12 กรกฎาคม 2551 17:31 น.
ธมกร
*****
บนเส้นทางกาพย์กลอนสอนชีวิต
ลุงประสิทธิ์สอนรักเชิงอักษร
โรหิตจารเสถียรใจไม่จางจร
ยังภาพซ้อนภาพซึ้งคิดถึงลุง
สิบสองกรกฎา...มากี่หน
ไม้มงคลต้นศรัทธายังร่มทุ่ง
นากวีข้าวชีวิตประสิทธิ์ผดุง
ยังน้อมรุ้งรวงนิรันดร์กตัญชลี
ขอให้ลุงมีอายุบวร
ด้วยความเคารพยิ่ง
ศิวกานท์ ปทุมสูติ
๑๒ กรกฎ.๕๑
19 มิถุนายน 2551 10:38 น.
ธมกร
ครูกานท์ : ทุ่งสักอาศรม ออกธุดงค์วิชาการสัญจรเป็นวิทยาทาน แก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ภาคกลาง-ภาคตะวันออก ๑๗-๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑
ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม เป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาเรียนรู้เชิงอุดมคติ กระบวนการเรียนรู้แบบ ชีวิตเป็นศูนย์กลาง [Life Center] สร้างเสริมทักษะ และผัสสะแห่ง ปัญญาธรรม ได้ดำเนินโครงการแบบธุดงค์วิชาการสัญจรเป็นวิทยาทานการศึกษาสำหรับครูภาษาไทย ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาในชื่อโครงการต่างๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ครั้งนี้ได้จัดโครงการสัญจร ๑๑ วัน ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก
จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการที่พบว่าเด็กไทยวันนี้มีภาวะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เป็นจำนวนมาก (ดูรายละเอียดได้ที่ www.oknation.net/blog/krugarn และ www..siwagarn.multiply.com) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กโดยตรง คือเมื่อเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กระบวนการเรียนรู้วิชาอื่นๆ ก็มืดบอดและบกพร่อง เมื่อเด็กไม่รักการอ่าน โลกแห่งการเรียนรู้ก็จำกัดและคับแคบ เมื่อเด็กคิดไม่เป็นการเรียนรู้ก็ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติและการใช้ชีวิตอย่างมีศักยภาพได้
ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรมจึงได้จัดทำโครงการ สัญจรเป็นวิทยาทาน แก้ปัญหาเรื่องนี้ขึ้นอีกครั้งในชื่อโครงการ สี่เดือนอ่านออกเขียนได้และปลูกใจรักการอ่าน สัญจรเป็นวิทยาทานการศึกษาสำหรับครูภาษาไทย ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับและสังกัดขึ้น สำหรับครูภาษาไทย ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับและสังกัด ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ ๑๗๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โดยมี ครูกานท์ หรือ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ เป็นวิทยากร เพื่อให้ครูภาษาไทย ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเรียนรู้ กระบวนการและวิธีการในการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้และไม่รักการอ่าน ที่จะสามารถนำไปปฏิบัติการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแท้จริงต่อไป
กำหนดการ / เนื้อหา
๑๗ - ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑
ลำดับเส้นทางสัญจร วันที่ ๑๗-๑๘ สุพรรณบุรี,ชัยนาท ๑๙-๒๐ ลพบุรี,สระบุรี ๒๑-๒๒ ฉะเชิงเทรา,ชลบุรี ๒๓-๒๔ ระยอง,จันทบุรี,ตราด ๒๕-๒๖-๒๗ สระแก้ว,ปราจีนบุรี,นครนายก
๐๘.๐๐ ผู้เข้าอบรมเดินทางถึงที่ประชุม / ลงทะเบียน
๐๘.๓๐ พิธีเปิด (มีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามี,เน้นเรียบง่ายและกระชับ)
๐๙.๐๐ นำเสนอ PowerPoint เรื่อง ที่มาของโครงการ
๐๙.๑๕ บรรยายผ่าน PowerPoint เรื่อง การอ่าน การคิด และการวิเคราะห์เหตุแห่งปัญหา
๑๐.๐๐ พัก / อาหารว่าง (ถ้ามี)
๑๐.๑๕ บรรยายผ่าน PowerPoint เรื่อง วิธีสอนแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
๑๒.๐๐ พัก / อาหารกลางวัน
๑๓.๐๐ บรรยายผ่าน PowerPoint เรื่อง การปลูกฝังความรักการอ่านและการคิด
๑๔.๔๕ พัก / อาหารว่าง (ถ้ามี)
๑๕.๐๐ บรรยายผ่าน PowerPoint เรื่อง การวางแผนแก้ปัญหาทั้งระบบเพื่อเด็กอ่านออกเขียนได้ภายในสี่เดือน (เรื่องนี้มีความสำคัญต่อผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้รับผิดชอบมาก)
๑๖.๐๐ อภิปรายซักถาม
๑๖.๓๐ ปิดการอบรม / เดินทางกลับ
หมายเหตุ เนื้อหาอาจปรับเปลี่ยนได้บ้างตามความเหมาะสม
วิธีเข้าร่วมโครงการ
สพท. หรือหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ให้ดำเนินการในข้อ ๑ - ๕ ดังนี้
๑.ติดต่อเข้าร่วมโครงการกับศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม โดยโทรศัพท์จองวันและทำหนังสือตอบรับเข้าร่วมโครงการร่วมภายใน ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑
๒.จัดเตรียมครูกลุ่มเป้าหมาย ผู้บริหาร และบุคลากรที่สนใจเข้าร่วมฟังและเรียนรู้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน
๓.จัดเตรียมสถานที่ เครื่องเสียง และโปรเจกเตอร์ที่พร้อมใช้กับโน้ตบุ๊ค (วิทยากรจะนำโน้ตบุ๊คมาเอง)
๔.จัดเตรียมอาหารและที่พักสำหรับวิทยากร
๕.จัดสรรค่าน้ำมันรถวิทยากร ๑,๐๐๐ ๒,๐๐๐ บาท เท่านั้น ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนวิทยากร!
ติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ที่ นางสาวในดวงตา ปทุมสูติ เลขานุการศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ๓๕ หมู่ที่ ๑๓ ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ๗๑๑๗๐ โทร. ๐๘๑๗๕๗๘๘๕๔, ๐๘๑-๙๙๕๖๐๑๖
19 มิถุนายน 2551 09:07 น.
ธมกร
เวียงคอกช้างดิน ๒๕๕๑
หรือกรุงเทพมหานคร (ร้าง) ในอนาคต!
ศิวกานท์ ปทุมสูติ
.
เมื่อเมษายนที่ผ่านมา ผมและเยาวชนหนุ่มสาวโรงเรียนกวีรุ่น ๓ ได้ห่อข้าวใบตองไปกินกลางป่าเชิงภูเขาถ้ำเสือ อู่ทอง สุพรรณบุรี ไปสัมผัสอารมณ์กับร่องรอยอาณาจักรรกร้างครั้งเมืองอู่ทองรุ่งเรือง ตามนัยที่นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่เชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับแผ่นดินสุวรรณภูมิครั้งกระโน้น ผมเองไม่ลึกซึ้งกับเรื่องประวัติศาสตร์จึงขอที่จะไม่ขยายรายละเอียด เรา คือผมและศิษย์โรงเรียนกวีทุ่งสักอาศรม จึงมุ่งไปเยี่ยมไปเยือนเมืองร้างด้วยอารมณ์รู้สึกของคนเขียนบทกวีเป็นสำคัญ
รูปรอยโบราณสถานอันเกี่ยวข้องกับศาสนาและลัทธิความเชื่อ จะเรียกว่าปราสาทหรือวิหารหรืออะไรบ้างผมไม่ได้จำ รู้แต่ว่าด้วยสายตาและอารมณ์รู้สึก ผมคิดอะไร และหนุ่มๆ สาวๆ เยาวชนเขาคิดอะไร เราต่างหามุมซุ่มเขียนความรู้สึกนึกคิดกัน บนก้อนหินบ้าง ใต้ร่มไม้บ้าง บนเนินดินบริเวณคอกช้างดินโบราณบ้างตามอิสระ
.
สิ่งที่ผมเขียนในวันนั้น วันนี้ (๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑) ผมกลับมาย้อนอ่าน มันทำให้ผมประหวัดรู้สึกเอ๊ะๆ กับ อะไร บางสิ่งบางอย่าง ที่กำลังก่อตัวขึ้นในบ้านเมืองของเราขณะนี้ ลองอ่านบทกวีก่อนนะครับ เดี๋ยวค่อยพูดถึงบางสิ่งบางอย่างที่ว่านั้น...
.
"เวียงคอกช้างดิน ๒๕๕๑"
******************************
.
โอ้...โบราณสถานพูนทอง
พูนกองอิฐก่อยังพอเห็น
รอยอารยนครซ่อนเร้น
ในเส้นทางโคและรอยคน
.
ธารเมืองพุม่วงไร้น้ำ
ลาดต่ำลำรางร้างฝน
หุบช้างคอกดินดำรงตน
หมู่ต้นไม้เติบชีวิตา
.
ซากศาสนสถานสึกกร่อน
สิขรซ่อนนิมิตปริศนา
ไร้เงาท้าวเทพเทวา
ไม้หญ้าเซิงเหย้าลำเนาพฤกษ์
.
จั๊กจั่นเรไรจำเรียง
สรรพเสียงรู้สู่รู้สึก
เวียงวังว่างเปล่าเหงาลึก
บันทึกเส้นทางรางเลือน
.
บางเราเคยอยู่ที่นี่
กี่ภพกี่ชาติมาแล้วเพื่อน
ยังเวียนมาเยี่ยมมาเยือน
รูปเรือนวิญญาณอันเปลี่ยวไร้
.
"ธมกร"
ณ สถานที่เขียน
๒๓เมย.๕๑
(คำ เวียงคอกช้างดิน เป็นคำที่ผู้แต่งสร้างขึ้นสำหรับบทกวีนี้เท่านั้น มิใช่คำเรียกขานในประวัติศาสตร์ เป็นการประสมคำขึ้นใหม่โดยเติมคำว่า "เวียง" เข้าข้างหน้าคำเรียกสถานที่ "คอกช้างดิน" ที่เป็นร่องรอยโบราณสถานแห่งหนึ่งในบริเวณเมืองเก่าอู่ทองนั้น)
.
อะไรที่ผมประหวัดรู้สึกหรือครับ ขณะผมกลับมาย้อนอ่านบทกวีและดูภาพเวียงวังร้างรก ปรักหักโทรม เหลือเพียงรอยซากสึกกร่อนผมก็พลันวาบรู้สึกถึงการก่อตัวของความเลวร้ายของสายใยอำนาจฉ้อฉล อยุติธรรมต่างๆ จนเป็นแรงกดกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านและขับต้อนอย่างต่อเนื่องในกรุงเทพมหานครวันนี้ มันเหมือนเห็นภาพรางๆ ของ กรุงเทพมหานครร้าง! ในอนาคต ซ้อนทับกับภาพ เวียงคอกช้างดิน-อู่ทองเมืองร้าง!
.
โอ้...มันเป็นคนละเรื่องเดียวกันของความเสื่อม ที่ก่อตัวจากความเสื่อมในจิตใจคน โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจปกครอง!
เราจะทำอย่างไร หรือทำอะไรได้บ้าง?
คนไทยทุกคนคงต้องถามเองแล้วตอบเอง...ด้วยการกระทำของแต่ละคนที่ สร้างสันติธรรม นำสันติสุข อย่างแท้จริง และอย่างยั่งยืนสืบไป
อย่าให้ภาพประหวัดวาบรู้สึกของผมเป็นจริงเลยครับ
16 มิถุนายน 2551 16:01 น.
ธมกร
สพท.อุทัยธานี ร่วมกับ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม จัดทำโครงการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สัมฤทธิ์ผลงดงามภายใน ๔ เดือน!
ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ข้อมูลจาก web site ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เรื่อง เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ล่าสุด) นับเป็นความล้มเหลวของการเรียนการสอนภาษาไทยที่น่าเป็นห่วงที่สุด
๑.เฉพาะนักเรียนชั้น ป.๒ ปีการศึกษา ๒๕๔๙ ที่ขึ้น ป.๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๐ ทั่วประเทศที่มีจำนวนเขตพื้นที่การศึกษา ๑๗๕ เขต จำนวนเด็ก ๖๓๗,๐๐๔ คน มีสภาพอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จำนวน ๗๙,๓๕๘ คน
๒.กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติงบประมาณเพื่อการแก้ปัญหา ๓๐๐ บาทต่อ ๑ คน รวมเป็นงบประมาณที่ใช้จ่ายไปแล้ว ในปีการศึกษา ๒๕๕๐ เป็นเงินทั้งสิ้น ๓๙,๖๗๙,๐๐๐ บาท (สามสิบเก้าล้านหกแสนเจ็ดหมื่นเก้าพันบาทถ้วน)
๓.เมื่อโฟกัสภาพลงไปที่เขตพื้นที่การศึกษา ในส่วนของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุทัยธานี มีจำนวนนักเรียน ป.๒ ที่ขึ้น ป.๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๐ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ตามที่โรงเรียนสำรวจแจ้งเป็นข้อมูล สพท.อุทัยธานี และ สพท.อุทัยธานี แจ้งเป็นข้อมูล สพฐ. มีจำนวน ๕๖๕ คน
สพท.ต่างๆ ทั่วประเทศจะแก้ปัญหากันด้วยวิธีการอย่างไร และมีผลสัมฤทธิ์อย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่น่าติดตาม...
แต่ในส่วนของ สพท.อุทัยธานี ได้จัดให้มีการประชุมอบรมครูผู้สอนชั้น ป.๓ ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ จำนวน ๗๕ คน โดยเชิญ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ (ครูกานท์) จาก ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม เป็นวิทยากร หลังจากการอบรม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระทั่งเข้าถึงองค์ความรู้ของเหตุแห่งปัญหา แนวทางแก้ไขปัญหา วิธีการสอน และกระบวนการบริหารจัดการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจนร่วมกันแล้ว สพท.อุทัยธานี จึงได้จัดทำโครงการ อ่านออกเขียนได้ภายในสี่เดือน ขึ้น โดย สพท.อุทัยธานี ร่วมกับ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม (ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ) จัดอบรม ครั้งที่ ๒ เมื่อ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๐ เพื่อให้การอบรมแก่ผู้บริหารโรงเรียน ที่สมัครใจเข้าร่วมเรียนรู้ทั้งสิ้น จำนวน ๑๕๐ โรงเรียน (จำนวนโรงเรียนในเขตมี ๒๕๙ โรงเรียน) หลังการอบรมเรียนรู้แล้ว เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่เห็นด้วยกับแนวทางและกระบวนการแก้ปัญหาของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ สมัครเข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ ปรากฏว่ามีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน ๘๘ โรงเรียน
จากนั้น สพท.อุทัยธานี โดย นายชวฤทธิ์ จงเกษกรณ์ (หัวหน้ากลุ่มงานนิเทศ) นางอำนวย กาญจนะ (ศึกษานิเทศก์) และคณะศึกษานิเทศก์ที่เกี่ยวข้อง จึงสำรวจข้อมูลทั้งโดยการลงพื้นที่สำรวจเองโดยตรงและส่งแบบสำรวจให้โรงเรียนดำเนินการ กลับพบว่ามีนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เพิ่มจากจำนวนที่โรงเรียนแจ้งไว้เดิมอีกเป็นจำนวนมาก และมีสภาพปัญหาทุกชั้นปี จำนวนโดยสรุปตั้งแต่ชั้น ป.๒ ถึง ม.๖ เฉพาะโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำแนกเป็นกลุ่มอำเภอ ดังนี้
อำเภอเมืองอุทัยธานี ๑๗๒ คน
อำเภอหนองขาหย่าง ๙ คน (จำนวนแตกต่างจากอำเภออื่นอย่างน่าตั้งข้อสังเกต)
อำเภอหนองฉาง ๑๑๔ คน
อำเภอทัพทัน ๒๓๘ คน
อำเภอบ้านไร่ ๘๗๔ คน
อำเภอสว่างอารมณ์ ๒๙๖ คน
อำเภอลานสัก ๕๒๒ คน
อำเภอห้วยคต ๑๔๘ คน
รวม ๒,๔๗๓ คน
นี่แค่จังหวัดเดียว ที่ลงลึกถึงความจริงแห่งการ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จากยอดจำนวน (ป.๒) ๕๖๕ คนทั้งจังหวัด เพิ่มเป็นจำนวน (ป.๒ ถึง ม.๖) ๒,๔๗๓ คนใน ๘๘ โรงเรียน จังหวัดอุทัยธานีจังหวัดเดียว ยังพบข้อมูลจริงของปัญหาถึงเพียงนี้ แล้วทั่วประเทศ ๑๗๕ เขตล่ะจะเป็นยอดจริงที่มหาศาลเพียงใด น่าใจหาย...!
สพท.อุทัยธานี จัดอบรมครั้งที่ ๓ เมื่อ ๒๙-๓๐ กันยายน ๒๕๕๐ เพื่อให้การอบรมแก่ ครูอาสา ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนแก้ปัญหา หลังการอบรมแล้วนั้นให้ทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจัดกิจกรรมดำเนินการสอนแก้ปัญหา และกลุ่มงานนิเทศจัดทำแผนงานติดตามนิเทศและประเมินผลเดือนละ ๑ ครั้ง รวม ๔ ครั้ง โดยมี ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ จาก ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม เป็นที่ปรึกษาร่วมติดตามสนับสนุนด้วยทุกครั้งอย่างใกล้ชิด
กระบวนการสอนแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ดังกล่าว กำหนดให้ดำเนินการตามแนวทางของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ และหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว ซึ่งมีสาระสำคัญแต่ละขั้นคือ
๑.เนื้อหา
เน้นให้ครูอ่านออกเสียงแจกลูกผันเสียงนำนักเรียน แล้วให้นักเรียนเปล่งเสียงอ่านตาม ทั้งคำเดี่ยวและคำประสม จากนั้นให้ฝึกเขียนคำ เขียนคำตามคำบอก เขียนคัดลายมือ และเขียนกลุ่มคำตามแบบฝึกในหนังสือ (เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว)
เดือนแรก แจกลูกผันเสียง แม่ ก กา
เดือนที่สอง แจกลูกผันเสียง ตัวสะกดคำเป็น แม่ กง กน กม เกย เกอว
เดือนที่สาม แจกลูกผันเสียง ตัวสะกดคำตาย แม่ กก กด กบ คำสระเปลี่ยนรูปและลดรูป
เดือนที่สี่ สอนแจกลูกผันเสียง คำควบกล้ำ คำอักษรนำ และคำที่มีลักษณะพิเศษอื่นๆ
๒.วิธีการ
(๑) โรงเรียนจัด ครูอาสา เพื่อเป็นผู้สอนแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะ กำหนดให้ใช้ ครู ๑ คน ต่อนักเรียนไม่เกิน ๑๐๐ คน
(๒) ครูอาสาจัดแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มละไม่เกิน ๒๐ คน แล้วจัดตารางสอนให้แต่ละกลุ่มมาเรียนวันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง รวม ๔ เดือนไม่น้อยกว่า ๘๐ ชั่วโมง ต่อกลุ่มต่อคน โดยให้ใช้เวลาเรียนปกติเป็นชั่วโมงสอนแก้ปัญหา ให้นักเรียนทิ้งชั่วโมงเรียนวิชาอื่นมาวันละ ๑ ชั่วโมง (ไม่ซ้ำวิชากันในแต่ละวัน) เป็นเวลา ๔ เดือนตลอดโครงการ ซึ่งนักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้น แม้จะอยู่ในชั่วโมงเรียนวิชาอื่นใดก็ไม่บรรลุผลการเรียนอะไรมากนัก ตราบใดที่พวกเขายังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จึงควรให้มาฝึกทักษะอ่านเขียนให้ได้ก่อน และโครงการนี้ก็ไม่สนับสนุนให้สอนแก้ปัญหาในช่วงเวลาพักของนักเรียน หรือในช่วงเวลาเลิกเรียนที่นักเรียนจะกลับบ้าน เพราะเหตุว่าช่วงเวลาพักนักเรียนจะขาดสมาธิในการฝึกฝน จิตเขาจะห่วงเพื่อน และห่วงเล่น ส่วนช่วงเลิกเรียนนั้นเป็นช่วงที่นักเรียนอ่อนล้า ขาดพลังในการเรียนรู้ อีกทั้งผู้ปกครองก็มารอรับกลับบ้าน ไม่สะดวกและได้ผลไม่เต็มที่
(๓) กำหนดให้ครูเขียนคำ และแจกลูกคำที่สำหรับออกเสียงอ่าน ออกเสียงสะกดคำ และผันเสียงบนกระดานดำ ชวนนักเรียนเปล่งเสียงอ่านตามครู อ่านซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง และครบถ้วนทุกคำที่มีอยู่ในแบบฝึกของหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว อ่านได้แล้วฝึกเขียนคำตามคำบอก และเขียนคัดลายมือ ตามลำดับไปทีละบททีละเดือน จากง่ายไปหายาก
แต่ในการติดตามการดำเนินโครงการ ได้พบเหตุปัจจัยหลายประการที่น่านำมาเป็นข้อมูลประกอบพิจารณาแก้ไขปรับปรุงโครงการต่อไป ได้แก่ บางโรงเรียนไม่ได้ทำตามแนวทางที่กำหนด เช่น ไม่ได้จัดวางตัวครูอาสาที่แน่ชัด ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแก้ปัญหาวันละ ๑ ชั่วโมงให้สม่ำเสมอได้ โดยอ้างว่าติดกีฬาบ้าง ติดการเตรียมเด็กเพื่อสอบวัดประเมินผลเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง ขาดแคลนครูบ้าง ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ล้วนเกิดจากการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีบริหาร และวิธีสอน ดังจะเห็นว่าโรงเรียนในโครงการส่วนใหญ่ที่เอาจริงเอาจังกับการดำเนินกิจกรรมทั้งด้านการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางและวิธีการที่กำหนด ล้วนประสบผลสัมฤทธิ์ที่ดี แตกต่างกันอย่างมาก
ขณะนี้การดำเนินกิจกรรมโครงการเสร็จสิ้นลงแล้ว สพท.อุทัยธานี ร่วมกับ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ได้ออกติดตามประเมินผลแล้วเสร็จ ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๑ จำนวน ๗ โรงเรียน ปรากฏว่า นักเรียนอ่านออกเขียนได้ผ่านเกณฑ์ เขียนตามคำบอก คำที่กำหนดให้ครอบคลุมคำในมาตราสะกดต่างๆ (ตรงมาตรา) ทั้ง ๙ แม่ คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ คำควบกล้ำ คำอักษรนำ และคำผันวรรณยุกต์เสียงต่างๆ จำนวน ๕๐ คำ คิดเป็น ๑๐๐% กำหนดช่วงคะแนนดังนี้
ผ่านดีเยี่ยม ได้คะแนนระหว่าง ๕๐-๖๐ %
ผ่านดีมาก ได้คะแนนระหว่าง ๖๑-๗๐ %
ผ่านดี ได้คะแนนระหว่าง ๗๑-๘๐ %
ผ่านพอใช้ ได้คะแนนระหว่าง ๘๑-๑๐๐ %
ไม่ผ่าน ได้คะแนนระหว่าง ๐๐-๔๙ %
รายนามโรงเรียนและผลการประเมิน
๑.โรงเรียนบ้านเขาวง อำเภอลานสัก นักเรียนในโครงการ ๒๔ คน ผ่านดีเยี่ยม ๕ คน ผ่านดีมาก ๑๐ คน ผ่านดี ๖ คน ผ่านพอใช้ ๓ คน ไม่ผ่าน - คน รวมผ่าน ๑๐๐ %
๒.โรงเรียนบ้านหนองผักกาด อำเภอลานสัก นักเรียนในโครงการ ๓๓ คน ผ่านดีเยี่ยม ๑๙ คน ผ่านดีมาก ๘ คน ผ่านดี ๖ คน ผ่านพอใช้ - คน ไม่ผ่าน - คน รวมผ่าน ๑๐๐ %
๓.โรงเรียนวัดหนองมะกอก อำเภอหนองฉาง นักเรียนในโครงการ ๑๙ คน ผ่านดีเยี่ยม ๖ คน ผ่านดีมาก ๘ คน ผ่านดี ๓ คน ผ่านพอใช้ - คน ไม่ผ่าน ๒ คน รวมผ่าน ๘๙.๔๗ % รวมไม่ผ่าน ๑๐.๕๓ % (หมายเหตุ โรงเรียนนี้จัดการเรียนการสอนไม่เต็มเวลา และดำเนินการไม่เต็มตามวิธีการที่กำหนด)
๔.โรงเรียนบ้านน้ำพุ อำเภอบ้านไร่ นักเรียนในโครงการ ๑๘ คน ผ่านดีเยี่ยม - คน ผ่านดีมาก ๒ คน ผ่านดี ๓ คน ผ่านพอใช้ ๕ คน ไม่ผ่าน ๑๐ คน รวมผ่าน ๕๕.๕๖ % รวมไม่ผ่าน ๔๔.๔๔ % (หมายเหตุ โรงเรียนนี้จัดการเรียนการสอนไม่เต็มเวลา และดำเนินการไม่เต็มตามวิธีการที่กำหนด)
๕.โรงเรียนวัดทัพคล้าย อำเภอบ้านไร่ นักเรียนในโครงการ ๓๗ คน ผ่านดีเยี่ยม ๖ คน ผ่านดีมาก ๑๑ คน ผ่านดี ๑๓ คน ผ่านพอใช้ ๗ คน ไม่ผ่าน - คน รวมผ่าน ๑๐๐ %
๖.โรงเรียนบ้านกลาง อำเภอห้วยคต นักเรียนในโครงการ ๕๖ คน ผ่านดีเยี่ยม ๓๑ คน ผ่านดีมาก ๑๔ คน ผ่านดี ๗ คน ผ่านพอใช้ ๓ คน ไม่ผ่าน ๔ คน รวมผ่าน ๙๒.๘๖ % รวมไม่ผ่าน ๗.๑๔ % (หมายเหตุ โรงเรียนนี้ดำเนินการทั้งตามแนวทางและวิธีสอนที่กำหนด และนอกแนวทางที่กำหนดบางประการ)
๗.โรงเรียนบ้านหินงามสามัคคี อำเภอบ้านไร่ นักเรียนในโครงการ ๒๓ คน ผ่านดีเยี่ยม ๔ คน ผ่านดีมาก ๒ คน ผ่านดี ๖ คน ผ่านพอใช้ ๓ คน ไม่ผ่าน ๘ คน รวมผ่าน ๖๕.๒๒ % รวมไม่ผ่าน ๓๔.๗๘ % (หมายเหตุ โรงเรียนนี้ดำเนินการตามวิธีสอนที่กำหนด แต่ไม่เต็มเวลา และไม่เต็มกระบวนการ)
สรุป ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๑ โรงเรียนที่ได้ดำเนินการประเมินเสร็จแล้ว จำนวน ๗ โรงเรียน จำนวนนักเรียน ๒๑๐ คน นักเรียนผ่านการประเมิน ๑๘๖ คน คิดเป็น ๘๘.๕๗ % และไม่ผ่านการประเมิน ๒๔ คน คิดเป็น ๑๑.๔๓ % ส่วนโรงเรียนที่เหลือกำลังดำเนินการประเมิน กำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๑
...
หลังจากวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๑ สพท.อุทัยธานีได้รับรายงานการประเมินผลโครงการจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งที่ปฏิบัติตามแนวทางกระบวนการที่กำหนดเต็มรูปแบบ และที่ปฏิบัติตามแนวทางกระบวนการไม่เต็มรูปแบบ ผลปรากฏตามเอกสารสรุปของ สพท.อุทัยธานี ดังนี้
การดำเนินงานอ่านออกเขียนได้ภายในสี่เดือนเริ่มดำเนินการตั้งแต่ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ถึง ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ โรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน ๙๓ โรงเรียน แบ่งออกเป็น ๒ รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ ๑ หมายถึง มีครูอาสา ๑ - ๓ สอนวันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมงและสอนในเวลาปกติ เวลาสอนทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๘๐ ชั่วโมง มีจำนวน ๖๙ โรงเรียน มีโรงเรียนส่งผลการทดสอบจำนวน ๕๖ โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก(มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐ คน) จำนวน ๓๘ โรงเรียน โรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า ๑๒๐ คนขึ้นไปจำนวน ๑๘ โรงเรียน นักเรียนปกติที่อยู่ในโครงการจำนวน ๑,๕๗๒ คน
ผลการดำเนินงาน
๑. นักเรียนปกติผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๕๐ ทุกคน จำนวน ๑๑ โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๖๔ ของโรงเรียนที่ส่งผลการทดสอบ และมีโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ทุกคน จำนวน ๔๕ โรงเรียน
๒. โรงเรียนที่มีนักเรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐ คน) จำนวน ๙ โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ ๘๑ ของโรงเรียนที่มีนักเรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน และโรงเรียนที่มีนักเรียน ๑๒๐ คนขึ้นไป จำนวน ๒ โรงเรียน
๓. นักเรียนปกติในโครงการมีจำนวน ๑,๕๗๒ คน
๓.๑ ไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๕๐ จำนวน ๔๕๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๙.๒๐
๓.๒ ผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๕๐ จำนวน ๑,๑๑๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๐.๘๐
๓.๒.๑ ระดับพอใช้ จำนวน ๓๗๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๓.๙๘
๓.๒.๒ ระดับดี จำนวน ๒๓๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๖๓
๓.๒.๓ ระดับดีมาก จำนวน ๑๙๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๒.๕๓
๓.๒.๔ ระดับดีเยี่ยม จำนวน ๓๐๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๖๖
ผลสำเร็จ/ปัญหา อุปสรรคที่พบ
โรงเรียนที่สอนได้ครบตามเกณฑ์และมีนักเรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน ส่วนมากเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐ คน) จำนวน ๙ โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ ๒๓.๖๘ ของโรงเรียนขนาดเล็กที่เข้าโครงการ โรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า ๑๒๐ คน จำนวน ๒ โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ ๑๑.๑๑ ของโรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า ๑๒๐ คน ขึ้นไป ทั้งนี้เพราะ การบริหารจัดการคล่องตัว สามารถเพิ่มเวลาและแก้ไขปัญหานักเรียนได้ทันเวลา และที่สำคัญก็คือผู้บริหารสถานศึกษาและครูอาสามีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
โรงเรียนที่ดำเนินการไม่บรรลุตามเป้าหมาย เป็นโรงเรียนที่สอนครบ ๘๐ ชั่วโมงแต่เนื่องจากนักเรียนมีปัญหาในการอ่านและเขียนอย่างมาก เวลาที่ใช้ทำการสอนและฝึกฝนทักษะยังไม่เพียงพอ มีจำนวน ๕ โรงเรียน และโรงเรียนที่มีเวลาสอนไม่ครบ ๘๐ ชั่วโมง จำนวน ๔๐ โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน ๒๒ โรงเรียน และโรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า ๑๒๐ คนขึ้นไป จำนวน ๑๘ โรงเรียน เนื่องจาก ๑)โรงเรียนมีกิจกรรมมาก ๒) บุคลากรในโรงเรียนยังไม่เห็นความสำคัญและไม่มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันในการแก้ปัญหาการอ่านการเขียน ๓) นักเรียนเข้าเรียนไม่สม่ำเสมอ
รูปแบบที่ ๒ หมายถึง ครูอาสาเป็นครูสอนประจำชั้นในระดับประถมศึกษา และครูภาษาไทยระดับมัธยมศึกษา สอนวันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง สอนในเวลาปกติ/นอกเวลา เวลาสอนทั้งหมด ไม่ต่ำกว่า ๘๐ ชั่วโมง มีจำนวน ๒๔ โรงเรียน มีโรงเรียนส่งผลการทดสอบ จำนวน ๒๑ โรงเรียนเป็น โรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐ คน) จำนวน ๑๑ โรงเรียน โรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า ๑๒๐ คนขึ้นไป จำนวน ๑๐ โรงเรียน นักเรียนปกติที่อยู่ในโครงการจำนวน ๕๖๘ คน
ผลการดำเนินงาน
๑. นักเรียนปกติผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๕๐ ทุกคน จำนวน ๔ โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๐๔ ของโรงเรียนที่ส่งผลการทดสอบ และมีโรงเรียนที่มีนักเรียน ไม่ผ่านเกณฑ์ทุกคนจำนวน ๑๗ โรงเรียน
๒. นักเรียนปกติในโครงการมีจำนวน ๕๖๘ คน
๒.๑ ไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๕๐ จำนวน ๑๗๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๐.๑๑
๒.๒ ผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๕๐ จำนวน ๓๙๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๙.๘๙
๒.๒.๑ ระดับพอใช้ จำนวน ๑๔๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๕.๓๕
๒.๒.๒ ระดับดี จำนวน ๑๑๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๓๗
๒.๒.๓ ระดับดีมาก จำนวน ๖๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๑.๙๗
๒.๒.๔ ระดับดีเยี่ยม จำนวน ๗๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๒๐
ผลสำเร็จ/ปัญหา อุปสรรคที่พบ
โรงเรียนที่สอนได้ครบตามเกณฑ์และมีนักเรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน จำนวน ๔ โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนไม่เกิน ๑๒๐ คน) คิดเป็นร้อยละ ๓๖.๓๖ ของโรงเรียนขนาดเล็กที่เข้าโครงการ ทั้งนี้เพราะ การบริหารจัดการคล่องตัว สามารถเพิ่มเวลาและแก้ไขปัญหานักเรียนได้ทันเวลา และที่สำคัญก็คือผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
โรงเรียนที่ดำเนินการไม่บรรลุตามเป้าหมาย เป็นโรงเรียนที่สอนครบ ๘๐ ชั่วโมงแต่เนื่องจากนักเรียนมีปัญหาในการอ่านและเขียนอย่างมาก เวลาที่ใช้ทำการสอนและฝึกฝนทักษะยังไม่เพียงพอ จำนวน ๗ โรงเรียน และโรงเรียนที่มีเวลาสอนไม่ครบ ๘๐ ชั่วโมง จำนวน ๑๐ โรงเรียน เนื่องจาก ๑) โรงเรียนมีกิจกรรมมาก ๒) บุคลากรในโรงเรียนยังไม่เห็นความสำคัญและไม่มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันในการแก้ปัญหาการอ่านการเขียน ๓) นักเรียนเข้าเรียนไม่สม่ำเสมอ
* * *
จากผลของการดำเนินโครงการและบรรลุเป้าหมายของการทำให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้อย่างแท้จริงภายในเวลา ๔ เดือนดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า...เมื่อผู้บริหารโรงเรียนเอาจริง ครูเอาจริง และสอนอย่างถูกวิถีของภาษาไทยแท้จริง นักเรียนก็จะอ่านออกเขียนได้อย่างแน่นอน ซึ่งนักเรียนในทุกโรงเรียนที่ผ่านการประเมินตามรายการที่ปรากฏก็ล้วนเป็นตัวอย่างที่พร้อมท้าพิสูจน์ เช่น โรงเรียนบ้านเขาวง โรงเรียนบ้านหนองผักกาด โรงเรียนวัดทัพคล้าย ฯลฯ...
แต่สำหรับนักเรียนบางคนในบางโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินนั้น ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่ผู้บริหารยังไม่ได้ใช้การบริหารจัดการให้การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางที่โครงการกำหนดอย่างเต็มรูปแบบ และครูผู้สอนยังไม่ได้สอนเต็มเวลา ขั้นตอน วิธีการ และเนื้อหาโครงการ ซึ่ง สพท.อุทัยธานี จะต้องติดตามให้การสนับสนุนดำเนินการต่อไปในปีการศึกษา ๒๕๕๑
โรงเรียนอื่นๆ สพท.อื่นๆ และกระทรวงศึกษาธิการล่ะ ตื่นหรือยัง! หลับใหลได้ปลื้มกับหลักทฤษฎีของชาติพันธุ์ภาษาอื่นที่ครอบงำจนหลงลืมรากเหง้าวิถีแจกลูกผันเสียงแบบไทยกันมาเนิ่นนาน...พอหรือยัง ฤๅถึงคราจะต้องเปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็น กระทรวงศึกษาพิการ! เสียแล้ว ผิดบาปที่แสดงผลมากมายในวันนี้ แก้ง่ายนิดเดียว เพียงหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนแบบเน้นย้ำทักษะออกเสียงอ่านแจกลูกสะกดคำ ผันเสียง คัดคำ และเขียนคำตามคำบอกให้มากๆ เท่านั้นเอง ไม่ต้องทำตามแนวทางที่ สพท.อุทัยธานี ทำก็ได้ ไม่ต้องใช้วิธีของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ ก็ได้...ถ้าท่านมีวิธีที่ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามท่านไม่ควรนำทฤษฎีหรือแนวของภาษาอื่นมาใช้กับภาษาไทยมากนัก ภาษาไทยต้องใช้วิธีแห่งวิถีภาษาไทยเป็นหลักในการเรียนการสอนจึงจะได้ผลแท้จริง อย่ามัวแต่ขี่ม้าเลียบค่ายเหยาะย่าง และแก้ปัญหาแบบเหยาะแหยะหย่อนยานกันอยู่ต่อไปเลย สงสารเด็กๆ ที่ตกอยู่ในโลกมืดของการอ่านเขียนเถอะครับ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ปล.
๑.ขณะนี้ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ต้องการรับสมัคร ครูอาสา เพื่อให้การอบรมเรียนรู้วิธีการและกระบวนการ แก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ตามแนวทางดังกล่าว และเพื่อสร้างความเป็น นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยไม่จำกัดวุฒิและอายุ ขอเพียงให้ เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่น มีความสามารถออกเสียงอักขระได้ชัดเจน มีความพร้อมในการสอนแบบ แจกลูก-สะกดคำ-ผันเสียง มีความขยันมุ่งมั่นเอาจริง มีบุคลิกภาพอบอุ่น รักเด็กและเข้าใจเด็ก (หลังการฝึกอบรมแล้ว เมื่อมีสถานศึกษาใดต้องการว่าจ้างเป็นผู้แก้ปัญหา "อ่านออกเขียนได้ภายใน ๔ เดือน" กำหนดอัตราค่าตอบแทนต่อเดือนเท่ากับระดับปริญญาโท...แม้ว่า "ครูอาสา" จะมีวุฒิระดับต่ำกว่าหรือสูงกว่าปริญญาโทก็ตาม ซึ่งขณะนี้มีสถานศึกษาจำนวนหนึ่งที่แจ้งความประสงค์ต้องการ "ครูอาสา" เข้ามายังทุ่งสักอาศรมบ้างแล้ว) การอบรมเรียนรู้ที่ทุ่งสักอาศรมจะจัดให้นั้น เป็นการบริการฟรี! สำหรับ "ครูอาสา" ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการประจำ
แต่ถ้าเป็นครูหรือข้าราชการประจำการ ศูนย์ยินดีจัดอบรมให้โดยมีค่าใช้จ่ายตามอัตรา และกระบวนการเชิงอุดมคติ...ที่ศูนย์กำหนด
๒.สพท.ใด หน่วยงานทางการศึกษาใด และโรงเรียนใดที่สนใจและอยากเข้าร่วมโครงการ หรือต้องการปรึกษาหารือ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ติดต่อได้ตลอดเวลา
...
ติดต่อ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม หรือ ครูกานท์ ได้ที่ ๓๕ หมู่ ๑๓ ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ๗๑๑๗๐ โทร.๐๘๑-๙๙๕๖๐๑๖
email : tungsakasome@yahoo.com
www.siwagarn.multiply.com
www.oknation.net/blog/krugarn
* * *
16 มิถุนายน 2551 14:57 น.
ธมกร
การอ่านอย่างมีมิติ
ศิวกานท์ ปทุมสูติ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ภาษามิได้มีเพียงความหมายของถ้อยคำเท่านั้น เมื่อภาษาถูกส่งออกจากผู้ส่งสาร มันจึงมิได้มีเพียงเรื่องราวที่เป็นความหมายของถ้อยคำ แต่ในเรื่องราวและความหมายที่ส่งออกมานั้นจะประกอบไปด้วยความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ทัศนคติ เจตนา ท่าทีของความคิดความรู้สึกหรือน้ำเสียง ความหมายตรง ความหมายแฝง วัฒนธรรม พื้นภูมิประสบการณ์ ภูมิปัญญา ปรัชญา อุดมการณ์ มโนคติ อุดมคติ ท่วงทำนอง วิถี ลีลา รูปแบบ บุคลิกภาพ อัตลักษณ์ เบื้องหน้าเบื้องหลัง บริบทชีวิต สังคม การศึกษา ความจริงใจ เล่ห์เหลี่ยม ชั้นเชิง ความดี ความงาม ความชั่วร้าย ความกล้า ความเชื่อมั่น ความหวั่นไหว ความหวาดระแวง ความคาดหวัง ฯลฯ
ไม่ว่าภาษาที่ส่งออกมานั้นจะเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง หรือภาษาสัญลักษณ์ต่างๆ ก็ตาม ก็อาจมี อะไร ที่นอกเหนือจากความหมายตามถ้อยคำและเรื่องราวตามตัวหนังสือหรือสื่อแสดงภาษานั้นๆ ยิ่งมีอะไรที่แฝงมาในสารนั้นมากเท่าไร ผู้รับสารก็จำเป็นที่จะต้อง อ่าน อะไรๆ เหล่านั้นให้ครบถ้วน จึงจะถือว่าเป็นผู้รับสารที่มีคุณภาพ ยังประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจ การนำไปใช้ หรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับรู้นั้นอย่างมีคุณค่า
เราเรียกการอ่านที่สามารถ เข้าถึงสารอย่างถ่องแท้ทุกแง่ทุกมุมหรือทุกนัยแห่งสาร นั้นว่า การอ่านอย่างมีมิติ การอ่านเช่นนี้ จะส่งเสริมสติปัญญา ความคิด อารมณ์ความรู้สึก และวุฒิภาวะในการอ่านโลก อ่านชีวิต และอ่านสิ่งต่างๆ ให้งอกงามพัฒนา ส่งผลให้บุคคลผู้มีวิถีการอ่านเช่นที่ว่านี้เป็นผู้แตกฉานต่อชีวิต มีศักยภาพทางความคิด สติปัญญา ความสามารถสร้างสรรค์ การทำงาน และการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพยิ่ง และบุคคลผู้สมควรที่จะต้องเป็น นักอ่าน ซึ่งมีวิถีการอ่านอย่างมีมิติที่สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลาก็คือ ครูนั่นเอง
การอ่านไม่ใช่แค่เรื่องของวิชาภาษาไทย หรือวิชาภาษาใดๆ แต่มันเป็น เครื่องมือแห่งชีวิต ที่ครูทุกคนจะต้องเป็นนักอ่าน การอ่านมากและอ่านอย่างลุ่มลึกแหลมคม อย่างทะลุทะลวงมิติต่างๆ ของสาร เข้าถึงสารอย่างสมบูรณ์ถ่องแท้อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ จะทำให้ครูได้พบกับสิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ วิถีทางใหม่ๆ ความสนุกในรสแห่งการอ่าน ความบันเทิงทางจิตวิญญาณและปัญญา ทำให้สามารถคิดอะไรใหม่ๆ ในการสอนและการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการของตน ข้อสำคัญมันจะทำให้ครูทุกคนได้พบความภาคภูมิใจในตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และจะได้อะไรดีๆ ในชีวิตของการเป็นครูอีกมาก ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะเป็นดอกผลแสนงามที่ตกทอดแก่เด็กๆ และเยาวชนของชาติอย่างมิต้องสงสัย
งานเขียนที่มักมีมิติซับซ้อน มีอรรถรสชวนอ่าน มีแก่นสารทางปัญญาและมโนคติ โดยทั่วไปจะพบได้ในกลุ่มงานเขียนประเภท บันเทิงคดีสร้างสรรค์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย หรือที่มักเรียกรวมๆ ว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์และปรัชญานิพนธ์ต่างๆ การอ่านงานประเภทเหล่านี้จะช่วยให้มีความสนุกบันเทิงในการอ่าน ซึ่งอาจเป็นการสนุกคิด สนุกติดตาม สนุกกับความตื่นเต้น หรือสนุกกับท่วงทำนองต่างๆ ในมิติของงานเขียนที่สร้างสรรค์ แต่การที่ครูจำนวนไม่น้อยยังมิใคร่จะให้ความสำคัญกับการอ่านงานเขียนประเภทนี้ ก็เพราะมักจะคิดว่าไม่มีความสำคัญ ไม่ได้ให้คำตอบกับโจทย์ชีวิตหรือหน้าที่การงานที่ต้องการโดยตรง หารู้ไม่ว่าการคิดเช่นนั้น แท้แล้วเป็นการคิดที่ผิวเผินนัก!
การมุ่งอ่านเพื่อรู้เรื่องราวที่อยากรู้โดยตรงเช่นการอ่านตำราจะได้อย่างมากก็แค่รู้เรื่องนั้นๆ เท่านั้น สมองจะสั่งสมแต่ ตัวรู้ที่รู้ตาม ตามที่คนอื่น บอกความรู้ ให้ แต่การอ่านงานเขียนที่มิได้บอกความรู้โดยตรง จะเป็นการกระตุ้นความงอกงามทางปัญญา กระบวนการคิด มโนคติ และวุฒิภาวะทางอารมณ์ ฯลฯ ทำให้บุคคล พัฒนาสมองแบบเชื่อมโยง ด้วยตัวของตัวเอง และก็จะสนับสนุน ตัวรู้ ที่รับรู้เรื่องราวต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างเป็นองค์รวม
อยากให้ลองพิจารณาทบทวนว่า การเรียนการสอนที่ครูโดยทั่วไปปฏิบัติกันอยู่นั้นได้ก้าวพ้นวิธีการแบบ บอกความรู้ แล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็แสดงว่าครูยังมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาตรา ๒๔ ยังมิได้ก้าวไปสู่ทิศทางการปฏิรูปการศึกษา ยังพายเรืออยู่ในอ่างที่ไม่สามารถหาทางออก เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะครูเอง (ส่วนใหญ่) ล้วนผ่านการสั่งสมการเรียนรู้แบบรับความรู้จากครูผู้บอกความรู้ เช่นเดียวกันมาเป็นเวลานานแสนนาน ทั้งระบบ ทั้งสังคมการศึกษาของเรา วันนี้เราสามารถพัฒนาความรู้ไปได้ไกลชนิดไม่น้อยหน้าใครในโลกแล้ว แต่การพัฒนาความคิด กระบวนการคิด ความคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างเท่าทัน และการคิดอย่างมีมิติของเรากลับถดถอย ขาดหาย และพัฒนาไปได้น้อยอย่างน่าตกใจ จนกระทั่งต้องบัญญัติกฎหมายบังคับ (มาตรา ๒๔) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะเราสั่งสมเหตุแห่งการจัดการศึกษาแบบให้น้ำหนักแก่ ตัวรู้ มากกว่า ตัวคิด นั่นเอง ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องใช้กระบวนการอ่านอย่างขบคิดแทรกซึมเข้าไปในทุกสาขาวิชา ทุกตัวครูและผู้บริหาร ซึ่งเครื่องมือสำคัญของการอ่านที่ว่านี้ก็คือ การอ่านอย่างมีมิติ นั่นเอง
เพราะชีวิตมนุษย์มีมิติที่ซับซ้อน ทั้งรูปธรรมและนามธรรม การมีอิริยาบถเคลื่อนไหว บริโภค คิด พูด ทำ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเพียงส่วนที่มองเห็นเหมือนภาพแบนๆ เท่านั้น ยังมีสิ่งที่ซ่อนเร้น ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ และเข้าไม่ถึงอีกมากมาย เช่นนี้แล้วเราจะยังมัวอ่านชีวิตและใช้ชีวิตเพียงภาพแบนๆ กันอีกหรือ
การสอนให้รู้จักคิด มิใช่การบอกทฤษฎีความคิด หรือมิใช่แนะให้คิดอย่างนี้อย่างนั้น เปล่าเลย การรู้จักคิด นั้นบอกกันไม่ได้ แต่กระตุ้นเร้าได้ และปฏิบัติการแบบสั่งสมทักษะได้ ถ้าครูมีทักษะประสบการณ์การอ่านอย่างมีมิติที่เพียงพอ
การเรียนการสอนทุกวิชาจะต้องให้บูรณาการกับ ความรักการอ่าน สุกกับการขบคิด คิดอย่างเอาชีวิตเป็นศูนย์กลาง หรือเอาชีวิตคนเป็นหลัก มิใช่เอาวิชาเป็นหลัก หรือวิชาใครวิชามันอย่างที่ทำๆ กันอยู่ เราจะต้องเอาทักษะการจำเป็นเครื่องสนับสนุนการคิด มิใช่เอาการจำนำหน้าการคิดอย่างเช่นทุกวันนี้ ข้อสอบที่วัดความจำก็จะต้องพลิกแพลงให้เป็นข้อสอบวัดศักยภาพการคิด ข้อสอบที่วัดความรู้ก็จะต้องเปลี่ยนเป็นข้อสอบที่วัดศักยภาพการใช้ความรู้ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปได้และทำได้แท้จริงก็ต่อเมื่อการอ่านหนังสือแตกฉาน มีมิติ การเรียนการสอนมีชีวิตชีวา มีชีวิตที่เป็นจริงอยู่ในภาวะมิติแห่งความเป็นมนุษย์
ที่สุดของที่สุดก็คือ ครูจะต้องรักการอ่าน ถ้าครูไม่รักการอ่านทุกสิ่งทุกอย่างก็จบ กบแห่งการศึกษาที่เราคาดหวัง คงมิสามารถกระโดดจากบ่อน้ำเก่าๆ ในถ้ำมืดออกไปสู่โลกกว้างแห่งจินตนาการอันเปี่ยมด้วยพลังทางปัญญาที่เจิดจ้าประภัสสรได้!
แต่อย่างไรก็ตาม ก็มิได้คิดว่าครูที่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอันงดงามจะเป็นเช่นนั้น บทความนี้จึงเขียนขึ้นด้วยความรู้สึกที่มีความหวัง ขอให้เรามาร่วมกันสร้างมิติแห่งคุณค่าให้เกิดขึ้นในความหวังนั้นเถิด