กระทู้นี้เปิดให้แสดงความเห็นเต็มที่ครับ โดยผมจะไม่เสนออะไรก่อนทั้งสิ้น แต่จะคอยเป็นทัพเสริมเพื่อนๆเรื่อยๆครับ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ท่านอาจารย์วิทยากร เชียงกูร ท่านทำโครงการวิจัย หนังสือดีหนึ่งร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน ผมก็เลยขออนุญาตยืมชื่อโครงการของท่าน มาตั้งกระทู้เล่นๆว่า หนังสือกวีนิพนธ์เล่มใด ที่คนไทย (โพเอ็ม) ควรอ่าน ทั้งนี้ โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกใหม่ซึ่งเข้ามาศึกษาหาความรู้ที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องๆรุ่นเยาว์ผู้ฝึกหัดเขียนร้อยกรองทั้งหลาย จะได้รับข้อแนะนำสำหรับสร้างแนวทาง สร้างบันไดก้าวเดินต่อไปในอนาคตครับ ไม่ต้องอ้างอิงหลักวิชาหรอกครับ เอาความชอบส่วนตัวนี่แหละ อยากให้สมาชิกใหม่ๆของเรารู้จักเล่มใด เต็มที่เลยครับ
29 มิถุนายน 2549 11:40 น. - comment id 14514
1.กฤษณาสอนน้องของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส 2.พระอภัยมณี 3.กระท่อมน้อยกลางทุ่งนา
22 มิถุนายน 2549 20:58 น. - comment id 14722
ต้องเป็นกวีนิพนธ์เสียด้วย .. อืมมม ถึงแม้ว่าจะมีคำตอบอยู่ในใจ แต่นั่นก็อาจเป็นคำตอบที่ไม่ตรงกับใคร ๆ ถ้าอยากศึกษาฉันท์ ... อิลราชคำฉันท์ ถ้าอยากศึกษาโคลง ... ตำรับประมวญมารค ลิลิตตะเลงพ่าย ถ้าอยากศึกษากลอน ... นิราศสุนทรภู่ ตรงนี้เป็นความคิดส่วนตัวของอัลมิตรานะคะ และอัลมิตราตอบไปก็เนื่องจากหนังสือดังกล่าวรวมถึงเล่มอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง ล้วนแต่เป็นหนังสือที่อัลมิตรามีไว้ครอบครอง (แต่อ่านจบอยู่แค่เรื่องเดียวคือ อิลราชคำฉันท์) แต่หนังสืออีกชุดที่อยากให้อ่าน อาจจะแหวกแนวหน่อย แม้จะไม่ใช่กวีนิพนธ์ แต่บางถ้อยคำ บางประโยคที่ปรากฏเป็นตัวอักษรในหนังสือ .. มันกินใจนัก เช่นประโยคที่เขียนไว้ว่า \"ข้าพเจ้าความจริงเข้าใจ ในโลกนี้ไม่มีคนดีเลยแม้สักผู้เดียว คนเราคบมิตรสหายเพราะต้องการหลอกใช้กันและกัน ดังนั้นหากผู้ใดต้องการมีชีวิตโดยปกติสุขก็ควรหัดหลอกใช้คนเยี่ยงไร หลอกลวงให้เชื่อถือเยี่ยงไรสำเร็จก่อน ไม่อาจคำนึงถึงคุณธรรมใดๆเป็นอันขาด มิเช่นนั้นแล้ว ฝ่ายพลาดท่าเสียทีต้องเป็นตัวเอง......แต่บัดนี้ข้าพเจ้ากลับทราบแล้ว ในโลกอย่างไรก็ยังมีคนดีอยู่ ในวงนักเลงก็มีมิตรสหายที่หยามความเป็นตาย เคารพคุณธรรมความดีอยู่ไม่น้อย\" จาก ฤทธิ์มีดสั้น ของ โก้วเล้ง ว.ณ เมืองลุง แปล
23 มิถุนายน 2549 07:29 น. - comment id 14725
ในความเห็นผมนะครับ บทกวีมีแทรกอยู่ในวรรณกรรมทุกประเภท ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นร้อยกรอง ถ้าถ้อยคำไพเราะ กินใจ ก็นับเนื่องเข้าในบทกวีแล้วครับ หนังสือของท่านโกว์เล้ง ผมถือว่า วาทะคมคายเป็นเลิศ นับเนื่องเข้าใน \"คารมคำคมกวี\" ได้ครับ หรืออย่างสำนวนใน \"ผู้ชนะสิบทิศ\" ของ \"ท่านยาขอบ\" จจะนับว่าภาษากวีก็ย่อมได้เช่นกันครับ
23 มิถุนายน 2549 08:20 น. - comment id 14727
ความเห็นส่วนตัวอีกเช่นกัน ถ้าเป็นกวีนิพนธ์..ที่เคยผ่านตา..ก็ต้องนี่เลย 1.อิลราชคำฉันท์...คุณอัลมิตราเขาแนะนำให้อ่าน เลยอ่านสักหน่อย...(ยังอ่านไม่จบเลย ไว้จะหยิบมาปัดฝุ่นอีกสักรอบ แหะ แหะ) 2.พระอภัยมณี...เล่มนี้เป็นความบันเทิงล้วนๆ ค่ะ เล่มโตแต่ไม่เบื่อเลย.. 3.นิราศพระบาท...หาได้จากในเวป (ได้ความรู้คู่ความประหยัด) อันนี้ไม่ใช่กวีนิพนธ์ 1. หมอโฮจุนก็ดีน่ะ...เป็นเรื่องแปล..เขาก็ให้ข้อคิดในการดำรงชีวิตดีค่ะ 2.พระไตรปิฏก ..เลือกสักเล่มที่เหมาะกับคุณค่ะ (เพื่อได้รู้ที่มาที่ไปของตัวเรา ไง) :) สรุปว่ามีเวลาก็หาหนังสือมาอ่านสักเล่ม..
23 มิถุนายน 2549 12:56 น. - comment id 14737
ทั้งคุณอัลมิตรา คุณกุ้งหนามแดง กล่าวถึงอิลราชคำฉันท์ ขอสนับสนุนด้วยคนครับ และถ้าใครอ่านอิลราชฯ จบแล้ว ต้องต่อด้วย สามัคคีเภทคำฉันท์ ของ ท่านชิต บุรทัต ครับ จึงจะถือว่าเริ่มเข้าสู่ตำราฉันท์อย่างเต็มๆ คุณกุ้งหนามแดง พูดถึงพระตรัยปิฎก ผมเลยขอแนะนำหนังสืออีกเล่ม เล่มนี้ ถือเป็นร้อยแก้วชั้นเลิศของแผ่นดินเชียวครับ นั่นคือ พระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ครับ ฝีพระหัตถ์ในพระองค์ท่าน สูงส่ง ไพเราะ ประณีต เป็นเพชรน้ำเอกจริงๆครับ
2 กรกฎาคม 2549 03:12 น. - comment id 14781
ก็อ่านเท่าที่ใจอ่านอยากคะ อ่านอะไรก็ได้ความรู้หมดนั่นแระ อิอิ แวะมาเยี่ยมคะ ....
11 กรกฎาคม 2549 21:01 น. - comment id 14863
ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่าย นิราศนรินทร์ นิราศทุกเรื่องของ \"สุนทรภู่\" ใบไม้แห่งนาคร คำหยาด สำนึกขบถ อาทิตย์ถึงจันทร์ ขอบฟ้าขลิบทอง ใบไม้ที่หายไป
17 กรกฎาคม 2549 04:43 น. - comment id 14891
รุไบยาตร ฉบับแปลของ แคน สังคีต เป็นบทกลอนที่ผมชอบมาก จำเพื่อลืมดื่มเพื่อเมาเหล้าเพื่อโลก สุขเพื่อโศกหนาวเพื่อร้อนนอนเพื่อฝัน ชีวิตนี้มีค่านักควรรักกัน รวมความฝันกับความจริงเป็นสิ่งเดียว