๔ เดือนอ่านออกเขียนได้แล้วที่อุทัยธานี กระทรวงศึกษา (พิการ!) ตื่นหรือยัง?

ธมกร

สพท.อุทัยธานี ร่วมกับ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม จัดทำโครงการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สัมฤทธิ์ผลงดงามภายใน ๔ เดือน!
ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
                ข้อมูลจาก web site ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เรื่อง เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ล่าสุด) นับเป็นความล้มเหลวของการเรียนการสอนภาษาไทยที่น่าเป็นห่วงที่สุด 
                ๑.เฉพาะนักเรียนชั้น ป.๒ ปีการศึกษา ๒๕๔๙ ที่ขึ้น ป.๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๐ ทั่วประเทศที่มีจำนวนเขตพื้นที่การศึกษา ๑๗๕ เขต จำนวนเด็ก ๖๓๗,๐๐๔ คน  มีสภาพอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  จำนวน ๗๙,๓๕๘ คน   
                ๒.กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติงบประมาณเพื่อการแก้ปัญหา ๓๐๐ บาทต่อ ๑ คน รวมเป็นงบประมาณที่ใช้จ่ายไปแล้ว  ในปีการศึกษา ๒๕๕๐ เป็นเงินทั้งสิ้น ๓๙,๖๗๙,๐๐๐ บาท (สามสิบเก้าล้านหกแสนเจ็ดหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) 
                ๓.เมื่อโฟกัสภาพลงไปที่เขตพื้นที่การศึกษา ในส่วนของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุทัยธานี มีจำนวนนักเรียน ป.๒ ที่ขึ้น ป.๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๐ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ตามที่โรงเรียนสำรวจแจ้งเป็นข้อมูล สพท.อุทัยธานี และ สพท.อุทัยธานี แจ้งเป็นข้อมูล สพฐ. มีจำนวน ๕๖๕ คน
                สพท.ต่างๆ ทั่วประเทศจะแก้ปัญหากันด้วยวิธีการอย่างไร และมีผลสัมฤทธิ์อย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่น่าติดตาม...
                แต่ในส่วนของ สพท.อุทัยธานี ได้จัดให้มีการประชุมอบรมครูผู้สอนชั้น ป.๓  ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ จำนวน ๗๕ คน โดยเชิญ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ (ครูกานท์) จาก ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม เป็นวิทยากร  หลังจากการอบรม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้  กระทั่งเข้าถึงองค์ความรู้ของเหตุแห่งปัญหา แนวทางแก้ไขปัญหา วิธีการสอน และกระบวนการบริหารจัดการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจนร่วมกันแล้ว  สพท.อุทัยธานี จึงได้จัดทำโครงการ อ่านออกเขียนได้ภายในสี่เดือน ขึ้น โดย สพท.อุทัยธานี ร่วมกับ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม (ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ) จัดอบรม ครั้งที่ ๒ เมื่อ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๐  เพื่อให้การอบรมแก่ผู้บริหารโรงเรียน ที่สมัครใจเข้าร่วมเรียนรู้ทั้งสิ้น จำนวน  ๑๕๐ โรงเรียน (จำนวนโรงเรียนในเขตมี ๒๕๙ โรงเรียน) หลังการอบรมเรียนรู้แล้ว เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่เห็นด้วยกับแนวทางและกระบวนการแก้ปัญหาของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ สมัครเข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ ปรากฏว่ามีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน  ๘๘ โรงเรียน  
                จากนั้น สพท.อุทัยธานี โดย นายชวฤทธิ์ จงเกษกรณ์ (หัวหน้ากลุ่มงานนิเทศ) นางอำนวย กาญจนะ (ศึกษานิเทศก์) และคณะศึกษานิเทศก์ที่เกี่ยวข้อง จึงสำรวจข้อมูลทั้งโดยการลงพื้นที่สำรวจเองโดยตรงและส่งแบบสำรวจให้โรงเรียนดำเนินการ  กลับพบว่ามีนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เพิ่มจากจำนวนที่โรงเรียนแจ้งไว้เดิมอีกเป็นจำนวนมาก และมีสภาพปัญหาทุกชั้นปี จำนวนโดยสรุปตั้งแต่ชั้น ป.๒ ถึง ม.๖ เฉพาะโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำแนกเป็นกลุ่มอำเภอ ดังนี้
                อำเภอเมืองอุทัยธานี ๑๗๒ คน
                อำเภอหนองขาหย่าง ๙ คน  (จำนวนแตกต่างจากอำเภออื่นอย่างน่าตั้งข้อสังเกต)
                อำเภอหนองฉาง ๑๑๔ คน
                อำเภอทัพทัน ๒๓๘ คน
                อำเภอบ้านไร่ ๘๗๔ คน
                อำเภอสว่างอารมณ์ ๒๙๖ คน
                อำเภอลานสัก ๕๒๒ คน
                อำเภอห้วยคต ๑๔๘ คน
                รวม ๒,๔๗๓ คน
                นี่แค่จังหวัดเดียว ที่ลงลึกถึงความจริงแห่งการ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จากยอดจำนวน (ป.๒) ๕๖๕ คนทั้งจังหวัด เพิ่มเป็นจำนวน (ป.๒ ถึง ม.๖) ๒,๔๗๓ คนใน ๘๘ โรงเรียน   จังหวัดอุทัยธานีจังหวัดเดียว  ยังพบข้อมูลจริงของปัญหาถึงเพียงนี้  แล้วทั่วประเทศ ๑๗๕ เขตล่ะจะเป็นยอดจริงที่มหาศาลเพียงใด  น่าใจหาย...!
                สพท.อุทัยธานี จัดอบรมครั้งที่ ๓  เมื่อ ๒๙-๓๐ กันยายน ๒๕๕๐  เพื่อให้การอบรมแก่ ครูอาสา ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนแก้ปัญหา  หลังการอบรมแล้วนั้นให้ทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจัดกิจกรรมดำเนินการสอนแก้ปัญหา และกลุ่มงานนิเทศจัดทำแผนงานติดตามนิเทศและประเมินผลเดือนละ ๑ ครั้ง รวม ๔ ครั้ง โดยมี ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ จาก ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม เป็นที่ปรึกษาร่วมติดตามสนับสนุนด้วยทุกครั้งอย่างใกล้ชิด
                กระบวนการสอนแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ดังกล่าว กำหนดให้ดำเนินการตามแนวทางของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ และหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว ซึ่งมีสาระสำคัญแต่ละขั้นคือ
                ๑.เนื้อหา
                เน้นให้ครูอ่านออกเสียงแจกลูกผันเสียงนำนักเรียน  แล้วให้นักเรียนเปล่งเสียงอ่านตาม  ทั้งคำเดี่ยวและคำประสม  จากนั้นให้ฝึกเขียนคำ  เขียนคำตามคำบอก  เขียนคัดลายมือ  และเขียนกลุ่มคำตามแบบฝึกในหนังสือ  (เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว)
                เดือนแรก  แจกลูกผันเสียง  แม่ ก กา      
                เดือนที่สอง  แจกลูกผันเสียง  ตัวสะกดคำเป็น  แม่ กง กน กม เกย เกอว
                เดือนที่สาม  แจกลูกผันเสียง  ตัวสะกดคำตาย  แม่ กก กด กบ  คำสระเปลี่ยนรูปและลดรูป
                เดือนที่สี่  สอนแจกลูกผันเสียง  คำควบกล้ำ คำอักษรนำ และคำที่มีลักษณะพิเศษอื่นๆ 
                ๒.วิธีการ
                (๑) โรงเรียนจัด ครูอาสา เพื่อเป็นผู้สอนแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะ  กำหนดให้ใช้ ครู ๑ คน ต่อนักเรียนไม่เกิน ๑๐๐ คน
                (๒) ครูอาสาจัดแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มละไม่เกิน ๒๐ คน  แล้วจัดตารางสอนให้แต่ละกลุ่มมาเรียนวันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง  รวม ๔ เดือนไม่น้อยกว่า ๘๐ ชั่วโมง  ต่อกลุ่มต่อคน  โดยให้ใช้เวลาเรียนปกติเป็นชั่วโมงสอนแก้ปัญหา  ให้นักเรียนทิ้งชั่วโมงเรียนวิชาอื่นมาวันละ ๑ ชั่วโมง (ไม่ซ้ำวิชากันในแต่ละวัน) เป็นเวลา ๔ เดือนตลอดโครงการ  ซึ่งนักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้น แม้จะอยู่ในชั่วโมงเรียนวิชาอื่นใดก็ไม่บรรลุผลการเรียนอะไรมากนัก  ตราบใดที่พวกเขายังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  จึงควรให้มาฝึกทักษะอ่านเขียนให้ได้ก่อน  และโครงการนี้ก็ไม่สนับสนุนให้สอนแก้ปัญหาในช่วงเวลาพักของนักเรียน  หรือในช่วงเวลาเลิกเรียนที่นักเรียนจะกลับบ้าน  เพราะเหตุว่าช่วงเวลาพักนักเรียนจะขาดสมาธิในการฝึกฝน จิตเขาจะห่วงเพื่อน และห่วงเล่น  ส่วนช่วงเลิกเรียนนั้นเป็นช่วงที่นักเรียนอ่อนล้า  ขาดพลังในการเรียนรู้   อีกทั้งผู้ปกครองก็มารอรับกลับบ้าน ไม่สะดวกและได้ผลไม่เต็มที่ 
                (๓) กำหนดให้ครูเขียนคำ และแจกลูกคำที่สำหรับออกเสียงอ่าน ออกเสียงสะกดคำ และผันเสียงบนกระดานดำ  ชวนนักเรียนเปล่งเสียงอ่านตามครู  อ่านซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง และครบถ้วนทุกคำที่มีอยู่ในแบบฝึกของหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว  อ่านได้แล้วฝึกเขียนคำตามคำบอก และเขียนคัดลายมือ  ตามลำดับไปทีละบททีละเดือน จากง่ายไปหายาก
                แต่ในการติดตามการดำเนินโครงการ  ได้พบเหตุปัจจัยหลายประการที่น่านำมาเป็นข้อมูลประกอบพิจารณาแก้ไขปรับปรุงโครงการต่อไป  ได้แก่ บางโรงเรียนไม่ได้ทำตามแนวทางที่กำหนด เช่น ไม่ได้จัดวางตัวครูอาสาที่แน่ชัด ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแก้ปัญหาวันละ ๑ ชั่วโมงให้สม่ำเสมอได้  โดยอ้างว่าติดกีฬาบ้าง  ติดการเตรียมเด็กเพื่อสอบวัดประเมินผลเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง  ขาดแคลนครูบ้าง  ฯลฯ  แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ล้วนเกิดจากการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีคิด  วิธีบริหาร  และวิธีสอน  ดังจะเห็นว่าโรงเรียนในโครงการส่วนใหญ่ที่เอาจริงเอาจังกับการดำเนินกิจกรรมทั้งด้านการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางและวิธีการที่กำหนด  ล้วนประสบผลสัมฤทธิ์ที่ดี  แตกต่างกันอย่างมาก 
                ขณะนี้การดำเนินกิจกรรมโครงการเสร็จสิ้นลงแล้ว  สพท.อุทัยธานี ร่วมกับ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ได้ออกติดตามประเมินผลแล้วเสร็จ  ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๑  จำนวน  ๗ โรงเรียน  ปรากฏว่า นักเรียนอ่านออกเขียนได้ผ่านเกณฑ์  เขียนตามคำบอก คำที่กำหนดให้ครอบคลุมคำในมาตราสะกดต่างๆ (ตรงมาตรา) ทั้ง ๙ แม่ คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ คำควบกล้ำ คำอักษรนำ และคำผันวรรณยุกต์เสียงต่างๆ  จำนวน ๕๐ คำ  คิดเป็น ๑๐๐%  กำหนดช่วงคะแนนดังนี้ 
            ผ่านดีเยี่ยม   ได้คะแนนระหว่าง   ๕๐-๖๐ %
            ผ่านดีมาก  ได้คะแนนระหว่าง   ๖๑-๗๐ %
            ผ่านดี  ได้คะแนนระหว่าง   ๗๑-๘๐ %
            ผ่านพอใช้  ได้คะแนนระหว่าง   ๘๑-๑๐๐ %
            ไม่ผ่าน  ได้คะแนนระหว่าง  ๐๐-๔๙ %
               รายนามโรงเรียนและผลการประเมิน
               ๑.โรงเรียนบ้านเขาวง  อำเภอลานสัก  นักเรียนในโครงการ  ๒๔ คน  ผ่านดีเยี่ยม ๕ คน  ผ่านดีมาก ๑๐ คน  ผ่านดี ๖ คน  ผ่านพอใช้ ๓ คน ไม่ผ่าน - คน  รวมผ่าน ๑๐๐ %
                 ๒.โรงเรียนบ้านหนองผักกาด  อำเภอลานสัก  นักเรียนในโครงการ ๓๓ คน  ผ่านดีเยี่ยม ๑๙ คน  ผ่านดีมาก ๘ คน   ผ่านดี ๖ คน  ผ่านพอใช้ - คน  ไม่ผ่าน - คน  รวมผ่าน ๑๐๐ %
                ๓.โรงเรียนวัดหนองมะกอก  อำเภอหนองฉาง  นักเรียนในโครงการ ๑๙ คน  ผ่านดีเยี่ยม ๖ คน  ผ่านดีมาก ๘ คน  ผ่านดี ๓ คน  ผ่านพอใช้ - คน  ไม่ผ่าน ๒ คน  รวมผ่าน ๘๙.๔๗ %  รวมไม่ผ่าน  ๑๐.๕๓ %   (หมายเหตุ  โรงเรียนนี้จัดการเรียนการสอนไม่เต็มเวลา และดำเนินการไม่เต็มตามวิธีการที่กำหนด)
                ๔.โรงเรียนบ้านน้ำพุ  อำเภอบ้านไร่  นักเรียนในโครงการ  ๑๘  คน  ผ่านดีเยี่ยม  - คน  ผ่านดีมาก ๒ คน  ผ่านดี ๓ คน  ผ่านพอใช้ ๕ คน  ไม่ผ่าน ๑๐ คน  รวมผ่าน  ๕๕.๕๖ %  รวมไม่ผ่าน  ๔๔.๔๔ %  (หมายเหตุ  โรงเรียนนี้จัดการเรียนการสอนไม่เต็มเวลา และดำเนินการไม่เต็มตามวิธีการที่กำหนด)
                ๕.โรงเรียนวัดทัพคล้าย  อำเภอบ้านไร่  นักเรียนในโครงการ  ๓๗  คน  ผ่านดีเยี่ยม ๖ คน  ผ่านดีมาก ๑๑ คน   ผ่านดี ๑๓  คน  ผ่านพอใช้ ๗ คน  ไม่ผ่าน - คน  รวมผ่าน ๑๐๐ %  
                ๖.โรงเรียนบ้านกลาง  อำเภอห้วยคต  นักเรียนในโครงการ  ๕๖  คน  ผ่านดีเยี่ยม  ๓๑ คน   ผ่านดีมาก  ๑๔  คน  ผ่านดี ๗ คน  ผ่านพอใช้ ๓ คน  ไม่ผ่าน ๔ คน  รวมผ่าน  ๙๒.๘๖ %  รวมไม่ผ่าน ๗.๑๔ %  (หมายเหตุ   โรงเรียนนี้ดำเนินการทั้งตามแนวทางและวิธีสอนที่กำหนด และนอกแนวทางที่กำหนดบางประการ)
                ๗.โรงเรียนบ้านหินงามสามัคคี  อำเภอบ้านไร่  นักเรียนในโครงการ  ๒๓  คน    ผ่านดีเยี่ยม ๔ คน  ผ่านดีมาก ๒ คน   ผ่านดี ๖ คน  ผ่านพอใช้ ๓ คน ไม่ผ่าน ๘ คน  รวมผ่าน ๖๕.๒๒ %  รวมไม่ผ่าน  ๓๔.๗๘ %  (หมายเหตุ   โรงเรียนนี้ดำเนินการตามวิธีสอนที่กำหนด แต่ไม่เต็มเวลา และไม่เต็มกระบวนการ)
                สรุป ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๑ โรงเรียนที่ได้ดำเนินการประเมินเสร็จแล้ว  จำนวน ๗ โรงเรียน จำนวนนักเรียน ๒๑๐ คน  นักเรียนผ่านการประเมิน  ๑๘๖ คน คิดเป็น  ๘๘.๕๗ %  และไม่ผ่านการประเมิน  ๒๔ คน  คิดเป็น ๑๑.๔๓ %  ส่วนโรงเรียนที่เหลือกำลังดำเนินการประเมิน กำหนดเสร็จสิ้นในวันที่  ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๑  
            ...
            หลังจากวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๑  สพท.อุทัยธานีได้รับรายงานการประเมินผลโครงการจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ  ทั้งที่ปฏิบัติตามแนวทางกระบวนการที่กำหนดเต็มรูปแบบ และที่ปฏิบัติตามแนวทางกระบวนการไม่เต็มรูปแบบ  ผลปรากฏตามเอกสารสรุปของ สพท.อุทัยธานี ดังนี้ 
            การดำเนินงานอ่านออกเขียนได้ภายในสี่เดือนเริ่มดำเนินการตั้งแต่ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ถึง  ๒๙  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๑  โรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน  ๙๓ โรงเรียน  แบ่งออกเป็น ๒  รูปแบบ ดังนี้
            รูปแบบที่ ๑  หมายถึง มีครูอาสา ๑ - ๓ สอนวันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมงและสอนในเวลาปกติ  เวลาสอนทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๘๐ ชั่วโมง มีจำนวน ๖๙ โรงเรียน มีโรงเรียนส่งผลการทดสอบจำนวน ๕๖  โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก(มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐ คน) จำนวน ๓๘ โรงเรียน โรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า ๑๒๐  คนขึ้นไปจำนวน ๑๘ โรงเรียน  นักเรียนปกติที่อยู่ในโครงการจำนวน  ๑,๕๗๒  คน  
            ผลการดำเนินงาน
            ๑.  นักเรียนปกติผ่านเกณฑ์ร้อยละ  ๕๐  ทุกคน   จำนวน  ๑๑  โรงเรียน  คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๖๔  ของโรงเรียนที่ส่งผลการทดสอบ  และมีโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ทุกคน จำนวน  ๔๕ โรงเรียน 
            ๒.  โรงเรียนที่มีนักเรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐  คน)  จำนวน  ๙  โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ  ๘๑  ของโรงเรียนที่มีนักเรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน และโรงเรียนที่มีนักเรียน ๑๒๐ คนขึ้นไป จำนวน  ๒  โรงเรียน
            ๓.  นักเรียนปกติในโครงการมีจำนวน  ๑,๕๗๒  คน  
                 ๓.๑ ไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ  ๕๐  จำนวน  ๔๕๙  คน คิดเป็นร้อยละ  ๒๙.๒๐
                 ๓.๒ ผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๕๐  จำนวน  ๑,๑๑๓  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๗๐.๘๐
                        ๓.๒.๑  ระดับพอใช้  จำนวน  ๓๗๗  คน คิดเป็นร้อยละ  ๒๓.๙๘
                        ๓.๒.๒ ระดับดี  จำนวน  ๒๓๐  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๑๔.๖๓
                        ๓.๒.๓ ระดับดีมาก  จำนวน  ๑๙๗  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๑๒.๕๓
                        ๓.๒.๔  ระดับดีเยี่ยม  จำนวน  ๓๐๙  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๑๙.๖๖
            ผลสำเร็จ/ปัญหา อุปสรรคที่พบ
            โรงเรียนที่สอนได้ครบตามเกณฑ์และมีนักเรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน ส่วนมากเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐  คน)  จำนวน  ๙  โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ  ๒๓.๖๘  ของโรงเรียนขนาดเล็กที่เข้าโครงการ   โรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า ๑๒๐  คน  จำนวน  ๒  โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ  ๑๑.๑๑ ของโรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า ๑๒๐  คน ขึ้นไป  ทั้งนี้เพราะ การบริหารจัดการคล่องตัว  สามารถเพิ่มเวลาและแก้ไขปัญหานักเรียนได้ทันเวลา และที่สำคัญก็คือผู้บริหารสถานศึกษาและครูอาสามีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 
            โรงเรียนที่ดำเนินการไม่บรรลุตามเป้าหมาย เป็นโรงเรียนที่สอนครบ ๘๐  ชั่วโมงแต่เนื่องจากนักเรียนมีปัญหาในการอ่านและเขียนอย่างมาก เวลาที่ใช้ทำการสอนและฝึกฝนทักษะยังไม่เพียงพอ  มีจำนวน  ๕ โรงเรียน และโรงเรียนที่มีเวลาสอนไม่ครบ ๘๐  ชั่วโมง จำนวน ๔๐ โรงเรียน  ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน ๒๒  โรงเรียน และโรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า ๑๒๐ คนขึ้นไป จำนวน ๑๘ โรงเรียน เนื่องจาก   ๑)โรงเรียนมีกิจกรรมมาก    ๒) บุคลากรในโรงเรียนยังไม่เห็นความสำคัญและไม่มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันในการแก้ปัญหาการอ่านการเขียน  ๓) นักเรียนเข้าเรียนไม่สม่ำเสมอ
             รูปแบบที่ ๒  หมายถึง  ครูอาสาเป็นครูสอนประจำชั้นในระดับประถมศึกษา และครูภาษาไทยระดับมัธยมศึกษา  สอนวันละไม่น้อยกว่า  ๑  ชั่วโมง  สอนในเวลาปกติ/นอกเวลา  เวลาสอนทั้งหมด ไม่ต่ำกว่า  ๘๐  ชั่วโมง   มีจำนวน  ๒๔  โรงเรียน  มีโรงเรียนส่งผลการทดสอบ จำนวน  ๒๑  โรงเรียนเป็น โรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐  คน)  จำนวน ๑๑ โรงเรียน  โรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า ๑๒๐  คนขึ้นไป จำนวน ๑๐ โรงเรียน  นักเรียนปกติที่อยู่ในโครงการจำนวน  ๕๖๘ คน  
            ผลการดำเนินงาน
            ๑.  นักเรียนปกติผ่านเกณฑ์ร้อยละ  ๕๐  ทุกคน   จำนวน  ๔  โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด   คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๐๔  ของโรงเรียนที่ส่งผลการทดสอบ และมีโรงเรียนที่มีนักเรียน ไม่ผ่านเกณฑ์ทุกคนจำนวน  ๑๗  โรงเรียน 
            ๒.  นักเรียนปกติในโครงการมีจำนวน  ๕๖๘  คน  
                 ๒.๑ ไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ  ๕๐  จำนวน  ๑๗๑  คน คิดเป็นร้อยละ  ๓๐.๑๑  
                 ๒.๒ ผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๕๐ จำนวน ๓๙๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๙.๘๙                           
                         ๒.๒.๑  ระดับพอใช้  จำนวน  ๑๔๔  คน คิดเป็นร้อยละ  ๒๕.๓๕    
                         ๒.๒.๒ ระดับดี จำนวน  ๑๑๐  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๑๙.๓๗      
                         ๒.๒.๓ ระดับดีมาก  จำนวน  ๖๘  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๑๑.๙๗
                         ๒.๒.๔ ระดับดีเยี่ยม  จำนวน  ๗๕  คน  คิดเป็นร้อยละ  ๑๓.๒๐ 
            ผลสำเร็จ/ปัญหา อุปสรรคที่พบ
            โรงเรียนที่สอนได้ครบตามเกณฑ์และมีนักเรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน จำนวน  ๔  โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐  คน)  คิดเป็นร้อยละ  ๓๖.๓๖  ของโรงเรียนขนาดเล็กที่เข้าโครงการ     ทั้งนี้เพราะ การบริหารจัดการคล่องตัว  สามารถเพิ่มเวลาและแก้ไขปัญหานักเรียนได้ทันเวลา และที่สำคัญก็คือผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 
            โรงเรียนที่ดำเนินการไม่บรรลุตามเป้าหมาย เป็นโรงเรียนที่สอนครบ ๘๐  ชั่วโมงแต่เนื่องจากนักเรียนมีปัญหาในการอ่านและเขียนอย่างมาก เวลาที่ใช้ทำการสอนและฝึกฝนทักษะยังไม่เพียงพอ  จำนวน ๗  โรงเรียน  และโรงเรียนที่มีเวลาสอนไม่ครบ ๘๐  ชั่วโมง จำนวน  ๑๐  โรงเรียน  เนื่องจาก   ๑) โรงเรียนมีกิจกรรมมาก    ๒) บุคลากรในโรงเรียนยังไม่เห็นความสำคัญและไม่มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันในการแก้ปัญหาการอ่านการเขียน  ๓) นักเรียนเข้าเรียนไม่สม่ำเสมอ
                * * *
                จากผลของการดำเนินโครงการและบรรลุเป้าหมายของการทำให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้อย่างแท้จริงภายในเวลา ๔ เดือนดังกล่าว  แสดงให้เห็นว่า...เมื่อผู้บริหารโรงเรียนเอาจริง ครูเอาจริง และสอนอย่างถูกวิถีของภาษาไทยแท้จริง นักเรียนก็จะอ่านออกเขียนได้อย่างแน่นอน  ซึ่งนักเรียนในทุกโรงเรียนที่ผ่านการประเมินตามรายการที่ปรากฏก็ล้วนเป็นตัวอย่างที่พร้อมท้าพิสูจน์  เช่น โรงเรียนบ้านเขาวง  โรงเรียนบ้านหนองผักกาด  โรงเรียนวัดทัพคล้าย  ฯลฯ...
                แต่สำหรับนักเรียนบางคนในบางโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินนั้น  ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่ผู้บริหารยังไม่ได้ใช้การบริหารจัดการให้การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางที่โครงการกำหนดอย่างเต็มรูปแบบ และครูผู้สอนยังไม่ได้สอนเต็มเวลา ขั้นตอน วิธีการ และเนื้อหาโครงการ   ซึ่ง สพท.อุทัยธานี จะต้องติดตามให้การสนับสนุนดำเนินการต่อไปในปีการศึกษา ๒๕๕๑
                โรงเรียนอื่นๆ  สพท.อื่นๆ และกระทรวงศึกษาธิการล่ะ  ตื่นหรือยัง!  หลับใหลได้ปลื้มกับหลักทฤษฎีของชาติพันธุ์ภาษาอื่นที่ครอบงำจนหลงลืมรากเหง้าวิถีแจกลูกผันเสียงแบบไทยกันมาเนิ่นนาน...พอหรือยัง  ฤๅถึงคราจะต้องเปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็น กระทรวงศึกษาพิการ! เสียแล้ว   ผิดบาปที่แสดงผลมากมายในวันนี้  แก้ง่ายนิดเดียว เพียงหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนแบบเน้นย้ำทักษะออกเสียงอ่านแจกลูกสะกดคำ  ผันเสียง  คัดคำ และเขียนคำตามคำบอกให้มากๆ เท่านั้นเอง  ไม่ต้องทำตามแนวทางที่ สพท.อุทัยธานี ทำก็ได้  ไม่ต้องใช้วิธีของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ ก็ได้...ถ้าท่านมีวิธีที่ดีกว่า  แต่อย่างไรก็ตามท่านไม่ควรนำทฤษฎีหรือแนวของภาษาอื่นมาใช้กับภาษาไทยมากนัก  ภาษาไทยต้องใช้วิธีแห่งวิถีภาษาไทยเป็นหลักในการเรียนการสอนจึงจะได้ผลแท้จริง  อย่ามัวแต่ขี่ม้าเลียบค่ายเหยาะย่าง  และแก้ปัญหาแบบเหยาะแหยะหย่อนยานกันอยู่ต่อไปเลย   สงสารเด็กๆ ที่ตกอยู่ในโลกมืดของการอ่านเขียนเถอะครับ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *   
                ปล.                                 
                ๑.ขณะนี้ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ต้องการรับสมัคร ครูอาสา เพื่อให้การอบรมเรียนรู้วิธีการและกระบวนการ แก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ตามแนวทางดังกล่าว  และเพื่อสร้างความเป็น นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่องต่อไป  โดยไม่จำกัดวุฒิและอายุ  ขอเพียงให้ เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่น  มีความสามารถออกเสียงอักขระได้ชัดเจน  มีความพร้อมในการสอนแบบ แจกลูก-สะกดคำ-ผันเสียง  มีความขยันมุ่งมั่นเอาจริง  มีบุคลิกภาพอบอุ่น รักเด็กและเข้าใจเด็ก (หลังการฝึกอบรมแล้ว เมื่อมีสถานศึกษาใดต้องการว่าจ้างเป็นผู้แก้ปัญหา "อ่านออกเขียนได้ภายใน ๔ เดือน" กำหนดอัตราค่าตอบแทนต่อเดือนเท่ากับระดับปริญญาโท...แม้ว่า "ครูอาสา" จะมีวุฒิระดับต่ำกว่าหรือสูงกว่าปริญญาโทก็ตาม  ซึ่งขณะนี้มีสถานศึกษาจำนวนหนึ่งที่แจ้งความประสงค์ต้องการ "ครูอาสา" เข้ามายังทุ่งสักอาศรมบ้างแล้ว)  การอบรมเรียนรู้ที่ทุ่งสักอาศรมจะจัดให้นั้น  เป็นการบริการฟรี! สำหรับ "ครูอาสา" ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการประจำ 
               แต่ถ้าเป็นครูหรือข้าราชการประจำการ  ศูนย์ยินดีจัดอบรมให้โดยมีค่าใช้จ่ายตามอัตรา และกระบวนการเชิงอุดมคติ...ที่ศูนย์กำหนด
                ๒.สพท.ใด  หน่วยงานทางการศึกษาใด  และโรงเรียนใดที่สนใจและอยากเข้าร่วมโครงการ  หรือต้องการปรึกษาหารือ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม  ติดต่อได้ตลอดเวลา  
               ...
                ติดต่อ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม  หรือ ครูกานท์ ได้ที่  ๓๕ หมู่ ๑๓  ต.จรเข้สามพัน  อ.อู่ทอง  จ.สุพรรณบุรี  ๗๑๑๗๐  โทร.๐๘๑-๙๙๕๖๐๑๖  
                email :  tungsakasome@yahoo.com
                www.siwagarn.multiply.com
                www.oknation.net/blog/krugarn
                 * * *				
comments powered by Disqus
  • ช่ออักษราลี

    16 มิถุนายน 2551 19:38 น. - comment id 21008

    น่าสนใจมากค่ะ เรื่องใกล้ตัวแท้ๆ
    ถ้าเรานำนักเรียนประเภทเดียวกัน
    มาร่วมโครงการเดียวกัน ก็คงจะประสบ
    ผลสำเร็จนะคะ เพราะในห้องเรียน
    จะหลากหลายค่ะ จะมีนักเรียนน้อยมาก
    ที่อ่านไม่ออก ถ้านำนักเรียนเหล่านี้มาฝึก
    อ่านร่วมกัน สม่ำเสมอ คงจะได้ผลไม่น้อย
    ที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง อาจารย์คิดว่า
    น้อยไปมั้ยคะ เพราะหาเวลาว่างยากมาก
    ถ้าเป็นตอนเที่ยง ก็สงสารเด็กๆที่อยากจะ
    ผ่อนคลายมั่ง ผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญนะคะ
    ที่จะช่วยบุตรหลานของตัวเองที่บ้าน
  • ธมกร (ครูกานท์)

    16 มิถุนายน 2551 20:30 น. - comment id 21009

    ตามหลักสูตรในหนังสือ "เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว" นั้น การที่จะฝึกเด็กให้อ่านออกเขียนได้อย่างมีพื้นฐานที่ดีพอเพียงพอจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยวันละ ๑ ชั่วโมง เป็นระยะเวลา ๔ เดือน คือประมาณ ๘๐-๑๐๐ ชั่วโมงครับ  และการฝึกจะต้องเน้นทักษะ ออกเสียงอ่านแจกลูก ผันเสียง สะกดคำ แล้วฝึกเขียน และคัด จนมั่นใจว่าอ่านได้เขียนได้อย่างแท้จริงครับ
  • ฉางน้อย

    17 มิถุนายน 2551 05:20 น. - comment id 21012

    1.gif  กระทรวงศึกษาตื่นหรือยังฉางน้อยไม่ทราบคะ  
    
    ทราบแต่ว่าตอนนี้ฉางน้อยเพิ่งตื่นคะ  แต่ยังง่วงนอน ขอตัวไปนอนต่อก่อนดีกว่าคะ อิอิ
    
    แวะทักทาย อรุณสวัสดิ์ยามเช้าค่ะ 
    
    46.gif65.gif74.gif
  • โคลอน

    17 มิถุนายน 2551 15:48 น. - comment id 21015

    การท่องอาขยานก็เป็นอีกวิธีที่จะฝึกการอ่านเนาะ จำได้ว่าสมัยเด็กๆชอบเรียนหนังสือเพราะ อาขยานชวนท่องนี่ล่ะค่ะ
    
    ไม่ยาวเกินไปเนื้อหาน่าอ่าน
    
    ***เด็กน้อย***
    
    เด็กเอ๋ยเด็กน้อย 
    
    ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา 
    
    เมื่อเติบใหญ่เราจะได้มีวิชา
    
     เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน 
    
    ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน
    
     จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล 
    
    ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน 
    
    เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย.... . 
    
    ^
    ^
    จำขึ้นใจเลยค่ะ11.gif36.gif
    
    แล้วก็รักการอ่านตั้งแต่นั้นมา 
    การอ่านทำให้เราจดจำคำศัพท์ได้ไปโดยไม่รู้ตัว...
    
    เวลาเรียนหลัก ภาษาไทย จะมีคำถามว่า ทำไมๆเต็มไปหมด คิดว่าเด็กๆน่าจะเป็นทุกคนนะคะ 
    
    อย่าง การันต์ทำไมต้องมีคะ...ไม่เห็นมีประโยชน์7.gif ถามไปตามประสาเด็ก
    
    คำพ้องรูปพ้องเสียงก็จะ งงๆ ว่า จะจำยังไงล่ะเนี่ยไม่ให้สลับกัน7.gif
    
    นั่งตากลม
    กับ นั่ง ตากลม นี่ก็เป็นปัญหาเหมือนกันนะคะ...อิอิ27.gif
  • ธมกร

    17 มิถุนายน 2551 17:10 น. - comment id 21020

    เพียงบทท่อง "เด็กน้อย" ที่ยกมา
    ไม่บอกก็พอรู้ว่า...รุ่นไหน
    ใครอยากรู้ร่วมรุ่นคุณกับใคร
    ก็ลองใช้อาขยานสานไมตรี
    16.gif16.gif
  • โคลอน

    17 มิถุนายน 2551 17:17 น. - comment id 21021

    4.gif4.gif4.gif
    
    ง่า....รุ่นเด็กน้อยค่ะ...20.gif
  • ห้วงคำนึง

    18 มิถุนายน 2551 13:29 น. - comment id 21035

    สวัสดีครับคุณครูกานท์ ผมเป็น นศ. คนหนึ่งที่มุ่งมั่นเขียนร้อยกรองมากครับ  อยากจะขอคำปรึกษาอาจารย์หน่อยได้มั้ยครับ   ขอเมลล์อาจารย์หน่อยได้มั้ยครับ
  • ไหมแก้วสีฟ้าคราม

    18 มิถุนายน 2551 18:18 น. - comment id 21043

    แด่ อาจารย์ธมกร
           ไม่ทราบว่าอาจารย์สอน
           อยู่ที่มหาวิทยาลัยใด
           นับว่าเป็นบุญของไทยที่ยังมี
           นักการศึกษา
           ที่ยังเข้าใจ  หลักการศึกษาที่เข้าถึง
           วัฒนธรรมการเรียนการสอนของ
           บ้านเราอย่างแท้จริง
           ไม่ได้ยกยอท่านเลย
           เนื่องจากไม่ได้เคยอ่านหนังสือ
           ท่านเขียนมาก่อน
            เพิ่งรู้จักท่านเมื่อท่านมาเข้าบ้านกลอนนี่เอง   29.gif29.gif36.gif36.gif
  • ธมกร (ครูกานท์)

    18 มิถุนายน 2551 20:52 น. - comment id 21045

    ตอบ คุณห้วงคำนึง
    ทาง email แล้วครับ
    16.gif
  • ธมกร (ครูกานท์)

    18 มิถุนายน 2551 20:56 น. - comment id 21046

    ขอบคุณ คุณไหมแก้วฯ
    
    ผมลาออกแล้วจากมหาวิทยาลัย
    
    เส้นทางแต่นี้ไป
    
    อุทิศให้...อุดมการณ์
    
    
    16.gif
  • กาแฟถ้วยเก่า

    14 กรกฎาคม 2551 07:41 น. - comment id 21180

    อิอิ  เห็นคำว่า  อุดมการณ์ แล้วตกใจ  เมืองไทยเราตอนนี้มีแต่ อุดมกิน  อ้าวออกนอกกระทู้ไปแล้ว  เอาคุณครูว่าเถอะค่ะ เพราะยังไงเด็กก้ต้อง เน้น ย้ำ ซ้ำ เตือนบ่อยๆอยู่แล้วไม่งั้นก็อ่านไม่ออก  อิอิ
    
             41.gif41.gif41.gif41.gif
  • ไกรสร กุลชร

    21 สิงหาคม 2554 20:36 น. - comment id 34474

    ครูโรงเรียนบ้านเขาวงเก่งอยู่แล้วคัฟ16.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน