สัมผัสใน กับกลอนสุนทรภู่

เวทย์

แต่ปางหลังยังมีกรุงกษัตริย์ 
สมมติวงศ์ทรงนามท้าวสุทัศน์ 
ครองสมบัติรัตนานามธานี 
อันกรุงไกรใหญ่ยาวสิบเก้าโยชน์ 
ภูเขาโขดเป็นกำแพงบุรีศรี 
สะพรึบพร้อมไพร่ฟ้าประชาชี 
ชาวบุรีหรรษาสถาพร 
ผมเอากลอนต้นเรื่อง พระอภัยมณี มาสำหรับเป็นอุทาหรณ์ว่าทัศนคติที่กำหนดให้ สัมผัสใน อันแพรวพราวเป็นคุณสมบัติสำคัญของ กลอนสุนทรภู่ นั้น น่าจะคลาดเคลื่อน 
เมื่อแบ่งวรรคแต่ละวรรคของกลอนแปดหรือกลอนตลาดซึ่งสุนทรภู่ใช้ประจำออกเป็นช่วงๆ ตามที่นิยมกันมาคือ 
OOOOOOOO 
ก็ถือเป็นแบบอย่างกันต่อๆมาว่าจะต้องมีสัมผัสในระหว่างคำที่ 3 กับ 4 และคำที่ 5 กับ 7 (หรือ 5 กับ 6 ก็อนุโลมให้) และบางคนเคร่งครัดถึงขนาดบอกว่าหากกลอนวรรคใดไม่มีสัมผัสในครบตามนี้ก็ถือว่าไม่ไพเราะ 
แต่ถ้ามีครบถ้วนเช่นที่กล่าวมาก็จะได้รับการยอมรับว่าตรงตาม แบบฉบับกลอนสุนทรภู่ขนานแท้ 
ตอนนี้ลองย้อนกลับไปอ่านกลอนต้นเรื่อง พระอภัยมณี อีกสักรอบ (หรือหลายๆรอบก็ไม่ผิดกติกา) 
ลองดูว่ามีวรรคที่เราโมเมว่านั่นคือแบบฉบับกลอนของสุนทรภู่กี่วรรค เอาแบบวรรคต่อวรรคกันเลย 
เริ่มจากวรรคแรก เห็นจะๆว่าช่วงท้ายวรรคไม่มีสัมผัสใน 
วรรคที่ 2 เหมือนกันกับวรรคแรก 
วรรคที่ 3 ได้มาหนึ่งวรรคละที่สัมผัสในไม่ขาดไป 
วรรคที่ 4 ถ้าช่วงท้ายถือตามเสียงโดยไม่ดูรูปสระ ก็เป็นอันอนุโลมได้ 
วรรคที่ 5 ปลอดสัมผัสในโดยสิ้นเชิง 
วรรคที่ 6 ช่วงหน้ายักเยื้องมาเล่นสัมผัสอักษร ถือว่าใช้ได้ 
วรรคที่ 7 ไม่มีสัมผัสในที่ช่วงหน้าวรรค 
สรุปว่ามีวรรคที่ถือว่าตรงตามแบบฉบับแค่ 3 วรรค ซึ่งไม่ถึงครึ่ง 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วรรคที่ 5 ถึงกับไม่มีสัมผัสในเลยด้วยซ้ำ
ความจริงแล้วกลอนของสุนทรภู่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น พระอภัยมณี หรือเล่มอื่นๆ ก็มีวรรคที่มีสัมผัสในไม่ครบนี้อยู่มาก (ถ้าใครขยันและมีเวลาพอก็ลองไปนั่งค้นหาดู) แต่ดูเหมือนไม่ค่อยจะมีใครตั้งข้อสังเกต ด้วยว่าเมื่อเทียบจำนวนกันแล้ว วรรคที่มีสัมผัสในครบแห่งก็ยังมีมากกว่า ที่สำคัญก็คือแม้กระทั่งวรรคที่ไม่มีสัมผัสในเลยก็อ่านรื่นไม่สะดุดเสียด้วย 
บางคนอาจกำลังฉงนว่า แล้วมันน่าใส่ใจตรงไหน เขียนกลอนยาวๆ ขนาดนั้น มันก็ต้องมีที่ใส่สัมผัสในได้ไม่ครบบ้างเป็นธรรมดา 
ก็ขอบอกว่า ถ้ากลอนที่ผมยกมานี่อยู่กลางเรื่อง ก็คงเป็นธรรมดา แต่นี่เป็นต้นเรื่อง แปลว่าถ้าท่านจะเขียนให้มีสัมผัสในแพรวพราวขนาดไหนก็น่าจะไม่เหลือบ่ากว่าแรงหรอก 
แล้วทำไมสุนทรภู่ไม่ได้ใส่สัมผัสในให้แพรวพราวตรงจุดนี้ ? 
ห้ามตอบว่าเป็นเพราะตอนต้นๆอย่างนี้ เครื่องยังไม่ร้อน เพราะจะเป็นการตอบแบบกำปั้นทุบดิน แถมดูแคลนความสามารถของสุนทรภู่อีกต่างหาก 
ถ้าจะบอกว่าเป็นเพราะสุนทรภู่แต่ง พระอภัยมณี ในช่วงต้นๆ ของชีวิต ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะในนิราศเมืองเพชร ซึ่งเชื่อว่าเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายในชีวิตท่านก็มีหลายวรรคที่เป็นอย่างนี้ เช่น 
1) ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม........คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย 
2) ถึงวัดบางนางชีมีแต่สงฆ์..................ไม่เห็นองค์นางชีอยู่ที่ไหน 
หรือหลวงชีมีบ้างเป็นอย่างไร...............คิดจะใคร่แวะหาปรึกษาชี 
3) ถึงวัดบางนางนองแม้นน้องมี...............มาถึงที่ก็จะต้องนองน้ำตา 
4) พฤกษาออกดอกลูกเขาปลูกไว้.............หอมดอกไม้กลิ่นกลบอบละอองฯ 
5) สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง...................เป็นเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม 
แต่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่ากลอนช่วงหลังของสุนทรภู่ วรรคที่มีสัมผัสในไม่ครบแห่งหรือไม่มีเลยจะเป็นวรรคคู่ของกลอน 
วรรคคี่ (ต้น,รอง) กับวรรคคู่ (รับ,ส่ง) ของกลอนนั้น แตกต่างกันตรงที่วรรคคี่จะมีเพียงคำท้ายวรรคเท่านั้นที่ต้อง รับ-ส่ง สัมผัสนอก กับวรรคอื่น จึงไม่มีการพันกันระหว่างสัมผัสนอกและสัมผัสใน ในขณะที่วรรคคู่เพิ่มคำรับสัมผัสนอกที่ตรงกลางวรรคเข้ามาซ้อนตำแหน่งกับสัมผัสในด้วย โอกาสพันกันก็มีมาก 
บางตำราถือว่า หากคำใดรับสัมผัสนอกซึ่งเป็นสัมผัสสระแล้ว หากรับ-ส่งสัมผัสสระเป็นสัมผัสในอีก ก็จะทำให้เลือกไม่ถูกว่าจะเอาคำไหนเป็นคำรับสัมผัสนอก จึงตำหนิว่าเป็น สัมผัสเฝือ 
จะเห็นว่าสุนทรภู่ท่านก็ไม่ค่อยจะเอาคำที่รับสัมผัสนอกไปสัมผัสในด้วยสัมผัสสระอีก แต่จะยักเยื้องเป็นสัมผัสอักษร หรือสัมผัสตกกระทบ 
และบางที ท่านก็ทิ้งสัมผัสในตรงช่วงนั้นไปดื้อๆ (ไม่รวมที่ท่านทิ้งสัมผัสในไปทั้งวรรค) 
มีข้อน่าศึกษาว่า ทำไมตรงจุดที่ท่านทิ้งสัมผัสในไปเสียจึงไม่มีอาการสะดุด ? 
ตรงนี้แหละเป็นจุดที่ผมเห็นว่าทัศนคติที่กำหนดให้ สัมผัสใน อันแพรวพราวเป็นคุณสมบัติสำคัญของ กลอนสุนทรภู่ นั้น น่าจะคลาดเคลื่อน 
เพราะผมสังเกตว่าท่านได้เอา สัมผัสใจ เป็นหลักยิ่งเสียกว่าสัมผัสใน 
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดเด่นประการสำคัญของกลอนสุนทรภู่อีกอย่างหนึ่งก็คือความคมคายของเนื้อความ พูดง่ายๆ คือกลอนของท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยรสความ ที่ท่านบรรจงฉายผ่านคำจน กินใจ ผู้อ่าน 
และเมื่อใดที่ท่านต้องเลือกระหว่างสัมผัสในกับสัมผัสใจแล้ว ท่านเลือกอย่างหลังทุกครั้ง 
อาจมีวรรคที่ไม่ได้เล่นสัมผัสในจนแพรวพราวหรือแม้กระทั่งไม่มีสัมผัสในเลยแทรกปนอยู่ทั่วไปในกลอนสุนทรภู่ แต่ผมไม่เคยเห็นว่ามีสักวรรคที่ เสียความ 
ความต่อเนื่องสอดคล้องของเนื้อความ บวกด้วยความราบรื่นของจังหวะและเสียงในวรรคกลอนของสุนทรภู่นี่เองที่มาแทนที่สัมผัสในได้อย่างกลมกลืน จนเราไม่รู้สึกสะดุดเวลาอ่าน 
และกลอนหลายๆบทของท่านที่เราต่างจำขึ้นใจนั้น มิใช่เพราะ ความ ที่กินใจของมันหรอกหรือ ?				
comments powered by Disqus
  • สุกรวดี

    11 พฤศจิกายน 2548 18:08 น. - comment id 12414

    คิดเอาเองว่า
    งานของบรมครูสุนทรภู่
    ถึงจะไม่มีสัมผัสใน อย่างว่า
    ยังไง-ยังไงก็อ่านลื่นไหลไม่สดุด
    แต่ถ้าเป็น\"มือใหม่\"
    อย่างสุกรวดี....ไปไม่ถึงฝั่งแน่
    ...ฮี่ฮี่...59.gif
  • ๏ เม็ดทราย ๏ เจ้าค่ะ

    11 พฤศจิกายน 2548 18:18 น. - comment id 12415

    ..นู๋เมย์แวะมาอ่าน นะคะคุณลุง..
    
    ps. นู๋เมย์อาจจะเกเรไปซะหน่อย คุณลุงอย่าเพิ่งบ่นนู๋เมย์ล่ะกันค่ะ
    
    6.gif6.gif
  • กุ้งหนามแดง

    12 พฤศจิกายน 2548 13:09 น. - comment id 12423

    ขอบคุณค่ะ..
  • ดอกข้าว

    9 พฤศจิกายน 2548 20:16 น. - comment id 12433

    แล้วคำที่สามกับคำที่แปดสัมผัสกันได้ไหมครับ
    
    คำที่ห้ากับคำที่แปดด้วยครับ
  • ไรไก่

    9 พฤศจิกายน 2548 21:25 น. - comment id 12436

    ขอบคุณค่ะสำหรับคำแนะนำที่มอบให้
    36.gif
  • ทานทองคำ

    10 พฤศจิกายน 2548 16:03 น. - comment id 12440

    ใช่แล้วครับผมเห็นด้วยผมคนนึงละที่ชอบสัมผัสใจ แต่งตามใจในแบบฉบับกลอนแปดเน้นแต่ฉันทลักษณ์ก็พอเคร่งเกินไปก็ไม่ไพเราะในบางที  แต่งมันออกมาจากใจดีที่สุด ขอรับ29.gif
  • แทนคุณแทนไท

    9 พฤศจิกายน 2548 09:55 น. - comment id 12467

    ขอบคุณครับ
    
    มาตั้งใจอ่านครับ เมื่อยังเล็กนักคุณครูเคยยกตัวอย่างทำนองนี้ให้ฟังเสมอๆครับ
    
    แต่ปางหลังยังมีกรุงกษัตริย์ 
    สมมติวงศ์ทรงนามท้าวสุทัศน์ 
    ครองสมบัติรัตนานามธานี 
    อันกรุงไกรใหญ่ยาวสิบเก้าโยชน์ 
    ภูเขาโขดเป็นกำแพงบุรีศรี 
    สะพรึบพร้อมไพร่ฟ้าประชาชี 
    ชาวบุรีหรรษาสถาพร 
    
    ... เป็นข้อสังเกตทีจริตผมยอมรับมานานแล้ว
    
     สัมผัสใจ
  • มือ ไหม้พาย

    9 พฤศจิกายน 2548 12:23 น. - comment id 12468

    ชอบคำว่า สัมผัสใจ จังครับ
    
    ครั้งหนึ่งอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
    เคยกล่าวไว้ว่า
    \"ถ้าหลงไหลถือเคร่งกับสัมผัสคำมากเกินไป 
    ก็ทำให้เกิด คำด้าน ขึ้นมาได้\"
    \"คำด้าน\" คือคำที่มีแต่ \"สัมผัสคำ\" 
    แต่ไม่ \"สัมผัสใจ\" นั่นเอง
    
    ขอบคุณคุณเวทย์ที่ชี้แนะครับ
  • นางสาวใบไม้

    9 พฤศจิกายน 2548 12:28 น. - comment id 12469

    กั๊บป๋ม...65.gif
  • ก่อพงษ์ พงษพรชาญวิชช์

    9 พฤศจิกายน 2548 09:22 น. - comment id 12477

    ผมอ่านด้วยความขอบคุณอย่างยิ่งครับ
  • อัลมิตรา

    9 พฤศจิกายน 2548 15:50 น. - comment id 12481

    ขอบคุณค่ะ ที่มอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนสมาชิก
    
    และต้องขอแสดงยินดีด้วยค่ะ ที่ลุงได้รับรางวัลชมเชยโครงการประกวดบทกลอนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ .. 
    
    :)
  • จิตรนัย

    9 พฤศจิกายน 2548 18:19 น. - comment id 12483

    62.gif
    ไว้ครั้งหน้าจะพยายามเขียนบ้างครับ อิอิ
  • ครูใหญ่

    15 ธันวาคม 2548 10:59 น. - comment id 12881

    ผมก็ชอบอ่านงานที่มีสัมผัสในครับ
    ไม่ว่าจะเป็นงานท่านภู่หรืองานคนอื่น
    ผมถือว่าการมีสัมผัสในเป็นการกรองถ้อยคำที่ต้องยกย่องผู้เขียนเป็นกรณีพิเศษ
    
    แต่ก็ต้องดูที่เนื้อหาด้วยครับ
    ตามน้น...

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน