16 กันยายน 2550 16:08 น.
ต่อง (ต้อง) ksg
**.. เถลิงยุค สายลม ชมแสงแดด
วงล้อมแวด แดกสุรา แจ่มราศี
เบิ้ลรถโชว์ โรเล็กซ์ เทคโนโลยี
ชุมนุมนี้ นามว่า มหาลัย..
**.. ถึงคราวยุค เสื่อมสิ้น แสวงหา
ใครใคร่ค้า สวย-หล่อ ก็ค้าได้
ใครใคร่หรู แฟชั่น นั้นตามใจ
ใครใคร่ใคร่ เพลิดเพลิน เชิญสืบพันธุ์..
**.. ฉันร่าน ฉันมัน ฉันเว่อร์
มหาลัย เพ้อเจ้อ เหมือนฝัน
หน่วยกิต แลกเหงื่อ เพื่อลูกนั้น
กระสัน โหยกลิ่น ปริญญา..
**.. ความรู้ล้นหัว เอาตัวไม่รอด
ทางใบ้มืดบอด ไม่เห็นเป็นท่า
ลืมเสียสละ เพื่อนร่วมโลกา
เกียรตินิยมไร้ค่า ตราหน้าปัญญาชน..
**.. ฟ้าสีทอง อำไพ อยู่ไกลโพ้น
อยากตะโกน กู่ร้อง ก้องสักหน
ชีวิตเกิด เพื่อสิ่งใด ให้ใครยล
ค่าของคน เธอนี้ มีเท่าไร..
( อย่าคิดแคบ แค่ตำรา มหาลัย
คนยากไร้ ยังรอเกื้อ เอื้อแบ่งปัน ... )
ด้วยความหวังดี
ก.นพดล รักษ์กระแส
ก.ประแสร์ ศิษยาพร
( วรรคที่สาม ได้แรงบันดาลใจจากบทกวี เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน ของอ.วิทยากร เชียงกูล ที่ว่า สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว )
**.. หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือ " ฉันจึงมาหาความหงอย" ของคุณไพบูลย์ วงษ์เทศ ที่ตีพิมพ์เมื่อคราวปี 2525 เป็นวรรณอำ สมพาสกรุงรัตนโกสินทร์ ปีที่ 200 ก็ชอบในลีลาการเขียนและวิธีการนำเสนอมาก จนอาจเรียกได้ว่า นี่เป็นแนวการเขียนอีกแนวก็ว่าได้......เป็นการที่คุณไพบูลย์อำเป็นนักเขียนชื่อดังหลายท่าน เช่น อ.วิทยากร เชียงกูล ( ฉันจึงมาหาความหมาย ) ก็ถูกอำเป็น วิทยากร กุนเชียง ( ฉันจึงมาหาความหงอย ) แทน
ผมอ่านไปได้สักระยะ จึงเกิดแรงบันดาลใจตามที่ได้อ่าน จึงตัดสินใจที่จะเขียนกวีนิพนธ์ขึ้นสักชุดหนึ่งและมันคงเป็น รวมบทกวีชุดแรกของผมด้วย เพราะผมไม่เคยเขียนบทกวีที่เป็นชุดมาก่อน โดยใช้ชื่อว่ารวมบทกวีชุด " วิสาสะนิยม" แปลง่ายๆว่า นิยมการถือวิสาสะ ถือความคุ้นเคย วิจารณ์สังคมไปเรื่อยๆ ( ตามใจตน อิอิ )
ในชิ้นแรกนี้ เป็นการตีแผ่ให้เห็นถึงสภาพสังคมที่อยู่ใกล้ชิดผมมากที่สุดคือ มหา'ลัย โดยผมได้รับอิทธิพลทางความคิดมากจากบทกวีของอ.วิทยากร เชียงกูลมานานแล้ว ( ก่อนจะเข้ามหา'ลัยเสียอีก ) บ่อยครั้งเข้าจนเหมือนกับว่าผมกลายเป็น " กบฏมหา'ลัย" เพราะผมไม่ชอบเห็นการที่หนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาเมามันแต่ความสุขส่วนตน จนหลงลืมการเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวม และด้วยประการนี้ผมจึงเป็นเด็กกิจกรรมมากกว่าที่จะเป็นเด็กเรียน และเห็นความสำคัญของประสบการณ์ชีวิตจริงมีคุณค่ามากกว่าการศึกษาถือจริงถือจังแต่ทางตำรา
สุดท้ายนี้ หวังว่าท่านผู้อ่านคงอภัยให้ผม หากกลอนในชุดนี้อาจดูหยาบกร้าน และถึงกึ๋นเกินไปกว่าจะใช้คำว่า " กวีนิพนธ์" ขอขอบพระคุณ