19 พฤษภาคม 2549 08:52 น.
ตราชู
คราวนี้ก็ขออนุญาตเล่าว่า ผมเขียนกลอน และนำกลอนมาลงที่เวปไซต์ได้อย่างไรครับ ทั้งนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า คนตาบอดกับคนสายตาปกตินั้น แท้จริงเราไม่ได้อยู่ไกลกันเลย
เริ่มต้นจากการรับรู้อรรถรสบทกลอนก่อนนะครับ ดังได้กล่าวมาแล้วในกระทู้ก่อนหน้านี้ ผมอ่านหนังสือ (จะพูดให้ถูกก็คือ ฟัง) จากห้องสมุดคนตาบอด ๒ แห่งครับ คือ ห้องสมุดคอลฟิลด์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ อ. ปากเกร็ด นนทบุรี อยากยืมเรื่องไหน โทรศัพท์ไปขอแล้วเขาก็จะส่งมาทางไปรษณีย์ครับ แห่งที่สองคือ ห้องสมุดคนตาบอดแห่งชาติ ตั้งอยู่ ณ อาคารชั้น ๒ ของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยครับ ที่นี่มีบริการทำสำเนาแถบเสียง สำเนาแผ่นซีดีให้ด้วยครับ
ผมเนี่ยทำสำเนาเป็นว่าเล่นเลย หนังสือกวีนิพนธ์ซึ่งห้องสมุดคนตาบอดแห่งชาติมีให้บริการ ผมจะต้องเก็บเป็นสมบัติส่วนตัวให้ได้ เสียค่าสำเนา ๕๐ บาท ต่อ ๑ แผ่นครับ คุ้มจริงๆ ได้มานั่งฟัง นอนฟัง ฟังแล้วฟังอีก นี่คือข้อเฉลยว่า คนตาบอดรับรู้รสจากวรรณกรรมได้อย่างไร พวกเราทำเช่นนี้ทุกคนครับ
ส่วนที่ว่า คุณน้าท่านอ่านให้ฟังนั้น ท่านจะใช้วิธีอ่านวันละบทสองบทครับ พอผมถูกใจบทไหนก็จะอ้อนท่าน น้า บอกผมจดด้วยครับ แล้วท่านก็จะบอกจด แถมสะกดคำที่ผมสงสัยให้ด้วย พอจดเป็นอักษรเบรลล์แล้ว ก็สนุกซีครับ ผมมีสมุดจดบทกวีซึ่งจะวางไว้ใกล้ที่นอนเป็นประจำ ผมเรียกว่า สมุดข้างหมอน ครับ อ่านเช้าอ่านเย็น อ่านก่อนนอนทุกคืน เรียกได้ว่า คืนไหนไม่ได้อ่านบทกวี ก็หงุดหงิดเป็นบ้าเลยครับ
จากการทั้งอ่านทั้งฟัง ก็ทำให้ผมจับจังหวะของการวางคำในฉันทลักษณ์แต่ละประเภทได้ ทำนองเดียวกับเพื่อนๆผมที่เป็นนักดนตรี สามารถจำวิธีเล่นเพลงต่างๆ และนำไปเล่นได้ชนิดเหมือนต้นฉบับ นั่นแหละครับ ขอยืนยันว่า กวีนิพนธ์เป็นศาสตร์แห่งการฟัง และทุกคน สามารถเขียนบทร้อยกรองได้ครับ
อีกประการหนึ่ง ภาษาไทยเราเป็นภาษาดนตรีอยู่ด้วย ฉะนั้น การหัดผันเสียง เล่นกับระดับเสียงสูง ต่ำ หรือเล่นกับเสียง หนัก เบา จะว่าไปก็เหมือนเรานั่งแกะลีลาของดนตรีนั่นเอง ถ้าท่านสังเกตร้อยกรองของผม ท่านจะพบว่า ผมให้ความสำคัญกับแบบแผนมาก เพราะฟังด้วยหูแล้ว เห็นว่า โบราณาจารย์ท่านวางระดับเสียงขึ้น ลง ของแต่ละวรรคได้เหมาะสมยิ่ง พอไต่ระดับเสียงในหูจนชิน เราเขียนผิดหรือไม่ ใช้วิธีฮำทำนองในใจดูก็รู้ได้แล้วครับ หรือจะอ่านทำนองเสนาะหลังเขียนเสร็จก็ได้เช่นกัน
ทีนี้มาถึงวิธีพิมพ์ลงเวปบ้างนะครับ เวลาผมเขียนร้อยกรองทุกครั้ง จะเขียนด้วยเสลด (slade) อันเป็นเครื่องมือเขียนอักษรเบรลล์ เสียก่อน จากนั้นก็ลงมือพิมพ์ การพิมพ์ดีดของคนตาบอดเรา ใช้วิธีท่องจำแป้นทุกแถวให้ได้ครับ แล้วก้าวนิ้วขึ้นลงจนไม่ติดขัด (ข้อนี้มิใช่เรืองแปลกเลย พวกเราได้เรียนวิชาพิมพ์ดีดสัมผัสมาตั้งแต่มัธยมต้นแล้วครับ) สำหรับคอมพิวเตอร์ เรามีโปรแกรมสังเคราะเสียงช่วย ถ้ากดตัวอักษรตัวไหน มันก็จะเปล่งเสียงออกมาให้เราทราบ เช่นกดตัว ก ลงไป มันก็จะขาน กอ ไก่ ดังนี้เป็นต้น ทำให้เรารู้ได้ว่า พิมพ์ผิดหรือเปล่า ผิดตัวไหนก็กดปุ่ม back space กลับมาลบครับ
โปรดดูรายละเอียดเรื่อง การใช้คอมพิวเตอร์ของคนตาบอดได้ที่
http://psatansat.exteen.com/20060423/entry
และจาก
http://psatansat.exteen.com/20060430/entry
เพื่อพิสูจน์อีกครั้งว่า ทุกสิ่งที่ผมเล่าเป็นความจริง ผมขออนุญาตนำ บทความของ คุณปาจารีย์ พวงศรี จากเวปไซต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มาลงไว้เป็นภาคผนวกด้วยครับ
เส้นทางพัฒนาสังคมไอที แด่ผู้พิการ ทางสายตา
ไม่มองจึงมองไม่เห็น แม้เป็นเปลวแดดแผดเปรี้ยง
เอียงลำจึงตั้งลำเอียง ไม่เที่ยงไม่คงตรงทาง
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทประพันธ์ชื่อ สิทธิ์เราเท่าเทียม ที่ลงใน
http://chu21.exteen.com
บล็อก (blog) ส่วนตัวของ ชูพงศ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ กวีผู้พิการทางสายตาที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็น ของเล่น ชิ้นหนึ่งในการผ่อนคลายความเครียด
ชูพงศ์ เล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มมีบล็อกของตัวเองตั้งแต่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยส่วนตัวชอบบทร้อยกรองและเขียนเล่นมาหลายปีแล้ว และได้เอามาลงไว้ในบล็อกราว 50-60
บท คาดว่าคงมีคนเข้ามาอ่านมาก เพราะเปิดบล็อกได้เดือนกว่าก็มีจำนวนผู้เยี่ยมชมราว 1,000 คน แต่ไม่ค่อยมีคนติชมผลงานหรือแสดงความคิดเห็นเท่าไรนัก ถ้ามีคนเข้ามาอ่านแล้วคอมเมนท์ผมน้อย
ผมก็จะน้อยใจ เพราะผมอยากให้รู้ว่าคนตาบอดคิดอย่างไร เข้ามาดูแล้วคิดเหมือนหรือต่างอย่างไร แลกเปลี่ยนความคิดกัน ผมจะได้นำไปพัฒนาต่อ
บล็อกของกวีผู้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกมืดผู้นี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งซึ่งอาจทำให้หลายคนแปลกใจกับการที่คนตาบอดมีเว็บเพจเป็นของตัวเอง แม้ในความจริงแล้วนับเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อความเพลิดเพลิน
หาความรู้ หรือส่งข่าวสาร มาตั้งแต่ยุค DOS แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตได้ง่ายดายนัก เพราะท่ามกลางสังคมที่มีกฎหมายระบุถึงความเท่าเทียม
และอ้างคำว่า น้ำใจ กันอย่างทั่วหน้านั้น ยังมีประตูที่ปิดล็อกอีกหลายบานขวางกั้นอยู่
ไปรเวท สทานสัตย์ เจ้าหน้าที่โครงการวิทยุบนอินเทอร์เน็ต สถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ซึ่งตาบอดแต่กำเนิดเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนผู้พิการทางสายตาอาจเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ไม่มากนัก
แต่เมื่อมีโปรแกรม Text to Speech ภาษาไทยมาใช้คู่กับโปรแกรม Screen Reader หรือโปรแกรมอ่านหน้าจอของต่างประเทศก็ทำให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
แต่สำหรับปัญหาที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาไม่สามารถท่องโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่ในทุกวันนี้นั้น นอกเหนือจากค่าลิขสิทธิ์ของโปรแกรมอ่านหน้าจอที่มีราคาแพงแล้ว
เจ้าหน้าที่โครงการวิทยุบนอินเทอร์เน็ต ยังอธิบายว่า มีสาเหตุมาจากการที่เว็บไซต์ส่วนใหญ่มักมีไม่มีคำอธิบายรูปว่ารูปนั้นคืออะไร หรือบางเว็บใช้แฟลชในการพัฒนา
ซึ่งโปรแกรมอ่านหน้าจอ ไม่สามารถอ่านข้อความจากเว็บประเภทนี้ได้อย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ คนตาบอดยังไม่สามารถอ่านข้อมูลในเว็บที่มีการแชตออนไลน์ได้ เนื่องจากมีการรีเฟรชเร็วเกินไป
รวมถึงเว็บที่ไม่มีลักษณะของการช่วยเหลือในการเข้าถึง เช่น ไม่มี link "skip navigation" หรือไม่มี stylesheet สำหรับการเปลี่ยนรูปแบบของหน้า เช่นการปรับสีหรือขยายอักษรให้ใหญ่
สำหรับคนสายตารางเลือน เป็นต้น
ทุกวันนี้ มีเว็บไซต์ประเภทที่ว่าเยอะมาก เหมือนกับคนไทยไม่สนใจว่าจะพัฒนาเว็บอย่างไรให้คนพิการใช้ได้สะดวก เน้นเรื่องความสวยงามกันอย่างเดียว แม้จะมีคู่มือในการทำเว็บให้ได้มาตรฐานก็เป็นภาษาอังกฤษ
แต่ก็มีคนบอกว่าขี้เกียจศึกษา มันยาก ไปรเวท กล่าว
ในส่วนนี้ อาจารย์วันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
หรือเนคเทค กล่าวว่า เนคเทคมีความพยายามเผยแพร่และส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานโดยเฉพาะภาครัฐให้มีการสร้าง Web Accessibility คือ เป็นเว็บไซต์ที่สามารถให้บริการข้อมูลข่าวสารที่อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการสามารถใช้บริการได้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว
แต่ที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ในขณะที่สิงคโปร์ทำเพียง 2 ปี ก็ก้าวหน้าไปกว่า 70% แล้ว
ทั้งนี้ เนคเทคได้พยายามอำนวยความสะดวกโดยแปลหลักและวิธีการสร้าง Web Accessibility จากเอกสารของ World Wide Web Consortium หรือ W3C (
www.w3.org)
มาแสดงไว้ใน
http://astec.nectec.or.th/atc
เพื่อให้ผู้พัฒนาเว็บไซต์ได้ศึกษาและทำความเข้าใจ โดยหลักทั่วไปของการสร้างเว็บให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงได้ก็คือ การทำให้เว็บไซต์ตอบสนองต่อการทำงานของโปรแกรม
Screen Reader ที่อ่านจากซ้ายไปขวานั่นเอง ส่วนกรณีรูปภาพ ที่โปรแกรมอ่านได้เพียงว่าเป็น image w3c ก็มีคำแนะนำให้ผู้พัฒนาเว็บไซต์เพิ่มคำอธิบายว่าเป็นรูปอะไร
รวมถึงไอคอน และลิงค์ต่างๆ ด้วย ไม่ใช่การใส่ข้อความสั้นๆ เพียง คลิกที่นี่ แต่ควรบอกปลายทางให้ชัดเจนว่าจะลิงค์ไปที่ไหน เป็นต้น และถ้าหากสงสัยว่าเว็บไซต์ของตนเป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้หรือไม่ก็สามารถตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือที่ให้บริการฟรีบนอินเทอร์เน็ตได้
เช่น CynthiaSays โดยบริษัท Hisofware, Accessibility Valet โดยบริษัท Web Thing หรือ Bobby โดยบริษัท Watchfire ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้เว็บไซต์ไทยก็ยังคงให้ความสำคัญกับความสวยงามมากกว่าการเข้าถึงอยู่เช่นเดิม มณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลแก่
IT Digest ว่า ทุกวันนี้มีเว็บไซต์ถึงกว่า 90% ที่ไม่เป็นมิตรต่อคนพิการและไม่ได้มาตรฐานสากลของ W3C และโดยส่วนตัวคิดว่า ถ้าทุกเว็บไซต์ทำตามคำแนะนำเกี่ยวกับการเป็น
Web Accessibility ก็จะสามารถเพิ่มกลุ่มเป้าหมายได้อีกมาก และไม่ได้เป็นอันตรายกับใครเลย ตรงข้ามกับการเขียนเว็บไซต์ที่ใช้เป็น frame ซึ่งง่ายตอนเขียน แต่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ใช้หลายคน
ดังนั้น การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้หรือ Accessible จึงเป็นสิ่งที่งดงามและยังช่วยให้ช่องว่างในการเรียนรู้ลดลงอีกด้วย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 วรรค 3 บัญญัติไว้ว่า "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง ถิ่นกำเนิด
เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะบุคคล ... จะกระทำมิได้" และมาตรา 55 ที่ว่า "บุคคลซึ่งพิการหรือ ทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก
อันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
ณ วันนี้ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้อย่างไร จะเห็นผลในทางปฏิบัติหรือไม่ อาจไม่สำคัญไปกว่า น้ำใจ ที่คนไทยอวดอ้างกันมาช้านาน และคำถามก็คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะแบ่งปันน้ำใจเล็กๆ
น้อยๆ สละเศษเสี้ยวเวลามาศึกษาการสร้างเว็บไซต์เพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย เพื่อให้เพื่อนร่วมแผ่นดินของเราสามารถเข้าถึงสังคมไอทีได้อย่างเท่าเทียม...
ปาจารีย์ พวงศรี
http://www.thairath.co.th/news.php?section=technology03a&content=5661
นี่คือสิ่งที่ผมสามารถตอบได้ในขณะนี้ครับ ส่วนคำถามอื่นๆซึ่งผมอาจยังกล่าวไม่กระจ่างชัด เพื่อนๆถามตราชูได้เลยครับ ขอยืนยันอีกครั้งครับว่า อาชีพใด หรือกิจกรรมใดที่ไม่ต้องใช้สายตาเป็นองค์ประกอบสำคัญ คนตาบอดเราทำได้ทั้งนั้นครับ
ด้วยความเคารพรักเพื่อนๆทุกท่านครับ
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ
_________________________________
18 พฤษภาคม 2549 16:36 น.
ตราชู
เพื่อนๆครับ ผมขออนุญาตรายงานตัวอย่างเป็นทางการเสียทีนะครับ หวังว่าจะได้เพื่อนเพิ่มครับ ความจริงล้วนๆเลยครับ ท่านตรวจสอบได้คำต่อคำที่
http://chu21.exteen.com
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ เป็นชื่อจริงนามสกุลจริงครับ เกิด ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ วันอาทิตย์ เนื่องจากคลอดก่อนกำหนด จึงโดนยัดตู้อบเป็นเวลาประมาณสองถึงสามเดือน
ผลคือ ตาบอดครับ ตอนแรกๆ ขึ้นไปอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ท่านที่จังหวัดอุดรธานีได้สักพัก ก็มาอยู่กรุงเทพกับคุณยาย
เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ (ก็ที่ถนนราชวิถีนั่นไงครับ) เมื่อปี ๒๕๒๖ จบมัธยมสามแล้วเรียนต่อโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัยอีกสามปี
แล้วก็เอ็นทรานส์ไม่ติด จึงก้าวเข้าสู่ รั้วน้ำเงินทอง ร่มฝ้ายคำ รามคำแหง อย่างภาคภูมิ
จบปริญญาตรี (ศิลปศาสตร์บัณฑิต เอกภาษาไทย)เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ครับ เข้ารับพระราชทานปริญญาจากพระหัตถ์องค์สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษจิกา ในปีนั้น
หนังสือเล่มโปรด (ได้ฟังจากห้องสมุดคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด, ห้องสมุดคนตาบอดแห่งชาติ, และคุณน้าอ่านให้ฟัง)
ประเภทวรรณคดี กวีนิพนธ์ (นี่แหละ ชีวิตผมหละ)
โคลง ได้แก่ โคลงนิราศนรินทร์ ของท่านนรินทร์ธิเบศร์ (อินทร์) ชักม้าชมเมือง ของท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อาทิตย์ถึงจันทร์ ของท่านเนาวรัตน์ฯ
เช่นกัน
ฉันท์ ได้แก่ สามัคคีเภทคำฉันท์ ของ ท่านชิต บุรทัต อิลราชคำฉันท์ ของท่านพญาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์) มหารัตนพิมพวงศ์คำฉันท์ ของ ท่านอาจารย์ชูชาติ ชุ่มสนิท
กาพย์ ได้แก่ กาพย์พระชัยสุริยา ของท่านสุนทรภู่
กลอน ได้แก่ บทละครในเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน กลอนบทละครเรื่อง เงาะป่า พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุฬจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ร่าย ได้แก่ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์
ลิลิต ได้แก่ ลิลิตพระลอ (ยังมิอาจระบุผู้นิพนธ์ได้แน่ชัด) ลิลิตเตลงพ่าย พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ลิลิตภควตี
ของ ท่านวันเพ็ญ เซ็นตระกูล
กวีนิพนธ์ร่วมสมัยอื่นๆ
คำหยาด, เพียงความเคลื่อนไหว, เขียนแผ่นดิน ของท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย ของ ท่านทวีปวร
ขอบฟ้าขลิบทอง ของ ท่านอุชเชนี
นาฏกรรมบนลานกว้าง, จตุรงคมาลา ของ ท่านคมทวน คันธนู
ใบไม้ที่หายไป ของ ท่านจิรนันท์ พิตปรีชา
ม้าก้านกล้วย, ฤดีกาล ของ ท่านไพวรินทร์ ขาวงาม
หนึ่งทรายมณี, สร้อยสันติภาพ ของ ท่านศิวกานท์ ปทุมสูติ
ดาวประดับราตรี ของ ท่านประยอม ซองทอง
ทะเล ป่าภู และเพิงพัก ของ ท่านพนม นันทพฤกษ์
ที่เอ่ยนามมานี้ คือหนังสือซึ่งได้ฟังแล้วจนจบ หรือเกือบจบ ส่วนที่มีไว้ในครอบครอง แต่ยังมิมีโอกาสอ่าน ก็อีกจำนวนหนึ่ง
นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ได้แก่ ผู้ชนะสิบทิศ ของท่านยาขอบ
บางระจัน, สำเภาล่ม ของ ท่านไม้ เมืองเดิม
สี่แผ่นดิน ของ ท่านคึกฤทธิ์ ปราโมช
ศิวาราตรี ของ ท่านพนมเทียน
นายขนมต้ม ของ ท่านคมทวน คันธนู
สายโลหิต ของ ท่านโสภาคย์ สุวรรณ
นวนิยายผจญภัย ได้แก่
เพชรพระอุมา (ภาค ๑) ของ ท่านพนมเทียน
ล่องไพร (ทั้งชุด) ของ ท่านน้อย อินทนน
นวนิยายชีวิต ได้แก่
แผ่นดินของเรา, ทุ่งมหาราช ของ ท่านมาลัย ชูพินิจ (เรื่องแรก ในนามปากกา แม่อนงค์ เรื่องสอง ในนามปากกา เรียมเอง
ขอจบภาคนี้เพียงนี้ก่อนครับ เดี๋ยวเพื่อนๆรำคาญ ผมจะแย่เอา
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ
18 พฤษภาคม 2549 10:01 น.
ตราชู
ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ตอนนี้ ผมกำลังขวนขวายหาบทกวีนิพนธ์ดีๆมาสะสมเก็บไว้เพื่อเพิ่มความรู้ให้ตัวเองตลอดเวลาครับ ท่านคมทวน คันธนู เป็นกวีอีกท่านหนึ่งซึ่งผมบูชา หนังสือของท่าน (กล่าวเฉพาะบทกวี) ที่ผมมีไว้ก็ได้แก่
นาฏกรรมบนลานกว้าง, ซับทรวงเป็นสรวงสร้อย, เรียงถ้อยขึ้นร้อยถัก, กฎบนกลบท, จตุรงคมาลา
ทีนี้ก็เกิดปัญหาสิครับ ตรงที่ผมอยากได้ รุ้งสายอันรายสรวง สืบค้นจากเวปไซท์หอสมุดแห่งชาติระบุว่า บริษัทต้นอ้อแกรมมี่จัดพิมพ์ ผมจึงโทรศัพท์ไปแกรมมี่ได้ความว่า ต้นอ้อ ไม่ได้อยู่ในเครือของบริษัทแล้ว อ้าววววววววววววว! ผมแห้วเลยครับงานนี้
จึงมาขอความกรุณาทุกท่านที่นี่ครับ หากท่านใดมี รุ้งสายอันรายสรวง ของ ท่านคมทวน คันธนู ไว้ในครอบครอง โปรดบอกผมด้วยครับว่าที่ไหนมีขาย ผมขอกราบขอบพระคุณครับ
ด้วยความเคารพยิ่ง
ตราชู
17 พฤษภาคม 2549 13:19 น.
ตราชู
ขอตั้งกระทู้การเมืองอีกสักกระทู้หนึ่งเถิดครับ ผมอึดอัดใจจริงๆ
คราวนี้ ผมขอฝากถึง ไทยรักไทย
กับ ประชาธิปัตย์ บ้างครับ ไม่รู้จะฟัดกันไปถึงไหน ต่างฝ่ายต่างใส่ร้ายกันไปมาเกี่ยวกับการจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง จะว่าไป สองพรรคนี่ก็เป็นอุปสรรคถ่วงชาติไม่ให้เดินพอๆกันแหละครับ
สุวาน
โคลงกระทู้ คนชิงหมาเกิด
คน เลวเลวกว่าแร้ง รุงรัง
ชิง ช่วงชวนชิงชัง ชั่วช้า
หมา มารพล่านนุงนัง หนักหน่วง
เกิด เล่ห์กาลีหล้า ก่อล้นกลหลาม
ยานี ๑๑
ยิ่งหืน ยิ่งหื่นหือ
ยิ่งล้วนสื่อสิ่งเลวทราม
ยิ่งลวง ยิ่งล่วงลาม
ยิ่งเหลือหลายลวดลายโลน
สืบพ้อง พวกสองพรรค
มาดหมายจักมุ่งจู่โจน
สองผัน สองพลันโผน
คือสองผีบัดสีพูน
ยิ่งหั่น ยิ่งหันเหียน
กล่นอาเกียรณ์เกลื่อนอากูล
รังสีเสรีสูญ
ด้วยรังสีราคีสุม
ปีจอ ปีจ่อจัด
จึงหมากัด จึงหมากุม
หมาร้ายมั่วรายรุม
ยังเหิมเร้า ยังเห่าเรียง
ย้ำรุก ถึงยุคร้าย
ความหยาบคายคอยอยู่เคียง
ทุ่มถ้อยเท็จถ่อยเถียง
ทับถีบถมเพียงล่มไทย
โปรดหยุด โปรดยุดยั้ง
อย่าจีรังอย่างจังไร
เมามาย หยุดได้ไหม
หยุดสามานย์ เพื่อบ้านเมือง
(๑๕ พ.ค. ๒๕๔๙)
17 พฤษภาคม 2549 11:32 น.
ตราชู
น่าไม่อาย
สยามมณีฉันท์ ๘ กลบทระลอกคลื่นระรื่นเคลื่อน
อสูรอุบัติอสัตย์อุบาทว์
ฉกรรจ์ขยาดฉกาจขยาย
ฉลาดภิเปรยเฉลยภิปราย
มิมีจะอายมุหมายจะเอา
ก็กูมิผิดกะกิจมิผัน
สนุก ณ พรรค์สนั่น ณ เผ่า
ประดังมุสาประดามิเซา
แน่ะยังระเร่า ณ เหย้าระเริง
แคะดูก็ชี้คดีก็ชั่ว
ประเทศสลัวเปรอะทั่วซิ่เหลิง
เพราะเกียรติถกลเพราะก่นเถกิง
ระรี่กระเจิงระเริงกระจุย
ผงกซะเนิ่นพะเงินสนอง
คระไลฉลองคระลองฉลุย
ประแจงตลบประจบตะลุย
จะขุดจะคุ้ย จะคุยจะคง
ก็กูมิผิดกะกิจมิพ่าย
ระเรียงเลอะหลายระรายและหลง
กะยืนถนัดกะหยัดทะนง
เพราะลืมพะวง เพราะหลงภวังค์
ระโยงจะย้ำระยำจะย้อม
ละเลงซะพร้อมละล้อมสะพรั่ง
อุรามิใฝ่ อะไรมิฟัง
ก็ยืนกระทั่ง ก็ยังกระทำ
ประทุกกิเลสประเทศก็ล่ม
ละลายถล่มแหละล้มถลำ
ทุภัยประจานทุพาลประจำ
ฉะนี้จะนำฉนำจะนาน
(๑๓ พ.ค. พ.ศ. ๒๕๔๙)
หมายเหตุ
สยามมณีฉันท์ ๘ นี้ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ทรงคิดขึ้นใช้ ส่วนกลบทชื่อ ระลอกคลื่นระรื่นเคลื่อน นั้น ผมพบตัวอย่างและรูปแบบในหนังสือ กฎบนกลบทรจนาโดย ท่านคมทวน คันธนู
_______________________