20 กุมภาพันธ์ 2551 16:07 น.
ตราชู
๖ ตุลา ในความทรงจำของท่าน เป็นฉันใดบ้างครับ?
แม้ว่าขณะนี้จะเพิ่งย่างเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น อีกนาน กว่าจะถึงฤดูรำลึกวีรชน แต่ ปรากฏการณ์ เดือดผิดเดือน ของเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ก็ทำให้สังคมตื่นตัว มีการเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีออกมาขอโทษผู้สูญเสีย ตลอดจนสาธารณชน การจัดอภิปรายประวัติศาสตร์ช่วงเวลาดังกล่าว วาทะอันเปรียบเสมือน น้ำผึ้งหยดเดียว (หยดใหญ่เสียด้วย) ของท่านผู้นำรัฐบาลซึ่งให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น โหมเพลิงให้กระพือฮือฮึก และทำท่าว่าจะคุกรุ่นอีกสักพัก ผมจึงถือโอกาสนี้ รำลึกความหลังบางอย่างที่ตัวเองไม่เคยคิดมาก่อน หากเมื่อย้อนมองอีกที ก็พบว่า สมัยเด็กๆ ก็ได้มีส่วนรับรู้อะไรบางสิ่ง อันเป็นผลพวงของ ๖ ตุลา ถึงขณะนั้นจะยังไม่ประสีประสาก็ตาม
ผมเกิดเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ครับ ก็หลังเหตุการณ์ราวปีกว่าๆ เมื่อเป็นทารกไม่รู้อะไรหรอกครับ โตมา ตอนอายุเท่าไรก็เลือนๆเสียแล้ว จำได้แต่ว่ายังตัวกระเปี๊ยกอยู่ ผมกับพี่สาว น้องชาย นั่งเฝ้าโทรทัศน์ รู้สึกจะเป็นช่อง ๓ กำหนดเวลาเปิดสถานี หากจำไม่ผิดก็อยู่ประมาณสี่โมงเย็น ผมไม่เคยลืมครับ พอสถานีเปิด ผมจะได้ยินเพลงปลุกใจเพลงหนึ่ง ย้ำซ้ำๆเสมอๆ นั่นคือ เพลงพระราชนิพนธ์ เราสู้ นั่นเอง
บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ
ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า
เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา
หน้าที่เรารักษาสืบไป
ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า
จะต้องมีพสุธาอาศัย
อนาคตจะต้องมีประเทศไทย
มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย
ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น
จะสู้กันไม่หลบหนีหาย
สู้ตรงนี้ สู้ที่นี่ สู้จนตาย
ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู
บ้านเมืองเราเราต้องรักษา
อยากทำลายเชิญมาเราสู้
เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู
เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว
หมายเหตุ
เพลง เราสู้ ทำนองพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื้อร้อง ประพันธ์ถวาย (อาศัยพระราชดำรัสของพระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจ) โดย คุณสมภพ จันทรประภา
วัยเยาว์อย่างยิ่งอย่างผมไม่เข้าใจหรอกครับ ว่าความขัดแย้งระหว่าง ฝ่ายขวา กับ ฝ่ายซ้าย ยังดำเนินอยู่ แหละเพลงนี้ก็คืออาวุธฝ่ายขวา รู้เพียง ฟังบ่อยๆก็จำได้กระท่อนกระแท่นประสาเด็ก พลอยฮึกหาญกับลีลาของเพลงไปด้วย
ต่อมา ผมเข้าโรงเรียนแล้ว เมื่อเพลง รางวัลแด่คนช่างฝัน ของ คุณจรัล มโนเพชร ฮิต ผมก็ร้องตามเพื่อนๆ ตามกระแสไปกับเขาเช่นกัน โดยมิเข้าใจว่า เพลงนี้มีนัยสมานแผล มอบแด่หนุ่มสาวผู้ผละถอยจากสมรภูมิพนาคืนสู่นาคร พร้อมกับความบอบช้ำ เมื่อพบว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)มิใช่สิ่งที่หวัง ทั้งหมดเป็นเพียงวิมานทราย อันพังทลายลงชั่วเวลามินาน
อย่ากลับคืนคำเมื่อเธอย้ำสัญญา
อย่าเปลี่ยนวาจาเมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป
ให้เธอหมายมั่นคง แล้วอย่าหลงไปเชื่อใคร
เดินทางไปอย่าหวั่นไหวใครกางกั้น
มีดวงตะวันส่องเป็นแสงสีทอง
กระจ่างครรลองให้ใฝ่ปองและสร้างสรรค์
เมื่อดอกไม้แย้มบานให้คนหาญสู้ไม่หวั่น
คือรางวัลแด่ความฝันอันยิ่งใหญ่...ให้เธอ
บนทางเดินที่มีขวากหนาม
ถ้าเธอคร้ามถอยไปฉันคงเก้อ
ฉันยังพร้อมช่วยเธอเสมอ
เพียงตัวเธอไม่หนีไปเสียก่อน
จะปลอบดวงใจให้เธอหายร้าวราน
จะเป็นสะพานให้เธอเดินไปแน่นอน
จะเป็นสายน้ำเย็นดับกระหายยามโหยอ่อน
คอยอวยพรให้เธอสมดังหวังได้...นิรันดร์
หมายเหตุ
เพลง รางวัลแด่คนช่างฝัน เนื้อร้อง ทำนอง และขับร้อง โดย คุณจรัล มโนเพชร
นานพอควรเชียวครับ จนผมเข้ามหาวิทยาลัย รามคำแหง ตอนใกล้จะเรียนจบ เริ่มสนใจการเมือง เมื่อ ปี ๒๕๔๕ ข้อมูลก็เข้ามาสู่การรับรู้ทีละน้อย เริ่มจากวรรณกรรมประเภท บทกวี นวนิยาย เรื่องสั้น เรื่อยไปจนถึงสารคดี ผนวกกับคำบอกเล่า แรกๆ ผมยังจำสับสนอยู่เลยครับ นำเหตุการณ์บางตอนของ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ไปปนเปกับ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ต่อมาจึงค่อยๆแยกออก สรุป ผมเกิดในยุคสงครามระหว่างสองคั่วยังคุกรุ่นรุนแรง มีชีวิตอยู่มาทันยุคป่าแตก และอยู่ต่อจนได้เห็น (พูดตามตรง คือ ได้ฟัง) ๖ ตุลา ปะทุผิดกาละในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ นี่ เด็กอายุยี่สิบเก้าจวนๆสามสิบอย่างผม รับรู้เพียงเท่านั้นครับ ในขณะที่ท่านผู้อ่านทุกท่านมีประสบการณ์ร่วมเกี่ยวกับเหตุการณ์ ๖ ตุลามากมาย ผมจึงขออนุญาตฟังประสบการณ์ของท่าน เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลให้ตนเอง ถือว่าคุยเล่นๆแล้วกันครับ ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาอ่าน และร่วมบอกเล่าเรื่องราวครับ
อนึ่ง ข้อความที่เขียนมาตั้งแต่ต้น หากมีส่วนใดผิดพลาด ผมกราบขออภัยทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ และพร้อมน้อมรับคำวิจารณ์จากทุกท่านด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่งครับผม
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ