ทันทีที่เราสร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นศิลปะในแขนงใดก็ตาม ผลงานชิ้นนั้นย่อมมี "ลิขสิทธิ์" ในตัวเอง พวกเราที่ตั้งใจเขียนบทร้อยกรองในบ้านกลอนไทยแห่งนี้ ก็เช่นเดียวกัน ... เราต่างก็รู้สึกว่า งานชิ้นที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมานั้น เป็น "สมบัติ" ของเรา การที่มีใครสักคนประทับใจในงานเขียนของเรา เราย่อมรู้สึกดีกับงานที่เราสร้างขึ้นมานั้นด้วยใช่ไหม? และการที่มีใครสักคน "ลอกเลียน" งานของเรา แล้วมีการตัดต่อชิ้นงานนั้นๆ ของเราไปวางไว้ที่แห่งอื่น โดยไม่ได้อ้างอิงว่าเป็นผลงานของเราเลย เราย่อมรู้สึกเสียใจเป็นธรรมดา การละเมิดลิขสิทธิ์ จึงเป็นสิ่งที่พวกเราที่อยู่ในแวดวงการสร้างสรรค์งานวรรณกรรม นักอ่านวรรณกรรม ผู้ชื่นชอบวรรณกรรม ควรอย่างยิ่งที่จะให้ความระมัดระวัง "สมบัติ" ของใคร ใครก็ย่อมรักและหวงแหน ... ฉะนั้น เราจึงไม่ควรละเมิดสมบัติของผู้อื่นด้วย ไม่ว่ากรณีใดๆ ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่อง "ลิขสิทธิ์" เรื่องการสร้างงานวรรณกรรมในด้านของความรู้สึกพื้นฐานแล้ว ก็ขออ้างอิงตัวบทกฎหมายสักนิด .............................. มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ "ผู้สร้างสรรค์" หมายความว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ "ลิขสิทธิ์" หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น "วรรณกรรม" หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย "ทำซ้ำ" หมายความรวมถึง คัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใดๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพ จากต้นฉบับ จากสำเนาหรือจากการโฆษณา ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หมายความถึง คัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ดัดแปลง หมายความถึง ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน มาตราที่ 6 งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ ประเภทวรรณกรรม นาฎกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธี หรือรูปแบบอย่างใด การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ มาตรา 18 ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มีสิทธิที่จะแสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว และมีสิทธิที่จะห้ามมิให้ผู้รับโอนลิขสิทธิ์หรือบุคคลอื่นใดบิดเบือนตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นใดแก่งานนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์มีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับตามสิทธิดังกล่าวได้ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร ............. อะไรหรือที่ทำให้อยู่ดีๆ ... ดิฉันถึงต้องพูดถึงเรื่อง "ลิขสิทธิ์" อะไรตั้งยาวเลย อะไรเป็นจุดประกายที่ทำให้ดิฉันพูดถึงเรื่องนี้ ... ลองเข้าไปในกระทู้นี้ดูสิคะ .... http://www.emotionway.com/some/view.php?No=13757&visitOK=1 ถ้าใครๆ ไม่ระมัดระวังในการนำงานของคนอื่นไปโดยที่ไม่อ้างอิงแล้ว อาจจะเกิดปัญหาได้ในอนาคต ซึ่งดิฉันไม่ประสงค์ให้เกิดความละเมิดเช่นนี้ขึ้นในสังคมของเราเลย แม้เพียงนิด อ้างอิงสักหน่อย ห้อยท้ายสักนิด เราเอาผลงานชิ้นนี้มาจากไหน คนสร้างสรรค์งานจะได้รู้สึกดีที่มีคนชื่นชอบงานของเขาและให้เครดิตกับเขา การละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หรือการลอกเลียนงานคนอื่นไปโดยไม่อ้างอิง หรือให้เครดิตผู้สร้างสรรค์ผลงานเลยนั้น ย่อมสามารถดำเนินคดีตามตัวบทกฎหมายได้ บางคนกว่าจะ "กลั่นใจ" เขียนบทกวีขึ้นมาได้สักบท ใช้เวลา ใช้ความรู้สึก กล่อมเกลา แล้วทำไมล่ะ? อยู่ๆ ก็มีใครอีกคนเอางานของคนๆ นั้นไปใช้ในที่อื่น โดยไม่มีการพูดถึงผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาเลย ให้คนอื่นสำคัญว่าเป็นงานของตน .... ไม่เป็นการมักง่ายเกินไปหรือ? คนที่ลอกเลียนโดยไม่อ้างอิงนี้ อาจจะเข้าข่ายเป็น "โจรวรรณกรรม" เป็นการขโมยงานผู้อื่นไปโดยให้ใครๆ เข้าใจว่าเป็นงานของตนเอง ซึ่งผลของการถูกกล่าวหาว่าเป็น "โจรวรรณกรรม" นั้น ไม่คุ้มเลย เราอย่าเอาเปรียบใครโดยการละเมิดงานสร้างสรรค์ของใครเลยนะคะ : )
6 เมษายน 2549 22:47 น. - comment id 13920
สวัสดีค่ะ \"..คนของความคิดถึง..\" บทกลอนล่าสุดของอัลมิตรา ซึ่งได้ลงเวปบ้านกลอนไทยในราวเที่ยงวันที่ ๔ ที่ผ่านมา ที่มาของกลอนชุดนี้ มีสองส่วน ๑ . หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค \"..คนของความคิดถึง..\" ที่มีผู้มอบให้อัลมิตราเป็นที่ระลึก และอัลมิตราก็รับปากไว้ว่า..เมื่ออ่านจบ อัลมิตราจะเขียนถึง ... เขา ผู้เป็นคนของความคิดถึงของอัลมิตรา ๒. ความรู้สึกภายในใจ ที่อัลมิตรามีต่อเขา .. ผู้ซึ่งเป็นคนที่อัลมิตราคิดถึงอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่นานมานี้ อัลมิตราก็เคยเขียนถึงเขา .. เขาคือสิ่งที่สวยงาม .. ใช่ค่ะ เขาคือคน ๆ เดียวกัน เป็นการกลั่นกรองมาจากหัวใจในแต่ละคำ แต่ละวรรค และแต่ละบท .. จนจบชุดกลอน ทุกตัวอักษรล้วนมีความสำคัญและมีความหมายต่ออัลมิตรา และอัลมิตราเชื่อมั่นว่า เขาจะรับรู้ อัลมิตราเริ่มเขียนกลอนชุด \"..คนของความคิดถึง..\" ในคืนวันที่ ๓ เขียนจนได้ ๗ บท และติดค้างไว้อีกบท โดยคิดว่าจะเขียนในวันถัดไปให้ครบถ้วน แต่จนแล้วจนรอด อัลมิตราไม่อาจเขียนบทที่ ๘ ได้ เนื่องจากอัลมิตราคิดว่า ๗ บทนั้น มันจบความนัยในใจทั้งหมดแล้ว ไม่อาจแทรกความได้อีกสักบท หากมีผู้สังเกตุ ข้อความฝากถึง..ก็อาจจะรับรู้ได้โดยคร่าวว่า ข้อความร้อยสัมผัสต่อจากบทที่ ๗ ความรู้สึกที่ดี ความรู้สึกที่เป็นสุข ความรู้สึกนี้.. อาจจะตรงกับใจของบางคนที่แวะมาเยี่ยมชมผลงาน ถ้าสิ่งที่อัลมิตราเขียน สามารถปันความสุขไปยังผู้อื่นได้บ้าง อัลมิตราก็ยินดีและรู้สึกเต็มใจเป็นอย่างมาก ที่ได้รับเกียรติ์ช่วยสื่อบางอย่างในใจของแต่ละคน ถ่ายทอดผ่านตัวอักษร,บทกลอนที่อัลมิตราประดิษฐ์ขึ้นมา อัลมิตราก็ได้รับทราบเมื่อวาน เกี่ยวกับบทกลอนดังกล่าวที่อัลมิตราเขียนในบ้านกลอนไทย และไปปรากฏยังเวปอื่น โดยผู้ที่นำบทกลอนชุดนั้นไป ไม่ใช่ตัวตนของอัลมิตราเอง มีหลายแง่มุมนะคะ ถ้าจะเลือกมอง อัลมิตราขอเลือกในมุมที่ดีก่อน หากจะมองในแง่มุมที่ดี อัลมิตราก็รู้สึกดีใจที่บทกลอนของอัลมิตรามีอิทธิพลต่อจิตใจของเขาคนนั้น จนทำให้เขาอดใจไว้ไม่ได้ จนต้องคัดลอกออกมาเพื่อแสดงความรู้สึกบางอย่างที่เขาก็มีเช่นเดียวกัน ต่อไปในภายภาคหน้า อาจจะมีกวีเอกคนหนึ่ง เล่าถึงที่มาของตนว่า ...\" กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว... เขาได้ลอกเลียนลีลาภาษาวรรณกรรม...และแรงบันดาลใจมากจาก .. อัลมิตรา \" เพียงคิด .. อัลมิตราก็อดปลื้มใจเสียมิได้ คุณหยาดอรุณค่ะ อัลมิตราคิดว่าเขาคนนั้น อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เป็นได้ หากจะมองในอีกมุมหนึ่งว่า .. เขาละเมิดกรรมสิทธิ์ของอัลมิตรา ก็ดูเหมือนว่าเป็นบทสรุปที่เป็นเชิงลบ อัลมิตราไม่อยากให้เขามีความผิดในเรื่องนี้ อย่างที่เกริ่นในข้างต้น อัลมิตรารู้สึกเป็นสุขเมื่อได้ปันความสุขให้คนอื่น และยินดีที่จะเป็นตัวแทนถ่ายทอดความรู้สึกดี ๆ นั้น กรณีนี้ เป็นกรณีที่คุณหยาดอรุณหยิบยกมาเพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับคนรุ่นหลัง เพื่อให้รับทราบมารยาททางวรรณกรรมและตัวบทกฏหมายที่ระบุถึงลิขสิทธิ์ สำหรับคุณกุหลาบแดง อัลมิตรายังคงมีความรู้สึกที่ดีต่อคุณอยู่ และขอขอบคุณที่คุณชื่นชอบกลอนของอัลมิตรา อัลมิตราเข้าใจเช่นนั้นนะคะ ( ในเชิงบวก) อัลมิตรายังคงอยากให้ความรู้สึกดี ๆ มีต่อกัน ไม่ว่าผู้อ่านงานเขียนของอัลมิตราจะเป็นใครก็ตาม เพราะเมื่อเรามีความรู้สึกที่ดีต่อกันแล้ว .. การเปิดใจ ความเข้าใจในส่วนอื่น ก็จะมีมา ยิ้มไว้นะคะ .. อย่ามีความกังวล อัลมิตราไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองคุณ และอยากให้คุณเข้าใจถึงความปรารถนาดีของคุณหยาดอรุณ ที่ตักเตือนคุณ ผิดถูกอย่างไร .. ก็มีแต่ความเป็นมิตรเท่านั้น ที่จะเอื้ออาทรต่อกัน แนะนำสิ่งที่ถูกที่ควรให้ สำหรับคุณหยาดอรุณ ขอบคุณค่ะที่ห่วงใยและอาทรต่อผู้ร่วมรักษ์ภาษาไทย ตัวบทกฏหมายที่คุณนำมาชี้แจงนั้น เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เข้ามาอ่านและใส่ใจ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเรื่องร้องเรียนให้เกิดคดีความกันเปล่า ๆ พร้อมทั้งตักเตือนทางอ้อม มิตรภาพตราบสิ้นฟ้า
7 เมษายน 2549 08:28 น. - comment id 13922
แวะไปอ่านแล้วครับ... งานคุณอัลมิตราผมเห็นไปปรากฏยู่ตามที่ต่างๆมากอยู่ครับ... งานเขียนทุกอัน เป็นงานอันมีลิขสิทธิแน่แท้ครับ แต่ถ้ามีปัญหาการละเมิดเกิดขึ้นก็เป็นความแพ่งครับ ไม่ใช่คดีอาญาอย่างที่คุณใครสักคนว่าไว้... ความแพ่งหมายความว่า \"เป็นคดีอันยอมความได้\" เรียกว่าความผิดส่วนตัว หมายถึงว่า จะผิดก็ต่อเมื่อคุณอัลมิตราว่าผิดนั่นหละครับ.... เมื่องานนี้คุณอัลมิตราไม่กังวล ก็นับได้ว่าน่าสบายใจครับ (สำหรับคนหยิบยกไป) คุณหยาดอรุณอย่ากังวลไปเลยครับ เรื่องแบบนี้มีเยอะไปในสังคมนี้ ตราบเท่าคนยังมองข้ามและละเลยคุณค่า อันควรเคารพในสิทธิทางความคิดของคนอื่น.... นี่หละทรัพย์สินทางปัญญาแบบไทยๆ.. แวะมาสวัสดียามเช้าครับ
16 เมษายน 2549 07:39 น. - comment id 13979
ศิลปิน จะสร้างสรรค์ ศิลปะ ศิลปะ จะไม่มีการทำซ้ำ ศิลปะ ทำซ้ำจะเป็น ผลิตภัณฑ์ ผู้สร้างผลิตภัณฑ์เรียก ช่าง ช่างและศิลปิน ต่างกัน ช่างและศิลปินมีวิธีการ และ จุดประสงค์แห่งวิธีการ ไม่เหมือนกัน แต่จุดประสงค์รวบยอดจะเป็นหนึ่งเดียวกัน.. ใครจะเป็นโจร ใครเป็นช่าง ใครเป็นศิลปิน ..? มีคำตอบอยู่แล้ว