25 มกราคม 2553 10:44 น.

~ เสียงโคลง ~ ลิลิตพระลอ ~ นิราศนรินทร์ ~

พจน์รำพัน

Hen7.jpg
.

      สวัสดีครับ  ครั้งที่แล้ว ~ ญาณรัก ~ มีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับผังเสียงโคลงลิลิตพระลอที่ลงไว้นั้น ที่ถูกเป็นของนิราศนรินทร์ครับ เนื่องจากทำเป็นไฟล์ตัวเลขล้วนๆไว้หลายปีแล้ว จำสลับกัน ต้องขออภัยด้วยครับ และได้แก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว

      คราวนี้จึงจะขอพูดถึงเสียงโคลงของลิลิตพระลอซึ่งมีจำนวน ๒๙๔ บท และนิราศนรินทร์ ซึ่งมี ๑๔๓ บท ในเชิงเปรียบเทียบกัน  มีอยู่ข้อหนึ่งที่เห็นชัด คือทั้งสองเรื่องนี้มีสร้อยโคลงจำนวนมาก  ในสิบบท บาทหนึ่งจะมีสร้อยถึงกว่าสี่บท บาทสามมากเป็นเท่าตัว  นิราศนรินทร์มีแปดบท ลิลิตพระลอมีถึงเก้าบททีเดียว

      ทั้งสองเรื่องนี้ประพันธ์ขึ้นในช่วงเวลาที่ห่างกันประมาณสามศตวรรษ   เมื่อรวมจำนวนเสียงคำแต่ละเสียง โดยไม่นับพยางค์เสียงที่เป็นลูกเก็บและสร้อยโคลง พบว่าสัดส่วนเสียงคำเทียบกันเสียงต่อเสียง ทั้งสองเรื่องมีความใกล้เคียงกันทุกเสียง แตกต่างกันไม่เกินหนึ่งในสิบ  ลิลิตพระลอมีสัดส่วนเสียงจัตวามากกว่า ส่วนนิราศนรินทร์มีสัดส่วนเสียงสามัญมากกว่า

      เมื่อลองเขียนเสียงโคลงหลัก ( ใช้ 0 1 2 3 4 แทนเสียง สามัญ เอก โท ตรี และ จัตวา ตามลำดับ ) โดยถือตามเสียงที่มากที่สุดในแต่ละตำแหน่งคำ ได้ออกมาดังนี้ 

ลิลิตพระลอ
00022 ..... 00  20
01000 ..... 13
00100 ..... 02  00
01032 ..... 1200

นิราศนรินทร์
00023 ..... 00  00
01000 ..... 13
00200 ..... 02  00
01002 ..... 2300

      คราวนี้ลองดูผังเสียงรอง ซึ่งเขียนตามเสียงที่มีมากเป็นอันดับสองในตำแหน่งคำ เสียงรองในแต่ละตำแหน่งมีจำนวนต่างกับเสียงหลักมากบ้างน้อยบ้าง แต่ถือตามลำดับว่าเป็นอันดับรอง  และโดยที่ตำแหน่ง "คำสุภาพ" สี่แห่งนั้นเสียงรองเป็นเสียงจัตวาทั้งสิ้น จึงใส่ X แทนเสียบ้าง

ลิลิตพระลอ
43413 ..... 4X
4244X ..... 22
4421X ..... 41
42303 ..... 234X

นิราศนรินทร์
44112 ..... 4X
1214X ..... 22
1411X ..... 41
12433 ..... 124X

      จะเห็นว่าลิลิตพระลอมีเสียงจัตวาเป็นเสียงรองมากกว่าเสียงอื่น  ส่วนนิราศนรินทร์เสียงเอกเป็นเสียงรองมากกว่า จากนี้จะเปลี่ยน _ เข้าไปแทนในจุดที่ทั้งสองเรื่องมีเสียงรองเหมือนกัน เพื่อให้เห็นภาพเสียงรองที่ต่างกันได้ง่ายขึ้น

ลิลิตพระลอ
_34_ 3 ..... _ _
4_4_ _ ..... _ _
4_2_ _ ..... _ _
4_30 _ ..... 23 _ _

นิราศนรินทร์
_41_ 2 ..... _ _
1_1_ _ ..... _ _
1_1_ _ ..... _ _
1_43 _ ..... 12 _ _

      มองความแตกต่างของเสียงรองนี้แล้วก็นึกเดาไปต่างๆนาๆ ว่าจะเป็นด้วยพื้นสำเนียงของภาษาตามยุคสมัย หรือเพราะลิลิตพระลอเป็นเรื่องเกี่ยวข้องทางล้านนา ซึ่งเสียงจัตวามีอิทธิพลอยู่มาก เช่น กิน ก็ว่า กิ๋น จะมีเหตุแห่งความแตกต่างนี้หรือไม่  ถ้าเป็นนักวิชาการคงต้องค้นคว้าอีกมากมาย

      หากจะพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีก ก็ต้องคำนึงถึงถึงบังคับในฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ ซึ่งจะมีคำอยู่สี่ประเภท

      ๑ ) คำสุภาพ มีอยู่สี่ตำแหน่ง คือคำที่ไม่ประวรรณยุกต์ ดังนั้นจะมีอยู่สองเสียงเป็นหลักใหญ่ คือ เสียงสามัญ และเสียงจัตวา แต่มีการประพันธ์ที่ลงท้ายบาทแรกด้วยคำตายอยู่ประมาณหนึ่งในสิบ ในจำนวนนี้ก็จะเป็นเสียงเอก โท และ ตรี สำหรับเสียงสามัญในตำแหน่งคำสุภาพ ทั้งสองเรื่องใกล้เคียงกันมากทั้งสี่ตำแหน่ง มีจำนวนสองในสาม

      ๒ ) คำโท มีสี่ตำแหน่ง ถือตามรูปโท คือต้องประวรรณยุกต์โทเท่านั้น ดังนั้นก็จะมีเพียงสองเสียง คือ เสียงโท กับเสียงตรี

      ๓ ) คำเอก มีเจ็ดตำแหน่ง ถือตามรูปเอก หรือคำตายก็ได้ คำตายคือคำที่ผสมสระเสียงสั้น และคำที่สะกดด้วยแม่ กก กด กบ รวมแล้วจะมีสามเสียงเป็นหลัก คือ เสียงเอก เสียงโท และ เสียงตรี มีเสียงกลางและเสียงจัตวาอยู่น้อยมากตามรูปคำ ซึ่งใช้ อำ เป็นคำเอก เช่น ถวายบำเรอท้าวไท้


      ๔ ) คำอื่นๆที่มิได้มีบังคับกำหนดไว้
 มีจำนวนสิบห้าคำเท่ากับกึ่งหนึ่งของบทโคลงพอดี ( ไม่นับสร้อยโคลง ) คำเหล่านี้ก็จะมีได้ครบทั้งห้าเสียง

ค่าเฉลี่ยในสิบห้าคำ       ลิลิตพระลอ        นิราศนรินทร์
      เสียงสามัญ         ๔๕ %           ๕๐ %
      เสียงเอก           ๑๓ %           ๑๗ %
      เสียงโท             ๗ %            ๗ %
      เสียงตรี            ๑๖ %           ๑๐ %
      เสียงจัตวา          ๑๙ %           ๑๖ %

      จากตารางค่าเฉลี่ยนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า ทางฝ่ายเสียงต่ำ คือเสียงสามัญและเสียงเอก นิราศนรินทร์ มีสัดส่วนที่สูงกว่า  แต่ทางฝ่ายเสียงสูง คือเสียงตรีและเสียงจัตวานั้น ลิลิตพระลอมีสัดส่วนสูงกว่า

      ในตอนนี้จะขอพูดถึงเสียงต่างๆเฉพาะในขอบเขตของ "คำอื่นๆ" ตามหัวข้อ ๔ เท่านั้น เพื่อเพิ่มความชัดเจนในภาพรวมของเสียงโคลงของทั้งสองเรื่องมากขึ้นอีกนิดหนึ่ง


      เสียงสามัญ - จากค่าเฉลี่ยจะเห็นว่าเสียงสามัญมีน้ำหนักประมาณครึ่งหนึ่งทีเดียว แทบทั้งหมดมีน้ำหนักมากกว่าเสียงอื่นๆทั้งสิ้น มีเพียงตำแหน่งเดียวในลิลิตพระลอ ตรงบาท ๔ คำที่ ๔ ที่เสียงสามัญต่ำมาก  จนน้อยกว่าเสียงตรี และใกล้เคียงกับเสียงโท   ที่มากที่สุดอยู่ตรงบาท ๓ คำที่ ๔    ส่วนนิราศนรินทร์เสียงสามัญมากที่สุดตรงบาท ๔ คำที่ ๘ ซึ่งมากอย่างโดดเด่นกว่าทุกตำแหน่งในบทโคลงทั้งสองเรื่องทีเดียวต้ำแหน่งที่น้อยสุดอยู่ตรง บาท ๔ คำที่ ๓ แต่ก็ยังสูงกว่าเสียงอื่นๆ

      เสียงเอก - ลิลิตพระลอสูงตรงบาท ๑ คำที่ ๑ และ ๓  คำที่ ๑ บาท ๒ ละ ๓  นิราศนรินทร์สูงตรงคำที่ ๓ บาท ๑ และ ๔   คำที่ ๑ บาท ๒ และ ๓

      เสียงโท - เป็นเสียงที่มีน้ำหนักน้อยที่สุดในกลุ่มคำนี้  ลิลิตพระลอมีตำแหน่งเสียงโทสูงมากในบาท ๔ คำที่ ๔ ซึ่งมากเท่ากับอีกสองแห่งรองลงมาคือตรงบาท ๑ คำที่ ๒ และ ๑ รวมกันทีเดียว  ส่วนในนิราศนรินทร์ เสียงโทมากตรงบาท ๔ คำที่ ๓ และ ๔

      สำหรับตำแหน่งที่แทบจะไม่ใช้เสียงโทเลย ในลิลิตพระลอ ได้แก่  บาท ๑ คำที่ ๖   บาท ๒ คำที่ ๓ และ ๔   บาท ๓ คำที่ ๑ ๒ ๔ และ ๖   บาท ๔ คำที่ ๘  ส่วนนิราศนรินทร์ บาท ๑ คำที่ ๓ และ ๖   บาท ๒ คำที่ ๑ และ ๔   บาท ๓ คำที่ ๑ ๔ และ ๖   บาท ๔ คำที่ ๘  น่าคิดว่าการจะให้โคลงฟังรื่นหู ควรระวังเสียงโทในตำแหน่งคำเหล่านี้   

      เสียงตรี - ลิลิตพระลอสูงในบาท ๔ คำที่ ๓ และ ๔  ส่วนนิราศนรินทร์ตรงบาท ๑ คำที่ ๓  และบาท ๔ คำที่ ๔

      เสียงจัตวา - ลิลิตพระลอใช้มากไล่เรียงกันในหลายตำแหน่ง  ที่มากหน่อยคือคำต้นบาท ๓ ๒ ๔ และ ๑ ตามลำดับ  ในนิราศนรินทร์ก็ไล่เรียงกันหลายตำแหน่ง มากตรงบาท ๔ คำที่ ๓   บาท ๓ คำที่ ๒ และ ๖   บาท ๑ คำที่ ๒

      เพื่อให้เห็นภาพเปรียบเทียบของเสียงคำในกลุ่มคำอื่นๆของทั้งสองเรื่อง  จึงสรุปมาเขียนตามผังข้างล่างในแต่ละตำแหน่งคำ โดย 0 - 4 แทนเสียงสามัญ - จัตวา  ล แทน ลิลิตพระลอ  น แทนนิราศนรินทร์  โดยเลือกเอาเสียงที่มีนำหนักมากอันดับต้นๆของแต่ละเสียง เขียนเรียงตามลำดับมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลีย  อย่างเช่น บาท ๑ คำที่ ๑  ที่เขียนว่า ( 2ล1ล3น4ล ) จริงๆแล้วทั้งสองเรื่อง เสียงสามัญมีจำนวนมากกว่าเสียงอื่นๆ แต่ว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของแต่ละเสียงแล้ว เสียงเหล่านี้ที่ในวงเล็บมีน้ำหนักสูงกว่า


( 2ล1ล3น4ล )( 2ล4น )( 3น1น1ล3ล )( อ )( ท ) ..... ( 0ล0น ) ( ส )
( 4ล1น3น1ล )( อ )( 0ล0น )( 0น0ล1ล  )( ส ) ........ ( อ )( ท )
( 4ล1ล1น )( 4น3น0ล )( อ )( 0ล0น )( ส ) .............. ( 4น1น4ล0ล )( อ )
( 2ล4ล )( อ )( 2น3ล4น1น )( 2ล3น3ล2น )( ท ) ..... ( อ )( ท )( 0น0ล )( ส )

อ คือ คำเอก  ท คือ คำโท  ส คือ คำสุภาพ  และในบาท ๑ ตำแหน่ง เอก - โท สลับที่กันได้


      ท้ายนี้เป็นเสียงโคลงในวรรคหน้าที่ซ้ำกันมากที่สุดในสองอันดับแรก

           ลิลิตพระลอ             นิราศนรินทร์

บาท ๑      00022 . . . .          00023 . . . .
            40012 . . . .          30012 . . . .
            30023 . . . .

บาท ๒      01000 . . . .          01000 . . . .
            41000 . . . .          11000 . . . .
                                  01100 . . . .

บาท ๓      00100 . . . .          00100 . . . .
            00200 . . . .          04200 . . . .

บาท ๔      02002 . . . .          01033 . . . .
            02012 . . . .          01102 . . . .
                                  03002 . . . .

ขอจบเพียงเท่านี้  หวังว่าท่านผู้สนใจเรื่องเสียงโคลงจะทำความเข้าใจได้พอสมควร ขอบคุณครับ
.				
4 มกราคม 2553 16:41 น.

~ โคลงกลบท พจน์บรรเลง ~ ญาณรัก ~

พจน์รำพัน

newyearz.jpg


~ โคลงกลบท พจน์บรรเลง ~ ญาณรัก ~
( โคลงกลบท ๙ )

      เปิดศักราชปีใหม่นี้ขอชวนท่านลองเขียนโคลงโดยการบังคับด้วยเสียงโคลงดูบ้าง  เหมือนแต่งทำนองเอาไว้  แล้วค่อยใส่เนื้อร้องตามทีหลัง  ซึ่งปกติผมก็ไม่เคยทำเช่นนี้นะครับ  ในคราวนี้จึงลองแต่งเสียงโคลงขึ้นมาสองบท ให้ชื่อว่า "พจน์บรรเลง"  เพื่อความเก๋ไก๋ และใช้เป็นบังคับในการเขียนโคลงตัวอย่าง
      
      จากการศึกษาเสียงโคลง โดยเลือกเอาโคลงจากลิลิตพระลอมาเป็นต้นแบบ  เนื่องจากเห็นว่ามีความไพเราะ  ก็ได้ความรู้มาในระดับหนึ่งที่เป็นประโยชน์  จะนำมาถ่ายทอดสู่ท่าน  เพื่อทดลองเรียบเรียงทำนองโคลงกันดูบ้าง

      ก่อนอื่นขอพูดถึงสร้อยโคลงว่า  ลิลิตพระลอมีการใช้สร้อยโคลงอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว  โดยเฉลี่ยในสิบบท บาทที่ ๑ มีสร้อยโคลงกว่าสี่บท  และบาทที่ ๓ มีมากถึงแปดบท  จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากโคลงในลิลิตพระลอเป็นเรื่องเล่าและการสนทนา  จะแตกต่างจากโคลงโลกนิติซึ่งมีสร้อยโคลงน้อยกว่ากันมาก

      มาถึงเรื่องเสียงโคลง  ต้องขออธิบายก่อน ว่าจะใช้ตัวเลข  0 - 1 - 2 - 3 - 4  เขียนแทนเสียง  สามัญ - เอก -โท - ตรี - จัตวา    กา - ก่า - ก้า - ก๊า - ก๋า

เสียงสามัญ ... 0 ... กา คา ใจ ความ ดี
เสียงเอก ...... 1 ... ก่า ข่า กับ กาบ ขับ ขาบ
เสียงโท ....... 2 ... ค่า ก้า ข้า คาบ ค่าง ก้าง ข้าง
เสียงตรี ........ 3 ... ค้า ก๊า คับ ค้าง
เสียงจัตวา .... 4 ... ขา ก๋า ขาว หนาว

      จากนี้ก็จะใช้ตัวเลขเขียนเพื่อแสดงภาพของเสียงโคลงในลิลิตพระลอ ว่าคำในตำแหน่งต่างๆลงเสียงไหนมากหรือน้อยเพียงใด  โดยใช้เคื่องหมาย *  '  /  และลำดับก่อนหลัง  ช่วยในการสื่อถึงปริมาณมากน้อย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

0**   ....  เป็นเสียงสามัญส่วนมาก
3*2'  ....  เป็นเสียงตรีกว่าครึ่ง เป็นเสียงโทเกือบครึ่ง
2*1  ....  เป็นเสียงโทกว่าครึ่ง เสียงเอกน้อยกว่า
0'13  ....  เป็นเสียงสามัญเกือบครึ่งเสียงเอกและตรีลดหลั่นลงไป
0413 ....  เป็นเสียงสามัญ จัตวา เอก ตรี ลดหลั่นตามลำดับ
0*//4 ... เป็นเสียงสามัญเกินครึ่ง เสียงจัตวาไม่ถึงหนึ่งในสามของเสียงสามัญ
0'/41 ..... เป็นเสียงสามัญเกือบครึ่ง เสียงจัตวาไม่ถึงกึ่งหนึ่งของเสียงสามัญ เสียงเอกน้อยลงอีก

จากนี้มาดูผังเสียงโคลงลิลิตพระลอกันครับ ในวงเล็บคือสร้อยโคลง

0413   0'/342   0431  2*1   2*3 ............ 0*//4   0*/4  ( 2*1  0** )
0413   1*2   0*//4   0*/41   0*/4 .......... 1*2   3*2'
0431   0*/43   1*2/3   0*//1   0*//4 ........... 0*/41   2*1  ( 0*/3  0** )
0431   1*2   0'3   3021   2*3 ............. 1*2   2*3'   0*//4   0*4

      เสียงบางเสียงที่ไม่มีตัวเลขแสดงอาจหมายถึงไม่มีเสียงนั้น หรือมีอยู่เป็นจำนวนค่อนข้างน้อย  แต่ใช่ว่าจะไม่สำคัญนะครับ  ลองดูเสียงโคลงบทเสียงลือเสียงเล่าอ้าง  ที่ถือกันว่ามีความไพเราะมากบทหนึ่ง

4 0 4 2 2 ...... 0 0  2 0
4 2 0 3 0 ...... 2 2
4 4 2 1 4 ...... 0 1  0 2
4 2 3 0 2 ...... 1 2 4 4

      จะเห็นว่ามีเสียงส่วนน้อยอยู่ถึงสี่ตำแหน่งคำ (สีแดง)  และเสียงโคลงบทนี้ก็ไพเราะยิ่งนัก  การที่ยกมาให้พิจารณานี้ก็เพื่อว่า  เมื่อท่านจะเรียบเรียงเสียงโคลงให้เป็นที่พึงพอใจสำหรับตนเอง จะได้ไม่ละเลยเสียงที่เป็นส่วนน้อย  ซึ่งหากแทรกอยู่ในบางตำแหน่งคำอย่างถูกที่ถูกเสียงแล้ว จะช่วยเพิ่มความไพเราะได้เป็นอันมาก  มาดูตัวอย่างกันครับ

พจน์บรรเลง

00012 ...... 14	
02140 ...... 23	
10314 ...... 01  00	
02403 ...... 2200	

00123 ...... 00	
11004 ...... 12	
14200 ...... 42	
41012 ...... 1304	

ญาณรัก

~ ครวญโคลงโยงจิตอ้อน ..... ออดขวัญ
กำซาบโสตสมพรรณ ........... พาทย์พ้อง
หยั่งญาณรักฝ่าฝัน .............. เฟือสู่  ใจเอย
ปองมั่นหมายเคียงคล้อง ....... คู่ก้อยเกลียวกลม

~ จมใจจึ่งใคร่รู้ .............. เรียนเคียง
ฝักใฝ่จารแจงเสียง ............ สรรพแจ้ว
สู่สารเลขรายเพียง ............. ผังพากย์
ผายเผื่อกานท์ก่องแก้ว ....... เกี่ยวร้อยเรียงผสาน


คุณเพียงพลิ้ว

เพียงรำพันกลั่นถ้อย ..... ถิ่นฝัน
เพียรพร่ำผูกสัมพันธ์ ..... พร่างฟ้า    
ฝ่ายดีที่ปักขวัญ ........... คงอยู่ เคียงเอย
ใจมั่นสรรคลายล้า ........ เร่งสร้างคำคลอ

ทอโคลงส่งยื่นไว้ ......... แวมวอม
ไออุ่นไมตรีหอม ......... ห่มเอื้อ
ส่งสาส์นชื่นใจจอม ...... จ๋อยซ่าน
หวานด่ำคลอก่อเกื้อ ..... กวาดช้ำคลายสูญ


คุณโอเลี้ยง(ญามี่)
ตรมใจตอนจากด้วย .......... โศกเผา
นัยซ่อนขับขมเลา ............. ร่ำท้อ
ตอกทรวงภักดิ์เกาะเขลา ..... เมาขื่น
ญาณร่วงสุมในพ้อ ............. ช่ำไห้เนาคุม

รุมทอเจาะชอกช้ำ ............. เนานาน
ขับปล่อยรอยรวมหาญ ....... จากสิ้น
ฝากขมเนิ่นนองลาน ......... ไหวเร่า
สอยข่มในจิตดิ้น ............... แต่คล้ายเมียงโหย


     น่าสนุกครับ  ขอเชิญท่านทดลองดู  แต่งทำนองโปรดของตนเองแล้วใส่โคลงมาดูกันหน่อยนะครับ  ดีไม่ดี ต่อไปจะมีโคลงลูกกรุง ลูกทุ่ง โคลงร็อค ก็ได้นาครับ
.

คุณปรางทิพย์

พรพจน์มอบฝากไว้ ........ สำคัญ
โคลงท่านเปรยรำพัน ..... พรั่งพร้อม
อธิษฐานดั่งจำนรรจ์ ....... นาพี่
ขวัญมุ่งหมายใจน้อม ..... ไขว่คว้าโคลงกลอน...ฯ

0 3 2 1 3 ..... 4 0
0 2 0 0 0 ..... 2 3
3 4 1 0 0 ..... 0 2
4 2 4 0 3 ..... 1 3 0 0


คุณก้าวที่...กล้า

สวัสดีปีใหม่น้อม ......... เนืองผล
ทวยเทพบันดาลดล ..... เดชคล้อง
สุขศรีสุขสันต์กมล ....... หมายมั่น มุ่งพี่
สุขภาพแข็งแรงพ้อง ..... ผูกให้เกษมศานต์

1 0 0 1 3 ..... 0 4
0 2 0 0 0 ..... 1 3
1 4 1 4 0 ..... 4 2  2 2
1 2 4 0 3 ..... 1 2 4 4

เสียงโคลงโยงส่องเค้า .......... ส่งคำ  หลันรา
สรรค์โจทย์โสตงามขำ ......... ง่วนครื้น
เสียงใจใส่โคลงนำ .............. ความเนื่อง
สานเสนาะเพราะพริ้งฟื้น ..... พึ่งฟ้าพลอยฝน

4 0 0 1 3 ..... 1 0  4 0
4 1 1 0 4 ..... 2 3
4 0 1 0 0 ..... 0 2
4 1 3 3 3 ..... 2 3 0 4


คุณเพียงพลิ้ว

อยากมีรักสักครั้ง .......... สักหน
สรรเสาะเพาะรักจน ...... เหนื่อยล้า
ทำการสืบสานผล ......... ว่างเปล่า
พลั้งต่อหมายใจท้า ....... ยิ่งเร่งหวังเคียง

1 0 3 1 3 ..... 1 4
4 1 3 3 0 ..... 1 3
0 0 1 4 4 ..... 2 1
3 1 4 0 3 ..... 2 2 4 0

เสียงสารกานท์กล่อมถ้อย ...... ผายใน อกเอย
ปีนป่ายหมายการณ์ไกล ....... ออดอ้อน
ห่วงหาอย่าผลักไส ............... ชวนคู่
ฝันใฝ่ใครขานป้อน .............. นิ่มน้องนวลขอ

4 4 0 1 2 ..... 4 0  1 0
0 1 4 0 0 ..... 1 2
1 4 1 1 4 .....  0 2
4 1 0 4 2 .....  2 3 0 4


คุณโอเลี้ยง(ญามี่)

4 0 4 2 2 ...... 0 0  
4 2 0 3 0 ...... 2 2
4 4 2 1 4 ...... 0 1  
4 2 3 0 2 ...... 1 2 4 4

เหมือนญาณขานเร่าต้อน ... อารมณ์
ขุมรื่นมาพิศชม ................ ล่อข้าง
สวนศรีร่ำผสม .................. ราวเอ่ย
ไหวครุ่นรักนัยอ้าง ............ ส่งป้อนหวานสรรค์

ผันรอยเสริมเพิ่มด้วย ........ อาทร
สุมซ่อนใยรักตอน ............ เนิ่นเฝ้า
หวงหาเยี่ยมขับหลอน ....... ในจิต
ไหนค่ำวักวายเศร้า ........... อยากใกล้หอฝัน

"ผวนลีลาบรรเลง"

หมองปานหลงคู่ข้าง .............. มารปอง
ผล็อยท่ามเมาเคราะห์นอง ...... พล่ามถ้อย
หนาวผลาญยื่นสนอง ............. นานผ่าว
สอยซุ่มระบมห้อย ................. สุ่มสร้อยเหมือนเหลา

เหงาลมผายแพร่ด้วย ............ งมเลา
ไหลมากในทุกข์เงา ................ ลากไหม้
ถูแขนช่วงโศกเหมา ............... แทนขู่
ผายซ่อนชะลอไข้ .................. ผ่อนใส้เผาถม

ขมลวงฝืนชื่นแก้ ................... ควงลม
เฉาท่องไยมิพรม .................. ช่องเถ้า
สางหาวยากผลักถม .............. เซาห่าง
หวังแทรกทุกข์ยืนเฝ้า ........... แหวกสร้างฝอยฝน


คุณเพชรปรี

พจน์รำพันเก่งกล้า ....... กลโคลง ยิ่งนา
ชอบมุ่งหลักจรรโลง ..... เล่าล้วน
เป็นคุณแก่การโยง ....... เยี่ยง เพื่อ
สานต่อสืบหลักถ้วน ...... ถ่องแท้เชิงโคลง

3 0 0 1 2 ..... 0 0  2 0
2 2 1 0 0 ..... 2 3
0 0 1 0 0 ..... 2 2
4 1 1 1 2 ..... 1 3 0 0

เป็นคุณนักแก่พ้อง ........... พวกรัก   โคลงแฮ
เพราะต่อสืบเชิงชัก .......... ช่วยให้
เยาว์ชนรุ่นหลังจัก ........... แจ่มเรื่อง    
โคลงรุ่งกลอนโรจน์ได้ ...... ด้วยผู้รักกวี

0 0 3 1 3 ..... 2 3  0 0
3 1 1 0 3 ..... 2 2
0 0 2 4 1 ..... 1 2
0 2 0 2 2 ..... 2 2 3 0


คุณดอกบัว

เกลาพจน์พลิ้วลิ่วล้ำ ..... เรืองนาม
เรื่อยเรื่อยรับซับยาม ..... จ่อมไว้
มุ่งหมายยิ่งคำงาม ....... หมายชื่น โสตนา
ยิ่งมั่นไพเราะให้ .......... เพื่อนพ้องเคียงผสม

0 3 3 2 3 ..... 0 0
2 2 3 3 0 ..... 1 3
2 4 2 0 0 ..... 4 2  1 0
2 2 0 3 2 ..... 2 3 0 4

ฝึกฝนโคลงเพ่งถ้อย ........ ทวนถวิล
เพียรใฝ่สัมผัสจินต์ .......... เร่งรู้
เผยพจน์ผ่านเรืองศิลป์ ..... ศาสตร์ท่อง จำแล
มาร่วมเรียงเร่งรู้ ............. รื่นเร้าสำราญ

1 4 0 2 2 ..... 0 4
0 1 4 1 0 ..... 2 3
4 3 1 0 4 ..... 1 2  0 0
0 2 0 2 3 ..... 2 3 4 0

จักเพียรโคลงสี่ดั้น ..... ขานขับ
ควักไขว่หมายขยับ ..... ร่ำร้อง
ขณะแต่งบังคับ .......... เคียงคอร์ด
มิห่อนคิดผิดข้อง ........ แน่แท้เพี้ยนคำ

1 0 0 1 2 ..... 4 1
3 1 4 1 1 ..... 2 3
1 1 1 0 3 ..... 0 1
3 1 3 1 2 ..... 2 3 3 0

วิชาโคลงยากแท้ .......... ไขขาน
เสียงย่อมวกวนกานท์ ..... บ่งพร้อง
ใฝ่เพียรร่ำชำนาญ .......... ยากอยู่ จริงนา
จำพึ่งไขว่คว้าคล้อง ....... คู่ก้องเคียงผสาน

3 0 0 2 3 ..... 4 4
4 2 3 0 0 ..... 1 3
1 0 2 0 0 ..... 2 1  0 0
0 2 1 3 3 ..... 2 2 0 4
.				
16 ธันวาคม 2552 23:24 น.

~ โคลงกลบท อักษรล้วนล้วน ~ เฌอรัก ~

พจน์รำพัน

.

~ โคลงกลบท อักษรล้วนล้วน ~ เฌอรัก ~
( โคลงกลบท ๘ )

      การเขียนกลบทโคยใช้พยัญชนะต้นตัวเดียวกันตลอดทั้งบท หรืออาจต่อเนื่องไปหลายบทนั้น  มีรูปแบบการเขียนเหมือนต่อยอดมาจากกลบทอักษรล้วนที่มีมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งจะล้วนเฉพาะในแต่ละวรรคกลอน หรือแต่ละบาทโคลงเท่านั้น  เมื่อมีความแตกต่างกันก็น่ามีชื่อเรียกให้ชัดแจ้ง  เคยอ่านการเขียนอักษรล้วนทั้งบทหลายที่ ก็ไม่พบว่ามีชื่อเรียกเฉพาะแต่อย่างใด  จึงขอเรียกให้เฉพาะเจาะจงไปเสียเลยว่า "อักษรล้วนล้วน" เพื่อให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันว่า เป็นแบบล้วนทั้งบท หรือต่อกันไปหลายบท

      สำหรับการเขียนโดยใช้พยัญชะที่มีเสียงเหมือนกัน เช่น ข-ค-ฆ   ซ-ทร-ศ-ษ-ส   ผ-พ-ภ  ปนอยู่ด้วยกันในบท  ก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่ยังไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ   ดูๆแล้วแบบนี้น่าเรียกว่า "อักษรเสียงล้วน" ครับ


~ รักรุกข์รอมร่มรื้น ..... รายเรียง
เร้ารื่นรมย์ร่ำเรียง ......... รจน์ร้อย
รวยรินระเรื่อยเรียง ....... รวงเรข
ร้องเรียกรักร่วมร้อย ...... ร่ายร้องเรื่องราว

~ รักรุกข์รุกรักษ์รั้ง ....... รุกราน
ราญรุกข์รุกข์ราบราน ..... ร่อยร้าง
ร้างรุกข์เรื่องร้ายราญ ...... ระเรื่อย  ระเรื่อยรา
ร้อนเร่งแรงเร่งร้าง .......... รีบรู้รณรงค์


~ คำโคลงควรคล่องคล้อง ....... คมความ
โคลงคลุกควันคลุมคาม ........... คละคลุ้ง
คำคราญคละโครมคราม ......... คละคล่ำ
ความครากคาแควคุ้ง .............. ควั่งคว้างโคลงเคลง

~ ครูเครงคุยครอบคล้าย ..... ใคร่ครวญ
ความคิดเคลือบแคลงควร ...... คัดค้าน
คนครุ่นคิดโคลงควณ ........... ครบเครื่อง
คึกแค่ครื้นคงคร้าน .............. ใคร่ค้อมใครครู

~ ครูคราวเคยแค่คุ้น ......... คนคราญ
เครียวใคร่คนโคลงควาน ..... ควับคว้า
ควักคว้างคว่ำคลุกคลาน ...... คลาดเคลื่อน
เคอะแค่นคำเคยค้า ............ โค่งโค้งโคลงครวญ

~ ใคร่ครวญคำคดเคี้ยว ...... เคราคาง
คนคบคุยคอมฯคราง ........... ค่อยค้อย
ครูเคยแค่นใครคลาง ........... แคลงครอบ
คราครุ่นคาคั่งคล้อย ............ คั่งค้างคลางแคลง

~ คุณคอมฯคุณค่าค้ำ ..... เคียงครู
ครูเคิ่ล*คือคุณครู ............ คล่องค้น
ค้ำคนคลี่คุยคู ................. คลุกครู่
คราแค่คำคลิกค้น ............ คล่ำคล้องครูความ ( * ครูเคิ่ล = Google )

~ ครืนครืนคราคลื่นครื้น ..... เครงครา
คลาคล่ำคลอเคลียคลา ........... เคลื่อนคล้อย
ครวญครางเคลิบเคลิ้มคา ....... คืนค่ำ
คำคลื่นครวญค่อยค้อย .......... ครุ่นคล้ายใครคราง

~ ครวญคร่ำคราเครียดค้อน ..... เคืองใคร
คราวเคราะห์คลุมคล้ายใคร ........ คั่นคั้น
คอยคล้อยเคลื่อนคลาไคล .......... แคล้วคลาด
ความคลี่คลายคืบครั้น ............... ค่อยคว้าครอบครอง


      การเขียนกลบทไม่ว่าจะเป็น อักษรล้วนล้วน หรือ อักษรเสียงล้วน ก็ตาม  พึงหลีกเลี่ยงการใช้คำสองพยางค์ที่ใช้พยัญชนะเสียงอื่น เพราะเหตุว่าเมื่ออ่านแล้วรู้สึกได้ว่าสะดุด  ลองพิจารณาตัวอย่าง

( 1 )  หรีดหริ่งเรไรภิรมย์ ..... รื่นร้อง     ภิ  เสียงลหุ  เป็นลูกเก็บ
( 2 )  หรีดหริ่งเรไรระงม ...... ร่ำร้อง    งม  เสียงครุ  นับเป็นพยางค์โคลง

      มองในเชิงของการเขียน ตัวอย่างที่ 1 ดูดีกว่า 2 แต่เมื่ออ่านออกเสียงแล้วก็รู้สึกสะดุดพอกัน  ว่าไปแล้วสำหรับกลบทนี้ การใช้คำรับสัมผัสที่ซ้ำคำกันหรือจะให้รับสัมผัสเลือน ยังจะน่าสนใจเสียกว่าที่จะให้แปลกเสียง  ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นเท่านั้น  เชิญท่านลองเขียนดูครับ ท่านอาจสนุกกับกลบทนี้อย่างนึกไม่ถึง


อักษรล้วนล้วน

คุณดอกบัว

เกาะเกลากลอนกิ่งกว้าง ....... เกรียงไกร
กรองกลุ่มกลแกว่งไกว ........ เกี่ยวก้าน
กอบกลก่องกานท์ไกล .......... กุมกก
ก้าวกิ่งแกมกรอกกร้าน ........ แกร่งใกล้กลัวเกรง

ขีดเขียนขับข่มข้อง ......... ขลังขาน
ขลุกขลุ่ยข้นขับขาน ......... ข่มข้อ
ขอนเข้าแข่งเข็นขาน ....... ขวักไขว่
ขานขู่เข็นขับข้อ .............. ข่มไข้แข็งขืน
  
คิดโคลงคลีคืบคล้อง ......... คำคลอ
ค้นเคร่งโคลงคับคอ .......... ใคร่ค้ำ
ครวญคำแค่คืบคลอ ........... คละครอบ
เคลิ้มเคร่าเค้นโคลงค้ำ ....... ครั่นคร้านครามครัน


คุณเพียงพลิ้ว : เพียงพอ

เพลิดเพลินพจน์พากย์พลิ้ว ....... พาพัน
พักตร์พี่พราวแพรวพรรณ ........ เพ่งพริ้ม
พิศพรรคเพื่อนพงศ์พันธุ์ .......... พานพึ่ง
เพราเพริศพบเพชรพริ้ม ........... พร่ำเพ้อเพียงพอ

... แกมกานท์

ไกลเกรียวกราวกล่อมก้อง ........ แกมกานท์
กอกลิ่นกลมเกลียวการ ............ เกาะเกี้ยว
เก็บกลอนแก่กรองกานต์ .......... เกลากลั่น
ไกวกรุ่นกรูกลเกี้ยว ................. กิ่งแก้วกอดกลืน
 

คุณแก้วประเสริฐ

คิดคว้าครองคละคลุ้ง .......... คลอนแคลน
คาดเครื่องค้นครบแคน ........ ค่อนค้าน
คลายเคียงครบคงแคลน ....... เคียงคู่
ความคิดเคลียคงคร้าน ......... ครบค้นคงคลาย.


คุณก้าวที่...กล้า

ชมชวนชมช่างช้อย ....... เชิญชวน
ชูช่อชันชักชวน ............ ช่วงใช้
ชนเชยชิดช่ำชวน .......... ชมชอบ
ชอมชื่นเชอเช่นใช้ ......... ชื่อเชื้อชวนชม

ชมชายชาญเชี่ยวชั้น ...... เชิงชาย
เช่าช่วงเชิดชูชาย .......... ช่วยเชื้อ
ชวนชิดเชื่อมเช่นชาย ..... ชาญเชี่ยว
ชูช่อชวนชมเชื้อ ............ เช่นชู้ชัวชม

ชมชัวเช่นช่วงเช้า .......... ชุ่มชล
ชรชดช่ำชองชน ............ ชระใช้
โชติช่วงช่วยเชาวน์ชน .... เชียรช่อง
ชมชอบชมเชยใช้ .......... ชุ่ยเชี้ยชวนชม

ชมชวนชมชดช้อย ......... ชันชัย
ชวยชื่นเชยชิดไชย ......... ช่วงชื้อ
ชูช่อเชิดชมไช ............... ชีพชิต
ชนชอบเช่นชลชื้อ ........... ชระใช้ชื่นชม 


อักษรเสียงล้วน

คุณสุรศรี

รักเราเรารักแล้ว ....... รักเลย
รักร่าเริงเราเลย ........ รักร้อน
รักรักรักรักเลย .......... เรารัก
เรารักรักเราร้อน ....... รักไร้โรยรา


คุณอัลมิตรา

.....โคลงคมเคียงครั่นครื้น- ....... เครงความ
ครวญคร่ำคลายขลาดขาม ........ ขุ่นข้อง
โคลงคราญครั่นคุกคาม ............ ครวญใคร่
ครัดเคร่งโคลงเคียงคล้อง ......... คึกครึ้มขีดเขียน ฯ


คุณเพียงพลิ้ว : เพียงพบ

เพียงพานพบพักตร์พริ้ม ........ พรั่นเพริด
พิศเพ่งพรรณเพลินเพลิด ....... ภักดิ์พร้อม
พิงเพลาพี่พราวเพริศ ............ พลอดพร่ำ
เพลงพัดพิณพรมพร้อม ......... พาดพลิ้วพึงพัน
				
2 ธันวาคม 2552 11:12 น.

~ โคลงขำขำ R ~ เสียงโห่ทาร์ซาน ~

พจน์รำพัน

n71xsy.jpg

.
~ โคลงขำขำ R ~ เสียงโห่ทาร์ซาน ~
( โคลงขำขำ ๙ )

.. ดูหนังแต่เด็กน้อย .......... นึกถึง
เจ้าป่าทาร์ซานตรึง ............ ติดต้อง
เหตุไฉนเล่าเขาจึง ............. กระโจนโห่
โหนแกว่งเถาวัลย์ก้อง ........ กู่สะท้อนพงไพร

.. จนได้ผ่านรับรู้ ............... เรื่องราว
อันบอกเหตุเกรียวกราว ...... กู่ไซร้
เล่าสืบทอดกันยาว ............. อย่างสนุก
จึงจักจารโคลงไว้ .............. ว่าแท้เป็นไฉน

.. ยามบ่ายในป่าครึ้ม .......... เขียวขจี
ธรรมชาติชื่นบานมี ............. แมกไม้
เถาวัลย์หลากหลายสี ........... สดแก่
เกาะเกี่ยวพันเกลียวไว้ ......... หย่อนห้อยระโยงระยาง

.. กลางธารรินทอดเลื้อย ..... ราวงู
มีแอ่งน้ำตกดู ..................... เด่นสล้าง
เจนสาวป่าตาตรู ................. ลงเล่น
เวียนว่ายดำผุดบ้าง ............. สะบัดน้ำเริงสราญ

.. ทาร์ซานเจ้าป่านั้น ......... เหนื่อยหนา
นอนงีบอยู่บนคา ................ คบไม้
เจ้าจ๋อคู่หูตา ...................... ปริบปริบ
อยู่ฝั่งเป็นยามให้ ............... แห่งนั้นระวังระไว

.. ทันใดจระเข้ .................. ขนาดยักษ์
ว่ายรี่ตรงมามัก .................. มุ่งร้าย
เจ้าจ๋อโดดร้องกวัก ............. เจี๊ยกลั่น
เจนตกใจวี้ดว้าย ................ หวีดร้องลนลาน

.. ทาร์ซานผลุนลุกขึ้น ........ คับขัน
พุ่งเกาะสายเถาวัลย์ ............ กิ่งใกล้
โยนตัวสู่เจนพลัน ............... เพรียกบอก
คอยยื่นมือชูให้ .................. หักห้ามตื่นกลัว

.. แล้วหย่อนตัวจับข้อ ......... แขนขวา
รั้งร่างเจนรอดมา ............... จากเงื้อม
เธอห้อยต่องแต่งถลา .......... กระเท่เร่
ฉุกละหุกมือซ้ายเอื้อม ......... แอ่นคว้าพัลวัน

.. ทาร์ซานครันจุกซึ้ง ........ ซ่านเสียว
ห่อปากร้องลั่นเกรียว .......... กู่ก้อง
พาเจนสู่ฝั่งเซียว ................ ซีดเผือด
ทรุดเข่ามือกุมท้อง ............. ถอดหน้าเป็นนาน

.. เหตุการณ์นี้แน่นแฟ้น ..... ฝังใจ
ยามเกาะเถาวัลย์ไกว ........... แกว่งโล้
มักรู้สึกปวดใน .................. เนื้อวาบ
ต้องโห่ฮี้โห่โฮ้ .................. โห่โฮ้ยยยโอยโอย

.				
2 ธันวาคม 2552 11:12 น.

~ โคลงกลบท พจน์กำจร-พจน์กำจาย ~ ซึ้งรัก ~

พจน์รำพัน

free_holiday_fireworks_screensaver_28494


~ โคลงกลบท พจน์กำจร-พจน์กำจาย ~ ซึ้งรัก ~
( โคลงกลบท ๘ )

      กลบทนี้นับว่าแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับกลบทต่างๆที่เคยผ่านตามา ซึ่งจะบังคับซ้ำคำ ซ้ำเสียงพยัญชนะ ซ้ำเสียงสระเป็นต้น  กลบทชุดนี้ขอพาท่านไปในครรลองที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ  "พจน์กำจาย" ห้ามซ้ำยัญชนะ  "พจน์กำจร" ห้ามซ้ำสระ เว้นแต่ตำแหน่งสัมผัสตามฉันทลักษณ์  และ  "พจน์กำจรกำจาย" บังคับทั้งสองประการพร้อมกัน

      อาจมีข้อสงสัยว่าบังคับแบบนี้ โคลงจะมีความไพเราะหรือ ข้อนี้ตอบได้เลยครับว่าไม่ได้เท่าที่ควรแน่นอน แต่บังคับของกลบทชุดนี้จะชวนท่านหลุดพ้นจากความเคยชิน และครุ่นคิดไปถึงคำในบางพยัญชนะ บางเสียงสระซึ่งท่านห่างเหิน  มีประโยชน์หลายประการครับ สุดแท้แต่เวลาที่จะอำนวยให้

พจน์กำจาย

      บังคับห้ามซ้ำพยัญชนะ แต่ไม่ใช่ห้ามซ้ำเสียง พยัญชนะ ๔๒ ตัว สามารถใช้ได้ทั้งหมด  คำที่ใช้ ทร ออกเสียงเป็น ซ ยกให้หนึ่งคำ  กรณีพยางค์หลุ นับเฉพาะที่ใช้เป็นพยางค์คำในโคลง แต่ถ้าเป็นพยางค์ลูกเก็บไม่นับ บางกรณีก็มีทางเลือกได้ เช่น

เพียงวิจารณ์หยอกกระเซ้า ....... ผสมประทุษ

(เพียง)(วิ)(จารณ์)(หยอก)กระ(เซ้า) ....... ผ(สม)ประ(ทุษ)
กระ, ผ, ประ  เป็นพยางค์ลูกเก็บ  เท่ากับใช้พยัญชนะ  พ-ว-จ-ย-ซ ..... ส-ท

(เพียง)วิ(จารณ์)(หยอก)(กระ)(เซ้า) ....... ผ(สม)ประ(ทุษ)
วิ, ผ, ประ  เป็นพยางค์ลูกเก็บ  เท่ากับใช้พยัญชนะ .. พ-จ-ย-ก-ซ ....... ส-ท

ตัวอย่าง

~ ซึ้งรักฉลักถ้อย ..... กำจาย
โฆษิตไวพจน์ผาย ...... ภาคข้น
หาฝันชื่นโอบสาย ...... ธารศัพท์
ปองมั่นฤทัยค้น .......... ณ เบื้องฟ้างาม


พจน์กำจร

      บังคับห้ามซ้ำสระ ยกเว้นในตำแหน่งคำรับสัมผัส ซึ่งสระทั้งหมดมี ๓๒ เสียงเมื่อยังไม่มีตัวสะกด บังคับของกลบทนี้จึงให้ใช้คำที่มีตัวสะกดของสระแต่ละเสียงได้อีกเพียงหนึ่งคำ และใช้ -รร  ได้หนึ่งคำ  กรณีพยางค์หลุ นับเฉพาะที่ใช้เป็นพยางค์คำในโคลง แต่ถ้าเป็นพยางค์ลูกเก็บไม่นับ บางกรณีก็มีทางเลือกได้ เช่น

เพียงวิจารณ์หยอกกระเซ้า ....... ผสมประทุษ

(เพียง)(วิ)(จารณ์)(หยอก)กระ(เซ้า) ....... ผ(สม)ประ(ทุษ)
กระ, ผ, ประ  เป็นพยางค์ลูกเก็บ  เท่ากับใช้สระ
เอีย+, อิ, อา+, ออ+, เอา ........ โอะ+, อุ+

(เพียง)วิ(จารณ์)(หยอก)(กระ)(เซ้า) ....... ผ(สม)ประ(ทุษ)
วิ, ผ, ประ  เป็นพยางค์ลูกเก็บ  เท่ากับใช้สระ
เอีย+, อา+, ออ+, อะ, เอา ........ โอะ+, อุ+

สระ ๓๒ เสียงมีดังนี้

อะ อา อิ อี อึ อื อุ อู
เอะ เอ เออะ เออ โอะ โอ แอะ แอ เอาะ ออ
เอียะ เอีย เอือะ เอือ อัวะ อัว
ฤ ฤๅ  ฦ ฦๅ อำ ไอ ใอ เอา

ตัวอย่าง

~ ซึ้งทรวงยามจิตฟุ้ง ..... กำจร
พิเคราะห์แผกพจน์ทอน ...... เทือกเฟ้น
เสียงสระเยอะแยะหลอน ..... เหลือที่
โคลงรักมัวเมาเค้น .............. แค่เพ้อพอไฉน

เสียงสระในบทนี้คือ ( +แทนตัวสะกด )

อึ+ อัว+ อา+ อิ+ อุ+ .......... อำ (ออ+)
อิ เอาะ แอ+ โอะ+ (ออ+) ..... เอือ+ [เอ+]
เอีย+ อะ เออะ แอะ (ออ+) ........ เอือ อี
โอ+ อะ+ อัว เอา [เอ+] .......... แอ เออ ออ ไอ


พจน์กำจรกำจาย

     กลบทนี้รวมบังคับของ พจน์กำจาย และ พจน์กำจร เข้าด้วยกัน

ตัวอย่าง

~ ซึ้งใจเธอผูกพ้อง ..... ภารโคลง
เนื่องดุจสัญญาโยง ..... ห่วงเฝ้า
งำเขียนแต่งชื่นโมง ..... ประณีต
ฤๅฤทธิ์เวทย์กลเร้า ..... ประลุแท้เถิงไฟ


      บังคับของกลบททั้งสามนี้ ไม่มีลักษณะเด่นที่สังเกตได้ ทั้งไม่ส่งเสริมความไพเราะ จึงดูไม่น่าสนใจ แต่เป็นเสมือนกลทดสอบ ให้ท่านได้ประลองตนเอง จะว่าเป็นเกมก็ปาน  ท่านจะผ่านด่านไหน  ด้วยความพึงพอใจเพียงไร

ขอตั้งหัวข้อไว้ให้ว่า "หนาว" ครับ


คุณก้าวที่...กล้า

ท่านพจน์ช่างเลือกเฟ้น ...... วางกล
เปิดอักษรดังมนต์ .............. เสกถ้อย
ฌานเธียรแยบต่อผล .......... งามจิต
เขียนศาสตร์บนฐานร้อย ..... ฝากให้คิดหนาว
( พจน์กำจาย )

เพิ่งก้าวเข้าชิดใกล้ ............ คำโคลง
เมื่อเตาะแตะตรึกโยง ........ ยุ่งแก้
เลือกสระผูกผสมโรง .......... เสนอง่วน
พะนอลักษณ์ขีดเขียนแล้ .... ชื่นพ้องบัวสวรรค์
( พจน์กำจร )

บุหลันงำเฉิดห้วง ............ เพ็ญโพยม
รอจะอธิษฐานโอม ........... ก่องเชื้อ
สรรค์ภพซึ่งเทียบโถม ....... แขแต่ง                
เหมือนผูกฤดีอะเคื้อ ......... ใฝ่ปลื้มฤๅไฉน
( พจน์กำจรกำจาย )


คุณเพียงพลิ้ว

หนาวไหมถามผ่านฟ้า ..... ฝากดาว
อยากอุ่นเก็บใจพราว ....... ห่มไว้
โปรยรักฉ่ำทุกคราว ......... ภาษซ่าน
งามชื่นบอกขานไล้ ......... สร่างเศร้าธารตรม
( พจน์กำจาย )

เพียงเพราะเพลินพจน์พลิ้ว .... หนาวใจ
แสวงอุ่นคลออวลไอ .............. ผึ่งเนื้อ
เจอะโศกอยู่รำไร .................. เช่นเก่า
ฤาขื่นเหน็บอะเคื้อ ................ แค่เพ้ออาวรณ์
( พจน์กำจร )

หมดบุญเหลือขื่นให้ ........... เอ่อหนาว
เฝื่อนค่าภักดีพราว .............. เปลี่ยวซ้อน
ไฟเหงา ณ ทรวงสาว .......... โถมแผด
ทูนเชิดแต่เจ็บร้อน ............. โธ่!ย้ำเกาะหญิง
( พจน์กำจรกำจาย )
.				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟพจน์รำพัน
Lovings  พจน์รำพัน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟพจน์รำพัน
Lovings  พจน์รำพัน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟพจน์รำพัน
Lovings  พจน์รำพัน เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงพจน์รำพัน