เมื่อวันกรุงแตกนั้น พระเจ้าเอกทัศน์นั้น มหาดเล็กพาลงเรือน้อยหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ที่บ้านจิก ริมวัดสังฆาวาส แต่พม่ยังหารู้ไม่ จับได้แต่พระเจ้าอุทุมพร ซึ่งทรงผนวช กับเจ้านายโดยมาก
พวกพม่าได้ไปพบพระเจ้าเอกทัศน์ที่บ้านจิก เวลานั้นอดอาหารมากว่า ๑๐ วัน พอรับเสด็จไปถึงค่ายโพธิ์สามต้น ก็สวรรคต จึงให้เชิญพระบรมศพมาฝังไว้ที่โคกพระเมรุ ตรงหน้าวิหารพระมงคลบพิตร อันเป็นที่ทำพระเมรท้องสนามหลวงครั้งกรุงเก่า
ครั้นเมื่อพระเจ้าตากตีได้ค่ายโพธิ์สามต้น มีชัยชนะพม่าแล้วตั้งพักกองทัพอยู่ในค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ขณะนั้น ผู้คนและทรัพย์สมบัติซึ่งสุกี้ยังมิได้ส่งไปเมืองพม่าเอารวบรวมขังไว้ในค่ายแม่ทัพ มีพวกข้ารราชการหลายคน คือ
พระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็ก เป็นต้น ต่างพากันมาเฝ้าถวายบังคมเจ้าตาก ทูลให้ทราบถึงที่พระเจ้าเอกทัศน์สวรรคต สุกี้ให้ฝังพระบรมศพไว้ที่ในกรุง ฯ
และทูลว่ายังมีเจ้านายซึ่งพม่าจับได้ต้องกักขัง อยู่ในค่ายนั้นหลายพระองค์ มีที่เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าบรมโกศ คือเจ้าฟ้าสุริยาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าพินทวดีพระองค์ ๑ พระองค์เจ้าฟักทองพระองค์ ๑ รวม ๔ พระองค์ ที่เป็นชั้นหลานเธอ คือ หม่อมเจ้ามิตร ธิดาของกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) องค์ ๑ หม่อมเจ้ากระจาด ธิดากรมหมื่นจิตรสุนทรองค์ ๑ หม่อมเจ้ามณี ธิดาของกรมหมื่นเสพภักดีองค์ ๑ หม่อมเจ้าฉิม ธิดาฟ้าจีดองค์ ๑ รวม ๔ องค์ เจ้านายทั้ง ๘ องค์นี้ เมื่อพม่าจับได้ ประชวรอยู่ จึงยังมิได้ส่งไปเมืองอังวะ
เจ้าตากทราบก็มีความสงสาร และก่อนหน้านั้นเมื่อเจ้าตากได้เมืองจันทบุรี ก็ได้พบพระองค์เจ้าทับทิมราชธิดาพระเจ้าเสือพระองค์หนึ่ง ซึ่งพวกข้าพาหนีไปเมืองจันทบุรี
พระเจ้าตากก็อุปการะทำนุบำรุงไว้ จึงสั่งให้จัดที่ให้เจ้านายประทับตามสมควร และให้ปล่อยคนทั้งปวงที่ถูกพม่ากักขังไว้ แล้วแจกจ่ายทรัพย์สิ่งของเครื่ออุปโภคบริโภคประทาน ให้พ้นทุกข์ทรมานด้วยกันทั้งนั้น
พระเจ้าตากให้ปลูกเมรุดาดผ้าขาวที่ท้องสนามหลวงหน้าวิหารพระมงคลบพิตร และให้สร้างพระโกศกับเครื่องประดับสำหรับงานพระบรมศพตามกำลังที่จะทำได้ ครั้นเตรียมการพร้อมเสร็จ เจ้าตากจึงเสด็จเข้ามาตั้งพลับพลา อยู่ในกรุงฯ
เจ้าตากให้ขุดพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศน์เชิญลงในพระโกศประดิษฐานที่ในพระเมรุที่สร้างไว้ เที่ยวหาพระสงฆ์ซึ่งยังมีเหลืออยู่ นิมนต์มารับทักษิณานุประทาน และสดับปกรณ์ตามประเพณี แล้วเจ้าตากกับเจ้านายใพระราชวงศ์เดิม และข้าราชการทั้งปวง ก็ถวายพระบรมศพ และประจุพระอัฐิธาติ ตามเยี่ยงอย่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมา
**ไทยรบพม่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บรรณาคาร กรุงเทพ ๒๕๔๓**
***ข้าพเจ้า เมื่อสมัยเป็นนักเรียนป ป.6 เมื่อปี 2507 ครูจัดพาทัศนศึกษากรุงศรีอยุธยา ไม่เคยรู้เลยว่า ที่หน้าวิหารหลวงพ่อมงคลบพิตร เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศน์ เพิ่งมาอ่านเจอ เมื่อนี้ ก็นับได้ ๕๐ ปี ไปเที่ยวก็ไปเที่ยวเฉย ๆ ครูก็ไม่รู้ และคิดว่าอีกหลายคนที่ไปเที่ยวอยุธยา ไปไหว้หลวงพ่อที่วิหารหลวงพ่อมงคลบพิตร ก็ไม่รู้ ในปัจจุบัน น่าเสียดายโอกาสที่ไปเที่ยวที่ได้
แต่ความเพลิดเพลินแต่ไม่มีความรู้