมพิธีโบราณอย่างหนึ่งว่า ศิษย์ผู้ติดตามจะต้องแบกคัมภีร์พาดบ่าซ้าย ประคองคัมภีร์ด้านล่างด้วยมือซ้ายอย่างท่าแบกอาวุธของทหาร มือขวาถือพัดตั้งทาบกับตัว ห้อยมือลง เดินนำหน้าพระเข้าสู่บริเวณพิธี ธรรมเนียมนี้ถือกันว่าเป็นการยกย่องพระธรรมให้อยู่หน้าพระสงฆ์ ฝ่ายเจ้าภาพต้องคอยต้อนรับ ถ้ายังไม่ถึงเวลาเทศน์ ให้วางคัมภีร์ไว้ในที่ที่สมควรก่อน หรือจะวางบนธรรมาสน์เลยก็ได้วางไว้ข้างขวาของพระผู้เทศน์ เมื่อได้เวลาเจ้าภาพจุดเทียนประจำธรรมาสน์ พระผู้เทศน์ก็ถือพัดขึ้นธรรมาสน์ วางพัดไว้ข้างซ้าย ปกตินิยมนั่งพับเพียบ แต่จะนั่งขัดสมาธิก็ได้ เมื่อเจ้าภาพกล่าวคำอาราธนาธรรมก็คลี่คัมภีร์แสดงธรรมต่อไป มีระเบียบการแสดงธรรมดังนี้
                -    จับคัมภีร์ใบลานขึ้นประคองระหว่างมือทั้งสองที่ประนมแค่อก แล้วบอกศักราชตามธรรมเนียม ทั้งคำบาลี และคำแปล
                -    พอจบคำบอกศักราช ก็ตั้ง นโม เทศน์ คงประนมมืออยู่อย่างเดิม ถ้าเทศน์อ่านคัมภีร์ให้คลี่มือแยกห่างจากกันในขณะ จะตั้ง นโม ครั้งที่สาม แล้วใช้นิ้วแม่มือทั้งสองพลิกใบลานเริ่มอ่าน นิเขปบท ให้ติดต่อกับ นโม ต่อจากนั้นก็อ่านแสดงไปจนจบ
                -    เทศน์จบแล้วเก็บใบลานเข้าที่เดิม แล้วตั้งพัดอนุโมทนาด้วยบท ยถา ฯลฯ บนธรรมาสน์ แต่ถ้าเป็นเทศน์งานอวมงคล มีพระสวดรับเทศน์ต่อท้ายไม่ต้องยถา บนธรรมาสน์ถือพัดลงมานั่งอาสนะข้างล่าง รออนุโมทนาเมื่อเจ้าภาพถวายไทยธรรมแล้ว พร้อมกับพระสงฆ์ที่สวดรับเทศน์ เป็นอันเสร็จพิธี
            การเทศน์ปุจฉาวิสัชนา คือ เทศน์สองรูป ผู้อาวุโสให้ศีลและบอกศักราช อีกรูปหนึ่งแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์ตามธรรมเนียมแล้วสมมติหน้าที่ ต่อจากนั้นจึงเริ่มเรื่อง ปุจฉาวิสัชนากันจนจบ แล้วรูปปุจฉา หรือรูปอาวุโสสรุปท้ายเทศน์ จบแล้วอีกรูปหนึ่ง ยถา ฯลฯ สพฺพีติโย ฯลฯ เป็นอันเสร็จพิธี
            ถ้าเทศน์มากกว่าสองรูป ให้ผู้เทศน์ตกลงแบ่งหน้าที่ดำเนินพิธีกันก่อนขึ้นธรรมาสน์
            การมีเทศน์ตามกาลนิยม  การมีเทศน์ตามกาลนิยมคือ การเทศน์ในวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นพิเศษ เช่น วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา เป็นต้น การเทศน์ตามกาลนิยมปรกติมีในวัด มีระเบียบพิธีดังนี้
            ๑)  เมื่อถึงกำหนดเทศน์ อุบาสกจุดธูปเทียนประจำธรรมาสน์ แล้วพระผู้เทศน์ขึ้นธรรมาสน์
            ๒)  ถ้าเป็นการเทศน์กัณฑ์เช้าที่นิยมเรียกกันว่า กัณฑ์อุโบสถ ต้องให้ศีลตามอาราธนา บอกศักราช แต่ถ้าเป็นกัณฑ์บ่าย หรือกัณฑ์ในเวลาอื่น ไม่มีรับศีล และไม่ต้องให้ศีล ไม่ต้องบอกศักราช เพราะถือว่าได้ทำในตอนเช้าแล้ว
            ๓)  เมื่ออุบาสกอาราธนาธรรมเสร็จ ก็เริ่มพิธีแสดงธรรมต่อไป
            ๔)  เมื่อเทศน์จบ ถ้าเป็นกัณฑ์อุโบสถ ไม่ต้องอนุโมทนา ถ้าเป็นกัณฑ์อื่นพึงพิจารณาดูตามควร ถ้ามีถวายไทยธรรม พึงอนุโมทนาให้เสร็จบนธรรมาสน์แล้วลง ถ้าไม่มีถวายไทยธรรมจะไม่อนุโมทนาก็ได้
            การมีเทศน์พิเศษ  หมายถึงเทศน์ที่จัดให้มีเป็นพิเศษนอกจากงานบุญ หรือนอกจากที่มีตามกาลนิยม เช่นเทศน์สั่งสอนประชาชน เทศน์อบรมคนเป็นหมู่คณะโดยเฉพาะ และเทศน์ไตรมาสที่มีผู้นิยมจัดตามวัด ตามบ้านหรือตามชุมชนใหญ่ เพื่อฟังกันทุกวันในระหว่างพรรษา เป็นต้น
            การเทศน์มหาชาติ  เทศน์มหาชาติ คือ เทศนาเวสสันดรชาดก เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ ส่วนมากจัดให้มีในวัดเป็นหน้าที่ของชาวบ้านและวัดนั้น ๆ จะตกลงร่วมกันจัด ปกตินิยมให้มีหลังฤดูทอดกฐิน ผ่านไปแล้วจนตลอดฤดูเหมันต์ นิยมจัดเป็นงานสองวัน คือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์วันหนึ่ง และวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดกอีกวันหนึ่ง
            วันแรกเริ่มงานด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระทั้งวัด หรือเลี้ยงพระตามจำนวนที่เห็นสมควร แล้วเริ่มเทศน์เวสสันดรชาดก ตามแบบเทศน์ต่อกันไปจนสุด ๑๓ กัณฑ์ ถึงเวลากลางคืนบางแห่งจัดปีพาทย์ประโคมระหว่างกัณฑ์หนึ่ง ๆ ตลอดทั้ง ๑๓ กัณฑ์ด้วย
            วันรุ่งขึ้น ทำบุญเลี้ยงพระอีกแล้วมีเทศน์ จตุราริยสัจจกถาในระหว่างเพลจบแล้วเลี้ยงพระเพลเป็นอันเสร็จพิธี
            ระเบียบพิธีในการเทศน์มหาชาติ ที่นิยมกันเป็นหลักใหญ่ ๆ ดังนี้
            ๑)  ตกแต่งบริเวณพิธีให้มีบรรยากาศคล้ายอยู่ในบริเวณป่า ตามท้องเรื่องเวสสันดรชาดก โดยนำเอา ต้นกล้วย ต้นอ้อย และกิ่งไม้มาผูกตามเสา และบริเวณรอบ ๆ ธรรมาสน์ ประดับธงทิว และ ราวัติ ฉัตร ตามสมควร
            ๒)  ตั้งขันสาครใหญ่ หรือจะใช้อ่างใหญ่ที่สมควรก็ได้ใส่น้ำสะอาดเต็ม สำหรับปักเทียนบูชาประจำกัณฑ์ ในระหว่างที่พระเทศน์ น้ำในภาชนะที่ตั้งนี้เสร็จพิธีแล้ว ถือว่าเป็นน้ำพระพุทธมนต์ที่สำคัญ ภาชนะใส่น้ำนี้ตั้งหน้าธรรมาสน์ กลางบริเวณพิธี
            ๓)  เตรียมเทียนเล็ก ๆ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม แล้วนับแยกจำนวนเป็นมัด มัดหนึ่งมีจำนวนเท่าคาถาของกัณฑ์หนึ่ง แล้วทำเครื่องหมายไว้ให้ทราบ ว่ามัดไหนสำหรับบูชาคาถากัณฑ์ใด เมื่อถึงคราวเทศน์กัณฑ์นั้นก็จะเอาเทียนมัดนั้นออกจุดบูชาติดรอบ ๆ ภาชนะน้ำ ต่อกันไปจนจบกัณฑ์ให้หมดมัดพอดี ครบ ๑๓ กัณฑ์ถ้วน จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม เท่าจำนวนคาถา บางแห่งนิยมทำธงเล็ก ๆ ๑,๐๐๐ คัน แบ่งจำนวนเท่าคาถาประจำกัณฑ์เช่นอย่างเทียน แล้วปักธงบูชาระหว่างกัณฑ์บนหยวกกล้วย แต่การใช้ธงไม่เป็นที่นิยม เช่น เทียน การจุดเทียนหรือปักธงบูชากัณฑ์ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพผู้รับกัณฑ์นั้น ๆ
            การเทศน์เวสสันดร มีวิธีเทศน์เป็นทำนองโดยเฉพาะ จะต้องได้รับการฝึกอบรมศึกษาต่อท่านผู้ทรงคุณวุฒิทางนี้เป็นพิเศษ ส่วนการเทศน์จตุราริยสัจจกถา มีระเบียบพิธีอย่างเทศน์ในงานดังกล่าวแล้วข้างต้น				
16 มกราคม 2551 10:04 น.

การนอนหลับและการฝัน

ลุงแทน

การนอนหลับและการฝัน

มีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการนอนหลับและการฝันว่า คนเรานอนหลับและฝันเกี่ยวกับประสบการณ์ของเราใช่ไหม ? ขอให้เราพิจารณาคำถามอันนี้ตามลำดับ.... “การนอน”ได้รับการนิยามความหมายว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งของการพักผ่อนสำหรับร่างกายและจิตใจ ในช่วงระหว่างที่หน้าที่ต่างๆทางด้านร่างกายได้รับการหยุดพักลงชั่วคราว และจะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกลดน้อยลงไป แต่ก็สามารถที่จะได้รับการเรียกกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย. ส่วน”ความฝัน” คือชุดของภาพต่างๆที่ปรากฎขึ้นมาในยามหลับ, เช่น ความคิด และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานั้น

การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการนอนหลับและการฝัน

Sigmund Freud(1900) ได้ใช้วิธีการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการนอนหลับและการฝันต่างๆด้วยวิธีการสัมภาษณ์คนไข้ของเขา โดยเฉพาะเพื่อบันทึกเรื่องเกี่ยวกับการฝันต่างๆ เนื้อหาของความฝันต่างๆนั้นส่วนใหญ่มันจะได้รับการเปลี่ยนแปลงไป และบ่อยครั้ง มันเป็นเรื่องที่น่าประหลาดและน่าพิศวง. แต่อย่างไรก็ตาม, Freud รู้สึกว่าความฝันต่างๆนั้นจะต้องมีหน้าที่บางอย่างสำหรับคนเรา. ภายหลังจากที่มีการศึกษาอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับรายงานต่างๆของความฝัน, Freud สรุปว่า - มีความฝันอยู่ 2 ระดับด้วยกัน:

   1.

      Manifest Content (เนื้อหาที่ปรากฎชัดแจ้ง): ซึ่งอันนี้ผู้ฝันยังคงจดจำได้หลังจากตื่น.
   2.

      Latent Content (เนื้อหาที่ซ่อนเร้นหรือแอบแฝง): ซึ่งอันนี้ผู้ฝันจะฝันเห็นภาพและความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ในความฝัน.

ยกตัวอย่างเช่น, คนไข้คนหนึ่งได้เปิดเผยออกมาโดยการให้คำสัมภาษณ์ว่า เธอฝันเกี่ยวกับการถูกไล่ตามโดยงูใหญ่ตัวหนึ่ง ซึ่งหน้างูดูเหมือนกับหน้าของพ่อเธอมาก(manifest content - เนื้อหาที่ปรากฏออกมาของความฝัน). ส่วน latent content หรือเนื้อหาที่แอบแฝงของความฝันอันนี้, ซึ่งคนไข้ไม่ทราบเลย, อาจเป็นความปรารถนาของคนไข้เองที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับพ่อของเธอ.

Freud รู้สึกว่าโดยทั่วไปแล้ว เนื้อหาที่แอบแฝง(latent content)นั้น เกี่ยวพันกันกับความปรารถนาซึ่งไม่อาจยอมรับได้(unacceptable desire) ซึ่งจะสร้างความปวดร้าวหรือทุกข์ใจขึ้นมา ถ้ามันถูกแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา. สิ่งเหล่านี้มันน่าจะคุกคามอย่างมากต่อคนที่นอนฝันนี้ ถ้าหากว่าเธอฝันว่าเธอกำลังมีความสัมพันธ์ทางเพศกับพ่อของเธอ. ดังนั้น, แรงกระตุ้นอันไม่อาจยอมรับได้อันนี้(unacceptable impulse)จึงถูกปลอมแปลงอำพราง หรือออกมาในรูปแบบต่างๆที่ยอมรับกันได้(acceptable forms). จากผลของการศึกษาอันนี้ของ Freud ได้ไปขัดแย้งกับความคิดเห็นที่มาก่อนหน้านั้นที่ว่า ความฝันต่างๆนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าและน่าสนใจแต่ประการใด.

ส่วน Eugene Aserinsky และ Nathanial Kleitman ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการนอนและการฝัน โดยได้ใช้เทคนิคของห้องทดลอง เพื่อตรวจวัดการโต้ตอบต่างๆทางด้านสรีรวิทยา, เพื่อแสดงให้เห็นว่าการนอนนั้น มันเป็นอาการที่ไปด้วยกันกับแบบแผนการเปลี่ยนแปลง ที่มีความสลับซับซ้อนของกิจกรรมทางสรีรวิทยา. นอกจากนี้, เขายังได้ค้นพบว่า แบบแผนทางด้านสรีรวิทยาที่เกิดขึ้นเมื่อตอนที่คนๆหนึ่งกำลังฝันอยู่. อันนี้หมายความว่า เมื่อแบบแผนต่างๆอันนั้นเกิดขึ้น นักวิจัยจะปลุกผู้รับการทดสอบให้ตื่นขึ้นมา เพื่อต้องการให้ผู้รับการทดสอบ ระลึกถึงความฝันต่างๆของเขาขึ้นมาอย่างฉับพลันทันที.

Aserinsky และ Kleitman ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนะที่ว่าการนอนและความฝันไม่สามารถจะถูกศึกษาได้
ในเชิงวัตถุวิสัยหรืออย่างเป็นวิทยาศาสตร์. นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายได้มีการตรวจวัดแบบแผนต่างๆทางสรีรวิทยา
และบันทึกความฝันต่างๆของผู้คนนับเป็นพันๆคน

แบบแผนทางสรีรวิทยาในช่วงระหว่างการนอนหลับ

ในการวิจัยการนอนของอาสาสมัครคนหนึ่งซึ่งมีสายขั้วไฟฟ้าติดอยู่ที่ศีรษะและร่างกายของเขา. สื่อนำไฟฟ้าเหล่านี้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับคลื่นสมอง การเคลื่อนไหวของดวงตา ความตึงของกล้ามเนื้อ อัตราการเต้นของหัวใจ และกระบวนการทางเคมีของร่างกาย. จากการวิจัยข้างต้น การนอนของคนเรามีอยู่ 5 ระดับด้วยกัน(ตั้งแต่ระดับตื้นไล่ไปตามลำดับจนถึงระดับลึก). และระดับต่างๆเหล่านี้สามารถบอกได้ โดยการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมองและการโต้ตอบทางสรีรวิทยาอย่างอื่นๆ

หลังจากที่เราได้พักผ่อนหลับนอนมาถึงระดับที่ 4 แล้ว ก็จะหวนคืนกลับไปสู่ระดับที่ 3 และ 2 ตามลำดับ ก่อนที่จะเข้าไปสู่ระดับที่เรียกว่า REM(rapid eye movements). ระดับนี้ได้ถูกแสดงให้ปรากฏออกมาโดยการเริ่มต้นเคลื่อนไหวลูกนัยตาอย่างรวดเร็ว. ในขั้นตอนการนอนระดับ REM นี้ กล้ามเนื้อต่างๆสามารถที่จะกระตุกได้บนใบหน้าและแขนขา หรือบางครั้งก็ทั้งตัว.

ถ้าหากว่าคนที่นอนหลับอยู่ในช่วงระดับ REM นี้ถูกปลุกขึ้นมา ผู้ที่นอนหลับส่วนใหญ่สามารถที่จะบอกได้ถึงสิ่งที่พวกเขากำลังฝันอยู่ และสามารถที่จะระลึกความฝันนั้นได้อย่างละเอียดและชัดเจน. แต่ถ้าคนที่นอนหลับถูกปลุกขึ้นมาในระหว่างระดับที่ 2-4 พวกเขาแทบจะไม่อาจยืนยันได้ว่ากำลังฝันอยู่ และก็ไม่เคยจดจำมันได้โดยละเอียด

อารมณ์อกสั่นขวัญแขวนอย่างรุนแรงด้วยภาพฝัน จะเกิดขึ้นในระดับที่ 3-4 ซึ่งอารมณ์อันนี้ได้ถูกเรียกขานว่า”night terrors” หรือ “Sleep terrors”(ฝันร้าย). มันประกอบด้วยการหายใจอย่างรุนแรงและคล้ายจะเป็นอัมพาต เท่าๆกันกับความรู้สึกกังวลใจมาก.

เวลาที่เรานอนนั้น เราจะผ่านขั้นตอนอันหลายหลากของการนอนวนไปเวียนมา นั่นคือ ขณะที่เรากำลังเข้าสู่การหลับ เราจะเข้าไปสู่ระดับที่ 1 ของการนอน ซึ่งเป็นช่วงระยะของการเปลี่ยนผ่าน(transition stage). ภายใน 90 นาทีหลังจากที่เรานอนหลับไป เราจะผ่านเข้าไปสู่ระดับที่ 2 จนถึงระดับที่ 4 ของการนอน, แล้วก็จะหวนกลับมาระดับที่ 2 อีกครั้ง. ถัดจากนั้นเราก็จะเริ่มไปสู่ขั้นตอน REM Sleep ของการนอน หรือ rapid eye movements. เราจะเข้าไปสู่ระยะ REM ของการนอนประมาณ 10-20 นาทีในคืนหนึ่งหลายครั้งในช่วงหนึ่งคืน สลับกันกับระดับของการนอนขั้นที่ 2-4. ช่วงระหว่าง REM จะค่อยๆยาวนานขึ้น และขั้นตอนของการนอนระดับที่ 2-4 จะสั้นลงเมื่อใกล้จะถึงเช้า

เมื่อตอนที่เรายังเป็นทารกอยู่นั้นเราต้องการเวลานอนวันละประมาณ 16-20 ชั่วโมง. ส่วนในช่วงผู้ใหญ่ พวกเราส่วนใหญ่ต้องการเวลานอนอยู่ในช่วงระหว่าง 6-9 ชั่วโมง, และจะใช้เวลา 25 เปอร์เซนต์ไปในช่วงการนอน REM Sleep.

การศึกษาเกี่ยวกับการอดนอน

เมื่อเราไม่ได้นอนเป็นระยะเวลานานๆ แบบแผนขั้นตอนของการนอนจะไม่เป็นไปตามที่ได้กล่าวไว้ จากการทดลองกับชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้นอนเป็นเวลานานติดต่อกัน 264 ชั่วโมงเพื่อที่จะทำสถิติให้มีการบันทึกลงในหนังสือ Guinness Book of Records. ชายหนุ่มคนนี้ หลังจากที่ยุติการอดหลับอดนอนแล้ว เขาก็เริ่มเข้านอนในห้องทดลองเกี่ยวกับการนอนและการหลับฝัน.

บรรดานักวิทยาศาสตร์สังเกตุว่า ในช่วงคืนแรกของการนอน ชายคนนี้นอนหลับในระดับที่ 4 เป็นเวลานาน โดยสูญเสียระดับการนอนในขั้นที่ 2 ไป. ในคืนที่สองของการสังเกตุ พบว่า เขาจะค่อยๆคืนกลับสู่สภาพปกติ กล่าวคือ ระยะการนอน REM sleep เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและระดับการนอนในขั้นที่ 2-4 ค่อยๆลดลงไป. ปรากฎการณ์ที่เพิ่มขึ้นของ REM sleep หลังจากการอดหลับอดนอนนี้ จะถูกเรียกว่า REM rebound(การดีดกลับของ REM sleep).

การอดหลับอดนอนสามารถที่จะนำไปสู่ความหงุดหงิดหรือฉุนเฉียวง่าย ความเหนื่อยอ่อน ความเอาใจใส่ที่น้อยลง ความเลอะเลือนเกี่ยวกับความจำ และการลดสมรรถภาพการทำงานของกล้ามเนื้อที่ประสานกัน. คนที่อดหลับอดนอนบางคน มีการปฏิบัติตัวไปในทางที่วิปริต ซึ่งสัมพันธ์กับความเจ็บป่วยทางจิต แต่ตามปกติแล้ว อาการโรคเหล่านี้จะไม่ยืนนานหลังจากที่คนๆนั้นได้นอนเป็นการทดแทนแล้ว.

ผลกระทบต่างๆของการป่วย(ill effects) อันเนื่องมาจากการอดหลับอดนอนสามารถได้รับการสร้างขึ้นในห้องทดลองการนอนและการหลับฝันได้ด้วย. ในห้องทดลองนั้น เป็นไปได้ที่จะกีดกันผู้รับการทดสอบจากการหลับอยู่กับระดับที่ 4 และ REM sleep. และผลของการทดลองนี้ทำให้ทราบว่าระดับการนอนในขั้นที่ 4 และ REM sleep เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง.

PdreamR2.jpg (19854 bytes)

แบบแผนต่างๆในช่วงระหว่างการหลับฝัน

พวกเราส่วนใหญ่ทราบว่า การฝันเป็นประสบการณ์ที่เข้มข้น ซึ่งตามมาด้วยภาพที่ไม่ปกติและการขานรับในด้านอารมณ์ความรู้สึกที่สุดๆ ด้วยความสนุกสนานและความกลัว. จากการศึกษาความฝัน ความฝันเป็นจำนวนมากได้รับการบันทึกเอาไว้ หลังจากที่ผู้เข้ารับการทดลองถูกปลุกให้ตื่นขึ้นจากการหลับในขั้น REM sleep ซึ่งจากการศึกษาได้บอกกับเราว่าเราฝัน 4-5 ครั้งในทุกๆคืน และส่วนใหญ่ของความฝันค่อนข้างจะธรรมดาๆ. พวกเราฝันถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการเล่นฟุตบอล, อยู่บนรถประจำทาง, กำลังสอบไล่, และกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างอื่นๆ. บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้บันทึกถึงความฝันที่แปลกๆด้วย เช่นเดียวกับฝันร้ายที่น่ากลัวต่างๆ

Freud ยืนยันว่าความฝันเป็นการสะท้อนถึงความทรงจำและความรู้สึกต่างๆ(dream reflect memories and feelings). นักศึกษามากมาย มีความคุ้นเคยดีกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ที่มีอิทธิพลต่อความฝัน พวกเขามักจะฝันเกี่ยวกับการสอบในช่วงระหว่างสัปดาห์ของการสอบอยู่บ่อยๆ

สำหรับความฝันแปลกๆนั้น นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลองเรื่องการนอนหลับฝันได้บันทึกเอาไว้เช่นเดียวกัน อย่างเช่น ผู้เข้ารับการทดลองรายหนึ่งที่ชื่อว่า Ritchie. เขาฝันว่าได้เดินทางเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แปลกประหลาดในสถานที่หนึ่ง (ซึ่งความจริงก็คือ ในขณะที่ Ritchie กำลังหลับอยู่นั้นเขาได้ถูกพาเข้าไปยังห้องเก็บศพที่รอการชัณสูตรในช่วงระหว่างที่เขากำลังฝันู่). สภาพการณ์เหล่านี้อาจมีอิทธิพลต่อความฝันของเขา เพราะว่าเราไม่ได้ตัดเอาตัวกระตุ้นที่เป็นเรื่องภายนอกออกไปในช่วงระหว่างที่เรานอนหลับนั่นเอง.

การทดลองเรื่องการหลับฝันอีกรายหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ รายของ Alfred Maury ตัวเขาเองมีผู้ช่วยในการทดลองนี้ และเขาได้กำหนดให้ผู้ช่วยของเขา กระทำสิ่งต่างๆและคอยกระตุ้นเขาในขณะที่เขากำลังหลับ. เมื่อผู้ช่วยคนนั้นมาทำอะไรคันๆที่ริมฝีปากและจมูกของเขา, Maury ฝันไปว่า เขากำลังได้รับความทรมานอย่างเจ็บปวด. ต่อมา เมื่อผู้ช่วยเอามือโบกกลิ่นเครื่องหอมในอากาศ, เขาก็ฝันว่า เขากำลังอยู่ในตลาดแห่งหนึ่งในกรุงไคโร. และในขณะที่ทำการศึกษาอยู่นั้น บังเอิญส่วนหนึ่งของเตียงเกิดอุบัติเหตุลดต่ำลงไปบริเวณหลังคอของ Maury, ช่วงนี้ทำให้เขาฝันว่า เขากำลังจะถูกประหารโดยการตัดคอ.

นอกจากนี้ ความฝันต่างๆยังสามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะแก้ไขมันได้ในยามตื่นด้วย. เรื่องที่คลาสสิคเรื่องหนึ่งหนึ่งคือ ภาพความฝันของ Friedrich August Kakule เกี่ยวกับงูตัวหนึ่งที่กัดกินหางของตัวมันเอง. Kakule, เป็นนักเคมีชาวเยอรมัน ซึ่งกำลังครุ่นคิดถึงโครงสร้างต่างๆของน้ำมันเบนซิน ซึ่งดูเหมือนมันไม่ประสบความสำเร็จเอาเลย. แต่ในความฝันของเขา มันได้เสนอแนะถึงโครงสร้างวงแหวนอันหนึ่งที่เสนอถึงทางออกหรือการแก้ปัญหาที่ถูกต้องให้กับเขา

ทำไมคนเราจึงต้องนอน

บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายกำลังประสบกับความก้าวหน้าในเรื่องความเข้าใจที่ว่า ทำไมคนเราจึงต้องนอน. ความเป็นไปได้อันหนึ่งก็คือว่า การนอนนั้นได้ช่วยซ่อมแซมและฟื้นฟูร่างกายของเรา. ยกตัวอย่างเช่น ตัวจ่ายระบบการส่งสัญญานของประสาท จะได้รับการเติมเต็มในช่วงระหว่างการนอน. ผลลัพธ์อันนี้บ่งว่ากิจกรรมอันนั้นได้รับการปรับระดับการส่งสัญญานของประสาท และการนอนช่วยฟื้นฟูตัวจ่ายระบบฯดังกล่าว.

ตามความเข้าใจนี้ ถ้ากิจกรรมยิ่งมากก็จะยิ่งเป็นสาเหตุให้ต้องมีการปรับปรุงระบบส่งสัญญาน
ของประสาทมากขึ้น และมันก็จะส่งผลให้ต้องนอนมากขึ้น. แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการนอนนั้นจะไม่ได้ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด โดยความต้องการเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะการที่เรานอนมากเท่าไร ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับเรามีกิจกรรมอย่างไร. ในการศึกษาครั้งหนึ่ง, Horne และ Minard(1985) ได้ให้หนุ่มสาวหลายคนกระทำกิจกรรมกันคนละอย่าง:

1) พวกแรก ให้พวกเขาทำกิจกรรมทั้งวันอย่างหนัก โดยการเดิน, การพูด, การท่องเที่ยว, และการเรียนรู้.

2) พวกที่สอง ทำกิจกรรมทั้งวันเพียงเล็กน้อยด้วยการทำอะไรนิดๆหน่อยๆ ยกเว้นการพักผ่อน.

เขาพบว่า จำนวนเวลาที่พวกคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ใช้ไปในการนอนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แม้ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนกิจกรรมจากกิจกรรมหนึ่ง ไปยังกิจกรรมอีกอย่างหนึ่ง. ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพคือเหตุผลอันหนึ่งของการนอนแล้วละก็, มันก็เป็นที่ชัดเจนว่า ไม่ใช่เป็นเพียงเหตุผลเดียว.

เหตุผลอีกอันหนึ่งอาจจะเป็นว่า การนอนได้ช่วยปกป้องบรรพบุรุษของเราก่อนประวัติศาสตร์ โดยการทำให้พวกเขา สามารถที่จะสงวนพลังงานในช่วงเวลากลางคืนในถ้ำที่ปลอดภัย เมื่อสภาพแวดล้อมภายนอกถ้ำที่พวกเขาอาศัยอยู่เป็นอันตราย หรือเป็นปรปักษ์กับพวกเขา. ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งก็คือว่า ชนรุ่นต่างๆของผู้คนในศตวรรษนี้กำลังนอนน้อยลงตามลำดับ. การลดเวลานอนลงอาจเป็นการสะท้อนถึงการค่อยๆปรับตัวสู่ข้อเท็จจริงที่ว่าเรา
ไม่ต้องการบทบาทหน้าที่ของการนอน
ในการป้องกันอีกต่อไปแล้ว.

การนอนของสัตว์

แบบแผนของการนอนสำหรับสัตว์ที่ต่างชนิดกัน จะมีช่วงระยะเวลาการนอนที่แตกต่างกัน. แบบแผนการนอนอันนี้ได้ช่วยสนับสนุนความคิดที่ว่า ความไม่เหมือนกันในเรื่องการนอน เป็นบทบาทหน้าที่อันหนึ่งของการช่วยให้สัตว์ปลอดภัยจากสัตว
์ต่างๆที่จับสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร. เช่น แมว จะมัระยะเวลาการนอนนานกว่าสัตว์ชนิดอื่น เพราะมันไม่มีศัตรูทางธรรมชาติมากนัก. ส่วนม้าและแกะจะมีเวลานอนในวันหนึ่งๆน้อยมาก เนื่องจากมันมีศัตรูในธรรมชาติจำนวนมาก.

การปรับเวลานอนใหม่ของมนุษย์

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ชนรุ่นต่างๆของผู้คนในศตวรรษนี้กำลังนอนน้อยลงตามลำดับ. การลดเวลานอนลงอาจเป็นการสะท้อนถึง การค่อยๆปรับตัวสู่ข้อเท็จจริงที่ว่าเราไม่ต้องการบทบาทหน้าที่ของการนอนในการป้องกันอีกต่อไปแล้ว ซึ่งอันนี้ต่างไปจากสัตว์. จังหวะต่างๆของการนอนเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ได้มาอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นสิ่งเทียมหรือที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง ซึ่งได้ตัดเราออกจากแสงสว่างและเครื่องหมายภายนอกของเวลาอย่างอื่นๆ

มนุษย์ในสมัยโบราณสังเกตุแสงของพระอาทิตย์ขึ้นเป็นการบอกเวลาเช้า ราวกับว่าพวกเขาเราได้รับนาฬิกาชีวภาพภายใน(internal biological clock)ที่คอยทำหน้าที่ควบคุมจังหวะต่างๆเหล่านี้เอาไว้. บรรพบุรุษของเราแทบจะไม่ต้องการที่จะปรับเปลี่ยนหรือตั้งนาฬิกาชีวภาพเหล่านี้เลย. แต่สำหรับทุกวันนี้ การปรับแก้เป็นที่ต้องการอยู่บ่อยๆ อย่างเช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยผู้ซึ่งอาจจะเรียนตลอดทั้งคืน(อ่านหนังสือ), หรือคนงานที่เข้างานเป็นผลัดๆ ผู้ซึ่งต้องสลับผลัดงานของตนจากกลางวันไปเป็นกลางคืน และบรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลาย ผู้ซึ่งเดินทางข้ามเส้นแบ่งของเวลาหรือโซนของเวลา(time zones).

อาการง่วงนอน หลังจากบินในระยะทางไกลๆ

อาการง่วงนอนหลังจากบินในระยะทางไกลๆ(jet lag)เป็นความไม่สบายที่เรามักจะประสบหลังจากเดินทางข้ามโซนของเวลาหลายๆโซนด้วยกัน. เราน่าจะทราบถึงความรู้สึกอันนั้น เว้นแต่ว่าเราไม่ได้เดินทางในระยะไกล หรือมิฉะนั้นก็ เราเป็นคนหนึ่งของคนที่โชคดีเพียง 15% ผู้ซึ่งไม่ต้องประสบกับอาการดังกล่าว.

อาการ jet lag สามารถรวบรวมลักษณะอาการบางอย่างดังต่อไปนี้หรือทั้งหมดเหล่านี้เอาไว้ด้วยกันคือ : ความง่วงนอน, ความอ่อนเพลีย, ความรู้สึกหดหู่, อาการนอนไม่หลับ, การฉุนเฉียวง่าย, ความสับสน, และการสูญเสียความจำไป. การเปลี่ยนแปลงต่างๆยังเกิดขึ้นกับหน้าที่พื้นฐานต่างๆของร่างกายด้วย อย่างเช่น อัตราการเต้นของหัวใจ, ความดันเลือด, และกระบวนการหายใจ.

jet lag เป็นสิ่งที่แย่มากเมื่อเราข้ามเส้นแบ่งโซนของเวลาตั้งแต่ 4 โซนขึ้นไป, เมื่อเราหลงเวลาในการเดินทางจากตะวันออกไปยังตะวันตก, และเมื่อเรามีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป. การฟื้นคืนอาการจาก jet lag จะต้องใช้เวลาในอัตราส่วนประมาณ 1 โซนต่อ 1 วัน(เช่นถ้าเราข้ามโซนของเวลา 4 โซน ต้องใช้การฟื้นตัวประมาณ 4 วัน). อย่างชัดเจน, อาการ jet lag สามารถที่จะหยุดชงักความสนุกสนานของเราลงไปได้ ถ้าหากว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาพักผ่อน หรือมีผลกระทบกับการปฏิบัติงานของเราหากว่าเรากำลังเดินทางเพื่อธุรกิจ. โชคดี, มันมีขั้นตอนต่างๆที่เราสามารถปฏิบัติได้เพื่อลดอาการแตกแยกอันนี้ที่มีสาเหตุมาจาก jet lag. ขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ได้รับการวางกรอบอยู่ในข้อมูลของผู้โดยสารเครื่องบิน, ของทั้งบรรดากีฬา, นักบริหาร, เจ้าหน้าที่ด้านการทหาร, และนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปพักผ่อนต่างๆ. ข้อแนะนำต่อไปนี้เป็นการรวบรวมขึ้นมาจากแหล่งข้อมูลดังที่อ้างไว้ข้างต้น:

ก่อนการเดินทาง

ควบคุมเวลาอาหารของเรา เพื่อว่าในวันที่เราต้องบิน เราจะได้พร้อมที่จะกินอาหารที่เหมาะสมกับเวลา ณ จุดหมายปลายทางของเรา. ควบคุมตารางเวลาการนอนและการพักผ่อนของเราเอาไว้ เพื่อว่าเราจะได้ไม่ต้องตึงเครียดหรือเกิดอาการฉุกละหุกเมื่อเริ่มต้นการเดินทางของเรา

ช่วงระหว่างการบิน

แต่งตัวอย่างสบายๆ และพยายามปลดเสื้อผ้าที่ที่รัดออก เร็วเท่าที่เราได้ที่นั่งบนเครื่องบิน แล้วให้ตั้งเวลานาฬิกาตามจุดหมายปลายทางของเรา และเริ่มต้นทำตัวให้ดำเนินชีวิตอยู่กับเวลานั้นในใจ. ถ้าหาก ว่าเวลาในจุดหมายปลายทางของเราเป็นช่วงเวลาที่เรามักจะวิ่งจ็อกกิ้งเสมอ, ให้จินตนาการว่ากำลังวิ่งจ็อกกิ้งอยู่. เราอาจพยายามออกกำลังกายบางอย่างด้วยก็ได้ ในที่นั่ง. ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะโน้มคอไปข้างหลังสัก 5 ครั้งเพื่อบริหารคอและบริหารกล้ามเนื้อแผ่นหลังด้านบน. หรืออาจจะเบ่งและผ่อนคลายหน้าอก, ท้อง, และตะโพกสัก 5 ครั้ง. กินอาหารเบาและ, ถ้าเป็นไปได้, กินอาหารที่เหมาะสมกับเวลาตามเวลาในจุดหมายปลายทางที่จะไปถึง. พยายามหลีกเลี่ยงพวกลูกกวาด, คาเฟอีน, และพวกแอลกอฮอล์ต่างๆ. เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราไม่ได้พักผ่อน.

ยิ่งไปกว่านั้น, พวกคาเฟอีนและแอลกอฮอล์จะเพิ่มเอฟเฟคส์ต่างๆในการขจัดน้ำออกจากร่างกายของห้องผู้โดยสารที่เพิ่มความกดดัน. ให้ดื่มน้ำผลไม้มากๆและน้ำเปล่าแทน. สำหรับนักเดินทางที่มีประสบการณ์บางคน พยายามที่จะดื่มน้ำผลไม้แก้วหนึ่ง หรือน้ำเปล่าสำหรับทุกๆชั่วโมงที่พวกเขากำลังบินอยู่. ท้ายที่สุด, ให้นอนและตื่นขึ้นตามตารางเวลาในจุดหมายปลายทางของเรา.

เมื่อคุณถึงที่หมาย

ให้นอนตามเวลาของท้องถิ่นนั้นๆที่เราไปถึง ทั้งการกินอยู่ และการทำกิจกรรมต่างๆไปตามตารางเวลาทุกประการ. หากว่าเราจะต้องนอนในช่วงระหว่างเวลากลางวัน, ให้นอนน้อยกว่าสองชั่วโมง. ให้ออกนอกบ้านในตอนที่มีแสงสว่าง(หมายถึงเวลาเช้า   เร็วเท่าที่จะทำได้สักประมาณ 2 ชั่วโมง, ถ้าเป็นไปได้). แสงสว่างของดวงอาทิตย์จะช่วยใหเราปรับนาฬิกาชีวภาพในร่างกายใหม่เร็วขึ้น. ในท้ายที่สุด, ดื่มนมสักแก้วหรือกินไอศครีมก่อนที่จะเข้านอนถ้าหากว่ามีปัญหาในเรื่องการนอน.

ข้อแนะนำข้างต้นฟังดูแล้วคล้ายกับการรักษาแบบพื้นบ้านในสมัยก่อน และมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ. แต่มันก็วางอยู่บนรากฐานที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์นมมีคุณสมบัติหลายประการที่มีอิทธิพลต่อความง่วงเหงาหาวนอน.

ถ้าหากว่าเรายังไม่สามารถปรับตัวได้   ก็ควรจะพิจารณายานอนหลับต่างๆ. ตามข้อเท็จจริง, หนึ่งในยานอนหลับที่นิยมกินกันก็คือ triazolam (ชื่อตามท้องตลาดก็คือ Halcion) ซึ่งได้รับการทดสอบแล้วว่า เป็นไปได้ที่จะสามารถช่วยในการจัดการนาฬิกาชีวภาพได้. เราอาจจะต้องทดลองดู หากว่าวิธีการอื่นๆมันล้มเหลวทั้งหมด แต่ควรจะต้องระมัดระวังด้วย. ยาตัวนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า อย่างน้อยจะมีผลข้างเคียงที่ไม่ดีหรือเป็นประโยชน์อยู่ 2 ประการด้วยกันคือ ประการแรกคือ เราจะนอนเป็นพักๆอยู่สักคืนสองคืนเมื่อเราหยุดกินยา. ประการที่สอง, เราะประสบกับปัญหาเรื่องความจำเสื่อมหรือความจำเลวลง สำหรับกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างที่ยาออกฤทธิ์อยู่ในกระแสเลือด.

คำแนะนำต่างๆเหล่านี้ เป็นไปได้ที่อาจจะไม่ทำให้เราสามารถที่จะเอาชนะอาการ jet lag ได้อย่างสมบูรณ์. แต่มันน่าจะช่วยลดอาการที่ไม่สบายต่างๆของการเปลี่ยนแปลงเรื่องโซนเวลาของเราได้บ้าง. สิ่งที่ทำงานได้ผลดีที่สุดสำหรับคนๆหนึ่งนั้น อาจไม่จำเป็นต้องได้ผลดีที่สุดสำหรับคนอีกคนหนึ่ง. ด้วยเหตุนี้ เราควรที่จะคิดถึงข้อแนะนำต่างๆเหล่านี้ในฐานะที่เป็นแนวทาง สำหรับพัฒนาแผนการณ์ต่างๆของตัวเราเองเพื่อการบินที่เป็นปกติ.

    สมเกียรติ ตั้งนโม (เรียบเรียง)

 

(ข้อมูลเพิ่มเติม ในส่วนของ latent content) ปรับปรุงวันที่ 15 เมษายน 2548

เนื้อหาที่แอบแฝงของความฝัน (latent content)
สำหรับกระบวนการที่เนื้อหาแฝงของความฝัน(latent content)ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปสู่เนื้อหาที่เปิดเผยของความฝัน(manifest content) อันนี้ได้รับการรู้จักในฐานะที่เป็น"การทำงานของความฝัน"(dream work - ปฏิบัติการของความฝัน) การทำงานของความฝันสามารถที่จะแสร้งหรือบิดเบือนความคิดต่างๆที่ซ่อนเร้น(latent thoughts)ได้ใน 4 วิธี ดังต่อไปนี้ :

1. Condensation การรวมตัวแน่นหรือการบีบอัด : นั่นคือ ความคิดซ่อนเร้น 2 หรือ 3 อย่างได้ถูกนำมารวมตัวกันเพื่อทำให้เกิดภาพความฝันที่เปิดเผย(manifest dream)อันหนึ่งขึ้นมา (ดังนั้นจึงไม่ต้องสับสนว่าความฝันของเรา ทำไมจึงมีเนื้อหาปะปนกันหลายๆเรื่อง)

2. Displacement การเข้าแทนที่ : คือ การเข้าแทนที่โดยการกำกับอารมณ์ความรู้สึกหรือความปรารถนาที่ผู้ฝันมีต่อบุคคลที่รักหรือวัตถุที่ปรารถนา ด้วยการถูกแปลให้ไร้ความหมาย / กลายเป็นวัตถุที่ไม่เกี่ยวข้อง (ในความฝันที่เปิดเผย - manifest content)

3. Symbolism สัญลักษณ์ : คือ ความคิดที่คลุมเครือหรือซับซ้อน ได้รับการแปรเปลี่ยนไปสู่ภาพฝันอันหนึ่ง. สำหรับอันนี้ จิตใจอาจใช้ภาพหรือคำออกเสียงที่คล้ายคลึง (ซึ่งจำได้มากกว่า) ซึ่งเป็นวัตถุที่มีอันตรายหรือคุกคามต่อศีลธรรมน้อยกว่ามาแทน. ตามความคิดของฟรอยด์ สัญลักษณ์ของความฝันส่วนใหญ่แล้วมีความหมายไปทางด้านเซ็กซ์ ด้วยเหตุนี้ความฝันจำนวนมากจึงมีความสัมพันธ์กับเรื่องดังกล่าว

ยกตัวอย่างเช่น ฟรอยด์เสนอว่า วัตถุต่างๆอย่างเช่น ท่อนซุง, เน็คไท, อาวุธทุกชนิด, กิ่งไม้, บอลลูน, จรวด, และวัตถุที่ยาวเรียวอื่นๆล้วนเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชายที่แข็งตัว. ในขณะที่ กล่อง, หีบ, ลังขนาดใหญ่, ตู้ต่างๆ, เตาอบ, กระเป๋าและวัตถุที่มีช่องโพลงเป็นตัวแทนแสดงออกอวัยวะเพศหญิง. ปกติแล้ว ห้องเป็นตัวแทน(signified)สัญลักษณ์ของผู้หญิง แต่หมายรวมถึงบ้านทั้งหลังก็ได้ หรือเพียงประตูบานหนึ่งก็ได้เช่นกัน. การกระทำที่เรียบง่ายธรรมดาอย่างเช่น การก้าวขึ้นบันได ขั้นบันไดต่างๆสามารถบ่งชี้หรือเป็นตัวแทนปฏิบัติการทางเพศได้

ฟรอยด์มีความหลงใหลกับสัญลักษณ์เกี่ยวกับการตอน(castration) ซึ่งเขาเชื่อว่าถูกแสดงออกมาในความฝันโดยภาพคนหัวล้าน ฟันล่วง และการตัดผม. นอกจากนี้ อวัยวะสืบพันธุ์สามารถที่จะถูกทดแทนหรือแสดงออกมาโดยส่วนอื่นของร่างกายก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น อวัยวะเพศชายอาจถูกนำเสนอออกมาในรูปมือ ส่วนอวัยวะเพศหญิงอาจแสดงออกมาในรูปปากหรือดวงตา เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถอธิบายเหตุผลได้ว่า ทำไมมูลเหตุของ"การฝันเปียก" ปกติแล้วจะไม่เป็นผลอันเนื่องมาจากปฏิบัติการทางเพศธรรมดาในความฝัน

4. Secondary Revision การปรับปรุงครั้งที่สอง : อันนี้คือขั้นตอนสุดท้ายเกี่ยวกับการทำงานของความฝัน ตามความคิดฟรอยด์นี่คือที่ซึ่งความฝันได้สูญไป "ปรากฏการณ์เกี่ยวกับความเหลวไหลไร้สาระ และไม่ปะติดปะต่อกัน". โดยสาระแล้ว การปรับปรุงขั้นที่สองสามารถถูกคิดว่าเป็นหนทางต่างๆ ซึ่งการทำงานของความฝันได้ปกปิดซ่อนเร้นความขัดแย้ง และพยายามที่จะรวบรวมความฝันขึ้นมาใหม่ในแบบแผนอันหนึ่งที่ทำงานไปพร้อมกันกับประสบการณ์
ในชีวิตประจำวันของผู้ฝัน

ฟรอยด์ใช้วิธีการเกี่ยวกับ"ความเชื่อมต่อแบบอิสระ"(free association)เพื่อค้นพบความหมายที่อยู่ข้างใต้ความฝันที่หลบซ่อนอยู่(latent content - เนื้อหาที่แอบแฝง). คนไข้จะอธิบายถึงความฝันอันหนึ่งซึ่งแจ่มชัดอย่างละเอียดละออเท่าที่จะเป็นไปได้(manifest content - เนื้อหาที่เปิดเผย)… ซึ่งโดยสาระแล้วอันนี้ ผู้ตีความกำลังจะต้องเคลื่อนเข้าไปสู่ทิศทางในทางตรงข้ามโดยไขปม"การทำงานของความฝัน" จนกระทั่งเนื้อหาที่แอบแฝงอยู่เผยตัวออกมา

ฟรอยด์ยืนยันว่า ความฝันต่างๆเป็นรูปการณ์อันหนึ่งของการทำให้ความปรารถนาที่ถูกกดข่มได้บรรลุผล หรือมีช่องทางการแสดงออก. ถ้าความปรารถนานั้น(เป็นไปได้เกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์โดยกำเนิด)ไม่ได้รับความพึงใจในยามกลางวันตามปกติ จิตใจก็จะปฏิบัติการหรือแสดงปฏิกริยาของมันด้วยการกระตุ้นภายใน โดยการแปรเปลี่ยนไปสู่ภาพเพ้อฝัน(visual fantasy) - ซึ่งยอมให้ผู้ฝันพึงพอใจกับความปรารถนาอันนั้น

ผลลัพธ์ของความฝันเหล่านี้ก็คือ ทำให้การนอนหลับในยามค่ำคืนเป็นไปอย่างสงบ

ข้อมูลเพิ่มเติมส่วนนนี้นำมาจาก ...Introduction to Sigmund Freud's Theory on Dreams
Sometimes a box is just a box
By Kevin Wilson
http://www.insomnium.co.uk/text/freud.htm				
15 มกราคม 2551 23:33 น.

ทุจริตเลือกตั้งพฤติการณ์นักการเมืองเลวเส้นทางสู่รากเหง้าของปัญหาคอร์รัปชั่น

ลุงแทน

ทุจริตเลือกตั้งพฤติการณ์นักการเมืองเลวเส้นทางสู่รากเหง้าของปัญหาคอร์รัปชั่น

          แม้ว่าผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ซึ่งทำให้พรรคพลังประชาชนมีเสียงข้างมากพร้อมที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่ล่วงเลยมาเกือบเดือนแล้วก็ยังไม่แน่ว่า พรรคพลังประชาชนจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบบาลได้หรือไม่ เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการแจกใบแดง และใบเหลืองว่าที่ส.ส.เป็นจำนวนมาก ย่อมสะท้อนให้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่เพิ่งผ่านมา ยังมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอย่างท้าทายกฎหมาย และอำนาจรัฐ ยังไม่รวมถึงการซื้อเสียงที่ กกต.ยอมรับว่า ไม่สามารถเอาผิดได้เนื่องจากขาดพยานหลักฐานมัดแน่น ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการซื้อเสียงของพรรคการเมืองในปัจจุบัน พัฒนารูปแบบที่แนบเนียนซับซ้อนมากขึ้น เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบของ กกต.

          การซื้อเสียงและทำผิดกฎหมายเลือกตั้งที่เกิดขึ้นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า กลไกอำนาจรัฐและกกต.ยังไม่สามารถสกัดกั้นการซื้อเสียง    เพื่อทำให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริงได้ ทั้งนี้การเมืองกลายเป็นธุรกิจที่ต้องทุ่มลงทุนจำนวนมากเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ รัฐ ย่อมแน่นอนว่าผู้ลงทุนย่อมต้องหวังผลในการ ถอนทุนบวกกำไรอีกมหาศาล สิ่งนี้จึงเป็นรากเหง้าแห่งปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและยังสามารถ อาศัยอำนาจรัฐใช้วิชามารทุกรูปแบบเพื่อทำลายศัตรูทางการเมือง และสร้างฐานทางการเมืองของตัวเองหวังผูกขาดอำนาจในระยะยาว

          การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้เป็นบทเรียนที่ ทางหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, คณะกรรม การตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดิน จะต้องร่วมมือกันหาทางป้องกันไม่ให้มีการซื้อเสียงเลือกตั้งได้อีก และต้องร่วมกันหาวิธีการให้การศึกษาแก่ประชาชนผู้ที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งไม
่ให้ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ทุจริตอย่างที่เป็นอยู่เพื่อให้การเลือกตั้งใน  อนาคตมีความบริสุทธิ์และยุติธรรมมากขึ้น

          นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม บอกว่า ปัญหาทุจริตโกงกินจัดว่ามี ความเลวร้ายพอๆ กับการรัฐประหาร แต่ถ้าหยุด การคอร์รัปชั่นไม่ได้ ก็คงไม่สามารถหยุดยั้งการรัฐประหารได้เช่นกัน เพราะกลุ่มที่ทำการรัฐประหารจะอ้างว่า ต้องการคืนอำนาจสู่ประ ชาชน สำหรับการเริ่มต้นปราบปรามคอร์รัปชั่น ต้องทำให้สังคมมีความชัดเจนจริงจังในเรื่องการ ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ เพราะขณะนี้ประชาชนกว่า 90% ไม่ชอบการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ในมุมมองต่อผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่กระทำการ ทุจริตคอร์รัปชั่น สังคมกลับให้ความยอมรับนับถือ มองว่าไม่เป็นไร เพราะงานปราบปรามไม่ใช่หน้าที่ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐ

          นอกจากนี้การทุจริตคอร์รัปชั่นยังแทรก ซึมไปถึงเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำองค์กร ผู้บริหาร นับจากเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 เป็นเวลากว่า 75 ปี เรามีผู้นำที่เป็นต้นแบบของความซื่อสัตย์สุจริตน้อยมาก เมื่อเทียบ กับคนทำชั่วแล้วได้ดี มีเงินเป็นพันล้านบาท  บางคนไม่มีฐานะพอเข้าสู่แวดวงการเมืองหรือมีตำแหน่งสูง ก็มีเงินเป็น 100 ล้านบาท และยังได้รับความนับถือไปไหนมีแต่คนยกมือไหว้ แสดงถึงความเป็นสังคมธนบัตรนิยมสุดโต่ง

          หากต้องการเริ่มต้นงานปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องเริ่มสร้างความรู้ความเข้า ใจให้แก่ประชาชนถึงพิษภัยของการทุจริต   เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศชาติ แต่ปัจจุบันเรากลับมีมุมมองที่ว่า กินตามน้ำ รับคอมมิสชั่น วัดครึ่ง กรรมการครึ่ง ไม่เป็นไร โกงแล้วแบ่ง ดีกว่าอมไว้คนเดียว จึงทำให้ระบบคอร์รัปชั่นกระจายไปทั่วประเทศ ระบบคิดแบบนี้ทำให้นักการเมืองโกงกินแล้วแบ่งเงินให้พรรคครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ตนเองกลายเป็นบุคคลสำคัญจะได้รับการผลักดันให้อยู่ในตำแหน่งสูงขึ้น และหาวิธีการทุจริตที่แยบยลมากขึ้น รวมถึงการนำเงินไปซุกซ่อนไว้ในต่างประเทศ เพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ จากนั้นก็มาบอกประชาชนว่า การทุจริตดีต่อภาพรวม หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่อย่างนี้จะแก้ปัญหาทุจริตไม่ได้ เพราะมิจฉาทิฐิแห่งการคอร์รัปชั่นจะได้รับความนิยมแพร่หลาย

          นายจรัญบอกว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเชื่อมโยงกับการทุจริตซื้อเสียงในการเลือกตั้ง  แม้ขณะนี้จะยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่การ ทุจริตเลือกตั้งเพื่อเป็นช่องทางการเข้าสู่อำนาจ ทางการเมือง เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งแล้วก็ต้องถอน ทุนด้วยการโกง เพื่อนำเงินมาซื้อเสียงให้ได้ตำแหน่งที่สูงกว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ชาวบ้านไม่รู้สึกอะไรที่เลือกคนโกงเข้าไป เพราะคน ที่เลือกเข้าไปให้ผลประโยชน์แก่พวกเขา นอก จากเรื่องการทุจริตของนักการเมืองแล้ว ยังต้อง ระวังการซื้อขายตำแหน่งราชการ คนพวกนี้เมื่อเข้าสู่วงจรซื้อขายตำแหน่งก็ต้องโกงเพื่อให้ได้ตำแหน่งสูงขึ้น จนสุดท้ายต้องเข้าเป็นแนว ร่วมของฝ่ายการเมือง

          การเมืองยังคงวนเวียนอยู่ในเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเอง โดยหาได้มีอุดมการณ์จิตสำนึกเพื่อชาติบ้านเมืองแม้แต่น้อย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าแม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ก็เป็นประชาธิปไตยเพียงเปลือกนอกที่ยังย่ำอยู่กับที่ ซึ่งผลการเลือกตั้งทั่วไปที่ออกมาจะพบว่า แวดวงนักการเมืองยังคงเป็นเหล้า เก่าในขวดใหม่ที่เต็มไปด้วยบรรดานักการเมือง ประเภทน้ำเน่า หรือผู้มีอิทธิพลจำนวนมาก  ขณะที่พรรคการเมืองยังคงมีพฤติกรรมใช้วิชามารทุกรูปแบบเพื่อแก่งแย่งอำนาจ ช่วงชิง  ต่อ รอง หรือสมคบกันแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยมีผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นอาหารอันโอชะ

          ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นว่าอำนาจเงินยังมีอิทธิพลต่อการออกเสียงลงคะแนนของประชาชน
อยู่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะประชาชนในภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางบางจังหวัด มีหลักฐานชัดเจนในหลายๆ จังหวัดระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายพรรคการเมืองใช้เงินซื้อเสียงจากประชาชนทั้งในรูปแบบโดยตรงผ่านหัวคะแนน และรูปแบบทางอ้อมผ่านผู้นำชุมชน ในบางจังหวัดมีวิธีการที่แยบยล โดยนอกจากจะจ่ายเงินซื้อเสียงในขั้นแรกแล้ว ยังมีการจ่ายเงินรางวัลเป็นโบนัสให้แก่หัวคะแนนที่ เป็นผู้นำชุมชนอีกด้วย

          ทั้งหมดเป็นรากเหง้าของประชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าเราอาจ จะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด มีกฎเกณฑ์มีระเบียบแบบแผนที่ขีดเขียนไว้สวยหรูเพียงใด แต่หากว่ายังปล่อยให้วิถีและวงจรอุบาทว์เกลือกกลั้วอยู่คู่กับเส้นทางของนักการเมือง เชื่อได้เลยว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นก็ยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป เพียงแต่นักการเมือง ซึ่งได้ตำแหน่งมาในวิถีทางที่ผิดปกติ โดยสำเหนียกและสดับรับฟังเอากระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติ อย่างแท้จริง เชื่อว่าปัญหาการทุจริตคอร์ รัปชั่นอาจจะบรรเทาเบาบางมากกว่านี้--จบ--				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงลุงแทน