14 ธันวาคม 2550 12:27 น.
ลุงแทน
.
1. ใครจะศึกษาโลกอื่น ก็ให้เขาศึกษาไปเถิด แต่ท่านจงศึกษาตัวท่านเอง
(อีเมอร์สัน)
2. การศึกษา หมายถึง กระบวนการทุกชนิด ที่ช่วยพัฒนา หรือปรับปรุงจิตใจ อุปนิสัย และคุณสมบัติทางกายภาพต่าง ๆ ของมนุษย์ให้ดีขึ้น
(ดร.ภิญโญ สาธร)
3. ถ้าครูไม่สนใจเด็ก เราคงจะมีเด็กอีกหลายคน ที่จะเจอปัญหาอะไรที่เราไม่รู้เลย
(ดร.อารี สัณหฉวี)
4. เราไม่ควรเรียนสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นความรู้ตายตัว และอย่างเป็นความจำ เพราะการเรียนทำนองนั้นจะทำให้เราเป็นคนรู้อะไรมาก ๆ เท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าอย่างไหนถูกอย่างไหนผิด
(อนุช อาภาภิรม)
5. สิ่งหนึ่งที่ครูควรจะตระหนักก็คือ ครูจะต้องยอมรับคุณูปการของนักเรียนด้วย เพราะครูจะต้องเรียนรู้จากนักเรียนเช่นกัน
(อดัมเคิล)
6. การศึกษานี้เพื่อมนุษย์จะมีโอกาสได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ โดยทำลายเสียซึ่งสัญชาตญาณอย่างสัตว์ แล้วมีการประพฤติกระทำอย่างมนุษย์ที่มีใจสูงโดยสมบูรณ์
(พุทธทาสภิกขุ)
7. ถ้าหากว่าการศึกษาจะมีผลทำให้คนเป็นพลเมืองดี อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้คนเหล่านั้นเป็นพลเมืองดีง่ายขึ้น
(ลอร์ด ไบรซ์)
8. การศึกษาเราจัดหลักสูตรไว้ครบ แต่ปฏิบัติไม่ค่อยครบ การพัฒนาคนจึงไม่สมบูรณ์
(รุ่ง แก้วแดง)
9. ท่านอย่าให้การศึกษาแก่คนเพียงการบอกในสิ่งที่เขาไม่รู้ แต่ทำให้เขาเป็นในสิ่งที่เขาไม่เป็น
(รัสกิน)
10. การศึกษาไม่ใช่การเรียนของคนในช่วยอายุหนึ่งเท่านั้น แต่การศึกษาคือการพัฒนาคุณภาพของคนทั้งมวล
(ประเวศ วะสี)
11. การศึกษาจะต้องไม่เพียงมุ่งให้เด็กคิดอะไร แต่ควรมุ่งให้เด็กคิดอย่างไร โดยเน้นการพัฒนาระบบความคิดเป็นสำคัญ
(กรรณิกา อินทรโยธิน)
12. ครูส่วนใหญ่ไม่สามารถโยงทฤษฎี หลักการที่ได้เรียนมาไปสู่ภาคปฏิบัติได้ ครูจึงเน้นการสอนด้านเนื้อหาเป็นสำคัญ
(กมล ภู่ประเสริฐ)
13. ไม่ว่าวัตถุและวิทยาการจะเจริญรุดหน้าสักเพียงไร น้ำคำและน้ำใจก็ยังคงเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นไม่ได้จากวิทยาการ
(เกษมสุข ภมรสถิตย์)
14. การศึกษาที่ดี คือการทำให้คนเราเห็นแก่ตัวน้อยลง
(สุพล วังสินธ์)
15. ในปัจจุบันครูของเราไม่ค่อยสอนให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีความมั่นใจในตนเอง นักเรียนจะทำตามคำสั่งของครูแทบทั้งสิ้น
(โกวิท ประวาลพฤกษ์)
16. การศึกษาที่สมบูรณ์นั้น เกิดจากประสบการณ์ทางสังคม คนเราเรียนรู้ซึ้งกันและกัน ไม่มีบทเรียนใดที่สำคัญไปกว่าบทเรียนที่เราได้รับจากสภาพความเป็นจริงของชีวิต
(ประทีป สยามชัย)
17. การศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยความสำคัญของนักเรียน และจบลงด้วยความสำคัญของนักเรียน
(ป๋วย อึ้งภากรณ์)
18. เราไม่ควรตีความหมายของการศึกษาว่าคือการรู้หนังสือ การศึกษามีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น การศึกษาต้องการจะปลูกฝังคุณธรรมให้แก่คน ต้องการถ่ายทอดวัฒนธรรม
(บรรจง ชูสกุลชาติ)
19. เราลงทุนเพื่อการศึกษาในอดีตที่ผ่านมา แม้กระทั่งปัจจุบัน ตัวเลขไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก คือ เราลงทุนเพื่อคนกลุ่มน้อยมากเหลือเกิน และลงทุนแก่การศึกษาของคนกลุ่มใหญ่ไม่มากนัก
(ชวน หลีกภัย)
20. ทุกคนอยากเห็นนักการเมืองที่ดี อยากเห็นรัฐมนตรี อยากเป็นรัฐบาลที่ดี การศึกษาต้องเข้ามามีบทบาท โดยเริ่มสอนจริยธรรมการเมืองตั้งแต่เป็นเยาวชน
(วันมูหะมัดนอร์ มะทา)
21. การศึกษาจะต้องเป็นกระบวนการที่มุ่งพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถเต็มตามศักยภาพ มีพัฒนาการที่สมดุลทั้งปัญญา จิตใจ ร่างกายและสังคม
(พยุงศักดิ์ จันทรสุรินทร์)
22. เด็กไม่ได้เรียนรู้จากครูเฉพาะในห้องเรียนในเวลาที่ครูสอน แต่เด็กเรียนรู้จากครูในพฤติกรรมของครูที่แสดงออกในโอกาสต่าง ๆ ด้วยการปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต จึงเป็นบทบาทของครูทุกคนในโรงเรียน
(พนม พงษ์ไพบูลย์)
23. เวลาที่ครูทำการสอน ผู้บริหารเดิน เยี่ยมเยียน ยิ้มแย้ม ยกย่อง และหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่ครูบ้าง ครูก็จะสอนได้ยอดเยี่ยม ทำให้เกิดคุณภาพที่ยิ่งใหญ่แก่นักเรียนและการศึกษา
(รศ.บุญนำ ทานสัมฤทธิ์)
24. ไม่ว่าจะเรียนที่โรงเรียนไหน ๆ จะเลือกเป็นอะไรก็เป็นได้ ถ้าพบครูที่ดีมีน้ำใจ และตนเองใฝ่ใจที่จะทำความดี
(พล.ต.จำลอง ศรีเมือง)
25. การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาประเทศ และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาคือ "ครู" เพราะครูเป็นผู้มีอิทธิพลในด้านการเสริมสร้างความคิด พัฒนาสติปัญญา ความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยม ตลอดจนชี้แนะวิถีดำเนินชีวิตแก่ผู้เรียน
(สุรพงษ์ ปทานุกุล)
26. การศึกษามีความจำเป็นขึ้นมา ก็เพื่อตอบสนองความปรารถนาในการรับรู้ของมนุษย์
(ประสาน มฤคพิทักษ์)
27. การศึกษาในแต่ละประเทศ แต่ละยุค สะท้อนค่านิยมของชนชั้นปกครอง
(เจ เอฟ บราวน์)
28. การศึกษาพัฒนาวุฒิความสามารถของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางจิตใจ เพื่อว่าคนสามารถชื่นชมความจริง ความงาม และความดีอันเป็นความสุขที่สมบูรณ์ที่สุด
(อริสโตเติล)
29. การศึกษาเป็นการแนะนำและฝึกฝนพัฒนาคนให้รู้จักดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง เมื่อดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องก็มีความสุข การศึกษาที่ถูกต้อง จึงต้องทำให้คนมีความสุข หรือรู้จักที่จะทำตนให้มีความสุข
(ประยุทธ์ ปยุตโต)
30. สังคมใดครูเสื่อมจากสภาพความเป็นกัลยาณมิตรและความเป็นปูชนียบุคคล สังคมนั้นพึงถึงซึ่งหายนะ
(ศ.นพ.ประเวศ วะสี)
31. ทุกคนอยากเห็นนักการเมืองที่ดี อยากเห็นรัฐมนตรี อยากเห็นรัฐบาลที่ดี การศึกษาต้องเข้ามามีบทบาท โดยเริ่มสอนจริยธรรมการเมืองตั้งแต่เป็นเยาวชน
(วันมูหะมัดนอร์ มะทา)
32. วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดในการเป็นนักศึกษา และแสวงหาวิชาความรู้นั้น อยู่ที่การสร้างความประพฤติอันดีงามให้แก่ตน
(มหาตมะ คานธี)
33. การศึกษาในแต่ละประเทศ แต่ละยุค สะท้อนค่านิยมของชนชั้นปกครอง
(เจ เอฟ บราวน์)
34. ผู้เรียนเปรียบเหมือนดาวฤกษ์ที่ส่องแสงได้ด้วยตัวของมันเอง จึงต้องศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจโดยไม่ต้องใช้หนังสือตลอดเวลา แต่หากเราจำกัดว่าต้องอาศัยหนังสือเท่านั้นจึงจะได้ความรู้ ผู้เรียนก็จะเหมือนหลอดไฟที่ต้องรอกระแสไฟฟ้า ที่มีไฟเท่าไรก็สว่างเท่านั้น
(ด.ช.พงษ์ศกร ธรรมวงศ์)
35. เราควรจะให้การศึกษามิใช่เพื่อเพียงแต่ให้ได้ชื่อว่าประเทศไทยมีคนรู้หนังสือร้อยละ 80-90 แล้ว หรือที่นักเศรษฐศาสตร์อ้างเสมอว่า เราจะต้องวางแผนพัฒนาการศึกษาให้ประสานเข้ารอยเดียวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ผมก็ยังรู้สึกว่าพูดเกือบถูก แต่ยังไม่ถูกทีเดียว เพราะเขามิได้เพ่งเล็งถึงคุณธรรมและศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่เป็นนักเรียนแต่ละคน
(ป๋วย อึ้งภากรณ์)
36. คนเก่งในอนาคต มิใช่คนที่รู้หรือจำข้อมูลได้มากมาย แต่เป็นคนที่รู้ว่าในสถานการณ์ใดจะต้องใช้ข้อมูลอะไร และจะไปหาข้อมูลนั้น ๆ ได้ที่ไหน
(ชัยวัฒน์ คุประตกุล)
37. ไม่ว่าเขาจะมาจากมุมที่มืดอับเพียงใดของสังคม ไม่ว่าเขาจะตั้งต้นทำช้าเพียงใด ไม่ว่าเขาจะมีความสามารถในการเรียนระดับใด การศึกษาไทยน่าจะให้โอกาสเขาได้เสมอ
(อมรวิชช์ นาครทรรพ)
38. การเรียนการสอนควรปลูกฝังความรู้ ความสามารถ รวมทั้งคุณธรรม สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
(สมหวัง พิธิยานุวัฒน์)
39. การปฏิรูปการศึกษาจะเป็นจริงได้ ต้องทำให้ประชาชนตื่นตัวมองการศึกษาในความหมายกว้าง ตระหนักว่าการศึกษาแบบเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เรียนรู้จากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น การเรียนรู้จากชีวิตจริง
(วิทยากร เชียงกูล)
40. การสอบ..ไม่ใช่แต่เพียงตัวกำหนดบทบาทของระบบการศึกษาที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบการศึกษาไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกันอีกด้วย
(นิโคลัส เบนเนทท์)
41. สิ่งที่ขัดแย้งภายในโรงเรียนแต่ก็เป็นความขัดแย้งที่ไปด้วยกันคือ โรงเรียนสอนให้เด็กเป็นคนรู้จักอ่อนโยนผ่อนตาม แต่ในเวลาเดียวกันก็สอนให้เอาชนะคนอื่นตลอดเวลา
(อีเออเรทท์ เรยเมอร์)
42. คนมีศาสตร์ มีความรู้ แต่ไม่เข้าใจความจริงของมนุษย์ สังคมและสภาพแวดล้อม ศาสตร์หรือความรู้ก็กลายเป็นศาสตราวุธ สำหรับทิ่มตำทำร้ายและประหัตประหารฆ่าฟันในสงครามแย่งชิงการงานและการหาเงินมาจับจ่าย
(ประเวศ วะสี)
43. การศึกษาหมาหางด้วนนั้น มันทำได้อย่างมากเพียงว่ามีผลเป็นเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ แต่ไม่มีเรื่องความเป็นมนุษย์ที่สมบุรณ์
(พุทธทาสภิกขุ)
44. การศึกษาต้องสอดแทรกอยู่ในทุกกิจกรรม
(ศ.ดร.พจน์ สะเพียรชัย)
45. การศึกษาไม่ว่าระดับไหน ก็มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาบ้านเมือง ต่อการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น
(ดร.ทรงศักดิ์ ศรีกาฬสินธุ์)
46. การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ชีวิตเข้าถึงอิสรภาพ คือทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของปัจจัยแวดล้อมภายนอกให้มากที่สุด และมีความเป็นใหญ่ในตัว ในการที่จะกำหนดความเป็นอยู่ของตนให้ได้มากที่สุด
(ประยุทธ์ ปยุตโต)
47. การศึกษาที่จะได้ผลดีจะต้องแก้ปัญหาชีวิตและสังคมได้สำเร็จ จะต้องมีความเข้าใจชัดเจนในความหมาย ในความมุ่งหมาย และในการทำหน้าที่ของมัน
(ประยุทธ์ ปยุตโต)
48. มนุษย์เราในโลกปัจจุบันนี้มีการศึกษาแต่เพียงสองอย่าง คือรู้หนังสือ รู้อาชีพ ขาดอย่างที่สามคือ การศึกษาที่ทำให้เป็นมนุษย์กันอย่างถูกต้อง
(พุทธทาสภิกขุ)
49. ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการดำเนินชีวิตของเราทุกคน ที่ว่าจำเป็นคือขาดไม่ได้
(ปิ่น มุทุกันต์)
50. การศึกษาจะต้องเป็นไปเพื่อฝึกฝนพัฒนา รู้จักแก้ปัญหา ดับทุกข์และทำตนให้เป็นสุขได้
(ประยุทธ์ ปยุตโต)
51. การศึกษาควรเป็นไปเพื่อความเป็นมนุษย์
(ส.ศิวรักษ์)
52. มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความอ่อนแอ เราต้องการความเข้มแข็งในยามช่วยตัวเองไม่ได้ เราต้องการความช่วยเหลือ, ในความโง่ เราต้องการเหตุผล ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่มนุษย์ขาดมาตั้งแต่กำเนิด สิ่งที่เราต้องการในขณะที่เข้าสู่สังคมมนุษย์ คือ ของขวัญจากการศึกษา
(ฌอง ฌาค รุสโซ)
53. ความอยากรู้หลายอย่างเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติของเยาวชน แต่โดยทั่วไปแล้วความใฝ่รู้นี้ถูกทำลายลง ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า เด็ก ๆ ถูกยัดเยี่ยดข้อมูลความรู้มากเกินกว่าที่เด็กต้องการ
(เบอร์ทรินต์ รัสเซลล์)
54. การศึกษานั้นไซร้คิดให้ถูก เหมือนเพาะปลูกต้นไม้ในกระถาง ยังเยาว์อยู่ผู้ใหญ่ดูไปพลาง พอโตต่างพาไปให้ลงดิน
(ม.ล.ปิ่น มาลากุล)
55. เด็กที่ไม่สามารถจินตนาการ ไม่เพียงแต่ไม่สามารถเรียนรู้ได้เท่านั้น แต่ยังเป็นคนที่โดยทั่วไปแล้วไม่มีความหวังอะไรอีกด้วย
(โจเซฟ เพียร์ซ)
56. เป้าหมายหลักของการศึกษาคือการสร้างมนุาย์ให้สามารถคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ มิใช่เดินตามรอยในสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำมาแล้ว - นั่นคือต้องเป็นนักสร้างสรรค์ นักประดิษฐ์และนักค้นพบ
(ฌอง ปิอาเซ่ต์)
57. บุคคลผู้ได้รับการศึกษาอย่างเสรีมักค้นพบความคิดใหม่ ๆ จากความอยากรู้อยากเห็น และความสนใจใคร่รู้ ขณะที่บุคคลผู้ถูกบังคับจะได้ความคิดใหม่ ๆ จากความกลัว
(เจมส์ บี สต็อคเดล)
58. ส่วนสำคัญที่สุดของการสอนคือ สอนในสิ่งที่ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้
(ไซมอน วีล)
59. ความรู้คือสิ่งที่ตายไปแล้ว แต่โรงเรียนมีหน้าที่รับใช้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ โรงเรียนควรจะช่วยพัฒนาเยาวชนแต่ละคนให้มีคุณภาพและความสามารถ
(อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์)
60. เรารู้ว่าเขาเก่งหรือไม่จากคำตอบของเขา แต่เรารู้ว่าเขาฉลาดหลักแหลมหรือไม่จากคำถามของเขา (สุภาษิตฝรั่งเศส)
61. ถ้าเราจะจัดการศึกษาเพื่อให้เป็นรากฐานในการเข้าถึงชีวิตที่ดีงามและสร้างสังคมที่ดีงาม ควรเป็นการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่นและการเจริญเติบโตตามธรรมชาติของเด็ก
(พิภพ ธงไชย)
62. ทุกช่วงเวลาของชีวิตนั้น มนุษย์เกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ หากแต่เป็นการเรียนรู้ตามยถากรรม การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมได้มีส่วนจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนให้เจริญไพบูลย์ตามความคาดหวัง
(สุมน อมรวิวัฒน์)
63. ก่อนที่เราจะเรียนรู้อะไร เราจะต้องสนใจใคร่รู้ในสิ่งนั้นเสียก่อน การเรียนรู้ก็คือการเล่นกับแนวคิด และสิ่งที่เป็นวัตถุ การมีอิสระที่จะเลือกในสิ่งที่อยากรู้จึงมีความสำคัญ
(ชัยอนันต์ สมุทวณิช)
64. การปรับตัวของแต่ละคนและของทั้งสังคม มีหัวใจอยู่ที่การเรียนรู้ของคน ต้องสร้างให้เกิดความรักที่จะเรียนรู้ เพื่อจะนำไปสู่สังคมแห่งปัญญาและการเรียนรู้
(สิปปนนท์ เกตุทัต)
65. การจะทำให้การศึกษาสนองตอบต่อชีวิตของผู้เรียนได้นั้น จำเป็นที่ต้องคืนการศึกษาแก่ประชาชน รัฐควรจะลดบทบาทของตนในการจัดและควบคุมการศึกษาลงไปกว่านี้ให้มาก
(นิธิ เอียวศรีวงศ์)
66. การศึกษาที่ไม่ทำให้คนมีศีลธรรมนั้น ไม่ใช่การศึกษา ...แผนการศึกษาของโลกสมัยนี้ ไม่มีการทำให้เด็ก ๆ รู้ว่าเกิดมาทำไม? เมื่อคนเราไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม? มันก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน จะไปได้อะไรอันเป็นสิ่งสูงสุด
(พุทธทาสภิกขุ)
67. แท้ที่จริง การจัดการศึกษาที่ควรจะเป็นนั้น น่าจะอยู่ที่การมองหาพรสวรรค์ในเด็กมากกว่าการมองหาเด็กที่มีพรสวรรค์
(อุทัย ดุลยเกษม)
68. วิกฤตที่สำคัญของระบบการศึกษาไทย คือความทุกข์ของผู้เรียน เนื่องจากเนื้อหาที่เรียนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของเด็ก เด็กจำต้องเรียนรู้สิ่งที่เป็นเรื่องไกลตัว
(รุ่ง แก้วแดง)
69. การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์ เพราะสมองของมนุษย์เป็นโครงสร้างที่วิจิตรที่สุดในจักรวาล สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้
(ประเวศ วะสี)
70. การปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ต้องเดินหน้าด้วยการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การเมือง ที่เราเรียกว่า การพัฒนาชนบท
(เสน่ห์ จามริก)
71. การศึกษาในปัจจุบันนี้ ทั้งโลกก็ว่าได้ มักมีแต่เพียงสองอย่าง คือรู้หนังสือกับอาชีพ แล้วก็ขมักเขม้นจัดกันอย่างดีที่สุด เร็วที่สุด ก้าวหน้าที่สุด มันก็ไม่มีผลอะไรมากไปกว่าสองอย่างนั้น มันก็ยังขาการศึกษาที่ทำให้มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องอยู่นั่นเอง ดังนั้น อาตมาจึงเรียกการศึกษาชนิดนี้ว่า เป็นการศึกษาที่เป็นเหมือนกับหมาหางด้วน
(พุทธทาสภิกขุ)
72. การศึกษาในที่นี้ ข้าพเจ้าไม่ได้หมายความเฉพาะการเรียนในโรงเรียนหรือการเรียนหนังสือเท่านั้น แต่หมายความไปถึงการฝึกฝนอบรมให้เด็ก ๆ รู้จักคิดด้วยใช้ปัญญาอันมีเร้นเป็นพลังอำนาจทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ในตนให้เกิดเป็นความเจริญ คลี่คลาย มีนิสัยไปในทางดีงาม
(พระยาอนุมานราชธน)
73. คนรุ่นใหม่ไม่ใช่แต่เก่งอย่างเดียว แต่ต้องดีด้วย ไม่ใช่มีแต่ Credentials แต่ต้องมี Human Credentials ด้วย หมายความว่า คนรุ่นใหม่ต้องมีวุฒิของความเป็นมนุษย์ที่วัดไม่ได้ด้วยกระดาษ มีความเอื้อเฟื้อ ความเป็นธรรม และมีคุณธรรมต่อกัน
(ศ.วิทิต มันตาภรณ์)
74. ผมคิดว่าโลกในอนาคตเป็นโลกของความหลากหลาย เป็นโลกของการเชื่อมโยงความคิดเป็นโลกของปัญญา ถ้าคนรุ่นใหม่ทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถเรียนรู้ได้จาก ประสบการณ์รอบตัว และสามารถมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ปัญญาก็จะงอกงามต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
(ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต)
75. มีเพียงคนอ่อนแอเท่านั้นที่รักตัวเอง ผู้เข้มแข็งเปิดหัวใจให้คนทั้งโลก
(Istv'an Sze'chenyi)
76. Thought take man out of servitude, into reedom. ความคิด ปลดมนุษย์ออกจากการกดขี่ ไปสู่เสรีภาพ
(Henry Wadsworth Lognfellow)
77. อีก 10 - 20 ปี เด็กไทยไม่ว่าในการศึกษาระดับใด เวลาที่เขามาห้องเรียน เขาจะมาเพื่อโต้ตอบกับครู มาสนทนากับครูเท่านั้น แต่ในแง่เนื้อหาวิชาความรู้ เขาสามารถได้มาจากสื่อที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
(ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร)
78. การศึกษาควรจะช่วยให้นักเรียนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ พร้อม ๆ กับการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สิ่งที่จะช่วยในเรื่องนี้ได้มากคือ การฝึกให้เขารู้จักปกครองตนเอง
(เอ.เอส.นีลล์)
14 ธันวาคม 2550 09:27 น.
ลุงแทน
พ่อ-ลูก
.......พ่อ รู้สึกขบขัน แกมสงสาร อย่างไม่น้อย ที่เห็น ลูกชายคนโต ดีใจ จนเนื้อเต้น ในการที่ ได้รับ "ป็ากเก้อร ๕๑" ด้ามหนึ่ง เป็น ของขวัญ วันเกิด และ เห็น ลูกชายคนเล็ก ดีใจ มากไปกว่านั้น อีกหลายเท่า ในการได้รับ ลูกกวาด ของนอก กระป๋องเล็กๆ กระป๋องหนึ่ง เป็นของขวัญ ในโอกาส เดียวกัน แต่พ่อ ไม่รู้สึก ขบขัน หรือ สมเพชตนเอง ในการที่ ตนเอง ตื่นเต้น ยิ่งไปกว่า ลูกทั้งสองอีก ในการที่ได้รับ บัตรเชิญ ไปในงาน มีเกียรติ ชั้นพิเศษ ของเจ้านาย รายหนึ่ง ซึ่งตน ไม่เคยนึกฝัน ว่าจะได้รับ ด้วยอาการ มือสั่น ใจรัว แทบไม่เชื่อตา ตนเอง ว่า บัตรนั้น ส่งมาเชิญตน
........นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า: มันเป็นการ เหลือวิสัย ในการที่จะให้ พ่อดีใจ จนเนื้อเต้น ในเมื่อ ได้รับปากกา ชนิดนั้น ด้ามหนึ่ง หรือ เมื่อได้ลูกกวาด กระป๋องหนึ่ง แต่ในที่สุด พ่อก็ไม่พ้น จากการที่ต้อง มีใจเต้นรัว มือสั่น ด้วยได้ กระดาษแผ่นเล็กๆ อันหมายความถึง เกียรติ อันหรูหรา จริงอยู่ รูปธรรม เช่น ด้ามปากกา หรือ ลูกกวาด มันไม่เหมือนกับ นามธรรม เช่น เกียรติ หรือ ไม่มีค่าสูง เท่าเทียมกัน แต่เราต้อง ไม่ลืมว่า มันสามารถ เขย่า ตัณหา (ภวตัณหา) ของคนได้โดยทำนองเดียวกัน โดยไม่มีผิด ในฐานะ ที่เป็นวัตถุ อันเป็นที่ตั้ง แห่งความพอใจ จนลืมตัว ได้เท่ากัน แล้วแต่ว่า ความใคร่ ของใครผู้ใด มีอยู่อย่างไร ส่วนความที่ ต้องใจเต้น มือสั่น เหล่านั้น ฯลฯ มันไม่มีผิด กันที่ตรงไหน เพราะฉะนั้น ใครเล่า ที่ควร สมเพชใคร ในระหว่าง พ่อ-ลูก รายนี้
11 ธันวาคม 2550 19:36 น.
ลุงแทน
********ดาบสขี้โกง*********
.......ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้มักหลอกลวงรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสี มีชฎิลโกงผู้หนึ่งเป็นดาบสหลอกลวง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ภายใต้การอุปถัมภ์ของพ่อค้าคนหนึ่ง เขาสร้างศาลาให้ดาบสและปรนนิบัติด้วยอาหารอันประณีต ด้วยเชื่อว่าดาบสเป็นผู้ทรงศีล จึงนำทองคำร้อยแท่งไปฝังไว้ใกล้ๆ ศาลาของดาบสนั้น เพื่อให้ดาบสช่วยดูแลรักษา ดาบสพูดให้เขาเกิดความสบายใจว่า
" ขึ้นชื่อว่าความโลภในสิ่งของผู้อื่น บรรพชิตไม่มีเลย "
เวลาผ่านไปสองสามวัน ดาบสได้นำทองคำไปฝังไว้เสียที่แห่งอื่น แล้วย้อนกลับมา ในวันรุ่งขึ้นฉันอาหารในบ้านของพ่อค้าแล้วกล่าวอำลาว่า
" อาตมาอาศัยท่านอยู่นานแล้ว ความพัวพันกับกับพวกมนุษย์ย่อมมี ธรรมดาการพัวพันเป็นมลทินของบรรพชิต เพราะฉะนั้น อาตมาจะขอลาไป "
แม้พ่อค้าจะอ้อนวอนอย่างไร ก็จะไม่อยู่ท่าเดียว เมื่อพ่อค้าบอกว่า
" ไปเถิดพระคุณเจ้า "
ตามไปส่งจนถึงประตูบ้านแล้วกลับเข้าบ้านไป
ดาบสนั้น เดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็เดินกลับมา พร้อมกับยื่นหญ้าเส้นหนึ่งให้แก่พ่อค้าพร้อมกล่าวว่า
" มันติดชฎาของอาตมาไป จากชายคาเรือนของท่าน ขึ้นชื่อว่า อทินนาทานไม่สมควรแก่บรรพชิต "
พ่อค้ายิ่งเลื่อมใสเข้าใจว่า
" ดาบสนี้ไม่ถือเอาสิ่งของผู้อื่น แม้เพียงเส้นหญ้า โอ! พระคุณเจ้าช่างเคร่งคัดจริง ๆ "
ก็พอดีมีชายบัณฑิตคนหนึ่งไปชนบทเพื่อต้องการสิ่งของ ได้พักแรมอยู่ในบ้านพ่อค้านั้นด้วย เห็นเหตุการณ์นั้นแล้วฉุกคิดว่า
" ต้องมีอะไรสักอย่างแน่ ๆ ที่ดาบสนี้ถือไป "
จึงถามพ่อค้าว่า
" ท่านได้ฝากอะไรไว้กับดาบสไหม ? "
พ่อค้าจึงเล่าเรื่องฝากให้ดาบสดูแลหลุมฝังทองคำ ๑๐๐ แท่ง เขาจึงบอกให้พ่อค้ารีบไปตรวจเช็คดูว่าหายหรือไม่ เมื่อพ่อค้าไปตรวจดูแล้วปรากฏว่าไม่เห็นทองคำ จึงรีบกลับมาบอกชายบัณฑิตนั้น แล้วพากันรีบติดตามดาบสจับมาทุบบ้าง เตะบ้าง ให้นำทองคำมาคืน เมื่อพบทองคำแล้ว ชายผู้เป็นบัณฑิตจึงพูดว่า
" ดาบสนี้ขโมยทองคำ ๑๐๐ แท่ง ยังไม่ข้องใจ กลับมาข้องใจในเรื่องเพียงเส้นหญ้า "
แล้วกล่าวคาถาว่า
" ถ้อยคำของท่านช่างไพเราะอ่อนหวานเสียนี่กระไร ท่านรังเกียจกระทั่งหญ้าเส้นเดียว
แต่เมื่อขโมยทองคำไปตั้ง ๑๐๐ แท่ง กลับไม่รังเกียจเลยนะ "
10 ธันวาคม 2550 15:35 น.
ลุงแทน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สืบแทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งเสด็จสู่สวรรคาลัยโดยกะทันหัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ รัตนโกสินทร์ศก ๑๔๖ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซทท์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๓ พระนามเดิมว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช” ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระเชษฐภคินี ๑ พระองค์ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ๑ พระองค์ มีพระนามเดิมและพระอิสริยยศต่อมาตามลำดับ ดังนี้
หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงได้รับการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ให้ทรงมีพระยศทรงกรมว่า กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
หม่อมเจ้าอานันทมหิดล ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลจึงได้ทูลเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์เป็น พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ทรงพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ทรงพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ทรงได้รับการสถาปนามีพระยศทรงกรมว่า กรมหลวงสงขลานครินทร์ ได้เสด็จทรงศึกษาวิชาการแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงสำเร็จวิชา แพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาลจากโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙ ต่อจากนั้นทรงได้รับทุนการศึกษาของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไปทรงเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๐ ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระบรมราชชนก ขณะดำรงพระยศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๓
เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาได้ ๑ พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับประเทศไทย ครั้งนั้นได้ประทับที่วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อีกหนึ่งปีต่อมา ในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงพระประชวร และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ในปีเดียวกัน
เมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงรับพระราชภาระแห่งความเป็นแม่อย่างใหญ่หลวง เพราะต้องทรงอภิบาลพระโอรสธิดาองค์น้อยๆ โดยลำพังถึง ๓ พระองค์ และที่นับว่าเป็นพระราชภาระที่หนักยิ่งกว่าภาระของแม่ใดๆ ก็เพราะว่าพระโอรสธิดาที่ทรงอภิบาลรับผิดชอบนั้นต่อมาเป็นพระประมุขของประเทศถึง ๒ พระองค์ เพราะฉะนั้น การอภิบาลรักษาและการถวายการอบรมสั่งสอน จึงมีความยากและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
พระราชจริยาวัตรในเชิงสร้างสรรค์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงสอนพระโอรสธิดา ให้เรียนรู้เรื่องแผนที่และการใช้แผนที่ กล่าวคือ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ โรงเรียนเพาะช่างในสมัยนั้นจัดทำแผนที่ประเทศไทยโดยผลิตเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีกล่องไม้พร้อมฝาปิดเปิดสำหรับใส่เพื่อให้พระโอรสธิดาทั้ง ๓ พระองค์ ทรงเล่นเป็นเกมส์สนุกคล้ายการต่อรูปต่างๆ เป็นการสอนให้รู้จักประเทศไทย และรู้จักการดูการใช้แผนที่ไปพร้อมๆ กัน จึงกล่าวได้ว่าพระราชดำริสร้างสรรค์เหล่านี้ ประกอบกับคุณธรรมอีกหลายประการได้มีบทบาทอย่างใหญ่หลวงต่อการที่ทรงอภิบาลและฝึกสอนพระโอรสธิดา ดังจะเห็นได้ว่าพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยาวัตรอันงดงามหลายประการในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ส่งผล ไปถึงพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยาวัตรของพระโอรสธิดา อาทิ พระราชอัธยาศัยโปรดการถ่ายรูปและถ่ายภาพยนตร์ ได้สืบทอดมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างครบถ้วน ดังจะเคยได้เห็นการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ใดจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์ คือ ทรงมีแผนที่ กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบด้วย เวลาทรงงานจะทรงใช้ยางลบเสมอ เมื่อทรงพบเห็นอะไรก็จะทรงขีดเขียนบนแผนที่ เช่นเดียวกับพระบรมราชชนนีที่ทรงกระทำมาก่อน บางครั้งจะทรงพบว่า ณ จุดทรงงานนั้นเป็นสถานที่บนภูเขาแต่ตามระวางของกรมแผนที่ระบุไว้ว่าเป็นธารน้ำ จึงดูคล้ายกับน้ำไหลขึ้นสูง และได้พระราชทานข้อสังเกตนี้แก่กรมแผนที่ซึ่งกรมแผนที่ได้สำรวจใหม่จึงพบว่าเป็นเรื่องผิดพลาดของเจ้าหน้าที่เอง กลายเป็นน้ำไหลกลับขึ้นที่สูง จากนั้นกรมแผนที่ได้เขียนเป็นเอกสารถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักแผนที่ผู้ชำนาญพระองค์หนึ่งด้วย
พุทธศักราช ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ พรรษา ได้เสด็จทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา ๑ ปี หลังจากนั้นได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชไม่ทรงแข็งแรง จำเป็นต้องประทับในสถานที่ซึ่งอากาศดีและไม่ชื้น พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระปิตุลา ทรงแนะนำให้เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเอกอลเมียร์มองต์ (Ecole Mieremont) เมืองโลซานน์ พร้อมด้วยพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อจบชั้นประถมศึกษาแล้ว ก็ทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนเอกอล นูแวล เดอ ลาซืออิส โรมองด์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) เมืองแชลลี ซูร โลซานน์ (Chailly-sur-Lausanne)
พุทธศักราช ๒๔๘๑ ทรงจบการศึกษาจากโรงเรียนยิมนาส คลาสสิค กังโตนาล (Gymnase Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ แล้วทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แผนกวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่ ๒ โดยเสด็จ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช หลังจากเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยชั่วคราวครั้งที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑ ครั้งหลังนี้ได้เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวังจนกระทั่งถึงวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน คณะรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในวันเดียวกัน
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชภารกิจในการศึกษาต่อ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเดือนมิถุนายนของปีนั้น รวมเวลาที่เสด็จประทับในประเทศไทยได้ ๖ เดือน ในการทรงศึกษาต่อครั้งนี้ ทรงเลือกเรียนวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่แต่เดิมก่อนเสด็จนิวัตประเทศไทย
เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาองค์ใหญ่ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ผู้ซึ่งต่อมา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคลและในพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมมีพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ
พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทย ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลในเดือนมีนาคม ปีเดียวกัน
วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเดือนต่อมา
6 ธันวาคม 2550 12:50 น.
ลุงแทน
***** กล้วยร้อยหวี มีพันผล *****
กล้วยร้อยหวี มีพันผล
ในหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ฉบับพระราชทาน เล่มที่ 30 ศาสตราจารย์เบญจมาศ ศิลาย้อย อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกล้วย ได้เขียนบอกไว้ว่า “...ในสมัยอยุธยา เดอลาลูแบร์ อัครราชทูตชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางมาเมืองไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. 2230 ได้เขียนบันทึกถึงสิ่งที่เขาได้พบเห็นในเมืองไทยไว้ว่า ได้เห็นกล้วยงวงช้าง ซึ่งก็คือกล้วยร้อยหวีในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ประดับนั่นเอง...”
“กล้วยร้อยหวี” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Musa chiliocarpa Back. อยู่ในวงศ์
Musaceae มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กล้วยงวงช้าง” มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นไม้ล้มลุก มีขนาดเล็กกว่าต้นกล้วยน้ำว้าที่พบเห็นกันได้ทั่วไป ลำต้นสูงราว 2-3 เมตร
ดอกออกที่ปลายต้น ซึ่งช่อดอกมีดอกหนาแน่นมาก ใช้เวลา 6 เดือนจึงตกเป็นปลีห้อยลงมา และทยอยออกผลเป็นหวีกล้วยขนาดเล็กราวร้อยหวี แต่ละหวีมีผลประมาณ10-15 ผล เครือหนึ่งมีความยาวราวเมตรกว่าๆ ถึงสองเมตร มีลักษณะคล้ายงวงช้าง เมื่อรวมจำนวนกล้วยทั้งหมดในหนึ่งเครือตกราว 1,000 กว่าผล แต่หากเป็นเครือที่สมบูรณ์มากๆ ก็อาจให้ผลถึงสองร้อยหวีทีเดียว ผลของกล้วยชนิดนี้มีขนาดเล็ก เนื้อน้อย แต่มีเมล็ดมาก และจะออกผลเพียงปีละครั้งเท่านั้น เพราะระยะเวลาในการเป็นหวีกล้วยเล็กๆ จนสุดเครือ นั้นยาวนานมากราว 9-12 เดือน เมื่อออกผลแล้วก็จะตายไป แต่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยหน่อ
แม้ว่าจะมีจำนวนผลมาก แต่ความที่มีเมล็ดมากและเนื้อน้อย จึงไม่นิยมนำมารับประทาน เพียงปลูกเป็นไม้ประดับ เพื่อความแปลกตาและสวยงาม ส่วนประโยชน์ทางพืชสมุนไพรของกล้วยร้อยหวี ก็มีเช่นเดียวกันคือ ใช้ผลดิบทั้งเปลือกหั่นตากเเห้งป่นเป็นผงชงน้ำร้อน หรึอปั้นเป็นเม็ดรับประทานรักษาเเผลในกระเพาะอาหาร เเก้ท้องเสียเรื้อรัง เเผลเน่าเบื่อย เเผลติดเชื้อต่างๆ ส่วนเปลือกของผลสุกใช้ด้านในทาส้นเท้าเเตก หัวปลีเเก้โรคโลหิกจาง ลดน้ำตาลในเลือดเเก้โรคเบาหวาน ส่วนรากต้มดื่มเเก้ไข้ได้อย่างดีเป็นต้นปัจจุบันกล้วยร้อยหวีแทบจะไม่ค่อยมีให้เห็นกันมากนักอาจเป็นเพราะหาหน่อพันธุ์ยากก็เป็นได้ แต่เชื่อว่าถึงอย่างไรกล้วยพันธุ์นี้ก็ยังคงมีให้ชื่นชมอยู่ในโลกนี้อย่างแน่นอน
*****สำหรับเรื่องของกล้วยที่มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎกนั้น คราวนี้ขอนำเรื่องผลแห่งการถวายผลกล้วย มาบอกเล่ากัน ในพระไตรปิฎก หัวข้อ กทลิผลทายกเถราปทานอันว่าด้วยผลแห่งการถวายผลกล้วย ของพระกทลิผลทายกเถระ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า
“เราได้เห็นพระศาสดาผู้เป็นนายกของโลก ทรงรุ่งเรืองดังดอกกรรณิการ์ โชติช่วงเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญและดังดวงประทีป เรามีจิตเลื่อมใส โสมนัส ได้ถือเอาผลกล้วยไปถวายแด่พระศาสดา ถวายบังคมแล้วกลับไป ในกัลปที่ 31 แต่กัลปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้การที่เราได้มาในพระศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าของเรา เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา3เราบรรลุแล้วโดยลำดับพระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพทั้งปวงขึ้นได้หมดแล้ว ตัดกิเลสเครื่องผูกดังช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้”