16 ธันวาคม 2552 23:24 น.
พจน์รำพัน
.
~ โคลงกลบท อักษรล้วนล้วน ~ เฌอรัก ~
( โคลงกลบท ๘ )
การเขียนกลบทโคยใช้พยัญชนะต้นตัวเดียวกันตลอดทั้งบท หรืออาจต่อเนื่องไปหลายบทนั้น มีรูปแบบการเขียนเหมือนต่อยอดมาจากกลบทอักษรล้วนที่มีมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งจะล้วนเฉพาะในแต่ละวรรคกลอน หรือแต่ละบาทโคลงเท่านั้น เมื่อมีความแตกต่างกันก็น่ามีชื่อเรียกให้ชัดแจ้ง เคยอ่านการเขียนอักษรล้วนทั้งบทหลายที่ ก็ไม่พบว่ามีชื่อเรียกเฉพาะแต่อย่างใด จึงขอเรียกให้เฉพาะเจาะจงไปเสียเลยว่า "อักษรล้วนล้วน" เพื่อให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันว่า เป็นแบบล้วนทั้งบท หรือต่อกันไปหลายบท
สำหรับการเขียนโดยใช้พยัญชะที่มีเสียงเหมือนกัน เช่น ข-ค-ฆ ซ-ทร-ศ-ษ-ส ผ-พ-ภ ปนอยู่ด้วยกันในบท ก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่ยังไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ดูๆแล้วแบบนี้น่าเรียกว่า "อักษรเสียงล้วน" ครับ
~ รักรุกข์รอมร่มรื้น ..... รายเรียง
เร้ารื่นรมย์ร่ำเรียง ......... รจน์ร้อย
รวยรินระเรื่อยเรียง ....... รวงเรข
ร้องเรียกรักร่วมร้อย ...... ร่ายร้องเรื่องราว
~ รักรุกข์รุกรักษ์รั้ง ....... รุกราน
ราญรุกข์รุกข์ราบราน ..... ร่อยร้าง
ร้างรุกข์เรื่องร้ายราญ ...... ระเรื่อย ระเรื่อยรา
ร้อนเร่งแรงเร่งร้าง .......... รีบรู้รณรงค์
~ คำโคลงควรคล่องคล้อง ....... คมความ
โคลงคลุกควันคลุมคาม ........... คละคลุ้ง
คำคราญคละโครมคราม ......... คละคล่ำ
ความครากคาแควคุ้ง .............. ควั่งคว้างโคลงเคลง
~ ครูเครงคุยครอบคล้าย ..... ใคร่ครวญ
ความคิดเคลือบแคลงควร ...... คัดค้าน
คนครุ่นคิดโคลงควณ ........... ครบเครื่อง
คึกแค่ครื้นคงคร้าน .............. ใคร่ค้อมใครครู
~ ครูคราวเคยแค่คุ้น ......... คนคราญ
เครียวใคร่คนโคลงควาน ..... ควับคว้า
ควักคว้างคว่ำคลุกคลาน ...... คลาดเคลื่อน
เคอะแค่นคำเคยค้า ............ โค่งโค้งโคลงครวญ
~ ใคร่ครวญคำคดเคี้ยว ...... เคราคาง
คนคบคุยคอมฯคราง ........... ค่อยค้อย
ครูเคยแค่นใครคลาง ........... แคลงครอบ
คราครุ่นคาคั่งคล้อย ............ คั่งค้างคลางแคลง
~ คุณคอมฯคุณค่าค้ำ ..... เคียงครู
ครูเคิ่ล*คือคุณครู ............ คล่องค้น
ค้ำคนคลี่คุยคู ................. คลุกครู่
คราแค่คำคลิกค้น ............ คล่ำคล้องครูความ ( * ครูเคิ่ล = Google )
~ ครืนครืนคราคลื่นครื้น ..... เครงครา
คลาคล่ำคลอเคลียคลา ........... เคลื่อนคล้อย
ครวญครางเคลิบเคลิ้มคา ....... คืนค่ำ
คำคลื่นครวญค่อยค้อย .......... ครุ่นคล้ายใครคราง
~ ครวญคร่ำคราเครียดค้อน ..... เคืองใคร
คราวเคราะห์คลุมคล้ายใคร ........ คั่นคั้น
คอยคล้อยเคลื่อนคลาไคล .......... แคล้วคลาด
ความคลี่คลายคืบครั้น ............... ค่อยคว้าครอบครอง
การเขียนกลบทไม่ว่าจะเป็น อักษรล้วนล้วน หรือ อักษรเสียงล้วน ก็ตาม พึงหลีกเลี่ยงการใช้คำสองพยางค์ที่ใช้พยัญชนะเสียงอื่น เพราะเหตุว่าเมื่ออ่านแล้วรู้สึกได้ว่าสะดุด ลองพิจารณาตัวอย่าง
( 1 ) หรีดหริ่งเรไรภิรมย์ ..... รื่นร้อง ภิ เสียงลหุ เป็นลูกเก็บ
( 2 ) หรีดหริ่งเรไรระงม ...... ร่ำร้อง งม เสียงครุ นับเป็นพยางค์โคลง
มองในเชิงของการเขียน ตัวอย่างที่ 1 ดูดีกว่า 2 แต่เมื่ออ่านออกเสียงแล้วก็รู้สึกสะดุดพอกัน ว่าไปแล้วสำหรับกลบทนี้ การใช้คำรับสัมผัสที่ซ้ำคำกันหรือจะให้รับสัมผัสเลือน ยังจะน่าสนใจเสียกว่าที่จะให้แปลกเสียง ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นเท่านั้น เชิญท่านลองเขียนดูครับ ท่านอาจสนุกกับกลบทนี้อย่างนึกไม่ถึง
อักษรล้วนล้วน
คุณดอกบัว
เกาะเกลากลอนกิ่งกว้าง ....... เกรียงไกร
กรองกลุ่มกลแกว่งไกว ........ เกี่ยวก้าน
กอบกลก่องกานท์ไกล .......... กุมกก
ก้าวกิ่งแกมกรอกกร้าน ........ แกร่งใกล้กลัวเกรง
ขีดเขียนขับข่มข้อง ......... ขลังขาน
ขลุกขลุ่ยข้นขับขาน ......... ข่มข้อ
ขอนเข้าแข่งเข็นขาน ....... ขวักไขว่
ขานขู่เข็นขับข้อ .............. ข่มไข้แข็งขืน
คิดโคลงคลีคืบคล้อง ......... คำคลอ
ค้นเคร่งโคลงคับคอ .......... ใคร่ค้ำ
ครวญคำแค่คืบคลอ ........... คละครอบ
เคลิ้มเคร่าเค้นโคลงค้ำ ....... ครั่นคร้านครามครัน
คุณเพียงพลิ้ว : เพียงพอ
เพลิดเพลินพจน์พากย์พลิ้ว ....... พาพัน
พักตร์พี่พราวแพรวพรรณ ........ เพ่งพริ้ม
พิศพรรคเพื่อนพงศ์พันธุ์ .......... พานพึ่ง
เพราเพริศพบเพชรพริ้ม ........... พร่ำเพ้อเพียงพอ
... แกมกานท์
ไกลเกรียวกราวกล่อมก้อง ........ แกมกานท์
กอกลิ่นกลมเกลียวการ ............ เกาะเกี้ยว
เก็บกลอนแก่กรองกานต์ .......... เกลากลั่น
ไกวกรุ่นกรูกลเกี้ยว ................. กิ่งแก้วกอดกลืน
คุณแก้วประเสริฐ
คิดคว้าครองคละคลุ้ง .......... คลอนแคลน
คาดเครื่องค้นครบแคน ........ ค่อนค้าน
คลายเคียงครบคงแคลน ....... เคียงคู่
ความคิดเคลียคงคร้าน ......... ครบค้นคงคลาย.
คุณก้าวที่...กล้า
ชมชวนชมช่างช้อย ....... เชิญชวน
ชูช่อชันชักชวน ............ ช่วงใช้
ชนเชยชิดช่ำชวน .......... ชมชอบ
ชอมชื่นเชอเช่นใช้ ......... ชื่อเชื้อชวนชม
ชมชายชาญเชี่ยวชั้น ...... เชิงชาย
เช่าช่วงเชิดชูชาย .......... ช่วยเชื้อ
ชวนชิดเชื่อมเช่นชาย ..... ชาญเชี่ยว
ชูช่อชวนชมเชื้อ ............ เช่นชู้ชัวชม
ชมชัวเช่นช่วงเช้า .......... ชุ่มชล
ชรชดช่ำชองชน ............ ชระใช้
โชติช่วงช่วยเชาวน์ชน .... เชียรช่อง
ชมชอบชมเชยใช้ .......... ชุ่ยเชี้ยชวนชม
ชมชวนชมชดช้อย ......... ชันชัย
ชวยชื่นเชยชิดไชย ......... ช่วงชื้อ
ชูช่อเชิดชมไช ............... ชีพชิต
ชนชอบเช่นชลชื้อ ........... ชระใช้ชื่นชม
อักษรเสียงล้วน
คุณสุรศรี
รักเราเรารักแล้ว ....... รักเลย
รักร่าเริงเราเลย ........ รักร้อน
รักรักรักรักเลย .......... เรารัก
เรารักรักเราร้อน ....... รักไร้โรยรา
คุณอัลมิตรา
.....โคลงคมเคียงครั่นครื้น- ....... เครงความ
ครวญคร่ำคลายขลาดขาม ........ ขุ่นข้อง
โคลงคราญครั่นคุกคาม ............ ครวญใคร่
ครัดเคร่งโคลงเคียงคล้อง ......... คึกครึ้มขีดเขียน ฯ
คุณเพียงพลิ้ว : เพียงพบ
เพียงพานพบพักตร์พริ้ม ........ พรั่นเพริด
พิศเพ่งพรรณเพลินเพลิด ....... ภักดิ์พร้อม
พิงเพลาพี่พราวเพริศ ............ พลอดพร่ำ
เพลงพัดพิณพรมพร้อม ......... พาดพลิ้วพึงพัน
2 ธันวาคม 2552 11:12 น.
พจน์รำพัน
.
~ โคลงขำขำ R ~ เสียงโห่ทาร์ซาน ~
( โคลงขำขำ ๙ )
.. ดูหนังแต่เด็กน้อย .......... นึกถึง
เจ้าป่าทาร์ซานตรึง ............ ติดต้อง
เหตุไฉนเล่าเขาจึง ............. กระโจนโห่
โหนแกว่งเถาวัลย์ก้อง ........ กู่สะท้อนพงไพร
.. จนได้ผ่านรับรู้ ............... เรื่องราว
อันบอกเหตุเกรียวกราว ...... กู่ไซร้
เล่าสืบทอดกันยาว ............. อย่างสนุก
จึงจักจารโคลงไว้ .............. ว่าแท้เป็นไฉน
.. ยามบ่ายในป่าครึ้ม .......... เขียวขจี
ธรรมชาติชื่นบานมี ............. แมกไม้
เถาวัลย์หลากหลายสี ........... สดแก่
เกาะเกี่ยวพันเกลียวไว้ ......... หย่อนห้อยระโยงระยาง
.. กลางธารรินทอดเลื้อย ..... ราวงู
มีแอ่งน้ำตกดู ..................... เด่นสล้าง
เจนสาวป่าตาตรู ................. ลงเล่น
เวียนว่ายดำผุดบ้าง ............. สะบัดน้ำเริงสราญ
.. ทาร์ซานเจ้าป่านั้น ......... เหนื่อยหนา
นอนงีบอยู่บนคา ................ คบไม้
เจ้าจ๋อคู่หูตา ...................... ปริบปริบ
อยู่ฝั่งเป็นยามให้ ............... แห่งนั้นระวังระไว
.. ทันใดจระเข้ .................. ขนาดยักษ์
ว่ายรี่ตรงมามัก .................. มุ่งร้าย
เจ้าจ๋อโดดร้องกวัก ............. เจี๊ยกลั่น
เจนตกใจวี้ดว้าย ................ หวีดร้องลนลาน
.. ทาร์ซานผลุนลุกขึ้น ........ คับขัน
พุ่งเกาะสายเถาวัลย์ ............ กิ่งใกล้
โยนตัวสู่เจนพลัน ............... เพรียกบอก
คอยยื่นมือชูให้ .................. หักห้ามตื่นกลัว
.. แล้วหย่อนตัวจับข้อ ......... แขนขวา
รั้งร่างเจนรอดมา ............... จากเงื้อม
เธอห้อยต่องแต่งถลา .......... กระเท่เร่
ฉุกละหุกมือซ้ายเอื้อม ......... แอ่นคว้าพัลวัน
.. ทาร์ซานครันจุกซึ้ง ........ ซ่านเสียว
ห่อปากร้องลั่นเกรียว .......... กู่ก้อง
พาเจนสู่ฝั่งเซียว ................ ซีดเผือด
ทรุดเข่ามือกุมท้อง ............. ถอดหน้าเป็นนาน
.. เหตุการณ์นี้แน่นแฟ้น ..... ฝังใจ
ยามเกาะเถาวัลย์ไกว ........... แกว่งโล้
มักรู้สึกปวดใน .................. เนื้อวาบ
ต้องโห่ฮี้โห่โฮ้ .................. โห่โฮ้ยยยโอยโอย
.
2 ธันวาคม 2552 11:12 น.
พจน์รำพัน
~ โคลงกลบท พจน์กำจร-พจน์กำจาย ~ ซึ้งรัก ~
( โคลงกลบท ๘ )
กลบทนี้นับว่าแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับกลบทต่างๆที่เคยผ่านตามา ซึ่งจะบังคับซ้ำคำ ซ้ำเสียงพยัญชนะ ซ้ำเสียงสระเป็นต้น กลบทชุดนี้ขอพาท่านไปในครรลองที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ "พจน์กำจาย" ห้ามซ้ำยัญชนะ "พจน์กำจร" ห้ามซ้ำสระ เว้นแต่ตำแหน่งสัมผัสตามฉันทลักษณ์ และ "พจน์กำจรกำจาย" บังคับทั้งสองประการพร้อมกัน
อาจมีข้อสงสัยว่าบังคับแบบนี้ โคลงจะมีความไพเราะหรือ ข้อนี้ตอบได้เลยครับว่าไม่ได้เท่าที่ควรแน่นอน แต่บังคับของกลบทชุดนี้จะชวนท่านหลุดพ้นจากความเคยชิน และครุ่นคิดไปถึงคำในบางพยัญชนะ บางเสียงสระซึ่งท่านห่างเหิน มีประโยชน์หลายประการครับ สุดแท้แต่เวลาที่จะอำนวยให้
พจน์กำจาย
บังคับห้ามซ้ำพยัญชนะ แต่ไม่ใช่ห้ามซ้ำเสียง พยัญชนะ ๔๒ ตัว สามารถใช้ได้ทั้งหมด คำที่ใช้ ทร ออกเสียงเป็น ซ ยกให้หนึ่งคำ กรณีพยางค์หลุ นับเฉพาะที่ใช้เป็นพยางค์คำในโคลง แต่ถ้าเป็นพยางค์ลูกเก็บไม่นับ บางกรณีก็มีทางเลือกได้ เช่น
เพียงวิจารณ์หยอกกระเซ้า ....... ผสมประทุษ
(เพียง)(วิ)(จารณ์)(หยอก)กระ(เซ้า) ....... ผ(สม)ประ(ทุษ)
กระ, ผ, ประ เป็นพยางค์ลูกเก็บ เท่ากับใช้พยัญชนะ พ-ว-จ-ย-ซ ..... ส-ท
(เพียง)วิ(จารณ์)(หยอก)(กระ)(เซ้า) ....... ผ(สม)ประ(ทุษ)
วิ, ผ, ประ เป็นพยางค์ลูกเก็บ เท่ากับใช้พยัญชนะ .. พ-จ-ย-ก-ซ ....... ส-ท
ตัวอย่าง
~ ซึ้งรักฉลักถ้อย ..... กำจาย
โฆษิตไวพจน์ผาย ...... ภาคข้น
หาฝันชื่นโอบสาย ...... ธารศัพท์
ปองมั่นฤทัยค้น .......... ณ เบื้องฟ้างาม
พจน์กำจร
บังคับห้ามซ้ำสระ ยกเว้นในตำแหน่งคำรับสัมผัส ซึ่งสระทั้งหมดมี ๓๒ เสียงเมื่อยังไม่มีตัวสะกด บังคับของกลบทนี้จึงให้ใช้คำที่มีตัวสะกดของสระแต่ละเสียงได้อีกเพียงหนึ่งคำ และใช้ -รร ได้หนึ่งคำ กรณีพยางค์หลุ นับเฉพาะที่ใช้เป็นพยางค์คำในโคลง แต่ถ้าเป็นพยางค์ลูกเก็บไม่นับ บางกรณีก็มีทางเลือกได้ เช่น
เพียงวิจารณ์หยอกกระเซ้า ....... ผสมประทุษ
(เพียง)(วิ)(จารณ์)(หยอก)กระ(เซ้า) ....... ผ(สม)ประ(ทุษ)
กระ, ผ, ประ เป็นพยางค์ลูกเก็บ เท่ากับใช้สระ
เอีย+, อิ, อา+, ออ+, เอา ........ โอะ+, อุ+
(เพียง)วิ(จารณ์)(หยอก)(กระ)(เซ้า) ....... ผ(สม)ประ(ทุษ)
วิ, ผ, ประ เป็นพยางค์ลูกเก็บ เท่ากับใช้สระ
เอีย+, อา+, ออ+, อะ, เอา ........ โอะ+, อุ+
สระ ๓๒ เสียงมีดังนี้
อะ อา อิ อี อึ อื อุ อู
เอะ เอ เออะ เออ โอะ โอ แอะ แอ เอาะ ออ
เอียะ เอีย เอือะ เอือ อัวะ อัว
ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ อำ ไอ ใอ เอา
ตัวอย่าง
~ ซึ้งทรวงยามจิตฟุ้ง ..... กำจร
พิเคราะห์แผกพจน์ทอน ...... เทือกเฟ้น
เสียงสระเยอะแยะหลอน ..... เหลือที่
โคลงรักมัวเมาเค้น .............. แค่เพ้อพอไฉน
เสียงสระในบทนี้คือ ( +แทนตัวสะกด )
อึ+ อัว+ อา+ อิ+ อุ+ .......... อำ (ออ+)
อิ เอาะ แอ+ โอะ+ (ออ+) ..... เอือ+ [เอ+]
เอีย+ อะ เออะ แอะ (ออ+) ........ เอือ อี
โอ+ อะ+ อัว เอา [เอ+] .......... แอ เออ ออ ไอ
พจน์กำจรกำจาย
กลบทนี้รวมบังคับของ พจน์กำจาย และ พจน์กำจร เข้าด้วยกัน
ตัวอย่าง
~ ซึ้งใจเธอผูกพ้อง ..... ภารโคลง
เนื่องดุจสัญญาโยง ..... ห่วงเฝ้า
งำเขียนแต่งชื่นโมง ..... ประณีต
ฤๅฤทธิ์เวทย์กลเร้า ..... ประลุแท้เถิงไฟ
บังคับของกลบททั้งสามนี้ ไม่มีลักษณะเด่นที่สังเกตได้ ทั้งไม่ส่งเสริมความไพเราะ จึงดูไม่น่าสนใจ แต่เป็นเสมือนกลทดสอบ ให้ท่านได้ประลองตนเอง จะว่าเป็นเกมก็ปาน ท่านจะผ่านด่านไหน ด้วยความพึงพอใจเพียงไร
ขอตั้งหัวข้อไว้ให้ว่า "หนาว" ครับ
คุณก้าวที่...กล้า
ท่านพจน์ช่างเลือกเฟ้น ...... วางกล
เปิดอักษรดังมนต์ .............. เสกถ้อย
ฌานเธียรแยบต่อผล .......... งามจิต
เขียนศาสตร์บนฐานร้อย ..... ฝากให้คิดหนาว
( พจน์กำจาย )
เพิ่งก้าวเข้าชิดใกล้ ............ คำโคลง
เมื่อเตาะแตะตรึกโยง ........ ยุ่งแก้
เลือกสระผูกผสมโรง .......... เสนอง่วน
พะนอลักษณ์ขีดเขียนแล้ .... ชื่นพ้องบัวสวรรค์
( พจน์กำจร )
บุหลันงำเฉิดห้วง ............ เพ็ญโพยม
รอจะอธิษฐานโอม ........... ก่องเชื้อ
สรรค์ภพซึ่งเทียบโถม ....... แขแต่ง
เหมือนผูกฤดีอะเคื้อ ......... ใฝ่ปลื้มฤๅไฉน
( พจน์กำจรกำจาย )
คุณเพียงพลิ้ว
หนาวไหมถามผ่านฟ้า ..... ฝากดาว
อยากอุ่นเก็บใจพราว ....... ห่มไว้
โปรยรักฉ่ำทุกคราว ......... ภาษซ่าน
งามชื่นบอกขานไล้ ......... สร่างเศร้าธารตรม
( พจน์กำจาย )
เพียงเพราะเพลินพจน์พลิ้ว .... หนาวใจ
แสวงอุ่นคลออวลไอ .............. ผึ่งเนื้อ
เจอะโศกอยู่รำไร .................. เช่นเก่า
ฤาขื่นเหน็บอะเคื้อ ................ แค่เพ้ออาวรณ์
( พจน์กำจร )
หมดบุญเหลือขื่นให้ ........... เอ่อหนาว
เฝื่อนค่าภักดีพราว .............. เปลี่ยวซ้อน
ไฟเหงา ณ ทรวงสาว .......... โถมแผด
ทูนเชิดแต่เจ็บร้อน ............. โธ่!ย้ำเกาะหญิง
( พจน์กำจรกำจาย )
.