4 มิถุนายน 2551 14:19 น.

ไม้ขีดไฟในมือคุณ [มติชน 18-05-51]

น้ำผึ้งเดือนห้า

match2e.jpg 

วันนี้ความโกรธเกลียดกำลังอบอวลแผ่ซ่านไปทั่ว พร้อมจะประทุเป็นผรุสวาททันทีที่มีการพูดคุยถกเถียงเรื่องการเมือง เพียงแค่ได้ฟังข่าวสารบ้านเมืองอารมณ์ก็ขุ่นมัว หลายเดือนมานี้หลายคนพบว่าตนตื่นขึ้นมาทุกเช้าพร้อมกับความโกรธ ครุ่นคิดถึงฝ่ายตรงข้ามเมื่อใดก็อยากเห็นมันพินาศวายวอดเมื่อนั้น คราใดที่คนเหล่านี้มาเผชิญหน้ากัน บรรยากาศก็พลันเขม็งเกลียว 
เมืองไทยวันนี้กำลังร้อนระอุและปริร้าวเพราะการแบ่งฝ่ายแยกขั้วกันอย่างชัดเจน ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันอย่างรุนแรง ถึงขั้นด่าว่ากันด้วยถ้อยคำหยาบคาย ในยามที่บ้านเมืองปกติ การกระทำดังกล่าวมักจำกัดวงอยู่ในกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่อยู่ชายขอบของสังคม ใครที่ทำเช่นนั้นมักเป็นที่รังเกียจ และไม่มีผู้ใดอยากคบค้าสมาคมด้วย แต่ปัจจุบันวิธีการเช่นนี้กลับได้รับความนิยม แต่ละฝ่ายต่างสรรหาถ้อยคำรุนแรงมาว่ากล่าวกัน ราวประชันขันแข่งกันว่าใครจะแรงกว่ากัน เพราะต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่ายิ่งพูดแรงเท่าไร ก็ยิ่งได้ผล เพราะนอกจากสะใจผู้พูดและเรียกเสียงเชียร์จากผู้สนับสนุนแล้ว ยังเป็นการลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม ที่สำคัญยังเป็นการปรามผู้ที่อยู่กลาง ๆ ไม่ให้วิพากษ์พวกตนเพราะกลัวถูกกล่าวหาด้วยถ้อยคำรุนแรง ผลก็คือมีแต่เสียงด่าของสองฝ่ายเท่านั้นที่ดังระงมตามสื่อต่าง ๆ ส่วนคนอื่นซึ่งไม่เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่ายกลับแผ่วเสียงลงไปทุกที ขณะที่จำนวนไม่น้อยตัดสินใจเลือกข้าง เพราะเห็นอีกฝ่ายเลวร้ายตามข้อกล่าวหา หรือไม่ก็เพราะกลัวว่าจะถูกตีตราแขวนป้ายเหมือนคนอื่น ๆ 

การกระตุ้นเร้าให้เกิดความรู้สึกโกรธเกลียดอีกฝ่าย เป็นวิธีการที่ทุกฝ่ายนำมาใช้อย่างเต็มที่ ด้วยการสร้างภาพอีกฝ่ายว่าเลวร้ายอย่างมิอาจให้อภัยได้ และเป็นที่มาแห่งความเลวร้ายทั้งปวงที่กำลังเกิดขึ้น(และจะเกิดขึ้น)กับประเทศชาติ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่า สิ่งที่ทุกฝ่ายพยายามปลุกเร้ามิใช่ความโกรธและความเกลียดเท่านั้น ลึกลงไปกว่านั้นคือความกลัว 

ความกลัวเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานที่จำเป็นต่อความอยู่รอดของมนุษย์ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นพลังที่มักถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ อยู่เสมอ นักการเมืองที่กระตุ้นให้ผู้คนตื่นกลัว (เช่นปลุกผีคอมมิวนิสต์ หรือขู่ว่าจะมีการก่อการร้าย)จึงมักได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น เมื่อใดที่ประชาชนถูกปลุกเร้าให้เกิดความกลัว ก็พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อหนีห่างจากภัยคุกคาม (เช่น สละสิทธิเสรีภาพบางอย่าง) และหากจวนตัวก็พร้อมจะสู้ยิบตาเพื่อกำจัดภัยนั้นให้สิ้นซาก ความกลัวนั้นสามารถแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธเกลียดและก้าวร้าวรุนแรงได้อย่างนึกไม่ถึง ดังชาวเยอรมันที่กลัวและเกลียดชาวยิวถึงขั้นล้างเผ่าพันธุ์ หรือประชาชนที่กลัวคอมมิวนิสต์ครองเมืองจนถึงกับลงมือสังหารนักศึกษาประชาชนที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวง
ความกลัวนั้นกระตุ้นให้ร่างกายทำงานและมีปฏิกิริยาออกไปทันทีโดยไม่ต้องคิด วิธีนี้ช่วยให้เราเอาตัวรอดได้อย่างฉับพลันหากเจอสัตว์ร้ายหรือรถยนต์พุ่งชน แต่เมื่อมาอยู่ในสถานการณ์การเมืองที่แบ่งฝ่ายแยกขั้ว ความกลัวกลับทำให้ผู้คนตื่นตระหนกและไร้เหตุผลหรือขาดวิจารณญาณ ดังนั้นจึงเชื่อคำกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามอย่างง่ายดาย อคติอันเนื่องจากความกลัว หรือ
ภยาคตินั้น สามารถปรุงแต่งให้เราเห็นเชือกเป็นงู เห็นหมูเป็นช้าง และเห็นกวางเป็นเสือไปได้ไม่ยาก ด้วยเหตุนี้ความผิดพลาดอย่างไม่ตั้งใจของฝ่ายตรงข้ามแม้เพียงเล็กน้อยสามารถกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้ทันที เมื่อผู้คนเกิดภยาคติขึ้นมา (ในขณะที่พวกเดียวกันแม้ผิดพลาดแค่ไหนก็ยอมรับได้เพราะอำนาจของฉันทาคติหรืออคติเพราะชอบ)

เมืองไทยกำลังเต็มไปด้วยความกลัว เราไม่ได้กลัวว่าเศรษฐกิจจะวิกฤตเท่านั้น แต่ยังถูกปลุกให้กลัวว่าสถาบันกษัตริย์กำลังถูกคุกคาม พุทธศาสนากำลังถูกกลืน ราชาธิปไตยกำลังกลับมา ทุนสามานย์กำลังทำให้สิ้นชาติ ควบคู่กับการปลุกเร้าภยาคติ ก็คือการตีตราแขวนป้ายให้แก่คนที่เห็นต่างจากคน หรืออยู่คนละกลุ่มว่า เป็นพวกไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน หรือเป็นพวกเผด็จการสนับสนุนรัฐประหาร ฯลฯ ต่างฝ่ายต่างผลิตวาทกรรมและสรรหาหลักฐานต่าง ๆ เพื่อโจมตีใส่ร้ายซึ่งกันและกัน ทั้งหมดนี้ไม่เพียงปลุกเร้าความกลัวให้เกิดขึ้นกับผู้คนเท่านั้น มองให้ลึกลงไปพฤติกรรมดังกล่าวยังสะท้อนถึงความกลัวที่อยู่เบื้องหลังแกนนำของแต่ละกลุ่ม ใช่หรือไม่ว่าเขาเหล่านั้นพยายามทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มอีกฝ่าย เพราะกลัวว่าหากฝ่ายตรงข้าม ชนะ พวกตนก็จะต้องเดือดร้อน ถูกดำเนินคดี ริบทรัพย์ ติดคุก หรือสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมหาศาล

ถึงที่สุดแล้วยิ่งปลุกเร้าให้ประชาชนตื่นกลัว ความกลัวก็กลับเพิ่มพูนขึ้นในใจของผู้ที่ปลุกเร้า ไม่ใช่เพียงเพราะว่ายิ่งสร้างภาพอีกฝ่ายให้เลวร้ายเท่าไร ตนเองก็ยิ่งเชื่อภาพที่สร้างขึ้นมากเท่านั้น หากยังเป็นเพราะว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้อีกฝ่ายตอบโต้ด้วยวิธีที่รุนแรงและโกรธเกรี้ยวยิ่งกว่าเดิม รวมทั้งเล่นงานตรงจุดอ่อนหนักมือขึ้น พูดอีกอย่างคือยิ่งวาดภาพให้เขาเลวร้ายมากเท่าไร เขาก็ยิ่งเลวร้ายอย่างที่วาดภาพเอาไว้มากเท่านั้น

เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างเป็นผลผลิตของกันและกัน ยิ่งกล่าวหาเขา ก็ยิ่งผลักให้เขาเป็นศัตรูและมีจุดยืนที่สุดโต่งมากขึ้น เมื่อสามีถูกภรรยาด่าว่าอย่างรุนแรงเพราะไปมีเมียน้อย เขาย่อมปกป้องตนเอง ทีแรกก็อาจกล่าวโทษว่าภรรยาเป็นเหตุ (เช่น เอาแต่ทำงาน ไม่สนใจดูแลสามี) แต่หากภรรยาต่อว่าไม่หยุด สามีก็จะเริ่มกล่าวหาภรรยาว่า ไม่ได้ดีไปกว่าเขาเท่าไร ทีนี้ก็จะขุดคุ้ยความไม่ดีของภรรยาออกมา ครั้นภรรยาตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรง สามีไม่เพียงแต่จะหาเหตุผลมาสนับสนุนการนอกใจของตนเท่านั้น แต่อาจตะแบงไปถึงขั้นยืนกรานหน้าตาเฉยว่า มีเมียน้อยผิดตรงไหน? ถึงตรงนี้ต่างฝ่ายต่างอยู่ไกลเกินกว่าจะคุยกันให้รู้เรื่องได้ ไม่มีใครฟังเหตุผลกันแล้ว มุ่งมั่นแต่จะเอาชนะอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะสามัญสำนึกไม่ทำงานแล้ว

ใช่หรือไม่ว่าในความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังร้อนแรงอยู่นี้ สามัญสำนึกกำลังเหลือน้อยลง เพราะความกลัว โกรธ เกลียด กำลังครองใจ ผู้คนไม่เพียงเชื่อคำใส่ร้ายป้ายสีของแต่ละฝ่ายอย่างง่ายดาย โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือสนใจภูมิหลังของเขาอีกต่อไป หากยังไม่สนใจด้วยว่าการเผชิญหน้ากันด้วยความโกรธเกลียดและหวาดกลัวนั้นจะนำไปสู่อะไร ต่างฝ่ายต่างปรารถนาที่จะหาญหักใส่กัน ด้วยความเชื่อว่าความรุนแรงเท่านั้นเป็นคำตอบ ไม่มีใครสนใจว่าหากฟาดฟันกันให้ยับเยินไปข้างหนึ่งแล้ว บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ขอเพียงแต่ฉันได้รับชัยชนะก็พอแล้ว
ปัญหาอันสลับซับซ้อนของประเทศเวลานี้ถูกลดทอนให้กลายเป็นเรื่องตัวบุคคล ทางออกของบ้านเมืองจึงเหลือเพียงว่า จะเอาหรือไม่เอาทักษิณ(กับพวก) ต่างฝ่ายพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้เป้าประสงค์ของตนบรรลุผล โดยไม่คำนึงว่าจะเกิดผลเสียอย่างไรต่อบ้านเมือง พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าทั้งสองฝ่ายไม่คำนึงถึงส่วนรวม ความจริงแล้วแต่ละฝ่ายล้วนเห็นแก่บ้านเมือง แต่เมื่อเข้าไปในวังวนแห่งความขัดแย้ง มีการกระทบกระทั่งกันรุนแรงขึ้น ความโกรธเกลียดและความกลัวที่ผุดขึ้นมาก็เปิดช่องให้อัตตาขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือจิตใจ ยิ่งเผชิญหน้ากัน ก็ยิ่งดึงเอาด้านมืดของแต่ละฝ่ายออกมา สำนึกต่อส่วนรวมเลือนหายไป สิ่งที่มาแทนที่คือความหวงแหนในผลประโยชน์ (ตัณหา) ความสำคัญตนว่าเหนือกว่า (มานะ) และความใจแคบเพราะยึดติดถือมั่นในความคิดของตน(ทิฏฐิ) ทั้งหมดนี้ทำให้ความขัดแย้งกันกลายเป็นเรื่องแพ้-ชนะส่วนบุคคล เพื่อ ตัวกู ของกู ยิ่งกว่าเพื่อบ้านเมือง

ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ตราบใดที่ไม่ลุกลามไปเป็นการเผชิญหน้าด้วยความมุ่งร้ายต่อกัน หากถึงจุดนั้นเมื่อไร ก็ไม่ยากที่จะเกิดความรุนแรงจนถึงขั้นเลือดตกยางออกและผลักบ้านเมืองสู่วิกฤต สิ่งหนึ่งที่ทุกคนทำได้ก็คือไม่ช่วยโหมกระพือให้ความขัดแย้งขยายตัวไปถึงจุดนั้น จะทำเช่นนั้นได้ต้องตั้งสติให้มั่น รับฟังอย่างมีวิจารณญาณ ไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ เพียงเพราะพูดถูกใจหรือเพราะผู้พูดเป็นพวกเดียวกับตน รู้เท่าทันความโกรธ เกลียด และกลัวที่เกิดขึ้นเมื่อรับฟังข่าวสารบ้านเมืองหรือได้ยินคำกล่าวหาของแต่ละฝ่าย ขณะเดียวกันก็เปิดใจให้กว้าง ยึดถือ ความถูกต้อง ยิ่งกว่า ความถูกใจ

ในยามที่บ้านเมืองกำลังถลำสู่วังวนแห่งความคลั่งไคล้ไร้สติ การดำรงสติให้มั่นเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของเรา สติของเราแต่ละคนสามารถแผ่ขยายไปยังคนรอบตัว และเรียกสติของเขาให้กลับคืนมาจนรวมกันเป็น สติมหาชนได้ ในยามที่สามัญสำนึกกำลังเลือนหายไปจากสังคม หน้าที่ของเราคือเรียกสามัญสำนึกให้กลับคืนมา ให้ผู้คนตระหนักว่าความรุนแรงนั้นนำความพ่ายแพ้มาสู่ทุกฝ่าย และถึงจะมีใครได้ชัยชนะก็เป็นชัยชนะชั่วครู่ชั่วยาม และไม่คุ้มค่ากับความย่อยยับของบ้านเมืองตลอดจนชีวิตที่ต้องสูญสิ้นไป มีใครบ้างที่อยากเห็นลูกหลานของตนเติบโตในสภาพเช่นนี้

เรายังสามารถเรียกสติและสามัญสำนึกของผู้คนให้กลับคืนมา ด้วยการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการสาดโคลนหรือใส่ร้ายป้ายสีกัน ใช้เหตุผลยิ่งกว่าอารมณ์ ยึดมั่นในสันติวิธีและกติกาของผู้เจริญ หากจะโต้เถียงหรือทะเลาะกัน ก็ให้กระทำอย่างอารยชน จริงอยู่ผู้นำของแต่ละฝ่ายอาจไม่ฟังเสียงทักท้วงดังกล่าว ในกรณีเช่นนั้นก็สมควรที่เราจะไม่ฟังและไม่ใส่ใจกับคำพูดของคนเหล่านั้นตราบใดที่ยังมุ่งกระตุ้นเร้าความโกรธ เกลียด และกลัว อย่างไร้เหตุผล
อย่างไรก็ตามนอกจากวิธีการเฉยเมยและไม่รวมกระโจนเข้าไปในความขัดแย้งที่มีลักษณะเผชิญหน้ากันแล้ว เราควรเสนอทางออกเพื่อเป็นทางเลือกที่สามในประเด็นที่มีความขัดแย้งระหว่างทางสุดโต่งสองทาง ทางเลือกที่สามมีความสำคัญเพราะจะเป็นช่องทางสำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับทางสุดโต่งทั้งสอง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีอยู่ไม่น้อย อีกทั้งเป็นการส่งสัญญาณไปยังทุกฝ่ายในสังคมว่าแท้ที่จริงแล้วทางสุดโต่งทั้งสองนั้นเป็นที่นิยมจริงหรือไม่ ในปัจจุบันประเด็นที่มีความขัดแย้งอย่างมากคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกวันนี้ผู้คนดูเหมือนจะมีทางเลือกแค่สองทางคือ ๑)ไม่แก้ไขเลยแม้แต่มาตราเดียว กับ ๒) แก้ไขด้วยวิธีรวบรัดโดยอาศัยเสียงข้างมากในสภา ทั้งสองวิธีมีแต่นำไปสู่การเผชิญหน้ากัน แท้จริงแล้วยังมีทางเลือกที่สามซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้
ประเด็นอยู่ที่ว่าจะมีใครเสนอได้อย่างมีน้ำหนักหรือไม่ และสื่อสารถึงผู้คนได้กว้างขวางเพียงใด
วันนี้ความโกรธเกลียดและกลัวกำลังอบอวลแผ่ซ่านไปทั่ว พร้อมจะระเบิดเป็นความรุนแรงได้ทุกเมื่อ ไม่ต่างจากบรรยากาศที่อบอวลด้วยไอน้ำมัน ขอเพียงแต่มีผู้จุดไฟพร้อมกันหลาย ๆคน บัดนี้ไม้ขีดไฟอยู่ในมือทุกคนแล้ว อยู่ที่ว่าจะมีใครจุดหรือไม่ บ้านเมืองจะผ่านพ้นวิกฤตหรือไม่เป็นความรับผิดชอบของทุกคน มิใช่เป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ถ้าคุณอยากให้บ้านเมืองมีความสงบสุขและจัดการความขัดแย้งได้อย่างสันติ อย่างแรกที่ต้องทำคือโยนไม้ขีดไฟทิ้ง หรือไม่ก็ดับประกายไฟเสีย ประกายไฟนั้นมิได้อยู่ที่ไหน หากอยู่ในใจคุณนั่นเอง

 โดย... พระไพศาล วิสาโล [ 03 มิ.ย. 2551 เวลา 09:03 ]

ที่มา http://www.budnet.info/webb0ard/view.php?category=textb&wb_id=155				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟน้ำผึ้งเดือนห้า
Lovings  น้ำผึ้งเดือนห้า เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟน้ำผึ้งเดือนห้า
Lovings  น้ำผึ้งเดือนห้า เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟน้ำผึ้งเดือนห้า
Lovings  น้ำผึ้งเดือนห้า เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงน้ำผึ้งเดือนห้า