26 พฤศจิกายน 2550 20:33 น.
ลุงแทน
.......วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา จงตั้งเอากายเจ้าเป็นสำเภาอันโสภา ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ นิ้วเป็นสายระยาง
สองเท้าต่างสมอใหญ่ ปากเป็นนายงานไป อัชฌาสัยเป็นสะเบียง สติเป็นหางเสือถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง ถือไว้อย่าให้เอียงตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา ปัญญาเป็นกล้องแก้ว
ส่องดูแถวแนวหินผา เจ้าจงเอาหูตาเป็นล้าต้าฟังดูลม ขี้เกียจคือปลาร้ายจะทำลายให้เรือจม เอาใจเป็นปืนคมยิงระดมให้จมไป จึงจะได้สินค้ามาคือวิชาอันพิสมัย
จงหมั่นมั่นหมายใจ อย่าได้คร้านการวิชา
25 พฤศจิกายน 2550 19:59 น.
ลุงแทน
ข้อคิดในการจัดงานวันเกิด
**********
งานวันเกิดที่ยิ่งใหญ่ใครคนนั้น
ฉลองกันในกลุ่มผู้ลุ่มหลง
หลงลาภยศ สรรเสริญ เพลินกมล
วันเกิดตนชีพสั้นเร่งวันตาย
ณ มุมหนี่งซึ่งเหงาน่าเศร้าแท้
หญิงแก่แก่ซึ่งหงอยและคอยหาย
โอ้วันนี้ในวันนั้นอันตราย
แม่คลอดสายโลหิตแทบปลิดชนม์
วันเกิดลูกนั้นคล้ายวันตายแม่
เจ็บท้องแท้สักเท่าไรก็ไม่บ่น
กว่าอุ้มครรภ์จะคลอดรอดเป็นคน
เติบโตจนมาบัดนี้นี่เพราะใคร
แม่เจ็บเจียรขาดใจในวันนั้น
กลับเป็นวันลูกฉลองกันผ่องใส
ได้ชีพแล้วก็หลงระเริงใจ
ลืมผู้ให้ชีวิตอนิจจา
ไฉนหนอเขาเรียกกันว่าวันเกิด
วันผู้ให้กำเนิดจะถูกกว่า
คำอวยพรที่เขียนควรเปลี่ยนมา
ให้มารดาเป็นสุขจึงถูกแท้
เลิกจัดงานวันเกิดกันเถิดหนา
แล้วหันมาคุกเข่ากราบเท้าแม่
ควรคิดถึงพระคุณอบอุ่นแท้
อย่ามัวแต่จัดงานประจานตัว
**************************
..............บทกลอนบทนี้ เป็นผลงานของท่าน อาจารย์ นภาลัย สุวรรณธาดา เกษียรจากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เป็นผลงานที่ท่านอาจารย์ได้ประสพกับตนเอง ระหว่างที่ท่านขับรถกลับ หลังจากขอตัวกลับก่อนในงานวันเกิดลูกศิษย์ของท่านคนหนึ่งที่ทำให้ท่านนึกบทกลอนบทนี้ขึ้นมา
.......เรื่องมีอยู่ว่า ท่านได้รับเชิญจากลูกศิษยืคนหนึ่งไปในงานวันเกิดของเขา ในระหว่างที่ทุกคนกำลังสนุกกันอยุ่นั้น อาจารย์ท่านขอตัวเข้าห้องน้ำ ห้องน้ำนั้นต้องผ่านห้องครัว เมื่อม่านจะเข้าห้องน้ำได้พบ หญิงชราคนหนึ่งนั่งผ่องๆทานขข้าวอยู่ที่หน้าห้องครัว สายตานั้นมองไปที่ลูกศิษย์ของท่านด้วยสายตาที่ปลาบปลื้มใจ ปนความขมขื่น อาจารย์ถามว่า
อาจารยฯ. คุณยายทำไมมานั่งทานข้าวตรงนี้ทำไมไม่ออกไปทานข้างนอกล่ะคะ
หญิงชรา. อ้อ..............ไม่ไรค่ะ....นั่งทานตรงนี้สะดวกดีกว่าค่ะ
อาจารย์ฯ.งั้นเดี๋ยวออกไปทานด้วยกันนะคะ
หญิงชรา. ไม่เป็นไรค่ะ...เพราะ....ลูกเขาสั่งไม่ให้ออกไป .....
เขาบอกว่าเขาอายเพื่อนๆค่ะ
อาจารย์ฯ.....???????????????.............
อาจารย์ท่านเหมือนมีอะไรมาจุกที่ลำคอ พูดไม่ออก สายตามองออกไปที่ลูกศิษย์ของท่านด้วยความขมขื่น ไม่ได้เข้าห้องน้ำ แต่ออกมาตัวกับลูกศิษย์ ท่าขับรถออกมา ด้วยความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก เมื่อกลับมาถึงบ้าน ท่านอาจารย์จึงได้เขียน "บทกลอนนี้ออกมา" เพื่อลูกๆ ทุกคน
25 พฤศจิกายน 2550 14:39 น.
ลุงแทน
(๑) กัลยาณมิตตตา ( ความมีกัลยาณมิตร คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษาเพื่อนที่คบหา และบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี, ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคล หรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถ ซึ่งจะช่วยแวดล้อม สนับสนุนชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่าง ตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการ และธรรมปฏิบัติ, สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี - having good friend; good company; friendship with the lovely; favorable social environment) ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายนอก (internal factor; environmental factor)
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
“ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ (การครองชีวิตประเสริฐ) ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอารยอัษฎางคิกมรรค”
“อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา ก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส”
“เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนความมีกัลยาณมิตร, ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
“ความมีกัลยาณมิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ
S.V.2-30; A.I.14-18; It.10. สํ.ม.๑๙/๕-๑๒๙/๒-๓๖; องฺ.เอก.๒๐/๗๒-๑๒๘/๑๖-๒๕; ขุ.อิติ. ๒๕/๑๙๕/๒๓๗
25 พฤศจิกายน 2550 14:26 น.
ลุงแทน
................. 1. ชีวิตย่อมเป็นไปตามวิถีแห่งกรรมลิขิต(ละชั่ว ทำดี ) วอนขออะไร ?
2. วันนี้ ไม่รู้เหตุการณ์ของวันพรุ่งนี้ กลุ้มเรื่องอะไร ?
3. ชีวิตย่อมมีโอกาส ประสบความสำเร็จได้ ร้อนใจทำไม ?
4. ชีวิตใช่จะพบเห็นรอยยิ้มได้ง่าย ทุกข์ใจทำไม ?
5. อาหารผ่านลิ้นแล้ว เป็นอะไร อร่อยไย ?
6. ผ้าขาดปะแล้ว กันหนาวได้ อวดโก้ทำไม ?
7. ตายแล้วบาทเดียว เอาไปไม่ได้ ขี้เหนียวทำไม ?
8. โอกาสจะได้ กลายเป็นเสีย โลภมากทำไม ?
9. ที่ดินเป็นสิ่งสืบทอด แก่คนรุ่นหลัง โกงกันทำไม ?
10. ลูกหลานเกิดมามีบุญ กรรมตามลิขิต ห่วงใยไปไย ?
11. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อยู่เหนือศรีษะ 3 ฟุต ข่มเหงกันทำไม ?
12. ลาภยศเหมือนดอกไม้บานแล้วอยู่ไม่นาน หยิ่งผยองทำไม ?
13. ชีวิตลำเค็ญ เพราะชาติก่อนไม่บำเพ็ญ แค้นใจทำไม ?
14. จองเวร จองกรรม เมื่อไหร่จะจบสิ้น อาฆาตกันทำไม ?
15. ดีชั่วย่อมรู้กันทั่วในที่สุด โต้เถียงกันทำไม ?
25 พฤศจิกายน 2550 13:39 น.
ลุงแทน
กระจกส่องใจ
กระจก…..ไม่เลือกที่จะสท้อนภาพทุกชนิด ฉันใด
จิตใจ……จงเอาเยี่ยงอย่างกระจก
กระจก…..รับรู้ แต่ไม่ยึดถือยึดติดและครอบครอง
ดังนั้น…...จึงไม่มีภาพใดใดหลงเหลือหรืออยู่ในกระจก
สายฝน…..ในกระจก หาเปียกกระจกไม่
เปลวไฟ…..ก็หาได้เผาลนกระจกเช่นกัน
ทั้งนี้……...เพราะกระจกไม่ได้ให้อำนาจแก่สายฝน และเปลวไฟ
ดังนั้น……จงทำใจของท่าน ให้เป็นดุจการรับรู้ของกระจก อย่ายึดติด เพราะถ้าหากจิตของท่าน หลงยึดถือยึดติด
หรือตกเป็นทาสของกิเลสเมื่อใด ความทุกข์ ความเศร้าหมอง ความกังวล ความไม่สบายใจ ย่อมตามมาเมื่อนั้น
นี่คือมรรควิธีแห่งการเพ่งพิจารณาและรับรู้สรรพสิ่งด้วยใจที่สงบบริสุทธิ์ ว่างเปล่าจากการปรุงแต่ง เพื่อปลด
ปล่อยจิตใจให้ว่างเปล่าหลุดพ้นไปจากภาพมายาธรรมต่าง ๆ ที่คอยฉุดรั้ง หลอกลวงจิตไม่ไห้เห็นถึงความจริง
ซึ่งจะต้องพยายามทำจิตให้หลุดพ้นจากการยึดติดในสิ่งทั้งปวงเปรียบเหมือนกระจก ฯ