30 มิถุนายน 2550 10:19 น.
ตราชู
ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ผมขออนุญาตสารภาพตรงๆว่า ผมจนมุมหาทางออกไม่ได้เลยครับ มองไปทางใดมืดมิดไปหมด โอกาสที่ความใฝ่ฝันของตัวเองจะบรรลุผลนั้น ดูเลือนรางเต็มที ผมทราบดีครับว่า การเขียนนวนิยายนั้น สิ่งสำคัญก็คือ การทำให้ผู้อ่านหยั่งเห็นด้วยมโนภาพให้ชัดเจนที่สุด ซึ่งนั่นแปลว่า ผู้เขียนเองก็จะต้องเคยมองเห็นภาพนั้นๆมาแล้วจนสามารถนำมาบรรยาย, พรรณนา ได้ถูกต้อง
คราวนี้ จักษุทวารผมปิดสนิท ไม่มีวันมองเห็นได้อีก แม้กระนั้น ก็ยังดื้อรั้น สร้างความฝันจะเขียนนวนิยายขึ้นสักเรื่องหนึ่ง เรื่องย่อของนวนิยายเรื่องดังกล่าว มีดังนี้ครับผม
ตุลา เทิดเวทางค์ เป็นหญิงสาววัยรุ่นผู้ไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองเท่าไรนัก ตรงกันข้ามกับพ่อของเธอนายไวทิตย์ ซึ่งเรื่องการเมืองคือลมหายใจ เพราะพี่ชายของไวทิตย์
(ลุงของตุลา) คือหนึ่งในวีรชนซึ่งเสียชีวิตในช่วงวันมหาวิปโยค (๑๔ ถึง ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖) และสาเหตุที่ลูกสาวคนเดียวมีชื่อว่า ตุลา เพราะวันเกิดของเธอ คือวันที่
๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ครบรอบ ๑๐ ปี ๑๔ ตุลาพอดี
วันหนึ่ง ตุลาไปร่วมงานวันประชาธิปไตย อันจัดขึ้นในวันที่ ๑๔ ตุลาคมของทุกปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะต้องทำรายงานส่งอาจารย์ตามหน้าที่ของนักศึกษา จบงานแล้วเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ
ลงเรือท่าพระจันทร์กันสนุกสนาน ระหว่างทาง เกิดพายุ ฝนตั้งเค้า มีอุบัติเหตุให้ตุลาตกน้ำ พอดีกับประตูมิติเวลาเปิด สายน้ำเจ้าพระยาพาเธอหวนสู่อดีต ณ ปี พ.ศ.
๒๕๑๒
เหตุใดต้องเป็นปี พ.ศ. ดังกล่าว? เนื่องจาก เป็นช่วงเวลาที่นิสิต นักศึกษาเริ่มตื่นตัวทางการเมือง ตุลาจะได้เห็นความกระตือรือร้นของคนหนุ่มสาววัยเดียวกับเธอ
(ซึ่งในสมัยปัจจุบัน หาดูได้น้อยเหลือเกิน) แหละชายหนุ่มผู้หนึ่งก็จะเข้ามาสู่ชีวิต เขาคือ นายตาวัน สว่างบุญ
ตาวันเป็นชาวจังหวัดสกลนคร (หนึ่งในพื้นที่สีแดงซึ่งภาครัฐในสมัยนั้น ถือว่า ลัทธิคอมมิวนิสระบาดหนัก) เดินทางมาเรียนกรุงเทพ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ช่วงนั้น
ธรรมศาสตร์ยังเป็นมหาวิทยาลัยเปิด) เขาจึงได้รู้ ได้เห็นความอยุติธรรม การกดขี่ข่มเหงของภาครัฐ รวมทั้งการปราบปรามผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสอย่างโหดเหี้ยม
ตาวันคือผู้ค่อยๆจุดประกายความคิดให้ตุลาเห็นว่า การเมืองผูกพันกับวิถีชีวิตของประชาชนอย่างแยกไม่ออก ความสนิทสนมของทั้งสอง ค่อยเป็นค่อยไป น่ารัก หวานชื่น
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองอันเขม็งเกลียวขึ้นทุกที
จากสภาพสังคมในขณะนั้น รวมถึงภาพต่างๆนานา ตุลาได้เห็นถึงพลังหนุ่มสาว ตระหนักซึ้งถึงการรวมพลังเพื่อร่วมเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ให้แผ่นดิน ดังนั้น
เมื่อกลุ่มนิสิต นักศึกษา ชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอและตาวัน จึงเข้าชุมนุมด้วย พร้อมทั้งอยู่ข้างเคียงกันตลอดเวลา
เนื่องจากตุลามาจากอนาคต เธอจึงรู้ว่า วันที่ ๑๔ ตุลา จะเกิดอะไรขึ้น เธอพยายามบอกตาวัน เขาเพียงแค่รับฟังแล้วนิ่งขรึม ในวันที่ ๑๓ ตุลาคมนั้น เมื่อเหตุการณ์ตึงเครียดถึงที่สุด
ทั้งสองปรึกษากันว่าจะไม่ถอย ตาวันบอกตุลาว่า อะไรจะเกิดขึ้นวันพรุ่งนี้ เราจะสู้อยู่ใกล้ชิดกันเสมอ
ทว่า เมื่อเกิดการปะทะกันอย่างชุนละมุนนั้น ต่างฝ่ายต่างหากันไม่พบ ความโกลาหลอลหม่านทั่วเมืองสุดจะลำดับภาภได้ (ผมเคยร้องไห้มาแล้ว เมื่ออ่านกวีนิพนธ์ อาทิตย์ถึงจันทร์
ของ ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ จึงตั้งปณิธานว่า จะเขียนฉากนองเลือดนี้ให้สมบูรณ์ที่สุด) ตุลาร้องไห้น้ำตาแทบเป็นสายเลือด เมื่อเห็นเพื่อนคนแล้วคนเล่าล้มลงต่อหน้า
(ผมตั้งใจเช่นกันว่า จะให้เธอได้เห็นวีรกรรมของ ท่านจีระ บุญมาก ด้วย)เมื่อเธอมาพบตาวันนั้น เขาถูกยิงบาดเจ็บสาหัส นอนคลุกเลือดอยู่บนพื้นถนน เธอเข้าประคองเขาไว้ในอ้อมแขน
พาลงเรือข้ามฟาก ฝ่าห่ากระสุนปืนไปยังโรงพญาบาลสิริราช
ตาวันสิ้นใจในวันที่ ๑๕ ตุลาคม วันมหาปิติ เมื่อตุลากระซิบกับเขาทั้งน้ำตาว่า
ตาคะ ประชาชนชนะแล้ว คุณได้ยินใช่ไหมคะ ประชาชนชนะแล้ว รอยยิ้มอย่างปิติที่สุดในชีวิต ราวดอกไม้สยายกลีบแย้มบานจะปรากฏขึ้น พร้อมประโยคสุดท้ายของเขา
ตุล อย่าร้องไห้ให้กับการจากไปของผม จงร้องไห้ให้แก่ชัยชนะของพวกเราเถิด คุณโปรดระลึกไว้เสมอว่า ตาวัน ไม่มีวันลับขอบฟ้า ในขณะที่โลกเสี้ยวส่วนซึ่งเราอาศัยอยู่มืดหม่นเพราะย่างเข้าสู่เวลากลางคืน
ในโลกอีกเสี้ยวส่วนหนึ่งกำลังย่างเข้าสู่รุ่งอรุณ ตาวัน สว่างบุญ คนนี้ย่อมมีวันดับ ทว่า ดวงตาวันบนฟ้า ไม่มีวันลาโลก วันหนึ่งข้างหน้า หากคุณจะรักใคร จงรักเขา
เพราะเขามีความรักชาติ รักประชาชน อยู่ในวิญญาณ์เถิด เขาผู้นั้นแหละ คือ ตาวัน
ตุลารันทดหดหู่กับการสูญเสียตาวันยิ่งนัก เมื่อคิดถึงภาพสยดสยองวันก่อนเธอก็ยิ่งบีบคั้นในอารมณ์ จนตัดสินใจกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายเดิมก็พาเธอกลับสู่ปัจจุบันกาล
เธอต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเป็นเวลาหนึ่ง จนหายเป็นปกติ จึงใช้ชีวิตต่อไป ด้วยบุคลิกใหม่ บุคลิกของหญิงสาวผู้รักความยุติธรรม
เมื่อวางโครงเรื่องโดยสรุปแล้ว ผมก็ตั้งต้นเขียน โดยเริ่มต้นด้วยบทที่ ๑ ดังนี้ครับ
ตุลา ตาวัน
บทที่ 1 14 ตุลา วันประชาธิปไตย
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ สำหรับคำถามที่ว่า คมช. จะกลายเป็น รสช. หมายเลข ๒ หรือไม่ ณ เวลานี้ ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ชัดเจนหรอกครับ เราได้แต่หวังว่า ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย ประเทศไทยจะไม่ถูกลากถอยหลังกลับไปสู่วงจรเดิมๆ ซึ่งก็เท่ากับตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า เจ็ดสิบห้าปีแล้ว ที่เราอยู่ในระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบปราสาททราย ใครคิดจะรื้อก็รื้อ คิดจะสร้างก็สร้าง รัฐธรรมนูญร่างเพื่อฉีก ฉีกเพื่อร่างใหม่ไม่รู้ว่ากี่ฉบับ จนมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ก็อีกนั่นแหละ ยังไม่มีอะไรมารับประกันว่าจะไม่ถูกฉีกอีก ตราบใดก็ตามที่เรายังเล่นการเมืองแบบไทยๆ ยังสนุกกับการก่อปราสาททราย ประเทศเราไม่มีทางเจริญขึ้นหรอกครับ
เสียงอภิปรายราบเรียบ ทว่าเน้นประโยคสำคัญๆได้อย่างเหมาะเจาะยังคงก้องกังวาลจากไมโครโฟนไม่ขาดระยะ นับเป็นเวลาร่วมชั่วโมงกว่ามาแล้ว ตั้งแต่พิธีกร เรียนเชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นบนเวที หญิงสาวผู้หนึ่ง ซึ่งนั่งรวมกลุ่มอยู่กับคนทั้งหลายที่มาร่วมงาน บิดกายอย่างเมื่อยล้า บ่อยครา เธอ แอบยกนาฬิกาข้อมือขึ้นดู พลางบ่นงึมงำในใจ
เมื่อไหร่จะจบสักทีวะ ไอ้ที่ติดขัดจนอึดอัดก็คือ จะลุกจากเก้าอี้ก็ไม่ได้เสียด้วย อาจารย์สั่งให้เก็บข้อมูลสำหรับเขียนรายงานส่ง หญิงสาวทอดถอนใจยาวอีกหน ถ้าไม่ติดตรง รายงาน นี่หละก็ เฮอะ จ้างให้ก็ไม่มาเด็ดขาด
เนื่องจากจำใจมา (อย่างยิ่ง) เจ้าตัวจึงไม่พกพาแม้สมุดจด วิธีขี้โกงง่ายๆสะดวกสบายก็บันทึกเสียงลงวอร์คแมนคุณภาพเยี่ยม ราคาแพงลิบ เก็บไว้ ดีกว่านั่งลากปากกายิกๆเป็นกอง มือไม่ต้องขยับ แถมจะเผลองีบหลับก็คงไม่มีใครว่า (ถ้าเขาไม่หันมามอง)
ขณะการอภิปรายยังดำเนินต่อ คนขี้เกียจฟังไม่สนใจกับเสียงที่กระทบหูเลยสักน้อย กลับปล่อยความคิดเตลิดไปคนละทิศคนละทาง อ็อ! จะว่าคนละทางคนละทิศก็เห็นจะผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถึงอย่างไร ถึงไม่เกี่ยวกับงานวันประชาธิปไตยโดยตรงมันก็เกี่ยวกับการเมืองอยู่ดีหละน่า
ตุลนี่แปลกแฮะ เรียนรัฐศาสตร์รามฯ แต่กลับสนใจแฟชั่น พ่อเคยตั้งข้อสังเกตขำขัน
แหม พ่อขา ก็หนูอยากเรียนสาขานี้เมื่อไหร่เล่า
อ้าว! ผู้อาวุโสอุทานเบาๆ แล้วลงทะเบียนสมัครไปทำไมละ
ตามเพื่อนคะ คำตอบของลูกสาวง่ายๆ ซ้ำขยายความเสียอีก ก็เพื่อนรุ่นเดียวกันมันเลือกคณะนี้เกือบยกกลุ่มนี่คะ ขืนหนูเรียนคณะอื่นก็เหงาแย่
น่าจะสนใจการบ้านการเมืองไว้บ้างนะลูก พ่อพยายามโน้มน้าว ตุลรู้ไหม หนุ่มๆสาวๆอายุรุ่นราวคราวเดียวกับตุลนี่แหละ เคยสละชีวิตเพื่อชาติ เพื่อประชาธิปไตยมาแล้วนะ
เธออยากจะตอบพ่อเหลือเกินว่า รู้ซีคะ ก็พ่อพูดออกบ๊อยบ่อย และก็เรื่องนี้เอง เป็นที่มาของชื่อเธอ นางสาวตุลา เทิดเวทางค์
หนูเกิดวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2526 ครบสิบปีวันมหาวิปโยคพอดี พ่อทบทวนความหลังให้ฟังเสมอ เพราะฉะนั้น พ่อจึงตั้งใจให้หนูมีชื่อจริงว่าตุลา และชื่อเล่นว่าตุล ตุลา หรือ ตุลนั้น แปลว่าตาชั่ง มันต้องเที่ยงตรง ยุติธรรม ไม่เอียงลงไปข้างใดข้างหนึ่ง พ่อหวังไว้ว่า โตขึ้น หนูจะเป็นคนรักความยุติธรรม
สมัยเมื่อเด็กๆ เธอเคยถามพ่อว่า วันมหาวิปโยคคืออะไรแล้วเด็กหญิงก็ต้องทนฟังนิทานเรื่องย้าวยาว ยาวจนกระทั่งอ้าปากหาวหวอดๆ พ่อคงไม่ทันสังเกตกิริยาลูกรักคนเดียวของบ้าน เพราะเพลินเล่าไม่หยุด ท้ายที่สุด หนูตุลตัวน้อยก็ผลอยหลับ ตั้งแต่วันนั้นเรื่อยมาหนูตุลาจะจำเป็นสูตรสำเร็จว่า ถ้าอยากหลับเร็ว ให้ไปคุยกับพ่อเรื่องวันมหาวิปโยค แล้วเชื่อเถอะ ไม่นาน เธอจะเป็นฝ่ายโยก โงกหลับพับไปจริงๆ
แม้จะไม่เต็มใจฟัง ทว่า เมื่อได้ยินบ่อยเข้า เด็กหญิงก็พอจะรู้เรื่อง สิ่งซึ่งพ่อย้ำนักย้ำหนาในตอนท้ายก่อนเล่าจบ หนีไม่พ้นเรื่องคุณลุง
ลุงของลูกชื่อไวฑูรย์ ก็เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย ตอนนั้น พ่อยังเรียนหนังสืออยู่ประเทศอังกฤษโน่น พอรู้ข่าว ก็รีบกลับมาทันที น่าเสียดาย ที่พ่อไม่ได้ร่วมกับลุง ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยให้มวลชน มันจึงเป็นบาดแผล เป็นความผิดของพ่ออยู่ตลอดเวลา
อาจเพราะร่องรอยรวดร้าวในอดีตนี้กระมัง ทำให้พ่อ ใจจดใจจ่อกับทุกอย่างอันเกี่ยวข้องกับการเมือง สำหรับทุกคนในบ้าน พ่อเปรียบเสมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่ารัฐบาลยุคใดสมัยใด ร่างนโยบายขึ้น พ่อจะต้องนำมาชำแหละชนิดวรรคต่อวรรค วิจารณ์ว่านั่นไม่ดีนี่ไม่ถูก จนลูกสาวอดเสนอแนะแกมสัพยอกไม่ได้
พ่อน่าจะเล่นการเมืองบ้างนะคะ
พ่อไม่อยากอาบน้ำบ่อย
มันเกี่ยวกับอาบน้ำตรงไหนคะ ตุลาสงสัย
คิดเอาเองแล้วกัน พ่อตอบสั้นๆพร้อมเสียงหัวเราะหึๆ
ตอนเธออายุเก้าขวบ ตุลาจำได้ดีว่า พ่อเคยหายออกจากบ้านไปถึงสามวันสามคืน เมื่อถามแม่ว่า
พ่อไปไหนคะ
ไปทำงานต่างจังหวัดจะ ประเดี๋ยวก็กลับ นั่นคือคำตอบของแม่ ซึ่งเด็กหญิงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง พ่อไปต่างจังหวัด ทำไมไม่บอกเธอก่อน ทุกครั้ง หากพ่อจำเป็นต้องเดินทางไกล พ่อจะเข้ามาสวมกอดลูกสาวร่างจ้อย หอมแก้มซ้ายแก้มขวา แล้วถามว่า
ตุลอยากได้อะไรลูก ขากลับ พ่อจะซื้อมาฝาก แต่คราวนั้น พ่อไม่ได้กระทำเหมือนเช่นเคย แม้ว่าอยากซักไซ้ไล่เลียงแม่จนได้ความ หาก เธอก็นิ่งเสีย ไม่รู้ว่าทำไมจึงไม่กล้าเอ่ยปาก
ดึกสงัด ประมาณตีสองกว่าๆ เด็กหญิงตื่นขึ้นมา คลับคล้ายคลับคลาว่าได้ยินเสียงสะอื้นกระซิกๆ ครั้นตั้งใจฟัง จึงรู้ว่า เสียงของแม่แน่นอน แม่! แม่ร้องไห้ ร้องไห้ทำไม
ตุลาเพิ่งจะมารู้ภายหลังเมื่ออายุมากขึ้น ว่า ช่วงเวลาที่พ่อหายไป อยู่ในระหว่างวันที่ 17 ถึง 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 วันเวลาอันถูกกล่าวขานบนหน้าประวัติศาสตร์ในชื่อ พฤษภาทมิฬและเธอก็รู้ความจริงเกี่ยวกับการจากบ้านชั่วคราวของพ่อ ก็โดยแอบฟังพ่อกับแม่คุยกันตอนกลางดึกของคืนหนึ่ง ภายหลังที่พ่อกลับมาไม่นานนัก
คุณก็รู้ไม่ใช่หรือคะ ว่ามันเสี่ยงแค่ไหน เสียงของแม่เครือสะท้าน
เพราะผมรู้ว่ามันเสี่ยงนะซี ผมจึงต้องไป พ่อพูด แปลก แม้เสียงจะเบา แต่พลังอันหนักแน่นกลับปรากฏชัดจนสัมผัสได้ ฟังราวกับทุกถ้อยทุกคำของพ่อ จะกระหึ่มกระเทือนไปทั่วห้องทีเดียว
คุณจะให้ผมอยู่บ้านเฉยๆได้หรือ ในเมื่อพวกเราที่ถนนราชดำเนิน กำลังลุกขึ้นต่อสู้ ถ้าผมไม่รู้หนาวรู้ร้อน ผมก็ไม่ควรอยู่บนแผ่นดินไทยแล้ว
แต่คุณไม่ห่วงลูกหรือไงคะ ตุลยังเล็กนัก ลูกจะรู้สึกยังไง ถ้า แม่ยังคงรำพัน ประโยคท้ายสุดขาดห้วงไปในลำคอ
ที่รัก พ่อเรียกขานปลอบโยนนุ่มนวลยิ่ง ผมรักคุณ รักลูกเหนือกว่ารักชีวิต แต่คุณรู้หรือเปล่า ชีวิตทั้งชีวิต ผมยังรักไม่เทียมความรักที่ผมมีต่อแผ่นดินของเรา มีต่อมวลชนทุกคน ถ้าให้ผมเลือกระหว่างครอบครัวกับประเทศชาติ ผมต้องเลือกประการหลังอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะ ครอบครัวจะไม่มีวันมั่นคงเมื่อประเทศชาติยังคลอนแคลน คุณคิดดู ในเมื่อประเทศของเราถูกปกครองโดยระบอบกึ่งเผด็จการ รัฐธรรมนูญเป็นแค่เพียงหนังสือตั้งบนพานบูชาเท่านั้น นั่นย่อมหมายความว่า คนไทยห้าสิบกว่าล้าน จะถูกกดขี่ ถูกลิดรอนสิทธิ เรา ในฐานะคนไทยกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ก็ต้องถูกกระทำย่ำยีไปด้วย ผมไม่ต้องการให้ประชาธิปไตยกลายเป็นประชาธิปตาย ผมจึงต้องเรียกร้องสุดความสามารถ ส่วนที่คุณกังวลว่า ลูกจะอยู่อย่างไรหากขาดผมนั้น ผมเชื่อว่าคุณเข้มแข็งพอที่จะเลี้ยงเขาได้ และคุณน่าจะภาคภูมิใจด้วยซ้ำว่า คุณเป็นภรรยาของวีรชน ลูกสาวเราคือลูกวีรชนเช่นกัน คำว่า วีรชน จะทำให้คุณกับยายตุลแข็งแกร่ง จำเรื่องของคุณจีระ บุญมาก ที่ผมกับคุณก็รู้ดีได้หรือไม่ คุณจีระเป็นอย่างไร ผมก็พร้อมจะเป็นให้ได้อย่างเขา เขา ผู้ตายแต่ไม่ตาย
ตุลาฟังด้วยความงุนงง ซ้ำยังไม่เข้าใจข้อความที่พ่อชี้แจงมาสักคำเดียว เธอมองไม่เห็นว่า เรื่องของประเทศชาติ กับประชาธิปไตย จะมาเกี่ยวข้องกับครอบครัวได้อย่างไรกัน คำว่า วีรชน นั่นก็อีก มันคืออะไรหนอ? พ่อดูจะปลาบปลื้มกับคำนี้เสียเหลือเกิน แม้แต่ในยามร้องเพลง ในระยะที่กระแสเรื่องพฤษภาทมิฬยังแผ่ซ่านไม่สร่างเซา เด็กหญิงตุลมักได้ยินพ่อร้องเพลงท่อนหนึ่งอย่างซาบซึ้งแทบทุกวัน เพลง ซึ่งเธอไม่อยากจำก็ต้องจำเนื่องจากได้ยินชินหู
คืนนี้ดาวได้ร่วงหล่น
ไร้ร่างคนที่ตนเคยหนุนตัก
รักของใครต้องพลัดพราก
จากกันไปชั่วนิรันดร
เธอเป็นผู้เสียสละ
แต่ภาระนั้นใครจะไถ่ถอน
เสียงแม่กล่อมลูกน้อยนอน
ขับบทกลอนพ่อเป็นวีรชน
(คัดจากบางตอนของเพลง ใครฆ่าประชาชน วงดนตรี คาราบาว อัลบัม พฤษภา)
เฮ้ย ไอ้ตุล นั่งเหม่ออะไรวะ การอภิปรายจบแล้วโว้ย เสียงปลุกสติของเพื่อนผู้นั่งอยู่ข้างๆ ทำเอาสะดุ้งสุดตัว
แกเป็นอะไรฮะ เพื่อนถาม ตุลาสั่นศีรษะปฏิเสธ
เปล่า คิดอะไรเพลินๆไปหน่อย ไม่มีอะไรหรอก
คิดถึงพี่เต้หรือเปล่า ถึงได้เพลินนะ เพื่อนอีกคนกระเซ้า
เต้บ้าเต้บออะไรกันละ หญิงสาวทำเสียงดุ เธอรำคาญทุกครั้ง เมื่อถูกลากเข้าไปเชื่อมโยงกับนายเต้ หรือนายปีติ ผู้ชายซึ่งตามจีบตามตื๊อเธออยู่ฝ่ายเดียว ดวงตากับวิภาวี เพื่อนสนิทร่วมรุ่นทั้งสองก็ปากอยู่ไม่สุขชอบล้อเลียนอยู่เรื่อย
เฮ้ย ไปดูนิทรรศการกันเถอะ แล้วอย่าลืมสัมภาษณ์ญาติวีรชนด้วย ตุลาชวนพร้อมย้ำเตือนในตอนท้าย
สามสาวจูงมือกันเดินชมรายละเอียดของประวัติศาสตร์อันผันผ่าน จากภาพนับจำนวนไม่ถ้วน ภาพ ซึ่งหญิงสาวคนเดียวในกลุ่ม ได้รับถ่ายทอดโดยผู้บังเกิดเกล้ามาแล้วหลายต่อหลายรอบ การฆ่าฟัน การสูญเสียนิสิตนักศึกษา นักเรียน แม้แต่แพทย์และพยาบาล ฯลฯ สมุดบันทึกในความทรงจำของพ่ออาจเอื้อข้อมูลได้ดีเสียกว่าสิ่งที่ตาเห็นก็เป็นได้ ขณะกำลังก้าวเท้าไปรอบๆบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ตุลาแทบจะได้ยินเสียงพ่อ ครวญเพลงเพลงหนึ่งอยู่ข้างๆหูทีเดียว
กางปีกหลีกบินจากเมือง
เจ้านกสีเหลืองจากไป
เจ้าบินไปสู่เสรี
บัดนี้เจ้าชีวาวาย
เจ้าเหินไปสู่ห้วงหาว
เมฆขาวถามเจ้าคือใคร
อาบปีกด้วยแสงตะวัน
เจ้าฝันถึงโลกสีใด
(คัดจากเนื้อเพลง นกสีเหลือง ประพันธ์โดย อาจารย์ วินัย อุกฤษฏ์ วงดนตรี คาราวาน ขับร้อง)
ตุล มือของวิภาวีเอื้อมมาสะกิด ถ้าสมมุติเล่นๆนะ ว่ามีการประท้วงรัฐบาลชุดนี้ขึ้น จนถึงขั้นจลาจลเหมือนอย่างสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา แกจะร่วมกับเขาไหมวะ
ขอส่งกำลังใจไปช่วยดีกว่า เธอปฏิเสธอ้อมค้อมและนุ่มนวลเช่นนี้เป็นนิสัย ก็ยังดีอยู่หรอกที่เด็กสมัยใหม่อย่างเธอ ยังรู้จักคำพังเพย บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ความดีงามทั้งหมด เกิดจากการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัวนั่นเอง
เป็นฉัน ฉันก็ไม่เอา ดวงตาคล้อยตามบ้าง ไอ้รักชาตินะก็รักหรอก แต่ใจยังไม่กล้าพอ แหม แกลองคิดดู มันเล่นสาดกระสุนยังกะฝน นึกแล้วเสียว
พวกวีรชนยุคสามสิบปีก่อน เขากล้าจริงๆนะ วิภาวีปรารภขึ้นอีก อาวุธทันสมัยก็ไม่มี ใช้มือเปล่าบ้าง ไม้บ้าง ก้อนอิฐบ้าง ปะทะกับปืนกล แล้วอะไรมันจะเหลือ
ข้อสำคัญคือ พอเห็นเพื่อนๆตาย แทนที่ตัวเองจะถอย กลับหนุนขึ้นไปอีก ทั้งๆที่รู้ว่า จะต้องเอาตัวออกรับลูกปืน ดวงตาเพิ่มเติม
เขาเรียก ตายสิบเกิดแสนจะ ตุลาช่วยเสริม เพิ่มมามหาศาลนับร้อยๆพันๆเท่า จะฆ่าก็ฆ่าไปซิ่ มีปัญญายิงได้หมดก็เชิญ ถ้าไม่กลัวถูกประณาม
ไอ้ตุลมันใช้คำพูดเข้าท่าแฮะ ดวงตาออกจะถูกใจ คิดได้ไงเนี่ย
ภาษิตประจำยุคสมัยเชียวนา นางสาวตุลแสดงภูมิรู้ (อันมีน้อยนิดเต็มที) จำมาจากพ่ออีกทอดหนึ่ง ถ้าพวกแกอยากฟังของจริงหละก็ เย็นนี้ไปนั่งคุยกับพ่อด้วยกันไหม รับรอง ฟังท่านร่ายยาวยี่สิบสี่ชั่วโมงยังไม่จบเลย
เห็นจะไม่หละ สองสหายขอตัวพร้อมกัน วิภาวีออกปากสั้นๆต่อไปว่า คุณลุงแกซีเรียสยังกะนักการเมืองแน่ะ
ก็คุณลุงไวทิตย์แกเป็นญาติวีรชนโดยตรงนี่ เจ้าของประโยคดังกล่าวคือ ดวงตา เออ ไอ้ตุลมันก็ญาติวีรชนด้วย ไม่ต้องสัมภาษณ์ใครแล้วโว้ย สัมภาษณ์ไอ้ตุลมันนี่แหละ คุณตุลาคะ คุณรู้สึกอย่างไรต่อการเสียชีวิตของคุณลุง ช่วยบอกพวกหนูได้ไหมคะ จะนำคำตอบของคุณไปทำรายงานส่งอาจารย์นะคะ
อย่ามัวโอ้เอ้เสียเวลาเลย รีบๆสัมภาษณ์ญาติวีรชนตัวจริงให้เสร็จๆไปเถอะ จะได้ไปเที่ยวกัน หลานสาวคุณลุงผู้กล้าหาญตัดบท
อีกสองสาวที่เหลือต่างพยักหน้ารับรู้และสนองรับฉับพลัน
สำนวนที่ว่า เวลาคือยารักษาบาดแผล นั้น แท้จริง อาจเป็นเพียงถ้อยประโลมหัวใจในยามทุกข์ พอให้ปลุกปลื้มลืมโศกไปได้ชั่วครู่ชั่วยาม หาก ใครเลยจะเลือนลบกลบกลืนรอยมีดรอยดาบปลาบคม ซึ่งเคยกรีดกระหน่ำซ้ำฟันลงในดวงวิญญาณของตนได้เล่า วัน เดือน ปี เคลื่อนคล้อย ช่วยปกร่องปิดรอยมิให้เห็นในสายตาภายนอกของสามัญบุคคล แต่ทุกข์ทนอันท้นทวี ย่อมชอกช้ำชำแรกเร้นอยู่ในเส้นสายโลหิตนิจนิรันดร์มั่นคง
เช่นเดียวกับหญิงชราผู้หนึ่ง ซึ่งตุลาประนมมือไหว้ ดูเผินๆ นางคือยายแก่ๆผู้ไม่ต่างจากคนอื่นๆ รูปร่างท้วม สวมเสื้อคอกระเช้า ใบหน้าสงบราบเรียบ ทว่า ถ้ามีใครสักคนเพียรเพ่งลึกซึ้งลงจนก้นบึ้งของหน่วยตา จะพบแววหมองหม่นเจือปนอยู่ไม่น้อย ผู้หญิงสองคนสองวัย คนหนึ่ง เพิ่งพายเรือลำเล็กออกแม่น้ำอีกคน สำเภาชีวิตล่องไหลผ่านมรสุมแห่งทะเลหลวงมาแล้ว ถูกคลื่นครืนโครมรุมกระแทกโถมกระทบกระเทือนกระทั่งมาหลายรอบฤดูกาล ณ บัดนี้ ฝ่ายแรก กำลังศึกษาจากฝ่ายหลัง แม้โดยไม่จริงจังอะไรก็ตาม
หนูชื่อตุลา เทิดเวทางค์คะ ผู้อ่อนอายุ อ่อนต่อกระแสโลกแนะนำตัว หนูเรียนอยู่มหาวิทยาลัย รามคำแหง คณะรัฐศาสตร์คะ อยากจะขอความกรุณาจากคุณยาย ช่วยสละเวลา ให้ข้อมูลกับหนูสักหน่อยได้ไหมคะ
ไมตรีแรกเริ่มที่เธอได้รับคือรอยยิ้มแย้มเยื้อนอ่อนโยน
ได้ซีลูก หนูอยากรู้อะไร ถามยายได้ทุกอย่าง ยายชื่อสวาทจะ สวาท สว่างบุญ
ไม่ทราบว่า หญิงสาวพยายามเรียบเรียงถ้อยคำอย่างระมัดระวัง คุณยายเป็นญาติของวีรชนท่านใดคะ
ยายเป็นแม่เขาจะ กระแสสำเนียงนั้นเนือยๆ ลูกชายยายชื่อ ตาวัน
ประทานโทษนะคะ ชื่อตะวันใช่ไหมคะ ผู้ถามขอความเชื่อมั่นอีกครั้ง
ตาวันจะ ผู้ตอบย้ำลงน้ำหนักเสียงชัดเจน ก็แปลว่าพระอาทิตย์นั่นแหละ หนูรู้ไหม เมื่อก่อน เราเรียกเจ้าดวงกลมๆโตๆที่ส่องแสง ให้ความอบอุ่นแก่โลกว่า ตาวัน เปรียบว่าท่านเป็นดวงตาเวลากลางวันไงละ ต่อมา เมื่อคนเราพูดเร็วๆเข้า คำ ตาวัน ก็กร่อนสั้นหลงเป็น ตะวัน อย่างที่หนูเรียกเมื่อกี้
ลูกชายคุณยาย เสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์วันมหาวิปโยคคะ
เสียชีวิตจะ ตุลาแน่ใจว่า เธอสัมผัสรอยรันทดจากเสียงของอีกฝ่ายได้จางๆ
หนู ขอแสดงความเสียใจด้วยคะหญิงสาวพึมพำแผ่วๆ
ขอบใจหนูมาก แม่ของตาวันยิ้มเปี่ยมความเอื้อเอ็นดูอีกครั้ง แต่ทั้งๆที่เสียใจ ยายก็ภาคภูมิใจเขานะ เพราะเขาคือหนึ่งในปุ๋ยชีวิตที่โปรยลงในเนื้อดิน เพื่อให้ต้นประชาธิปไตยเติบโต
หนูเองก็มีญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านเสียชีวิตวันนั้นเหมือนกันคะ ตุลาเล่าสั้นๆ
ยายขอสดุดีในวีรกรรมของท่าน และขอฝากความหวังไว้กับหนู หนูคือหน่อแก้วของไม้กล้า อย่าปล่อยให้โลกหมุนโดยไม่คิดจะหมุนโลกละ
แหม! ถ้าให้พ่อมาคุยกับคุณยาย รับรอง สามวันสามคืนก็ยังไหว สาวสมัยใหม่นึกอยู่ในใจ
คราวนี้ ขอทราบความเห็นจากคุณยายบ้างนะคะ คุณยายคิดว่า เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 ส่งผลต่อประชาธิปไตยไทยอย่างไรบ้างคะ เธอตั้งปรัศนีย์ต่อ
มันเป็นหินก้อนใหญ่ โยนลงไปในห้วงน้ำกว้าง ทำให้น้ำไหวแผ่ไปเป็นระลอกคลื่น แต่แล้ว พอคลื่นคลายเกลียว ทุกอย่างก็กลับคืนสู่รูปเดิม
โอ้โฮเฮะ! มาเจอะนักปราชญ์เข้าแล้วหรือไงวะเรา? จะจนมุมไหมน้อ? ตุลเอ๊ย ตุล เข้าใจเลือกคนจริงๆ เอาคำตอบของแกไปเขียนรายงาน รับรองได้จีบวกแหงๆ เถอะน่า ลองคุยกับแกดู เราก็เคยสอบผ่านวิชา PY100 ปรัชญาเบื้องต้นมาแล้วนิ่ ตีความกล้อมๆแกล้มๆไป เดี๋ยวก็เข้าเค้าเองแหละ
คุณยายหมายความว่า ประชาธิปไตยแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยใช่ไหมคะ เอ! วิเคราะห์อย่างนี้ถูกไหมหว่า
ตัวละครอาจเปลี่ยนหน้า แต่บทบาทไม่มีวันเปลี่ยน
หนูขอคำอธิบายเพิ่มเติมได้ไหมคะ คุณยายแกรู้แน่เลย ว่ากำลังสีซอให้ตุลฟัง
ยายขอจาระไนแบบนี้แล้วกัน ตั้งแต่เรามีประชาธิปไตยเป็นต้นมา ก็มีแต่พวกอยากเสวยอำนาจทั้งนั้น ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ผู้นำรัฐบาลแบบ เทวรูปกาลี อยากกินเครื่องเซ่น มีอยู่มิได้ขาด เมื่อมีเจ้าอยากกินเครื่องเซ่น ก็ย่อมมีคนทำพิธีบูชายัณห์ เมื่อมีคนทำพิธีบูชายัณห์ ก็ต้องมีคนคอยหาแพะ เมื่อมีคนคอยหาแพะ ก็ต้องมีแพะรับบาป แล้วยังมีพวกผีพวกสางที่ไม่ได้รับเชิญ เข้ามาร่วมกินเครื่องเซ่นเนืองๆ มันเป็นอย่างนี้วนเวียนไปเรื่อยๆ นี่สรุปให้หนูฟังตามที่ยายคิดนะ คนอื่น เขาอาจคิดต่างจากยายก็ได้ หรือ หากมองในอีกลักษณะ คือมองว่า รัฐบาลทุกยุคกำลังเล่นละครให้เราดู เราก็จะพบ พระเอกในคราบผู้ร้าย ผู้ร้ายในคราบพระเอก ผู้ถูกกระทำย่ำยี ผู้ถูกยายยสี ผู้ชุบมือเปิบเป็นต้น ขอโทษนะจะ ยายทำให้หนูงงหรือเปล่า
ไม่เลยคะ ญาติวีรชนรุ่นหลานรีบสนอง ความรู้สึกของเจ้าตัวในขณะนั้นคือเริ่มทึ่งและศรัทธาคุณยายสวาทขึ้นมาทีละน้อย อะไรบางอย่าง (ซึ่งเธอก็ไม่รู้แน่ชัดว่ามันคือสิ่งใดกันแน่) บอกกับเธอว่า คุณยายมีความน่าสนใจ น่าค้นหาหลายประการและดูเหมือนว่า เธอจะถูกชะตากับแกได้ในเวลาอันไม่นานนัก อาจเป็นเพราะยายมีบุคลิก ตลอดจนคำพูดจาคล้ายๆพ่อกระมัง ที่ทำให้หญิงสาวอยากคุยด้วย โดยไม่คิดเดินจากไปง่ายๆดังความตั้งใจเดิม
แล้วเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ กับวีรบุรุษละคะ มีไหม
มีซีจะ แต่พลังอำนาจไม่เพียงพอจะต่อสู้กับความชั่ว เลยต้องหลบซ่อนอยู่ในที่ลี้ลับ
ถ้าอย่างนั้น ที่มีคนเคยกล่าวว่า ประเทศนี้ คนดีอยู่ไม่ได้ ก็มีส่วนถูกซีคะ
ผิดจะ ไม่ใช่ว่า ประเทศนี้คนดีอยู่ไม่ได้ แต่ประเทศนี้อยู่ไม่ได้หากปราศจากคนดีต่างหาก
แต่คนดีไม่มีอำนาจ แล้วจะทำอย่างไรละคะที่จะให้ความดีของเขาปรากฏ
หนูเคยได้ยินพระบรมราโชวาทของในหลวงไหม
สิ่งสำคัญในการปกครองก็คือ บ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้
ตุลายกมือขึ้นประนมถวายสักการะสูงสุด รำพึงออกมาด้วยดวงใจอันซาบซึ้ง
พระทูนกระหม่อมแก้ว คำนี้ แม่สอนให้เธอพูดทุกครั้ง และทุกคราวที่แม่ขานคำนี้ออกจากริมฝีปาก น้ำตาแห่งความตื้นตันปิติเปี่ยมล้นจะเอ่อซึม ขอให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเถิดเพคะ
หนูนี่เป็นคนเก่งนะ รู้ไหมลูก ยายสวาทชมเชย ใช้ราชาศัพท์ถวายพระพรถูกด้วย
คุณแม่ท่านสอนคะ
น่ารัก หนูเป็นคนน่ารักมาก เวลาเรียกแม่ ใช้สรรพนามว่า ท่าน ไม่เหมือนเด็กอีกหลายคน ยายฟังแล้วหดหู่ จะเรียกพ่อแม่ก็ใช้สรรพนาม เขา หรือไม่ก็ออกเสียงเพี้ยนเป็น เค้า ไอ้เราจะสั่งจะสอนก็ไม่ได้ เขาไม่ใช่ลูกหลานเรา คุณพ่อคุณแม่ของหนูท่านสอนลูกสาวให้มีสัมมาคารวะดีจริง
คุณยายชมหนูเกินไปแล้วคะ ตุลสาวน้อยหัวเราะเขินๆ
ไม่เลยจะ อีกฝ่ายยืนยัน ถ้ายายมีลูกสาว ยายมั่นใจว่า เขาจะต้องเป็นเหมือนหนูนี่แหละ เอ! เดี๋ยว หญิงชราหยุดชะงักไปครู่หนึ่ง คล้ายๆตรึกตรองอะไรบางอย่าง ก่อนจะต่อประโยคที่ค้างไว้ รู้สึกว่า ยายจะเคยเห็นเด็กสาวหน้าตาเหมือนๆกับหนูเมื่อนานมาแล้ว แต่นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก ว่า ชื่ออะไร เธอเป็นเพื่อนสนิทกับลูกชายยายสมัยเมื่อเขายังมีชีวิตอยู่ มาพักอยู่กับยายตั้งเดือนกว่าๆแน่ะ
บังเอิญจังเลยคะคุณยาย ผู้อ่อนวัยร้อง แย้มยิ้มพริ้มเพรามากขึ้น แล้ว ไม่ทราบว่า เพื่อนของคุณตาวันเธอเสียชีวิตด้วยหรือเปล่าคะ
ยายไม่ได้ข่าวเธอเลย น่าเสียดายมาก ถ้าตาวันยังไม่ตาย ยายเชื่อว่า หนุ่มสาวทั้งสองคนคงจะลงเอยเป็นคู่ครองกันแน่เชียว หยุดทอดถอนใจนิดหนึ่งแล้วจึงกล่าวต่อ
ยายเจอคนเหมือนเพื่อนของตาวันแล้ว หวังว่าอีกไม่นานจะเจอคนหน้าตาเหมือนเขาบ้างตอนนี้ เขาทิ้งอนุสรณ์เอาไว้ให้ดู คือจดหมาย จดหมายซึ่งยายพกติดตัวทุกปีที่มางานวันรำลึกวีรชน 14 ตุลา ว่าพลาง หยิบกระดาษเก่าๆแผ่นหนึ่งขึ้นมาอย่างประจง คลี่ออกด้วยอาการทะนุถนอม
นี่ จดหมายของเขา ยายอยากให้หนูอ่าน เจ้าของจดหมายส่งสมบัติอันแสนรักมาให้บุคคลตรงหน้า
หนู หนูไม่กล้าอ่านหรอกคะ นี่เป็นเรื่องส่วนตัวของคุณยาย
อ่านเถอะลูก ยายอยากให้หนูอ่าน แม่ของตาวันย้ำเจตนารมณ์ชัดเจน ดังนั้น ตุลาจึงไล่สายตาตามบรรทัดบนกระดาษอันเหลืองคร่ำ แต่ตัวอักษรยังไม่จางหาย เธอถือว่า อย่างน้อย นี่คือวิชาอันจะเพิ่มเติมให้เธอ มีภาษีดีกว่าเพื่อนๆ ในด้านการนำเสนอบทความต่ออาจารย์
จากการจับใจความคร่าวๆ (อันเนื่องมาแต่ข้อจำกัดเกี่ยวกับเวลาของหญิงสาว) เนื้อหาในจดหมาย กล่าวถึงความผูกพันลึกซึ้ง ระหว่างแม่กับลูกชายที่แม้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังไม่ทิ้งความน่ารัก ชั่งประจบอย่างเด็กๆ สังเกตคำว่า แม่จ๋า ซึ่งเขาใช้หลายแห่งหลายตอน ตุลาอดนึกไม่ได้ว่า นายตาวันจะมีน่าตาเป็นยังไงนะ เออ! คนพูด เอ๊ย เขียนเพราะๆแบบนี้ ไม่น่าจะเป็นชายสูงโย่งน่าเหี้ยม ไว้หนวดไว้เครารกรุงรังเหมือนมหาโจรแน่ๆ แต่จะสะโอดสะองรูปทรงแบบบางสำอางสะอาดหรือเปล่าก็ไม่รู้ซี เฮ้ย! นั่นมันพระเอกลิเกแบบชัยยามิตรชัยนี่นา ไม่น่าใช่แฮะ หรือว่า รูปร่างเขาจะออกล่ำๆข้อลำหนา ใบหน้าเข้มคม แววตาดุนิดๆ แต่เวลาอยู่ในภวังค์ก็อ่อนโยนละมุนละไมได้เหมือนกัน บ้า! บ้าใหญ่แล้วไงละไอ้ตุล ถึงยังไง นายตาวันตัวจริงก็ไม่มีวันปรากฏตัวให้เห็นได้หรอก หยุดเพ้อเจ้อ แล้วส่งจดหมายคืนคุณยายเสียที เธอเตือนตัวเอง ก่อนส่งแผ่นกระดาษอันเป็นเครื่องเตือนระลึกถึงชายผู้ล่วงลับ กลับไปสู่มือมารดาของเขา
หนูกราบขอบพระคุณคุณยายมากค่ะ ที่กรุณาให้ความรู้ สาววัยรุ่นกล่าวอย่างสุภาพ หนูรบกวนคุณยายมากแล้ว ขออนุญาตกราบลาคุณยายไปก่อนนะคะ พอดีนัดกับเพื่อนๆไว้ค่ะ
โชคดีจ่ะหนู ผู้อาวุโสกว่าอำนวยพรสั้นๆ และนั่นคือประโยคสุดท้ายของการสนทนา ตุลาเดินมาพบดวงตากับวิภาวีซึ่งรออยู่ก่อนแล้ว สองคนนั่นดูจะใจจดใจจ่อกับเรื่องเดินเที่ยวกว่าหล่อนเสียอีก สามสาวเดินคุยกันมาจนถึงประตูทางออกจากมหาวิทยาลัย ขณะนั้นเอง เสียงหนึ่งก็ร้องเรียกมาจากข้างหน้า
ตุล แหม ดีใจจังที่เจอ ทั้งสามหันไปมอง แล้วตุลาก็เผลอหลุดปากครางออกมาด้วยความละเหี่ยใจ
นายเต้
ฉากต่อไป ผมกะจะให้นายเต้นี่แหละครับ ทำใจใหญ่ พาตุลากับเพื่อนไปเลี้ยง ตุลาน่ะเอือมแสนเอือม แต่ดวงตากับวิภาวีแอบกระซิบว่า กินฟรีโว้ย ไอ้ตุล กินฟรี ไม่เอาหรือไงวะ เธอก็เลยต้องไปกับเพื่อนๆด้วย หญิงสาวทั้งสองคนนั่นถล่มนายเต้จนแทบกระเป๋าฉีก ก่อนจะชวนกันกลับมาลงเรือข้ามฟาก ปัญหาก็เกิดตรง หากผมจะเขียนจริงๆ ผมต้องรู้ที่เที่ยวแถวท่าพระจันทร์อย่างละเอียดยิบ ผมเคยไปเดินแถวนั้นเหมือนกันครับ ทว่าเดินเฉพาะสถานที่ที่ต้องการจะไปเท่านั้นเอง เรื่องตุลาตาวันเลยทิ้งค้างไว้เพียงนี้
ดังนั้น ผมจึงมากราบขอความกรุณาเพื่อนๆทุกท่าน โปรดเมตตาต่อนวนิยายสงเคราะห์ตราชูบ้างเถิดครับ ต่อกันตามสบาย ตามวิธีที่แต่ละท่านถนัด อย่างไรก็ได้ทั้งนั้นครับ ยาวเท่าไรก็ได้ครับ ถือเป็นการช่วยคิดช่วยเขียน ถือเป็นดวงเทียนที่ช่วยเติมโลกมืดมิดของผมให้สว่างไสวขึ้นมา ด้วยแรงแห่งกรุณาของทุกท่านครับผม