8 กรกฎาคม 2555 14:59 น.
ทรายกะทะเล
อ่านบทความ ของคนคนนึง แล้วรู้สึกว่า ตัวเราเองก็เป็ฯเหมือนกัน จึงขอ อนุญาติ นำมาถ่ายทอดให้คนอื่นฟังว่า ทำไม???? มันเป็นแบบนี้...
ทำดีไม่ได้ดี
ครั้งหนึ่งผมไปดูหนังสือในร้านหนังสือใหญ่ที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งใจกลางเมือง เมื่อเสร็จแล้วก็นั่งพักที่ม้านั่งหน้าร้าน สายตาเหลือบเห็นกระเป๋าสตางค์หนังใบหนึ่งวางอยู่ เชื่อว่าเจ้าของคงเผลอทำมันหล่น
ผมเปิดกระเป๋าเพื่อหาบัตรประชาชนหรือนามบัตรของเจ้าของ ก็พบนามบัตรที่แสดงว่าเจ้าของกระเป๋าเป็นชายต่างชาติมาทำงานในเมืองไทย ผมโทรศัพท์หาเขาทันที ไม่เกินสิบนาทีชายคนนี้ก็ปรากฏตัว หลังจากรับกระเป๋าคืนแล้ว สิ่งแรกที่เขากระทำไม่ใช่กล่าวคำขอบคุณหรือยิ้มให้ แต่รีบตรวจดูกระเป๋าสตางค์ว่าเงินทองและเอกสารอยู่ครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งว่าก็ว่าเถอะ ออกจะเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพเท่าใดนัก
ว่าตามตรรกะ หากคนที่พบกระเป๋าเงินคิดจะเม้มมัน ก็ไม่มีทางโทรศัพท์ไปหาเขา! บางทีเขาอาจอยู่เมืองไทยนานจนพอรู้ว่าโอกาสจะได้กระเป๋าเงินคืนค่อนข้างยาก หรือเพราะเขากำลังเครียดที่ทำเงินหาย มองในแง่ดีก็คือ เขาไม่ได้แจ้งความว่าผมขโมยกระเป๋าเงินของเขา!
เป็นประสบการณ์ที่แปลกระคนหงุดหงิดเมื่อพบปฏิกิริยาแบบนี้ มิใช่เพราะผมอยากได้รางวัลหรือคำประกาศเกียรติคุณ แต่อย่างน้อยรอยยิ้มหรือคำขอบคุณคำเดียวก็น่าจะทำให้โลกสดใสขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความหงุดหงิดก็ดำรงอยู่แค่แวบสั้นๆ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเจอประสบการณ์ ทำดีไม่ได้ดี บางครั้งเสียเวลาส่วนตัวเสนอตัวช่วยงานคนอื่น แต่ถูกต่อว่าทำไม่ดีพอ บางครั้งช่วยเหลือคนอื่นแล้วถูกหาว่าทำให้เรื่องแย่ลง บางครั้งสละที่นั่งให้ผู้โดยสารสตรีแล้วถูกปฏิเสธอย่างไม่แยแส ฯลฯ
แต่หากเราใช้ประสบการณ์ไม่ดีครั้งหนึ่งมากำหนดพฤติกรรมและนิสัยของเราในอนาคต ลดการกระทำความดีลง ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเรายอมให้พฤติกรรมของคนอื่นมากำหนดวิถีชีวิตของเรา แทนที่จะใช้เรื่องดีงามหรือเป้าหมายที่ดีกำหนดเส้นทางชีวิตของตนเอง
โชคดีที่ในชีวิต ผมไม่ได้เจอเรื่องแบบนี้บ่อยนัก เจอเรื่องดีมากกว่าเรื่องไม่ดี หลายครั้งที่ทำเรื่องดีเล็กๆ แล้วได้รับคำขอบคุณมากมาย ก็ให้รู้สึกว่า ถูกแล้วที่เราไม่ปล่อยให้เรื่องไม่ดีมาบดบังจริยธรรมของตัวเอง หรือทำให้เลิกคิดทำเรื่องดีๆ
ชีวิตของคนบางคนเจอแต่เรื่องแย่ ถูกเอาเปรียบ ถูกโกง จนกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ไม่ไว้ใจคนอื่นไปตลอดชีวิต และไม่ค่อยเชื่อใจเวลาเจอคนอื่นทำเรื่องดีๆ ให้เขา
จะโทษคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ เพราะเป็นการง่ายมากในสังคมปัจจุบันที่สร้างนิสัยมองโลกในแง่ร้าย มองไปรอบตัวเรา ดูข่าวหนังสือพิมพ์ทุกวันเห็นแต่เรื่องร้ายๆ คนทำเรื่องเลวร้ายต่อกัน เอาเปรียบกัน
คนขับแท็กซี่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 บ้านที่เขาเช่าจมน้ำ ทำให้ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่เจ้าของบ้านก็ยังคงคิดค่าเช่าเต็มราคา อีกทั้งเก็บเงินชดเชยที่ทางการมอบให้ผู้อยู่อาศัยซึ่งเดือดร้อนจากน้ำท่วม
ทุกวันเราได้ยินข่าวคนโกงกินสารพัด โกงเรื่องธุรกิจ โกงเด็ก โกงคนแก่ โกงแม้แต่พระ ฯลฯ จนทำให้เราเริ่มสูญเสียศรัทธาในความดีของมนุษย์ ในที่สุดก็กลายเป็นสังคมแบบ ตัว Who ตัว It
นอกจากนี้ความเชื่อผิดๆ หรือความหมั่นไส้ก็ทำให้คนท้อใจไม่อยากทำเรื่องดี เช่น ทำดีแล้วถูกหาว่าสร้างภาพ หรือดัดจริต เป็นต้น จึงเกิดทัศนคติและค่านิยมว่า ถ้าทำดีแล้วไม่ได้ดี ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม จึงไม่น่าแปลกใจที่เราหาคนอยากทำเรื่องดีๆ น้อยลง
ธุระไม่ใช่
ที่น่ากลัวก็คือ หากปัจเจกคิดอย่างนี้ เราก็ได้สังคมแบบนี้ จนมีคำกล่าวว่า สังคมเสื่อมลงเพราะคนดีท้อแท้
วัฒนธรรมการทำดีเพื่อหวังบุญในชาติหน้า แม้จะทำให้มี คนดี ในสังคมมากขึ้น แต่ก็เป็นสังคมที่ยืนหยัดด้วยรากฝอย ไม่ใช่รากแก้ว ทำอะไรก็ต้องมีรางวัลล่อใจ
ถามว่าทำเรื่องดีๆ โดยไม่หวังผลไปทำไม?
มองในมุมของประโยชน์ของปัจเจก การทำดีโดยไม่คาดหวังรางวัลทำให้ใจเราเป็นอิสระขึ้น สามารถปลดปล่อยตัวเองจากการยึดติดรูปต่างๆ ลดความเห็นแก่ตัวลง มันส่งผลให้คลื่นสมองนิ่งขึ้น มีความสุขขึ้น
นี่คือประโยชน์โดยตรงต่อปัจเจก
ส่วนประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมนั้นยิ่งใหญ่กว่า น้ำใสบริสุทธิ์แต่ละหยดที่ใส่ในแอ่งน้ำเสียหากมีมากพอ และยาวนานพอ น้ำในแอ่งก็สะอาดขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือ มันทำให้คนอื่นอยากทำเรื่องดีๆ ด้วย
เราสามารถเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมเก่าๆ ได้ เราทำเรื่องดีๆ เพราะเรามีค่าพอที่จะทำและเจอเรื่องดีๆ เรื่องสวยงาม เรื่องสร้างสรรค์
เราเป็นคนมีค่า!
และอะไรจะมีค่าไปกว่าการรู้ว่าตนเองมีค่า!
วินทร์ เลียววาริณ
www.winbookclub.com