คุณว่ารัฐธรรมนูญปี50 ดีหรือไม่ดี อย่างไรครับ

Saran

คุณว่ารัฐธรรมนูญปี50 ดีหรือไม่ดี อย่างไรครับ และอะไรที่ทำให้คุณลง-ไม่ลงประชามติครับ				
comments powered by Disqus
  • วิภาวดี

    14 สิงหาคม 2550 07:55 น. - comment id 9051

    การรับ หรือไม่รับ รัฐธรรมนูญ มิใช่ดูกระแสสังคม    หรือเชื่อใคร  หรือรับจ้างลงคะแนน แต่ที่ควรทำคือควรอ่านรัฐธรรมนูญแล้ววิเคราะห์ว่าเป็นประชาธิปไตยเพียงใด เหมาะสมที่จะนำมาใช้ปกครองประเทศหรือไม่ แล้วจึงใช้ดุลพินิจ รับ หรือ ไม่รับ
    
    ดังนี้ควรอ่านรัฐธรรมนูญทุกมาตราให้เข้าใจ  หากอ่านไม่เข้าใจเพราะเป็นภาษากฎหมาย ก็ควรสอบถามจากนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ ที่เป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ให้ความรู้ว่ามีความหมายอย่างไร ที่สุด อำนาจการลงประชามติเป็นของเราเท่านั้น
    
    "ในที่สุด  ประชาธิปไตย  ต้องเป็นของประชาชน  ไม่ช้า ก็เร็วนี้"
  • มายอามีน

    16 สิงหาคม 2550 18:38 น. - comment id 9080

    เหตุผลที่ควรรับ - ไม่รับ ค่ะ
    เหตุผลที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550
    
                1. มาตราที่ 29 ซึ่งเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะทำมิได้ แต่ รธน.50นี้  ระบุตอนสำคัญว่า  "เว้นแต่โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น  โดยตัดคำว่า "เท่านั้น" ออก เพราะ   คมช. กำลังผลักดัน พรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ออกมาใช้  หาก รธน.50 และพรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ผ่านมติและประกาศใช้ ทหารจะคุมประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
    
                2. มาตราที่32 เกี่ยวกับการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้าย  จากเดิมยกเว้นเพียงโทษประหารชีวิตตามคำพิพากษาเท่านั้น  แต่ของใหม่  เพิ่มข้อความ "โทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ...."  แสดงว่าโทษอะไรก็ได้   นอกจากนี้มาตรา33 ซึ่งระบุเกี่ยวกับ การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากการยินยอมของผู้ครอบครอง จะกระทำมิได้ โดย เพิ่มข้อความ " เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ "  ในขณะที่ของเดิมให้อำนาจศาลเท่านั้น  ของใหม่ให้อำนาจ คำสั่ง (ของผู้มีอำนาจใครก็ได้) ,หมายศาล และคำสั่งตามกฎหมายอื่น   เมื่อบวกกับ พรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร  ซึ่งให้อำนาจ อำนาจจับกุม คุมขัง สอบสวนกับทหารไว้  ประชาชนก็ไม่มีหลักประกันใดๆเลย  
    
                3. มาตราที่64   บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมนั้น  ได้เพิ่มวรรคสอง "ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป " ต่อไปนี้ใครได้อำนาจรัฐ  จัดม็อบชนม็อบได้เลย ถูกกฎหมาย ใช้งบหลวงดำเนินการ ประชาชนที่รวมกลุ่มมาเรียกร้องจะถูกต่อต้านด้วยอำนาจรัฐทุกรูปแบบ   กฎระเบียบวินัยข้าราชการ ต้องยกเลิก เพราะขัด รธน.มาตรานี้ ม็อบข้าราชการจะยิ่งใหญ่ เพราะได้เงินเดือน สั่งได้ ใช้ของหลวงมาดำเนินการได้ 
    
                4. มาตรา 68   บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตาม รธน.นี้ ล้มล้างการปกครองมิได้  แต่เพิ่ม วรรคสี่ กรณีถูกศาลรธน.พิพากษาให้ยุบพรรค โดยให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองแก่ หัวหน้า และกรรมการบริหารพรรค การเมืองนั้นห้าปี เป็นบทลงโทษเดียวกับการลงโทษย้อนหลังใน คำสั่ง คปค. ซึ่งตุลาการรธน. ใช้ในการลงโทษยุบพรรคไทยรักไทย   และยังระบุไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา300 ว่า ให้ ตุลาการ รธน.ที่แต่งตั้งโดยคณะผู้ยึดอำนาจนั้น  ทำหน้าที่ตุลาการศาล รธน.ต่อไป อย่างถูกต้อง   คือฟอกตัวให้ตุลาการ รธน. และ ออกใบรับรองคำพิพากษาของเดิม ในคราวเดียวกัน 
    
                5. มาตรา 94 ให้เลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์  คือแต่ละเขตมีสิทธ์เลือกได้ตั้งแต่หนึ่งถึงสามคน และประชาชนก็มีสิทธิ์เลือกได้ตามจำนวนผู้สมัครแต่ละเขต โดยสรุปแต่ละเขตคือเลือกได้ไม่เท่ากัน ทำลายพื้นฐานประชาธิปไตย หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงลงอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ในข้อย่อย6 วรรคสอง ยังให้นับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนการซื้อเสียงและการควบคุมเสียง  เพราะหัวคะแนนตรวจสอบได้ว่าซื้อไปกี่เสียง และได้คะแนนมากี่เสียง เป็นระบบที่ย้อนยุคถอยหลังไปอีกยี่สิบสามสิบปี  
    
               6. มาตรา 95 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ กลับไปแบ่งตามพื้นที่กลุ่มจังหวัด โดยแบ่งเป็นแปดกลุ่มๆ ละ 10 คน  ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากส่วนท้องถิ่นไม่ต่างจากการได้มาของผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ในขณะที่รัฐธรรมนูญเดิมสามารถใส่รายชื่อตามลำดับความสำคัญและความรู้ความสามารถของสมาชิกพรรค โดยทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว อีกทั้งให้การนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง เป็นการสนับสนุนการซื้อเสียงและการควบคุมเสียง เช่นเดียวกับข้อข้างต้น 
    
                7. มาตรา 101 คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง(ทั้งแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ) กำหนดคุณสมบัติกีดกันพรรคใหม่ อย่างน่าเกลียด เช่น  มีทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดนั้นไม่น้อยกว่า5ปี (เดิม 1 ปี) เคยศึกษาในสถานศึกษาในจังหวัดนั้น ไม่น้อยกว่า5ปี(เดิม 2 ปี) เคยรับราชการในจังหวัดนั้น ไม่น้อยกว่า5ปี (เดิม 2 ปี) ในบทเฉพาะกาล ลดให้เหลือ 1ปี 2 ปี 2 ปี ตามลำดับ  เฉพาะสำหรับครั้งแรกที่มีการเลือกตั้ง  จะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองใหม่ จะสรรหาสมาชิกใหม่ได้ยากขึ้น  แม้นบทเฉพาะกาลลดระยะเวลาลง แต่หากรัฐบาลใหม่จาก รธน.นี้ ล้มลงเร็วกว่ากำหนดไม่ว่าเหตุใดก็ตาม พรรคซึ่งก่อตั้งใหม่ ก็จะประสบปัญหาการสรรหาผู้สมัครเพื่อลงแข่งขันรับเลือกตั้ง ในขณะที่พรรคเก่าแก่ มีสมาชิกและสร้างฐานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ย่อมได้เปรียบ อีกทั้งการกำหนดคุณสมบัติบางอย่างโดยไม่ดูข้อเท็จจริงเช่น การที่เคยศึกษาในจังหวัดนั้นสูงถึง5ปี เพราะหากต้องการผู้มีวุฒิปริญญาตรี โดยส่วนใหญ่ก็จบการศึกษาไม่เกินสี่ปี  หากต้องการ ปวส. ก็สองปี  ปวช.ก็ สามปี เท่านั้น  แสดงว่าหากเราอยู่กรุงเทพ ไปเรียนที่เชียงใหม่ จบ ป.ตรี แล้วกลับมาทำงาน กรุงเทพ พออายุครบและญาติพี่น้องที่เชียงใหม่ก็สนับสนุนให้ลงสมัคร ก็ทำไม่ได้  ทั้งๆที่มีความรู้ และเคยอยู่ในพื้นที่กว่าสี่ปี 
    
               8. มาตรา 111 ถึง 118  กำหนดให้ วุฒิสภามีสมาชิกได้ 150คน  มาจากเลือกตั้งจังหวัดละ 1คน  รวม76คน และแต่งตั้ง 74 คน นี่เป็นการทำลายสิทธิพื้นฐาน 1สิทธิ์หนึ่งเสียงอย่างร้ายแรง เพราะกรุงเทพมีคนอาศัยอยู่ 6 ล้านคน แต่มี สว.ได้คนเดียว ในขณะที่ระนอง มีผู้อาศัยอยู่ 2แสน ก็มีสว.ได้หนึ่งคนเช่นกัน  นอกจากนี้ สว.ที่มาจาก รธน.ชุดนี้ ยังมีอำนาจมาก กล่าวคือ 1. พิจารณากฎหมาย และพรบ.งบประมาณ 2. อภิปรายทั่วไปการทำงานของรัฐบาลได้  3.แต่งตั้งองค์กรอิสระต่างๆ 4.ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  5.ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุผลข้างต้น หาก สว.กลุ่มที่มาจากการแต่งตั้งรวมตัวกันแล้วต้องการชี้นำสิ่งใด ก็ทำได้โดยดึง สว.มาเพิ่มอีก 2คน ก็ชนะโหวตได้ทันที เช่นหากต้องการล้มรัฐบาล โดยล้ม พรบ.งบประมาณ ก็สามารถทำได้โดยง่าย  
    
               9. มาตรา 270 ให้ประชาชนเพียง 2 หมื่น สามารถเข้าชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีได้   และให้วุฒิสมาชิก เพียงสามในห้า หรือ เพียง 90 คน ลงมติและถอดถอนได้ทันที  สรุปคือจะล้มรัฐบาลก็แค่หา สว.มาเพิ่มแค่ 16 คน 
    
                10. การแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอันได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง , คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, คณะกรรมการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, องค์กรอัยการ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ต้องให้วุฒิสภาเห็นชอบทั้งสิ้น ลองคิดดูว่า สว.ที่มาจากการแต่งตั้ง จะเลือกพรรคพวกตัวเองหรือไม่  
    
                11. แต่ในกรณี สว. ต้องถูกถอดถอน ต้องส่งเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)พิจารณาก่อน ซึ่งคงไม่ลืมว่าใครคือผู้แต่งตั้ง ปปช. และต้องส่งกลับพิจารณาให้วุฒิสภาลงมติอีก เรียกว่า ชงเองกินเอง ทั้งสิ้น สรุปง่ายๆ คือ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง อาจจะครองแผ่นดินเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  
    
               12. มาตรา 171 วรรคสี่นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้ ปัญหาที่ตามมาคือ รัฐบาลชุดต่อมาอาจไม่สามารถสานต่องานรัฐบาลชุดเก่าได้ 
    
                14. มาตรา 300 ให้ ตุลาการรัฐธรรมนูญ (ที่ คมช.แต่งตั้ง) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทันทีที่รธน.ประกาศใช้ 
    
                15. มาตรา 309 รับรองการกระทำทั้งก่อนหน้า และ หลัง 19 กันยายน 2549 ทุกกรณี ทุกวาระ หากผิดกฎหมาย ให้ถือว่าถูกกฎหมาย และยังมีการนิรโทษกรรมการกระทำของ คมช. ถือเป็นเรื่องเสียหายมาก เพราะเมื่อทำอะไรผิดกฎหมายไว้ก็ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การนิรโทษอย่างนี้จึงเท่ากับเป็นการรับรอง ยอมรับการรัฐประหาร  
    
                16. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เป็นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตรงกันข้ามเป็นการส่งเสริมระบอบเผด็จการและอำมาตยาธิปไตย เพราะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้ ส.ส.หรือผู้แทนประชาชนทำหน้าที่ได้น้อยมาก ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน เนื่องจากมีการแบ่งเขตกว้างขึ้น นอกจากนี้มีการห้ามนักการเมืองเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำ ขณะที่รัฐบาลมีอำนาจในการบริหารประเทศน้อยมาก แต่อำนาจที่แท้จริงกลับไปอยู่ที่ศาล สมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) และข้าราชการ ซึ่งไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย 
    
                17. การโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นการยกระดับการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในทางอุดมการณ์ ในทางคุณค่า ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการทำให้ประเทศไทยเดินไปในวิถีทางที่นานาอารยประเทศยอมรับ  
    
                18. ถ้าโหวตไม่รับ หรือ โหวตรับ ก็ต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน ถ้าโหวตไม่รับผลที่เกิดตามมาคือ ครม. และ คมช. มีหน้าที่ ต้องไปหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใด ฉบับหนึ่งที่ประกาศใช้ในอดีตมาแก้ไขปรับปรุงแล้วประกาศใช้ และจัดการการเลือกตั้ง และ คมช. หรือ ผู้มีอำนาจคงไม่กล้าเอารัฐธรรมนูญฉบับที่มีเนื้อหาแย่ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มาประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแน่นอน 
    
                19. การโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นทางออกของสังคมไทย ไม่ให้เกิดความตีบตันในวันข้างหน้า อย่างน้อยที่สุดในวันข้างหน้าสังคมไทย จะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องคุณค่าว่า "เรารับรัฐธรรรมนูญที่มีที่มาอันไม่ชอบ" 
    
                20. ไม่รับ รธน. ปี 50 แต่ ให้เอารัฐธรรมนูญปี 2540 เอามาใช้บังคับเพื่อจัดการเลือกตั้ง แล้วหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้ว วาระสำคัญในทางการเมืองอย่างนี้จะเป็นวาระระดับชาติ อำนาจในการกำหนดเนื้อหาของตัวรัฐธรรมนูญจะกลับมาอยู่ในมือประชาชน มีการต่อรองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อย่างถูกต้อง อย่างครบถ้วน แล้วก็ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งอย่างน้อยในแง่ของที่มาซึ่งมีความชอบธรรมอยู่เป็นฐานของการปฏิรูปการเมืองต่อไป 
    
                21. รัฐธรรมนูญ 50 คือ ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอในทางการเมือง มีรัฐบาลผสมหลายพรรค เช่นเดียวกับสภาพการเมืองไทยก่อนหน้าที่จะใช้รัฐธรรมนูญ 40 การเมืองในระบบกลับไปสู่การฮั้วกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ เมื่อนั้นระบบราชการจะคุมตัวนักการเมืองหรือระบบการเมืองแทนเสมอ  
    
               22. ในรัฐธรรมนูญ 2550 จะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่สามารถทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทยหรือจะทำได้น้อยมาก เพราะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในลักษณะที่ย้อนกลับไปสู่อดีต ส่วนการตรวจสอบหน่วยราชการก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญนี้บอกว่าห้าม ส.ส. ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ การก้าวก่ายแทรกแซงอาจทำให้พ้นจากตำแหน่งได้ด้วย ส่วนพรรคการเมืองก็จะอ่อนแอลงมากโดยเสนอนโยบายอะไรไม่ได้เนื่องจากนโยบายส่วนใหญ่กำหนดไว้หมดแล้วในแนวนโยบายแห่งรัฐ  
    
                23. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีจุดบกพร่องในเรื่องของที่มา กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญมีผลประโยชน์ทับซ้อน และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญขาดเอกภาพ รวมทั้งขัดแย้งต่อหลักความเป็นกฏหมายสูงสุดด้วย เนื่องจาก "ที่มา" ของร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาจากการทำรัฐประหาร นี่จึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มาอย่างถูกต้องชอบธรรม เมื่อศึกษาจากประวัติศาสตร์จะพบว่ารัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมนั้น มักก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของเนื้อหาตามมาเสมอ  
    
                 24. ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 อ้างถึงเรื่องจริยธรรมเอาไว้มาก มีการพูดถึงจริยธรรมของนักการเมือง แต่ไม่ได้พูดถึงจริยธรรมของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งบางส่วนก็มาจากองค์กรที่มีผลประโยชน์โดยตรงจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญบางคนจะกลับมาเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการลงประชามติด้วย  
    
                25. กรอบกฎหมายของร่าง รธน. 50 อาจทำให้เกิดรัฐบาลผสมมากมาย ระบบตัวแทนมีน้อยลง ปัญหาการฮั้วทางการเมืองจะเกิดมากขึ้น และเป็นการเปิดช่องทางให้ระบบราชการทั้งหลายเข้ามาครอบงำการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจปัญหาบางเรื่องได้ พร้อมกันนี้ ข้อบัญญัติที่ให้องค์กรอิสระอยู่ภายใต้อำนาจของตุลาการ จะเป็นการทำให้ฝ่ายตุลาการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาผลเสียต่อศาลระยะยาว และการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยระหว่างกัน 
    
                26. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจตุลาการทำหน้ามากเกินไป คือ ให้อำนาจของศาลและองค์กรอิสระสามารถยื่นกฎหมายเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยไม่ให้ผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะอาจทำให้เกิดการการวิ่งเต้นกับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง ซึ่งเชื่อว่าต่อไปเราจะเห็นภาพของศาลขององค์กรอิสระเดินทางไปวิ่งเต้น หรือต่อรองกับกลุ่มก๊วนต่างๆ เอง  
    
                27. ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เพิ่มเข้ามาใน รธน. 50 ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเข้ามา เนื่องจาก ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องการบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่เป็นปัญหาของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มากกว่า คือ ถึงแม้ว่าจะเพิ่มสิทธิของประชาชนในเรื่องการออกกฎหมายได้ แต่ถ้าบังคับใช้ไม่ได้จริงๆ ก็ไม่มีประโยชน์  
    
                28. ระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องแบ่งระบบส่วนออกเป็น 8 บัญชี อย่างกรณีที่แบ่งจังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ ไปอยู่กลุ่มเดียวกับจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีวิถีชีวิตคนละแนวทาง รวมถึงการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ไม่เกินเขตละสามคน ซึ่งทำให้ประชาชนจำยาก    
    
                29. เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา คือ ไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีอำนาจ แต่อำนาจจะไปอยู่ที่ผู้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การปกครองแบบนี้ประชาชนจะไม่มีทางเสนอความต้องการและไม่มีใครมารับเอาความต้องการของประชาชนไปแก้ปัญหาประเทศ ยิ่งวิกฤติจะยิ่งลำบากเพราะว่ากลไกที่บริหารปกครองประเทศไม่ต้องฟังประชาชน โดยรวมแล้วรัฐธรรมนูญจึงเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอีกหลายอย่างที่จะสร้างเสริมทำให้เกิดความมั่นคงของระบอบเผด็จการ ระบอบอมาตยาธิปไตย ก็คือข้าราชการหรือผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้งเป็นใหญ่ในการปกครองบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้  
    
                30. รัฐธรรมนูญ 50 ตั้งโจทย์ไว้แคบเกินไป แคบทั้งแง่คำถาม และดึงเอาประสบการณ์ของคนจำนวนน้อยคือเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองเท่านั้นมาตอบปัญหา ไม่ได้มองประสบการณ์ทางการเมืองของชนชั้นล่าง  
    
                31. ทำให้การเมืองในระบบย่อมกลับไปสู่การฮั้วกันแบบที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าปี 40 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หมายความว่า มีการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อไหร่ พรรคนี้ที่มาร่วมรัฐบาลก็ได้โควต้ากระทรวงนี้ไป พรรคนี้ได้กระทรวงนี้ไป พรรคนี้ได้กระทรวงนี้ไป โดยที่พรรคที่เป็นแกนกลางไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายยุ่มย่ามอะไรได้เลย ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ระบบราชการไม่สามารถแยกเป็นส่วนๆ อย่างนั้นได้ จำเป็นต้องประสานงานกัน แต่นายกฯ กลับไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ประสานงานในระบบราชการได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบราชการจะคุมรัฐบาล ถ้าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ เมื่อนั้นระบบราชการจะคุมตัวนักการเมืองหรือระบบการเมืองแทนเสมอ
    
                32. องค์กรบางองค์กรที่เกาะเกี่ยวกับอำนาจทางการเมือง เช่น ผู้สรรหาองค์กรอิสระ หรือผู้ที่จะแต่งตั้ง ส.ว.กลับไม่ต้องมีการตรวจสอบแต่อย่างใด ซึ่งที่จริงแล้ว ทั้งสองฝ่ายควรอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
    
               เหตุผลที่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 
    
                1. รัฐธรรมนูญปี 2550 คุ้มครอง ส่งเสริม การขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเพิ่มประเภทสิทธิและเสรีภาพให้มากขึ้นกว่าเดิมในหลายส่วนที่สำคัญ เช่น คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง  
    
                2. การสร้างดุลยภาพระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไม่ได้เป็นการลดทอนอำนาจบริหารให้รัฐบาลอ่อนแอและเพิ่มอำนาจให้ตุลาการตามที่กล่าวอ้าง  แต่เป็นการสร้างดุลยภาพโดยการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การลงมติในเรื่องต่างๆ ของส.ส.นั้น ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงมติพรรค ส่วนศาลก็มีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจการรัฐสภา 
    
                3. สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนได้รับความคุ้มครองอย่างไม่เคยมีมาก่อน ไม่เพียงแต่ห้ามปิดกิจการสื่อมวลชนเท่านั้น ยังห้ามแทรกแซงสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสาร รวมทั้งห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนด้วย เพื่อป้องกันการใช้สื่อสารมวลชนเพื่อประโยชน์ของตนเอง 
    
                4. การที่เราลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะให้ผลดีคือ ยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที คมช. สิ้นสภาพทันที  
    
                5. สภาจะไม่ใช่สภาที่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะผู้ทรงเกียรติเท่านั้น ประชาชนก็ทรงเกียรติ สามารถที่จะเข้ายืนไปชี้แจงในสภา และในกรรมาธิการที่บัญญัติกฎหมาย ได้บัญญัติไว้ว่าอย่างน้อยหนึ่งในสามของกรรมาธิการจะต้องมาจากประชาชนผู้เสนอกฎหมาย แสดงว่าประชาชนสามารถจะไปนั่งในที่คล้ายๆ รัฐมนตรีอยู่ฝากกรรมาธิการ แล้วขึ้นชี้แจงในสภา สภาจะได้เป็นสภาของประชาชนอย่างแท้จริง  
    
                6. ประชาชนไม่ได้มีสิทธิเพียงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแล้วเลิก ประชาชนไม่ใช่ผู้นั่งดูอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นคนที่จะร่วมทำงานการเมืองเคียงบ่าเคียงไหล่กับตัวแทนที่เขาเลือก เพราะฉะนั้นเมื่อตัวแทนของเขามีสิทธิที่จะเสนอกฎหมาย ประชาชนก็ย่อมจะมีสิทธิที่จะนำเสนอกฎหมาย จึงมีการลดจำนวนรายชื่อจาก 50,000 รายชื่อเดิมที่มีความยากลำบากแสนเข็ญ เหลือเพียงแค่ 20,000 รายชื่อ และผู้ที่เสนอกฎหมายมีสิทธิเข้าไปชี้แจงได้ในสภา  
    
              อย่างไรก็ตาม ถ้าให้ประชาชนเข้าชื่อและถอดถอนได้ทันที มันจะเกิดการถอดถอนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแน่ๆ เพราะไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง ถ้าไม่พอใจแล้วร่วมชื่อกันถอดถอน ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ อาจมีการกลั่นแกล้งกันได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีกระบวนการตรวจสอบเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 คือเมื่อได้รับรายชื่อครบต้องส่งให้ ปปช.ตรวจสอบมูลความผิด แล้วจึงกลับมาให้สมาชิกวุฒิสภาถอดถอน 
    
                7. ถ้าตุลาการมีอำนาจมากเกินไปอาจมีปัญหา แต่จากความเห็นจากประชาชน ไม่ว่าจังหวัดไหนก็อยากให้ตุลาการเข้ามามีส่วนในช่วยเหลือบ้านเมืองมากขึ้น ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีการตกแต่งให้มีตุลาการ 3 ฝ่าย 3 คน ที่เหลือยังมีประธานรัฐสภา มีผู้นำฝ่ายค้าน และมีคนอื่นๆ ที่เข้ามาผสมผสานเป็นกรรมการสรรหา เพื่อสรรหาองค์กรอิสระ เช่น กกต. ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องการตรวจสอบอำนาจรัฐซึ่งได้พูดไปแล้วในส่วนหนึ่ง หรือลดอำนาจรัฐโดยให้มีกระบวนการนิติบัญญัติตรวจสอบให้มากขึ้น 
    
                8. รัฐธรรมนูญ ปี 50 ระบุส.ส. และ ส.ว. ต้องแจงบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยสู่สาธารณะ รวมถึงคุณสมบัติของ ส.ว. ได้มีการเพิ่มเติมมากขึ้น กล่าวคือ พ่อแม่ บุตร สามีภรรยาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่สามารถเป็น ส.ว. ได้ เพื่อป้องกันสภาผัวเมีย ดังที่เคยมีข้อถกถียงกัน และผู้ที่จะมาเป็น ส.ว. ต้องพ้นการเมือง พ้นจากการดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และพ้นจากการเป็น ส.ส.มาแล้ว 5 ปี ขณะเดียวกันจะต้องไม่อยู่ในอาณัติของพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญได้พยายามยกระดับวุฒิสภา (ส.ว.) ให้เป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มมากขึ้น  
    
                9. พรรคการเมืองทุกพรรคมี ส.ส.ซื้อเสียง และเมื่อถามนักการเมืองก็จะบอกว่า ถ้าไม่ซื้อ คนอื่นก็ซื้อ ก็จะไม่มีโอกาสได้รับเลือกตั้ง ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงช่วยทุกพรรค โดยหากเห็นว่ามีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดทำการทุจริต ซื้อเสียง ให้เป็นเหตุให้ศาลสั่งยุบพรรคได้ และหากหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรครู้การทุจริต ซื้อเสียง แต่ไม่แก้ไข ก็เป็นเหตุให้ศาลสั่งยุติบทบาททางการเมือง 5 ปี  
    
                10. พรรคการเมือง เคยสัญญากับประชาชนว่า เมื่อได้รับการเลือกตั้งเข้าไปอยู่ในสภา จะดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในรัฐธรรมนูญปี 40 ก็ไม่ได้มีการห้ามไม่ให้นักการเมืองยุบพรรคแล้วไปควบรวมกับพรรคอื่น หรือเรียกได้ว่า ไม่มีการห้ามไม่ให้ยกขบวนไปอยู่กับพรรคหนึ่งพรรคใด ทำให้เกิดปัญหา ตอนเลือกตั้งบอกประชาชนว่ามีพรรคนี้ อยู่พรรคนี้ มีนโยบายอย่างนี้ แล้วก็ไปขายยกเข่ง จึงมีปัญหาตามมา ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงห้ามไม่ให้ควบรวมพรรคการเมืองหรือที่เรียกว่าซื้อยกเข่ง  
    
                11. เพิ่มการตรวจสอบในสภาให้มากขึ้น ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายตรวจสอบมีอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ ถ้าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ได้มีการลดจำนวนการยื่นชื่อ ส.ส.ลง จากเดิม 200 เสียง หรือ 2 ใน 5 เหลือเพียง 1 ใน 5 หรือ 96 เสียง ลดจำนวนการจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเหลือเพียง 80 เสียง หรือ 1 ใน 6 ของจำนวน ส.ส. และถ้าครึ่งเทอมแล้วยังไม่มีการตรวจสอบ ก็จะอนุญาตให้คะแนนเสียง ส.ส.ฝ่ายค้านเพียงแค่ครึ่งเดียว สามารถยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้  
    
               12. ประชาชนจะได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 12 ปี โดยเท่าเทียมกัน เด็ก เยาวชนและบุคคลในครอบครัวได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นในการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา บุคคลที่ไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเป็นครั้งแรก 
    
                13. ก่อนหน้านี้การขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ต้องใช้คะแนนเสียงสองในห้า คือ 200 เสียง ใน 500 เสียง แต่ว่าในช่วงที่ผ่านมา เมืองไทยมีฝ่ายค้านอยู่เพียงร้อยกว่าเสียง ไม่ถึงสองร้อยเสียง เพราะฉะนั้นการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ จึงทำไม่ได้ นี่ล่ะครับคือจุดดุลและคานอำนาจในทางการเมืองระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารสูญเสียไป ประชาชนไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบาง และถือเป็นการปิดหูปิดตาประชาชน  
    
                14. การสรรหาองค์กรอิสระไม่ได้ทำให้สถาบันตุลาการมีอำนาจมากขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้ามได้ให้อำนาจประชาชนสามารถลงชื่อถอดถอนศาลฎีกาได้  
    
                15. สิทธิเสรีภาพและการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจนักการเมือง จะทำให้พรรคการเมืองไม่มีความเข้มแข็งเกินไป เพราะรัฐบาลที่เข้มแข็งเกินไป จะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตรวจสอบได้  
    
                16. ถ้าล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วคาดหวังว่า คมช. กับ ครม. จะหยิบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในอดีต มาปรับปรุงให้ดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นเรื่องยาก เนื่องจากประชาชนไม่สามารถไปบังคับ คมช. หรือ ครม. ให้เลือกฉบับที่เราต้องการได้ ดังนั้น หากรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 อย่างน้อยเราก็รู้ว่า ใน รธน. ปี 50 มีอะไรบ้าง 
    
               17. รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ขยายสิทธิชุมชน โดยดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน ชุมชนมีสิทธิที่จะฟ้ององค์กรของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิชุมชน 
    
                18. ในส่วนการทำหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประชาชน รัฐจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน และต้องแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการลงนามในหนังสือสัญญาอย่างรวดเร็ว เหมาะสมและเป็นธรรมด้วย 
    
                19. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังทำให้แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมีความชัดเจนและผูกพันรัฐมากกว่าเดิม ทั้งปรับปรุงการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยรัฐต้องสนับสนุนให้ดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และต้องสนับสนุนระบบเศรษฐ กิจแบบเสรีและเป็นธรรมด้วย คุ้มครองระบบสหกรณ์ให้เป็นอิสระ หรือการรวมกลุ่มของการประกอบอาชีพของประชาชนในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจ ห้ามมิให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอยู่ในความผูกขาดของเอกชน แนวนโยบายด้านที่ดินต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างทั่วถึง 
    
                20. รัฐธรรมนูญมีหมวดการเงิน การคลัง และงบประมาณขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อมิให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีวินัยทางการเงินและงบประมาณ และรายจ่ายงบฯกลางต้องมีจำนวนจำกัดและต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นด้วย กำหนดให้องค์กรอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพื่อมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม และห้ามควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างที่อายุของสภา ผู้แทนราษฎรยังไม่สิ้นสุดลง เพื่อป้องกันการเกิดเสียงข้างมากอย่างผิดปกติในสภา 
    
                21. มาตรา 309   เป็นมาตราที่ต้องการคุ้มครองการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้มุ่งคุ้มครองในสิ่งที่ผิด และไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรม คมช.อย่างที่มีการระบุ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 มีการนิรโทษกรรมให้ คมช.ไปแล้ว ในทางกฎหมายจึงไม่ต้องนิรโทษกรรม คมช.อีกต่อไป 
    
               22. รัฐธรรมนูญปี 50 ผู้ยกร่างพยายามจะแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้น โดยเฉพาะการสร้างดุลยภาพระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไม่ได้เป็นการลดทอนอำนาจบริหารให้รัฐบาลอ่อนแอและเพิ่มอำนาจให้ตุลาการตามที่กล่าวอ้าง สำหรับการสร้างดุลยภาพโดยการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติเช่น การลงมติในเรื่องต่างๆ ของส.ส.นั้น ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงมติพรรค ส่วนศาลก็มีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจการรัฐสภา 
    
                23. ทำให้มีกระบวนการตรวจสอบในสภามากขึ้นกว่าเดิม อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ลดจำนวนส.ส.ลงเพื่อให้สามารถมีสิทธิอภิปรายได้ โดยเหลือเพียงแค่ 1 ใน 6 หรือ 80 คน เพื่อให้ส.ส.ฝ่ายค้านได้มีโอกาสตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น 
    
                24. ถ้าประชาชนอยากไปบอกกล่าวปัญหา ท่านจะมีตัวแทนคือ ส.ส. ก็จะมีตัวแทน คือ อบต. ส.ท. และอบจ. อยู่แล้ว ยกวุฒิออกไปเป็นอีกส่วนหนึ่งเอาไว้กลั่นกรองกฎหมาย  ถือเป็นรูปแบบที่หลายประเทศที่ปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยใช้กัน เช่น อังกฤษ เบลเยี่ยม เพราะหากให้ ส.ว.ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง ก็จะซ้ำรอยปัญหาเดิม เพราะ ส.ว.มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด 
    
                25. การเลือกสามคนเรียงเบอร์ ประชาชนมีสิทธิ์มากขึ้น ได้เลือกสามคน จะได้ไม่ต้องรักพี่เสียดายน้อง ถ้าเขตเดียวเบอร์เดียว เลือกได้คนเดียว แต่ในใจมีหลายคน เช่น คนที่ท่านรักจริงๆ คนหนึ่ง ส่วน คนที่พรรคการเมืองที่ท่านศรัทธาอีกคนนึง และคนที่มีการฝากมานอกระบบอีกคนหนึ่งล่ะ ถ้าเขตเดียวเบอร์เดียว ประชาชนก็ต้องทิ้งสองคน เลือกหนึ่ง แต่ถ้าเราใช้สามคนเรียงเบอร์ ประชาชนจะได้เลือกใช้สิทธิ์มากขึ้น 
    
               26. ในการบริหารจัดการบ้านเมือง เราต้องการความเป็นอิสระและเป็นกลางทางการเมืองจริงๆ ซึ่งในองค์กรเมืองไทย องค์กรที่เป็นกลางทางการเมืองมากที่สุด คือถูกครอบงำทางการเมืองน้อยที่สุด แล้วก็มีความเข้มแข็งพอที่จะต้านพลังทางการเมือง ได้ คือองค์กรตุลาการ ด้วยเหตุนี้จึงยังจำเป็นต้องคงเอาทางฝ่ายตุลาการทั้งสามศาลมาเป็นหลักเอาไว้  
    
                27. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ให้อำนาจและสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนเพิ่มขึ้นกว่าปี 2540 ส่วนที่ห้ามนักการเมืองแทรกแซงข้าราชการประจำนั้น ได้ห้ามเฉพาะการแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ตนเองเท่านั้น 
    
                28. รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม โดยการบัญญัติหมวดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้อย่างชัดเจน มีการกำหนดโทษการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมที่ร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง 
    
                29. ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษก็พ้นจากตำแหน่ง ห้ามประธานสภา รองประธานสภา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ดำเนินการใดๆ ดังนี้ คือ
    
               - ประธานสภาและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างการดำรงตำแหน่งจะเป็นกรรมการบริหารหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองมิได้
    
               - นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่หรือการมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้น รวมถึงการเปลี่ยนระบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา จากการเลือกตั้งโดยตรงเพียงอย่างเดียว เป็นจากการเลือกตั้งและการสรรหา ผู้เหมาะสมจากภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นธรรม 
    
                30. จัดให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยการให้ใบเหลือง ใบแดง ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณี ส.ส./ส.ว. สามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ส่วนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นให้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจตรวจสอบการละเลยการปฏ
  • ธรรมาภิวัฏ

    10 สิงหาคม 2550 14:50 น. - comment id 9304

    ว่าด้วยความคิดเห็น 3 ฝ่าย
    -หนึ่งรับร่างซะ
    -สองไม่รับร่าง
    -สามไม่ลงประชามติเลย
    
    กลุ่มแรกคือกลุ่มคนที่ต้องการบล๊อคระบอบทักษิณาธิปไตยไม่ให้เกิดขึ้นอีก หาความชอบธรรมจากการรัฐประหาร  และสืบช่วงอำนาจของตน  พวกอำมาตยาธิปไตย  กับทั้งพวกข้าราชการสายปกครอง
    กลุ่มต่อมาไม่รับร่าง อ้างจากความไม่ชอบธรรมบนวิถีทางการรัฐประหาร   ริดรอนอำนาจฝ่ายการเมือง กำจัดวงจรอุบาททางการเมืองของไทยที่ล้าหลังอาณารยประเทศ และเหล่าบรรดาคนรักทักษิณ  ฝ่ายกลุ่มนักการเมืองที่เสียอำนาจไปจากบทบัญญัติใน รธณ. อย่างเช่นการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมามากมายเพื่อตรวจสอบ และไม่ต้องสงสัยว่าคนเหล่านี้จะมาจากกลุ่มของใคร
    กลุ่มสุดท้าย อ้างว่ากลุ่มทั้งสองต่างก็ไม่ชอบธรรมทั้งหมดมุ่งแต่ผลประโยชน์ของฝ่ายตน ก็ทั้งในเมื่อการทำประชามัติครั้งนี้มันเกิดมาอย่างไม่ชอบธรรมแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องร่วมสังฆกรรมใดๆ เลย ถือว่าเป็นอีกวิธีการแสดงออกอีกวิธีหนึ่ง แต่ทว่าก็เป็นเหมือนคนที่หวังผลจากการแก้ปัญหา แต่งอมืองอเท้าไม่ทำอะไรเลย..
    
    อันนี้.. จะเป็นยังไงอย่างไหน เรามีสิทธิเสรีของเราที่จะเลือกใช้และแสดงออก
  • แมลงสัญจร

    10 สิงหาคม 2550 15:14 น. - comment id 9305

    รับร่าง
  • พัชระ

    11 สิงหาคม 2550 16:32 น. - comment id 9315

    ที่ผ่านมา กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ต่อต้านรัฐธรรมนูญมาก กลุ่มคนพวกนี้ มีข่าวมาตลอดว่า คอรัปชัน 
    บ้าง ทำให้สังคมแตกแยกบ้าง ใช้เงินซื้อทุกอย่างซื้อทุกคน ซื้อทุกองค์กร ซื้อสื่อเพื่อให้ตัวเองทำชั่วต่อประเทศได้สะดวก..คนกลุ่มนี้ต่อต้านรัฐธรรมนูญมาก แสดง ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติอย่างสูง  คนที่หวังแต่ประโยชน์พรรคพวกจึงต่อต้านกันนัก คิดว่า น่าสนับสนุนลองดูครับ
  • .

    12 สิงหาคม 2550 14:28 น. - comment id 9320

    ที่มาของรัฐธรรมนูญมาจากปัญหาหลักคือทักษิณ ไม่ใช่รัฐประหารเพื่อเผด็จการอย่างที่ทักษิณและพวก ทรท. กล่าวอ้างบิดเบือนประเด็นปัญหาแท้จริง  สำคัญคือเนื้อหารัฐธรรมนูญปี 2550 มีลักษณะก้าวหน้ายิ่งกว่าปี 2540  โดยเฉพาะแนวทางให้ประชาชนใช้สิทธิของพลเมืองได้แท้จริงชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาการใช้อำนาจตรวจสอบของประชาชนไม่มีผลในทางปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาได้เลย ฉบับนี้จึงท้าทายและชัดเจนกว่า ของใหม่จึงย่อมดีกว่าของเก่า แต่ที่สุดก้มิใช่ว่าฉบับนี้จะเป็นสรณะให้คนไทยไปสู่สวรรค์ได้โดยสมบูรณ์ ดีชั่วของบ้านเมืองอยู่ที่การเมืองโดยพวกนักการเมืองที่มักอ้างว่าเป็นตัวแทนประชาฃน แต่เพียงแค่ยังไม่ได้เลือกตั้ง ก้ออกอาการนอกแถว ผิดหลักการประชาธิปไตยแล้ว พูดหรือทำอะไรออกมาแต่ละครั้งจึงไม่พ้นหาประโยชน์ใส่ตัวเองเท่านั้น ฉะนั้น อำนาจของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยได้แท้จริงจึงเป้นสาระที่แท้จริงในการตรวจสอบและขับเคลื่อนการเมืองไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้  ไม่ใช่พวกเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่นในคราบนักการเมืองที่ไม่เคยละทิ้งเชื้อชั่วเห็นประชาชนเป็นแค่ควายตู้ที่จะสนตะพายหลอกลวงอย่างไรได้เท่านั้น ......
    
    .....ปัญหาคือประชาชนต้องสรุปบทเรียนและเรียนรู้การเมืองที่เกิดขึ้นดำรงอยู่และจะพัฒนาคลี่คลายไปให้ดีว่ามาจากใครกันแน่  
    
    คุณล่ะ กล้าที่จะต่อสู้และก้าวหน้าไปในเส้นทางประชาชนที่ไม่ยอมแพ้พวกการเมืองที่โกงบ้านกินเมือง พวกที่อ้างประชาธิปไตยจอมปลอมมาหลอกลวงคนเหมือนเช่นทักษิณและพวก ทรท. ได้สร้างความเสียหายกับบ้านเมืองทุกวันนี้จนก่อกรณียุบพรรคและเพิกถอนสิทธิการเมืองเป็นคดีตัวอย่างหรือไม่....
    
    รัฐธรรมนูญเป็นแค่วิธีการ ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการนำพาประเทศก้าวไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ จิตสำนึกของประชาชนที่เรียนรู้เข้าใจเจตนารมณ์ประชาธิปไตยแท้จริงเท่านั้นคืออำนาจชี้ขาดประชาะปไตยที่แท้จริง พวกการเมืองแค่ส่วนประกอบที่ต้องเล่นตามกฏแห่งประชาธิปไตย ไม่ใช่สร้างเกราะป้องกันตัวเองเพื่อใช้ประชาธิปไตยมาหลอกลวงคน.....
  Saran
ชื่อบล็อก

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน