15 กันยายน 2546 17:27 น.

ผู้กำกับฯหนังดังเผย“แฟนฉัน”แหกกฎคนทำหนัง เชื่อ!ขายได้

นิติ

เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ทีมงานภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์หนังเรื่องนี้ก่อนฉายทั่วประเทศ ที่ศูนย์บริการกลาง(msuplaza) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม งานนี้มีกิจกรรมให้ร่วมสนุกตั้งแต่เวลา 11.00 น. พอถึงเวลา 14.00 น.เริ่มฉายภาพยนตร์รอบพิเศษ ไม่เก็บค่าบัตรผ่านประตู โดยมี นายจิระ   มณีกุล ผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้ และผู้กำกับภาพยนตร์  2 คน จาก 6 คน ร่วมพูดคุยตอบข้อซักถามผู้ชม หลังภาพยนตร์เรื่องนี้จบ
	นายจิระ  มณีกุล กล่าวว่า หนังเรื่องนี้ชอบตั้งแต่อ่านโครงเรื่องแล้ว และคนที่เสนอโครงเรื่องมานั้น  เป็นลูกศิษย์ผมเอง สมัยเป็นอาจารย์พิเศษเมื่อหลายปีก่อน สอนเกี่ยวกับการทำภาพยนตร์ อยู่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เห็นความตั้งใจในการทำงานของเขา มีมุมมองที่น่าสนใจ เมื่อตอนทำหนังสั้นแล้ว  จึงตัดสินใจให้ทำภาพยนตร์เรื่องนี้  โดยให้เขารวมกลุ่มที่เคยทำหนังสั้นด้วยกันมาทำ ดังนั้น จึงมีผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ถึง 6 คน ตอนที่จะให้ทุนทำหนังเรื่องนี้ ทางบริษัทผู้ให้เงินหนักใจอยู่เหมือนกันว่า จะขายไหม เพราะในแวดวงคนทำหนังเข้าใจดี หนังเกี่ยวกับ เด็ก,กระเทยและสัตว์ มีความเสี่ยงต่อการขาดทุนเพราะคนไทยยังนิยมชมมากนัก โดยเฉพาะหนังเรื่องนี้ นักแสดงสำคัญเป็นเด็กทั้งหมด  ผมได้อธิบายเพิ่มว่า หนังที่ตีแผ่ความเป็นกระเทยอย่าง สตรีเหล็ก1-2 ประสบความสำเร็จสูง จึงเป็นความเสี่ยงที่คุ้มค่า และเชื่อมั่นในตัวผู้กำกับฯที่สามารถเสนอแง่มุมวัยเด็กให้กินใจผู้ชมได้
	หนังเรื่องนี้มีบริษัท ฮับ หัว  ฮิน ฟิล์ม เป็นผู้สร้างภาพยนตร์ โดยมี บริษัท ไท เอนเตอร์เมน จำกัดให้ทุนในการสร้าง และบริษัท จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์  จำกัดดูแลด้านเพลงประกอบภาพยนตร์และโปรโมทภาพยนตร์  ซึ่งจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ วันที่ 3 ตุลาคมนี้.				
10 กันยายน 2546 20:43 น.

กฎหมายลิขสิทธิ์และพรบการพิมพ์ สมควรเปลี่ยนหรือยัง

นิติ

เปรียบเทียบ พรบ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 กับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 34 ,39และ41 ว่าเป็นอย่างไร
มาตรา34 กล่าวถึง การมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง เกียรติยศ ชื่อเสียง ความเป็นส่วนตัวของบุคคล ในเรื่องการแพร่ภาพ ข้อความต่อสาธารณชน เว้นแต่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน
จึงหมายความว่า การเขียนข้อความหรือแพร่ภาพที่มีประโยชน์ต่อประชาชน แสดงว่าไม่ผิดกฎหมาย
ซึ่งจะอ้างพรบ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา9 มาปิดหนังสือพิมพ์ เพราะเสนอข่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยไม่ได้   ด้วยเหตุผลตามรัฐธรรมนูญ ที่ว่ามีประโยชน์ต่อประชาชน ด้านให้ความรู้ ระวังภัยเหตุร้าย ช่วยให้ระมัดระวังตัว
มาตรา39 กล่าวถึง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เขียน โฆษณา และสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำไม่ได้
จึงหมายความว่า การสั่งปิดกิจการสื่อ เพื่อกำจัดเสรีในการเสนอความคิดเห็นจึงทำไม่ได้
ฉะนั้นจะอ้างพรบ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 มาปิดโรงพิมพ์ไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้าต้องการปิดโรงพิมพ์ ต้องอาศัยศาลรัฐธรรมนูญสามารถชี้ขาด หรือกฎหมายอื่นบังคับใช้
มาตรา41 กล่าวถึง พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการ หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรศัพท์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นตามข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ
จึงหมายความว่า คนที่ทำงานด้านสื่อ ควรได้รับสิทธิเสรีภาพเต็มที่ แต่อยู่ใต้กรอบรัฐธรรมนูญ กำหนดเท่านั้น
การใช้พรบ.การพิมพ์ พ.ศ.2484  มาลงโทษคนทำงานด้านนี้ หรือตีกรอบเสรีภาพความคิดไม่ได้ เพราะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดข้อพิพาท พรบ.การพิมพ์พ.ศ.2484 ไม่สามารถสู้กฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งควรปรับแก้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ตรวจสอบสังคมได้ มากกว่าจะกีดกั้นเสรีภาพสื่อที่พบเห็นในปัจจุบัน				
10 กันยายน 2546 18:17 น.

“มีชัย”แนะร่างพรบ.มมส เน้นกันคนอู้ชูคนขยัน!

นิติ

ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จัดการประชุมปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นการจัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่โรงแรมภูแก้วฮิลล์รีสอร์ท อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มีการบันทึกเทปไว้ด้วย โดยศูนย์พัฒนาทรัพยากรการศึกษาของมหาวิทยาลัย ทางศูนย์ดังกล่าว จึงได้นำเทปมาแพร่ภาพและเสียงผ่านเว็บไซด์ประจำสถาบันwww.msu.ac.th ด้วยระบบวีดีโอดีมานด์ โดยมีผู้บริหารและตัวแทนหลายฝ่าย เข้าร่วมประชุม  มีผู้นำการประชุมคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายกสภามหาวิทยาลัย รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษาอธิการบดีและอดีตอธิการบดี และ ศ.นพ.อดุลย์  วิริยเวชกุล(ราชบัณฑิต) อธิการบดี เป็นต้น
            นายมีชัย กล่าวถึงร่าง พรบ.มมส. ฉบับใหม่ว่า ตอนที่ยกร่างฉบับนี้ มีการว่างกรอบ ระเบียบการทำงานของฝ่ายบริหารไว้เป็นอย่างดี มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ฝ่ายต่างๆของมหาวิทยาลัย ให้รุดหน้ากว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่พอมาถึงวันนี้ ร่างพรบ.เริ่มจะเหมือนหรืออาจด้อยกว่าร่างพรบ.ของมหาวิทยาลัยอื่นๆแล้ว ซึ่งควรจะคุยกัน เพราะถ้าได้วางกรอบไว้ดีแล้วจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา แต่ถ้าวางกรอบไว้ไม่ดีจะเป็นเหมือนโซ่ตรวนถ่วงความเจริญของมหาวิทยาลัย เพราะต้องเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยมีการบริหาร 2 ระบบที่ใกล้เคียงกัน คือมีทั้งในระบบ หมายถึงการบริหารแบบราชการ และนอกระบบ หมายถึงการบริหารไม่ใช่แบบราชการ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยจัดการบริหารแบบนอกระบบเหมือนระบบราชการ ทั้งที่ความจริงการบริหารแบบนอกระบบ มีความเป็นอิสระ มหาวิทยาลัยสามารถคิดกลวิธีใดก็ได้ แต่ไม่เห็นมีใครคิดถึงจุดนี้ เมื่อใดก็ตามมีคนคิดบริหารนอกระบบที่ดีเป็นรูปธรรม และสามารถเป็นแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยที่ดีได้ สภามหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ 
            นากยกสภามหาวิทยาลัยได้เปรียบเทียบร่างพรบ.มมส.กับร่างพระราชกฤษฎีกาวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดี ที่รัฐบาลจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ควรไปในแนวทางเดียวกัน เพราะเป็นร่างกฎหมายที่ดี และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า  พรก.วิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดี จะเป็นตัวกระตุ้นการทำงานตัวเป็นเกลียว เพราะต้องมีแผนก่อนทำงานว่ามีอะไรบ้าง เพื่อบีบบังคับคนที่ชอบเอางานมาผ่านโต๊ะตัว โดยที่ไม่ได้เสนออะไร ซึ่งจะเห็นกันมาก เช่น หนังสือถึงอธิการฯ จะมีคนเซ็นหนังสือมาเยอะ แล้วถามว่าเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นมา คนที่เซ็นหนังสือเหล่านี้  มักบอกว่า ก็ผมไม่ได้ว่าอะไร ฉะนั้นผมก็ไม่ควรมีความผิด  เมื่อไม่มีความผิด คนก็ชอบเซ็นกัน แล้วนับเป็นผลงาน นับเป็นวาระงาน  ดังนั้นในร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เขาจึงกำหนดว่าต่อไปนี้ ใครก็ตามมีชื่อเซ็นแม้เพียงนิดเดียว แม้ไม่พูดอะไรเลย เกิดเสียหาขึ้นมา คนนั้นต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าเสียหายไปร้อยล้านก็เอามาเฉลี่ยกัน หวังไว้ว่าจะสามารถช่วยตัดคนที่ไม่มีหน้าที่อะไร แต่อยากเซ็นออกไป
          รศ.ดร.ภาวิช กล่าวว่า หลัง พรบ.มมส. ประกาศใช้ บุคลากรที่เข้ามาใหม่ จะถูกเรียกรวมๆว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจริงๆแล้วข้าราชการก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว แต่จะใช้ให้เรียกเป็นคำเฉพาะไม่ใช่คำสามัญ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อยุติในด้านกฎหมาย ทางนายกรัฐมนตรีได้ให้ทางออกว่า ถ้าใครอยากใช้คำว่าข้าราชการก็เรียกข้าราชการ อาจไม่เหมือนข้าราชการพลเรือนหรือมหาวิทยาลัย แต่เป็นข้าราชการตามด้วยชื่อหน่วยงาน ขณะนี้เริ่มนำไปใช้บ้างแล้ว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่า ข้าราชการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ มมส. เองยังใช้คำว่าพนักงานวิชาการ และถ้าจะแก้ไขสามารถแก้ไขได้ เพราะยังเป็นแค่ร่าง พรบ.อยู่
          ศ.นพ.อดุลย์ กล่าวตอนท้ายว่า ต้องดูโดยรวมของมหาวิทยาลัยก่อนจะดำเนินการสิ่งใด เพื่อป้องกันการหลงทาง หลุดออกจากกระแสโลกาภิวัฒน์ไป และต้องสามารถตอบสนองความต้องการทางการบริการวิชาการแก่ลูกค้า นั่นคือนิสิตนั่นเอง  การดูโดยรวมต้องเริ่มดูตัวเราเองก่อน ซึ่งในปี 2547 มมส.มีงบดำเนินการ 68 ล้านบาท งบลงทุน 239ล้านบาท เป็นสิ่งที่น่ายินดีเพราะมีมหาวิทยาลัยของเราและ ม.ทักษิณเท่านั้น ที่ได้งบเพิ่มขึ้น ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆนั้นถูกปรับงบลดลง ซึ่งถ้าปีต่อไปอาจจะถูกปรับงบลดลงบ้าง ก็อย่าได้เสียใจหรือวิตกกังวล เป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นมหาวิทยาลัยจึงควรหารายได้ส่วนอื่นๆ เพื่อรองรับอนาคตวันข้างหน้า อย่างก็ตามในระหว่างปี 2545-2546ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง54 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบรายได้ปีก่อนหน้านั้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีบุคลากร 1,471 คน มีลูกจ้างชั่วคราวมากที่สุดเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆราว 700 คน ซึ่งรับเข้ามาทำงานในแบบอุปการะคุณ มีตำแหน่งทางวิชาการ ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์มีจำนวนพอสมควร ระดับรองศาสตราจารย์ 31 คน ส่วนศาสตราจารย์ประจำคณะต่างๆมีน้อยมาก ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้มีในสัดส่วนที่สมดุลกัน และจำนวนนิสิตทั้งหมดเกือบ 20,000 คน ภาคปกติประมาณ 6,000คน ภาคพิเศษราว 14,000 คน การมีนิสิตภาคพิเศษอัตราสูง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยขยายตัวได้เร็วขึ้นเช่นกัน
             การประชุมครั้งนี้ ยังมีรองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ ตัวแทนจากสภาคณาจารย์ ข้าราชการสาย ข-ค และหน่วยในสังกัดของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมอภิปรายร่างพรบ.มหาวิทยาลัยมหาสารคามอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้ได้ร่างพรบ.ที่ดีที่สุด ก่อนที่จะส่งให้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาต่อไป.				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟนิติ
Lovings  นิติ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟนิติ
Lovings  นิติ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟนิติ
Lovings  นิติ เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงนิติ