25 กันยายน 2552 18:35 น.

สองมือแม่ ตอนที่ ๒

ละไมฝน

๒. วัยสาว

ลมหายใจแห่งรักกลิ่นหอมกรุ่นเหมือนกลิ่นข้าวหอมดอกมะลิ ความสมหวังในรักดุจดวงตะวันอันเจิดจรัส สาดแสงสุกอร่ามอวลอุ่นในยามเช้า ค่ำคืนฟ้างามระยับพราวด้วยแสงตะเกียงเงินของดวงดาว และในคืนเพ็ญแสงโคมทองหว่านกลิ่นหอมเย็น ละไมละมุนมาสู่ดวงใจแม่ยามนิทรา

พ่อบุญถึง หอบฝันอันบรรเจิดจากเมืองยศ ( ยโสธร ) มาแบ่งปันให้แม่ครอบครองเต็มดวงใจ หลังแต่งงานแม่ได้เปลี่ยนนามสกุล พลเยี่ยม เป็นนามสกุล โคตรพันธ์ ตามสกุลพ่อ แปลกต่างจากนามสกุลคนในหมู่บ้าน ซึ่งมีเพียง พลเยี่ยม กับ แวงวรรณ เท่านั้น 

พี่ชายของแม่ ๒ คน คือ คุณลุงกูด คุณลุงรอด แต่งงานออกเรือนไปเลี้ยงพ่อตาแม่ยายเฒ่าแล้ว พี่สาว ๓ คน คือ คุณป้าบุญสวน คุณป้าปัด แต่งงานออกเรือนไปเลี้ยงปู่เลี้ยงย่าเฒ่าแล้วเช่นกัน ส่วนคุณป้าบัวแต่งงานกับคุณลุงเข็ง นาเมืองรักษ์ กำลังปลูกเรือนใหม่กลางสวนกล้วยแม่ใหญ่ทุม 

ขนบธรรมเนียมชาวอีสาน เมื่อเขยใหม่ย้ายเข้ามาอยู่เรือนกับพ่อตาแม่ยาย เขยเก่าต้องขยับขยายออกเรือนไปตามวาระ ไม่ต่างกับมดปลวกงอกปีกบินขึ้นชมปวงดาวบนฟากฟ้า พ่อแม่จะแบ่งปัน มูลมัง วัวควายไร่นาให้ลูกทำกินเลี้ยงชีพตามสมควร วิถีชีวิตชาวนา...ทุ่งนาข้าวเปรียบได้กับอ้อมอกมารดา สายฝนหลั่งดุจหยาดเหงื่อบิดาที่รวยรดท้องทุ่งชุ่มฉ่ำอุดมสมบูรณ์

รูปรอยอดีตปริเปี่ยมในห้วงทรงจำของฉันจากคำบอกเล่าของแม่...

บ้านของครอบครัวคุณตาสวงเป็นเรือนใหญ่มีเกย เครื่องเรือนสับฝากระดาน มุงหลังคาด้วยแผ่นไม้เกล็ด ชานแดดยื่นออกไปด้านหน้า ริมชานสร้างร้านแอ่งน้ำ วางโอ่งดินเรียงรายไว้ดื่มกิน ร้านแอ่งน้ำน้อยมุงหลังคาไม้เกล็ดกันแดด ด้านข้างโล่งรับลมโกรกโอบชุบน้ำในโอ่งดินเย็นฉ่ำ น้ำใสตักดื่มด้วยกระบวยกะลามะพร้าว กลิ่นหอมเย็นชื่นใจจนไม่รู้จักอิ่ม ด้านข้างชานแดดต่อเติมเรือนครัวไฟขนาดสองห้องเสาทอดออกไป 

ตอนที่ฉันฟังแม่เล่าฉันยังเด็กนัก นึกภาพไม่ออกว่า เรือนครัวไฟหน้าตาเป็นเช่นไร มีปล่องควันด้วยหรือเปล่า

แม่อธิบายว่า เรือนครัวไฟตามบ้านไม่มีปล่องควันโขมงเหมือนโรงสีไฟ แต่มี ป่องเอี้ยม ช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เปิดแง้มออกใช้ไม้ค้ำยัน สำหรับระบายควันเวลานึ่งข้าวเหนียวและปรุงอาหาร คืนหนาวใด...หนาวเหน็บเนื้อนอนไม่หลับ คุณตาคุณยายจะชวนลูกๆ ออกมานั่งล้อมวงผิงไฟในเรือนครัวไฟ ซึ่งมี แม่เตาไฟ บันดาลไออุ่นแก่เด็กๆ บางดึกหิวข้าว คุณยายนวนจะเปิดกระติบข้าวเหนียว ปั้นข้าวโรยเกลือเสียบไม้ไผ่ อังไฟจนห่ามหอมแล้วทาไข่ไก่เหลืองนวลทั้งปั้น 

คุณตาสวงเป็นนักเล่านิทานอารมณ์ดี มีนิทานก้อมสนุกๆให้เล่าอยู่เต็มพุง เมื่อลูกหลานรบเร้าขอฟังนิทาน คุณตาจะแย้มยิ้มหยิบใบตองกล้วย ยาเส้น จากเซี่ยนหมาก มาพันบุหรี่มวนโต จุดสูบพ่นควันโขมงรื่นรมย์ก่อนเล่านิทาน ท่านชอบเล่าเรื่องสามเกลอ เพราะมีหลายตอน เช่น ตอนสามเกลอหัวขโมย คุณตาเล่าว่า มีชายสามคนเป็นเพื่อนรักกันมาก ไปไหนก็ไปด้วยกัน ชายคนแรกหูหนวก คนที่สองตาบอด คนที่สามขาเป๋เป็นใบ้ คืนหนึ่ง สามเกลอปรึกษากันว่าจะไปขโมยไก่ที่บ้านตาสีหาเหตุ โดยมอบหมายให้ชายหูหนวกปีนเข้าไปในเล้าไก่ ชายตาบอดเป็นคนบอกลักษณะไก่ ชายขาเป๋มีหน้าที่เฝ้าดูต้นทาง

 เอาไก่ตัวผู้หรือตัวเมีย  ชายหูหนวกตะโกนถาม
 ตัวผู้  
ชายตาบอดร้องตอบ ชายหูหนวกไม่ได้ยิน จึงตะโกนย้ำถามอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ
 เอาตัวเมียแม่นบ่  
 บ่แม่น เอาตัวผู้
 เอาตัวเมียแม่นบ่ 
 อย่าเสียงดังหลาย บักหนวก 
 เอาตัวเมียแม่นบ่...เอาตัวเมียเนาะ
เสียงตะโกนโต้ตอบของชายหูหนวกกับชายตาบอด ปลุกตาสีหาเหตุตื่นขึ้นมา งัวเงียเข้าใจผิดคิดว่ามีคนลอบขึ้นมาเป็นชู้กับเมีย จึงร้องตวาดด้วยความเกรี้ยวโกรธในราตรีอันมืดมิดว่า

 พวกมึงต้องข้ามศพกูไปก่อน...
ชายตาบอดกับชายหูหนวกตกใจ อุ้มไก่ตัวเมียวิ่งเตลิดไม่คิดชีวิต ชายขาเป๋วิ่งตามเพื่อนไม่ทัน จึงถูกเจ้าของบ้านไล่จับได้

แต่ตาสีหาเหตุสอบถามเอาความกับชายใบ้ไม่ได้เรื่องเลย
นิทานก้อมก็จบลงเพียงนี้...
ฉันยอมรับว่าคุณตาสวงคงเล่านิทานสนุกกว่าฉันมากนัก พวกลูกๆ ถึงล้อมวงนั่งฟังนิทานที่คุณตาเล่าได้ทุกคืน 

กลับมาตามรอยคำของแม่ต่อไปดีกว่า 
แม่เล่าว่าพ่อทำนาไม่เป็น...
ที่เมืองยศ พ่อมีอาชีพหมักปลาร้าขาย ปลามากมายในแม่น้ำชีถูกจับขึ้นมาทำปลาร้า หมักไว้ในโอ่งลายมังกร ปลาช่อนตัวเขื่องหมักข้ามปี จนเนื้อปลาเปลี่ยนเป็นสีแดงนุ่ม กลิ่นหอม รสชาติกลมกล่อม บรรทุกใส่เกวียนขนมาขายที่เมืองแวงปีละครั้ง นอกจากขายปลาร้าแล้ว ปู่จะนำแหวนเงิน กำไล เข็มขัดนาค ติดมือมาขายด้วย 

บางปีพ่อก็เดินทางมาค้าขายกับปู่ พ่อรูปร่างบอบบางสันทัด เนื่องจากไม่เคยตรากตรำทำงานหนัก 

เมื่อพ่อมาเป็นลูกเขยคุณตาสวง พ่อไม่นิ่งดูดาย ฝึกไถคราดนา ปักดำข้าวกล้า ด้วยความขยันขันแข็ง ว่างเว้นจากฤดูทำนาก็ช่วยคุณตาขุดร้างถางพง ตัดฟืนขนมาเก็บใต้ถุนเรือน ใช้นึ่งข้าวปรุงอาหารในฤดูฝน ก่อไฟผิงในฤดูหนาว 

ทุกเช้ามืดแม่จะปลุกน้องสาวลุกขึ้นมาตำข้าวครกกระเดื่องข้างยุ้งฉาง พอฟ้าสางจึงชวนกันไปตักน้ำที่หลังวัดโพธิ์ร้อยต้น ระยะทางห่างจากบ้าน ราว ๓ กิโลเมตร บ่อน้ำกินแห่งนี้ได้ชื่อว่ารสชาติดีที่สุดในตำบล มีเรื่องเล่าขานกันว่า ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองร้อยเอ็ดมาตรวจราชการที่เมืองแวง แล้วแวะมานมัสการหลวงปู่แพง ได้ดื่มน้ำบ่อหลังวัดที่ชาวบ้านตักมาต้อนรับ เกิดติดอกติดใจ ถึงกับขนน้ำใส่เกวียนกลับไปที่จวนเจ้าเมืองด้วย 

เรื่องที่แม่เล่าวาบขึ้นในทรงจำของฉันเป็นฉากเป็นตอน ขับเคลื่อนเรื่องราวดำเนินไปราวภาพยนตร์ย้อนยุคฉายซ้ำ

สมัยก่อนผืนดินป่ากว้างยังไม่มีกรรมสิทธิ์ ใครต้องการที่ดินตรงไหน ก็ปักเขตผูกหญ้าแฝกหมายไว้กับต้นไม้ หรืออาจใช้คมขวานถากเปลือกไม้จับจองเป็นเจ้าของ ญาติพี่น้องมักจับจองที่ดินใกล้ๆ กัน แล้วบุกเบิกแผ่ขยายออกไปกว้างไกลเท่าที่สองแขนและเรี่ยวแรงจะเอื้อมถึง ผืนป่าแล้งดินแดงไม่ค่อยมีคนจับจอง คุณตาสวงยายนวนก็ชวนลูกๆ ขุดร้างถางพงหนามเล็บแมว ต้นติ้วป่า ต้นหนามแดง ถางเผาแล้วหยอดเมล็ดข้าวโพด ฟักทอง ถั่วพุ่ม แตงค้าง จากนั้น เฝ้ารอคอยหยาดฝนชุ่มฉ่ำจากฟากฟ้า หากเป็นพื้นที่ลุ่มก็ขุดคูคันนาเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ฮวงช้าง รวงข้าวใหญ่เม็ดหอมหวนยามนึ่งสุกใหม่ หอมไกลจากหัวบ้านถึงท้ายบ้าน กลิ่นกรุ่นหอมยิ่งกว่าข้าวหอมมะลิ ข้าวฮวงช้างกินอิ่มท้องนานแม้เพียงลิ้มรสปั้นข้าวเปล่าโรยเกลือ

แต่ดูเหมือนพ่อไม่อยากได้อยากมีในที่ดินไร่นามากมายเหมือนลุงป้า ร่างกายพ่อไม่แข็งแรงทรหดทนแดดฝนเฉกเช่นเขยอื่น ไร่นาที่ปู่ย่าตายายบุกเบิกไว้ให้ลูกหลาน กว้างใหญ่ไพศาลเกินกำลังที่พ่อจะบุกบั่นฟันฝ่าต่อไป พ่อบอกกับแม่ว่ายามออกเรือนอย่าเรียกร้องที่ดินไร่นามากหลาย พ่อทำนาหามรุ่งหามค่ำไม่ไหว ขอแค่พื้นที่นาลุ่มเพียงพอกำลังทำกินในครอบครัวเท่านั้น 

แต่ไหนแต่ไรแล้วแม่ไม่ขัดใจพ่อ ไม่เคยว่ากล่าวให้พ่อน้อยใจสักครา แม่เคารพบูชาผู้ชายที่แม่เลือกมาเป็นสามีดุจเดียวกับพ่อบังเกิดเกล้า 

เมื่อแรกมาอยู่กับแม่ พ่อวาดฝันจะเปิดร้านตัดเย็บให้แม่รับเย็บผ้าที่เมืองแวง ส่วนพ่อจะขายของชำ ทว่าแม่ไม่เห็นด้วยที่ต้องทอดทิ้งคุณตาคุณยายไปก่อร่างสร้างตัวในเมือง แม่รักบ้านเกิด...อยากอยู่ใกล้ชิดญาติพี่น้อง 

ต่อมาพ่อจึงปรารภกับแม่ว่า จะสร้างบ้านหลังใหม่บนที่ดินของเรา สำหรับลูกๆ ที่จะเกิดมาในอนาคต

แล้วคืนหนึ่ง แม่ก็ฝันว่า พ่อนำแหวนเงินมาสวมนิ้วนางให้แม่ จากนั้นไม่นาน แม่ก็เกิดอาการแพ้ท้องคลื่นเหียนอาเจียน แม่กินมะยม มะขาม ได้ทั้งวันทั้งตะกร้า ท้องแรกของแม่เริ่มโตชัดเจนเมื่อย่างเข้าสู่เดือนที่ห้า ขณะตั้งครรภ์แม่ยังคงทำงานหนักเป็นปกตินิสัย ปฏิบัติตามความเชื่อที่คุณยายพร่ำสอนเสมอว่า อย่านั่งอยู่นอนกิน อย่านั่งขวางประตู จะคลอดลูกยาก ฯลฯ

คนที่ตื่นเต้นเป็นที่สุดก็คือพ่อนั่นเอง พ่อเฝ้านับวันนับคืนจะเห็นหน้าลูกคนแรก ทุกๆเช้าพ่อไปตัดฟืนก่อนพระออกบิณฑบาต บรรทุกใส่เกวียนมาเก็บตุนไว้ใต้ถุนเรือน 

ลมหนาวโชยผ่าน เนิ่นนานกาลฟ้า 
มิ่งขวัญมารดา อุ้มครรภ์เก้าเดือน 
ใกล้วันผันล่วง เจ็บหน่วงปวดเหมือน
สัญญาณกาลเตือน คราวคลอดลูกน้อย... 

วันครบกำหนดคลอด แม่ปวดท้องอย่างหนักหน่วง คุณตาสวงจัดเตรียมแม่แคร่เตาไฟในเรือนครัวไฟ ตัดต้นกล้วยเป็นท่อนๆ ผ่าสองซีกวางลงในแม่แคร่ ขนดินขึ้นมากลบเกลี่ยทับข้างบนแล้วยกแม่เตาไฟมาวาง คุณยายนวนลงบันไดเรือนไปล้มกองฟืนทลายลง แล้วชักฟืนไม้จิกมา ๓ ท่อน ก่อไฟต้มน้ำหม้อกรรมรอหมอตำแย คุณยายทองก้อน เรือนอยู่ใกล้ชิดติดกัน ขึ้นมาช่วยตั้งขันข้าวสาร บรรจงวางหมาก ๓ ผล พลู ๓ เรียง กล้วยน้ำหว้าสุก ๑ หวี ธูป ๓ ดอก เทียน ๓ เล่ม พ่อวางเงินติดเทียน ๙ บาท ลงในขันลงหิน เป็นค่าบูชาครู

เล่าถึงตรงนี้ ฉันรู้สึกราวกับว่า กำลังอยู่ในเหตุการณ์อันทรงค่านั้นด้วย ฉันได้ยินแม่ร้องครางอย่างเจ็บปวดทรมาน ฉันหลับตาลงด้วยความสงสารแม่ พลันเห็นภาพเด็กทารกในครรภ์วาบขึ้นมาตรงหน้า เจ้าตัวน้อยกำลังชกหมัดเตะต่อยถุงน้ำคร่ำอุตลุด คงอยากออกมาดูโลกอันสวยงามเต็มทีแล้วซินะ

ใกล้ค่ำ ขอบฟ้าหมาดหมอก ม่านมืดคลี่คลุมหมู่บ้าน บรรยากาศเยือกเย็นลง ใบไม้ไม่ไหวติงลมนิ่งงันประหลาด พ่อจุดตะเกียงเจ้าพายุสว่างนวล ไม่นานร่างผอมสูงของหญิงชราคนหนึ่งก็ปรากฏขึ้น เสียงเคี้ยวหมากหยับ ๆ ดังมาแต่ไกล น้ำหมากเยิ้มสองมุมปากจนแดงเถือก แกหิ้วตะกร้าหวายใส่หมากพลูก้าวขึ้นบันได เดินเข้ามาในเรือนครัวไฟ ทุกคนนั่งบนชานเรือนต่างมีสีหน้าโล่งใจ คุณยายนวนโน้มหน้าลงมากระซิบปลอบขวัญแม่ ซึ่งนอนตะแคงบนพื้นกระดานว่า... ลูกเอ้ย หมอตำแยมาแล้ว

ยายเป้าจุดธูปเทียนบนบานเทวดา ผีบ้านผีเรือน ช่วยปกป้องวิญญาณร้ายเร่ร่อนมารบกวนแม่ มือเหี่ยวย่นหนังติดกระดูก หยิบขวดน้ำมนต์ที่ปลุกเสกโดยหลวงปู่แพง วัดโพธิ์ร้อยต้น มารินใส่ขันน้ำให้แม่ดื่ม แล้วประพรมน้ำมนต์ที่ท้องแม่ เตือนแม่หันศีรษะไปทางทิศเหนือ
คุณตาสวงนำด้ายสายสิญจน์ผูกโยงรอบเรือนครัวไฟ

ถึงคราวคลอดลูกน้อยแล้ว ยายเป้าไล่พวกผู้ชายออกไปรอข้างนอก
แม่ยิ้มอ่อนโยนพลางพูดว่า ถ้าหากลูกเกิดแล้วมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้น ยายเป้าหมอตำแยปากแดง ฟันดำ คงตะเพิดลูกออกไปจากเรือนอยู่ไฟแน่เลย เหตุผลเพราะลูกเป็นเด็กผู้ชาย

แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นประสาเด็ก ฉันจึงแอบแนบหูฟังข้างฝากระดาน ใจลุ้นระทึกไปกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ของแม่ ฉันภาวนาขอให้แม่และลูกคนแรกปลอดภัยด้วยเถิด

อากาศอบอ้าวขึ้นฉับพลัน ทั้งที่เป็นช่วงปลายฤดูหนาว ฉันได้ยินเสียงแม่ร้องครางด้วยความเจ็บปวด สลับกับเสียงแหบแห้งของยายเป้า หมอตำแยคนเดียวในหมู่บ้านร้องว่า

 อีนาง...เบ่ง...เบ่งแฮงๆ เบ่งเข้าไป ฮึดๆ เบ่ง...เบ่งแฮงๆ ฮึดๆ 

ช่วงที่แม่พยายามเบ่งลูกออกจากท้องนั้น แม่คงเจ็บและทรมานสาหัสสากรรจ์ที่สุดในชีวิต หยาดเหงื่อผุดพราวเต็มดวงหน้า ลำคอ และเรือนร่าง แค่ฉันเอาใจช่วยแม่อยู่ข้างนอก ยังสำเนียกได้ถึงความเจ็บปวดแทบขาดใจตายของแม่

นานหลายอึดใจ ฉันจึงได้ยินเสียงร้อง อุ๊แว้...อุ๊แว้...ลอดช่องกระดานออกมา

ฉันระบายลมหายใจพรู...แอบยิ้มในหัวใจ พลิกกายนั่งพิงฝากระดานอย่างโล่งอก

คราวนี้ ถึงผ่านความเป็นความตายไปแล้ว ฉันยังไม่วายอยากรู้ว่า ลูกคนแรกที่แม่คลอดออกมาเป็น ผู้หญิง หรือ ผู้ชาย...

 เป็นผู้หญิงจ้ะ แม่ตอบ เมื่อฉันถาม

ความอึดอัดหนักหน่วงคลายจางจากท้องแม่...เช่นเดียวกับคืนวันรอคอยรอยยิ้มแจ่มใส จากดวงหน้าผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่ฉันเรียกว่าแม่...


ลูกหญิงตกหงาย ลูกชายตกคว่ำ
แม่นอนอยู่กรรม เหงื่อไหลไคลย้อย
อาบน้ำสรงศรี แพรดีวางคอย
ห่อหุ้มลูกน้อย ใส่กระด้งงาม

แม่รำพึงถึงการคลอดลูกคนแรก แล้วบอกเล่าแก่ฉันว่า ตอนนั้นหากไม่มียายทองก้อน ผู้ช่วยหมอตำแยนั่งหนุนอยู่ข้างหลัง เอื้อมมือมากดท้องแม่ไว้ รกคงบินขึ้นท้อง เป็นอันตรายต่อชีวิตแม่ ณ ห้วงเวลาที่สติสัมปชัญญะของแม่ยังแจ่มจ้าดุจแสงตะวัน สายตาแม่เฝ้ามองดูยายเป้าห่อตัวเด็กทารกด้วยผ้าฝ้าย แล้วดึงเอารกออกมา ใช้ด้ายดิบผูกสายสะดือ ๓ เปลาะ ปล่อยสายสะดือยาวเสมอเข่าทารกน้อย วางแง่งไพลรองรับสายสะดือ มือขวาหยิบไม้รวกคมกริบตัดฉับตรงกลางที่รัดไว้ 

ทันใดนั้น ยายทองก้อนรีบช้อนร่างเด็กทารกมาวางบนแข้งสองข้างที่เหยียดราบไปข้างหน้า ประคองศีรษะเด็กหันไปทางปลายเท้า แล้วตักน้ำอุ่นชโลมล้างเมือกคาวบนร่างน้อย ยายเป้าเอื้อมมือมาดัดแขนดัดขาเด็กทารกให้ตรง จากนั้นนำผ้าฝ้ายสี่เหลี่ยมแหวกรูตรงกลาง วางทาบสะดือเจ้าหนูน้อย ให้สายสะดือโผล่พ้นขึ้นมาบนผ้า นิ้วเรียวยาวเหี่ยวย่นดูแข็งแรงราวคีมเหล็กของยายเป้า ขดสายสะดือเป็นวงกลมเหนือผืนผ้า ฝนขมิ้นชันผสมดินสอพองพอกสะดือ จากนั้นจึงรัดท้องเด็กทารกด้วยผ้าดิบ ป้องกันไม่ให้สะดือเด็กทารกขดเคลื่อน 

สายลมเย็นพัดโชยเข้ามาเรือนไฟวูบหนึ่ง คุณตาสวงหยิบฝ้ายขาวมาผูกคอ ผูกข้อมือแม่และลูกน้อย คุณยายนวนอุ้มหลานรักไปนอนในกระด้งที่ปูด้วยผ้าห่มฝ้ายขาว ซึ่งวางเข็มเย็บผ้าและด้ายไว้ข้างกระด้ง เพื่อเป็นเคล็ดเมื่อโตขึ้นลูกสาวจะได้รู้จักเย็บปักถักร้อย เป็นแม่บ้านแม่ศรีเรือนที่ดี

ยายเป้านำไม้รวกที่ใช้ตัดสายสะดือมาซ่อนไว้ใต้กระด้ง ยกกระด้งขึ้นร่อนเบาๆ แล้ววางกระแทกกระด้งลงกับพื้นเรือน แม่หนูน้อยตกใจร้องไห้จ้าเลยทีเดียว

ไปเซ่นผีพราย ไปไหว้ผีป่า
แน่งน้อยลูกข้า สูจงเกรงขาม
ผีโพงผีเป้า อย่าเฝ้าติดตาม
ผ่านพ้นโมงยาม กลับเรือนอยู่ไฟ

ยายเป้าเริ่มยิ้มได้ หลังจากเคร่งเครียดกับการทำคลอดนานนับชั่วโมง สองมือหญิงชราคู่นี้ให้ความหวังแก่ชีวิตแม่ ชุบชีวิตลูกมามากชีวิต และยังคงดำเนินต่อไป ตราบเท่าลมหายใจยังรักษาชีวิตของแกไว้ แม้นว่าในห้วงเวลาหนึ่ง ชีวิตหนึ่งเคยดับสูญไปกับมือ ณ ช่วงเวลานั้น แม่เฒ่ารู้สึกราวแววตาเศร้าชื้นของผู้อุ้มท้องหนักนานเก้าเดือน ได้กรีดแผลลงกลางใจ บั่นทอนพลังใจให้อ่อนแอแทบวางมือจากหน้าที่รับผิดชอบอันหนักอึ้ง แล้วจะมีใครเล่าสืบทอดสองมือทำคลอดจากแก...

พ่อนำรกและสายสะดือลงไปล้างทำความสะอาด แล้วบรรจุใส่หม้อดินเผา กอบเกลือหนึ่งกำมือกลบลงไปเกือบเต็มปากหม้อ นำขึ้นมาวางริมแคร่อยู่ไฟ ยายเป้าร้องเตือนพ่อตั้งปากหม้อให้ตรง ไม่เช่นนั้นลูกสาวจะปากเบี้ยว 

ฉันฟังแม่เล่าอย่างสนใจ แม่เล่าประวัติของท่านสนุกเพลิดเพลินเหมือนฟังนิทาน วิถีชีวิตผู้คนสมัยแม่มีเคล็ดความเชื่อข้อปฏิบัติมากมาย จดจำไม่หวาดไม่ไหว บางเรื่องฟังแล้วครุ่นคิดตามมีเหตุมีผล บางเรื่องเหลวไหลไร้สาระ 

ช่วงอยู่ไฟ แม่นุ่งผ้าถุงกระโจมอก อาบน้ำต้มสมุนไพร เช่น ไพล ใบมะขาม ผิวมะกรูด และว่านไฟ แม่ดื่มร้อนหอมกรุ่นขับเหงื่อล้างเลือดเสีย พ่อคอยเติมฟืนวันละ ๓ ท่อน แม่เล่าย้อนยุคให้ฉันฟังอีกว่า สมัยคุณยายนวนอยู่ไฟนานเป็นเดือน จิบน้ำร้อนตลอดเวลา ถึงขนาดฉี่ลอดช่องกระดานเรือน ราดรดหัวหมาใต้ถุนเรือนร้องเอ๋งๆ วิ่งหนีหางจุกก้นไปเลย 

ยามหิว แม่กินข้าวกับเกลือ กระเทียมเผา และปลาแห้ง แม่ฝันอยากกินอาหารรสเผ็ดร้อน อาหารแสลงแสนอร่อยลิ้นก็กินไม่ได้ คุณยายนวนคอยเฝ้าดูแลแนะนำอยู่ตลอดเวลา ท่านฝนขมิ้นกับปูนแดงผสมเหล้าขาว ชุบสำลีทาสะดือและท้องของแม่ทุกวัน 

อยู่ไฟครบกำหนดสามวัน พ่อนำหม้อรกไปฝังไว้ใต้บันไดเรือน กลบดินวางหนามเล็บแมว หนามแดงคลุมหลุมไว้ โบราณว่าสามวันลูกผีสี่วันลูกคน ในวันนี้คุณตาสวงจัดโต๊ะหมู่บูชา วางพานบายศรีปากชาม เครื่องกระยาบวช แป้งกระแจะจันทร์ สำหรับเจิมหน้าผากหลานสาว เชิญหมอพราหมณ์มาสู่ขวัญนอนอู่

อุ้มลูกนอนอู่ ครอบสู่ขวัญเกล้า
เอิง...เอย...เลือกเอา เนานอนอู่ไหน
ผู้ดีอู่ฝ้าย ผู้ร้ายอู่ไหม
ขวัญท่องทางไกล รุ่มร้อนกายร้าง
ขวัญก่อกำเนิด ขวัญเพริศหลงทาง
ท่องในป่าร้าง ขวัญเอยจงมา

และแล้วญาติพี่น้องก็ล้อมวงเข้ามาผูกแขนรับขวัญทารกน้อย 

พ่อขอให้คุณยายนวนตั้งชื่อหลานสาวเพื่อเป็นสิริมงคล คุณนั่งนึกชื่อลูกคนแรกของแม่อยู่นานนึกไม่ออก จึงเปิดตำราตั้งชื่อตามนรลักษณ์จากผิวพรรณอันดำปี๋ว่า
 เด็กหญิงสำลี... 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)				
16 กันยายน 2552 06:41 น.

ยิ่งฟ้า...มหานที

ละไมฝน

๑. วัยเยาว์
 
                  เมฆปุยฝ้ายปอกเปลือกเปลวแดดบ่าย   เผยดวงตะวันแจ่มจ้า รวยรดแสงสวยอาบผืนดิน  ขณะผืนฟ้าใสเป็นสีฟ้าจัด สายลมอันวิไลหยอกเย้ากิ่งลำไย ไกวก้านพลิ้วใบเขียวสดล้อลมรื่น   ลูกลำไยสุกแห้งคาขั้วร่วงหล่นกระทบหลังคาบ้านดังกราว    
                  เสียงนกร้องเจี๊ยวจ๊าว  ชวนฉันแหงนมองขึ้นไปบนต้นลำไย  ที่แผ่กิ่งก้านสาขาปกครึ้มร่มเย็น  ฉันเห็นรังรูปกรวยไอศกรีมเกาะกิ่งลำไยเรียวเล็ก  แม่นกกางเขนหางยาวโฉบบินคาบหนอนอ้วนมาป้อนลูกๆ ของมัน   ฉันไม่รู้ว่าในรังอุ่นมีลูกนกกี่ตัว  และครอบครัวนกดำรงชีพอยู่ได้อย่างไรในรังเล็กๆ เท่ากรวยไอศกรีมเช่นนั้น                                                                                                                                                  

                   ฉันเอนหลังบนเปลผ้าใต้ต้นลำไย    เฝ้ามองนกกางเขน ๒ ตัว   โฉบบินไปมา  พ่อนกแม่นผลัดเปลี่ยนกันเฝ้ารัง  ขณะนกตัวหนึ่งมันบินหายไป  แล้วบินกลับมาพร้อมกับตัวหนอนป้อนลูกในรัง
                   แม่นกกางเขนบ้านหางยาว      ขนสีดำแซมขาว  ทำให้ฉันคิดถึงแม่
                  แม่เล่าให้ฉันฟังว่า...
                  ค่ำคืนวันพุธที่ ๑๐  กุมภาพันธ์  พุทธศักราช ๒๔๗๑  ปีมะโรง  เป็นวันที่แม่ลืมตามาดูโลก  แม่เป็นลูกคนที่ ๖ ของคุณตาสวง  คุณยายนวน  พลเยี่ยม  แม่มีพี่น้องร่วมสายโลหิตตั้ง ๑๔ คน   ฉันอดประหลาดใจไม่ได้ว่า  ทำไมผู้คนสมัยก่อนถึงมีลูกครอบครัวละหลายๆคน  และสามารถเลี้ยงดูลูกๆ ให้รอดปากเหยี่ยวปากกา  จนเติบโตเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาได้ ท่ามกลางความขาดแคลน   ยากจนข้นเข้มของคนอีสาน  บนผืนแผ่นดินแล้ง
             เมื่อตอนที่แม่เกิด  หมอตำแยในหมู่บ้านเป็นผู้ทำคลอด      เนื่องจากระบบสาธารณสุขยังเอื้อมมือมาดูแลไม่ทั่วถึง  ท่ามกลางร่มเงาความล้าหลังของวิถีชีวิตที่ดำเนินอยู่ แม่และลูกในท้องมีโอกาสรอดและตายเท่ากัน    แต่ว่าแม่ของฉันร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงตั้งแต่เกิด ฉันจึงโชคดีที่ได้เกิดเป็นลูกของแม่  
                  สมัยแม่ยังเด็ก    ในน้ำมีปลาชุกชุมให้จับกิน  บนดินมีต้นข้าวโน้มรวงรอเคียวในฤดูเก็บเกี่ยว    ผู้คนในหมู่บ้านยังน้อย   ไม่ยื้อแย่งกันทำมาหากิน    แมกไม้รายล้อมหมู่บ้าน    พร้อมอุทิศต้นให้คนตัดมาสร้างบ้านเรือน  ไม้มีมากมายจนหลังคาบ้านยังมุงด้วยแผ่นไม้เกล็ด  
                  ครอบครัวใหญ่แม้มีลูกมากแค่ไหนก็เลี้ยงดูกันได้ 
                  แม่เกิดที่บ้านโพนทองอันเป็นต้นตำนานแห่งต้นกำเนิดนามสกุล   พลเยี่ยม    คนนามสกุล พลเยี่ยม  ต่างนับถือกันเป็นวงศ์วานหว่านเครือ           



    
                   เมื่อคราวที่เมืองแวงก่อตั้งเป็นอำเภอ...   นายอำเภอนำชื่อบ้านโพนทอง  ไปตั้งชื่ออำเภอโพนทองจนทุกวันนี้
                   ในวัยเด็กแม่ประเปรียว ใฝ่รู้  แม่เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดเทพยุดาราม  วัดบ้านใกล้บ้าน   ครูใหญ่สุพี  แวงวรรณ เป็นคุณครูประจำชั้น  คุณครูท่านนี้มีมะเหงกอันใหญ่   เอาไว้เขกกบาลนักเรียนเกเร   บวกลบเลขท่องจำสูตรคูณอาขยานไม่ได้ พิษสงมะเหงกใหญ่  ยังผลให้นักเรียนบางคนถึงกับหัวโน     บางคนตกใจกลัวจนฉี่ราดรดพื้นห้อง   
                  แม่ไม่เคยถูกคุณครูลงโทษเลยสักครั้ง เพราะแม่เรียนหนังสือเก่ง  บวกลบคูณหารเลขในใจคล่องแคล่ว   ท่องอาขยาน อ่านหนังสือแตกตั้งแต่เรียนชั้นประถมปีที่๓   แม่ชอบอ่านหนังสือวรรณคดีของท่านกวีเอก สุนทรภู่  จด จำบทกลอนที่ให้คติสอนใจ   มาอบรมพร่ำสอนลูกๆ    ในหลายวาระหลายโอกาส     ดังวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี   ตอนสุดสาครถูกชีเปลือยผลักตกเหว   แย่งไม้เท้าและม้านิลมังกรไป  โยคีขี่รุ้งมาช่วย
                   บทกลอนตอนหนึ่งว่า...
                       บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว        
                สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
                เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา                
                แล้วนำพาขึ้นไปบนบรรพต
                       จึงสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์            
               มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
               แม้เถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด       
               ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
                       อันที่รักมีอยู่สองสถาน              
               บิดามารดารักมักเป็นผล
               ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน            
               เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
                       แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ        
                ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
                รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา                     
                รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี....
                   เวลาอบรมลูกๆ แม่มักจะนำบทกลอนนี้มาอ้างอิงเสมอ  
                                                           
      ด้วยชาติกำเนิด   ที่แม่เกิดเป็นลูกผู้หญิง  ประกอบกับฐานะครอบครัวยากจนมีลูกหลายคน  คุณตาคุณยาย  จึงปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาของแม่  ไว้เพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗                     
                 เป็นลูกผู้ญิง  สิเรียนไปเฮ็ดหยัง     
                   คำพูดของคุณตาประโยคนี้  ฝังจิตฝังใจแม่ลึกล้ำ  แม่สัญญากับตนเองว่า  หากแม่มีลูกสาวก็จะให้เรียนหนังสือโดยเท่าเทียมกับลูกชาย
                   ฉันย้อนคิดไปว่า  ถ้าแม่เรียนสูงกว่านี้  แม่คงได้เป็นแม่พิมพ์ของชาติอย่างแน่แท้

            
             โมงยามแห่งความสดใสของชีวิต   ดำเนินไปตามวิถีแห่งหวังของคืนวันอันเรียบง่าย   ในฤดูทำนา  แม่ได้ช่วยครอบครัวปักดำข้าวกล้า   บนผืนนากว้างขวางสุดสายตา     ผืนดินที่คุณตาคุณยายบุกเบิกแผ้วถางมานานหลายปี เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวเลี้ยงดูลูกหลานที่คลานตามกันมา ฉันหลับตานึกเห็นภาพพี่น้อง14 คนของครอบครัวคุณตาสวง ยายนวน ช่วยกันไถคราดหว่านดำข้าวกล้าในแปลงนาตั้งแต่เช้ามืดยันตะวันตกดิน       จนลมหนาวมาเยือน   รวงข้าวอร่ามรองเต็มท้องทุ่ง  ฤดูเก็บเกี่ยวก็มาถึง  พี่น้องทุกคนก็ลงแรงเกี่ยวข้าวไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย  ตลอดเวลาอันยาวนาน   จากเดือนหกถึงเดือนสามของปีถัดไป ฉันคิดว่าทุกคนในครอบครัวคงเหนื่อยสนุกไม่น้อยทีเดียวละ                     
                   แม่มีพี่สาว ๓ คน พี่ชาย ๒ คน คือ  คุณยายบุญสวน   คุณยายปัด  คุณตากูด   คุณตารอด   และคุณยายบัว   ซึ่งล่วงลับล่วงหน้าไปก่อนแล้วทุกคน  นอกจาก
นี้ยังมีน้องๆ อีก ๘ คน  ที่ทยอยล่วงลับตามกันไป คือคุณยายกอง   คุณยายหัด   คุณตาสมพร   และคุณยายทองเมือง
                                   

                  ส่วนที่ยังดำรงชีวิตอยู่ในวัยชราคือ   คุณยายนัด   คุณยายเฉลียง  คุณยายบุญเรือง  และคุณพ่อเตียง ตามลำดับ
                  แทบอวดอ้างได้ว่า คุณตาสวง ยายนวนมีลูกดกที่สุดในหมู่บ้าน  
                  มหัศจรรย์เล็กๆ  ของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดนี้  รังสรรค์โลกสะพรั่งบนแผ่นดินแล้ง      พรั่งพรูลูกหลานเหลนสู่ละแวกบ้านใกล้ไกลทั่วถิ่นไทย
             กาลเวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่า...
             ในวันที่ฟ้าครึ้มฝน  บรรยากาศชุ่มฉ่ำ ฉันเห็นภาพคนดำนาปลูกข้าวในแปลงนา      ประหนึ่งปลูกไว้ในดวงตาของฉัน  ปลูกไว้บนดวงจันทร์กระจ่าง
                  ในวันที่ลมหนาวละเมอกอดทุ่งสีทอง ฉันเห็นภาพคนเกี่ยวข้าว   ประหนึ่งเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมไว้ในดวงใจฉัน  เก็บไว้ในยุ้งฉางแห่งดวงตะวัน 
                  ในภาพนั้นฉายชัดนัก ฉันเห็นแม่ของฉันก้มๆ เงยๆ อยู่บนทุ่งนาฝน  และทุ่งนาหนาว



  
     
      
      และวันที่ฟ้าเปลี่ยน
เป็นสีฟ้าใสในฤดูร้อน.. ยามว่างเว้นฤดูกาลทำนา  ฉันเห็นดอกไม้ป่าผลิบานริมทาง  ที่แม่และเพื่อนๆ พากันเดินเท้าเข้าเมือง  
    
             แม่ไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้ากับลุงคำตัน     ยายกลม     ที่อำเภอแวง  ทุกๆ เช้าแม่เดินนำหน้าเพื่อนๆ  ลัดเลาะไปตามทางลูกรัง     ผ่านห้วยค้อ    ห้วยกุดสิม  ข้ามสะพานไม้แคบๆ  แม่ไม่เคยปริปากบ่นถึงความลำบากในการเดินทางเช้าไปเย็นกลับเลยสักน้อย     ราวกับว่าแม่ตระหนักถึงอนาคต   การมีวิชาชีพติดตัวเหมือนทรัพย์อยู่นับแสน 


                    ที่อำเภอแวงนี่เอง     แม่ได้รู้จักผู้คนมากหน้าหลายตา  และลุงคำตันก็ได้ชักนำปู่มารู้จักกับแม่
                  ปู่ศรเป็นชาวเมืองยศ (ยโสธร) ญาติของท่านมาค้าขายที่ตลาด  ชื่อป้าหวี  ทุกๆ เดือนปู่จะบรรทุกปลาร้าใส่เกวียนมาฝากขายที่ร้านป้าหวี      นอกจากขายของชำหน้าร้านแล้ว ในตอนเช้าป้าหวีจะนำของชำ กะปิ ปลาร้า เส้นก๋วยเตี๋ยวไปขายที่ตลาดสด   ลุงคำตันรู้จักคุ้นเคยกับป้าหวีมานาน   เมื่อปู่มาค้างที่บ้านก็แนะนำแม่ให้รู้จักกับปู่  และดูเหมือนว่าปู่จะชื่นชมแม่แต่แรกเห็นแล้ว
                  ฉันได้ฟังมาว่า    ในวัยสาวแม่สดสวย    ผิว พรรณขาวเนียน   มีหนุ่มๆ มาหลงรักหลายคน  
                  วันหนึ่ง  ลุงคำตันพาปู่มาสู่ขอแม่ให้ลูกชาย   ทั้งๆ  ที่แม่ไม่เคยเห็นหน้าพ่อเลยสักครั้ง   มีเพียงรูปถ่ายขาวดำของพ่อที่ปู่นำมาอวด



            หน้าตาพ่อคมคาย   ผิวคมขำ  รูปร่างสันทัด  ดวงตาฉายแววมุ่งมั่นและอ่อนโยน   ตอนนั้น  ถ้าหากฉันเป็นแม่ เพียงแรกเห็นรูปพ่อ  ให้รู้สึกราวกับว่าแรกสายลมอุ่นอวลมาทักทาย วาบความคิดอ่อนหวานพราวอ่อนไหว  ถึงฉันใจแข็งแค่ไหน  ก็คงอดหลงรักพ่อไม่ได้แน่  

                 เสียงสนับสนุนของลุงคำตันและยายกลม  ผู้เปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่       ที่แม่ให้ความเคารพนับถือ  ตลอดจนป้าหวี   และคนรอบข้าง   ปลุกดวงใจเงียบเหงาในวัยสาว ๒๖ ปีของแม่     ให้ตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นหวานหอม 
                  คงเป็นเพราะบุพเพสันนิวาส...บันดาลดล  
                  เมื่อคุณตาคุณยายถามถึงความในใจ   แม่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะรับรักพ่อ   และยินดีแต่งงานกับพ่อ  ทั้งๆ ที่แม่ยังไม่เคยเห็นหน้าพ่อมาก่อน  

                   แล้วไม่นาน   นัดหมายของหัวใจก็กล่าวคำอรุณสวัสดิ์การแต่งงาน   ชีวิตคู่อันงดงามของพ่อกับแม่จึงเริ่มต้นขึ้น ...				
4 กันยายน 2552 19:01 น.

หอมห่อหมกกุดจี่เบ้า

ละไมฝน

หอมห่อหมกกุดจี่เบ้าแม่เฒ่าตู้

ละไมฝน  เล่าสู่ฟัง

                              แดดแรงร้อนระอุอ้าว  แผดเผาแผ่นดินอีสานแล้งระแหง  ดุจเส้นแส้โบยตีแม่เฒ่าตู้ผู้ยากไร้  กำหมัดกัดฟันสู้ชีวิตมาแต่หอยกาบเท่าฝ่าตีน   เมื่อตอนอายุย่างเยาวเรศรุ่นจนเจริญศรี อีนางตู้น้อยก็ตำข้าวเป่าไฟโชน  นวดเฟ้นบีบเอ็นแข็งเอ็นอ่อนนวยได้   อีนางตู้น้อยสืบสานมรดกทรหดผ่านเงื้อมเงายากเข็ญรำเค็ญทุกข์   ทะเลแดดเคี่ยวกรำให้แข็งแกร่ง  งานหนักเอางานเบาสู้  นอกจากนั้นยังมีความเชี่ยวชาญในการหาของกินที่หายากสารพัดสารพันอย่าง...

                              การเสาะแสวงหาอาหารรสชาติเอมโอชะ  เป็นทักษะทอดตรงจากเถือกเถาเหล่ากอมาหลายชั่วอายุคน   สิ่งที่กินได้หายหิว  แม้นว่าอยู่สูงบนยอดไม้ปลายฟ้าก็ไม่สูงเกินเอื้อมคว้าถึง  หลายชนิดซ่อนเร้นอำยวนอยู่ในรู  ลวงพรางสายตาอยู่ใต้ดินแล้งลึกเพียงไหน  ก็ยากจะรอดพ้นแม่เฒ่าตู้ผู้สันทัดชีวิตได้

                             วัฒนธรรมการบริโภคของคนอีสานรุ่มรวยไปด้วยภูมิปัญญาพื้นถิ่น   มวลแมลงหลากขารสชาติอร่อยหลายชนิด  มีคุณค่าทางโภชนาการสูง   ราวกับว่าพวกแมลงไต่เดินเหินบินมาชดเชยสภาพภูมิประเทศอันแห้งแล้ง 

                     แมลงกินูน  อาศัยอยู่ตามรากไม้  และเล็มใบมะขามอ่อนหนึ่งฝน  สุมไฟใต้ต้นมะขาม  แมลงกินูนก็จะร่วงกราวลงมานอนบนเสื่อกกที่ปูรองให้เก็บไปคั่ว ทอด   ป่นได้เอร็ดอร่อยลิ้น

                             แมลงกระชอน  รูปร่างคล้ายจิ้งหรีด  หนวดสั้น  อาศัยตามพื้นดินชื้นแฉะใกล้แหล่งน้ำ  แม่เฒ่าตู้ชอบจับมาทำเมนูเด็ด   แกงอ่อมใส่ผักลืมผัว

                              แมลงทับ  ปีกแข็งวาวสีปีกแมลงทับ   นำมาเสียบไม้ปิ้งโรยเกลือ หรือคั่วคลุกพริกไทย  หอมไกลจากบ้านใต้ถึงบ้านเหนือ  กินได้หายหิวหากไม่เสียดายปีกสวย

                              แม่เป้ง (นางพญามดแดง)  เกิดมาเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่หวานลิ้น   นำมาคั่วไฟอ่อนๆ แก้มเหล้าขาว  กินง่ายถ่ายคล่องนัก 

                              ทุกวันนี้แมลงต่างเริ่มหายไปจากธรรมชาติ  พวกเล่นแมงหัวใส  จึงจับแมงสะดิ้ง (จิ้งหรีดที่ตั้งท้องก่อนวัยอันควร) มาเลี้ยง ขายดิบขายสุกรายได้เป็นกอบเป็นกำ  แมงสะดิ้งที่ไข่เต็มท้อง   จะคั่วก็ได้จะแกงก็ดี   เวลาแกงหน่อไม้รวก  ใส่ข้าวเบือเหนียวๆ หนืดๆ  อย่าลืมโรยแมงสะดิ้งลงลอยเล่นน้ำใบย่านางเขียวขื่นซดคล่องคอ
                               ฯ ล ฯ

                              แมลงกุดจี่ตัวผู้เขาโง้งคล้ายด้วงยักษ์ชอบบินเล่นไฟ  แต่แมลงกุดจี่ตัวเมียค่อนข้างอาภัพอาศัยหากินอยู่ตามกองขี้วัว ขี้ควาย  ควรแช่น้ำให้สิ่งสกปรกละลายคลายเครื่องสิ่งสกปรกสัก 2- 3 คืน  ค่อยนำมาประกอบอาหาร

                             มีข้อยกเว้น   แมลงกุดจี่ที่อาศัยหากินตามกองอุจจาระมนุษย์   แม่เฒ่าตู้ไม่นิยมเก็บมารับประทาน

                            กุดจี่ไม่มีมันสมองเหมือนมนุษย์  แต่รู้จักรักษาเผ่าพันธุ์ด้วยการฝังตัวอ่อนไว้ในขี้ควาย  มันบรรจงปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดเท่ากำปั้น  เร้นเลี้ยงลูกอำยวนไว้ในรังใต้รูลึก

                    ในตำนานของชาวไอยคุปต์   มนุษย์สุดประเสริฐนับถือแมลงกุดจี่ประดุจเทพเจ้า  อารยชนชาติอียิปต์โบราณเรียนรู้การทำมัมมี่จากเบ้ากุดจี่  

                            อันรสชาติหวานมันของกุดจี่เบ้าตัวอ่อนอวบอ้วน  เป็นอาหารระดับขึ้นเหลาของชาวอีสาน   แม่เฒ่าตู้บ้านโคกสะอาดหวนถวิลหามากินทุกปี...

                            ฤดูเมฆฉ่ำสีชอุ่มชุ่มฟ้า  น้ำมากหลากไหลท่วมนาหนอง  กบเขียดรื่นเริงร้องหาคู่  แต่กุดจี่ตัวดำหน้าต่ำกลับจำศีลภาวนา  อันเป็นที่มาของสำนวนอีสาน

                      มิดอีหลี  ปานกุดจี่ฟังธรรม   

                             เทียบเคียงความหมายว่าเงียบเป็นเป่าสาก

                             เมฆฝนจางนางจรจากนาหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว  กุดจี่ก็ตบะแตกร่านหาคู่ผสมพันธุ์    

                             อีนางตู้น้อยเมื่อปฐมวัยฝาหอยกาบเท่าฝ่าตีน  เคยเดินตามหลังแม่แบกเสียมก้อมคอนตะกร้า  ท่ามกลางแสงแดดร้อนระยำ   ส่องแสงแผดเผาซากตอซังข้าว  ใบหญ้าเกรียมแห้ง   แต่ดวงตาเด็กน้อยกลับแจ่มกระจ่าง  เสาะส่ายหาขี้ควายกองใหญ่    ซึ่งเป็นขี้ควายพ่อพันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุด  ที่กุดจี่เจาะจงเลือกอยู่อาศัย    

                             ข้างกองขี้ควายกองใหญ่  มักปรากฏขุยดินกลบรูกุดจี่เบ้าอยู่อย่างเงียบงัน  

                              ถึงแม้กุดจี่ใช้กลยุทธ์ ลับ ลวง พราง เพียงใด  ก็หารอดพ้นสายตาแหลมคมของอีนางตู้น้อยไม่

                              เด็กหญิงกองก้นกองกอยขุดดินแห้งระแหงตั้งแต่ฝาหอยกาบเท่าฝ่าตีน    อีนางน้อยช่วยแม่ขุดรูหาเบ้ากุดจี่จนน้ำเหงื่อไหลย้อย  กว่าจะได้เบ้ากุดจี่สักเบ้า  รังบางรูลึกเลี้ยวเกือบหนึ่งช่วงแขนผู้ใหญ่  

                              อีแม่...ข้อยขุดได้อีกเบ้าแล้ว

                              เสียงแจ่มใสร้องตะโกนอย่างดีใจ  ปานว่าขุดพบทองคำใต้กองขี้ควาย  มือน้อยๆ คว้าขี้ควายก้อนกลมเท่ากำปั้นขึ้นมาชูอวดแม่

                              อีนางตู้น้อยกองก้นกองกอยขุดหากุดจี่เบ้าตั้งแต่ฝาหอยกาบเท่าฝ่าตีน  จนฝ่าตีนกางเป็นใบตาล  ก็ไม่เคยนึกเบื่อหน่ายเมื่อยล้าสักครา  รสชาติหวานมันอันโอชะของตัวอ่อนกุดจี่เบ้ายั่วน้ำลายปลายลิ้นมิแห้งเหือด

                      กุดจี่เบ้าฤดูหนาวตัวเล็กไม่น่ากิน  เหมือนกุดจี่เบ้าฤดูแล้ง   ช่วงนั้นตัวอ่อนจะโตเขื่องเต็มเบ้า  เต็มปากเต็มคำ  หวานมันเป็นที่สุด

                      ก่อนนำกุดจี่เบ้าไปรับประทาน  ควรกะเทาะเบ้าขี้ควาย  ล้างน้ำสะอาดก่อนผึงลมให้สะเด็ดน้ำ  แล้วจึงนำไปปรุงอาหารตามใจชอบ

                      นักกินแมง  มีเคล็ดลับการปรุงรสกุดจี่เบ้าให้หวานลิ้น  ด้วยการลวกน้ำเดือดปุๆ ประมาณครึ่งนาที   ตักขึ้นมาแช่น้ำปลา  น้ำมะนาวที่เก็บจากต้นสดๆ    

                              สาโทชนชมชอบพร่าตัวอ่อนกุดจี่เบ้า  เน้นเปรี้ยวน้ำมะนาวจากต้นเท่านั้น  อย่าลืมโรยกระเทียมกลีบซอยแว่นบางๆ  พริกขี้หนู  แต่งหน้าด้วยใบสะระแหน่  วางเคียงผักแพว

                               เมนูเด็ดแม่เฒ่าตู้   ผู้ห่อหมกตัวอ่อนกุดจี่เบ้าอร่อยที่สุดในหมู่บ้านโคกสะอาด  

                               เตรียมเครื่องปรุงกันเลย  หอมแดง  ตะไคร่หั่นฝอยบางๆเบาหวิว  พริกขี้หนูเขียวละอ่อน   ใบแมงลักเก็บจากริมรั้ว  ใบมะกรูด   ไข่ไก่ 1- 2 ฟอง
                              วิธีห่อหมกง่ายกว่าปอกกล้วยดิบป้อนเด็กทารก

                              เพียงแค่ตีไข่ใส่เครื่องปรุง น้ำปลา  ห่อใบตองกล้วย  ย่างไฟถ่านไม้แดง  อุณหภูมิอ่อนโยนถึงร้อนปานกลาง  พอกลิ่นหอมกำจายจากหัวบ้านถึงท้ายบ้าน  ก็ยกลงจากเตา  นั่งล้อมวงปั้นข้าวเหนียวกินได้หายหิว  

                              ปัจจุบัน ณ กาล...
                              ทุ่งนาในยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่  ห่วงโช่อาหารธรรมชาติถูกทำลายลง

                              น้ำนาไม่มีปลาขี้คราดให้เด็กๆ แย่งกันเก็บ   เสียงควายเหล็กดังกระหึ่มรบกวนกบเขียด  ตกใจไร้อารมณ์ผสมพันธุ์  กุ้งหอยปลาปูป่วยไข้ตายเพราะพิษภัยสารเคมี  

                              ชาวนาในยุคทุนนิยม  ขายควายเข้าโรงฆ่าสัตว์   ซื้อควายเหล็กมาไถนา  หลายหนุ่มถูกหางควายเหล็กฟาดซี่โครงช้ำเลือดตาย  หลายเฒ่าป่วยตายเพราะสู้แรงกระเทือนซางของควายเหล็กไม่ไหว

                               พ่อเฒ่าโต้นซื้อควายเหล็กมาไถนาไม่ถึงปี  ผ่ายผอมเป็นซี่โครงเดินได้  

                              เย็นหนึ่งแกนั่งบ่นกับผีตาแฮกที่หัวนาว่า
                                ปู่ตาแฮกเอ้ย...ควายเหล็กผีเปรตตัวนี้  มันกินอย่างเดียว  บ่ขี้จักเทื่อ 

                              ไม่มีเสียงตอบจากผีตาแฮก
  
                               แม่เฒ่าตู้ผู้เสาะหากุดจี่เบ้ามาแต่ฝาหอยกาบเท่าฝาตีน  เติบใหญ่จนฝ่าตีนกางเป็นใบตาล  ก็ไม่เคยสิ้นไร้ไม้ตอกเพียงนี้

                               นอกจากหากินกุดจี่เบ้ายากเย็นแสนเข็ญแล้ว  แกยังไม่ขมขื่นใจเท่าควายเหล็กไถนาได้กลืนกินกำลังวังชาพ่อเฒ่าตู้หดหาย   หมดเรี่ยวแรงทำการบ้านตอนกลางคืน

                       กลางดึกคืนหนึ่ง   แม่เฒ่าตู้พลิกกายก่ายกอดคนนอนข้างกาย  มือเผลอลูบคลำเบ้ากุดจี่สองเบ้าของเฒ่าโต้น  นวดเฟ้นเอ็นอ่อนจนอ่อนใจ  ถึงกับละเมอครางอย่างหมดอาลัยตายอยากในความหลับว่า

                       บักเฒ่าเอ้ย...ถ้ามึงยังบ่เอาควายเหล็กไปทิ้ง   กูสิเป็นฝ่ายทิ้งมึงไปหาผัวใหม่แน่ๆ เลย 
............................................				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟละไมฝน
Lovings  ละไมฝน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟละไมฝน
Lovings  ละไมฝน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟละไมฝน
Lovings  ละไมฝน เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงละไมฝน