5 ตุลาคม 2550 18:21 น.
ปลายตะวัน
สังคหวัตถุแผ้ว ผ่องธรรม
สี่ประการกุศลกรรม ก่อเกื้อ
คือเครื่องยึดเหนี่ยวนำ มิตรภาพ
น้ำจิตน้ำใจเอื้อ โอบอุ้มพิภพสถานฯ
(1.ทาน )
ทานคือเสียสละแม้น ทรัพย์ตน
ละละโมบฉ้อฉล ชั่วช้า
มิหวังเพื่อพึงผล เพียงประโยชน์ ตนเฮย
พลีทรัพย์ ณ เมื่อหน้า เมื่อนี้สุขสนองฯ
(2.ปิยวาจา)
ปิยพจน์โอษฐ์เอื้อน วจี
อดหยาบหยามพาที อวดอ้าง
เว้นส่อเสียดเสียศรี ทุศีลบาป
สานสืบสัมพันธ์สร้าง มิตรแม้นโลก-สวรรค์
(3.อัตถจริยา)
บำเพ็ญสงเคราะห์ให้ แก่ชน
รู้ช่วยบำเรอผล โลกหล้า
ยังประโยชน์ทุกหน ทุกแห่ง
คนย่อมใคร่คบค้า ครึกครื้นทุกสมัยฯ
(4.สมานัตตตา)
ประพฤติดีแต่ต้น จนปลาย
สม่ำเสมอใจกาย ทั่วถ้วน
ละเว้นอัตตาคลาย อคติ
รู้ตริรู้ตรองล้วน โลกนั้นสรรเสริญฯ
นรชนแลโลกนี้ อนิจจัง
เงาบาปเงาบุญบัง บ่มไซร้
ชาติภพย่อมสิ้นสัง- ขารที่ สุดนา
บังบาปเบิกบุญไว้ บ่มบ้างบ่เสียหลายฯ
หมายเหตุ
สังคหวัตถุธรรม หมายถึง หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น
ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน
มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่
1. ทาน คือ การให้ การเสียสละ หรือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆตน
เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว
ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ
ไม่เห็นแก่ตัว เราควรคำนึงอยู่เสมอว่า ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้
มิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้
2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ
ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ
พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการพูดเป็นอย่างยิ่ง
เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น
วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น จะต้องพูดโดยยึดถือหลักเกณฑ์
ดังต่อไปนี้
-เว้นจากการพูดเท็จ
-เว้นจากการพูดส่อเสียด
-เว้นจากการพูดคำหยาบ
-เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
3. อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิดหรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย
คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล
รวมทั้งยังเป็นการสร้างความนิยม และไว้วางใจให้แก่ผู้อื่น