22 ตุลาคม 2554 04:08 น.

Long Lives the Most Kindness King!

บ้านวรรณกรรมคนตัวเล็ก



ชั้น 16  โรงพยาบาลศิริราช ทรงปรับห้องประทับพักผ่อน มาเป็นห้องทรงงานส่วนพระองค์ พระราชทานพระราชดำริแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม

His Majesty the King of Thailand (http://en.wikipedia.org/wiki/Bhumibol_Adulyadej) set up his private patient room in Siriraj Hospital (16th Fl) to be his personal office for helping Thai people in Thai Flooding 2011. Long lives the Kindness King! Now the flooding is over around Thai central area, including the Capital City, Bangkok.

*สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว* ทรงปรับห้องประทับพักผ่อน มาเป็นห้องทรงงาน เพื่อพระราชทานแนวทางแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม
 
สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ยังคงวิกฤติอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ไม่เว้นกระทั่งในกรุงเทพฯ โดยในขณะนี้ น้ำเริ่มเข้าท่วมพื้นที่บางส่วนแล้วเช่นกัน ซึ่งจากมหันตภัยน้ำท่วมที่ร้ายแรงในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง โดย นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เปิดเผยว่า
 
พระองค์ทรงห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมในทุกพื้นที่ แต่ละวันทรงงานและให้เจ้าหน้าที่กราบทูลรายงานสถานการณ์น้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีข้อมูลทั้งในส่วนของโรงพยาบาลศิริราชและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบกับการทอดพระเนตรริมแม่น้ำเจ้าพระยาบ่อยครั้ง*
 
"...จะหลับลงได้อย่างไร...ในเมื่อประชาชน...ไม่มีที่จะนอน..." พระราชกระแสรับสั่งของในหลวง"
 
นอกจากนี้ นพ.ธีรวัฒน์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ส่วนน้ำท่วมชุมชนคลองบางกอกน้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยเช่นกัน เห็นได้จากโครงการพระราชดำริเรื่องการแก้ไขปัญหาจราจรยังครอบคลุมเรื่องการระบายน้ำในพื้นที่ด้วย
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยเสมอ ทรงทราบถึงความเดือดร้อนและยังทรงงานตลอดเวลา
 
Source  : www.oknation.net/blog/Koikonthai/2011/10/09/entry-6

ผู้เขียนอ่านข้อความนี้จบลง  ใคร่ขอเทอดพระเกียรติพระองค์ท่าน  ผู้ประทานสุขบำบัดทุกข์แด่ปวงชนชาวไทย  ด้วยใจที่ซาบซึ้ง  ในนามหนึ่งคนไทยในต่างแดน...

น้ำท่วมหนักพระทรงเป็นห่วงยิ่ง
ทรงประชวรแท้จริงลุกมาสู้
หาหนทางช่วยเหลือด้วยเอ็นดู
กษัตริย์ผู้เมตตาประชาชน
 
จะหาไหนในหล้าเวลานี้
พระผู้พลีกายใจให้เป็นผล
ช่วยเหลือปวงชาวไทยทั่วสากล
ขอพระชนม์ทรงพระเจริญนาน
 
เป็นดังพ่อของปวงประชาราษฎร์
ยุคลบาทปกเกล้าเหล่าไทยผ่าน
พระเมตตาปรานีมิมีประมาณ
พระองค์ท่านขอจงทรงพระเจริญ
เพื่อพี่น้องชาวไทยได้ที่พึ่ง
พระเป็นหนึ่งศูนย์กลางหว่างขัดเขิน
พระผู้ครองทรงตรากตรำลำบากเผชิญ
พระทรงเดินเพื่อชาวประชาไทย
 
ยามยากเข็ญไม่เคยจะทอดทิ้ง
แม้ประชวรหนักจริงลุกมาใฝ่
หาวิธีทางช่วยอำนวยชัย
ขจัดภัยน้ำท่วมล้นอ่วมเมือง
 
เชิญดูเถิดชาวไทยในทั่วโลก
พระผู้โบกธงรบเพื่อฟุ้งเฟื่อง
รบกับภัยพิบัติเพื่อชาติรุ่งเรือง
รบเพื่อเปลื้องทุกข์ภัยไทยร่มเย็น

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน 
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า  
บ้านวรรณกรรมคนตัวเล็ก
หนึ่งพสกนิกรไทยในต่างแดน
๒๑  ตลาคม  ๒๕๕๔

321549_2337871418158_1591076488_32198706				
27 มีนาคม 2556 00:49 น.

รู้ดี ประพฤติดี มีดีที่หวังได้

บ้านวรรณกรรมคนตัวเล็ก

"รู้จักเหตุ" "รู้ผล" "รู้ตน" ด้วย
จะอำนวยพรให้ได้สุขสม
"รู้ประมาณ" "รู้กาล" นั้นชื่นชม
อยู่สังคมใดก็ก่อความดี

"รู้ชุมชน" "รู้บุคคล" คนเคารพ
รู้น้อบนมวันทาเสริมราศรี
ยามประสบพบกันอัญชลี
เชื่อมไมตรีต่อกันเมื่อวันทา

ฝากไว้วันละนิด ฝากคิดวันละหน่อย ฝากกันวันละน้อย จะไม่พลอยเกิดรำคาญ

วันนี้มีเวลาว่างสุดสัปดาห์  ก็ลอยท่องเวปไปตามประสา  พอดีเจอกับเรื่องดี ๆ เรื่องหนึ่ง  ซึ่งพาให้ให้หยุดคิด  พาจิตให้หยุดฟัง  หลังจากฟังจบ  ก็เขียนบทกลอนข้างต้นไว้เป็นอนุสรณ์  ขอแสดงความขอบคุณ ร.อ.สุธี  สุขสากล  ที่นำธรรมะอันแยบยลมาเชื่อมกมลได้ลงตัวพอดี  ผ่านรายการ  “สยามานุสติ  เรื่อง  คนดีมีเหตุผล  เมื่อวันที่  ๒๒ พฤษภาคม  ๒๕๕๔”

เนิ่นนานหลายปีที่ห่างออกจากสังคมวัด  จากเดิมที่ยืน  เดิน  นั่ง  นอน  กิน ดื่ม  ทำ  พูด  และคิด  อยู่ในวัดตลอด ๒๔  ชั่วโมง  วันนี้เหมือนจะหลงออกไปไกล  ยังดีที่ได้ยินเสียงกู่เรียกเพรียกให้หวนคืนสติ  ในวันที่มีเวลาว่าง  จึงมักจะก้าวย่างเข้าสู่สังคมวัดบ่อย ๆ  ไม่ว่าจะเป็นวัดที่เป็นสถานที่อยู่ปฏิบัติศาสนกิจของพระ  หรือวัดในฐานะ มาตรวัดจิตใจของตนเอง

หลักปุริสธรรม ๗  ประการ  มีปรากฏมานานใน “สังคีติสูตร”  สรุปใจความว่า

๑. ธัมมัญญุตา = รู้จักเหตุ  
หมายถึง  ความรู้จักธรรม หรือรู้จักเหตุ ตามหลักความจริง หลักการ หลักเกณฑ์ กฎแห่งธรรมดา กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล รู้จักวิเคราะห์สาเหตุของสถานการณ์และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น นักเรียน  รู้ว่าควรทำอย่างไรจึงเข้าใจบทเรียนและสามารถสอบผ่านได้คะแนนดี ๆ  นักปกครอง  รู้ว่าควรทำอย่างไรจึงจะสามารถปกครองตนและบุคคลใต้บังคับบัญชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ประชาชนธรรมดา  รู้ว่าควรเลือกบุคคลดีมีลักษณะเช่นใด  จึงจะเข้าไปบริหารประเทศแทนประชาชน  นำพาประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤตปัญหานานาประการได้

๒. อัตถัญญุตา = รู้จักผล
หมายถึง  ความรู้จักอรรถะ  คือ ความมุ่งหมาย หรือรู้จักผล การจะรู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ได้ชัดเจน จำเป็นต้องรู้จักเหตุก่อนด้วย ผลที่เกิดขึ้นสืบ  ย่อมสืบเนื่องจากเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลักการนั้น ๆ  ในข้อนี้  การรู้จักกฏแห่งกรรม  คือ  รู้ว่า  สิ่งต่าง ๆ  เกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลเป็นสำคัญ  ไม่มีผลใดเกิดขึ้นมาลอย ๆ  เช่น  รู้ว่า  มะม่วงไม่อาจเป็นผลงอก  และสุกงอมได้ลอย ๆ  ถ้าไม่มีเมล็ด  ไม่ได้สถานที่  แร่ธาตุ  และอุณหภูมิที่พอเหมาะจนก่อเกิดเป็นต้นมะม่วงขึ้นมาก่อน  และเจริญเติบโตจนได้ที่มีผลออกมา  จนกระทั่งสุกงอมในที่สุด

๓. อัตตัญญุตา = รู้จักตน
หมายถึง  ความรู้จักตน  คือ  รู้จักตนเองว่ามีสถานภาพเช่นใด  มีจักตนในด้านฐานะ  ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น ว่าขณะนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป  การรู้จักตน  จะทำให้บุคคลรู้จักวางตนให้เหมาะสมกับฐานะ ภาวะ  เป็นต้นนั้น ๆ  เป็นบุคคลผู้ทนต่อการพิสูจน์ได้ตลอดเวลา  พูดง่าย ๆ  ว่า  เป็นคนจริง  ย่อมพิสูจน์ได้  จะทำอะไร  ก็ย่อมประสบความสำเร็จ

๔. มัตตัญญุตา = รู้จักประมาณ
หมายถึง  ความรู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ นักเรียนรู้จักประมาณ กำลังของตนเองในการทำงาน รัฐบาลรู้จักประมาณการเก็บภาษีและการใช้งบประมาณในการบริหารประเทศ เป็นต้น  บุคคลธรรมดา  รู้จักทำมาหากินอย่างสุจริต  รู้จักคิดให้รอบคอบก่อนจะใช้จ่ายใด ๆ  ไม่ให้เกินรายรับ  ก็จะสามารถปรับสมดุลขอชีวิตได้  บางคนทำงานหาเงินแทบตายแต่ไม่เหลือ  เพราะไม่รู้จักควบคุมการใช้จ่าย  แม้ทำงานหนักแต่ก็ใช้จ่ายมาก  เป็นการทำตนเองให้ลำบากเปล่า ๆ  สู้ทำงานแต่พอกำลัง  รู้จักยับยั้งการใช้จ่าย  ยังจะมีเวลาเหลือไปทำประโยชน์อื่นให้สังคมด้วย  ได้ความสุขกายและสบายใจเพิ่มขึ้นอีก

๕. กาลัญญุตา = รู้จักกาล
หมายถึง  ความรู้จักกาล คือ  รู้เวลาที่เหมาะสม  และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจการต่าง ๆ  ทั้งทำหน้าที่การงานส่วนตัวและส่วนรวมได้ เช่น รู้จักทำงานให้ตรงเวลา เป็นเวลา ทันเวลา พอดีเวลา ในเวลาที่เหมาะสม  เป็นต้น  ข้อนี้ต้องอาศัยประสบการณ์  โบราณจึงยกย่องผู้มีวัยวุฒิและคุณวุฒิสูงว่า  เป็นกาลัญญุตาชน  คือ  บุคคลที่มีประสบการณ์ผ่านโลกมาก่อน  ภาษาชาวบ้านทั่วไปมีคำเปรียบเทียบว่า  ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน  ย่อมรู้ว่า  เวลาไหนน้ำร้อน  และจะใช้น้ำร้อนให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง  ซึ่งต่างจากเด็ก  อาจจะถูกน้ำร้อนลวกได้ง่ายกว่า  เพราะอ่อนประสบการณ์  แต่ผู้ใหญ่ก็เคยถูกน้ำร้อนลวกมาก่อนนั่นเอง  จึงรู้จักระมัดระวัง

๖. ปริสัญญุตา = รู้จักชุมชน
หมายถึง  ความรู้จักชุมชนต่าง ๆ  คือ รู้จักกลุ่มบุคคล หมู่คณะ ชุมชน บริษัท  องค์กร  และรู้จักที่ประชุม  ทำให้รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้น ๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา ต้องทำกิริยาหรือปฏิบัติแบบนี้ จะต้องพูดอย่างไร ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างไร เป็นต้น  เช่น  นักเทศน์  นักพูด  หรือนักบรรยายที่ดี  จะต้องรู้จักว่า  บุคคลที่จะฟังเป็นใคร  สถานที่ไหน  และเนื่องในงานอะไร  มีการเตรียมตัวล่วงหน้าก่อน  จากประสบการณ์ที่ผ่านมา  จะทำให้รู้ว่าควรเตรียมตัวอย่างไร  ไม่มีนักพูดใดประสบความสำเร็จถ้าขาดการเตรียมตัว  แม้พระพุทธองค์  ก่อนจะทรงแสดงธรรมโปรดใคร  ก็ทรงส่งข่ายคือพระญาณ  ไปทอดพระเนตรอัธยาศัย  อุปนิสัย  และวาสนาบุพกรรมของเขา  ตลอดจนสามารถทราบชัดด้วยว่า  ถ้าแสดงธรรมแก่ผู้นั้นแล้ว  จะได้ผลปรากฏชัดเจนอย่างไร  พระพุทธองค์ไม่ทรงกระทำสิ่งใดเลื่อนเลย  การประกาศสัจธรรมของพระพุทธองค์  จึงมีผลมาก  ให้ผลชัดเจน  เราธรรมดาสามัญชน  หากรู้จักใช้วิธีอันแยบยลนี้มาเตือนตนเองได้  คิดให้รอบคอบ  ก่อนจะตัดสินใจทำการใด ๆ  ลงไป  มองถึงสาเหตุของปัญหา  วิธีการ  ระยะเวลา  ตลอดถึงผลที่จะได้รับจากการกระทำก่อน  แล้วจึงลงมือกระทำสิ่งนั้น ๆ  ก็จะเป็นการดี  มีผลสมความปรารถนาได้ตามวิสัยสามัญชนแห่งตนเอง

๗. ปุคคลัญญุตา  หรือปุคคลปโรปรัญญุตา = รู้จักบุคคล
หมายถึง  ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างระหว่างบุคคลว่า  มีอัธยาศัย  ความสามารถ  และคุณธรรม  เป็นต้น  อย่างไรบ้าง  จะมีผลทำให้รู้จักปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ  ได้ดี ว่าควรจะคบหรือไม่  จะใช้  จะตำหนิ  หรือยกย่อง  และแนะนำสั่งสอนอย่างไร  เป็นต้น  เช่น  การจะขอความร่วมมือจากเด็ก  ผู้ใหญ่  และผู้สูงวัย  และมีคุณวุฒิ  ที่แตกต่างกัน  จะต้องปฏิบัติตนเช่นใด  จึงจะได้รับความร่วมมือ  ข้อนี้ก็ต้องอาศัยประสบการณ์การเข้าสังคม  การติดต่อประสานงาน  และการเผชิญกับสถานการณ์จริง  เป็นสำคัญ  บางครั้ง  การเตรียมตัวล่วงหน้า  ก็ช่วยได้  หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ไว้จะสามารถปรับตัวอย่างไร  ให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้  ข้อนี้ล้วนต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกัน

หลักธรรมทั้ง  ๗  ประการนี้  เป็นหลักการของมหาบุรุษ  ที่พึงปฏิบัติ  เราในฐานะผู้มีมารับรู้ในภายหลัง  ก็หมั่นทบทวน  พิจารณา  และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของตนเองสม่ำเสมอ  เมื่อพบเจอกับสถาการณ์ที่คับคัน  ก็จะสามารถฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคเฉพาะหน้าไปได้

สุขสวัสดีพี่น้องผู้ผ่านมาอ่านเจอทุก ๆ  ท่าน
บ้านวรรณกรรมคนตัวเล็ก
๒๘  พฤษภาคม  ๒๕๕๔				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟบ้านวรรณกรรมคนตัวเล็ก
Lovings  บ้านวรรณกรรมคนตัวเล็ก เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟบ้านวรรณกรรมคนตัวเล็ก
Lovings  บ้านวรรณกรรมคนตัวเล็ก เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟบ้านวรรณกรรมคนตัวเล็ก
Lovings  บ้านวรรณกรรมคนตัวเล็ก เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงบ้านวรรณกรรมคนตัวเล็ก