(มัก)ง่ายดี

เวทย์

เหตุผลพระราชกฤษฎีกา ยุบเลิกกฟผ.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดย คณิน บุญสุวรรณ
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2548 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอันส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประโยชน์ได้เสียของประชาชนอย่างลึกซึ้ง รวม 2 ฉบับ
พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548
และพระราชกฤษฎีกากำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน)
พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 23 มิถุนายน 2548 ดังนั้น พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 เป็นต้นมา
พูดง่ายๆ คือ ประกาศปุ๊บก็ใช้ปั๊บเลยทีเดียว
ผลบังคับแบบเฉียบพลันทันใด ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายุบเลิกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 คือ พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวม 5 ฉบับ เป็นอันยกเลิก นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 เป็นต้นมา
พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 5 ฉบับ ซึ่ง ณ วันนี้ ได้กลายเป็น "อดีต" ไปแล้วโดยสมบูรณ์ ได้แก่ พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2521 พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2527 พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2530 และพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2535
ด้วยเหตุนี้ ใครก็ตามที่ยังพูดปาวๆ แบบไม่อายฟ้าดินว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่อยู่แล้วละก้อ ใครคนนั้นถือว่า "พูดความจริงครึ่งเดียว" แต่ "พูดโกหกเต็มคำ"
ที่ว่าพูดความจริงครึ่งเดียว คือ ขณะนี้กระทรวงการคลังอาจจะถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่ แต่ความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่ไม่ยอมพูด คือ "ไม่ช้าหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ก็ต้องขายหมด"
ส่วนที่ว่า "โกหกเต็มคำ" นั้น คือ ที่บอกว่าบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) ยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ เพราะในความเป็นจริงนั้น การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 นั้น ถือเป็น "นิติฆาตกรรม" ซึ่งลบล้างและยุติความเป็น "รัฐวิสาหกิจ" ในฐานะเป็น "หน่วยงานของรัฐ" ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งถือกำเนิดและดำเนินกิจการมาตลอด 37 ปี ไปโดยสิ้นเชิงแล้ว
การที่องค์กรภาคประชาชนรวมตัวกันต่อสู้ โดยการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้สั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบเลิกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนำไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น
จุดสำคัญ อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์และการต่อสู้ของภาคประชาชนในครั้งนี้อยู่ที่บทบัญญัติมาตรา 11(2) ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่า "ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี"
เพราะนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย รวมทั้งระบบกฎหมายไทย ที่ราษฎรธรรมดาๆ สามารถฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายชนิดหนึ่งที่ออกมาใช้บังคับโดยอาศัยเพียงแค่อำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักการเมืองกลุ่มหนึ่งได้ 
เพราะก่อนหน้านั้น "ไม่ว่าผู้ใดจะได้รับความเดือดร้อนแค่ไหน จากผลการบังคับใช้ของพระราชกฤษฎีกา" ก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิที่จะไปร้องขอให้ศาลหรือองค์กรใดๆ ยกเลิก "กฎ" นั้นได้
อย่างดีก็เพียงแค่ไปฟ้องศาลยุติธรรมเพื่อขอความคุ้มครองเป็นรายๆ ไปเท่านั้น แต่ถึงกระนั้น ศาลยุติธรรมก็ไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอน "กฎ" หรือ "พระราชกฤษฎีกา" นั้นได้
โดยปกติ การออกพระราชกฤษฎีกาก็จะเป็นการออกมาเพื่อรองรับพระราชบัญญัติ ซึ่งโดยศักดิ์ทางกฎหมายแล้ว ต้องถือว่าพระราชกฤษฎีกามีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ
เหตุผลก็คือ พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร แต่พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่ออกโดย "คำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา" ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ
และด้วยเหตุนี้ ถ้ารัฐบาลใดเห็นว่าสมควรยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับใด สิ่งที่จะต้องทำ และทำจนเป็นประเพณีในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ก็คือ การเสนอเป็น "ร่างพระราชบัญญัติ" เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
จะมียกเว้นก็แต่เฉพาะในยุคเผด็จการทหารเท่านั้น ที่ออกประกาศคณะปฏิวัติเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติกันเป็นว่าเล่น
แต่ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ในยุคปฏิรูปการเมืองและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองก็เคยพูดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก กลับมาทุบโต๊ะออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชบัญญัติเสียเอง
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เป็นเสมือนฟ้าฟาดลงมากลางใจของประชาชนทุกหมู่เหล่า คือ การออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวดเดียว 5 ฉบับ ภายในวันเดียว คือ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2548 และพร้อมกันนั้น ก็ทำการแปลงสมบัติชาติซึ่งอยู่คู่คนไทย และคนไทยเป็นเจ้าของมาตลอด 37 ปีเต็ม ให้กลายไปเป็นทรัพย์สินของเอกชนและนายทุนชาวต่างชาติอย่างเป็นการถาวร
และนี่คือเหตุผลหลักที่ราษฎรธรรมดาๆ ที่รักชาติรักแผ่นดินและหวงแหนสมบัติชาติ จะสามารถหยิบยกขึ้นมาอ้างในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายุบเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกา กำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) ทั้งนี้ เพื่อให้ กฟผ.กลับมาเป็นสมบัติของชาติอย่างเดิม
ข้อกล่าวหา ก็คือ เป็นพระราชกฤษฎีกาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อประเพณีอันดีงามของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่สำคัญ เป็นการทำลายผลประโยชน์ของชาติและของประชาชน
พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 นั้น สมควรจะถูกเพิกถอน
เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ออกกฎหมายเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้รับคำแนะนำและยินยอมจากรัฐสภาตามกระบวนการนิติบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ โดยที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 92 มาตรา 221 และมาตรา 230 วรรคสอง และยังขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย
พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) พ.ศ.2548 นั้น สมควรจะถูกเพิกถอน เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารทำการถ่ายโอนหรือแปลงสภาพ "ทรัพย์สินและกิจการของรัฐ" หรือที่เรียกกันว่า "สมบัติชาติ" ซึ่งเป็นของคนไทยทุกคน ไปเป็นทรัพย์สินและกิจการของเอกชน ซึ่งเป็น "สมบัติส่วนตัว" ของผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในจำนวนผู้ถือหุ้นดังกล่าวนั้น มีชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย
ในขณะที่ยังบังคับให้ประชาชนทั้ปงระเทศต้องแบกรับภาระ "หนี้" ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) นั้นต่อไป โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน "หนี้" ดังกล่าว ถึงแม้จะแปลงสภาพไปเป็นบริษัทมหาชนแล้วก็ตาม
นอกจากนั้น การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับข้างต้น ยังมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 87 ที่บัญญัติว่า "รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินธุรกิจที่มีลักษณะผูกขาด กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวม และกิจการที่เป็นสาธารณูปโภค" อีกด้วย เพราะพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเปิดโอกาสให้เอกชนซึ่งรวมทั้งนายทุนต่างชาติ เข้ามามีส่วนเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการ หรือถึงขั้นผูกขาดด้วย
การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับข้างต้น ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุผลโดยสรุปดังกล่าวข้างต้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อมีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ
ซึ่งในเบื้องต้นศาลได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราว ให้ระงับการดำเนินกิจกรรมใดๆ เพื่อแปลงสภาพองค์กรนี้ตามพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
จากนี้คงขอบารมีและความยุติธรรมอันสูงส่งของศาลปกครองสูงสุด จงเป็นที่พึ่งแก่ปวงประชาราษฎรผู้รักชาติ รักแผ่นดิน รักความเป็นไทย รวมทั้งลูกหลานไทยตาดำๆ ด้วยเถิด				
comments powered by Disqus
  • ร้อยแปดพันเก้า

    22 พฤศจิกายน 2548 09:03 น. - comment id 12724

    34.gif
  • ไรไก่

    22 พฤศจิกายน 2548 12:59 น. - comment id 12725

    ขอบคุณค่ะที่นำความรู้มาแบ่งปันให้ทราบ
    36.gif
  • รดา

    22 พฤศจิกายน 2548 13:27 น. - comment id 12726

    41.gif
  • ทิกิ_tiki..4895 unlogged_in

    22 พฤศจิกายน 2548 14:56 น. - comment id 12727

    ที่เห็นหมู่นี้สื่อกระจายอ้อนวอนขอให้ทราบ
    ว่าจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพิ่มหุ้น
    
    กฟผ หรืออะไรก็ตามที่เรียกกัน
    ก็ควรจะ หาวิธีอื่นเช่น ออกพันธบัตรใหม่
    หรือ ตราสารการเงินใดๆให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย แล้วรณรงค์อ้อนวอนดังที่
    เป็นอยู่ คนไทยจะไม่เสียความรู้สึก
    
    หรือแม้นว่าจะออกล็อตเตอรี่ขุดเหมือน
    ยุคหนึ่งที่กองสลากออกให้โรงพยาบาล
    ภูมิพล คนไทยก็จะไม่เสียใจเสียความรู้สึก
    เฉกเช่นที่กระทำอยู่
    
    ขอขอบคุณที่คุณเวทย์ช่วยเสริมน้ำหนัก
    ด้าน พระราชกฤษฎีกา และ พระราชบัญญัติ
    แจกแจงมาอย่างละเอียดเห็นภาพชัดเจน
    
    
    หวังว่า คงไม่มีใครมาสั่งลบกระทู้นี้นะคะ
    ขอร้อง เพื่อชาติค่ะ
  • ฤกษ์ ชัยพฤกษ์

    26 พฤศจิกายน 2548 16:16 น. - comment id 12762

    ลุงเวทย์ครับ  สมมุติว่า ผมเป็นเจ้าของที่ดิน ที่ถูกกฏหมายหรือพระราชกิจฎีกา เวณคืนที่ดิน ไปสร้างเขื่อน สร้างแนวเสาสายไฟฟ้าเกือบค่อนประเทศ สามารถจะฟ้องเรียกคืนได้หรือไม่ เพราะ วัตถุประสงค์ให้เวณคืนเพื่อเป็นของรัฐ แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงไป เราจะไม่ยินยอมได้หรือไม่ครับ
  • เวทย์(ขี้เกียจ login)

    27 พฤศจิกายน 2548 08:09 น. - comment id 12766

    มันกลับไปเป็นของรัฐตั้งแต่ถูกเวนคืน
    ยังไม่นับที่ว่างเปล่าของรัฐอีกมากมายมหาศาล
    
    แล้วรัฐ(บาล)ก็เอาไปขาย
    อ้างว่าไม่มีเงิน
    แต่ผุดอภิมหาโปรเจ็คได้

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน