การชิงสัมผัส บางท่านเรียก สัมผัสสะท้อน บางท่านเรียก สัมผัสแย่ง ซึ่งตามที่ผม ตรวจ ดูแล้ว ก็เป็นลักษณะเดียวกัน โดย Yimwhan นั้นออกความเห็นไว้ดังนี้ ว่า การชิงสัมผัส....เป็นเรื่องของคำส่งคือคำที่แปดหรือเก้าของวรรค ที่จะส่งเสียงไปสัมผัส กับวรรคถัดไป ดังนั้นถ้าคำส่ง(คำที่แปดหรือเก้า) เป็นเสียงใด คำก่อนหน้านั้นทั้งเจ็ดหรือแปดคำ จะมีเสียงเดียวกับคำส่งย่อมจะเป็นชิงสัมผัสเสียงของวรรคเสมอนะครับ ควรหลีกเลี่ยงเพราะจะ ทำให้ความไพเราะของกลอนลดลงไป สำหรับ ม้าก้านกล้วย เรียกข้อห้ามชนิดนี้ ว่า สัมผัสสะท้อนคำ โดยยกตัวอย่างจาก บทกลอนว่า ใจ ของวรรคส่ง ในท่อนที่แล้ว จะต้องส่งมาสัมผัสกับ ตำแหน่งท้าย ของวรรครับ (คำว่า ใหม่) แต่ วรรคนี้ มีคำว่า ให้ มาสะท้อนสัมผัสเสียก่อน ....จนไม้โศกสิ้นร่างลงกลางป่า ด้วยหนักเหลือภาระจึงสูญสิ้น ไม่อาจหาอาหารพอต่อชีวิน เพราะกาฝากฝากกากินจนสิ้น(ใจ) ....กาฝากยังชูช่อต่อสายพันธุ์ (ให้)กานั้นกินลูกไปปลูก(ใหม่) ไม่มีแม้คำอำลาคำอาลัย ต้นไม้ใหญ่ที่ตายไป เพราะใครเอย สำหรับ บุญเสริม แก้วพรหม นั้นเรียกสัมผัสแบบนี้ว่า สัมผัสแย่ง และอธิบายว่า หมายถึง การมีเสียงคำอื่นในวรรคเดียวกันมารับสัมผัสเสียก่อนที่จะถึงคำที่อยู่ในตำแหน่ง รับสัมผัสตามที่กำหนดไว้ในลักษณะบังคับ (เรียกว่า แย่งสัมผัส หรือ ชิงสัมผัส ก็มี) เช่น หวังประเทศลุกฟื้นคืนจากภัย (ไม่) กลัว (ใคร) มากลุ้มรุมข่มเหง ถึงวัง (เวง) แต่ใจไม่กลัวเกรง ถึงมาเบ่งจะสู้ให้รู้กัน ข้อบกพร่อง คือ ไม่ มาแย่งสัมผัสเสียก่อนคำว่า ใคร ซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับ เวง มาแย่งสัมผัสเสียก่อนคำว่า เกรง ซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับ กิตติกานต์ จาก บ้านกลอนไทย ก็มีความเห็นไว้ดังนี้ กิตติกานต์เคยถูกติงเรื่อง>>>การชิงสัมผัส เช่น ...บนถนนสายนี้คลุกคลีฝุ่น แต่เคยคุ้นชินชามาแต่หลัง (ทั้ง) รักโลภ โกรธหลงปนชิง(ชัง) ระไวระวังยังพลั้งพลาดแทบขาดใจ เธอบอกว่า ในบทนี้ สังเกตที่วรรครับ คำสุดท้าย หลัง ต้องสัมผัสกับ ชัง แต่ก่อนจะถึงคำรับสัมผัสที่ ชัง ก่อนชัง ในวรรคเดียวกัน มีคำที่ใช้สระเดียวกัน คือคำว่า ทั้ง ทั้ง จึงเป็นการชิงสัมผัสค่ะ สำหรับ วาสนา บุญสม ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงของกลอน ได้เขียนเสนอเรื่องเทคนิค การเขียนกลอนบางประการ ไว้ในหนังสือ กลอนสัมผัสใจได้อย่างไร โดยบุคคลท่านนี้ได้ เสนอแนะแนวทางเรื่องการเขียนกลอนที่ถูกต้อง และการเลือกสรรคำที่ใช้ในการเขียนกลอนหลาย แง่มุมด้วยกัน ในส่วนเรื่อง สัมผัสเลือน นั้น ท่านเสนอความรู้และความคิดเรื่องวิธีการชิงสัมผัส และสัมผัสเลือน ไว้ดังนี้ ในการแต่งกลอนแต่ละวรรคไม่ใช้สระเสียงเดียวกันในตำแหน่งคำที่ ๓ กับคำที่ ๘ เพราะ จะทำให้เกิดการใช้สระเดียวกันในวรรคเดียวกันมากมายเกินไป หรือเป็นการรับสัมผัสที่พร่ำเพรื่อ จนด้อยความไพเราะและความสมดุล ดังกลอนตัวอย่างที่แสดงถึงความบกพร่องในการใช้คำของ กลอนแต่ละวรรค ดังต่อไปนี้ ห้วงลึกลมหายใจ นายทุน (จาก) ญี่ปุ่นลงทุน (มาก) เที่ยวออกปากสร้างโรงงานกว้านซื้อที่ ราวดอกเห็ดล้อมเมืองรุ่งเรืองดี แต่ยายนี้ทอดถอนใจพึ่งใครเอย ศิลปินอย่างฉัน ทุกข์วิบากยากจนทางชนชั้น ศิลปิน(ไทย) อย่างฉันย่อมหวั่น (ไหว) ยามฉัน (ใด) ฉันจนใครสน (ใจ) จะหันหน้าพึ่งใครไม่มีเลย อิจฉาริษยา คนอิจ (ฉา) ตาร้อนชอบค่อน(ว่า) มีจิต(ใจ) ไร้เมตตามากสา (ไถย) ส่อนิ(สัย)อันธพาลคิดจัญ(ไร) ริษ(ยา)เรื่อยไปในทุก(ครา) ในกลอนบทหลังสุดนี้จะเห็นว่ามีสัมผัสเลือนและชิงสัมผัสทั้ง ๔วรรค ได้แก่วรรคที่ ๑,๒, ๓ และ ๔(ในส่วนที่เน้นตัวอักษรในวงเล็บไว้) แต่ตามความเห็นผมนั้นเรื่องของ วาสนา บุญสม ที่ผมยกมา น่าจะเป็นการผสมผสานระหว่างสัมผัสเลือนและการชิงสัมผัส หรือ สัมผัสแย่ง ในรูปหนึ่งด้วย นะครับ ผิดถูกอย่างไร ผู้รู้ช่วยกันออกความเห็น ช่วยกันด้วยนะครับ แต่ไม่ว่าจะเป็นสัมผัสเลือน ชิงสัมผัส หรือผสมผสาน ทั้งสองอย่าง ก็เป็นสัมผัสที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะเป็นการทำให้บทกลอนสะดุด หรือสัมผัสเลอะเลือนขาดความไพเราะด้วยกันทั้งสิ้น ส่วน ประเด็นของการชิงสัมผัสโดยตรงนั้น คือทำให้จังหวะกลอนสะดุด หยุดชะงัก ทำให้ความไพเราะลดลง จึงไม่เป็นที่นิยม คนกุลา ในเหมันต์ ขอบคุณ กาลเวลา, บุญสม แก้วพรม, Anna_Hawkins, ช่อประยงค์ (หรือ ประยงค์ อนันทวงศ์), วาสนา บุญสม, Yimwhan, ม้าก้านกล้วย และ ครูไท ที่ได้มีการค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องเหล่านี้ไว้ ให้ได้ไปสืบค้นเพื่อศึกษากัน
24 พฤศจิกายน 2552 18:36 น. - comment id 26201
อีกประการหนึ่งในที่นี้ หลังจากที่ผมไปอ่านดูแล้ว ในวรรคที่ สาม หรือวรรครับ ของกลอน อิจฉาริษยา นั้น การสัมผัส ระหว่าง นิ(สัย) กับ จัญ(ไร) ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าเป็นคำสัมผัสกันไม่ได้ เพราะเป็นคนละสระ กัน ในที่นี่ อาจจะไม่เข้าข่าย ชิงสัมผัส นะครับ ไม่ทราบว่า ท่านผู้รู้จะว่าอย่างไรบ้างครับ
24 พฤศจิกายน 2552 19:37 น. - comment id 26202
นิ(สัย) กับ จัญ(ไร) สัมผัสกันได้อยู่แล้ว ถึงรูปสระจะไม่เหมือนกัน แต่อ่านออกเสียงเหมือนกัน ..
24 พฤศจิกายน 2552 21:54 น. - comment id 26204
นิ(สัย) กับ จัญ(ไร) การเขียน สัย เป็นการเขียนที่เกิดจาก การใช้สระแปลงรูปค่ะ แต่ออกเสียงเป็นสระไอ(ใส) สัย กับ ไร นับเป็นคำสัมผัสกันได้ โดยความเข้าใจของกิตติกานต์ เป็นการชิงสัมผัสค่ะ ขออนุญาตแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนะคะ และขอบคุณ ความรู้ที่ได้จากการอ่านเพิ่มเติมค่ะ
25 พฤศจิกายน 2552 10:07 น. - comment id 26206
คุณ อิม กับ คุณ กิตติกานต์ ครับ บางตำรา บอกว่า สัย มาจาก สะ สระอะ ที่เป็นเสียงสั้น ลดรูปเป็น ไม่หันอากาศ แล้ว สะกดด้วย ย จึง คำ ที่ประกอบจากสระเสียงสั้น สะกด ด้วย คำในแม่ เกย ส่วน ไร เป็น สระ ไอ เสียงเปิด เป็นสระ เสียงยาว ท่านจึงสรุป ว่าสองคำนี้จึงสัมผัสกันไม่ได้ ผมมีความเห็นเรื่อง นี้ อยู่ครับ แต่ต้องเขียนยาวเดี๋ยวผม จะลองค้นคว้าและเขียนเรื่อง นี้ ดู ครับ ดี ครับ ถือว่าแลกเปลี่ยน กัน
25 พฤศจิกายน 2552 10:52 น. - comment id 26207
เป็นอีกคนครับ..ที่ชอบเขียน ทั้งซ้ำ..ทั้งซ้อน..ชิงสัมผัส ผมว่ามันขึ้นกับการนำมาเล่น..นะครับ.. น่าสนใจมากครับคุณ..ให้ข้อคิดมากมาย สุขอย่าได้สร่าง
25 พฤศจิกายน 2552 11:43 น. - comment id 26209
เรียนคุณคนกุลา ท่านครูสุนทรภู่ ใช้ ไ ใ และ อัย สัมผัสกันเป็นการปรกติ จึงขอยกตัวอย่างจากนิราศภูเขาทองดังนี้ครับ ออกจากวัดทัศนาดูอาวาส เมื่อตรุษสารทพระวสาได้อาศัย สามฤดูอยู่ดีไม่มีภัย มาจำไกลอารามเมื่อยามเย็น ............................................................................ โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิสัย นี่หรือจิตคิดหมายมีหลายใจ ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่าพึงคิดฯ .................................................................................................................................... ถึงบ้านใหม่ใจจิตก็คิดอ่าน จะหาบ้านใหม่มาดเหมือนปรารถนา ขอให้สมคะเนเถิดเทวา จะได้ผาสุกสวัสดิ์จำกัดภัย ถึงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้ เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน อุปไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา .................................................................................................................................... โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี ................................................................................................................................... งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม ดังขวากแซมเสี้ยมแซกแตกไสว ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง .................................................................................................................................. ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได คงคงลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน ............................................................................................................................ ด้วยได้ไปเคารพพระพุทธรูป ทั้งสถูปบรมธาตุพระศาสนา เป็นนิสัยไว้เหมือนเตือนศรัทธา ตามภาษาไม่สบายพอคลายใจ ใช่จะมีที่รักสมัครมาด แรมนิราศร้างมิตรพิสมัย ซึ่งครวญคร่ำทำทีพิรี้พิไร ตามนิสัยกาพย์กลอนแต่ก่อนมา ................................................................................................................................. ยกตัวอย่างมาเพื่อการศึกษานะครับ
25 พฤศจิกายน 2552 12:01 น. - comment id 26211
คุณ คอมพูทน ครับ เรื่องหลักการนี้มาทีหลังคนเขียนกลอนนะครับ หากเขียนแล้วไพเราะ เขียนแล้วมีความสุข ก็เขียนเถอะครับ แต่หากจะต้องไปเข้าวงการกลอนเขา ก็อาจจะต้องจับหลักไว้ บ้างเพื่อเป็นแนว นะครับ ถือว่ารู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม นะครับ ขอบคุณ สำหรับ ความเห็น ครับ
25 พฤศจิกายน 2552 12:03 น. - comment id 26212
ดีครับ คุณ เสมอจุก ครับ ผมก็มีความเห็น บางประการ สำหรับ สระ ไอ ใอ และ อัย แต่เมื่อเขามีความเห็นเป็นสองทาง ผมคิดว่า ขอเวลา ค้นคว้า อีกสักนิดแล้ว จะเขียนถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะ ครับ ขอบคุณ ที่นำกลอน ท่านภู่ มาเป็นแนวให้ศึกษา ครับ
25 พฤศจิกายน 2552 14:51 น. - comment id 26213
เรียนคุณกุลา แถมอีกนิดครับ สระไทย มีทั้งหมด ๓๒ เสียง แบ่งเป็นสระเสียงสั้น ๑๘ เสียง และสระเสียงยาว ๑๔ เสียง สระเสียงสั้น หรือมีชื่อจริงเพราะๆ ว่า.... รัสสระ (อ่านว่า รัด-สะ-สะ-หระ) มีพวกพ้อง ดังนี้ อะ อิ อึ อุ เอะ แอะ โอะ เอาะ เออะ เอียะ เอือะ อัวะ ฤ ฦ อำ ใอ ไอ เอา สระเสียงยาว หรือ..ทีฆสระ (อ่านว่า ที-คะ-สะ-หระ) มีพวกพ้อง ดังนี้ อา อี อือ อู เอ แอ โอ ออ เออ เอีย เอือ อัว ฤา ฦา
25 พฤศจิกายน 2552 18:16 น. - comment id 26216
ถูก แล้ว ครับ ไอ ใอ ถือเป็น สระ เกิน สระเกิน คือสระที่มีสำเนียงซ้ำกับสระแท้ แต่มีเสียงพยัญชนะประสมหรือสะกดอยู่ด้วย มี ๘ ตัว คือ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ อำ ไอ ใอ เอา ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ๔ ตัวนี้มีเสียงซ้ำกับเสียง รึ รือ ลึ ลือ ซึ่งเป็นสระมาจากภาษาสันสกฤต ส่วนมากใช้ในคำที่มาจากภาษาสันสกฤต สระ อำ มีเสียงซ้ำกับสระ อะ มีตัว ม สะกด คือ อัม, สระ ใอ ไอ มีเสียงซ้ำกับสระ อะ มีตัว ย สะกด คือ อัย สระ เอา มีเสียงซ้ำกับสระ อะ มีตัว ว สะกด แต่ในคำไทยไม่ใช้สระ อะ และมีตัว ว สะกด ต้องเขียนเป็นสระ เอา แทน สระเกินเหล่านี้ ถึงแม้จะมีเสียงซ้ำกับสระแท้แต่ก็มีวิธีใช้ที่แตกต่างกัน ขอบคุณ สำหรับข้อมูล ครับ
25 พฤศจิกายน 2552 18:51 น. - comment id 26220
คุณ อิม คุณ กิตติกานต์ และ คุณเสมอจุก ครับ ที่ผมไปค้นดู เรื่อง นิสัย และจัญไร ว่าสัมผัสกันได้ไหม เพราะบางท่าน บอกว่า สระไอ เป็น สระเสียงยาว ขณะที่ อัย เป็นสระเสียงสั้นนั้น เป็นความเข้าใจผิด ครับ เพราะ สระไอ และ สระใอ เป็นสระเกิน เป็นสระเสียงสั้น เทียบได้กับ สระ อะ มี ย สะกด ดังนั้น ทำให้ นิสัย สัมผัส กับ จัญไร ได้ จึงเป็น ชิงสัมผัส จริงๆ ครับ ขอบคุณที่ช่วยออกความเห็นติติง มา ครับ
25 พฤศจิกายน 2552 21:52 น. - comment id 26226
ผมคิดว่า กลอนแปดมีข้อบังคับอย่างเดียวเท่านั้นคือสัมผัสนอก ที่เหลือเป็นข้อควรระวัง ถ้าอ่านแล้วไม่สะดุดหูถือว่าใช้ได้ ขึ้นอยู่กับผู้แต่งว่าจะแต่งออกมาอย่างไร ข้อควรระวังเหล่านั้นถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงเพราะจะทำให้กลอนไม่ไพเราะ แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราเขียนกลอนถึงระดับหนึ่งแล้ว ดูจังหวะความไพเราะออก ข้อควรระวังต่างๆ เราจะรู้สึกได้เองโดยไม่ต้องอ่านตำรา อาจถึงขั้นที่ว่าสระเสียงใกล้เคียงกัน เช่น แม่กง แม่กน แม่กม จะเลี่ยงไม่พยายามวางเป็นสัมผัสนอกของบทติดกันเลยเพราะอ่านแล้วสะดุด ทั้งๆที่ไม่ผิดฉันทลักษณ์ สัมผัสเลือน ชิงสัมผัส ผมก็ยังใช้บ่อย สำคัญที่การสื่อความมากกว่า และที่สำคัญที่สุดต้องไหลลื่น ไม่สะดุดครับ
25 พฤศจิกายน 2552 23:25 น. - comment id 26228
ใช่ครับ คุณ ฤทธิ์ การเขียนกลอนแปดนั้น พื้นฐานอยู่ที่หลักการเบื้องต้น หรือ ฉันทลักษณ์ เบื้องต้น เท่านั้นเอง แต่การที่ผมพยายามไปหาอ่าน และเรียบเรียงไว้ ก็เพื่อหาความรู้ให้ตนเอง นะครับ เพราะเขียนกลอนมาหลาย ร้อยกลอน ในเวลาหลายๆปีมานี้ ก็อยากหาความรู้เพิ่มเติมนะครับ ความรู้พวกนี้ หากเป็นนักกลอนมือเก่าก็คงอ่านไว้ เพื่อเป็นข้อควรระวังเท่านั้นเอง แหละครับ แต่ หากเป็นนักกลอนใหม่ๆ ก็อาจจะนำไปใช้เป็นแหล่งค้นคว้า อีกแห่งหนึ่ง แทนที่จะรู้และเก็บไว้ อยู่เพียงคนเดียว การเขียนกลอน นอกจาก สัมผัสนอกที่เป็นหลักพื้นฐานแล้ว ข้อกำหนด สัมผัสปลีกย่อย ออกไป ท่านผู้รู้ ต่างๆบัญญัติขึ้น ก็คงหวังจะให้ กลอนเป็นที่ประทับใจ ดังนั้นหากนักกลอนทำไปโดยไม่รู้ อาจทำให้กลอนขาดความไพเราะได้ แต่สำหรับบรรดานักกลอนมือเก่า และใช้อย่างตั้งใจ ก็จะกลายเป็นลูกเล่น ที่มีเสน่ห์ ไปเสียอีก ครับ เรื่องนี้ก็เป็นลักษณะที่ว่า ท่วงทำนองของใคร ของมัน มั๊ง ครับ ขอบคุณ นะครับ ที่มาเยือนกัน และช่วยแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนกัน นะครับ
3 ธันวาคม 2552 11:47 น. - comment id 26306
ว้าวๆๆๆ ไม่ได้เข้ามาซะนาน ตอนนี้พี่ชายเรากลายเป็นกูรูด้านกลอน8ไปแล้ว ว้าวๆๆๆๆ แบบว่า เข้ามาแซวจ้า ไม่ได้เข้ามานาน ตอนนี้ย่าป่วยหนักมาก หวังว่าพี่คงสบายดี ว่างๆ ออนเอ็มบ้างเน้อ คิดทึ้งคิดถึง หุๆ ด้วยจิตคารวะ
3 ธันวาคม 2552 22:07 น. - comment id 26314
นิลเทวี ครับ ไม่ถึงขั้น กูรู ดอก ครับ เพียงอยากรู้ เพิ่ม เลยไปอ่านค้นคว้าดู ทราบแล้วไม่อยากเก็บไว้คนเดียว เลยมาลง เป็นกระทู้ เพื่อคนสนใจ จะได้อ่านเพิ่มเติม นะครับ แล้วจะพยายามออนเอ็มให้มากขึ้น ครับ