23 ตุลาคม 2557 19:12 น.

ในฐานะเพื่อนมนุษย์เดียวกัน : ฉันเห็นโศกนาฏกรรมบนลานชีวิต

ประภัสสุทธ

ประภัสสุทธ พงสา

23 / 10 / 57

“ โปรดเถิดเพื่อนมนุษย์ โปรดฟังเสียงแสงแดด โอบกอดความเหน็บหนาว ทุรนร้าวในความสุข ช่วยเก็บแววเศร้าในดวงตา รับรู้หยาดเหงื่ออันแพรวพราว ยินยลหิวโหยที่โบยตี...ฉันร้องขอด้วยน้ำตา ”

กลอนเปล่าโผยแผ่วปรากฏชัดในจิตสำนึก ฉันได้ยิน ฉันเห็น ฉันอยากบอกเล่า....

ในแง่มุมการ “ พัฒนา ” ไปสู่อะไรบางอย่างของประเทศนั้น เรายอมรับได้หรือไม่ว่า มีกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์อย่างจริงจังเพียงน้อยนิด ขณะคนจำนวนมากถูกทิ้งไว้เบื้องหลังตามยถากรรม แน่นอนว่าภายใต้แนวคิดการพัฒนาสังคมแบบทุนนิยมเสรี ปฏิเสธได้ยากว่าสถานการณ์อย่างหลังคือความลงตัวของระบบ นี่คือความ ” สวยงาม ” หรือ “ ความเลวร้าย ” ของการพัฒนา เรายังอยู่บนโลกความเป็นจริงใบเดียวกันใช่หรือไม่

ฉันพบคำตอบบางส่วนในโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ภายใต้โครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมรุ่น 2 ได้เปิดพื้นที่ให้เรียนรู้งานภาคสนามขององค์กรมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ( Labour Right Promotion Network : LPN ) ซึ่งทำงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร ให้ได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และให้มีโอกาสได้รับสวัสดิการทัดเทียมเพื่อนมนุษย์ในสังคม 

จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจลำดับต้นๆ ของประเทศ มี GDP เป็นอันดับ 6 ของไทย และเป็นจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก มีการประมาณการณ์จำนวนแรงงานข้ามชาติ3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่มีเอกสารทางราชการ จำนวน  120,000  คน  และคาดว่ามีแรงงานข้ามชาติที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว นั่นหมายถึงอาจมีแรงงานข้ามชาติมากกว่า  300,000 – 400,000  คน กำลังทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกในหลายๆ ประเภท หนึ่งในกิจการที่แรงงานข้ามชาติเข้าไปทำงานทดแทนแรงงานไทยมากที่สุดคือ  กิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมงทะเล การแปรรูปอาหารเบื้องต้น และอาหารแช่แข็งเพื่อส่งออก ซึ่งแต่ละปี ประเทศไทยส่งออกอาหารแช่แข็ง คิดเป็นมูลค่ากว่า 90,000 – 100,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันพบสถานประกอบการขยายตัวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งสัญญาณว่ากำลังแรงงานคือความต้องการที่ไม่สิ้นสุด ปัญหาขาดแคลนแรงงานจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นจึงพบสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ อพยพ เคลื่อนย้าย หลบหนีเข้าเมืองมาทำงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการนายหน้าจากประเทศต้นทาง  ระหว่างทาง และปลายทาง ในฟากรัฐบาลจึงได้ตอบสนองปัญหา และมีนโยบายให้แรงงานหลบหนีเข้าเมืองที่มีนายจ้าง ต้องมาจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตทำงานปีต่อปี โดยมุ่งเน้นสนองตอบปัญหาความขาดแคลนแรงงานอย่างสูงสุดเพื่อให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากที่สุด แรงงานข้ามชาติจึงถูกมองเป็นปัจจัยต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ทั้งในแง่ราคาถูก และไม่เรื่องมาก แต่บางปีรัฐไทย ไม่สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานข้ามชาติแก่ผู้ประกอบการได้เพียงพอ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องใช้แรงงานหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ต้องหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยกวดขันจับกุม และบางครั้งต้องจำยอมเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนแก่เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย บางคนแลกกับการคุ้มครองนอกระบบ

จากข้อมูลเบื้องต้น ประเด็นมิได้อยู่ที่ตัวเลขการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในประเทศ หรือประเทศเพื่อนบ้าน แต่อยู่ที่ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนระบบของการพัฒนา และมิถูกกล่าวถึง

ใช่ เรากำลังพูดถึงความอยุติธรรม และการละเมิดสิทธิฯ ที่เกิดกับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ

นายอู (นามสมมติ) หนุ่มสมุทรสาครเชื้อสายมอญ อดีตแรงงานประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำไทย ประสบการณ์ทำงานกว่าแปดปี เล่าว่าการทำงานในเรือประมงลำบากและอันตรายมาก เพราะอยู่กลางทะเลเป็นเวลานาน หากเรือออกหาปลานอกน่านน้ำไทยมีโอกาสอยู่กลางทะเลไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงกลับเข้าฝั่ง แม้บนเรือจะมีลูกเรือกว่า 40 คน ประกอบด้วยแรงงานลากอวน 40 คน โดยเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ส่วนคนไทยมีเอ็นจีเนีย  1 คนนายท้าย 1 คน ผู้ช่วยนายท้าย 1 คน และกุ๊กอีก 2 คน แต่งานที่หนักที่สุดคือการลากอวน เพราะต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง เพื่อนแรงงานบางคนเสียชีวิตขณะนอนหลับเพราะทำงานหนัก บางคนเสียชีวิตขณะลากอวนโดยติดอวนปลาลงไปในทะเล บางคนเสียชีวิตเพราะถูกสายสลิงม้วนเข้าไปในลอกขณะคุมม้วนสลิงซึ่งเกิดจากเผลอหลับหรือประมาท ขณะที่เพื่อนแรงงานบางคนถูกงูทะเลที่ติดมากับอวนกัดตาย หากมีเหตุการณ์เสียชีวิต งานลากอวนยังคงดำเนินต่อไป นายท้ายเรือบางคนมีเมตตาจะเก็บรักษาศพไว้ในห้องเย็นรอการส่งขึ้นฝั่ง แต่นายท้ายบางคนทิ้งศพลงทะเลอย่างไม่สนใจใยดี  

นายออง (นามสมมติ) วัย 30 ปี เกิดที่รัฐมอญ เข้ามาทำงานในไทยตั้งแต่ปี 2547 โดยลักลอบเข้ามาเพราะมีเพื่อนนายหน้าชักชวน ร่วมกับเพื่อนในหมู่บ้านประมาณ 10 คน เสียค่านายหน้า 8,000 บาท เขาเล่าว่าต้องเดินทางผ่านป่าชายแดนระหว่างประเทศเพื่อหลบเลี่ยงด่าน ตม.ไทย นานถึง 8 วัน เพื่อนัดพบกับนายหน้าคนไทยที่นำรถมาจอดรอรับยังจุดที่นัดหมายไว้ เพื่อนบางคนจบชีวิตลงระหว่างทางเพราะป่วยไข้และอดอาหาร พอถึงจุดนัดหมายนายหน้าจะทำหน้าที่แยกแรงงานออกเป็นกลุ่มตามด้ายสีที่ผูกข้อมือเพื่อส่งไปตามจังหวัดต่างๆ โดยคนงานไม่มีทางรู้ว่าจะไปจังหวัดใด นายอองโชคดีที่ได้ทำงานในโรงงานซึ่งต่างจากเพื่อนแรงงานบางคนที่ถูกส่งไปเป็นแรงงานประมงในเรือ แต่การทำงานในโรงงานแกะกุ้งนั้น ล้วนมีความยากลำบากเช่นเดียวกัน เพราะโดนเอาเปรียบจากเพื่อนคนไทย และนายจ้างตลอดเวลา โดยเขาไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเงินค่าแรงแต่ละเดือนจะได้เท่าไหร่ และจะโดนใส่ร้ายจากแรงงานไทยอย่างไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่เขาท่องจำขึ้นใจอยู่ตลอดเวลาคือ อดทน อดทน และอดทน

นายตวน (นามสมมติ) แรงงานชาวพม่า ทำงานโรงงานและใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ค่ำวันหนึ่งทะเลาะกับแฟนสาวจึงผลุนผลันออกจากบ้าน มานั่งจับเจ่าที่ร้านขายก๋วยเตี๋ยวริมทาง เพื่อให้อารมณ์สงบและคาดหวังให้แฟนสาวตามง้อ เขาถูกชักชวนจากคนขายก๋วยเตี๋ยวที่เป็นนายหน้าหาแรงงานประมงให้ไปทำงานในที่ซึ่งเล่าถึงรายได้ดี และงานเบา เขาตอบตกลง และเดินทางไปกับคนแปลกหน้าที่มารับถึงที่ มารู้ตัวอีกทีพบตัวเองอยู่บนเรือประมงลำใหญ่กำลังแล่นออกสู่น่านน้ำไทย เมื่อรู้ตัวว่าถูกล่อลวงมานายตวนตัดสินใจโดดลงทะเล ก่อนได้เรือประมงเขมรสัญชาติไทยช่วยเหลือไว้ และส่งขึ้นฝั่งที่จังหวัดระยอง หลังทำงานกับนายจ้างไทยใจดีแปดเดือนที่ท่าเรือระยอง จนเก็บกำเงินได้ก้อนหนึ่ง จึงออกเดินทางกลับมาหาแฟนสาวที่จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งสองโอบกอดกันด้วยน้ำตา

ฯลฯ....

ฉันไม่อยากคิดต่อว่า กรณีความรุนแรงเหล่านี้ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มใดบ้าง ในสถานที่แบบใดบ้าง และถูกกระทำอย่างไรบ้าง มันคงดำเนินไปในลักษณะนี้อย่างแน่นอน หากเรารับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมเพียงด้านเดียว โดยไม่ใส่ใจผลกระทบของความมั่งคั่งที่กระทำกับผู้คนอีกฟากหนึ่ง เกือบทั้งชีวิตฉันเห็นพัฒนาการของบ้านเมือง เติบโตมาอย่างตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา เห็นผู้คนอาศัยอยู่ในบ้านหลังโตอย่างอบอุ่น ดูรายการบันเทิงทางทีวี และเชยชมความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ในวันนี้ฉันเห็นภาพเดิมต่างออกไป ฉันเห็นผู้คนถูกกระทำบนความเจริญทางวัตถุและชื่อเสียงเหล่านั้น ฉันคิดว่าเราทุกคนมีส่วนให้มันเกิดขึ้น และแน่นอนว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้นได้ 

“ โปรดเถิดเพื่อนมนุษย์ โปรดฟังเสียงแสงแดด โอบกอดความเหน็บหนาว ทุรนร้าวในความสุข ช่วยเก็บแววเศร้าในดวงตา รับรู้หยาดเหงื่ออันแพรวพราว ยินยลหิวโหยที่โบยตี...ฉันร้องขอด้วยน้ำตา ”

กลอนเปล่าโผยแผ่วปรากฏชัดในจิตสำนึก ฉันได้ยิน ฉันเห็น ฉันอยากบอกเล่า....และในฐานะเพื่อนมนุษย์เดียวกัน ฉันเห็นโศกนาฏกรรมบนลานชีวิต ๏

ไม่มีข้อความส่งถึงประภัสสุทธ