เมื่อวาน วันแห่งความรัก แม้ไม่มีคนรัก แต่ก็มีความสุขแบบอิ่มใจสุดๆ.... กับแก๊งค์สาวโสด ทำกับข้าวกินอร่อยๆ แล้วก็ไปงาน ไปอ่านบทกวีซีไรต์ที่วังสวนผักกาด พบกวีซีไรต์หลายๆ ท่าน บรรยากาศดี บทกวีตรึงใจ ตบท้าย ด้วยการไปดูหนังไทยดีๆ อีกเรือ่งนึง โหมโรง สนุก ดี มีคุณค่า และเป็นหนังที่อยากบอกต่อใครต่อใครเป็นที่สุด ถ้ามีโอกาส อยากให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ไปดูจริงๆ ค่ะ สงสารหนังไทยดีๆ น่ะค่ะ เชียร์ขาดใจ โหมโรงๆๆ
16 กุมภาพันธ์ 2547 10:11 น. - comment id 6527
ดูมาแล้วค่ะ พุดพัดชา โหมโรงโหมร้องไห้ตลอดเรื่องเลยค่ะ กำลังรจนาเรื่องนี้ ชื่อว่า*โหมโรงโหมรักโหมร้อง*.ค่ะ คืนนี้น่าจะได้อ่านผ่านตานะคะ ด้วยรัก และชื่นชมศรัทธาคุณจันทร์เพ็ญ มาแสนนานนะคะและ ฝากผ่านถึงกวีซีไรต์ ที่อยากได้รับเกียรติสัมผัส ที่พุดคงแสนภาคภูมิใจค่ะ
17 กุมภาพันธ์ 2547 22:44 น. - comment id 6531
มีงานเขียนของคุณประภาส มาเล่าสู่กันฟังต่อ เกี่ยวกับโหมโรงค่ะ... .............. โหมโรง คอลัมน์ คุยกับประภาส จาก นสพ. มติชน วันอาทิตย์ที่ 15 ก.พ. 2547 โดย ประภาส ชลศรานนท์ นับเป็นความหาญกล้าอย่างมากที่เลือกเอาดนตรีไทยมาวางเป็นฉากในการนำเสนอเรื่องราวของการต่อสู้ทางจิตวิญญาณ เพราะถ้าจะพูดกันแบบไม่เกรงใจ ก็ต้องบอกว่าดนตรีไทยนั้นได้ถูกผู้คนห่างเหินจนแทบจะกลายเป็นนามธรรมไปอีกสิ่งหนึ่งแล้ว ทำไมดนตรีไทยจึงกลายเป็นของจับต้องไม่ได้ ทั้งๆที่มันก็มีรูปธรรมอันสัมผัสได้ด้วยประสาททั้งห้า ขึ้นต้นมาผมก็ตั้งคำถามยากๆ เสียแล้ว อย่าเพิ่งต่อว่ากันเลยนะครับ กลับมาเขียนคราวนี้ขอประเดิมด้วย เรื่องอัดอั้นตันใจเสียหน่อยอยากคุยมานานแล้วครับ อันที่จริงผมมีคิวที่จะกลับมาเขียนที่มติชนอีกในปีนี้ ตามที่ได้วางเวลาบนปฏิทินกับทางมติชนก็คือเดือนมีนาคม แต่หนังเรื่องโหมโรงของคุณอิทธิสุนทรมีอันทำให้ผมต้องรีบโทร.มาขออนุญาตเขียนตอนพิเศษตอนนี้โดยเฉพาะ เพราะถ้าไม่เขียนลงอาทิตย์นี้ ผมเกรงว่าผมจะสายไป ท่านผู้อ่านก็เช่นกันนะครับ อย่ามัวแต่เพลินคิดไปว่าเดี๋ยวไปดูก็ได้ อาทิตย์หน้าไปดูก็ได้ หรือมัวแต่ทอดหุ่ยนั่งรอให้เขาทำเป็นหนังแผ่นซีดีแล้วค่อยดู มันจะไม่ทันการณ์นะครับ รอบที่ผมไปดูนั้นคนที่นั่งในโรงโหรงเหรงจนน่าใจหาย ทั้งๆ ที่เป็นหนังที่พลาดไม่ได้เลยสำหรับคนไทยทุกคน ผมเคยนั่งคิดเล่นๆ ว่าอะไรทำให้ดนตรีไทยถูกวางตำแหน่งให้อยู่ห่างจากผู้คนทุกวันนี้ มีความคิดอยู่สองขั้วสองทางที่ทำให้เป็นเช่นนั้น พวกหนึ่งมองดนตรึไทยเป็นของเก่าคร่ำครึ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเชย ไม่ทันสมัย เด็กรุ่นใหม่ๆ หลายกลุ่มอาจมองเป็นของไม่มีค่าอันใดเลยด้วยซ้ำ อีกพวกหนึ่งมองเป็นดนตรีไทยเป็นของสูง ควรจะอยู่ในพิธีที่สำคัญๆ อย่างเดียว และไม่ควรนำมาทำเป็นของเล่นๆ แม้กระทั่งการเรียนการสอนก็คอยระมัดระวังไม่ให้ออกนอกรูปนอกรอย ต้องเล่นตามแบบตามแผน ความคิดสองขั้วที่อยู่คนละฝั่งนี้ล้วนมีผลทำให้เราจะได้ยินดนตรีไทยสดๆ ก็จากลิเก งานศพ หรือในชมรมดนตรีไทยตามโรงเรียน เท่านั้น และไอ้ความคิดสองขั้วนี้เองที่รมหูรมตาให้พวกเราคิดว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับดนตรีไทย มันคงเชย ช้า ชวนง่วงนอน หรือไม่ก็คิดไปว่ามันคงงดงามสูงส่งเสียจนแตะต้องไม่ได้ หนังเรื่องโหมโรงก็โดนพายุอคตินี้เช่นกัน คนทำใบปิดหนังเรื่องโหมโรงก็คงโดนกระแสลมนั้นด้วย ใบปิดหนังไม่ได้บอกอะไรดีๆ ที่มีอยู่มากมายในหนังเรื่องนี้เลย ผมขับรถผ่านแถวสยามสแควร์เห็นคัตเอาต์หนังเรื่องนี้เป็นรูปคนใส่เสื้อราชประแตนยืนหันหลังถือไม้ตีระนาด แล้วผมก็จินตนาการไปว่าหนังเรื่องนี้คงมีคนพูดภาษาโบราณแปร่งๆ ใส่เสื้อโบราณเดินไปเดินมาอย่างหนังย้อนยุคเรื่องอื่นๆ เป็นแน่ เพราะแม้แต่พระเอกยังยืนเต๊ะท่าอย่างนี้เลย อีกหลายคนอาจคิดเลยไปว่าถ้าเข้าไปดูแล้วคงหลับกลางเรื่องเพราะเพลงประกอบงานศพหรืองานบวชนาคคงขับกล่อมตลอดเวลา หนังเรื่องนี้ไม่เป็นอย่างนั้นเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือวัยรุ่นแค่ไหนก็ตาม ผมว่าพวกเขาสามารถดูหนังเรื่องนี้ได้สนุกไม่แพ้กัน ผมพาลูกผมไปดูมาแล้ว หน้าตาเขาดูสนุกไม่แพ้ดูการ์ตูนนีโมอยู่เลย ตอนที่ได้ยินว่าอิทธสุนทรทำหนังเรื่องนี้ หลายคนคิดว่าเขาคงทำหนังซีเรียส เอาไว้ขึ้นหิ้ง ไปดูกันเถิดครับ ไม่ใช่หนังอย่างนั้นแน่นอน แม้จะเป็นหนังเกี่ยวกับดนตรีไทย เกี่ยวกับผู้คนในประวัติศาสตร์ก็ตาม อิทธิสุนทรทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาบนแนวความคิดที่ว่า ดนตรีนั้นมีไว้ค้ำจุนมนุษย์ ดนตรีไทยในเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่ค้ำจุนมนุษย์คนหนึ่งให้บรรลุถึงจิตวิญญาณ และนำจิตวิญญาณนั้นเล่นดนตรีค้ำจุนแผ่นดินต่อไป ในหนังเรื่องนี้ อิทธิสุนทรได้แสดงให้เราเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า ดนตรีไทยนั้นไม่ใช่ของเชย ของล้าสมัย หรือสูงส่งเสียจนสัมผัสไม่ได้ อิทธิสุนทรได้ทำให้ความคิดสองขั้วนั้นถูกสลายไปทันทีที่ทุกคนออกจากโรง ไม่มีฉากเล่นดนตรีไทยฉากไหนในหนังเรื่องนี้ที่ดูแล้วน่าเบื่อเลยครับ การแสดงของนักแสดงและทางเดินของกล้อง รวมไปถึงการตัดต่อทำให้การเล่นดนตรีของนักดนตรีดูสนุกสนาน จนอยากจะหาระนาดมาไว้เล่นที่บ้านสักราง อิทธิสุนทรทำให้ผมรู้สึกเหมือนกับว่าได้เข้าไปนั่งอยู่กลางวงปี่พาทย์ ไปนั่งช่วยเขาเอาข้าวสุกผสมขี้เถ้าแปะหน้าหนังกลองอย่างไรอย่างนั้น ผมให้คะแนนการออกแบบดนตรีไทยเรื่องนี้เต็มร้อย นับตั้งแต่การเลือกเพลงแต่ละเพลงในแต่ละฉาก การผูกเพลงขึ้นมาใหม่เพื่ออธิบายฉากต่างๆ การบันทึกเสียงก็สมจริงดั่งว่ากำลังเล่นกันอยู่ในห้องตรงนั้น รายละเอียดเสียงไม้กระทบฆ้องวง เสียงกลองขยับ ล้วนเป็นรายละเอียดที่น่าชมเชย ฉากศรวัยหนุ่มเริ่มหัดดนตรีนี่คอยจับตาดูให้ดีนะครับ เพลงนี้ผูกขึ้นมาเพื่ออธิบายการฝึกดนตรีของศรให้จบในหนี่งเพลง กะทัดรัดลงตัวมาก และที่สำคัญการตัดต่อฉากนี้ ชีพจรดนตรีไม่มีสะดุดเลย ใครไม่เชื่อตอนดูหนังฉากนี้ ลองขยับเท้าตามไปด้วยก็ได้ ยิ่งฉากการดวลระนาดระหว่างนายศรกับขุนอินนี่ ถึงจะมีอารมณ์ดรามาติกไปหน่อย แต่ก็เร้าใจสมกับเป็นฉากใหญ่ก่อนจบเรื่อง อิทธิสุนทรใช้การเคลื่อนกล้องที่แรงและเร็วตามอารมณ์ของเพลงจริงๆ ฉากนี้ผมก็ให้เต็มร้อยครับ แม้กระทั่งฉากที่หวานที่สุดของหนังเรื่องนี้ ฉากที่นายศรนั่งสีซอมองดูแม่โชติสาวชาววัง การออกแบบดนตรีก็ทำได้ละมุนละม่อม มีการสอดเสียงเปียโนเข้ามาในวรรคของซอเป็นช่วงๆ รับเข้ากับการเดินกล้องเข้าหาสายตารักแรกพบของพระเอก ถ้าจะตะขิดตะขวงบ้างก็ที่ตัวนางเอกนั่นแหละครับ ที่หน้าตาองค์เอวออกสมัยใหม่ไปสักหน่อย ผอมๆ อย่างนี้สมัยนั้นเขาจะพานคิดว่าเป็นโรคนะผมว่า พูดถึงการออกแบบดนตรีของหนังเรื่องนี้ มีน้องคนหนึ่งที่ดูมาแล้วถามผมว่า ถ้าจะให้สุดยอดกว่านี้ น่าจะใช้ดนตรีไทยประกอบหนังเรื่องนี้ทั้งหมดไหม ไม่น่าจะมีเครื่องสายฝรั่งหรือเปียโนไฟฟ้าเข้ามาประกอบ เรื่องนี้ผมกลับไม่คิดอย่างนั้น ถ้าจะเอาแก่นของหนังเรื่องนี้มาตอบ ผมก็คงจะชวนให้ดูฉากที่ท่านครูเล่นระนาดร่วมกับลูกชายที่เล่นเปียโน ในท้องเรื่อง แม้ทางราชการสมัยนั้นจะตั้งข้อรังเกียจกับดนตรีไทยแค่ไหนก็ตาม แต่ตัวท่านครูศรเองซึ่งรักดนตรีไทยเป็นชีวิตจิตใจกลับเปิดใจรับดนตรีตะวันตกและนำมาเล่นร่วมกันอย่างสวยงามโดยไม่รังเกียจรังงอนแต่อย่างใด ฉากนี้หลายคนชอบกันนะครับ เพลงไพเราะมาก ที่สำคัญการแสดงของนักแสดงชั้นครูอย่างคุณอดุลย์ ดุลรัตน์ นั้นหาที่ติไม่ได้เลย ผมชอบแววตาเหมือนพญาอินทรีตอนที่ท่านครูเดินมาที่เปียโนมาก คนแก่ๆ ที่ยังมีพลังนี่ดูที่ดวงตาได้เลยครับ ไม่เชื่อไปดูรูปพอล แม็กคาร์ตนี่ ตอนนี้ดูก็ได้ว่า อินทรีเฒ่านั้นแววตาเป็นอย่างไร คุณอนุชิต สพันธุ์พงษ์ ที่เล่นเป็นศรวัยหนุ่ม ดีขึ้นผิดหูผิดตาจากเรื่องที่แล้วเรื่อง ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ น่าดีใจนะครับที่ได้เล่นหนังดีๆ ถึงสองเรื่องติด เป็นนักแสดงนั้นจะมีอะไรดีไปกว่าได้เล่นบทที่ท้าทายความสามารถกับทีมงานดีๆ นี่ก็ได้ยินมาว่าคุณอนุชิตต้องฝึกระนาดถึงแปดเดือนก่อนเล่นหนังเรื่องนี้ น่าชมเชยครับ คุณณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า กับบทขุนอิน ทำให้หนังมีสีสันขึ้นมาก อ่านในเครดิตท้ายเรื่องถึงรู้ว่า เป็นคนทำดนตรีประกอบเรื่องนี้ด้วย ขอแสดงความชื่นชมครับ อีกคนหนึ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง นักแสดงที่ไม่เคยทำให้ผมผิดหวัง หนังเรื่องนี้บทเขาไม่มากนัก แต่การมีเขาอยู่ในฉาก ทำให้ฉากนั้นมีความหมายขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก บทเจรจาของท่านครู(อดุลย์ ดุลย์รัตน์) กับผู้พัน(พงษ์พัฒน์) ในฉากสุดท้ายเขียนได้ดีทีเดียว ฝ่ายหนึ่งบอกว่า ลมตะวันตกกำลังมาแรงเราต้องตั้งรับโดยการทำตัวให้เป็นตะวันตก แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า ต้นไม้ที่กำลังตั้งรับลมแรงๆ นั้น ต้องมีรากที่หยั่งลึก ถ้ามาตัดรากต้นไม้เสีย ต้นไม้จะรับแรงลมไหวหรือ ฟังแล้วน่าคิดต่อนะครับ ต้นไม้ศิลปวัฒนธรรมของไทยที่หยั่งรากลึกมาแสนนาน กำลังถูกลูกหลาน(สองขั้วความคิดที่ผมพูดไว้แต่แรก)คิดว่าต้นมันใหญ่รุงรังเกินไป น่าจะตัดรากห่อดินเป็นตุ้มเอาไปปลูกไว้ในที่ที่เหมาะสมเพราะคิดว่ามันคงหลบลมได้ โดยลืมไปว่าลมตะวันตกมันแรงจริงๆ และมันคงแรงมากพอที่จะหอบต้นไม้ที่รากกุดๆ ให้หลุดลอยไปทั้งต้นได้ เปลี่ยนความคิดดีไหมดีครับ ต้นมันใหญ่รุงรังนัก ก็ตัดเล็มกิ่งเล็มก้านเสียบ้าง แม้แต่กิ่งใหญ่ๆ ก็เถอะ เราต้องไม่เสียดายนะครับ ถ้าเรารักจะให้มันยืนอยู่นานๆ อะไรที่มันเยิ่นเย้อยืดยาดก็ลองตัดออกดู พิธีรีตรองที่มากเกินไปบางทีมันทำให้คนมองไม่เห็นแก่นเหมือนกัน กิ่งก้านยั้วเยี้ย ใบเยอะแยะนี่ เวลาพายุมาแรงๆ ล้มทั้งต้นให้เห็นมาก็มาก ต่อให้รากลึกแค่ไหนก็เถอะ ชมกันมาก็เยอะแล้ว ถ้าถามว่าหนังเรื่องนี้สมบูรณ์ไม่มีที่ติเลยเชียวหรือ มันก็เหมือนผู้หญิงนั่นแหละครับ มีผู้หญิงคนไหนในโลกสวยสมบูรณ์ไปหมดทุกอย่าง ติเพื่อก่อนะครับ ที่ผมติดขัดที่สุดก็เห็นจะเป็นตัวนางเอก บทบาทที่วางไว้มีน้อยเกินไป น้อยเกินกว่าที่จะให้ความรู้สึกผูกพันแน่นแฟ้นมาถึงตอนจบเรื่องที่ท่านครูกำลังจะตาย ผมยังจินตนาการไปเล่นๆ เลยว่า หรือแม่โชตินางเอกคนนี้แหละที่ทำให้นายศรคลายความเคร่งเครียดมาเล่นดนตรีด้วยจิตวิญญาณอย่างแท้จริง และส่วนนี้ของบทหนังได้ถูกตัดหายไปเนื่องจากเหตุผลเรื่องความยาวของหนัง ผมก็คิดเข้าข้างของผมไปเรื่อยๆ นะครับ ตัวทิวเพื่อนวัยหนุ่มของศรน่าจะเป็นนักแสดงที่เล่นได้ไม่มีน้ำหนักมากที่สุด น้ำเสียงลอยค้างเติ่งกับแววตาตื่นๆ ทำให้ไม่เชื่อว่าทิวกับศรผูกพันเป็นเพื่อนรักกัน และทำให้ในตอนจบภาพของทิววัยชราที่มาเฝ้าท่านครูศรวัยเดียวกันที่เตียงไม่สามารถสร้างความรู้สึกได้มากพอ ตัวเจ้าเทิดลูกทิวเสียอีกที่ผมรู้สึกว่าเขาเล่นได้ผูกพันกับท่านครูมากกว่า แต่ก็อย่างที่ผมบอก ถ้าเปรียบหนังเรื่องนี้เหมือนผู้หญิง เธอก็คงเป็นหญิงงามที่เพียบพร้อมไปด้วยกิริยา มีความคิดความอ่านอย่างหาตัวจับได้ยาก หุงข้าวเป็น ทำกับข้าวอร่อยหลายอย่าง บางอย่างเธอก็ทำไม่เป็น หรือไม่เธอก็อาจมีนิสัยขี้งอนบ้างในบางครั้ง แต่ผมว่าเธอเป็นผู้หญิงที่มีคุณค่า และหาไม่ได้ง่ายๆ ในโลกนี้ เมื่อรักเธอแล้ว ไม่บอกรักเธอวันนี้ ผมเกรงว่าทุกอย่างจะสายไป
18 กุมภาพันธ์ 2547 09:29 น. - comment id 6533
อื้อ ศาลาไทยก็ชวนให้ไปดูเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ได้เห็นผ่านตาจากจอทีวีบ้างแล้ว กำลังหาวันที่เหมาะๆ ไปดูเหมือนกัน .. ขอบคุณค่ะ คุณจันทร์เพ็ญ จันทนา
22 กุมภาพันธ์ 2547 00:54 น. - comment id 6542
อยากไปดูมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ แต่สอบอยู่ไปดูไม่ได้อ่ะ
11 มีนาคม 2547 13:22 น. - comment id 6609
มีแต่คนพูดถึงนะคะ.....แต่แอมไม่มีโอกาสได้ไปดูเสียที....อยากไปมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆเลยค่ะ แต่....นะ...... ไม่มีเพื่อนไปดูอ่ะ.....
18 สิงหาคม 2553 22:39 น. - comment id 32030
รักเมืองไทย รักความเป็นไทย รักแผ่นดินไทย