เสียงโคลง

เวทย์

ครูไหวฯ ได้เรียบเรียงเรื่อง เสียงโคลง ไว้อย่างน่าสนใจ  เลยขอนำมาให้อ่านกัน
เสียงโคลง 
สำหรับโคลงสี่สุภาพ กติกาเริ่มต้นคือ เอก ๗ โท ๔ ซึ่งมีเท่านี้จริง ๆ นอกนั้นมากำหนดเพิ่มเติมกันภายหลังทั้งนั้น ซึ่งจะนับเป็นวิวัฒน์ หรือ วิวาท ก็ไม่รู้ อิอิอิ ขอคัดลอกกระทู้เดิมที่เคย post ไว้กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มาปูทางก่อนนะครับ 
เช่นเดียวกันกับกวีนิพนธ์ประเภทอื่นๆ กวีแต่ละสมัยได้สอดแทรกประดิษฐการต่างๆ ไว้ในการแต่งโคลง เพื่อให้งานของตนมีลักษณะเด่นเป็นพิเศษขึ้นกว่าธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นประดิษฐการทางฉันทลักษณ์ เช่น การเพิ่ม-ลด จำนวนเอก-โท การเปลี่ยนแปลงลักษณะของการส่ง-รับสัมผัส หรือการเพิ่มตำแหน่งคำสร้อย ทำให้ได้โคลงชนิดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จากการศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมคำโคลงแต่ละสมัยก็ยังพบว่ามีลักษณะร่วมสมัยบางประการที่ได้พัฒนามาเป็นขนบการแต่งโคลง ซึ่งยึดถือกันว่าเป็นลักษณะที่เพิ่มความไพเราะให้แก่โคลง นอกเหนือจากลักษณะทางฉันทลักษณ์ ได้แก่ลักษณะการใช้คำ และลักษณะการใช้สัมผัสใน ดังจะแยกได้ดังนี้ 
๑.พัฒนาการด้านการใช้คำ การนับคำในร้อยกรองทำได้ ๒ แบบคือ นับแยกหนึ่งพยางค์เป็นหนึ่งคำ หรือนับรวมหลายพยางค์เป็นหนึ่งคำ การเลือกนับคำด้วยวิธีที่ต่างกัน จะทำให้ได้รสของโคลงที่ต่างกัน 
๑.๑ การแต่งโคลงโดยนับคำแยกพยางค์ ทำให้เสียงของโคลงมีน้ำหนักชัดเจน พบในงานสมัยต้นอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ โดยกวีจะเพิ่มความไพเราะด้วยการซ้ำคำ หรือซ้ำเสียงพยัญชนะ และการเลือกใช้คำเสียงหนักหรือเสียงเบา เพื่อสื่ออารมณ์ดังตัวอย่าง 
.....อาจหาญหาญกว่าผู้....................หาญเหลือ 
ว่านา ริยิ่งริดนริ.......................................ยิ่งผู้ 
ลวงกลใส่กลเหนือ...........................กลแกว่น.....กลแฮ 
รู้ยิ่งรู้กว่ารู้.....................................เรื่องกล 
.....รบินรเบียบท้าว.........................เบาราณ 
รบอบรบับยล.................................ยิ่งผู้ 
ระเบียนรบิการย............................เกลากาพย.....ก็ดี 
ระบอดรบัดรู้................................รอบสรรพ (ลิลิตยวนพ่าย)
 .....เสียงโหยเสียงไห้มี่..................เรือนหลวง 
ขุนหมื่นมนตรีปวง.......................ป่วยซ้ำ 
เรือนราษฎร์ร่ำตีปวง....................ทุกข์ทั่ว.....กันนา 
เมืองจะเย็นเป็นน้ำ.......................ย่อมน้ำตาครวญ
 .....พระไปแม้พระได้...................สมสอง 
ไหนจะคืนคงครอง.....................ครอบเกล้า 
อย่าคิดอย่าจงปอง......................สองปล่อย.....มาฤๅ 
สองจักลองโลมเล้า.....................อยู่ว้าว้าขัง (ลิลิตพระลอ)
๑.๒ การใช้คำมากพยางค์ จะทำให้เสียงของโคลงสะบัดไหว มีจังหวะหนัก-เบา เกิดความไพเราะแปลกหู กวีที่ชอบแต่งโคลงในลักษณะนี้ได้แก่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ น.ม.ส. และสุนทรภู่ ดังตัวอย่าง
 ..... หรือวิเวกการะเวกร้อง...................ระงมสวรรค์ 
เสนาะมิเหมือนเสนาะฉันท์.................. เสนาะซึ้ง 
ประกายฟ้าสุริยาจันทร์........................ แจร่มโลก 
เมฆพยับอับแสงสอึ้ง............................อร่ามแพ้ประพนธ์เฉลย
 .....ประชุมสงฆ์จงเขื่อนขั้น...................หลายขนัด 
ดินถมรดมกระดานดัด..........................เกียดกั้น 
สนามฝั่งพนังทัด..................................ฝืดยาก 
กดานเดาะเฉพาะขาดขั้น......................หลุดลุ่ยขจุยขจาย (โคลงชลอพระพุทธไสยาสน์)
 .....สมบัติขัติยผู้...................................ผดุงขัณฑ์ 
เครื่องราชกกุธภัณฑ์.............................คู่แคว้น 
ฉัตรตั้งดั่งไอศวรรย์.............................เสวยราชย์ 
คนก็นับทรัพย์แร้น...............................สุดหล้าหาไหน (สามกรุง)
 .....สวามิภักดิ์รักร่วมเจ้า.......................ชุมพล 
แต่จัตุรภุชวุฒิผล.................................ค่ำเช้า 
ท่านเคียดอย่าเคียดกล..........................โกยโทษ 
ดึงต่อทรยศเข้า....................................เขตต์แคว้นประณมสนอง (โคลงพาลีสอนน้อง) 
๒.พัฒนาการด้านการใช้สัมผัสใน 
๒.๑ การใช้สัมผัสอักษร โคลงที่แต่งโดยใช้สัมผัสอักษร จะให้น้ำเสียงหนักแน่นชัดเจนกว่าโคลงที่ใสัมผัสสระ และไพเราะกว่าโคลงที่ไม่ใช้สัมผัสในเลย
 .....เสด็จทรงเครื่องต้น..............................แต่งกาย.....ท่านนา 
สวมสอดสนับเพลาพราย...........................อะเคื้อ 
ภูษิตพิจิตรลาย.........................................แลเลิศ.....แล้วแฮ 
ทรงสุภาภรณ์เสื้อ.....................................เกราะแก้วก่องศรี (ลิลิตตะเลงพ่าย) 
พระยาตรังคภูมิบาล และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นผู้นำในการกำหนดแบบแผนการแต่งโคลง โดยให้มีสัมผัสอักษรเป็นระบบในคำที่ ๕-๖ ทุกบาท ตัวอย่าง
 ..... เบญจศีลทรงสฤษฎิส้อง...................... เสพย์นิพัทธ์.....กาลนา 
ปางเบื่อฤๅรางรคน....................................ขาดแท้ 
เบญจาวิธเวรสงัด......................................สงบระงับ..... เหือดเฮย 
ทั่วทุจริตเว้นแว้........................................ว่างงาม (ประชุมจารึกฯ) 
๒.๒ การใช้สัมผัสสระ การกำหนดสัมผัสสระ มักเป็นคำที่ ๒-๓ หรือ ๓-๔ ของทุกบาท ดังตัวอย่าง .....ราตรีศรีส่องฟ้า...................................แสดงโฉม 
แสงสว่างกลางโพยม................................แจ่มฟ้า 
มหรสพจบการโลม..................................ใจโลกย 
เบียงบ่ายรายเรียงหน้า.............................นั่งล้อมเล็งแล (กาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถ) 
.....ตวันลงตรงทิศทถุ้ง............................แทงสาย 
เซราะฝั่งพังวหุสหาย..............................รอดน้ำ 
ขุดเขื่อนเลื่อนทลมทลาย..........................ริมราก 
ผนังแยกแตกแตนซ้ำ...............................รูปร้าวปฏิมา (โคลงชลอพระพุทธไสยาสน์) 
.....อาณาประชาราษฎร์ทั้ง.......................กรุงไกร 
จักสุขเกษมเปรมใจ..................................ชื่นช้อย 
ไมตรีพี่ประชุมใน...................................นรนาถ 
เป็นบุษบาปรากฎร้อย...............................กลิ่นกลุ้มขจรขจาย (โคลงทศรถสอนพระราม) 
.....กาลนี้ที่ไท้ใฝ่........................................รักษา 
ป้องกันขัณฑเสมา......................................เขตต์ขั้น 
ศัตรูหมู่แสวงหา.......................................ทุษโทษ 
ภูมิมณฑลสกลชั้น......................................ประเทศแคว้นแดนกรุง (โคลงราชสวัสดิ์) 
สุนทรภู่รับอิทธิพลการแต่งโคลงแบบมีสัมผัสสระเช่นนี้มาใช้ในโคลงนิราศสุพรรณ แล้วเพิ่มสัมผัสขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ในคำที่ ๘-๙ ของวรรคสุดท้าย และเพิ่มสัมผัสอักษรในคำที่ ๕-๖ รวมทั้งสัมผัสในที่อื่นๆตามฉันทลักษณ์อีกด้วย ดังตัวอย่าง
 .....รอกแตแลโลดเลี้ยว...............................โลดโผน 
นกหกจกจิกโจน........................................จับไม้ 
ยางเจ่าเหล่ายางโทน.................................ท่องเที่ยว.....เหยี่ยวเฮย 
โฉบฉาบคาบปลาได้..................................ด่วนขึ้นกลืนกิน (โคลงนิราศสุพรรณ) 
หมายเหตุ คัดจากกวีนิพนธ์ไทย ของสุภาพร มากแจ้ง 
 ขอปิดท้ายสาระกระทู้นี้ด้วยพระดำรัสของเสด็จฯกรมพระนราฯ ที่เคยประทานไว้ในหนังสือดุสิตสมิตดังนี้ค่ะ ...อนึ่งมูลกวยาจารย์ทานกำหนดเสียงสูงต่ำในโคลงโดยผันสำเนียงอักษรไตรยางค์ด้วยไม้เอกไม้โทไว้ในมาตรา แต่ที่แท้ท่านก็หมายเอาเสียงขึ้นลงเปนประมาณในการประพันธ์เพื่อผยองความไพเราะ หากศิษยานุศิษย์สืบมารู้ไม่ถึง ยึดเอาไม้เอกโทตามผันไตรยางค์เปนแก่น พระองค์(หมายถึงรัชกาลที่ ๖)ทรงตระหนักหลักบัญญัติเดิม จึ่งยักทรงใช้เสียงในโสลกโคลงเปนที่ตั้งตามมาตรา หรือแม้แต่เยื้องคำให้สบความสุดแต่ให้ฟังสละสลวยเสนาะสมโสลก เหตุแม้เพียงเล็กน้อยนี้น่าที่จะเปนผลสำคัญแก่กวีการให้เผยผลิกิ่งประพันธนัยเพื่อเพิ่มความไพเราะหรือเก๋กะก้ำ และดื่มเนื้อความล้ำลึกต่อไปในอนาคตกาล เฉกชี้ช่องจูงกวีทั้งหลายให้เห็นทางแสร่มาตราแสร่คำเล่นได้ตามถนัดและสดวกโดยเสด็จพระราชดำริห์... หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้างตามสมควรนะคะ เจ้าของ : ก๊อง, 10/26/2002 4:01:07 PM ลองมาพิจารณาข้อกำหนดของโคลงที่ว่าเอก ๗ โท ๔ ในจินดามณีนะครับ และโคลงแบบบทแรกของประเทศไทย ก็คือ เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง.................อันใด..........พี่เอย ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ เป็นที่แปลกแต่จริงว่าในลิลิตพระลอซึ่งนำมาเป็นต้นแบบนั้น มีโคลงแบบเช่นนี้อยู่เพียงบทเดียว!!! คำถามคือ ทำไมเป็นเช่นนั้น 
คำถามว่ากวีโบราณไม่สามารถบรรจุคำเอก ๗ โท ๔ ได้จริง ๆ หรือ คำตอบคือไม่ใช่ เพียงแต่กวีโบราณเห็นว่า เสียง สำคัญกว่ารูปนั่นเอง อีกประการหนึ่ง ผมเคยได้ยิน คน ๑ ตำหนิถากถางเจ้าฟ้ากุ้งอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ ว่าพระนิพนธ์นั้นสักแต่ว่ามีเสียงเป็นโคลงเท่านั้น ด้วยไม่ทรงเคร่งครัดต่อฉันทลักษณ์ และหลุดเอกเป็นประจำ!!! ฟังแล้วก็ให้กลุ้มนะครับ 
ขอพูดถึงเรื่องบังคับเอกหน่อยนึง เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า คำตายสามารถใช้แทนเอกได้ แต่อย่างไรก็ดี ลางตำราก็ยอมรับให้ใช้คำลหุแทนเอก รวมไปถึงคำนฤคหิตแทนเอก (ตำราหลังไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก ลูกศิษย์ลูกหาไม่มาก) ปัญหาจึงเกิดขึ้นตรงใช้ลหุแทนเอกนี่เอง เพราะคำลหุนั้น โบราณใช้หูฟัง เนื่องจากการถ่ายทอดวรรณคดีเน้นมุขปาฐะเป็นส่วนใหญ่ ไม่เหมือนปัจจุบัน ที่ใช้รูปเป็นตัวตัดสิน คำบางคำนั้นโดยรูปแล้วเป็นลหุ แต่เมื่อไปเทียบคำลหุบางคำ ลหุนั้นอาจกลายเป็นครุไปได้ หรือครุบางคำเมื่อนำไปตามครุบางคำ ก็กลายเป็นลหุไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น คน ที่ตำหนิเจ้าฟ้ากุ้ง ลองพิจารณาดูใหม่ด้วยใจเป็นธรรมเทอญญญญ 
ตานี้มาเข้าเนื้อหาของกระทู้จริง ๆ เสียที อยากให้เพื่อน ๆ ลองอ่าน อาอาอาอ่าอ้า....อาอา ฯลฯ ไปจนจบก่อนนะครับ และขอชี้ว่านี่คือมาตรฐานขั้นต่ำของโคลง คือตรงบังคับเอกนั้นจะต้องมีเสียงเหลื่อมขึ้นจากคำหน้า ๑ ระดับ และบังคับโทก็จะเหลื่อมขึ้นไป ๑ ระดับเช่นกัน ถือเป็นเพลงมาตรฐาน แต่อย่างไรก็ดี อย่างที่เราทราบ ๆ เพลงไทยเดิมของเราจะมีอยู่ ๒ แนว คือ แนวหวาน และแนวดุ ดังนั้นโคลงแบบจากลิลิตพระลอจึงนับเป็นโคลงดุ ค่าที่รับส่งสัมผัสด้วยเสียงโลดโผน และโคลงแบบจากนิราศนรินทร์นับเป็นแนวหวาน ค่าที่รับส่งสัมผัสด้วยระดับเสียงที่เท่ากัน 
ถ้าจะแต่งโคลงให้ง่าย ๆ จืด ๆ และไม่มีผิด ขอแนะนำให้รับส่งสัมผัสด้วยระดับเสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นคู่โท หรือ ๓ คำนั่น แต่ถ้าจะโลดโผน ก็มีคำแนะนำดังนี้ ท้ายบาทแรกให้ลงด้วยเสียงสูงเข้าไว้ คำที่ ๕ ของบาท ๒ อาจเป็นสามัญ หรือ เสียงสูงก็ได้ แต่สามัญน่าจะดีกว่า เพราะเสียงส่งมาสูง เสมือนลูกตบ ฝ่ายข้างนี้ก็ต้องงัดขึ้นนั่นเอง ในบาท ๓ เนื่องจากบาทนี้ต้องอ่านโดยเอื้อนเสียงสูง เพราะฉะนั้นใน ๔ คำแรก ควรมีเสียงสูงสอดแทรก เพื่อให้เอื้อนได้สะดวก ส่วนคำที่ ๕ จะเป็นเสียงสูงหรือไม่ ให้ดู ๔ คำแรก ถ้า ๔ คำแรกมีแล้ว คำที่ ๕ อาจไม่จำเป็น แต่ถ้า ๔ คำแรกไม่มี คำที่ ๕ ควรมีเสียงสูง 
ตานี้มาพูดถึงคู่โท ตำราเค้าบอกว่ารูปโทนั้นมีอยู่ ๒ เสียงคือ เสียงโทตามรูป เสียงตรี กติกาเค้าว่า ถ้าขึ้นโท ค ว ร รับด้วยตรี และถ้าขึ้นตรี ต้ อ ง รับตรี แต่กฎทุกกฎมีข้อยกเว้นนาคร้าบ อย่างที่ลุงเวทย์พูดบ่อย ๆ ต้องดูความด้วยนา แหะ แหะ 
ขอพูดเรื่องบังคับเอกอีกที คำที่อยู่หน้าเอก ไม่ควรมีเสียงข่มเอก คืออย่างไรก็ตาม ตรงบังคับเอก เสียงต้องเหลื่อมให้ได้อย่างน้อย ๑ ระดับ จะเหลื่อมลง หรือ เหลื่อมขึ้นก็ได้ แต่ควรเหลื่อมขึ้นมากกว่า คำเอกที่มีปัญหามากที่สุด และควรระมัดระวังมากที่สุดเพื่อมิให้เสียงโคลงแกว่ง คือเอกคำที่ ๗ ในบาทที่ ๓ คำที่ ๖ นั้น ที่ดีที่สุดคือเสียงสามัญ รองลงมาคือเสียงสูง อื่น ๆ นอกนั้นอย่าใช้เลยครับ 
สรุปว่า..ว่าอะไรดีล่ะครับ ผมว่ามันเหมือนกับการแต่งเพลงนั่นแหละ แล้วแต่แนวทางถนัดของแต่ละคน ชอบลูกทุ่ง ก็ว่าลูกทุ่งเพราะ ชอบลูกกรุงก็ว่าไปอีกทางนึง เพราะฉะนั้นจะเอารสนิยมของใครไปตัดสินใครนี่ เห็นจะไม่ได้การ วิธีที่ดีที่สุดคือ เมื่อแต่งเสร็จแล้ว ลองเอื้อนทำนองเสนาะดู ถ้าไม่ติดขัด ไม่แปร่ง ถือว่าใช้ได้ เพราะการอ่านออกเสียง อารเอื้อน จะช่วยเราได้บ้างเล็ก ๆ หากรูปหรือเสียงเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างคำว่า มาลา นักร้องไปออกเสียงว่า ม้าลา เซี้ยนี่ (ตามตัวโน้ต) คงหอมหึ่งอะนะ รู้จักเพลงนี้กันหรือเปล่าเอ่ย ทำนอง GYPSY MOON ชื่อเพลงจันทร์กระจ่างฟ้าน่ะครับ จันทร์กระจ่างฟ้านภาประดับด้วยดาว โลกสวยราวเนรมิตประมวลเมืองแมน ลมโชยกลิ่นมาลากระจายดินแดน ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ 
มีอะไรอีกเอ่ย อ้อ...ข้อกำหนดที่พูดมาทั้งหมด อาจใช้บังคับไม่หมดกับการส่งสัมผัสด้วยคำตายนะครับ โดยเฉพาะคำตายเสียงโท ยักเยื้องได้ยากมาก ต้องรักษาระดับเป็นพื้น แต่ถ้าเป็นคำตายเสียงตรี ยังพอเล่นได้มั่ง ฮี่ฮี่ฮี่ คำแนะนำสุดท้ายคือ หาวรรณคดีไทยอ่านเยอะ ๆ เทอญ อ่านให้เสียงชำแรกเข้าสู้โสตประสาท อย่าไปอ่านในใจเข้าล่ะ อุอุอุ ส่วนเรื่องอื่น ๆ ไว้นึกขึ้นได้ก่อนนะครับ ตอนนี้เมื่อยแล้วง่ะ แหะ แหะ 
มีอีกเรื่องที่อยากพูดถึงอะนะครับ (แฮ่..ดีใจ นึกว่าจะไม่มีคนอ่านซ้า อุอุอุ) แบบว่าสมัยก่อนนั้น วรรณยุกต์ไทยมีแค่ เอก กะ โท ง่ะ ไม่รู้ว่าเป็นเหตุผลด้วยหรือเปล่าที่มีบังคับเอก กะ โท เท่านั้น หรือว่าใช้เป็นสัญญลักษณ์เพื่อเลื่อนระดับเสียงอย่างรับสั่งเสด็จฯกรมพระนราฯ เพื่อน ๆ คิดเห็นเป็นไงครับผม 
ว่าแล้ว... นี่ก็เป็นอีกเหตุผลนึงมั้งครับที่เล่นตัว แบบว่ากลัวไม่มีคนอ่านง่ะ เพราะภาคทฤษฎีอย่างเงี้ย ค่อนข้างน่าเบื่อ ขอเพิ่มเติมนิดละกัน อันว่าข้อกำหนดต่าง ๆ ในการจารโคลง มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะเรื่อยมา บางครั้งก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองเป็นคนเปลี่ยน ทำให้ไม่มีคนกล้าหือ เพราะผ่านยุคผ่านสมัย เก๊าะเลิกตาม เช่นเขียนโคลงดั้นไม่ร้อยสัมผัส เขียนโคลงดั้นไม่ใช้โทคู่ เขียนโคลงสี่แต่จะใช้โทคู่ (ใครจะทำไม) ฯลฯ ลูกศิษย์ลูกหาที่ซื่อสัตย์ แล้วยึดถือต่อ ๆ มาก็มี เลยเป็นข้อพิพาทกันอยู่เสมอ ๆ ในสมัยปัจจุบัน แหะ แหะ 
เห็นเพื่อน ๆ หลายคนเขียนในแนวข้อห้าม เลยอยากยกมาพูดถึง แต่ถ้าจะเขียนต่อ ๆ ไป ก็ไม่มีใครว่าหรอกนะครับ (บ้านนี้นา..บ้านอื่นมะยู้) คือกติกาเค้าบอกว่า คำที่รับส่งสัมผัสในโคลงภาคบังคับเนี่ยมีอยู่ ๕ คำ ได้แก่คู่โท และท้ายวรรค ๓ คำนั่น ครือเค้าบอกว่าห้ามซ้ำเสียงง่ะ แบบว่าตำราว่ามาแค่นี้ แต่ส่วนตัวผมนิยมรับสัมผัสคู่โทตัวสุดท้าย กับคำที่ ๗ และ ๘ ของบาทที่ ๔ แบบว่าจะล้อ ๆ เพลงพื้นบ้านของไทย เพราะเห็นว่าลักษณะการรับ-ส่งสัมผัสของโคลง มีส่วนคล้ายกลอนหัวเดียว แต่เวลาจะลง จะเหมือนกลอนทั่วไป ผมเลยเอามาใช้มั่ง อิอิ สรุปว่า ทำไรทำเทิ้ดอย่าเปิ๊ดผ้า ทำไรไม่ว่าผ้าอย่าเปิ๊ด ฮี่ฮี่ฮี่				
comments powered by Disqus
  • กวินทรากร

    27 พฤษภาคม 2546 23:42 น. - comment id 6174

    ๑.๒ การใช้คำมากพยางค์ จะทำให้เสียงของโคลงสะบัดไหว มีจังหวะหนัก-เบา เกิดความไพเราะแปลกหู กวีที่ชอบแต่งโคลงในลักษณะนี้ได้แก่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ น.ม.ส. และสุนทรภู่ ดังตัวอย่าง
    
    ขอเสริมบางทีกวีก็มิได้จงใจมั้ง ครับ
    กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เคยเขียนไว้ว่าเชิงๆอวดตนสักหน่อว่า ท่านแต่งฉันท์จนทำให้   ลิซึ่ม เข้าสู่สมอง แบบว่าแต่ง โคลงสี่ก็กลายเป็น อินทวิเชียรฉันท์ 11 แต่งกลอนแปด เป็น สัททุลฯ 
    
    ทั้ง ร.6 และสมเด็จพระนาราย์ แต่งฉันท์ เก่งๆ กันทั้งนั้น น่าจะเป็นคล้าย น.ม.ส. ก็เป็นไปได้
    ส่วนสุนทรภู่นั้น แกแต่งกลอนเก่งกลอนมันคำเยอะแกคงไม่ถนัดที่จะรวบคำให้สั้นกระทัดรัดได้ก็เลย ขอเพิ่มคำหน่อย ประมาณนั้น 
    
    
  • อัลมิตรา

    27 พฤษภาคม 2546 23:57 น. - comment id 6175

    :)
    
    แวะมาอ่านตามประสาคนโคลงค่ะ ลุงเวทย์
    
    ขอบคุณคุณครูไหวฯ ด้วยค่ะ
  • เวทย์ (ลืม login)

    28 พฤษภาคม 2546 09:27 น. - comment id 6176

    อยากให้มองตรงวิธีการ และผลที่เกิดขึ้นจากการใช้วิธีการนั้น  ซึ่งจะเป็นประโยชน์กว่าการมานั่งคิดว่าอะไรเป็นความบังเอิญหรือเกิดจากเจตนา
    การค้นพบถ้วยยูเรก้า หรือการพบว่าโลกมีแรงดึงดูด  ถ้าจะบอกว่าเป็นความบังเอิญ  แต่จุดที่นำไปสู่การค้นพบนั้นมีคนเห็นมาจนนับไม่ถ้วน  แต่ก็ไม่มีใครคิดได้
    ข้อสำคัญคือ กวีที่มิได้จงใจรจนา คงไม่มีทางได้รับการยอมรับในผลงานได้หรอก  หรือ กวินทรากรจะบอกว่าทุกงานที่ตนเขียนนั้นไม่ได้ตั้งใจเขียน
  • ครูไหวใจร้าย

    28 พฤษภาคม 2546 10:14 น. - comment id 6177

    ตายจริง
    
    ขอแก้ไขเถิดค่ะ ที่จริงกระทู้นี้ดิฉันเคย post ไว้ใน pantip และที่บ้านของดิฉัน ดิฉันไม่บังอาจใช้คุณพี่ดอกค่ะ
    
    :)
  • เวทย์ (ลืม login)

    28 พฤษภาคม 2546 10:31 น. - comment id 6178

    ผมขอให้ครูไหวเอามาลง  แล้วครูก็บอกว่าให้ผมลงไปเองได้เลย  ไม่ใช้ก็เหมือนใช้หรอก
    องค์รพีฯ ทรงสอนไว้ว่า ..ควรจะรับใช้...  ฝรั่งก็มีคำว่า service mind  การใช้ ก็ต่างกับ  การสั่ง  อะไรที่คนไม่ใช้แปลว่าไม่มีคุณประโยชน์และไม่มีค่า
    คิดมากไปได้น่า..อิอิ
  • iiii

    20 มีนาคม 2550 17:32 น. - comment id 17188

    " รู้จักเพลงนี้กันหรือเปล่าเอ่ย ทำนอง GYPSY MOON ชื่อเพลงจันทร์กระจ่างฟ้าน่ะครับ จันทร์กระจ่างฟ้านภาประดับด้วยดาว โลกสวยราวเนรมิตประมวลเมืองแมน ลมโชยกลิ่นมาลากระจายดินแดน ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ 
    "
    ชื่อเพลง คิดถึง ค่ะ ร้องโดยจินตนา สุขสถิตย์  มีหลายคำ ที่ต้อง ออกเสียงเพื่อให้ตามตัวโน๊ต
  • นายชัยนารถ อินทลักษณ์

    17 พฤศจิกายน 2550 15:26 น. - comment id 19584

    ผมเหงาจักเลยแต่ทำไมโลกนี้มีแต่ผู้หญิงนิสัยไม่ดี ผู้หญิงชอบทำตัวน่าเบื่อ น่ารำคาญ
    089-7620379

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน