19 มิถุนายน 2547 07:56 น.

มืดมน

พี่ดอกแก้ว

แหละถ้าใจมีอคติ 
ย่อมมองเห็นทุกสิ่งผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง 

ปรับปรุงจิตใจให้คลายทุกข์เถอะ 
เพื่อหนทางข้างหน้าจะได้สดใส 

ด้วยการมองใหม่อย่างใจเป็นธรรม 


ไม่มีใครสามารถจะอยู่บนจุดสูงสุดได้ตลอดไป 

คุณจะต้องตกลงมาอีกครั้ง 

แล้วจะด่วนกังวลไปทำไม 

ในเมื่อผู้อยู่เบื้องบน 
ย่อมรู้ดีว่ามีอะไรอยู่เบื้องล่าง 

แต่ผู้ที่อยู่เบื้องล่างสิ... 
ที่ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่เบื้องบน				
11 มิถุนายน 2547 22:09 น.

เรื่องวันอัฏฐมีบูชา

พี่ดอกแก้ว

  หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละในราตรี ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พวกเจ้ามัลลกษัตริย์จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ใน เมืองกุสินาราตลอด ๗ วัน แล้วให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๘ คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออก ของพระนคร เพื่อถวาย พระเพลิง 

พวกเจ้ามัลละถามถึงวิธีปฏิบัติพระสรีระกับพระอานนท์เถระ แล้วทำตามคำของพระเถระนั้นคือ ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด จากนั้นอัญเชิญ 


พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๔ คน สระสรงเกล้า และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ จึงสอบถามสาเหตุ พระอนุรุทธะ พระเถระ แจ้งว่า " เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ ๕๐๐ รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้ " 

ก็เทวดา เหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี 

ครั้งนั้นพระมหากัสสปะเถระ และหมู่ภิกษุเดินทางจากเมืองปาวา หมายจะเข้าเฝ้าพระศาสดา ระหว่างทาง ได้พบกับพราหมณ์คนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพสวนทางมา พระมหากัสสปะได้เห็นดอกมณฑารพ ก็ทราบว่า... 

มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ดอกไม้นี้มีเพียงในทิพย์โลก ไม่มีในเมืองมนุษย์ การที่มีดอกมณฑารพอยู่ แสดงว่าจะต้องมีอะไร เกิดขึ้นกับพระศาสดา 

พระมหากัสสปะถามพราหมณ์นั้นว่า ได้ข่าวอะไรเกี่ยวกับพระศาสดาบ้างหรือไม่ พราหมณ์นั้นตอบว่า พระสมณโคดมได้ปรินิพพานไป ล่วงเจ็ดวัน แล้ว 

"พระศาสดาปรินิพพานแล้ว" .....คำนี้เสียดแทงใจของพระภิกษุปุถุชนยิ่งนัก..... พระภิกษุศิษย์ของพระมหากัสสปะบางรูป... ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็กลิ้งเกลือกไปบนพื้น บ้างก็คร่ำครวญร่ำไห้ ว่า 

"พระศาสดาปรินิพพานเสียเร็วนัก" ส่วนพระภิกษุผู้เป็นอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว ย่อมเกิดธรรมสังเวชว่า "แม้พระศาสดา ผู้เป็นดวงตาของโลก ยังต้องปรินิพพาน สังขารธรรมไม่เที่ยงแท้เสียจริงหนอ" 

....แต่ในหมู่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น เสียงของสุภัททะ วุฑฒบรรพชิตก็ดังขึ้น "ท่านทั้งหลายอย่าไปเสียใจเลย พระสมณโคดมนิพพานไปซะได้ก็ดีแล้ว จะได้ไม่มีคนมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช ว่าสิ่งนี้สมควรกับเรา สิ่งนี้ไม่สมควรกับเรา" คำพูดของหลวงตาสุภัททะ เป็นที่สังเวชต่อ พระมหากัสสปะยิ่งนัก ท่านคิดว่า "พระผู้มีพระภาคยังนิพพานไปได้ไม่นาน ก็มีภิกษุบาปชนกล่าวจาบจ้วงพระศาสดา จาบจ้วงพระธรรมวินัยเช่นนี้ ถ้าเวลาผ่านไป ก็คงมีภิกษุบาปชนเช่นนี้ กล่าวจาบจวงพระธรรมวินัยเกิดขึ้นเป็นอันมาก" แต่ท่านก็ยั้งความคิดเช่นนี้ไว้ก่อน เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะกระทำสิ่งใดๆ นอกจากจะต้อง จัดการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสียก่อน

เมื่อพระมหากัสสปะ และภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางมาถึงสถานที่ถวายพระเพลิงมกุฏพันธนเจดีย์แล้ว ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณ รอบเชิง ตะกอน ๓ รอบ พระมหากัสสปะเปิดผ้าทางพระบาทแล้ว ถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า โดยท่านกำหนดว่าตรงนี้เป็นพระบาทแล้ว เข้าจตุตถฌาน อันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากฌานแล้วอธิษฐานว่า 

ขอพระยุคลบาท ของพระองค์ที่มีลักษณะเป็นจักรอันประกอบด้วยซี่พันซี่ ขอจงชำแรกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ พร้อมทั้งสำลี ไม้จันทน์ ออกเป็นช่อง ประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพระองค์ด้วยเถิด" 

มหาชนต่างเห็นความอัศจรรย์นั้น... ก็ส่งเสียงแสดงความอัศจรรย์ใจ เมื่อพระเถระและภิกษุ ๕๐๐ รูป ถวายบังคมแล้ว ฝ่าพระยุคลบาทก็เข้าประดิษฐานในที่เดิม 

ครั้นแล้วเปลวเพลิงก็ลุกโพลงท่วมพระสรีระของพระศาสดา ด้วยอำนาจของเทวดา ในการเผาไหม้นี้ ไม่มีควันหรือเขม่าใดๆฟุ้งขึ้นเลย 

เมื่อเพลิงใกล้จะดับ ก็มีท่อน้ำไหลหลั่งลงมาจากอากาศ และมีน้ำพุ่งขึ้นจากกองไม้สาละ ดับไฟที่ยังเหลืออยู่นั้น 

เหล่าเจ้ามัลละ ก็ปะพรมพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยของ หอม ๔ ชนิด รอบๆบริเวณ ก็โปรยข้าวตอกเป็นต้น แล้วจัดกองกำลังอารักขา จัดทำสัตติบัญชร (ซี่กรงทำด้วยหอก) เพื่อป้องกันภัย 

แล้วให้ขึงเพดานผ้าไว้เบื้องบน ห้อยพวง ของหอม พวงมาลัย พวงแก้ว ให้ล้อมม่านและเสื่อลำแพนไว้ทั้งสองข้าง ตั้งแต่มกุฏพันธนเจดีย์ จนถึงศาลาด้านล่าง ให้ติดเพดานไว้เบื้องบน ตลอดทางติดธง ๕ สี โดยรอบ ให้ตั้งต้นกล้วย และหม้อน้ำ พร้อมกับตามประทีปมีด้ามไว้ตามถนนทุกสาย 

พวกเจ้ามัลละนำพระธาตุทั้งหลายวางลงในรางทองแล้ว อัญเชิญไว้บนคอช้าง นำพระธาตุเข้าพระนคร ประดิษฐาน ไว้บนบัลลังก์ที่ทำด้วย รัตนะ ๗ อย่าง กั้นเศวตร ฉัตรไว้เบื้องบน แล้วจัดกองกำลังอารักขาอย่างนี้คือ>.... "จัดเหล่าทหารถือหอก ล้อมพระธาตุไว้ จากนั้นจัดเหล่าช้างเรียงลำดับ กระพองต่อกันล้อมไว้ พ้นจากเหล่าช้างก็เป็น เหล่า ม้าเรียงลำดับคอต่อกัน จากนั้นเป็นเหล่ารถ เหล่าราบรอบนอกสุดเป็นทหารธนูล้อมอยู่" 

พวกเจ้ามัลละจะจัดฉลอง พระบรมธาตุ ตลอด ๗ วัน ต้องการความมั่นใจว่า ๗ วันนี้ แม้จะมีการละเล่นก็เป็นการละเล่นที่ไม่ประมาท 

หลังจากนั้น เมื่อข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระสรีระกลายเป็น พระบรมสารีริกธาตุแล้ว 

เหล่ากษัตริย์ในนครต่างๆ เมื่อทราบข่าว ก็ปรารถนา จะได้พระบรมธาตุไปบูชา จึงส่งสาสน์ ส่งฑูตมาขอพระบรมสารีริกธาตุ 

ด้วยเหตุผลว่า "พระผู้มีพระภาคของเรา" "พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น กษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราจึงมีส่วนที่จะได้พระบรมธาตุบ้าง" เหล่ามัลละกษัตริย์ก็ไม่ยอมยกให้ ด้วยเหตุผลว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า ปรินิพพานในเมืองของเรา" 

ดังนั้น กษัตริย์ในพระนครต่างๆ เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู จอมกษัตริย์แคว้นมคธ และกษัตริย์เหล่าอื่นๆ จึงยกกองทัพมา ด้วยหวังว่า จะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ 

เมื่อยกกองทัพ มาถึงหน้าประตูเมือง ทำท่าจะเกิดศึกสงครามแย่งชิง พระบรมธาตุ 

ครั้งนั้น พราหมณ์ผู้ใหญ่คนหนึ่ง คือ โทณพราหมณ์ หวั่นเกรงว่าจะเกิดสงครามใหญ่ จึงขึ้นไปยืน บนป้อมประตูเมือง ประกาศว่า 

"พระผู้มีพระภาคเจ้า ของเรา ทรงสรรเสริญขันติ สรรเสริญสามัคคีธรรม การที่เราจะมาประหัตประหารเพราะแย่งชิง พระบรมธาตุ ของพระองค์ผู้ประเสริฐ ย่อมไม่สมควร 

ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จงยินดีในการที่จะแบ่งกันไปเป็น ๘ ส่วน และนำไปบูชายังบ้านเมืองของท่านทั้งหลายเถิด เพราะ ผู้ศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีมาก" 
  

ในพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตรได้กล่าวถึงเหตุการณ์ขณะที่โทณพราหมณ์ แบ่ง พระบรมสารีริกธาตุ ว่า 

[๑๕๙] หมู่คณะเหล่านั้นตอบว่า ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นขอท่าน นั่นแหละจงแบ่ง พระสรีระพระผู้มีพระภาคออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน ให้เรียบร้อย เถิด โทณ พราหมณ์ รับคำของ หมู่คณะเหล่านั้นแล้ว แบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาค ออกเป็น ๘ ส่วนเท่ากันเรียบร้อย จึงกล่าว กะหมู่คณะเหล่านั้นว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ขอพวกท่าน จงให้ตุมพะนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้า จักกระทำพระสถูป และกระทำการฉลองตุมพะบ้าง ทูตเหล่านั้นได้ให้ตุมพะแก่โทณพราหมณ์ ฯ 


[๑๖๐] พวกเจ้าโมริยะเมืองปิปผลิวัน ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพาน ในเมืองกุสินารา จึงส่งทูตไปหาพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราควรจะได้ส่วน พระสรีระ พระผู้มีพระภาคบ้าง จักได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละ เมือง กุสินาราตอบว่า ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคไม่มี เราได้แบ่งกันเสียแล้ว พวกท่านจงนำพระอังคารไป แต่ที่นี่เถิด พวกทูตนั้น นำ พระอังคารไปจากที่นั้นแล้ว ฯ 

ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหิบุตร 

ได้กระทำ พระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค ในพระนครราชคฤห์ 

พวกกษัตริย์ ลิจฉวีเมืองเวสาลี ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวสาลี 

พวกกษัตริย์ ศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกบิลพัสดุ์ 

พวกกษัตริย์ถูลีเมืองอัลกัปปะ ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองอัลกัปปะ 

พวกกษัตริย์โกลิยะเมืองรามคาม ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลอง พระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองรามคาม 

พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวฏฐทีปกะ 

พวกเจ้ามัลละเมืองปาวา ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองปาวา 

พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ก็ได้กระทำ พระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกุสินารา 

โทณพราหมณ์ ก็ได้กระทำสถูปและการฉลอง ตุมพะ พวกกษัตริย์โมริยะ 

เมืองปิปผลิวัน ก็ได้กระทำพระสถูปและการ ฉลองพระอังคารในเมือง ปิปผลิวัน ฯ 
พระสถูปบรรจุพระสรีระมีแปดแห่ง เป็นเก้าแห่งทั้งสถูปบรรจุตุมพะ เป็นสิบแห่ง 

ทั้งพระสถูปบรรจุพระอังคาร ด้วยประการฉะนี้ 
การแจกพระธาตุและการก่อ พระสถูปเช่นนี้ เป็นแบบอย่างมาแล้ว ฯ 

พระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ แปดทะนาน เจ็ดทะนาน บูชากันอยู่ในชมพูทวีป 

ส่วนพระสรีระอีกทะนาน หนึ่งของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบุรุษที่ ประเสริฐ อันสูงสุด พวก นาคราชบูชากันอยู่ในรามคาม 

พระเขี้ยวองค์หนึ่งเทวดา ชาวไตรทิพย์บูชาแล้ว ส่วนอีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ใน คันธารบุรี 

อีกองค์หนึ่งบูชากันอยู่ใน แคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ อีก องค์หนึ่ง พระยานาคบูชากันอยู่ ฯ 

ด้วยพระเดชแห่งพระสรีระพระพุทธเจ้า นั้นแหละ แผ่นดินนี้ ชื่อว่า... ทรงไว้ซึ่งแก้วประดับแล้วด้วยนักพรตผู้ ประเสริฐที่สุด 

พระสรีระของพระพุทธเจ้า ผู้มีจักษุนี้ ชื่อว่าอันเขาผู้สักการะๆ สักการะดีแล้ว 

พระพุทธเจ้าพระองค์ใด อันจอมเทพจอมนาคและจอมนระบูชาแล้ว อัน จอมมนุษย์ผู้ประเสริฐสุดบูชา แล้ว เหมือนกัน 

ขอท่านทั้งหลาย จงประนม มือ ถวายบังคมพระสรีระนั้นๆ ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นพระพุทธเจ้า ทั้งหลายหาได้ยากโดยร้อยแห่งกัป ฯ 

พระทนต์ ๔๐ องค์ บริบูรณ์ พระเกศา และ พระโลมาทั้งหมด พวกเทวดานำไปองค์ละองค์ๆ โดยนำต่อๆ กันไปในจักรวาล 



การบำเพ็ญกุศลเนื่องในพิธีวันอัฏฐมีบูชา 



การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฏฐมีบูชานี้ มีไม่กี่แห่งที่จัด 
เพราะในเมืองไทยมักไม่เป็นที่นิยม 

แม้สมัยก่อนอาจจะมีงานฉลองในพิธีวันอัฏฐมีบูชาบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ก็เลิกราไปมากแล้ว คงมีไม่กี่วัด เฉพาะในกรุงเทพ ที่ยังจัดพิธีเฉลิมฉลองในวันนี้อยู่ 

เช่นวัดราชาธิวาส วัดสุทัศนฯ วัดราชโอรส ฯ 
ส่วนการบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ก็เหมือนกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และมีการเวียนเทียนในตอนค่ำค่ะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส 

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส 

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส 

ขอนอบน้อมถวายอภิวาท 
พระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
ผู้ห่างไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง 

....เรื่องของวันวันอัฏฐมีบูชา ก็มีเพียงเท่านี้นะคะน้องๆของพี่ดอกแก้ว				
8 มิถุนายน 2547 22:36 น.

เสียงกระซิบข้างหัวใจ ๔

พี่ดอกแก้ว


                                          ในที่สุด...ช่วงเวลาของความร้อน 
                                ก็สิ้นสุดไปพร้อมกับสายฝนแรกที่สาดละออง 
                                              ภาพของฝนที่หลั่งเส้นสาย 
                                           แม้จะยังไม่มากระทบกับผิวกาย 
                                   แต่ก็ทำให้ใจเกิดความชื่นเย็นอย่างประหลาด 
                              แม้ในขณะนั้นจะอยู่ในห้องที่มีอากาศอบอ้าวก็ตาม 

                           ไม่ต่างกันเลยกับเมื่อครั้งที่มองฝ่าเปลวแดดไปในหน้าร้อน 
                                      แม้จะอยู่ในห้องปรับอากาศที่เย็นฉ่ำ 
                  แต่ใจนั้นก็รู้สึกไม่ชอบที่ได้รับรู้ว่า...แดดแรงและอากาศร้อนจัดในวันนี้
                              การเปิดทวารเพื่อรับสิ่งต่างโดยขาดการพิจารณา 
                                 ทำให้มองข้ามความจริงที่เกิดขึ้นเฉพาะตน 
                 แล้วตัดสินใจเชื่อผิดๆซึ่งนำความทุกข์และความสุขอันจอมปลอมมาให้.... 

                                                ภาพของสายฝนที่ภายนอก 
                                        เพียงทำให้ความร้อนหายไปในช่วงนั้น 
                                     เมื่อฝนหยุดตก .......และตะวันทอแสงฉาย 
                                        ความร้อนก็ยังคงเกิดขึ้นได้ในหน้าฝน 
                                      โดยเฉพาะในช่วงก่อนฝนตกแต่ละคราว 
                                 แต่เพราะเราไม่ใส่ใจ ด้วยมองเป้าหมายที่ไกลกว่า 
                              ...ความร้อนอบอ้าวนั้นจึงดูเหมือนมิใช่อุปสรรคของชีวิต 


ชีวิตของเราก็เช่นกัน.. 
ในคราวที่ประสบปัญหาชีวิตทั้งการงานและครอบครัว
การมองไปให้ไกลจากตัวเอง มองโลกในมุมกว้าง 
มองไปยังสภาพแวดล้อมภายนอกที่สวยงาม 
ดุจเดียวกับการมองสายฝนความทุรนทุรายใจก็จะคลายลง ...

แต่เมื่อใดที่ละสายตา..จากสายฝนมาอยู่กับความเป็นจริง.......
ความรู้สึกของผิวกายที่ได้สัมผัสความร้อนก็จะเด่นชัดยิ่งขึ้นจนทำให้ใจรู้สึกได้ 


การมองชีวิตเช่นนี้..เป็นการแก้ไขปัญหาได้ชั่วคราว 
ไม่ต่างกับการทำสมาธิด้วยวิธีต่างๆ 
ที่สร้างอารมณ์ขึ้นมาใหม่ด้วยคำภาวนาเพื่อให้ใจสงบ 
เป็นการย้ายอารมณ์จากความเร่าร้อนไปสู่ความเยือกเย็นนั่นเอง 

การแก้ไขปัญหาตามความเป็นจริงก็คือ 
เผชิญกับความทุกข์นั้นด้วยการยอมรับเพื่อลดความรุ่มร้อนในใจ 
และแก้ไขด้วยความสามารถเท่าที่มี โดยมีความเข้าใจว่า 
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ย่อมมีขึ้นมาจากสาเหตุ 
และก็มีผลปรากฏอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น 
ดังเช่น ฤดูร้อนที่ผ่านพ้นไปเพราะสายฝนที่พร่างพรำ



การกำหนดรู้ด้วยสติปัญญา..
อย่างเท่าทันสภาพธรรมที่มาปรากฎตามความเป็นจริง 
สภาพการรู้นั้น...จะยุติความฟุ้งซ่านทั้งหมดทั้งมวล 
ให้คงอยู่ ณ จุดแห่งความรู้ที่กำหนดได้ 
สงบและผ่อนคลายจากความยึดมั่นที่เกิดขึ้น 
ใจก็ไม่กระเพื่อมไปในทุกข์และสุข 

เหมือนกับเราได้พบหน้าคนทั่วไปที่มิใช่มิตรและศัตรู 
เส้นทางสายชีวิตที่เดินร่วมทางไปกับความทุกข์ 
ด้วยความรู้จักกันเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาๆ 
ทำให้ชีวิตไร้ภาพลวงตาและอารมณ์ลวงใจได้ในที่สุด.


ท่ามกลางเหล่าชนที่มากมากหลากหลายความคิด 
ท่ามกลางกระแสเสียงที่บอกกล่าวออกไป 
ในสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่น...ความคิดที่ต่างมุ่งหวัง 
เพื่อจะพาชีวิตของตนให้พ้นภัยไปกันถ้วนทั่วนั้น 
ต่างก็นิยมชมชื่นในอุดมการณ์อันเกิดขึ้นจากอุปาทาน 
ความเร้าร้อนจึงรุมเร้าชีวิตของคนเราอย่างไม่มีทางหยุดสนิทลงได้ 


   สำหรับคนจำนวนมาก สิ่งหนึ่งซึ่งทำให้คับข้องใจเป็นอย่างยิ่งในชีวิตก็คือ 
                                     การไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมของผู้อื่นได้ 
                      เรามักมองพฤติกรรม ที่ขึ้นว่าเป็นความตั้งใจมากกว่าความบริสุทธิ์ ใจ 
                              เรามีแนวโน้มที่จะใสใจ ในพฤติกรรมไร้เหตุผลของคน 
                                              และเกิดความรู้สึกขุ่นเคืองใจ 
                                    เป็นต้นว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ การกระทำต่างๆ 
                                            ความหยาบคาย ความเห็นแก่ตัว 
                                       ถ้าเราถือสาพฤติกรรมต่างๆ มากเกินไป 
                   เราจะรู้สึกว่าใครต่อใครสามารถทำให้ชีวิตของเรามืดมนได้โดยง่าย 


ด้วยเพราะความมืดบอดแห่งอารมณ์ที่มีอยู่อย่างซ้ำซากเช่นนั้น 
กระไรเลยเรายังมามัวเพิกเฉยต่อแสงสว่างที่ยังอำไพ 
เพื่อสาดทอดทางเดินอันเยือกเย็น สงบอันมีสุดทางที่..อมตะมหานิพพาน 
หยุดความหลงทางที่ถูกอำพร่างด้วยสุขวิปลาสกันเสีย 
แล้วหันกลับเข้ามาสู่เส้นทางอันสงบสุขกันเถิด 


                เพียงลงทุนสร้างเข็มทิศ..คือ..สัมมาทิฎฐิให้มีเกิดขึ้น 
                เพียรอาศัยทางบ่งชี้จากเข็มทิศนั้นไปสู่แสงสว่างกันเถิดคะ 


                         เสียงกระซิบนี้คงจะมีส่วนก้องกังวานในใจของทุกท่าน 
                                      ให้บุกบั่นฟันฝ่าความร้อนแห่งชีวิต 
                                              ได้รับพระธรรมคุ้มครอง 
                 ประดุจสายฝนที่ปะพรมลงบนดวงใจให้ชุ่มเย็นทั่วกันทุกท่านนะคะ 


                                               ด้วยความปรารถนาดีค่ะ  
                                                       พี่ดอกแก้ว.				
3 มิถุนายน 2547 09:45 น.

เสบียงทาง

พี่ดอกแก้ว

 ในการเดินทางไกลของชีวิต ที่มีการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าหากเราไม่เตรียมพร้อมในการเดินทางไว้ เราก็จะเป็นผู้ขาดแคลนขัดสนและอดอยาก ที่ว่าขาดแคลน ขัดสน และอดอยาก ในที่นี้หมายถึงเรื่องปัญญาโดยตรง เพราะปัญญาเท่านั้นเอง  ที่จะเป็นเพื่อนคู่คิดเป็นมิตรคู่ใจที่ดีที่สุด สำหรับสัตว์โลกทั้งหลาย ซึ่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านทรงเผยแผ่ธรรมะให้เวไนยสัตว์รู้ตามและสิ้นสุดไปจากความทุกข์ ดังนั้นการที่เรามีโอกาสมาฟังธรรม มาฟังข้อคิด ซึ่งจะทำให้ชีวิตเราคลายออกจากโมหะ อวิชชา และหลุดพ้น จากวิปลาสธรรมทั้ง ๔ ประการได้ ก็ต้องอาศัยคำสั่งสอนของพระตถาคตเจ้า 
วิปลาสธรรม ๔ ประการ อันได้แก่        

  ๚ ๛   สุภวิปลาส 
๚ ๛   สุขวิปลาส 
๚ ๛   นิจจวิปลาส และ 
๚ ๛   อัตตวิปลาส 
        


  สุภวิปลาส

คือ ความเห็นผิดอันคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เห็นว่าชีวิตนั้นเป็นของดีแท้ ที่จริงมิได้เป็นของดี เป็นอสุภะ ไม่ใช่เป็นสุภะ เพราะร่างกายเต็มไปด้วยของปฏิกูล ที่ควรนำเอามาปลง เช่น เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง) เป็นต้น สิ่งปฏิกูลต่างๆ เหล่านี้ไหลออกมาจากทวารทั้ง ๙ ทำให้ต้องชำระสะสางกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนทางจิตใจนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะสะอาดบริสุทธิ์ เพราะว่าจิตใจของเราจมปลักอยู่ในอาสวะกิเลส ซึ่งก็คือ กิเลสที่นอนเนืองอยู่ในขันธสันดานและแสดงออกมาทางกาย วาจา ซึ่งเรียกว่า กิเลสอย่างหยาบ แม้ว่าจะไม่แสดงออกมาทางกาย วาจา กิเลสนี้ก็ควบคุมจิตอยู่ ทำให้เกิดนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ คือ 

กามฉันทะ 

พยาปาทะ 

ถีนมิทธะ 

อุทธัจจกุกกุจจะ 

วิจิกิจฉา 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าขึ้นชื่อว่า ชีวิต มิใช่สิ่งที่น่าชื่นชม แต่เรามีชีวิตมาแล้วเราจะทำอย่างไรกับชีวิตจึงจะดี และนี่คือสิ่งที่เราจะต้องศึกษากันต่อไป 
    

  สุขวิปลาส

ด้วยเพราะเราหลงว่าชีวิตนี้มีความสุข แท้ที่จริงชีวิตไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ทั้งสิ้น เราจะต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เหยียด คู้ ก้ม เงย เราจะต้องแก้ไขตลอดเวลา เมื่อหิวก็ต้องเติมอาหาร เพราะชีวิตนั้นมีความพร่องอยู่เป็นนิตย์ ฉะนั้นจึงไม่มีความสุขเลยในชีวิตของเรา แต่ที่เราว่าเป็นสุขเพราะทุกข์น้อยลง เช่น ยืนนาน ๆ เกิดความเมื่อยจึงมานั่ง ความทุกข์ที่เกิดจากการยืนนานแล้วมานั่ง ทุกข์นั้นก็เบาบางลงน้อยลง แล้วเราก็อุปโลกหลงไปว่าชีวิตนั้นเป็นความสุข    

  นิจจวิปลาส 

เราหลงคิดว่าชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่เที่ยง แท้ที่จริงชีวิตนั้นไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทางด้านร่างกายก็รุกคืบหน้าไปสู่ความเสื่อม ในที่สุดก็ต้องแก่และก็ต้องตายไป จัดอยู่ทางด้านรูปธรรม ส่วนทางด้านจิตใจก็เป็นอนิจจังเช่นกัน มีแต่ความไม่เที่ยง ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องรู้รส สลับกันไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รสต่าง ๆ เหล่านี้ก็ต้องเกิดขึ้น เมื่อหมดเหตุปัจจัย สิ่งเหล่านั้นก็ตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ต้องดับไปเป็นของธรรมดา      

  อัตตวิปลาส 

เรามีความเข้าใจผิดเห็นผิดว่าชีวิตนี้เป็นเรา เป็นของๆ เรา เป็นตัวตน คน สัตว์ แท้ที่จริงประกอบด้วยรูปนามขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งประชุมกันเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เหมือนกับว่าเมื่อเราจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ เราก็จะต้องขอวีซ่า บางครั้งเขาก็ให้ ๖ เดือน ๑ ปี ๒ ปี ๑๐ ปีบ้าง แล้วแต่ว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงไร แล้วแต่การพิจารณาของสถานฑูต ก็เปรียบเสมือนกับที่เรา ได้วีซ่าเข้าประเทศคือ มนุษย์ภูมิ หรือมนุษย์สมบัติ และถ้ามีกุศลมาก เราก็อยู่ได้นาน แต่ถ้าทำอุปัจเฉทกรรมไว้ก็มีกรรมาตัดรอน ซึ่งก็เหมือนได้วีซ่ามาน้อย ฉะนั้น เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องศึกษา         

การได้ฟังพระธรรมและการบอกธรรม นับว่าเป็นธรรมทาน ทานหลายๆ ชนิด  มีอานิสงส์น้อยกว่าธรรมทาน เพราะการให้ธรรมะเป็นทาน นับว่าเป็นการให้ทานชนิดสูงสุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสยกย่องว่า เป็นทานที่เหนือกว่าทานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นการให้แสงสว่างของชีวิต หรือเรียกว่าการให้ปัญญาคือ อาวุธ ที่จะคอยฟันฝ่าอุปสรรคอันได้แก่ วิบากขันธ์ที่เกิดขึ้นมาที่มีรูปร่างกายจิตใจ ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น 

เรามาลองคิดดูว่าชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร ท่านคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า "ชีวิต คือ การต่อสู้" ท่านทราบหรือยังว่า ที่ว่าต่อสู้นั้น ต่อสู้กับอะไร สู้กับใคร ท่านกำลังสู้อยู่กับศัตรูที่ไม่มีทางชนะ ก็คือ ความทุกข์นั่นเอง เพราะไม่มีใครสักคนที่เอาชนะความทุกข์ได้ ต่างก็พ่ายแพ้แก่ความทุกข์ทั้งสิ้น ในที่สุดก็ถึงแก่ความตาย 

ความทุกข์ คือ สิ่งที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ หนีไปไม่พ้นไม่ว่าจะเป็นทุกข์กายหรือทุกข์ใจ พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนเรื่องทุกข์ มีทั้งสิ้น ๑๑ ประการ เป็นทุกข์ประจำ ๓ ประการ คือ เกิด แก่ ตาย เหลืออีก ๘ ประการ เป็นปกิณณกะทุกข์ คือ ทุกข์จรเบ็ดเตล็ด เช่น มีความทุกข์กาย มีความทุกข์ใจ มีความบ่นเพ้อรำพันตัดอาลัยไม่ขาด มีความพลัดพรากจากสิ่งที่ตนเองรักใคร่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่าความทุกข์ทั้งสิ้น การที่เราเข้าไปยึดไปถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนว่ามีความเที่ยง เป็นอัตตา เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายกาจ เพราะธรรมชาติทั้งหลายพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ - ธรรมทั้งหลายไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ การที่เรามีโอกาสฟังธรรม และแนะนำเพื่อนร่วมเกิดเจ็บตายให้มาศึกษาธรรม หรือทำความอุปถัมภ์ด้วยการดูแลบิดามารดา โดยพาท่านไปฟังธรรมชี้นำให้ท่านเห็นแสงสว่างของชีวิต นับว่าเป็นความกตัญญูและกตเวทิตาธรรมที่สูงสุด         

 สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาว่า บิดามารดาเป็นเสมือนพระพรหมของลูก เป็นผู้ให้ มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาต่อลูกๆทุกคน ฉะนั้นลูกทุกคนต้องทดแทนพระคุณท่าน บุญคุณของพ่อแม่นั้นมากหนักหนา ยากจะทดแทนได้หมด 

ถ้ามีใครคิดจะทดแทนบุญคุณบิดามารดา โดยยกเอามารดาไว้บนไหล่ขวา บิดาไว้บนไหล่ซ้าย แล้วให้ท่านถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่บนตัวของเรา   ป้อนข้าวป้อนน้ำอยู่ถึงร้อยปี แบกภาระแบกขันธ์ของท่านไว้อย่างนั้น จนกระทั่งท่านเสียชีวิตลงไป  ก็ยังไม่สามารถทดแทนพระคุณของท่านได้หมด เพราะพระคุณของพ่อแม่นั้นสุดที่จะประมาณได้ แต่การแนะนำให้ท่านหันจิตมากำหนดชีวิตและทิศทางให้กับชีวิตในการเดินทางตามหลักพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นการตอบแทนพระคุณที่มีค่าและสมบูรณ์ที่สุด 

ไม่จำเพาะเราท่านทั้งหลายเท่านั้น แม้แต่พระสารีบุตรเถระ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่ท่านจะปรินิพพาน ท่านก็ได้นำธรรมะไปโปรดมารดาของท่าน เพราะเป็นที่ทราบดีว่าการให้ธรรมะ หรือการโปรดมารดาให้รู้ธรรมและถึงธรรมได้นั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐสูงสุด 

ฉะนั้น เมื่อเราศึกษาพระอภิธรรม เราก็จะเห็นได้ว่า ชีวิตที่เราแสนรัก ที่เราหลงยึด แท้ที่จริงเป็นอะไรกันแน่ รูปนี้ เรานึกว่าเป็นเราคนเดียวแท้ที่จริงไม่ใช่ มันเกิดขึ้นจากดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รสโอชา มาประชุมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เรียกว่า ฆนสัญญา แล้วทำให้เราหลงว่าเป็นเรา เป็นเราคนเดียวนั่ง เป็นเราคนเดียวนอน แท้ที่จริงเป็นการประชุมของรูปต่างๆ ที่เรายื่นมือไปได้ ทักทายใครได้ โบกมือกวักมือเรียกใครได้ ก็เพราะว่ามีรูปควรแก่การงาน คือ วิการรูป ๓ รูปเบา รูปอ่อน รูปควรแก่การงาน ถ้าขาดรูปเหล่านี้ก็จะเป็นอัมพาต คือ มีความพิการในรูปใดรูปหนึ่ง และความละเอียดอ่อนของพระอภิธรรมจะทำให้เราซาบซึ้ง จะทำให้ทิฏฐิของเราวิสุทธิขึ้น คือความเห็นของเราวิสุทธิขึ้น เมื่อเราปฏิบัติจนกระทั่งมีความเห็นถูกมากขึ้นในหลักธรรม โดยเดินตามวินัยธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ 

เราก็จะสามารถบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้ เหลือชีวิตอีกเพียง ๗ ชาติ ในการเวียนว่ายตายเกิด มีที่หมายมีกำหนดกฏเกณฑ์ และเมื่อเป็นพระอรหันต์เมื่อไร ก็เป็นชาติสุดท้ายเพราะไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว อย่างเราๆ ท่านๆ นี้ยังเต็มไปด้วยสิ่งที่ห่อหุ้มจิตใจไม่ให้บริสุทธิ์ สิ่งนั้นก็คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง จัดเป็นโลภะ ๘ ดวง โทสะ ๒ ดวง โมหะ ๒ ดวง ถ้าเราได้เรียนแล้วเราจะเห็นความร้ายกาจความน่ากลัวของอกุศล ๑๒ นี้อย่างมาก 

ในขณะนี้เรามีชีวิตอยู่ แต่ในอนาคตวันใดวันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว เราก็ต้องเป็นศพ เราเคยไปเผาศพแต่อีกไม่นานเราก็ต้องถูกเผาเหมือนกัน อีกหน่อยเราก็ไม่มีโอกาสเห็น เพราะเราจะต้องอยู่ตรงนั้นแทน นี่คือเรื่อง วัฏฏะ วัฏฏะ คือ วงกลม และเป็นวัฏฏภัยด้วย ชีวิตตกอยู่ในวัฏฏภัย ซึ่งเป็นวงกลม ๓ เปลาะ มี กิเลส กรรม วิบาก ที่เราเกิดมาได้มีร่างกาย เรียก วิบากขันธ์ 

รูปนามขันธ์ ๕ ของเราเป็นวิบาก เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้วก็มีการกระทำ มีพฤติกรรม มีเจตนา แล้วเราก็ทำทั้งกรรมดีกรรมชั่ว ในจิตใจของเรา การเห็นที่เราพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง การเห็นของเรานั้นก็ประกอบไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง สลับเข้าออกอย่างนั้น แล้วโทสะ ก็จัดว่าเป็นกิเลส เป็นโรคร้ายทางใจ ฉะนั้น เราหนีไม่พ้นเลยจากกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ วงกลม ๓ เปลาะนี้ ได้จัดชีวิตของเรา ควบคุมชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น อิสรภาพอันสมบูรณ์ของเราจึงไม่มี คือการได้สุข ได้พ้นไปจากความทุกข์นั้น ไม่มีจึงต้องศึกษาและเดินตามทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ มีมรรค ๘ หรือสงเคราะห์ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ การเจริญภาวนา เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งต่างจากสมถกรรมฐาน 

      

  วิปัสสนากรรมฐาน คือ การเจริญชีวิต ที่ประกอบไปด้วยปัญญารู้ตามความจริง บนความเป็นจริง รู้ความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรานั่ง ไม่ใช่เราเดิน ไม่มีคนไม่มีสัตว์ ขณะนั่งอาการนั่งปรากฏเป็น รูปนั่ง ความรู้สึกทั้งหลายไม่มีคนไปรู้สึก คนเป็นเรื่องสมมติ เป็นภาษาสมมติเท่านั้นเอง แต่ความรู้สึกเป็นหน้าที่ของจิตใจ จิตนี้มีในเราทุกคน จิตเป็น นาม ก็ต้องเป็น นามรู้สึก นี้เป็นขั้นพื้นฐาน เป็นอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งต้องศึกษาก่อน แล้วจึงนำเอาไปปฏิบัติ เอาไปกำหนด เอาไปพิจารณา ก็จะเป็นการละคลายความเห็นผิด คือ ละคลายสักกายทิฏฐิ ที่เห็นผิดว่าเป็นตัวตน คน สัตว์ 

เมื่อบารมีเกิดขึ้น ปัญญาญาณเกิดขึ้น เป็นลำดับ ตั้งแต่ นามรูปปริเฉทญาณ ปัจจัยปริคญาณ สัมมสนญาณ จนกระทั่งถึงญาณอันแก่กล้าแล้ว คือ อุทยัพพยญาณ ใจของเราจะโน้มไปเอนไปด้วยปัญญาบารมี แล้วตัวปัญญาบารมีก็จะเป็นตัวตัดวัฏฏะ ซึ่งเรียกว่า วิวัฏฏะ แปลว่า การตัดวงกลมคือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ ของเรา แล้วในที่สุดเมื่อเรามีบารมีพรั่งพร้อมสมบูรณ์ด้วย สติมา สัมปชาโน อาตาปี เราก็จะบรรลุธรรมอันเป็นคุณลักษณะพิเศษ คือ ความสิ้นสุดจากกิเลสขันธสันดาน เมื่อไม่มีกิเลสเสียอย่างหนึ่ง เราก็ไม่เป็นทาสกิเลส เราก็พ้นทุกข์ได้ 

เหตุที่เกิดทุกข์ คือ ตัณหาทั้ง ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่อยู่ด้วยตัณหา คือ อย่าอยู่อย่างอยาก คือ จะกินก็กินเพื่อแก้ทุกข์ เราต้องมีการกำหนด ซึ่งในภาษาธรรมะเรียก โยนิโสมนสิการ เมื่อเรามีโยนิโสมนสิการ คือ มีการวางใจกำหนดว่าก่อนทำ เราทำเพื่ออะไร เช่น เราจะทานอาหาร เราก็ต้องรู้ก่อนว่า เราจะทานเพื่ออะไร รู้ว่าขณะนี้หิวแล้ว จำเป็นต้องทานเพื่อแก้ไขทุกข์ เราก็รับประทานด้วยความจำเป็น ไม่ได้รับประทานด้วยความอยาก ฉะนั้น ตัณหาก็จะเกิดกับการกำหนดของโยคาวรผู้นั้นไม่ได้ เท่ากับเราปลีกทางออกจากการสร้างเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (เมื่อถึงตรงนี้กจะเห็นว่าไม่ยาก แต่ที่ยากก็เพราะว่าเมื่อพูดถึงเรื่องทุกข์ไม่มีใครชอบ แต่เราต้องชอบให้ได้ คือ เราต้องพยายามสร้างศรัทธานั่นเอง) 

เพราะเราไม่ต้องการทุกข์ แล้วเราไม่รู้จักทุกข์ เราจะไปพ้นทุกข์ได้อย่างไร ความรู้ถูกจริงตามคำสอนของพระศาสดาเท่านั้น จะเป็นเสบียงทางคอยช่วยท่าน ในการเดินทางอันไกลได้ และเป็นความจริงที่สุดว่า ไม่มีใครช่วยเราได้หากเราไม่ช่วยตัวเอง ...     

   ด้วยความปนารถนาดีต่อทุกท่าน

                                           พี่ดอกแก้ว

				
2 มิถุนายน 2547 13:12 น.

รายงานติดขอบ..สนามหลวง..งานวิสาขะ

พี่ดอกแก้ว

ศุกร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ 
เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. 
วันที่สองของงานสัปดาห์วิสาขบูชาประจำปี ๒๕๔๗ ณ ท้องสนามหลวง 
แต่เป็นวันแรกของการอภิปราย 
ถ่ายทอดเสียงทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย 
ดังนั้น ในวันนี้รอบบริเวณท้องสนามหลวง 
จึงคราคร่ำไปด้วยนักเรียนนักศึกษา 
ที่มาเดินชมนิทรรศการ 
และรอรับฟังการอภิปรายกันตั้งแต่เช้า 
    

 บนเวทีใหญ่กลางท้องสนามหลวงในเช้านี้ 
จึงเต็มไปด้วยนักเรียนที่แต่ละโรงเรียน 
พามาร่วมกิจกรรมพุทธศาสนา 
เพื่อพัฒนาความรู้ขให้มีความเข้าใจ 
ในคำว่า "พุทธมามกะ" มากยิ่งขึ้น 
นอกจากนักเรียนนับร้อยที่พากันนั่งอยู่ใต้ร่มของเวทีกันอย่างเรียบร้อยแล้ว 
พุทธศาสนิกชนบางส่วนก็มานั่งคอยอยู่ด้วยเช่นกัน 
เพื่อรอรับฟังการบรรยาย 
จากผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่จะขึ้นมาบนเวที 

นับเป็นที่น่าอนุโมทนายิ่งกับคณะผู้จัดงาน 
ที่สามารถชักนำเยาวชนให้มาร่วมกิจกรรม 
ได้มากมายถึงเพียงนี้ 
        

วันพุทธมหามงคล ..คือ หัวข้อของการบรรยายที่ถูกกำหนดไว้ 
ให้วิทยากรได้พูดกันในวันนี้ 
ตามแต่ทัศนะของแต่ละท่าน 

ไม่มีการกำหนดกรอบการพูดไว้ล่วงหน้า 
เพราะวิทยากรแต่ละท่านนั้น 
ไม่มีโอกาสที่จะได้พบกันมาก่อนเลย 
เรียกได้ว่า ในคณะวิทยากรทั้งสี่ท่านนั้น 
ไม่มีทราบมาก่อนเลยว่า ใครจะพูดในด้านใด 
..ในหัวข้อที่เหมือนกัน 

จึงเป็นความลุ้นเล็กๆ ที่ผู้ฟังและวิทยากรเอง 
จะต้องติดตามฟังกันอย่างไม่ให้พลาด 
มิฉะนั้นแล้ว อาจมีการนำหัวข้อเดิมมาพูดซ้ำกันได้ 
ซึ่งทำให้ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควรกับเวลาที่เสียไป 
หน้าที่สำคัญของวิทยากรในวันนี้ 
นอกจากจะต้องพูดให้ผู้ฟังเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญ
ของพระพุทธศาสนาแล้ว ยังจะต้องสรรหาเนื้อหาสาระ 
ที่ไม่ซ้ำซ้อนมาสู่ผู้ฟังอีกด้วย 
       

หัวข้อว่า ...วันพุทธมหามงคล 
จึงเป็นเสมือนการเปิดประตูเข้างานสัปดาห์วิสาขบูชาอย่างศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง 
เพราะเป็นการกล่าวถึงความเป็นมาและหัวใจสำคัญของการจัดงาน 
คือการกล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรงนั่นเอง 

และก่อนที่จะนำทุกท่านเข้าสู่บรรยากาศการอภิปรายถ่ายทอดสด 
หลายท่านก็คงทราบกันดีว่า .. 
ขณะนี้อาจารย์บุษกร อยู่ระหว่างการพักฟื้นหลังผ่าตัด 
ซึ่งเป็นการผ่าตัดซ้ำที่เดิมบริเวณเอว(กระดูกสันหลัง)อีกครั้ง 
หลังจากที่การผ่าตัดครั้งแรกผ่านไปเพียงปีกว่า ... 
สภาพของร่างกายโดยเฉพาะหมอนรองกระดูก 
เนื้อเยื่อ และเส้นประสาทในบริเวณดังกล่าวนั้น 
คงไม่ต้องพูดถึงว่าจะได้รับความกระทบกระเทือนและเสียหายมากเพียงใด 
แต่ก็สุดวิสัยที่จะหลีกเลี่ยงการผ่าตัดในครั้งที่สองนี้ไปได้ 

    

ตามมาอ่านกันต่อที่ลิ้งค์นะจ๊ะๆๆคนดีของพี่ดอกแก้ว มีพระเอกหล่อๆมาพูดด้วยนะ..ขอบอกค่ะ        

http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=dokgaew&topic=5227				
Calendar
Lovers  1 คน เลิฟพี่ดอกแก้ว
Lovings  พี่ดอกแก้ว เลิฟ 1 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟพี่ดอกแก้ว
Lovings  พี่ดอกแก้ว เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟพี่ดอกแก้ว
Lovings  พี่ดอกแก้ว เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงพี่ดอกแก้ว