21 กรกฎาคม 2551 00:01 น.

ห้ามปิดประกาศ (พันธมิตรฯ ประกาศตั้ง “คณะ กก.พลังแผ่นดิน” รวมพลัง ขรก.-ทหาร-ตร.ปกป้องชาติและราชบัลลังก์)

ลักษมณ์

พันธมิตรฯ ประกาศตั้ง คณะ กก.พลังแผ่นดิน รวมพลัง ขรก.-ทหาร-ตร.ปกป้องชาติและราชบัลลังก์ 
 
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 กรกฎาคม 2551 18:41 น. 
 
 
 
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น 
 

 
 
 
  
       ประกาศพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
       ฉบับที่ 5/2551
       เรื่อง
       การจัดตั้ง คณะกรรมการพลังแผ่นดิน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
       
       

       ตามที่ พันธมิตรประชาชนผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทั่วประเทศ ได้ลุกขึ้นสู้เพื่อเอาประเทศไทยของเราคืนมา พิทักษ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โค่นระบอบทักษิณ และขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดนั้น ประชาชนวงการต่างๆ ได้เข้าร่วมการต่อสู้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
       
       บัดนี้ ได้มี ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และพนักงานของรัฐได้ก่อตัวขึ้นสนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในทุกส่วนราชการ ดังนั้น เพื่อให้การปรับขบวนการต่อสู้ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการพลังแผ่นดิน ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดังนี้
       
       1. คณะกรรมการพลังแผ่นดิน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้มีองค์ประกอบของข้าราชการทั้งในและนอกราชการ ตลอดจนพนักงานของรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน พนักงานของรัฐ และอาสาสมัคร
       
       2. คณะกรรมการพลังแผ่นดิน มีอุดมการณ์สืบสานเจตนารมณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในส่วนของการปกป้องราชบัลลังก์ รักษาพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า ปกป้องเอกราชและอาณาเขต และรักษาผลประโยชน์ของชาติ
       
       3. คณะกรรมการพลังแผ่นดิน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีภารกิจดังต่อไปนี้
       
                 3.1 ขยายพันธมิตรเครือข่ายในส่วนของข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และพนักงานของรัฐทั้งในประจำการและนอกประจำการ ตลอดจนอาสาสมัครให้มากที่สุด
       
                 3.2 เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร แก่ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และพนักงานของรัฐทั้งในประจำการและนอกประจำการให้กว้างขวางมากที่สุด
       
                 3.3 ช่วยปกป้องดูแลประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ให้มีความปลอดภัยในร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน ตลอดจนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกรูปแบบ
       
                 3.4 แจ้งข้อมูลข่าวสาร การขายชาติ การทุจริต และการเคลื่อนไหวของพวกขายชาติ และพวกฉ้อโกงชาติ แก่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมทั้งแจ้งกำหนดการเคลื่อนไหวให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ทราบทุกระยะ
       
                3.5 กระทำการอารยะขัดขืนในหน่วยงานราชการ และองค์กรของรัฐต่อฝ่ายการเมืองที่ฉ้อฉล และเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       
                 3.6 ค้นคว้าและเสนอแนะการพัฒนา แก้ไขหน่วยงานในสังกัด จัดเตรียมรายชื่อบุคลากรที่เป็นคนดีมีฝีมือ ในหน่วยงานเพื่อส่งเสริมให้มีอำนาจในบ้านเมืองในอนาคต
       
                 3.7 สนับสนุนการเมืองใหม่ที่ให้ความสุข ความยุติธรรม กับประชาชนชาวไทย ให้เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตลอดไป
       
       4.พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีมติเรียนเชิญ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เป็น ประธานคณะกรรมการพลังแผ่นดิน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อดำเนินการตามอุดมการณ์และภารกิจข้างต้น และมอบหมายให้เชิญบุคลากรที่เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมกับ คณะกรรมการพลังแผ่นดิน ต่อไป
       
       ประกาศ ณ วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
       
       พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 
 
 
 http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000085246				
20 กรกฎาคม 2551 03:00 น.

คำประกาศที่ท้าทายมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย (มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางที่อยู่ข้างธรรม)

ลักษมณ์

คำประกาศที่ท้าทายมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย 
 
โดย สิริอัญญา  17 กรกฎาคม 2551 18:53 น. 
 

 ข้าพเจ้าขอนอบน้อมบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พระผู้เป็นศาสดาเอกของโลก ทรงเสด็จไปดีแล้ว ทรงมอบพระธรรมวินัยและพระสงฆ์สาวกเพื่อประโยชน์และความสุขของชนหมู่มากในโลก
       
        วันนี้เป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันเข้าพรรษา และล่วงพ้นวันอาสาฬหบูชามาแล้ว 1 วัน ดังนั้นจึงยังคงประกาศพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นต่อไปอีกวันหนึ่งตามที่ได้ตั้งใจไว้เดิม
       
        และวันนี้จะได้แสดงในหัวข้อเรื่อง คำประกาศที่ท้าทายมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
       
       การแสดงปฐมเทศนาของพระตถาคตเจ้าคือการประกาศสถาปนาพระพุทธศาสนาขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก ทำให้พระรัตนตรัยบังเกิดขึ้นครบถ้วนเป็นครั้งแรกในโลก
       
       เมื่อทรงประณามและโค่นความติดยึดผิดๆ ในสังคมเก่า คือความติดยึดและหมกมุ่นอยู่ในทางสุดโต่งทั้งสองทาง คือทางสายตึงกับทางสายหย่อนแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ประกาศการเมืองใหม่ คือทางสายกลาง หรือที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่ามัชฌิมาปฏิปทา
       
       ทรงประกาศว่าทางสุดโต่งทั้งสองทางเป็นสิ่งที่ไม่ควรติดยึดข้องแวะเป็นอันขาด เพราะไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้น ไม่ใช่ทางแห่งความรู้อันประเสริฐของมวลมนุษย์ ไม่ใช่ทางแห่งความดับทุกข์ และไม่ใช่ทางอันเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเหล่าสัตว์
       
       นั่นคือการทรมานตนด้วยวิธีการใดๆ ก็ดี การเสพสุขอย่างเสรีแบบฉวยโอกาสแบบพวกริบบิ้นขาวก็ดี เป็นหนทางอันต่ำช้า ไม่ใช่หนทางอันประเสริฐในพระธรรมวินัยแห่งพระอริยเจ้า
       
        จากนั้นก็ทรงประกาศว่ามัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางคือหนทางอันประเสริฐที่จะล่วงทุกข์หรือดับทุกข์สิ้นเชิงได้ เป็นทางรอดของมวลมนุษย์ทั้งหลาย 
       
       ทางสายกลางที่พระพุทธองค์ทรงประกาศนั้นมิใช่การอ้างความเป็นกลางแบบฉวยโอกาสหรือการถือลัทธิตาอยู่ที่เจ้าเล่ห์แสนกลและปลิ้นปล้อนเพื่อฉกฉวยโอกาสจากความวิบัติฉิบหายทั้งหลายมาเป็นประโยชน์ตน
       
       มิใช่ความเป็นกึ่งกลางระหว่างตัวเลขทางคณิตศาสตร์ มิใช่ความเป็นกึ่งกลางระหว่างสีดำกับสีขาว หรือความผิดกับความถูก หรือความชั่วกับความดี และมิใช่ความเพิกเฉยไม่ไยดีกับความชั่วช้าเลวทรามใดๆ ที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า และมิใช่ความยอมจำนนต่ออธรรม ต่อการข่มเหงรังแกและการกดขี่ขูดรีดทั้งปวง
       
       นั่นไม่ใช่ทางสายกลาง นั่นเป็นลัทธิยอมจำนน ลัทธิฉวยโอกาส หรือลัทธิเจ้าเล่ห์กระเท่ห์ที่ปลิ้นปล้อนหลอกลวงเท่านั้น
       
        ทรงประกาศอย่างองอาจว่าทางสายกลางประกอบด้วยองค์แปดคือสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ทั้งแปดประการนี้ประดุจดั่งเชือกแต่ละเส้นที่ร้อยเกลียวกันเป็นเชือกเส้นใหญ่อันประกอบขึ้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา 
       
       องค์ทั้งแปดแห่งมัชฌิมาปฏิปทานั้นคือความเห็นหรือความยึดถือชอบ ความดำริชอบ การกล่าววาจาชอบ การกระทำชอบ การประกอบอาชีพโดยชอบ ความพยายามโดยชอบ การรำลึกโดยชอบ และความมีจิตตั้งมั่นโดยชอบ
       
       คือมีความชอบหรือความถูกต้องอยู่ทุกองค์แห่งอริยมรรค แต่การใช้คำว่า ชอบ หรือ ความถูกต้อง ในทุกองค์แห่งอริยมรรคนั้น ท่านผู้รู้บางท่านโดยเฉพาะพระภิกษุฝรั่งที่เป็นสานุศิษย์ของพระอาจารย์ชาเคยแปลว่าคำว่า สัมมา ว่าไกลจากกิเลส
       
       และด้วยคำแปลนี้ก็จะมีความหมายอีกทางหนึ่งว่าอริยมรรคอันมีองค์แปดนั้นคือความเห็นที่ไกลจากกิเลสหนึ่ง ความดำริที่ไกลจากกิเลสหนึ่ง การกล่าววาจาที่ไกลจากกิเลสหนึ่ง การกระทำที่ไกลจากกิเลสหนึ่ง การประกอบอาชีพที่ไกลจากกิเลสหนึ่ง ความพยายามให้ไกลจากกิเลสหนึ่ง ความระลึกอันไกลจากกิเลสหนึ่ง และความมีจิตที่ไกลจากกิเลสอีกหนึ่ง ถ้าแปลอย่างนี้ก็อาจเข้าใจได้ง่ายขึ้น
       
        จะเลือกแปลอย่างไหนก็สุดแท้แต่อัชฌาสัย ขอเพียงให้เข้าใจคำว่า สัมมา ให้ตรงกันว่ามีความหมายอย่างเดียวกันกับคำว่า สัมมา ในคำที่ประกอบกันเข้าเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเถิด
       
       ดังนั้นองค์ทั้งแปดแห่งอริยมรรคจึงมิใช่ความเป็นกลางทางคณิตศาสตร์ มิใช่ความเป็นกลางแบบฉวยโอกาส หรือความเพิกเฉยด้วยการยอมจำนน หรือการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ต่อสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ต้องเริ่มต้นด้วยความถูกต้อง ความชอบ หรือความไกลจากกิเลสคือ สัมมา ทั้งสิ้น
       
       เมื่อทรงประกาศประณามซากเน่าผุพังของความติดยึดในความเห็นสุดโต่งทั้งสองทาง และทรงประกาศทางสายกลางคือมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว ก็ทรงประกาศอริยสัจสี่ที่ทรงค้นพบ
       
        ทรงประกาศว่าความจริงอันประเสริฐสุด 4 ประการ เป็นเรื่องที่เวไนยสัตว์ทั้งปวงพึงทำความรู้ พึงทำความเข้าใจ และพึงประพฤติปฏิบัติเพื่อความล่วงทุกข์ เพื่อความถึงที่สุดแห่งทุกข์ เพื่อความดับทุกข์ และเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ดังนี้แล้วก็จะเป็นเวไนยสัตว์ที่ประเสริฐ ไม่เสียทีที่เกิดมาชาติหนึ่ง
       
       ทรงประกาศว่าทุกข์อริยสัจคือความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ โดยสรุปก็คือความติดยึดมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นทุกข์
       
        ทรงประกาศว่าสมุทัยอริยสัจอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือความทะยานอยากทำให้มีภพ เป็นไปด้วยความกำหนัด ด้วยความเพลิดเพลินในอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใคร่หรือความทะยานอยากในความอยากมี อยากเป็น หรือความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น หรือทั้งความอยากและไม่อยากใดๆ นี่แหละเป็นเหตุแห่งทุกข์
       
       ทรงประกาศว่านิโรธอริยสัจหรือความดับทุกข์สิ้นเชิงนั้นมีอยู่ คือความดับสิ้นไปแห่งความกำหนัดโดยไม่เหลือตัณหาใดๆ ความสละตัณหา ความวางตัณหา ความปล่อยตัณหาและความไม่พัวพันในตัณหา คือความดับสนิทแห่งทุกข์
       
       ทรงประกาศว่าอริยมรรคก็คือหนทางแห่งความดับทุกข์สิ้นเชิงก็มีอยู่ นั่นคืออริยมรรคอันมีองค์แปดนั่นเอง
       
        พระพุทธองค์ทรงประกาศว่าทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แล้ว ทรงมีปัญญาเกิดขึ้น ทรงมีวิชชาเกิดขึ้นแล้ว ทรงมีความสว่างเกิดขึ้นแล้ว ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยฟังมาก่อนว่าทุกข์อริยสัจเป็นอย่างนี้ ว่าทุกข์อริยสัจเป็นสิ่งที่พึงกำหนดรู้ และทรงกำหนดรู้ทุกข์อริยสัจนั้นแล้ว
       
       ทรงประกาศว่าสมุทัยอริยสัจนั้นทรงกำหนดรู้แล้วว่าเป็นอย่างไร และเป็นเรื่องที่ควรละให้สิ้นเชิง และทรงละได้สิ้นเชิงแล้ว
       
       ทรงประกาศว่านิโรธอริยสัจนั้นทรงรู้แล้ว และรู้ด้วยว่าเป็นเรื่องควรทำให้แจ้งและทรงทำให้แจ้งแล้ว
       
       ทรงประกาศว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจหรือหนทางแห่งความดับทุกข์นั้นทรงรู้แล้วว่าเป็นอย่างไร ทรงรู้ด้วยว่าเป็นสิ่งที่ควรทำให้เจริญขึ้น บังเกิดขึ้นในตน และทรงเจริญอย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์แล้ว
       
       ทรงสรุปว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงแล้วอย่างไร ในอริยสัจสี่เหล่านี้ของเรา ซึ่งมีรอบสาม มีอาการสิบสองอย่างนี้ ยังไม่หมดจดเพียงใดแล้ว เราไม่ยืนยันว่าเราเป็นผู้ตรัสรู้โดยชอบ
       
       แล้วทรงประกาศว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแลปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงอย่างไรในอริยสัจเหล่านี้ของเราซึ่งมีรอบสาม มีอาการสิบสองอย่างนี้หมดจดดีแล้ว เมื่อนั้นเราจึงได้ยืนยันตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ชอบ ไม่มีความตรัสรู้อื่นยิ่งกว่าในโลก ไม่ว่าในโลกแห่งเทพยดา มาร พรหม หมู่สัตว์ ทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพยดา และมนุษย์
       
       ทรงยืนยันต่อไปว่า ก็แลปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่าความพ้นพิเศษของเราไม่กลับกำเริบอีก ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีภพอีก
       
        ความหมายก็คือทุกข์และสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ด้วยปัญญาก่อนว่าเป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็รู้ต่อไปว่าเป็นสิ่งที่ต้องละเสีย และได้ละทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ได้ นี่เรียกว่ามีปัญญารู้ด้วยรอบสาม คือรู้ว่าเป็นอย่างไร รู้ว่าควรละ และละได้แล้ว 
       
       ความหมายก็คือนิโรธคือความดับทุกข์ และมัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นหนทางแห่งความดับทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ด้วยปัญญาก่อนว่าเป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็รู้ต่อไปว่าเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เจริญขึ้นในตน และได้ประพฤติปฏิบัติจนเป็นมรรคผลบริบูรณ์
       
       อาการสามรอบในจตุอริยสัจเป็นดังนี้ จึงทรงกล่าวว่า ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงในอริยสัจสี่ของเราซึ่งมีรอบสาม มีอาการสิบสองอย่างนี้
       
       เป็นอันหมดจด เป็นระบบ ครบถ้วนว่าเวไนยสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้วย่อมมีหน้าที่ในการศึกษาและปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งด้วยปัญญาว่าทุกข์และสมุทัยเป็นประการใด รู้แล้วก็ต้องรู้ต่อไปว่าเป็นเรื่องที่ต้องละเสียให้สิ้นเชิง และประพฤติปฏิบัติให้ละหรือระงับดับได้อย่างสิ้นเชิงด้วย นี่เป็นการดับที่ต้นธารหรือดับสาเหตุของความทุกข์
       
       การดับทุกข์และหนทางดับทุกข์เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งด้วยปัญญาว่าเป็นอย่างไร แล้วรู้ด้วยว่าเป็นเรื่องที่ต้องเจริญให้บังเกิดมีขึ้นในตนและต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อใช้หนทางแห่งความดับทุกข์นั้นดับทุกข์ได้สนิทสิ้นเชิง
       
        อริยสัจสี่จึงประกอบด้วยรอบสามและอาการสิบสองดังนี้ 
       
       คำประกาศเหล่านี้ทรงประกาศยืนยันว่า นี่คือจักรแห่งธรรม หรือธรรมจักรที่ไม่มีจักรอื่นสู้ได้ พระพุทธองค์ทรงประกาศพระธรรมจักรนี้แล้วที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
       
       ธรรมจักรนี้จักไม่มีสมณะ พราหมณ์ เทพยดา มาร พรหม และใครใดในโลกจะหมุนกลับให้เป็นอื่นไปได้ไม่ว่าในกาลบัดนั้น หรือในกาลบัดนี้ หรือในกาลไหนๆ
       
       คำประกาศดังกล่าวนี้จึงได้ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นปฐมเทศนาแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
       
        สิ้นคำประกาศ พระอัญญาโกณฑัญญะพี่ใหญ่แห่งปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม คือเห็นด้วยปัญญาอันยิ่งว่าสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา
       
       ในพลันนั้นเทพยดาทั้งหลายในชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามะ ชั้นดุสิต ชั้นนิมานนรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี เทพดาที่เกิดในชั้นพรหม ต่างพร้อมเพรียงกันเปล่งสาธุการบันลือลั่นสะท้านขึ้นไปทั่วทั้งหมื่นแสนโลกธาตุ บังเกิดแสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณ
       
        ขอสาธุชนทั้งปวงที่ได้ทราบประกาศแห่งพระผู้พระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล้วจงถึงซึ่งความสวัสดีและมีจิตอันเกษม ถึงซึ่งความไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งปวงเทอญ.
 

http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000084319				
17 กรกฎาคม 2551 23:00 น.

ว.วชิรเมธี เขียน “ความเป็นกลาง = ความเป็นก้าง” (จากเนชั่นสุดสัปดาห์)

ลักษมณ์

ว.วชิรเมธี เขียน ความเป็นกลาง = ความเป็นก้าง (จากเนชั่นสุดสัปดาห์) 
 
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 14 กรกฎาคม 2551 06:14 น.
 
ผู้จัดการออนไลน์  ท่าน ว.วชิรเมธี ชี้ทางสว่าง ระบุในทางพุทธ ความเป็นกลางทางการเมืองคือ การยืนอยู่ข้างธรรมะและความถูกต้อง มิใช่การอยู่เฉยๆ อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะการอยู่เฉยๆ นั้นจะนำประเทศไทยไปสู่หายนะ สงสัยระบบการศึกษายิ่งสอนยิ่งทำให้คน เชื่อง ส่วนพระสงฆ์ควรเป็นต้นแบบของการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง โดยต้อง ถ่ายทอดธรรม ให้กับนักการเมือง แต่ไม่เล่นการเมือง
       
       นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 หน้าที่ 54 ในคอลัมน์ธรรมาภิวัฒน์ ว.วชิรเมธี หรือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ได้เขียนบทความเรื่อง ความเป็นกลาง = ความเป็นก้าง อธิบาย เหตุผลในการวิจารณ์ทางการเมืองของท่านที่ส่งผลเสียต่อรัฐบาล
       
       ทั้งนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี อธิบายว่า ท่านไม่เห็นด้วยกับทัศนะของคนไทยส่วนใหญ่ที่ระบุว่า พระต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองด้วยการไม่พูดถึงการเมือง ไม่เล่นการเมือง และควรจะปล่อยวางเรื่องทางโลก มุ่งดับกิเลศอย่างเดียว โดยให้เหตุผลว่า ในทางพุทธศาสนา ความเป็นกลาง ก็คือ ความเป็นธรรม ธรรมะคือความถูกต้อง ... ดังนั้น ภาวะที่เป็นกลาง การวางตัวเป็นกลาง ก็คือ การวางตนอยู่กับธรรมและธรรมอยู่กับใคร เราก็ควรจะสังกัดอยู่ในฝ่ายนั้น การเป็นกลางจึงไม่ได้หมายถึงการไม่เลือกฝ่าย
       
       นอกจากนี้ ว.วชิรเมธี ยังกล่าวด้วยว่า ความเป็นกลาง ที่คนส่วนใหญ่ รวมถึง นักวิชาการ สื่อมวชนอ้างถึงนั้นเกิดจากความไม่รู้ การอยู่เฉยๆ ไม่เรียกว่า การวางตนเป็นกลาง แต่ควรเรียกว่า วางตนเป็น ก้าง คือ คอยขวางไม่ให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในสังคม ... น่าเป็นห่วงมากที่ในสังคมไทยของเราคิดกันตื้นๆ ว่า การวางตนเป็นกลาง คือ การอยู่เฉยๆ และก็คนกลุ่มใหญ่พยายามขยายแนวคิดนี้ออกไปจนทำท่าจะเห็นดีเห็นงามกันทั้งประเทศ
       
       ระบบการศึกษาของคนไทยนี้มันผิดปกติตรงไหนหรือเปล่าที่เมื่อศึกษากันไปๆ ทำไมคนไทยถึงได้ เชื่อง มากขึ้นทุกที มหาวิทยาลัย , สื่อมวลชน, วัฒนธรรม ที่ทำให้คนมีความแกล้วกล้าอาจหาญในการที่จะเผชิญกับความอยุติธรรม, ความเลวร้าย, ความฟอนเฟะ, ความสามานย์ของชนชั้นนำ หรือ ของคนทั่วไป ซึ่งเต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบายกลายเป็นจิ้งจอกของสังคม หายไปไหนกันหมด
       
       บ้านเมืองที่มากไปด้วยคนที่วางตัวเป็นกลางด้วยการอยู่เฉยๆ นั้น ไม่ต่างอะไรกับการเปิดทางให้ประเทศเดินเข้าสู่ความหายนะอย่างถาวรด้วยความยินดี ความสงบสุขที่ปราศจากปัญญานั้น เป็นความสงบสุขของป่าช้ามากกว่าของอารยชน ความนิ่งที่เกิดจากพื้นฐาน คือ ความกลัวนั้นไม่ต่างอะไรกับความนิ่งของสิงโตหินตามวัด
       
       ขณะเดียวกันบทความชิ้นดังกล่าวยังอ้างอิงถึงสมัยพุทธกาลด้วยว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชน โดยหักล้างคำสอนเรื่องพระพรหม เรื่องระบบวรรณะ นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังทรงแสดงธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเอาไว้มากมาย ทรงห้ามทัพ ทรงเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับสงครามระหว่างรัฐต่างๆ รวมถึงเสนอระบบเศรษฐกิจแบบ ทางสายกลาง ที่เน้นการบริโภคเพื่อความอยู่รอดมากกว่าการบริโภคเพื่อความมั่งคั่งอย่างไม่รู้จบด้วย
       
       ดังนั้นคำกล่าวที่ว่าพระสงฆ์ไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยสิ้นเชิงนั้น ว.วชิรเมธี จึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ตามคำสอนของพุทธศาสนา พระสงฆ์ควร ถ่ายทอดธรรม ให้กับนักการเมืองได้ แต่เล่นการเมืองไม่ได้และควรเป็นต้นแบบในการวางตนเป็นกลาง ด้วยการเลือกยืนอยู่ข้างธรรมะ ธรรมะอยู่ที่ไหน พระก็ควรอยู่ที่นั่น

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น 
 
ว.วชิรเมธี (ภาพจาก www.tamdee.net) 

 
นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000082472				
Calendar
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลักษมณ์
Lovings  ลักษมณ์ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลักษมณ์
ไม่มีข้อความส่งถึงลักษมณ์