24 พฤศจิกายน 2551 08:04 น.
ประภัสสุทธ
บ้านหนองผักบุ้งคือชื่อแรกเริ่มบ้านฟองใต้ เดิมทีพื้นที่บริเวณนี้ปกคลุมด้วยป่าหนาและภูเขา มีสัตว์ป่าน้อยใหญ่มากมาย มีลำน้ำใหญ่ไหลเย็นผ่าธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้เคียงรู้ดีว่าแถวนี้เป็นป่าพรั่งพร้อมด้วยอาหารจากขุนเขา พวกเขายกย้ายครัวเรือนมาตั้งรกรากที่นี่ต่อมา ปีนั้นตรงกับ พ.ศ. ๒๕๐๕
จากนั้นจึงเริ่มสร้างบ้านด้วยมือใช้ไม้จากป่าทั้งหมดมีการถากถางพงรกด้วยจอบเสียมเพื่อใช้เป็นที่ปลูกพืชเอาไว้กิน เวลานั้นมีเรือนอยู่ ๔ หลังที่บุกเบิกบ้านป่าแห่งนี้ พวกเขาทำไร่ข้าวตามเชิงเขาที่รกด้วยต้นไม้ ต้องตัดไม้ลงด้วยมีดตีเอง บ้างก็เอาไม้นั้นไปต่อเติมบ้าน บ้างก็เอามากองรวมเอาหญ้าสดทับเอาดินกลบเผาเป็นถ่านใช้ หรือไม่ก็ปล่อยทิ้งไว้ให้เหี่ยวแห้งแล้งไปเฉยๆ
ได้พื้นที่โล่งจนพอใจ ก็เอาเสียมเซาะ ๆ เป็นหลุมเป็นบ่อพอหยอดเมล็ดข้าว ทยอยทำอย่างเดียวกันนี้ไปจนสุดที่ไร่ซึ่งถากไว้ แล้วก็ปล่อยไว้ให้ฝนหยดเลี้ยงเมล็ดใต้ดิน ชาวบ้านไม่ได้ขุดสระเพราะมีสายน้ำพองเอ่อล้นไหลเต็มธาร อีกทั้งพื้นที่ไม่อำนวยให้ขุดได้ บางแห่งมีหินภูเขาทั้งเล็กใหญ่ขึ้นระเกะระกะและหน้าดินก็เอนขึ้นชันลงไม่ได้เลียบเหมือนพื้นทุ่งแถวทุ่งกุลาร้องไห้ พวกเขาอยู่ดีกินดีตามอัตภาพ ตามความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ห้าปีให้หลังมีเรือนเพิ่มขึ้นกว่าสิบเรือน ที่มาอยู่ใหม่นั้นก็มาตามญาติพี่น้องของตน บางเรือนก็ยากแค้นจากถิ่นฐานบ้านเดิม เทียวมาพึ่งพาป่าไม้และภูเขา เวลานั้นการเมืองการปกครองยังไม่มี ผู้ใหญ่บ้านจึงไม่มี โดยอยู่ใต้ปกครองจากผู้ใหญ่บ้านวังกวาง ( ปัจจุบันบ้านวังกวาง เป็นตำบลแล้ว )
หมู่บ้านเริ่มอุ่นหน้าฝาคั่งเรื่อยมา จนเกิดเป็นหมู่บ้านฟองใต้ ที่เรียกฟองใต้นั้น เห็นว่ามีสายน้ำพองไหลหลั่งอยู่ใต้หมู่บ้าน ส่วนฟองเป็นภาษาถิ่นใช้เรียกแม่น้ำพอง
ปี ๒๕๒๔ จึงมีการเมืองการปกครองขึ้น พ่อผู้ใหญ่หอม ขวัญแจ่มถูกเลือกเป็นนายบ้านคนแรกของบ้านแห่งนี้ เมื่อคราวนั้น ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ) ยังเดินขวักกันอยู่เต็มป่า บางทีมาขอพักอาศัยกับชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่ได้เกรงกลัวแม้พวกนั้นจะถือปืนกระบอกกันอยู่ทุกคน เพราะพวกเขามาอย่างมิตรทางการคงคิดว่าความเจริญจะนำไปจับพวก ผกค. ได้ไวขึ้นด้วยเหตุนี้กระมังบ้านฟองใต้จึงได้ใช้ไฟฟ้าเป็นบ้านแรกท่ามกลางหมู่บ้านละแวกใกล้เคียงผู้ใหญ่บ้านพาลูกบ้านแบกจอบถือเสียมเตรียมกระบุงไปขุดป่าเพื่อปรับถนนให้รถขนเสาไฟฟ้าจากทางการเข้ามาได้ ที่เป็นป่าก็ปล้ำล้มลงจนเป็นทาง ตรงดินที่หล่มเลวก็นำหินลูกรังมาถมอย่างดี ทำอยู่กึ่งเดือนได้ถนนดินกว้างพอที่รถยนต์เข้าถึงยาวเก้ากิโล
เมื่อไฟฟ้าไสวสว่างวอมแวมขึ้นทุกหลังทุกเรือน ไม่นานหมู่บ้านก็ขยายขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านยังปลูกข้าวไร่แซมด้วยข้าวโพดและเริ่มเลี้ยงวัวควาย ลูกเล็กเด็กแดงไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนต่อเมื่อปี ๒๗ มาจึงเกิดโรงเรียนขึ้นมีนักเรียนจาก ๒ หมู่บ้านเดินทางมาเรียนที่นี่ คือบ้านฟองใต้กับบ้านไร่ใต้ โรงเรียนนั้นตั้งอยู่ดินบ้านฟองใต้มีครูสอนประจำอยู่คนเดียวคุมนักเรียนทั้งโรงเรียนกว่า ๒๐ คน คนรุ่นหลังต่อ ๆ มาจึงได้รู้หนังสือบ้าง
เวลานั้นน้ำที่ใช้สอยยังกินอาบกับสายน้ำพองอยู่เสมอเหมือน ใช้น้ำฝนบ้างหากบ้านใดมีโอ่งรองเก็บไว้ อีกหกปีผ่านมาชาวบ้านจึงได้งบจาก อบต.ซื้อท่อพีวีซีต่อจากน้ำผุดภูเขาลงมาเรียกว่าประปาภูเขา
หมู่บ้านฟองใต้เริ่มเป็นที่รู้จักกับคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง เหตุเพราะในปี ๔๕ นี่เองที่ผู้นำหมู่บ้านประสานกับทางการขอเปิดเส้นทางขึ้นภูกะดึงสายใหม่ จึงเกิดแหล่งท่องเที่ยวนำพาเศรษฐกิจต่าง ๆ มาสู่ชาวบ้านฟองใต้ ด้วยรู้จักมักคุ้นกับเจ้านายใหญ่ข้างใน สื่อมวลชนทั้งหลายจึงโคมข่าวกันทั่วประเทศต่อการเปิดหนทางสายใหม่ขึ้นสู่ภูกระดึงอย่างเป็นทางการในวันแรก ระยะทางจากตีนภูกระดึงสายใหม่ขึ้นสู่ทางเดินเท้าสู่หลังแปหลังซำถึงผาล่มสักดูอาทิตย์ลับตาไกลเพียงสี่กิโลครึ่ง ใช้เวลาเดินก็สักสามชั่วโมงใกล้กว่าเส้นทางสายเก่าถึง ๑๓ กิโล
ผู้ใหญ่มีการจัดการที่ดีด้วยเข้าหาเจ้าใหญ่นายโต เพียงแค่ ๓ ปีจึงมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลขึ้นภูปีหนึ่งไม่ต่ำกว่าสองพันคน ชาวบ้านหัวไร่ปลายนาพลอยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวนี้ด้วย ทั้งลูกหาบเอย ร้านรวงเอย อีกบางกลุ่มทำของที่ระลึกขายด้วยก็ดี ไม่เฉพาะหนทางขึ้นภูกระดึงเท่านั้นละแวกหมู่บ้านฟองใต้ยังมีที่น่าชมอีกหลายแห่ง อย่างน้ำตกตาดร้องหรือแห่งห้วยสาขาต่าง ๆ ที่ไหลรัดล้อมเทือกผาเหล่ากอก่อเป็นวนนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย
ปัจจุบันบ้านฟองใต้ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ขึ้นตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เรือนอยู่อาศัยมีทั้งหมดประมาณ ๖๓ หลัง ส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวเหนียว ไร่ข้าวโพด ไร่ผลไม้ตามเนินเขาเตี้ย ๆ และเลี้ยงวัวควายตามตีนเขาไปจนถึงเชิงเขาในเขตป่าชุมชนของหมู่บ้าน โรงเรียนมีหนึ่งแห่งตั้งอยู่ภายในหมู่บ้าน มีครูประจำชั้นทั้งหมด ๔ คน ผู้อำนวยการโรงเรียนอีกคน มีนักเรียนจากบ้านฟองใต้และบ้านไร่ใต้มาเรียนทั้งหมด ๔๔ คน
มีวัดอยู่ ๒ แห่ง ทั้งสองแห่งเป็นวัดป่าวัดหนึ่งตั้งอยู่ห่างจากกลางบ้านประมาณ ๕๐๐ เมตร มีพระจำพรรษาอยู่ประจำ ๑ รูปนอกนั้นเป็นพระธุดงค์แวะเวียนมาไม่ถาวร วัดแห่งนี้ก่อตั้งด้วยภิกษุธุดงค์รูปหนึ่ง เล็งเห็นว่าชาวบ้านไม่มีการบริจาคทานสะสมบุญบารมี ท่านจึงปักกลดลงที่นั่นและอาศัยแรงศรัทธาจากชาวบ้านร่วมสร้างกุฏิวิหารจนสำเร็จ เวลานี้พระรูปนั้นท่านได้มรณภาพไปแล้ว ส่วนอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าชุมชนบ้านฟองใต้ห่างจากหมู่บ้านผ่านเรือกสวนไร่นาชาวบ้านไป ๔ กิโลเมตร ไม่มีพระอยู่อย่างถาวรนาน ๆ จึงผ่านมาพักทีหนึ่ง
บุญประเพณีประจำปีที่ชาวบ้านร่วมกันทำคือ บุญออกพรรษา เข้าพรรษา บุญกรานกฐิน และบุญสวดมงคลประจำหมู่บ้าน บุญสวดมงคลหมู่บ้านนี้ทำกันช่วงเดือนพฤษภาคม ทุกหลังทุกเรือนจะมารวมกันอยู่เรือนเดียวโดยมากเป็นบ้านผู้ใหญ่ นิมนต์พระมาสวดทั้งเช้าเย็น ปะพรมน้ำมนต์กันถ้วนหน้าเพื่อสิริมงคลแก่คน แก่บ้าน แล้วก็กินข้าวร่วมกัน..
ผมนั่งเขียนไปคิดไป คิดถึงคำบอกเล่าที่พ่อหอมได้ให้ไว้ นั่งก็แล้ว นอนก็แล้ว ฝนตกก็หยุดแล้วสามชั่วโมงจึงเขียนเสร็จ ๏
๒๕ เมษายน ๒๕๕๐
18 มิถุนายน 2550 09:40 น.
ประภัสสุทธ
หลังจากเสร็จภาระกิจส่วนตัวทางบ้านแล้วผมก็เดินตรงสู่วัดเพื่อหาอะไรทำ ผมเดินบนทางเส้นเดียวกับที่เหยียบเมื่อวานทั้งที่เดินมาแล้ว ๒ วันผมก็ยังรู้สึกว่าวัดอยู่ไกลอยู่ดี วันนี้ไม่ได้กะจะมาเก็บข้อมูลอย่างจริงจังเท่าใดดังนั้นเมื่อถึงวัดผมจึงนั่งแกร่วลงบนก้อนหินเขื่องก้อนหนึ่งตั้งท่าจะหยิบจับอะไรช่วยชาวบ้านทันทีที่เห็น
หลังจากขนเศษกระเบื้องที่โดนลมพัดลงมาแตกเสร็จแล้วจนผ่านมื้อเที่ยงไปผมรู้สึกว่างานเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ ทันทีที่กินข้าวอิ่มเราก็ทำงานต่อ ผมขึ้นตากแดดบนหลังคารื้อกระเบื้องแผ่นที่แตกและใช้ไม่ได้ลงทิ้งชาวบ้านที่มาช่วยกันส่วนมากจะเป็นคนสูงอายุและเด็กตัวเล็ก ๆ จะมีผู้ใหญ่วัยกลางคนบ้างก็ไม่มากผมพยายามเหลียวหาวัยรุ่นผู้หญิงอยู่แต่ก็ไม่เห็น ทำไมเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ไม่รู้จักเข้าวัดบ้างนะปล่อยให่แต่คนแก่ทำงานกันงก ๆ เด็กเล็ก ๆ มันยังรู้จักเข้าวัดถึงจะมาวิ่งซนกวนผู้ใหญ่ทำงานก็เถอะ ผมนึกในใจ
ตะวันคล้อยลงมากแล้วแต่แดดยังจัดอยู่เราช่วยกันรื้อกระเบื้องลงเสร็จแล้วก็มานั่งพักหลบแดดอยู่ข้างโรงครัวยังไม่ทันได้หายเหนื่อยดีผู้เฒ่าคนหนึ่งก็สั่งคนที่อ่อนกว่าให้ช่วยกันดันเสาไม้กลางศาลาที่เอียงให้ตรง
เอาไม้มาค้ำแนบกับต้นเสาแล้วตีตะปูก่อน ผู้เฒ่าว่า
เราช่วยกันดันเสาขึ้นให้ตรงโดยมีคนหนึ่งคอยเอาระดับน้ำวัด เสาที่เอียงทั้งสี่ต้นถูกปรับให้ตรงโดยทำแบบเดียวกันกับเสาแรก ตั้งเสาสร็จก็ผสมปูนเพื่อจะหล่อโคนเสาที่เป็นปูนต่อ ถึงตอนนี้ผมช่วยอะไรได้ไม่มากเพราะทำไม่เป็นและดูเหมือนว่าจะว่างงาน ได้แต่นั่งดูชาวบ้านสองสามคนง่วนอยู่กับแบบหล่อข้างโรงครัวอยู่พักใหญ่จึงขอตัวกลับบ้าน
ผมเดินนวยนาดกลับบ้านเหมือนตอนมาแต่ทว่าขาที่เดินและอาการในร่างกายมันแตกต่างจากเมื่อเช้าอย่างรู้สึกได้ ผมรู้สึกเหนื่อยเอามาก ๆ แขนขาทั้งสองข้างแทบไม่มีแรงแต่ใจนั้นอยากเดินกลับบ้านไว ๆ ทั้งที่เดินเฉื่อยเนือยอย่างนั้น ผมอยากจะยกเลิกการเก็บข้อมูลในตอนเย็นกับพ่อวัน ครั้นมาคิดดูอีกทีก็กลัวเสียคำพูดจึงอยากจะไปให้ได้ กลับถึงบ้านอาการคงดีขึ้นอยู่หรอก ผมนึก
นกเค้าแมวส่งเสียงร้องบินผ่านทางมาเกาะกิ่งไม้ใหญ่ที่ให้เงาครึ้มข้างทาง บรรยากาศเริ่มขมุกขมัวขึ้นเรื่อย ๆ เรือนบางเรือนเปิดไฟนีออนไว้หน้าบ้านแล้ว บางเรือนควันไฟก็ลอยขึ้นฟุ้งเมื่อจัดแจงกับอาหารเย็นในครัว ผมเดินมาถึงบ้านก็ค่ำมืดพอดีว่าจะเอาผ้าไปซักก็กลัวเสียเวลาจึงแช่ผงซักฟอกไว้เฉย ๆ เสร็จแล้วจึงอาบน้ำแล้วก็มานั่งกินข้าวกับพ่อเล่แม่เล่ ผมบอกพ่อเล่แม่เล่หลังจากกินข้าวเสร็จว่าจะไปบ้านพ่อวันเพื่อพูดคุยกับแกเรื่องวนเกษตรสักหน่อย เหลียวดูทางก็มืดมากแล้วแม่จึงบอกให้ผมบอกพ่อเล่ให้ขับมอไซค์ไปส่ง ผมไม่อยากรบกวนพ่อเล่ที่นั่งพูดคุยกับผู้ใหญ่หลายคนในวงที่อยู่บ้านตรงข้าม จึงเดินไปเองโดยมีไฟหม้อแบ็ตส่องนำทาง
ทางที่ผมจะไปนั้นเดินไปทางเดียวกันกับวัด ก่อนถึงโค้งทางลาดลงจะมีเนินดินอยู่ซ้ายมือบ้านพ่อวันอยู่ตรงนั้น ผมเดินยังไม่ทันเมื่อยก็ถึง ผมได้พบกับพ่อวันพอดีแกกำลังยืนเปลือยอกคุยกับเพื่อนบ้านอยู่ตรงทางขึ้น พ่อวันเห็นผมก็จำได้จึงขวักมือเรียกและนำขึ้นไปบนทางเล็ก ๆ พ่อพาผมมาหยุดอยู่บ้านไม้ชั้นเดียวหลังเล็กหลังหนึ่ง ข้างฝาสร้างด้วยไม้ไผ่ขัดแตะบังไว้ พ่อวันว่าคนนี้ก็เป็นคนหนึ่งที่ทำวนเกษตรเหมือนกันชื่อพ่อเมิน พลางวาดมือไปที่บ้านหลังที่ว่า ผมได้พบกับพ่อเมินก็สวัสดีและหาที่นั่งก็พอดีพ่อวันเดินไปเอาเสื้อที่บ้าน ผมพูดคุยกับพ่อเมินรอพ่อวันอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งพ่อวันก็ใส่เสื้อเดินมาแล้ว จึงเริ่มประเด็นพูดคุยกันจนกระทั่งแม่บ้านพ่อเมินยกสำรับข้าวเข้ามาการพูดคุยกันจึงจบลง ผมบอกลาพ่อเมินกับพ่อวันและกล่าวปฏิเสธน้ำใจกับการชวนกินข้าวเย็นด้วยเพราะผมกินมาแล้ว
ก่อนที่ผมจะตื่นจากเช้าวันต่อมาหลังกลับจากบ้านพ่อวันความคิดความรู้สึกบางอย่างของผมหล่นหายไประหว่างทางเดินกลับเรือน ๏
๒๖ เมษายน ๒๕๕๐
13 มิถุนายน 2550 10:18 น.
ประภัสสุทธ
เช้านี้กว่าจะลุกจากที่นอนได้ก็ปาไปเจ็ดโมง เมื่อคืนแมลงเม่าออกอาละวาดสร้างความรำคาญบินตอมไฟเป็นแสน ๆ ตัว ผมต้องปิดไฟทั้งบ้านล่อให้มันไปตอมไฟข้างถนนหน้าบ้านเสร็จแล้วก็มานั่งคอยพ่อเล่กับแม่เล่ที่ออกไปหาอึ่งยังไม่กลับอยู่บนแคร่ใต้ถุนบ้าน ผมนั่งคนเดียวเงียบ ๆ อย่างนั้นจนกระทั่งพ่อกับแม่กลับมาจึงได้เข้านอนเหลียวดูนาฬิกาอีกทีก็เกือบเที่ยงคืนตอนเช้าจึงลุกยากสักหน่อย
ผมรีบจัดแจงธุระส่วนตัวเสร็จเรียบร้อยก็ลงมากินข้าว แม่เล่ทำคั่วอึ่งให้กินโดยเอาอึ่งกับเขียดที่จับมาได้สับให้แหลกแล้วก็ต้มในน้ำเครื่องแกงใส่ผักชะอมให้หอมหน่อย รสชาติมันกรุบ ๆ อร่อยดี มื้อเช้านี้กับข้าวมีเพียงคั่วอึ่งเท่านั้น
อึ่งยังเหลืออยู่เยอะทีเดียวแม่บอกว่าจะเอาไปขายในตลาดบ้านวังกวางวันอาทิตย์ ที่พ่อใส่ไม้รอปิ้งไว้ก็มี ที่ขังไว้ในโอ่งมังกรก็หลายสิบตัวผมยังได้ยินมันร้องหาพวกเมื่อตอนลงบันไดมาแปลงฟัน กินข้าวเสร็จแล้วพ่อก็ก่อไฟอยู่บนดินเอาไม้ไผ่มาปักรอบกองไฟทำเป็นเสา ๔ เสา แล้วก็ตัดซีกไม้ไผ่พาดเรียง ๆ กันทำเป็นตะแกง ผมถามพ่อว่าเอาไว้ทำอะไร พ่อบอกเอาไว้ย่างอึ่งที่มัดใส่ไม้ไผ่ไว้ มันช่วยถนอมอึ่งเก็บไว้กินได้หลายวันโดยไม่บูดไม่เน่า ผมดูพ่อสาละวนอยู่กับปิ้งอึ่งสักพักจึงขอตัวไปเก็บข้อมูล เตรียมปากกา สมุดใส่ย่ามเสร็จแล้วก็สะพายบ่าเดินไปตามถนนลาดยางที่ทอดยาวคดเลี้ยวผ่านหมู่บ้าน
ระหว่างเดินทอดน่องตามทางก็ได้เห็นบรรยากาศรอบ ๆ หมู่บ้าน การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านแถบนี้จะปลูกไว้ที่ต่ำบ้าง สูงบ้างตามลักษณะภูมิประเทศที่ติดภูเขา มีต้นไม้ใหญ่กินลูกได้ขึ้นหนาตาแทรกระหว่างบ้านหลังต่อหลัง ลักษณะบ้านเรือนก็คล้าย ๆ กับบ้านเรือนทางภาคอีสานคือส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ และก็ยกใต้ถุนสูง ไม่ห่างจากหมู่บ้านมากนักจะเป็นที่นาของชาวบ้านทอดยาวตลอดสองฝากทาง ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวไร่ และทำสวนผลไม้ ผมเห็นมะม่วงร่วงเกลื่อนเต็มดินและสายโทรศัพท์ที่พาดขว้างถนนปลายข้างหนึ่งยังโยงอยู่กับเสาปูนส่วนอีกข้างโน้มเอียงลงจรดพื้น คงโดนฤทธิ์ลมพายุเมื่อวานเป็นแน่ ผมนึก
พูดถึงโทรศัพท์แล้ว ที่นี่ออกจะใช้ยากสักหน่อยสำหรับมือถือแต่ตู้โทรศัพท์ก็มีอยู่ตู้หนึ่ง เมื่อวานผมยังเดินเข้าตู้ตั้งใจว่าจะโทรหาแม่พอจะควักกระเป๋าหาเหรียญไม่ทันได้ดูตรงตู้หยอดเหลียวไปอีกทีผมก็เก็บตังค์ใส่กระเป๋าไว้เหมือนเดิมเพราะตู้โทรศัพท์มันมีแต่ตู้ไม่มีที่โทร
ผมเดินดูทัศนียภาพข้างทางมาเรื่อย ๆ ก็มาถึงที่หมายนั่นก็คือวัดประจำหมู่บ้านฟองใต้ เมื่อเช้าผมถามพ่อเล่ถึงพ่อเฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเพื่อที่จะได้พูดคุยข้อมูลเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับหมู่บ้านว่าพอจะมีใครให้ซักถามได้บ้าง พ่อเล่แนะนำพ่อโซ้นหอมซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเก่า และตอนนี้แกก็ออกมาวัดเพื่อช่วยเหลืองานเบา ๆ ตามประสาคนแก่ทั่วไปในหมู่บ้านยิ่งช่วงนี้เกิดเหตุการณ์พายุพังวัดด้วยยิ่งจะมีคนไปช่วยเหลืองานวัดมาก
ผมมาถึงวัดก็ได้เห็นสภาพอย่างที่ชาวบ้านเล่ากันมาคือประตูทางเข้าที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ นั้นเสาทั้งสองข้างล้มทับป้ายที่มีหลังคากระเบื้องมุงบัง (ชาวบ้านเรียกประตูโขง) พังยับเยินกระเบื้องแตกกระจายเป็นเสี่ยง ๆ ไม้ถูกถอนจากไม้เห็นตะปูบิดหงายงอกองทับกันอย่างกับเศษไม้ ผมเดินผ่านขึ้นเนินเตี้ย ๆ ขึ้นไปไปข้างบนเห็นหญิงชายหลายคนมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คนแก่ และก็พระสงฆ์กำลังง่วนอยู่กับการขนของ พวกเด็ก ๆ พากันเก็บพวกเครื่องบูชาที่วางอยู่ไม่เป็นที่ออกจากศาลา ส่วนผู้หญิงที่มีอายุแล้วก็กำลังนั่งล้างจานช่วยกัน ศาลาหลังนี้จากที่ผมสังเกตน่าจะเป็นศาลาฉันท์เพราะมีพื้นซีเมนต์ยกขึ้นจากฐานสูงแค่เขาทั้งสามด้านสำหรับพระสงฆสามเณรนั่ง และก็โรงครัวที่มีทั้งข้าวสารเครื่องปรุงอาหารต่าง ๆ วางอยู่กับพื้นบ้าง อยู่ในชั้นบ้าง แหงนขึ้นไปสักหน่อยจะเห็นหน้าจั่วศาลาที่ทำด้วยเหล็กทั้งโครง ท่อนเหล็กหลายท่อนหงิกงอไม่เข้ารูป ครึ่งหนึ่งของโครงหลังคาไม่มีกระเบื้องเหลืออยู่ และเสาไม้กลางศาลาที่ตีต่อกับฐานเสาปูนก็เอียงกะเท่เล่
ผมยืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่ครู่หนึ่งจึงตัดสินใจเดินเข้าไปหากลุ่มผู้ใหญ่ที่นั่งล้างจานอยู่ ผมกล่าวสวัสดีและแนะนำตัวก็ถามหาพ่อหอมที่เคยเป็นผู้ใหญ่บ้านเก่า ชาวบ้านก็ยิ้มแย้มแจ่มใสพูดคุยตอบด้วยอย่างดี ผมได้พบพ่อหอมและบอกเรื่องที่มาหาพ่อหอมก็นำขึ้นไปข้างบนเนินเห็นศาลาใหญ่ใกล้ ๆ พาผมมานั่งอยู่ในศาลาโล่งมีลมเอื่อยมาเบา ๆ เป็นระยะ พ่อบอกคุยกันที่เงียบ ๆ จะได้ฟังรู้เรื่อง
ผมเริ่มคำถามกับพ่อหอมอย่างสบาย ๆ ขณะที่มือจับปากกาตั้งท่าจ่ออยู่หน้าแผ่นกระดาษขาว ๏
31 พฤษภาคม 2550 14:50 น.
ประภัสสุทธ
วันแรกที่เพิ่งได้มาลงหมู่บ้านของการเรียนรู้งานช่วงปิดเทอมบ้านฟองใต้ จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มีนา ก็ได้ไปอยู่หลายที่ทั้งแถบเทือกเขาเพชรบูรณ์ มหาสารคามแล้วก็กาฬสินธุ์ ช่วงเวลานี้แค่ลงไปผ่าน ๆ ไม่ได้อยู่จริงจัง แต่ว่าก็ได้เห็นอะไรหลายอย่าง ผ่านสงกรานต์ไทยไปและทำธุระส่วนตัวหมดสิ้นจึงได้เตรียมตัว เตรียมใจลงบ้านฟองใต้
ผมออกจากบ้านเช้าวันที่ ๒๓ เมษายน นั่งรถโดยสารไปลงชุมแพ เพื่อไปรอพี่เจ้าหน้าที่ ngo ที่รับผิดชอบพื้นที่ที่ผมจะไปอยู่ ที่สำนักงานกองทุนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ไปรอพี่เขาอยู่ประมาณ ๕ ชั่วโมง จึงได้พบกับพี่เล็กและได้ค้างคืนที่นั่น รุ่งเช้าพี่สงครามก็มาและบึ่งรถตรงสู่บ้านฟองใต้ทันที ระหว่างทางไปหาบ้านฟองใต้ เส้นทางขึ้น ๆ ลง ๆ ตามภูเขาที่สลับซับซ้อน ผมนั่งเสียวท้องน้อยเวลารถลงเขาหลายครั้งทีเดียว
ตลอดทางที่นั่งรถมาผมจำได้ว่าคุยกับพี่สงครามไม่กี่ครั้ง อันที่จริงผมพยายามชวนพี่เขาคุยอยู่เหมือนกันเพื่อไม่ต้องนั่งเอนเบาะฟังแต่วิทยุและมองดูบรรยากาศรอบ ๆ รถ แต่ก็ไม่รู้จะคุยอะไร ได้แต่รอจังหวะให้พี่แกถามและตอบ ตอบให้เยอะที่สุด พร้อมทั้งชวนคุยเรื่องอื่นต่อ
จริง ๆ แล้วผมไม่ควรเรียกแก พี่ หรอก เพราะกะจากสายตาแล้ว คิดว่าพี่แกไม่น่าจะต่ำกว่าอายุแม่ผม แต่ก็ช่างเถอะ ผมไม่อยากเปลี่ยนสรรพนามเป็น ลุง เพราะเคยเรียกพี่แกมาตั้งแต่ได้รู้จักกัน จะเปลี่ยนคำเรียกก็ดูยังไง ๆ อยู่ คิดซะว่าขนาดพี่ซีดีรุ่นหนึ่ง เราก็ยังเรียกพี่เหมือนกัน
ผมกับพี่สงครามมาถึงบ้านฟองใต้โดยใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงครึ่ง ก็พามารู้จักกับชาวบ้านฟองใต้สองสามคนที่นั่งคุยกันอยู่ใต้ถุนบ้านไม้ ผมพักอยู่บ้านหลังนี้เอง
บ้านหลังนี้เป็นบ้านของพ่อ อบต. ชื่อพ่อสาคร ลาลู่ หรือพ่อเล่
หลังจากที่พี่สงครามพาผมไปบ้านพ่อแพรวซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของถนนดินสูงหลายลูก ก็พาผมมาส่งไว้บ้านพ่อเล่ที่เดิม แล้วแกก็กลับโดยบอกว่าอีกสองสามวันจะมาหา
ผมนั่งคุยกับพ่อเล่ได้ไม่นานฝนก็ตกลงมาพร้อมกับพายุโหมกระหน่ำ เราเพิ่งคุยกันเรื่องฝนและผมก็ชี้บอกพ่อให้ดูฝ้าขาว ๆ คล้ายหมอกที่โรยตัวบนภูเขาเหนือป่า พ่อบอกว่ามันเป็นฝนเลือกตกเฉพาะบนภูเขานั้นแหละ ไม่ลงมาหมู่บ้านสักที ได้แต่วนเวียนอยู่รอบ ๆ แล้วก็พัดละอองฝนมาตกเปาะแปะให้ดีใจเล่นเท่านั้น แต่ว่าสิ้นคำสนทนาไม่นานผมก็มายืนตัวโยนแทบปลิวอยู่กลางลานใต้ถุนบ้าน เหลียวไปมองรอบตัวอีกทีก็เห็นข้าวของอะไรต่อมิอะไรปลิวว่อนกระจัดกระจายตกเต็มพื้น
ลม ฝน ลูกเห็บ ตกลงมาพร้อมกันอย่างบ้าคลั่ง แม่เล่วิ่งไปหลบอยู่ในห้องน้ำ ส่วนพ่อเล่ก็ยืนแอบอยู่ข้างเสาบ้าน พ่อเล่ตะโกนคุยกับผมแข่งเสียงฝนอื้ออึงว่าตั้งแต่มาอยู่ นี่เป็นครั้งแรกที่ฝนตกบ้าอย่างนี้
อันที่จริงผมก็เพิ่งเคยอยู่ท่ามกลางฝนตกแบบนี้เป็นครั้งแรกเหมือนกัน ลมพัดมาแรงมากสั่นมะพร้าวตกเกลื่อนดิน สังกะสีก็สะบัดปลิวมาตกใกล้ ๆ บ้าน ทำให้ผมคิดเสียวไส้เพราะตอนเด็กได้ยินคนเล่าให้ฟังว่ามีคนถูกสังกะสีปลิวสะบัดคอขาดตายตอนลมพายุเข้า
พ่อเล่ ชี้ให้ดูลูกเห็บที่ตกขาวโพลนกระดอนกระเด้งไปมาเหมือนเขียดสีขาว ผมเก็บขึ้นมาดูหลายก้อนเมื่อมันกระดอนเข้าใต้ถุน มันเหมือนน้ำแข็งลูกเท่ามะยม ถ้ามันลูกโตกว่านี้ผมว่าหลังคาสังกะสีคงเอาไม่อยู่
พ่อเล่เดินเหยาะ ๆ ไปเก็บเอาลูกมะพร้าวมาผ่ากินน้ำ แล้วก็ชี้ชวนให้ผมไปเก็บมาผ่ากินเอง ผมก็วิ่งไปเก็บมาผ่ากินเองบ้างตั้ง ๓ ลูก น้ำมันออกจะเปรี้ยวหน่อยแต่ก็กินเพราะเมื่อบ่ายตอนไปบ้านพ่อแพรว น้าเพื่อนบ้านบอกว่า น้ำมะพร้าวลูกแก่ ๆ กินเป็นยาดี มันช่วยล้างไตได้ ไตผมได้สะอาดก็คราวนี้แหละ
ฝนตกอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงก็ค่อย ๆ เบาลง ขาดสาย แล้วก็หยุด บรรยากาศเย็นชื้นขึ้นมาทันที ซึ่งก่อนหน้านี้นั้นร้อนอบอ้าว
ผมเดินออกไปดูรอบ ๆ เห็นต้นไม้ใหญ่หลายต้นหักกิ่งระเนนลง มีบ้านหลังหนึ่งห่างจากบ้านพ่อเล่ไปสามหลัง ตัวบ้านยืนเปียกปอนโดยหลังคาเหลือแต่จั่วกับโครง สังกะสีถูกลมแกะออกทิ้งไปไหนไม่รู้ เจ้าของกับเพื่อนบ้านต้องออกตามหานำมารวบรวมไว้เหมือนเดิม
ผมไปเดินเลาะจนไม่รู้จะไปไหนต่อก็เลยกลับเข้าบ้าน อาบน้ำ และรอกินข้าว
เย็นนี้แม่เล่ทำทอดไข่ใส่หัวหอมแดงกับลวกผักบุ้ง และก็น้ำพริกให้กิน แม่กับพ่อเล่และผมต้องไปตามเก็บพวกจาน ชาม หม้อ กะละมัง ที่โดนลมเตะกระจายมาล้างคราบดินออก
เรานั่งคุยเรื่องต่าง ๆ ระหว่างกินข้าวจนอิ่มแล้ว พ่อกับแม่ก็ออกไปหาอึ่งกัน ปล่อยให้ผมอยู่บ้านคนเดียว ทีแรกผมจะไปด้วยเพราะเห็นว่ามีหม้อแบ็ตอยู่สองอัน แต่พ่อเล่บอกว่ากลัวจะเดินหลงทางเพราะมันมืดแถมมีแต่ป่า อีกทั้งผมยังไม่รู้จักเส้นทาง พ่อก็เลยไปกับแม่สองคน
อยู่คนเดียวจะทำอะไรได้ล่ะ นอกจากเงียบแล้วก็นอนเขียนตัวหนังสือ
อันที่จริงผมยังไม่รู้ชื่อเล่นจริง ๆ ของพ่อกับแม่นี้เลย ได้แต่ฟังพี่สงครามเรียกพ่อเล่ แม่เล่ ก็เลยเรียกตาม พี่สงครามบอกว่าคนหมู่บ้านนี้จะเรียกชื่อลูกแทนชื่อพ่อแม่ของคนคนนั้น ผมก็เลยรู้จักแต่ชื่อลูกแก ยังไม่รู้จักชื่อพ่อกับแม่เลย
๒๔ เมษายน ๒๕๕๐
18 มิถุนายน 2549 13:46 น.
ประภัสสุทธ
จะมีแดดออกวันฝนตกหรือไม่ก็ตาม ใต้ร่มไม้มุมตึกสีหม่นที่บานเกล็ดไม่ครบหน้า ความเคลื่อนไหวของผู้คนที่นั่นก็ยังเดินไป..หลายวันวันก่อน ต้นไม้หน้าลานชนพ.ล้มลงด้วยแรงลมฝนห่าใหญ่ มีผู้คนบ่นถึงสนามแข่งบอลที่ได้เคยลงเตะ บ้างก็ว่าโอลด์แทร็ฟฟอร์ดแห่งชนพ. บ้างก็ว่าแอนด์ฟิลด์ และแล้วการพูดคุยอย่างจริงจังถึงต้นไม้ที่ล้มทับสนามบอลของพวกเขาก็เริ่มขึ้น หลายวันต่อมาเมื่อพลบค่ำที่มีแสงสีส้มริมทางส่องสลัวทาบแนวพุ่มไม้และกลุ่มคนทมัดทแมง ไม้กรุงท่อนใหญ่ถูกเลื่อยตัดอย่างเมามันด้วยกลุ่มชายหนุ่ม 5-6 คน มีเสียงพูดคุยกันถึงเรี่ยวแรงงานที่จะมาตัดไม้ เพราะพวกเขาตัดได้เพียงส่วนปลายต้นเท่านั้น คงจับกลุ่มนั่งทอดขามองดูโคนต้นที่เหลืออย่างเจ็บใจ...อากาศสีดำคืบคลุมเวิ้งฟ้าจนจุดแสงเล็กๆปรากฏระยิบอยู่ไกลๆ ลานดินที่มีกลุ่มคนนั่งและต้นไม้ล้ม ไม่มีใครเหลืออยู่แล้ว..ค่ำนี้ดาวคงรอให้ตะวันคล้อยขึ้นทางตะวันออกเพื่อจะผ่านพบกับเช้าสดใส...
เหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่เจนความรู้สึก คุ้นเคยตาในหมู่คนที่เวียนผ่านเข้ามาและนั่งลงบนม้าหินอ่อนตัวเขื่องใต้ร่มยอป่า หรือไม่ก็ดินแดงลานหน้าชมรมที่ทอดต้อนรับฝ่าเท้าหลายร้อยคู่ย่ำย่างไปมาตั้งแต่อดีตผ่านมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมันรับรู้ว่าผู้คนเหล่านี้เคยทำอะไรไปบ้าง..และยังดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ แม้เวลาจะเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์บางอย่างในตัวเขาเหล่านั้น แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ยังมั่นคงอยู่ในจิตสำนึกของพวกเขาตลอดเวลาก็คือ...มิตรภาพกับรอยยิ้ม