5 ธันวาคม 2550 20:30 น.

กษัตริย์นักประดิษฐ์ ทรงพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดทุกข์บำรุงสุขปวงประชา

ลุงแทน

*****กษัตริย์นักประดิษฐ์ ทรงพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดทุกข์บำรุงสุขปวงประชา*****

      พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชดำริโครงการต่างๆ มากมายโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่เพียงแต่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยเท่านั้น ผลงานในโครงการตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านยังเป็นที่ประจักษ์ต่อนานาประเทศ และใช้แก้ปัญหาของประชาชนทั่วโลกได้
       
       เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธ.ค.50 ทีมงานผู้จัดการวิทยาศาสตร์ขอร่วมเทอดพระเกียรติพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน ที่ทรงใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาให้แก่พสกนิกร ก่อเกิดเป็นผลงานนวัตกรรมใหม่มากมาย
       
       ปัญหาน้ำแล้งที่คุกคามประชาชนทุกหย่อมหญ้า ด้วยพระเมตตาและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงให้กำเนิด "ฝนหลวง" หรือ "ฝนเทียม" จากสารเคมีที่หาได้ไม่ยาก ผสมกันด้วยสูตรเฉพาะ โดยใช้เทคนิค "ก่อกวน" กระตุ้นให้เมฆฝนรวมตัวกันและ “เลี้ยงให้อ้วน” ก่อนที่จะ “โจมตี” ให้เกิดเป็นเม็ดฝนโปรยลงมายังความชุ่มฉ่ำให้พสกนิกรดุจน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อพสกนิกร
       
       กระทั่งในเดือน มิ.ย. 49 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร "ฝนหลวง" ที่ยื่นจดในประเทศโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.46 และในต่างประเทศโดยสำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 48
       
       ขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการหาแหล่งพลังงานทดแทน ทว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ในหลวงของเราทรงพระปรีชายิ่งที่พระองค์ท่านได้ตระหนักถึงปัญหานี้ก่อนใครๆ และทรงค้นคว้าการผลิตไบโอดีเซลจากพืช เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาน้ำมันขาดแคลนและผลผลิตด้านการเกษตรราคาตกต่ำในอนาคต
       
       ในปี 2544 วช. ได้นำผลงาน “น้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม” ไปจัดแสดงในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “Brussels Eureka 2001” ที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์ของราชอาณาจักรเบลเยียม ณ กรุงบรัสเซลส์ พร้อมกับผลงาน “ฝนหลวง” และ “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งทั้ง 3 ผลงานนี้ได้รับรางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailand พร้อมถ้วยรางวัลทำด้วยเงิน และถ้วยรางวัล SPECIAL PRIX for His Majesty The King of Thailand พร้อมประกาศนียบัตร และยังมีรางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพที่มอบแด่ผลงานทั้ง 3 อย่างละรางวัลด้วย
       
       เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา 2 องค์กรด้านการประดิษฐ์ระดับโลกก็พร้อมใจกันทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักประดิษฐ์ที่พระองค์ท่านทรงคิดค้นและพัฒนากังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอดจนผลงานเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (IFIA) กรุงบูดาเปสต์ สาธารณรัฐฮังการี ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลไอเอฟไอเอคัพพร้อมใบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ และเหรียญรางวัลจีเนียสไพรซ์ (Genius Prize) ส่วนสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ (KIPA) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสเปเชียลไพรซ์พร้อมประกาศนียบัตร
       
       ก่อนหน้านี้จากกังหันน้ำชัยพัฒนาเคยได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นจากงาน “บรัสเซลส์ ยูเรกา” มาแล้ว 5 รางวัล ในปี 43 ได้แก่ เหรียญรางวัล Prix OMPI โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO), เหรียญรางวัล Gold Medal with Mention และประกาศนียบัตร, ถ้วยรางวัล Grand Prix International ซึ่งเป็นรางวัลผลงานประดิษฐ์ดีเด่นสูงสุด, ถ้วยรางวัล Minister J.CHABERT (Minister of Economy of Brussels Capital Region) หรือรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น และถ้วยรางวัล Yugoslavia หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์
       
       ทั้งนี้ กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 2 ก.พ.36 และนับแต่นั้นมาวันที่ 2 ก.พ. ของทุกปี จึงเป็นวันนักประดิษฐ์แห่งประเทศไทย โดยในวันที่ 21 พ.ย.49 คณะรัฐมนตรีมีมติทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       
       พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้มีแต่เพียงเท่านี้ พระองค์ยังทรงประดิษฐ์ "เรือใบตระกูลมด" ประกอบด้วย เรือใบมด, เรือใบซูเปอร์มด และเรือใบไมโครมด ซึ่งแสดงถึงความวิริยอุตสาหะของพระองค์ท่านที่ทรงเพียรพยายามเพื่อให้เสร็จสมดังพระราชหฤทัย พระองค์ท่านทรงออกแบบเรือใบเหล่านี้ให้เหมาะสมกับสรีระของคนไทย ได้มาตรฐาน น้ำหนักเบา แล่นเร็ว และง่ายต่อการใช้งาน และทรงจดลิขสิทธิ์เรือใบมดเป็นสากลประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ ส่วนเรือใบซูเปอร์มดยังเป็นพาหนะที่พระองค์ท่านทรงใช้ในการแข่งขันเรือใบในการแข่งขันระดับนานาชาติหลายต่อหลายครั้ง ต่อมาพระองค์ท่านทรงปรับปรุงแก้ไขเรือใบตระกูลมดเหล่านี้จนกลายเป็นเรือยนต์รักษาฝั่งชื่อว่า "ต. 91" ปัจจุบันเรียกว่า "เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง"
       
       ในหลวงยังทรงมีพระปรีชาสามารถในการอนุรักษ์ดินด้วยหญ้าแฝก ที่มีระบบรากช่วยยึดหน้าดินไม่ให้พังทลาย ขณะเดียวกันก็ช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลผ่านหน้าดิน ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นของดินไว้ ทำให้ดินที่เสื่อมโทรมกลับฟื้นคืนชีวิตชีวาได้อีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ประชาชนปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาหน้าดินพังทลาย ทางสมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ (International Erosion Control Association: IECA) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล The International Erosion Control Association’s International Merit Award แด่พระองค์ท่านที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.36
       
       โครงการแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยการขุดคลองเก็บกักน้ำไว้ในฤดูน้ำหลาก และค่อยๆ ระบายออกเมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลง โครงการแกล้งดินเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว โดยการแกล้งให้ดินเปรี้ยวจัดเสียก่อน แล้วค่อยใส่สารที่มีฤทธิ์เป็นเบสลงไปในดิน ทำให้ดิน "ช็อก" และกลับสู่สภาวะปกติ เพาะปลูกได้ดีดังเดิม
       
       โครงการแหลมผักเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ที่แยกขยะเศษอาหารออกจากขยะอื่นๆ แล้วนำไปหมักในบ่อคอนกรีตด้วยกระบวนการที่กระตุ้นให้เกิดการย่อยสลายเศษอาหารเป็นสารอนินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยให้พืชต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการบำบัดน้ำเน่าเสียจะใช้สาหร่ายหรือพืชเป็นตัวเพิ่มออกซิเจนให้กับจุลินทรีย์ในน้ำให้ทำหน้าที่ย่อยสลายสิ่งปฏิกูลได้ดียิ่งขึ้น
       
       นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชดำริขึ้น เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชาทุกหมู่เหล่า เพื่อให้ราษฎรทุคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ทรงครองราชย์
ประมวลรางวัลและสิทธิบัตรผลงานเด่น ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       
       พ.ย. 2550
       สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ หรือ ไอเอฟไอเอ (IFIA) สาธารณรัฐฮังการี ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลไอเอฟไอเอคัพพร้อมใบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ (IFIA Cup) และเหรียญรางวัลจีเนียสไพรซ์ (Genius Prize), สมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ หรือคิปา (KIPA) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสเปเชีลไพรซ์พร้อมประกาศนียบัตร (Special Prize) แด่ผลงานกังหันน้ำชัยพัฒนา, ทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียง
       
       ก.พ. 2550
       องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “โกลบอล ลีดเดอร์ส อะวอร์ด” (Global Leaders Award) แด่ผลงาน กังหันน้ำชัยพัฒนา, ฝนหลวง, ไบโอดีเซล และทฤษฎีใหม่
       
       21 พ.ย. 2549
       คณะรัฐมนตรีมีมติทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       
       20 มิ.ย. 2549
       คณะรัฐมนตรีมีมติเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" และกำหนดให้วันที่ 5 ต.ค. ของทุกปี เป็น "วันนวัตกรรมแห่งชาติ"
       
       มิ.ย. 2549
       สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร "ฝนหลวง" ที่ยื่นจดในประเทศโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2546 และในต่างประเทศโดยสำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) ภายใต้ชื่อ “Weather Modification by Royal Rainmaking Technology” เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2548
       
       พ.ค. 2549
       นายโคฟี อนัน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในขณะนั้น ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์” (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) ของโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ
       
       2544
       ผลงาน “น้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม", "ฝนหลวง” และ “ทฤษฎีใหม่” ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailande พร้อมถ้วยรางวัลทำด้วยเงิน และถ้วยรางวัล SPECIAL PRIX for His Majesty The King of Thailand พร้อมประกาศนียบัตร
       ผลงาน “น้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม" ได้รับทูลเกล้าฯ รางวัล Gold medal with mention
       ผลงาน “ฝนหลวง” ได้รับทูลเกล้าฯ รางวัล Gold medal with mention
       ผลงาน “ทฤษฎีใหม่” ได้รับทูลเกล้าฯ รางวัล Gold medal with mention
       
       2543
       ผลงานประดิษฐ์ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลทั้งสิ้นรวม 5 รางวัล ได้แก่ เหรียญรางวัล Prix OMPI โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO), เหรียญรางวัล Gold Medal with Mention และประกาศนียบัตร, ถ้วยรางวัล Grand Prix International, ถ้วยรางวัล Minister J.CHABERT (Minister of Economy of Brussels Capital Region) และถ้วยรางวัล Yugoslavia
       
       ต.ค. 2536
       สมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ (International Erosion Control Association: IECA) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล The International Erosion Control Association’s International Merit Award เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ
       
       2 ก.พ. 2536
       กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา
       
       นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงนำเรือใบมดไปจดสิทธิบัตรเป็นสากลประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะออกแบบและต่อเรือด้วยพระองค์เองในช่วงระหว่างปี 2509 - 251				
5 ธันวาคม 2550 19:15 น.

องค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงขอร้องอะไรไม่สำเร็จสักอย่างเพราะ…

ลุงแทน

ขอย้ำเตือนเพื่อความเป็นมงคลยิ่งกันอีกครา อยากให้พวกเราเหล่าพสกนิกรทั้งหลาย ได้ยกขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรอง พระราชดำรัสขององค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กันบ่อยๆ เถิด ผู้เขียนเห็นว่าเป็นพระราชดำรัสที่แฝงไว้ด้วยนัยอันสำคัญยิ่ง อันจะเป็นพลังดลใจแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คน ได้ฉุกคิด ได้ร่วมมือกันแก้ไขแนวทางมิจฉาทิฐิซ้ำรอยเดิมที่ครอบงำประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ได้กลับมาร่วมมือกันคิดสร้างสรรค์ประเทศชาติให้ถูกต้องโดยธรรม อันจะนำมาซึ่งความมั่นคง เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าผาสุกของประเทศชาติ ความย่อตอนหนึ่งว่า “...ซึ่งข้าพเจ้าก็อยากจะบอกว่าขอร้องให้ทุกท่านช่วยประเทศไทยให้ช่วยราษฎรไทยต่อไปลูกหลานท่านเองในอนาคต ...ได้ขอร้องท่านนายกฯ ท่านไปแล้ว... และอีกอย่างที่ข้าพเจ้าอยากจะขอร้องพวกท่าน เพราะข้าพเจ้าเป็นพระราชินี ตั้งแต่อายุ 17 กว่าๆ ก่อน 18 ไม่กี่เดือน จนถึง 75 ยังขอร้องอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ไม่มีผลอะไรเลย เรื่องต้นไม้ก็ไม่มีผลสำเร็จ ทางการก็ไม่มีกฎหมายอะไร หรือมาตรการที่จะดูแลรักษาป่า เพื่อเก็บน้ำจืดไว้ แล้วก็ ภรรยาท่านประธานาธิบดีแห่งลาว เมื่อตอนมาเยือนประเทศไทย ก็พูดกับข้าพเจ้าบอกว่า เอ๊ะคนไทยทำไมชอบตัดป่านัก ตัดป่าของตนเองเหี้ยนเตียนหมด อีกหน่อยเถอะ ระวังจะไม่มีน้ำกิน ยังก้าวร้าวเข้าไปตัดป่าในเมืองลาวอีก ลาวไม่ยอมเด็ดขาดไล่เปิดไปหมด...
       
       ...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านสอนข้าพเจ้าอย่างนี้ นี่เป็นอย่างนี้ พูดเท่าไหร่ไม่ฟัง ก็ต้องตายซะก่อน เห็นซะก่อนถึงจะเชื่อฟัง ... . เพราะฉะนั้นก็หวังจะได้รับความร่วมมือจากทุกท่านว่า ตั้งต้นเสียทีเถิด ได้ขอให้ทุกท่านถ้าไม่อยากให้ลูกหลานอดอยากก็ขอให้ช่วยกันสู้รักษาสมบัติของบรรพบุรุษไทยให้คงอยู่เพื่อเลี้ยงคนไทยต่อไป... ...ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจว่าคนไทยเรา อ้อ ภรรยาประธานาธิบดีประเทศลาว พูดว่า คนไทยเนี่ย ด็อกเตอร์เดินออกเกลื่อนกลาด แต่ทำไมไม่รู้จักว่าป่าเป็นสิ่งสำคัญ เก็บน้ำในดินให้กับประเทศ เป็นด็อกเตอร์เดินไปเดินมา ว่าอย่างนี้กับข้าพเจ้า ระหว่างนั่งรถจากดอนเมืองมากว่าจะถึงกรุงเทพมหานคร เสียงนี้ปลงคนไทย ปลงอนิจจังว่าเป็นด็อกเตอร์ซะเปล่าๆ ทำอะไรอย่างนี้ได้อย่างไร...” (พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม 2550)
       
        สรรสิ่งล้วนเกี่ยวพันสัมพันธ์กันทั้งหมด ตามกฎอิทัปปัจจยตา “เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี (ถ้ามีเหตุดี ผลก็จะดีตาม) เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น (เมื่อมีเหตุดีเกิดขึ้น ผลดีก็เกิดขึ้นตามเป็นลูกโซ่แผ่กระจายขยายกว้างออกไปทุกทิศทุกทางจากใกล้สุด ไปสู่ไกลสุด และจากสูงสุดลงสู่ต่ำสุด) อันนี้เป็นกฎธรรมชาติ สภาวะอสังขตธรรมหรือนิพพานอันเป็นเหตุที่ดีที่สุดสมบูรณ์สูงสุด ได้แผ่กระจายขยายกว้างออกไปทุกทิศทุกทางเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุด จนถึงมนุษย์ อันเกิดการวิวัฒนาการเกิดขึ้นใน 2 ลักษณะคือ (1) แบบค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อถึงจุดอิ่มตัวก็จะเปลี่ยนเป็น (2) แบบก้าวกระโดด การวิวัฒนาการของธรรมชาติจะเป็นไปในลักษณะทั้งสองนี้ไปเรื่อย ๆ ดูได้ง่ายๆจากคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น ปุถุชนผู้ยังหนาด้วยกิเลส เมื่อเข้ามาบวชเรียนและปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอนอย่างถึงที่สุดแล้ว ก็จะเกิดการวิวัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไป และก้าวกระโดดไปสู่การบรรลุพระโสดาบัน และค่อยเป็นค่อยไปบรรลุพระสกิทาคามี และก้าวกระโดดเป็นพระอนาคามี จากนั้นก็พัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปจนก้าวกระโดดเข้าสู่สภาวะพระอรหันต์ อันเป็นสภาวะสูงสุด ที่ไม่ต้องวิวัฒนาการอีกต่อไปแล้ว
       
        อีกนัยหนึ่งสภาวะอสังขตธรรมแผ่กระจาย ส่วนสภาวะอสังขตธรรมวิวัฒนาการเข้ารวมศูนย์หรือมุ่งสู่สภาวะอสังขตธรรม จึงเป็นปัจจัยให้กฎธรรมชาติดำรงอยู่ได้ อันเป็นธรรม หรือธรรมาธิปไตย คือความเป็นใหญ่แห่งธรรม หมายถึง (1) สภาพที่ทรงไว้มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง (2) สภาวะที่ไม่ตาย (3) สภาวะสันติถาวร (4) แก่นธรรม (5) ต้นเหตุ (6) สัจธรรม (7) ความจริงแท้ (8) ความยุติธรรม (9) หลักการ (10) คุณธรรม (11) ความถูกต้อง (12) ความประพฤติชอบ (13) สัมมาทิฐิ (14) พระธรรม (15) คำสั่งสอนของพระศาสดาที่ปรากฏขึ้น ฯลฯ
       
        ธรรมาธิปไตย หมายถึง (1) จงอาศัยธรรมเท่านั้น (2) สักการธรรม (3) ทำความเคารพธรรม (4) นับถือธรรม (5) บูชาธรรม (6) ยำเกรงธรรม (7) มีธรรมเป็นธงชัย (8) มีธรรมเป็นยอด (9)มีธรรมเป็นใหญ่... (ธรรม หรือบรมธรรม, ธรรมาธิปไตย เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง)
       
        ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราสร้างเหตุไม่ดีเกิดขึ้น (ตรงข้ามกระแสธรรมฝ่ายก้าวหน้า หมายความเป็นมิจฉาทิฐิ) ผลก็จะเสียตามเป็นลูกโซ่แผ่กระจายขยายกว้างออกไปทุกทิศทุกทางจากสูงสุดลงสู่ต่ำสุดดุจเดียวกัน จากระบอบการเมืองมิจฉาทิฐิเป็นปฐมเหตุเสียแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้สถาบัน องค์การ และองค์กรต่างๆ ภายใต้ระบอบฯ มิจฉาทิฐิไปด้วยอย่างเป็นไปเอง ถึงแม้ว่า บางสถาบัน องค์การ ฯลฯ ต่างๆ จะมีความถูกต้องโดยธรรมก็ตาม แต่ก็ไม่อาจจะต้านทานระบอบการเมืองที่ใหญ่กว่าได้ ดุจเดียวกับปลา ไม่อาจจะต้านทานน้ำเน่าได้ ฉันใด สถาบัน องค์การ องค์กรต่างๆ ก็ไม่อาจจะต้านทานอำนาจของระบอบมิจฉาทิฐินั้นได้ แต่เมื่อทนไม่ไหว ก็เกิดรัฐประหารขึ้น แต่เมื่อทำรัฐประหารแล้ว คณะรัฐประหารก็กลับทำผิดซ้ำรอยเดิมทุกทีไป คณะผู้ปกครองไทยได้สร้างระบอบมิจฉาทิฐิมาอย่างยาวนานกว่า 75 ปี จึงเป็นปัจจัยให้ประเทศของเราล้าหลังเสื่อมทรุดอย่างน่ากังวลที่สุด ก็เพราะผู้ปกครองไทยนับแต่ 2475 และต่อๆ มา เป็นคณะผู้ปกครองล้วนแล้วแต่มิจฉาทิฐิ และล่าสุดจนถึงคณะผู้ปกครองชุดปัจจุบันสร้างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 50 ที่ว่าเป็นมิจฉาทิฐิ คือพวกเขายึดมั่นในลัทธิรัฐธรรมนูญ แต่หลงเข้าใจว่าเป็นลัทธิประชาธิปไตย พวกเขาจึงมีแนวคิดสร้างรัฐธรรมนูญ อันเป็นเพียงวิธีการปกครอง (Methods of Government) เพียงด้านเดียว อันได้แก่ หมวดและมาตราต่างๆ เช่น รัฐราชอาณาจักร พระมหากษัตริย์ ประชาชน (สิทธิ, หน้าที่) รัฐสภา (นิติบัญญัติ) บริหาร ตุลาการ (ศาล) และองค์กรต่างๆ
       
        เรามาดูการจัดความสัมพันธ์ที่ถูกต้องเป็นธรรมอันยิ่ง อันเป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ หรือแบบอย่างเดียวกัน ระหว่างกฎธรรมชาติ – ขันธ์ 5 – ระบอบการเมืองโดยธรรม อันเป็นที่มาของการคิดแก้ปัญหาเหตุวิกฤตชาติในแนวทางธรรมาธิปไตยอันเป็นแนวทางมรรควิธีแห่งชัยชนะของชาติ ของประเทศไทยให้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล 

โดย ป.เพชรอริยะ	3 ธันวาคม 2550 15:54 น.				
4 ธันวาคม 2550 09:36 น.

พุทธทำนาย

ลุงแทน

-:- พุทธทำนาย
     อุกาสะ  สิริสักยะมุนี  พระพุทธโคดม  พระบรมโลกนาถศาสดาจารย์
ญาณสัพพัญญู  อันเป็นพระบรมครู  ผู้ได้สั่งสอนแก่ฝูงเทพนิกร  อินทร์พรหม
ยมยักษ์  ทั่วทั้งอนันตจักรวาล  พระองค์ผู้ทรงญาณมาสงสารแก่ฝูงประชาชนคน
ทั้งหลายอยู่  ภายหลังพระองค์ได้ยับยั้งตั้งพระพุทธศักราชศาสนาไว้ให้ถ้วนห้าพัน
พระวรรษา  อติกกันตา  ถ้าจะคณานับฤดูเดือนก็ได้หกหมื่นเดือนมากครามครัน
ถ้าจะคณานับทิวาวันก็ได้หนึ่งล้านแปดแสนสองหมื่นหกพันสองร้อยห้าสิบวันเป็น-
กำหนด  ถ้าจะคณานับพระอุโบสถ  ถ้าจะกำหนดเป็นฤดูก็ได้หมื่นห้าพันฤดู
สมเด็จพระบรมครูเจ้าทรงกล่าวไว้ว่า  แม้บุคคลใดตั้งจิตลงปลงจิตตั้ง  ฟังพระ-
พุทธศักราช  บุคคลผู้นั้นก็จะระลึกชาติขึ้นได้ตามจิตใจปราถนา  จะนึกเอาชั้น
อินทร์ชั้นพรหมก็จะสมดังความคิดกุศลนั้นจะขึ้นไปเนรมิตวิมานไว้คอยท่า  ครั้น
ทำลายตายจากเบญจขันธ์ทั้งห้าลงในกาลใด  บุคคลผู้นั้นไซร้ก็จะได้ขึ้นไปเสวย
รมณ์ชมสมบัติในรัตนกระหนกรัตนวิมานสวรรค์  จะมีทั้งหมู่นางกำนัลมานั่งแห่
ห้อมล้อมอยู่อย่างสะพรั่ง  ด้วยกุศลที่ตนได้ฟังพระพุทธศักราช  พระสมณโคดม
บรมโลกนาถหน่อนรินทร์ปิ่นเกล้า  จำเดิมแต่พระองค์ตรัสพระสัทธรรมเทศนาไว้
กับพระอานนท์  และอัครสาวกเจ้าทั้งหลาย  มีพระพุทธทำนายไว้เป็นกำหนดว่า
เมื่อพระตถาคตเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานล่วงไปแล้วบ่มินาน  ประมาณได้
ห้าร้อยปีจะหานางภิกษุณีก็บ่มิได้  ครั้นล่วงได้พันปีก็จะไม่มีพระอรหันต์ที่จะ
เหาะเหินเดินอากาศได้  ครั้นล่วงได้สองพันปีก็จะพากันเคลื่อนคลาด  จะมีนัก
ปราชญ์ที่จะพากเพียรเล่าเรียนให้จบครบพระไตรปิฎกนั้นก็หาบ่มิได้  ครั้นล่วงได้
สามพันปีก็จะมีพระภิกษุสงฆ์ที่จะมามั่วสุมประชุมกันเป็นคณะปรกนั้นก็หาบ่มิได้
ครั้นล่วงได้สี่พันปีแล้วไซร้  บาตรไตรจีวรก็จะสูญสิ้น  ครั้นล่วงได้ห้าพันปีก็จะ
พากันประมาทหมิ่น  จะมีแต่ผ้าเหลืองน้อยห้อยหูพอได้รู้สำคัญว่าบุคคลผู้บวชเป็นชี
ศาสนาพระชินสีห์จะสิ้นไปในปีชวดนักษัตรอัฏฐศก  เดือนหก  เพ็ญวันพุธ  ใน
เวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง  อรุณฤกษ์เบิกอรุณแล้วพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าที่ได้
วัฒนาการเที่ยวโปรดสัตว์อยูในวัฏฏสงสาร  ทั่วทั้งอนันตจักรวาลและพื้นธรณี
ตั้งแต่พิภพนาภี  จนตราบเท่าถึงดาวดึงส์สวรรค์เป็นขอบเขต  แห่งท้าวเทเวศบรรจุ
พระเกศบรรจุพระธาตุเข้าไว้ในโกฐแก้วจุฬามณีศรี  ซึ่งก่อไว้เป็นสุวรรณเจดีย์ศรี-
สงบ  รวมเข้าไว้เป็นที่อภิวันท์ไหว้แก่ฝูงเทพนิกรอินทร์พรหมในชั้นฉ้อกามาวจร
สวรรค์  มีทั้งอัครพราหมมานั่งอยู่พร้อมเพรียงเรียบพับเพียบพะแนงเชิง  มีมือถือ
พวงมาลาและมาลัย  อภิวาทน์กราบกรานด้วยเศียรเกล้าอยู่สะพรั่ง  บ้างยอกรขึ้น
ตั้งนั่งบังคมพระบรมธาตุ  ครั้นพระพุทธศักราชถ้วนห้าพันพระวรรษาในกาลใด
พระบรมธาตุนั้นไซร้ก็เสด็จมามั่วสุมประชุมกันในเกาะแก้วบุรีศรี  ซึ่งเป็นที่สันนิ-
บาตรจึงประมวลพระบรมธาตุเข้าเป็นองค์  เห็นงามเยียรยงพระองค์จะทรงทรมาน
ทำพระยมกปาฏิหาริย์   สถิตประดิษฐานเหนือรัตนบัลลังก์แก้วมณีศรี  เปล่งพระ-
รัศมีศรีแสงกระจ่างแจ้งช่วงโชติ  ตรัสพระธรรมเทศนาโปรดแก่เวไนยสรรพสัตว์
ทั้งสี่ไซร้  ใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิและโพธิ์ทอง  ครั้นถ้วนเจ็ดวันแล้ว  พระธาตุก็
บ่ายพระพักตร์เข้าสู่เมืองแก้วแล้วอันตรธาน  แผ่นดินดาลรองศาสนาแน่นได้
สองแสนสี่หมื่นโยชน์  ก็จะสูงขึ้นอีกแปดพันวา  ไม้ศรีมหาโพธินั้นไซร้ก็จะเล็ก
เท่าใบพุทรา  เพราะสิ้นสุดพระศาสนา  ก็บรรจบครบจำนวนถ้วนห้าพัน
พระวรรษา  ฯ				
30 พฤศจิกายน 2550 19:36 น.

กรรมฐานประจำวัน

ลุงแทน

ฟังดูชื่อเรื่องแล้ว บางท่านอาจจะงง มีด้วยหรือ กรรมฐานประจำวันเกิด ? เคยได้ยินแต่กรรมฐานที่เหมาะแก่ จริตต่างๆ…. แต่สำหรับกรรมฐานประจำวันเกิดนั้น ไม่เคยได้ยินจริงๆ แล้ว ในตำรา ท่านก็ไม่ได้ระบุไว้ โดยตรง หรอกครับ เป็นแต่เพียงเห็นว่า ลักษณะจริตนิสัยของคนที่เกิดในแต่ละวันนั้นเราสามารถเอาเรื่องของกรรมฐาน เข้าไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อบั่นทอนลักษณะนิสัยที่ไม่ดี และส่งเสริมลักษณะนิสัยที่ดีอยู่แล้ว ให้ดียิ่งขึ้น ก็จึงได้ รวบรวม เพื่อให้เป็นแนวทางได้ศึกษากัน ถ้าประโยชน์อันใด ที่จะพึงบังเกิดมี จากบทความเรื่องนี้ก็ขอน้อมถวาย เป็นพุทธบูชา และอุทิศประโยชน์นี้ ให้แก่เพื่อนร่วมโลก ทุกรูป ทุกนาม แต่ถ้ามีข้อผิดพลาดบกพร่อง อันใด ก็ต้องขอน้อมรับผิดไว้แต่เพียงผู้เดียว 

        กรรมฐานคืออะไร 
   ก่อนที่จะว่ากันถึงรายละเอียด ว่ากรรมฐานประจำวันเกิดในแต่ละวันนั้น มีอะไรบ้าง ? เราก็ควรจะได้มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ที่เรียกกันว่า กรรมฐานๆนั้น คืออะไรกันแน่ 

กรรมฐาน มาจากคำ ๒ คำ คือคำว่า กรรม + ฐาน 
กรรม แปลว่า การกระทำก็ได้ หรือแปลว่าการงานก็ได้ 
ส่วน ฐาน นั้นแปลว่า ที่ตั้ง ฉะนั้น ในเมื่อเอาคำ ๒ คำนี้ มารวมกัน แล้วแปลให้ได้ความ ก็ควรจะแปลว่า อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงาน ทางใจ คือพูดง่ายๆ หางานให้ใจมันทำซะ อย่าปล่อยใจให้ว่างงาน ไม่เช่นนั้น เดี๋ยวมันจะฟุ้งซ่านแล้วนำความรำคาญ มาสู่จิตใจ

กรรมฐานมี ๒ ขั้น
กรรมฐาน หรืองานทางใจนี้ ยังมีถึง ๒ ขั้น
     ขั้นแรก เป็นงานทางใจในระดับต้น ที่จะช่วยกวาดล้างอารมณ์ฟุ้งซ่านต่างๆ ให้ออกไปจากใจ ทำใจให้สงบ ประณีต ไปโดยลำดับ ซึ่งมีวิธีการฝึก อยู่หลายอย่าง หลายวิธี ซึ่งจะได้แนะนำกันต่อไป… ขั้นนี้ เราเรียกว่า ขั้นสมถกรรมฐาน หรือ สมาธิ 
     พอขั้นต่อมาก็เป็นขั้นของการพัฒนาความเห็น ให้ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง.. สิ่งใดไม่เที่ยง ก็เห็นโดย ความจริง ว่าไม่เที่ยง… สิ่งใดเป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ก็เห็นโดยความจริง ว่าเป็นทุกข์….สิ่งใดเป็นอนัตตา บังคับบัญชา ให้เป็นไปอย่างใจไม่ได้ ก็เห็นโดยความจริงว่าเป็นอนัตตา… การเห็นความจริงอย่างนี้ ในทุกสิ่งทุกอย่าง จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ( นิพพิทา ) และคืนคลายถ่ายถอน ความยึดมั่นติดใจ ( อุปาทาน ) ในสิ่งทั้งหลายลงได้ และเมื่อนั้นความทุกข์ทางใจ ก็จะมลาย หายไปสิ้น… ขั้นนี้แหละ ที่ท่านเรียกว่า ขั้นของ วิปัสสนากรรมฐาน เอาล่ะเมื่อได้ทราบแล้วว่า กรรมฐานมีถึง ๒ ขั้นอย่างนี้ ทีนี้ก็เข้าสู่ประเด็น สำคัญของเรื่องล่ะ คือคนเกิดวันไหน ควรฝึกกรรมฐานอย่างใด				
26 พฤศจิกายน 2550 20:46 น.

พระพุทธศาสนา

ลุงแทน

พุทธศาสนา แปลว่า ศาสนาของผู้รู้ พุทธศาสนา จึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรือ อาศัยวิชาความรู้ที่ถูกต้องเพื่อทำลายความทุกข์ และต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น การทำพิธีรีตอง เพื่อบูชาบวงสรวง อ้อนวอนบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่ใช่พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่รับเข้ามาไว้ในศาสนาของพระองค์เลย เพราะเป็นสิ่งที่น่าขบขัน น่าหัวเราะ และถือเอาเป็นที่พึ่งอันแท้จริงไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการกระทำเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง มีคำกล่าวในพระพุทธศาสนา "ความรู้ ความฉลาด และความสามารถ ที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์นั่นแหละ เป็นตัวฤกษ์ที่ดี อยู่ในตัวมันเองแล้ว ดวงดาวในท้องฟ้าจะทำอะไรได้ ประโยชน์ที่ควรจะได้ก็ผ่านพ้นคนโง่ๆ ที่มัวนั่งคำนวณดวงดาวในท้องฟ้าไปเสียสิ้น" ดังนี้ และว่า "ถ้าน้ำศักดิ์สิทธ์ในแม่น้ำคงคา ฯลฯ จะทำให้คนหมดบาปหมดทุกข์ได้แล้ว พวกเต่า ปู ปลา หรือหอยที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็จะหมดบาปหมดทุกข์ไปด้วยน้ำนั้นเหมือนกัน" หรือ "ถ้าหากว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวง บูชาอ้อนวอนเอาๆ แล้ว ในโลกนี้ก็จะไม่มีใครมีความทุกข์เลย เพราะว่า ใครๆต่างก็บูชาอ้อนวอนเป็น" โดยเหตุที่ ยังมีคนที่มีความทุกข์ทั้งที่ได้กราบไหว้บูชาหรือทำพิธีรีตองต่างๆอยู่ จึงถือว่าไม่เป็นหนทางที่จะเอาตัวรอดได้ ฉะนั้น เราจะต้องพิจารณาโดยละเอียดลอให้รู้ ให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แล้วปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆให้ถูกต้อง พุทธศาสนาไม่ประสงค์คาดคะเน หรือทำอย่างที่เรียกว่าเผื่อจะเป็นอย่างนั้น เผื่อจะเป็นอย่างนี้ เราจะทำไปตรงๆตามที่มองเห็นด้วยปัญญาของตัวเอง โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่นๆ แม้จะมีคนอื่นๆมาบอกให้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเชื่อเขาทันที เราจะต้องฟังและพิจารณาจนเห็นจริงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แล้วจึงจะเชื่อ และพยายามทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง ศาสนาเหมือนกับของหลายเหลี่ยม ดูเหมือนหนึ่งมันก็เป็นไปอย่างหนึ่ง ดูอีกเหลี่ยมหนึ่งมันก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะถือหลักการคิดในแนวไหนก็จะเห็นศาสนาเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกันได้ แม้พุทธศาสนาก็ตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้ คนเราย่อมเชื่อความคิดเห็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น ความจริง หรือสัจจะสำหรับคนหนึ่งๆนั้น มันอยู่ตรงที่ว่าเขาเข้าใจ และมองเห็นเท่าไรเท่านั้นเเอง สิ่งที่เรียกว่า "ความจริง" ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนเราเข้าถึงปัญหาหนึ่งๆ ได้ตื้นลึกกว่ากัน หรือ ด้วยลักษณะที่ต่างกัน และด้วยสติปัญญาที่ต่างกัน สิ่งใดที่อยู่เหนือสติปัญญาความรู้ความเข้าใจของตน หรือตนยังไม่เข้าใจ คนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความจริงของเขา ไม่เป็นความแท้ความจริงของเขาเลย ความจริงของคนหนึ่งๆนั้น จะเดินคืบหน้าได้เสมอ ตามสติปัญญา ความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทุกๆวัน จนกว่าจะถึงความจริงขั้นสุดท้าย คนเรามีการศึกษามาต่างกัน และมีหลักพิจารณาสำหรับจะเชื่อต่างๆกัน ฉะนั้น ถ้าจะ เอาสติปัญญาที่ต่างกันมาดูพุทธศาสนา ก็จะเกิดความคิดเห็นต่างกันไป ทั้งนี้เพราะว่าพุทธศาสนาก็มีอะไรๆครบทุกอย่างที่จะให้คนดู ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พุทธศาสนาคือวิธีปฏิบัติ เพื่อเอาตัวรอดจากความทุกข์ โดยการทำให้รู้ความจริงว่า อะไรเป็นอะไร ตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงทำได้ก่อน และได้ทรงสอนไว้ แต่คัมภีร์ทางศาสนานั้นย่อมมีอะไรๆ เพิ่มขึ้นได้ ทุกโอกาศที่คนชั้นหลังเขาจะเพิ่มเติมลงไป พระไตรปิฏกของเราก็ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน คนชั้นหลังๆเพิ่มเติมข้อความเข้าไปตามที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับยุคนั้นๆ เพื่อจะช่วยให้คนมีศรัทธามากขึ้นๆ หรือกลัวบาป รักบุญมากขึ้น ซึ่งอาจจะมากเกินขอบเขตจนกระทั่งเกิดการเมาบุญกันใหญ่ เราควรยึดกายวาจาบริสุทธิ์ให้เป็นที่ตั้งของจิตบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น อย่าได้ถือว่าถ้าเขาว่าเป็นพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นพุทธศาสนา เนื้องอกนั้นได้งอกมาแล้วนับตั้งแต่วันหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และยังงอกเรื่อยๆมา กระจายไปทุกทิศทุกทางจนกระทั่งบัดนี้ เลยมีเนื้องอกก้อนโตๆอย่างมากมาย (พุทธศาสนาเนื้องอก เช่นพิธีรีตองต่างๆที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกียวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆน้อยๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วยอย่างน่าสมเพช เช่น การจัดสำรับคาวหวาน ผลหมากรากไม้ เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้าอย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระ เป็นต้น มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนา และได้สอนกันถือกัน อย่างเคร่งครัด การบวชนาคก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้าน บวชไม่กี่วันก็สึกออกมา แล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น เราหลงเรียกการทำขวัญนาค และการทำพิธีต่างๆตลอดถึงการฉลองอะไรๆเหล่านั้น ว่าเป็นพุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า พุทธศาสนาใหม่ๆอย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไป พวกเราเองจะไปอ้างเอา "พุทธศาสนาเนื้องอก" มาถือว่าเป็นพุทธศาสนาไม่ได้ หรือ คนในศาสนาอื่นจะมาชี้ก้อนเนื้องอกเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่อย่างน่าบัดสีอย่างน่าละอายว่าเป็นพุทธศาสนา ก็ไม่ถูกเหมือนกัน คือไม่เป็นการยุติธรรมเพราะสิ่งนี้ไม่ใช้พุทธศาสนา แต่เป็น "เนื้องอก" พวกเราที่จะช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเองก็ตาม จะต้องรู้จักฉวยให้ถูกตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ไปถูกชิ้นเนื้อร้ายเนื้องอกดังที่กล่าวมาแล้ว แม้พุทธศาสนาตัวแท้ก็ยังมีหลายแง่หลายมุม ที่จะทำให้เกิดการจับฉวยเอาไม่ถูกความหมายที่แท้ของพระพุทธศาสนาก็ได้ ถ้ามองด้วนสายตานักศิลธรรม ก็จะเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งศิลธรรม (Moral) เพราะมีกล่าวถึงบุญบาป ความซื่อตรง ดีชั่ว ความกตัญญุกตเวที ความสามัคคี ความเป็นเป็นคนที่เปิดเผยตัวเอง และอะไรต่างๆ อีกมากมาย ล้วนแต่มีอยู่ในพระไตรปิฏกทั้งนั้น แม้ชาวต่างประเทศก็มองดูในส่วนนี้อยู่มากหรือว่าชอบพุทธศาสนาเพราะเหตุนี้ก็มีอยู่มาก พุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง สูงขึ้นไปเป็นสัจธรรม (Truth) คือ กล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้งเร้นลับนอกเหนือไปกว่าที่คนธรรมดาสามัญจะเห็นได้ ส่วนนี้ได้แก่ความรู้เรื่องความว่างเปล่าของสรรพสิ่งทั้งปวง (สุญญตา) เรื่องความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความเป็นทุกข์ (ทุกขัง) ความไม่ใช้ตัวตน (อนัตตา) หรือเรื่องการเปิดเผยว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทของทุกข์เป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร ในฐานะเป็นความจริงอันเด็ดขาดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (อริยสัจจ์) ซึ่งทุกคนควรจะต้องรู้ นี้เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานะเป็นสัจธรรม พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) คือส่วนที่เป็นตัวระเบียบปฎิบัติ ซึ่งได้แก่ ศิล สมาธิ ปัญญา กระทั่งผลที่เกิดขึ้นคือความหลุดพ้น และปัญญาที่รู้เห็นความหลุดพ้น ว่าเมื่อใครปฎิบัติแล้วจะหลุดพ้นไปจากทุกข์ได้จริง นี้เรียกว่า พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา เรายังมี พุทธศาสนาในเหลี่ยมที่เป็นจิตวิทยา (Psychology) เช่น คัมภีร์พระไตรปิฏกภาคสุดท้าย กล่าวบรรยายถึงลักษณะจิตไว้กว้างขวางอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด เป็นที่งงงันและสนใจแก่นักศึกษาทางจิตแม้แห่งยุคปัจจุบัน เป็นความรู้ทางจิตวิทยาที่จะอวดได้ว่าแยบคาย หรือลึกลับกว่าความรู้ทางจิตวิทยาของโลกปัจจุบันไปเสียอีก พุทธศาสนายังมีเหลี่ยมความรู้ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปรัชญา (Philosophy) คือสิ่งที่ทดลองไม่ได้ ยังต้องอาศัยการคำนึงคำนวณไปตามหลักแห่งการใช้เหตุผลแห่งการคำนึงคำนวณระบอบหนึ่ง แต่ถ้าเห็นแจ้งประจักษ์ได้ด้วยตา หรือด้วยการพิสูจน์ ทดลองตามทางวัตถุ หรือแม้เห็นชัดด้วย "ตาใน" คือญาณจักษุก็ตาม เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ (Science) ได้ ความรู้อันลึกซึ้ง เช่นเรื่องสุญญตาย่อมเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมไปพลางก่อน แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทันทีสำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว เช่น พระอรหันต์ เพราะท่านได้เห็นได้ประจักษ์ แล้วด้วยจิตใจของท่านเองไม่ต้องคำนึงคำนวณตามเหตุผล หลักพระพุทธศาสนาบางประเภท ก็เป็นวิทยาศาสตร์ (Science) โดยส่วนเดียว เพราะพิสูจน์ได้ชัดแจ้งด้วยความรู้สึกภายในใจของผู้มีสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอริยสัจจ์เป็นต้น ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาสนใจศึกษา ค้นคว้าแล้วจะมีเหตุผลแสดงอยู่ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มืดมัวเป็นปรัชญาเหมือนอย่างบางเรื่อง "ถ้าหากว่าจะมีศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งเข้ากันได้ดีกับแนวคิด หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (The Modern Scientific mind) แล้วศาสนานั้นก็คือ พระพุทธศาสนา นั่นเอง" "ศาสนาในอนาคตจะต้องเป็นศาสนาแห่งสากล ซึ่งล่วงพ้นจากความเชื่อในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า หรือสิ่งศักดิ์ทั้งหลาย โดยมีหลักการที่จะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความศรัทธาที่เกิดจากความสะสมประสบการร์ในทุกๆด้าน ทั้งในด้านธรรมชาติ และด้านจิตวิญญาณอย่างมีเหตุผล พุทธศาสนาเป็นคำตอบสำหรับหลักการนี้" อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) (นักฟิสิกซ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20) (ค.ศ. 1879-1955) "ผมตกตะลึง และรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่พบว่า งานวิจัยของผมกลับกลายมาวางอยู่บนพื้นฐานทางความคิดที่ดูจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย เมื่อมันถูกนำไปเชื่อมสัมพันธ์กับพุทธรรรมคำสอนในศาสนาพุทธ" จอฟฟรีย์ ชิว (Geoffrey Chew) (นักฟิสิกซ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 21) "มนุษย์ได้ฝึกฝนความเฉลียวฉลาดรอบรู้ของตนเพื่อเอาชนะธรรมชาติภายนอกด้วยวิทยาศาสตร์ และประยุกต์วิทยา (Science and Technology) บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ควรแสวงหาแสงสว่าง หรือสติปัญญาที่สูงลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นอีก พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะช่วยให้มนุษย์ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าวนี้ได้ ฟรานซิส สตอรี่ (Francis Story) (นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ) สำหรับบุคคลผู้บูชาวัฒนธรรม ก็จะพบว่ามีคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาหลายข้อที่ตรงกับหลักวัฒนธรรมสากล และมีคำสอนอีกมากที่เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธโดยฌฉพาะ ซึ่งดีกว่าสูงกว่าวัฒนธรรมสากลอย่างมากมาย แม้พุทธศาสนาส่วนที่เป็นตรรกวิทยา (Logic) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่โยกโคลงที่สุด ก็มีมากด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในพวกพระอภิธรรมบางคัมภีร์ เช่นคัมภีร์กถาวัตถุเป็นต้นฯ แต่อย่างไรก็ตามอยากจะขอยืนยันว่า พุทธศาสนาเหลี่ยมซึ่งชาวพุทธจะต้องสนใจที่สุด นั้นคือ เหลี่ยมที่เป็นศาสนา ซึ่งหมายถึงวิธีปฏิบัติโดยรวบรัด เพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร จนถอนความยึดถือหลงใหลต่างๆออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงได้ การกระทำเช่นนี้เรียกว่า เราเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นพุทธศาสนา มีผลดียิ่งกว่าไปกว่าที่จะถือเป็นเพียงศิลธรรมขั้นพื้นฐาน และสัจธรรมอันเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งอย่างเดียวโดยไม่ปฏิบัติอะไร และเป็นผลดีกว่าที่จะถือเป็นปรัชญา ที่มีไว้คิดไว้นึกไว้เถียงกันอย่างสนุกๆ แล้วไม่ละกิเลสอะไรได้ หรือดีกว่าที่จะถือเป็นเพียงวัฒนธรรมสำหรับการประพฤติที่ดีงามน่าเลื่อมใสในด้านสังคมแต่อย่างเดียว อย่างน้อยที่สุด เราทั้งหลายควรถือ พุทธศาสนาในฐานะเป็นศิลปะ (Art) ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปะแห่งการครองชีวิต คือเป็นการกระทำที่แยบคายสุขุม ในการที่จะมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์ให้น่าดูชมน่าเลื่อมใส น่าบูชาเป็นที่จับอกจับใจแก่คนทั้งหลาย จนคนอื่นพอใจทำตามเราด้วยความสมัครใจไม่ต้องแค่นเข็นกัน เราจะมี ความงดงามในเบื้องต้น ด้วยศิลบริสุทธิ์ มีความงดงามในท่ามกลาง ด้วยการมีจิตใจสงบเย็น เหมาะสมที่จะทำงานในด้านจิต มี ความงดงามในเบื้องปลาย ด้วยความสมบูรณ์แห่งปัญญา คือรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร จนไม่มีความทุกข์ เกิดขึ้นเพราะสิ่งทั้งปวงนั้น เมื่อใครมีชีวิตอยู่ด้วยความงาม 3 ประการ เช่นนี้แล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศิลปะแห่งการดำรงชีวิตอย่างสูงสุด ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนา ในฐานะเป็นศิลปะแห่งชีวิตโดยนัยนี้เป็นอันมาก และกล่าวขวัญกันมากกว่าแง่อื่นๆ การที่เราเข้าถึงตัวแท้ของพระพุทธศาสนา จนถึงกับนำมาใช้เป็นแบบแห่งการครองชีวิตนั้น มันทำให้เกิด ความบันเทิงรื่นเริงตามทางธรรมะ ไม่เหงาหงอยไม่น่าเบื่อหน่าย หรือหวาดกลัวดังที่เกรงกันอยู่ว่า ถ้าละกิเลสเสียแล้วชีวิตนี้จะแห้งแล้งไม่มีรสชาติอะไรเลย หรือถ้าปราศจากตัณหาต่างๆ โดยสิ้นเชิงแล้วคนเราจะทำอะไรไม่ได้ หรือไม่คิดทำอะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่โดยที่แท้จริงแล้ว ผู้ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ตามศิลปะแห่งการครองชีวิตของพระพุทธเจ้านั้น คือผู้มีชัยชนะอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงที่เข้ามาแวดล้อมตน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บุคคลสิ่งของ หรืออะไรก็ตาม ย่อมจะเข้ามาในฐานะผู้แพ้ ไม่อาจจะทำให้เกิดความมืดมัว สกปรก เร่าร้อนให้แก่ผู้นั้นได้ อากัปกิริยาที่เป็นฝ่ายชนะอารมณ์ทั้งปวงนี้ ย่อมเป็นที่บันเทิงเริงรื่นอย่างแท้จริง และนี่คือข้อที่ควรถือเป็นศิลปะในพุทธศาสนา ธรรมะในพระพุทธศาสนา จะให้ความเพลิดเพลินแก่จิตใจที่ต้องการธรรมะ นับได้ว่าเป็นอาหารจำเป็นอย่างหนึ่งเหมือนกัน คนที่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสยังต้องการอาหารทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แสวงหากันไปตามวิสัยปุถูชนนั้นก็ถูกแล้ว แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ลึก และไม่ต้องการอาหารอย่างนั้น สิ่งนี้คือวิญญาณซึ่งเป็นอิสระหรือบริสุทธิ์ ต้องการความบันเทิงเริงรื่น คืออาหารทางธรรมะ นับตั้งแต่ความยินดีปรีดาที่รู้สึกว่าตนได้ทำอะไรอย่างถูกต้อง เป็นที่พอใจของผู้รู้ทั้งหลาย มีความสงบระงับในใจชนิดดที่กิเลสมารบกวนไม่ได้ มีความเห็นแจ่มแจ้งรู้เท่าทันสิ่งทั่งปวงว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ทะเยอทะยานในสิ่งใด มีอาการเหมือนกับนั่งลงได้ ไม่ต้องวิ่งงไปวิ่งมาเหมือนคนทั้งหลาย ชนิดที่ท่านให้คำเปรียบไว้ว่า "กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ" "กลางคืนอัดควัน" นั่น หมายถึงการนอนไม่หลับกระสับกระส่ายมือก่ายหน้าผาก คิดจะแสวงหาอย่างนั้นอย่างนี้คิดจะกระทำเพื่อให้ได้เงิน ได้ลาภหรือสิ่งต่างๆที่ตนปราถนา อันเป็นควันกลุ้มอยู่ในใจ เพราะมันยังมือค่ำ ลุกไปไหนไม่สะดวก ต้องทนอดนอนอัดควันอยู่ ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น ก็ออกวิ่งไปตามความต้องการของ "ควัน" ที่อัดไว้เมื่อคืน นี่เรียกว่า "กลางวันเป็นไฟ" เป็นอาการของจิตใจที่ไม่ได้รับความสงบ ไม่ได้รับอาหารทางธรรมเป็นความกระหาย ไปตามอำนาจของกิเลส และตัณหา "กลางคืนอัดควัน" ร้อนรุ่มอยู่แล้วตลอดคืน "กลางวันยังเป็นไฟ" คือทั้งร้อนทั้งไหม้อะไรไปในตัวเสร็จตลอดทั้งวันแล้วจะหาความสงบเยือกเย็นอย่างไรได้ ถ้าคนเราต้อง "กลางวันอัดควัน กลางวันเป็นไฟ" ไปจนตลอดชีวิต ถึงตายแล้ว จะเป็นอย่างไรบ้าง ขอให้ลองคิดดู เขาเกิดมาทนทุกข์ทรมานจนตลอดชีวิต คือนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเน่าเข้าโลกไปทีเดียว โดยไม่มีสติปัญญาที่จะระงับดับไฟ ดับควันนั้นเสียเลย บุคคลชนิดนี้จะต้องอาศัยสติปัญญาของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้า สำหรับช่วยแก้ไขให้เบาบางลงตามส่วน เมื่อเขาได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้นเท่าไรควันหรือไฟก็จะลดน้อยลงเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้นมีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายมุม เหมือนกับภูเขาลูกเดียวมองจากทิศต่างๆกัน ก็เห็นรูปต่างๆกัน ได้ประโยขน์ต่างๆกัน แล้วแต่ใครจะมองอย่างไร แม้พระพุทธศาสนา จะมีมูลมาจากความกลัว ก็ไม่ใช้ความกลัวที่โง่เขลา ของคนป่าเถื่อน จนถึงกับนั่งไหว้รูปเคารพหรือไหว้สิ่งที่มีปรากฏแปลกๆ แต่เป็นความกลัวชนิดที่สูงด้วยสติปัญญา คือกลัวว่าจะไม่ได้รอดพ้นไปจากการบีบคั้นของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความทุกข์ทั้งหลายที่เรามองเห็นๆ กันอยู่ พุทธศาสนาตัวแท้ ไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่คัมภีร์ ไม่ใช่เสียงบอก เล่าตามพระไตรปิฎก หรือตัวพิธีรีตองต่างๆ ซึ่งไม่ใช้ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ตัวแท้ต้องเป็น ตัวการปฎิบัติด้วยกายวาจาใจ ชนิดที่จะทำลายกิเลสให้ร่อยหรอ หรือหมดสิ้นไปในที่สุด ไม่จำเป็นต้องเนื่องด้วยหนังสือ ด้วยตำรา ไม่ต้องอาศัยพิธีรีตอง หรือสิ่งภายนอก เช่นผีสางเทวดา แต่ต้องเนื่องด้วยกาย วาจา ใจ โดยตรง คือจะต้องบากบั่นกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป จนเกิดความรู้แจ่มแจ้ง สามารถทำอะไรให้ถูกต้องได้ด้วยตนเอง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน นี่แหละคือตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ในส่วนที่เราจะต้องเข้าถึงให้จงได้ อย่าได้ไปหลงยึดเอาเนื้องอกที่หุ้มห่อพระพุทธศาสนามาถือว่าเป็นตัวพระพุทธศาสนากันเลย พุทธศาสนิก แปลว่า ผู้ปฏิบัติตามศาสนาของผู้รู้ ที่ว่ารู้นั้น หมายถึงรู้อะไร? ก็คือรู้สิ่งทั้งปวงที่เป็นจริงนั่นเอง จึงกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาก็คือ ศาสนาที่ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เป็นศาสนาเกี่ยวกับความรู้จริง เราจึงต้องปฏิบัติจรเรารู้ได้เอง เมื่อรู้ถึงที่สุด แล้วไม่ต้องกลัว กิเลสตัณหาต่างๆ จะถูกความรู้นั้นทำลายให้สิ้นไป ความไม่รู้ (อวิชชา) ก็จะดับไปทันที ในเมื่อความรู้ได้เกิดขึ้นมาก ฉะนั้นข้อปฏิบัติต่างๆจึงมีไว้เพื่อให้วิชชาเกิด สรุปความว่า พุทธศาสนา คือวิชาและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร เมื่อเรารู้ว่า อะไรเป็นอะไรถูกต้องจริงๆแล้วไม่ต้องมีใครมาสอนเรา หรือมาแนะนำเรา เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆถูกต้องได้ด้วยตนเอง แล้วกิเลสก็จะหมดไปเอก เราเป็นอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งขึ้นมาทันที หรือที่ชอบเรียกกันว่า มรรคผลนิพพาน นี้ได้ด้วยตนเอง เพระาการที่เรามีความรู้อะไรเป็นอะไรโดยถูกต้องถึงที่สุดอย่างแท้จริงเท่านั้น รัตนตรัย หมายถึง สิ่งลำค่า 3 ประการ หลักที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศานิกชน 3 อย่าง พระพุทธเจ้า หมายถึง พระผู้ตรัสรู้เองและสอนผู้อื่นให้รู้ตาม พระธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลักความประพฤติ พระสงฆ์ หมายถึง หมู่สาวกผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงแทน
Lovings  ลุงแทน เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงลุงแทน