สัมผัสเผลอ หรือ สัมผัสเสียง คือ สัมผัสระหว่างคำที่ผสมสระเสียงสั้น (รัสสระ) กับสระเสียงยาว (ฑีฆสระ) เช่น น้ำ กับ ความ, จ้าว กับ เจ้า, กาย กับ ใต้, ย้ำ กับ ยาม เป็นต้น อันนี้เป็นปัญหาของผมในระยะแรกๆอยู่บ่อยเหมือนกัน เช่น แสงจันทร์เพ็ญเย็นนวลพาหวนย้ำ คิดถึงยามเคยได้ชิดใกล้ขวัญ คำว่า ย้ำ ไม่สามารถ สัมผัส กับ ยาม ได้ เพราะสระ คนละเสียงกัน สระ อำ เป็นสระเสียงสั้น ส่วนยาม เป็นคำผสมกับสระ อา ที่เป็นสระเสียง ยาว การสัมผัสเผลอแบบนี้ เกิดขึ้น เพราะความเข้าใจผิด ว่า สระอำ ไอ ใอ เอา เป็นสระเสียงยาว ทั้งที่จริงแล้ว อำ ไอ ใอ เอา เป็น สระเกิน เสียงสั้น ดังนั้น การไปเผลอนำไป สัมผัส กับคำที่ผสมกับสระเสียงยาว จึง ผิด หลักของกลอนแปด มีบางท่านก็อนุโลมคำว่าย้ำ กับ ยาม ว่าสามารถสัมผัสกันได้ เพราะ ว่าเป็นสระเสียงยาวเหมือนกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด นะครับ ไม่ว่าจะพิจารณาโดยยึดหลัก หรือ ยึดเสียง สัมผัสเพี้ยน คือสัมผัสคำที่ไม่มีเสียงสระใกล้เคียงกัน แต่ความจริงเป็นสระคนละรูป เช่น กำ กับ กัน เวง กับ เดน หรือ เลง กับ เร้น เป็นต้น อันนี้ผู้ที่สันทัดแต่งกลอนหน่อยไม่มีปัญหา เพราะสัมผัสแบบนี้เรียกว่าไม่สัมผัสเลยก็ว่าได้ แต่สำหรับคนแต่งกลอนใหม่ อาจผิดตรงนี้ เพราะอาจจะไม่เข้าใจ ความหมาย และตำแหน่งของสัมผัส เช่นตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นสัมผัสเพี้ยน หรือ ไม่มีสัมผัสนะครับ ในไพรทึบแห่งแดนพราย นางเร้นกายอย่างเงียบ(งัน) เบเรนหมองเศร้าเหลือ(ล้ำ ) ฟังเสียงไพร(วัล)อันวัง(เวง) บ่อยคราเบ(เรน)ได้ยินเสียงแว่ว เสียงฝีเท้าแผ่วดั่งใบลิน(เดน) แต่เสียงครืนครางใต้หล้าบรร(เลง) กลับกระหึ่มในโพรง(เร้น)รับตา คนกุลา ในเหมันต์
25 พฤศจิกายน 2552 22:43 น. - comment id 26227
ในกรณี ของสระ อำ ไอ ใอ เอา หากเข้าใจผิด ว่าเป็นสระเสียงยาว แล้ว ก็ทำให้เข้าใจผิด ว่าบางคำ สัมผัสกันไม่ได้ เช่น นิ(สัย) กับ จัญ(ไร) คำ กับ อัม ทั้งๆที่จริงแล้ว เป็นคำที่สัมผัสกันได้ เพราะ เป็น สระเสียงสั้น เหมือนกัน และมีเสียงเหมือนกัน ซึ่งผมเอง ก็เคยเขียนสัมผัส ในลักษณะ นี้ อยู่ประจำ แต่พอมาวันหนึ่งไปอ่านความเห็นของท่านผู้รู้ ที่มีความเข้าใจที่ผิดพลาดในประเด็นดังกล่าว ก็ทำให้งงอยู่พักหนึ่งเหมือนกัน ครับ
28 พฤศจิกายน 2552 00:25 น. - comment id 26250
ยาว กับ เยาว์ ผมเพิ่งทราบว่าเรียกสัมผัสเผลอ.... เพราะผมเรียกสัมผัสเลือนมาตลอด.... มีคำหลายคำที่การออกเสียงผิดกันจนเคยชินแล้วเข้าใจว่า..เป็นการออกเสียงที่ถูก...เช่น น้ำ....คนทั้งร้อยเปอร์เซ็น...ออกเสียงว่า..น้าม และเมื่อเข้าใจเช่นนั้นก็เอาไปสัมผัสกับ ความ...ยาม...ตาม...งาม...ซะได้ ที่จริงเป็นเรื่องง่ายมาก...ที่จะดูรูปสระเป็นหลัก...สระอำ....สัมผัสกับ สระอำ เท่านั้น นอกจากสัมผัสในซึ่งไม่บังคับ เด็กรุ่นใหม่จะจงใจผิดกันมากกับจุดนี้ โดยเอา... ไอ..สัมผัส...อาย อำ, อัม สัมผัส อาม เอา สัมผัส อาว อัน สัมผัส อาน อึน สัมผัส อืน อูย สัมผัส โอย อม สัมผัส โอม อน สัมผัส โอน สาเหตุคงมาจากการเอาอย่างเพลง... เพลงทำได้เพราะใช้การเอื้อนเสียงของคนร้องเข้าช่วย....และเพลงไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดกับฉันทลักษณ์อะไร....ซึ่งต่างจากกลอน ดีครับที่เอาเรื่องทางวิชาการมาเผยแพร่
28 พฤศจิกายน 2552 10:46 น. - comment id 26255
ดี ครับ คุณ สดายุ ที่มาช่วย เพิ่มเติม ครับ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องกลอนเพลง ครับ ในเรื่องสระ อำ และ ไอ ใอ มีข้อน่าสนใจ อยู่อีกบางประการ คือผมไปอ่านดูข้อมูล มีบางเว็ปที่ บอกว่า นิ(สัย) สัมผัสกับใจ และใหม่ไม่ได้ เพราะไปคิด และเข้าใจว่า สระไอ และสระใอ เป็นสระเสียงยาว ซึ่งไม่ใช่ รวมทั้ง สระ อำ ซึ่งสามารถสัมผัสกับ คำว่า อัม ได้ เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อ สระไอ และใอ ซึ่งเป็นสระเสียงสั้น กับ สระ อะ ซึ่งเสียงสั้น ลดรูป เป็นไม่หันอากาศ เพื่อ สามารถนำคำสะกด ในแม่ เกย มาสะกด จะเกิด เสียงเดียวกันกับ สระไ อและ ใอ เช่นเดียวกับ สระ อำ กับ คำที่ใช้สระ อะ ลดรูป สะกด ด้วย แม่ กม ก็สามารถจัดเป็นคำสัมผัสสระได้ เช่นเดียวกัน คำกลุ่มนี้ได้แก่ กำ ทำ จำ (ธัม)มา อัน(นัม) (กัม)มันตภาพ เป็นต้น และ ไกล ใกล้ ใจ ใหม่ นิ(สัย) อา(ลัย) ห(ทัย) เป็นต้น ขอบคุณ ที่มาเยี่ยมเยียน และร่วม แลกเปลี่ยนกัน ครับ
29 พฤศจิกายน 2552 00:45 น. - comment id 26262
ครับ.... มีคนเคยพูดเหมือนกันว่า ไอ...กับ..ใอ...เสียงไม่เหมือนกัน 100% แต่ส่วนตัวผมว่า..มันเกินไป ครับ ไอ...ใอ...อัย...สำหรับผมแล้วคิดว่าใช้ได้ เป็นเสียงเดียวกัน.... สิ่งที่ยากคือ...เราแสดงให้เห็นว่ามันต่างกันไม่ได้...เพราะเมื่อเราลองออกเสียงแล้ว ที่ว่า เสียง ไอ ยาวกว่า ใอ นั้นมันพิสูจน์ยาก หากลากเสียงยาวก็จะไปติดกับ..อาย ตรงนี้ผมจึงอนุมัติให้ตัวเองใช้ได้ครับ... แค่นี้ก็พอควรแก่การเคร่งครัดต่อฉันทลักษณ์....แล้วครับ เช่นเดียวกับ... กัน...กรร... กรรม...กำ...กัม.... ผมก็ว่าเสียงเดียวกัน และหากเล่นลหุในฉันท์...บรรดา...ร-หัน ทั้งหลายใช้ได้เลย... กรรม...จะอ่านเป็น..กะมะ ธรรม...จะอ่านเป็น...ทะมะ ทรรศนะ....จะอ่านเป็น....ทะสะนะ ขอบคุณที่นำประเด็นสำหรับเวปกลอนควรรู้มาเผยแพร่...ครับ
29 พฤศจิกายน 2552 10:12 น. - comment id 26267
ขอบคุณกระทู้ที่มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ ฝนก็ชอบเซิร์ชหาข้อมูลหลักการเขียนกลอนต่างๆแล้วปริ้นออกมาเก็บไว้อ่านเวลาลืมๆค่ะ แต่บ่อยครั้งที่แต่งตามอารมณ์อ่ะค่ะ ขอบคุณทุกกระทู้นะคะ
29 พฤศจิกายน 2552 15:31 น. - comment id 26272
ขอบคุณมากนะครับ นะครับที่มาช่วย เพิ่มเติมเพื่อ ความสมบูรณ์ มากขึ้นของข้อมูลและมุมมองครับ ผมก็เห็นด้วย กับความเห็นของคุณ สดายุ ครับ
29 พฤศจิกายน 2552 15:33 น. - comment id 26273
คุณฝนครับ ขอบคุณมากที่มา ร่วมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นนะครับ
1 สิงหาคม 2553 14:16 น. - comment id 31946
ขอบคุณมากๆเลยนะคะ รู้อะไรเพิ่มขึ้นเยอะเลยค่ะ ชอบแต่งกลอนแต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีสัมผัสเลือนกับสัมผัสเผลอด้วย
3 พฤศจิกายน 2553 10:59 น. - comment id 32386
แล้วจะทำอย่างไรอนุโลมได้ไม๊ใครรู้เรื่องสัมผัสเผลอตอบที
15 มีนาคม 2554 16:41 น. - comment id 33150
ผมงงอ่ะครับ คำว่า ใต้ กับ เท้า ครูที่โรงเรียนสอนว่าเป็นเสียงยาว จริงๆมันเป็นยังไงกันแน่?
27 สิงหาคม 2554 18:41 น. - comment id 34554
ขอบคุณมากๆเลยนะคะ รู้อะไรเพิ่มขึ้นเยอะเลย ค่ะ ชอบแต่งกลอนแต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีสัมผัส เลือนกับสัมผัสเผลอด้วย กันยา ........................... ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยียน หากมีอะไรจะแนะนำ ก็เชิญนะครับ
27 สิงหาคม 2554 18:44 น. - comment id 34555
แล้วจะทำอย่างไรอนุโลมได้ไม๊ใครรู้เรื่องสัมผัสเผลอตอบที ศุภมนต์ ......................... ในความเห็นผม คิดว่าไม่น่าอนุโลม ได้ ครับ เพราะว่า ถ้าเรามาลองออกเสียงแล้ว มันเป็นคนละเสียงกันจริงๆ ครับ
27 สิงหาคม 2554 19:57 น. - comment id 34556
ผมงงอ่ะครับ คำว่า ใต้ กับ เท้า ครูที่โรงเรียนสอนว่าเป็นเสียงยาว จริงๆมันเป็นยังไงกันแน่? ธนพนธ์ ................... เท่าที่ผมค้นคว้ามา และพยายามแยกเสียง ก็เป็น สระเสียงสั้นนะครับ ไต้ ผสมด้วย สระ ไอ ไอ ออกเสียง เท่ากับ อัย อัย คือ อะ สกด ด้วย ย ครับ เป็นเสียงสั้น ที่สะกด ด้วยอักษรในแม่เกย นะครับ