11 ธันวาคม 2554 11:29 น.

วันกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส

ตราชู

วันกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส

	วันนี้ หัวใจของผู้เขียน ถ่วงหนักด้วยความหม่นหมอง ขณะมือไต่ไปตามแป้นพิมพ์อย่างช้าๆ บางครั้ง อยากร้องไห้ แต่ น้ำตาที่ตกคั่งค้างอยู่ภายในอก ไม่ยอมทะลักทลายออกมาเสียที ความเยียบเย็นบาดลึกถึงวิญญาณ ดูจะเย็นเยียบเสียกว่าลมหนาวอันกำลังพัดโชยอยู่ยะเยือกๆเสียอีก

	๑๑ ธันวาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส หรือที่เรียกกันว่า วันกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส นั่นเอง วัน อันไม่มีระบุบันทึกไว้ในปฏิทิน แหละก็คงมิได้บันทึกไว้ในความทรงจำของใครอีกหลายคน โดยเฉพาะ ผู้แหนงหน่ายต่อวรรณคดีไทย ทั้งๆที่องค์อัครสมณมหากวีพระองค์นี้ ได้ทรงพระนิพนธ์อำนรรฆมณีศรีวิลาสปิลันธนาภรณ์บวรบรรณประดับไว้ในปฐพีสยามอย่างเยียรยงทรงศักดิ์ทุกอักขระ ไม่ว่าร้อยกรอง ฤาร้อยแก้ว

	ท่านใดจะคลั่งไคล้ใหลหลงมหากาพย์ของต่างชาติต่างภาษาซีกด้าวตะวันตกเพียงไรก็ตามใจท่านเถิด แต่สำหรับผู้เขียน ลิลิตตะเลงพ่าย คือมหากาพย์เกริกเกียรติในดวงใจของไทยแท้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยรับสั่งว่า ลิลิตชั้นครูซึ่งเคารพนับถือกันในวงการวรรณคดีไทยนั้นมีอยู่สามเรื่อง กล่าวคือ ลิลิตพระลอ ลิลิตญวนพ่าย ลิลิตตะเลงพ่าย สองเรื่องแรก นิพนธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉะนั้น หนึ่งเดียวเอกอะคร้าว เป็นยอดลิลิตแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็คือลิลิตผลงานพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เที่ยงแท้มิแปรผัน

	นอกจากยอดมกุฎแห่งลิลิต ณ รัตนโกสินทร์แล้ว เราสามารถกล่าวได้อย่างภาคภูมิยิ่งว่า สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงมีอธิคุณแก่ฉันทกานท์ไทยเหลือล้นพ้นประมาณ สมุทรโฆษคำฉันท์ ซึ่งค้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สำเร็จเสร็จสรรพครบฉบับบริบูรณ์ก็ด้วยพระปรีชาสามารถ ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์ ยังพระนิพนธ์ สรรพสิทธิ์คำฉันท์ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ อีกเล่า ทุกพจน์คือทุกเพชรนั่นเทียว ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือทรงพระนิพนธ์ ตำราฉันท์วรรณพฤติและมาตราพฤติ ปรับแปลงฉันท์ตามครรลองคัมภีร์วุตโตทัยภาษาบาลี ปริวรรตมาเป็นฉันท์แบบไทย เท่ากับทรงวางรากฐานให้กวีไทยผู้นิพนธ์ฉันท์ในยุคต่อมาถือเป็นแบบแผน กระนี้แล้ว สมควรถวายคารวะอย่างสูงหรือไม่ โปรดตรองดูเถิด

	ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ดิลกวจนลิขิต

	เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์มหาชาติกลอนเทศน์ไว้ถึง ๑๑ กัณฑ์ (ทรงเว้นกัณฑ์มหาพน แหละมัทรี) แม้ผู้เขียนจะมิได้อ่านทั้ง ๑๑ กัณฑ์ ครบหมด แต่ก็ถือว่าได้อ่านเกินครึ่ง เพราะหนังสือเทศน์มหาชาติฉบับหอสมุดวชิรญาณอันคัดสรรรวบรวมสำนวนร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ต่างๆจากกวีหลายสำนักมารวมพิมพ์ไว้ เมื่อตรวจสอบแล้ว จะพบสำนวนพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มากกว่ากวีท่านอื่น รวมได้ถึง ๗ กัณฑ์ ได้แก่
	ทศพร, หิมพานต์, วนประเวศ, จุลพน, สักกบรรพ, ฉกษัตริย์, นครกัณฑ์ เมื่อรวมกับกัณฑ์ มหาราช ในแบบเรียนหลักสูตรเก่า สมัยที่ตนเองยังศึกษาอยู่ชั้นมัธยม ๖ ณ โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ก็สรุปยุติลงได้ว่า เคยอ่านสำนวนพระนิพนธ์ของพระองค์ท่าน ๘ กัณฑ์ ท่านผู้ใดประสงค์ดื่มด่ำกำซาบรสวรรณศิลป์ของร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ขอเชิญชวนท่านเข้าสู่เว็ปไซต์แห่งนี้ เพื่อรับผลานิสงส์โดยทั่วถ้วนครับ

http://mahachat.com   

	พระปฐมสมโพธิกถา ร้อยแก้วของร้อยแก้ว

	นี่คือหนังสือพุทธประวัติเล่มที่ผู้เขียนบูชาตลอดกาล ทุกคราเมื่ออ่าน จะพบนพรัตน์เจียระไนอยู่ทุกวรรคตอน ความบรรเจิดเพริศพราวเกินหาคำมาพรรณนาสดุดีได้นี้ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักปราชญ์ ตลอดจนประพันธกรรุ่นหลังสืบเนื่องมาหลายยุค ท่านผู้อ่านซึ่งประทับใจ กามนิตวาสิตถี ผลงานแปลร่วมกันของท่านเสฐียรโกเศศแหละท่านนาคประทีป หากลองสังเกต ก็จะพบกลิ่นอายภาษาจากพระปฐมสมโพธิกถาปรากฏอวลอยู่มิน้อยเลย นอกจากนี้ พระปฐมสมโพธิกถา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ยังทำให้ท่านอาจารย์กฤษณา อโศกสิน เกิดความประทับใจถึงกับตั้งนามปากกา สไบเมือง ขึ้น เพื่อใช้รจนาพุทธธรรมนิยายโดยเฉพาะ นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์คุณวิเศษของหนังสือเล่มนี้ได้เด่นชัดกระจัดกระจ่างจริง

	ตัวผู้เขียนเอง ครั้นศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาเอกภาษาไทย ได้รับความกรุณาอเนกอนันต์จากท่านอาจารย์น้อมนิจ วงศ์สุทธิธรรม เมตตาถ่ายทอดความรู้ในรายวิชา วรรณกรรมกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (th.๓๕๔) ที่ตนเองเจตนาเลือกเรียนอย่างแรงกล้า ทำให้ยิ่งศรัทธาในพระองค์ท่านจนประทับจิตติดวิญญาณมาตราบปัจจุบัน

	วันนี้ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามคงมีงานวันกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเช่นเคย สาธุ ขอดวงพระวิญญาณแห่งองค์เอกอัครสมณมหากวี ไม่ว่าทรงสถิตเสถียรยังภูมิพิมานชั้นใดก็ตาม โปรดทรงแผ่พระบารมีปกปักปกป้องนิติบุราณวรรณคดีไทยให้ธำรงคงมั่นชั่วกัปชั่วกัลปาวสาน วาณิชนายทุนคณะใดนำวรรณกรรมต่างด้าวเข้ามา ผิมีเจตนามุ่งรานวรรณศิลป์สยาม ขอจุ่งพ่ายแพ้พินาศสิ้นโดยอำนาจพระเดชาบารมินทร์ของพระองค์ด้วยเทอญ พระพุทธเจ้าข้า

ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ
๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟตราชู
Lovings  ตราชู เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟตราชู
Lovings  ตราชู เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟตราชู
Lovings  ตราชู เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงตราชู