31 พฤษภาคม 2549 10:25 น.
ตราชู
ผมตั้งกระทู้นี้ขึ้น เมื่อนึกถึงวาจาของท่านนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ขึ้นมาได้ ท่านเคยกล่าวไว้ว่า แนวทางในการพัฒนาวงดนตรีคนตาบอดนั้น ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ จะต้องเล่นเพลงให้ได้ทุกแนว เมื่อมีผู้เรียกร้อง ก็จะต้องตามใจผู้ฟังทุกกลุ่ม ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับท่านครับ แล้วหวนกระหวัดคิดมาถึงการเขียนงานของตนเอง
ผมอุปมาละม้ายวนิพกกำลังร้องเพลงบำเรอทุกท่าน การที่ท่านเข้ามาเยี่ยมชม มีค่ากว่าทานใดๆทั้งสิ้น แต่การที่วนิพกคนนี้จะร้องเพลงต่อไป ต่อไปได้นั้น ก็ใคร่เรียนถามทุกท่านก่อนว่า เพลงที่ร้องไปแล้วเป็นเช่นไร และท่านผู้ฟังอยากฟังเพลงอะไรบ้าง วนิพกก็พร้อมจะตามใจทุกท่านเสมอครับ เพื่อจะได้มีคนชมผลงานนานๆ
ผมเพิ่งมาอาศัยบ้านเรือนไทยไม่ถึงกึ่งเดือน ฉะนั้น ธรรมเนียม ประเพณีที่นี่เป็นเช่นไรจึงยังไม่แจ่มแจ้ง ผมกลัวจะทำผิดใจท่านผู้อ่าน จึงอยากทราบว่า ร้อยกรองของตราชูควรพัฒนาไปในแนวไหน ขอได้โปรดให้ความเห็นผมด้วยครับ
รักและเคารพเพื่อนๆเสมอครับ
จากใจวนิพก ตราชู
30 พฤษภาคม 2549 08:29 น.
ตราชู
เรื่องนี้เป็นความตั้งใจของผม โดยตั้งต้นจากความคิดที่ว่า สาเหตุหนึ่งที่บ้านเมืองเราพัฒนาไปอย่างอืดอาด เพราะกระทรวงต่างๆ ไม่ทำหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะเกิดจากอะไรก็แล้วแต่เถอะ ทว่าผลลัพธ์ก็คือ ประเทศของเรานับวันนับวันยิ่งน่าหดหู่ ประชาชนจนลงจนลง ผมจึงหมายใจจะเขียนร้อยกรอง ๑ ชุดใหญ่ๆ วิธีเขียน คือนำกระทรวงต่างๆของทางภาครัฐ (ซึ่งผมก็ยังนับไม่ครบเลยครับ ว่ามีเท่าไหร่กันแน่) มาเขียนเชิงวิจารณ์กึ่งเสนอความเห็น ร้อยกรองเหล่านี้จะใช้คำประพันธ์ต่างกัน และร้อยสัมผัสถึงกันเป็นลูกโซ่
ทีนี้อุปสรรคสำคัญก็คือ ผมปรารถนาจะดำเนินความโดยใช้ตราสัญลักษณ์ประจำกระทรวงนั้นๆมาเป็นสื่อ แต่ผมยังไม่รู้เลยครับว่า กระทรวงใด ใช้ตราสัญลักษณ์อะไร และรับผิดชอบเรื่องใดของประเทศชาติบ้าง จึงมาขอความกรุณาทุกท่านที่นี่ช่วยแนะนำเวปไซท์ที่มีข้อมูลเหล่านี้ให้ผมด้วยครับ เพื่อที่ผมจะได้ไปค้นคว้า เก็บกว้านมาให้มากที่สุด เพราะหากเขียนพลาด ผมโดนเหยียบแน่ครับ แค่นี้ก็เสี่ยงเข้าคุกแล้ว
เอาเถิดครับ อะไรจะเกิดขึ้น ผมถือว่า ผมทำไปเพราะต้องการเห็นประเทศเราจำเริญรุดไปเร็วกว่าที่เป็นอยู่นี่ เป็นเสียงสะท้อนจากคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งรักชาติด้วยชีวิต ด้วยจิตวิญญาณอย่างแท้จริง ผมยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเริ่มงานนี้เมื่อไร แหละจะสำเร็จวันไหน รู้เพียงว่าเป็นงานยากมาก ต้องค่อยๆคิด ค่อยๆทำทีละน้อยๆ เหมือนนกสร้างรังนั่นแหละครับ เพื่อนๆช่วยเป็นกำลังใจให้ตราชูด้วยครับ แหละหากผมติดตารางขึ้นมา คงจะมีเพื่อนๆสละเวลาไปเยี่ยมกันบ้าง จะได้คุยกันผ่านทางเสียง แม้มิได้เห็นหน้ากัน ก็อบอุ่นครับ
รักเพื่อนๆทุกท่านเสมอครับ
ตราชู
29 พฤษภาคม 2549 16:13 น.
ตราชู
ผมประจักษ์เสมอเมื่อเสพงานกวีนิพนธ์ ตลอดจนงานศิลปะแขนงอื่นๆ ว่า ธรรมชาติเป็นผู้หยิบยื่นความงามสู่มนุษย์ ฉะนั้น ความผ่องผุดเพริศพรายซึ่งเจียระไนในอารมณ์ ก็แล้วล้วนบ่มจากธรรมชาติทั้งสิ้น ผมสังเกต (ด้วยตัวเองนะครับ) ว่า กวีหรือนักกลอนที่ท่านมีความผูกพันกับบรรยากาศประจำถิ่น หรือสิ่งแวดล้อมอันบริสุทธิ์ ท่านจะรจนาร้อยกรองได้งามงดชดช้อยย้อยหยาดพิลาสล้ำ ด้วยความดื่มด่ำจากหัวใจแท้จริงท่าน
ผมนี่ถือว่ากรรมบันดาลจริงๆ ตาบอดเสียอย่างเดียว เป็นอันปิดทวารการเห็นเสียหมด ถึงได้รับรสธรรมชาติผ่านบทกวี ทว่ามิได้เห็นของจริง จึงไม่อาจวาดภาพในมโนสำนึกได้แจ่มแจ้ง กระทั่งเมื่อเขียนร้อยกรอง ท่านผู้อ่านจะพบว่า งานของผมเป็นภาพนิ่ง ขาดความผันพลิ้วลิ่วเลื่อนเคลื่อนไหวไร้นาฏลีลา นี่แหละครับคือทางตันและจุดอันตรายของผมหละ
อีกประการหนึ่ง สังคมเมืองกั้นกักเราให้อยู่กับสำนักงาน อยู่กับตึกทึบๆ อยู่กับมลพิษ ยิ่งนานก็ยิ่งล้า ผมจึงมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนกผกผิน ตระเวนไปตามท้องถิ่นต่างๆ อยากไปนอนในไร่ ไปเที่ยวทุ่งนา ไปชมป่าเขาลำเนาธาร หลับไปท่ามกลางเสียงจักจั่นเรไร กลิ่นหอมของดอกไม้ ดวงดาวแม้จะอยู่ไกล หาก ก็ส่องแสงมาราวอยู่ใกล้เอื้อม รุ่งเช้า เสียงไก่ขันกระชั้นปลุก ชาวบ้านจับกลุ่มเดินเป็นหมู่ๆ ระฆังวัดขานหง่างเหง่งมากับสายลมชื่น โอ้ นี่คือยอดแห่งปรารถนาเลยครับ
นอกจากนั้นแล้ว ผมยังปรารถนาจะไปอยู่กับชาวบ้าน เพื่อสัมผัสชีวิตชนบทจากชนบทจริงๆ ผมเชื่อว่า สามารถพบน้ำใจไมตรี ความซื่อใส ความบริสุทธิ์ ได้จากที่นั่น ที่ซึ่งสังคมเมืองยังไม่เข้าไปทำลายจนกลายสภาพ ผมมั่นใจครับ ว่า ณ ที่เหล่านั้น ผมจะรู้รสความขมขื่นของประชาชนผู้ถูกกระทำจากภาครัฐ ผู้ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม อันจะนำมาซึ่งการสร้างงานที่มีหลักฐานมั่นคงกว่านี้
นี่คือฝันครับ ฝันซึ่งไร้ทางเป็นไปได้ ในเมื่อผมยังอยู่เมือง ยังถูกขังคุก (คุกที่ศิวิไลซ์) น่าสงสารตัวเองเหลือเกิน ใครมีความฝันอย่างผมบ้างครับ หรือหากมีทางใดทำให้ฝันผมมีทางเป็นจริงได้ โปรดแลกเปลี่ยนความเห็นกับผมด้วยครับ จะเป็นพระคุณยิ่งครับ
25 พฤษภาคม 2549 11:39 น.
ตราชู
ผมตั้งคำถามนี้เล่นๆครับ เนื่องจากฉันท์นั้นมีหลายลีลา เหมือนดนตรีหลากทำนอง ผมจึงอยากถามเพื่อนๆว่า ชอบอ่าน ฟัง หรือเขียนฉันท์ชนิดไหนบ้าง สำหรับผมมี
วิชชุมมาลาฉันท์ ๘ จังหวะลีลาใช้ในบทครวญอ้อยส้อยก็ได้ พรรณนาความงามก็ได้ บรรยายความดำเนินเรื่องก็ได้ ฯลฯ
มาณวกฉันท์ ๘ นี่พลิ้วผกเหมือนวิหคเหินว่อนเลยครับ (เห็นด้วยกับท่านคมทวน คันธนูจริงๆ)
อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ งดงาม จังหวะดี
ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ ระลอกเล่นขึ้นลงสนุกนัก
กมลฉันท์ ๑๒ ฟังดูระรื่นหู แม้จะไม่ระเร่งเร้าอย่างภุชงค์ก็ตาม
เวสสเทวีฉันท์ ๑๒ ฟังดูอ้อยอิ่งดีครับ
อินทรวงศ์ฉันท์ ๑๒ ชอบสี่พยางค์สุดท้ายของบาทที่ ๒ ครับ สะบัดสะบิ้งดีนักแล
วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ สุดยอดของความงาม แต่งยากเสียด้วย ถ้าจะเล่นกับจังหวะตกกระทบหละก็ หืดขึ้นคอจริงครับ
สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙ อลังการ สง่างาม
อีทิสังฉันท์ กระแทกกระทั้ง เต้นขึ้นลงสะใจมากกกกกกกกกก
สัทธราฉันท์ ๒๑ ฟังดูเคร่งขรึมยิ่งใหญ่ก็ได้ ใช้ในบทโศกก็ได้
ฉันท์ใหม่ที่กวีไทยท่านคิดขึ้น
สยามมณีฉันท์ ๘ ซึ่งพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ทรงคิดขึ้น นี่ก็เต้นจังหวะได้สนุกเช่นกัน
เปษณนาถฉันท์ ของ ท่านสุพร ผลชีวิน เรียบง่าย แต่ลีลาก็กระชับเร้าใจ
อินทรธนูฉันท์ ๑๒ ของ ท่านคมทวน คันธนู ฟังกระชับกระฉับกระเฉงดีครับ
หลักๆก็มีเท่านี้ครับ อยากทราบความคิดเห็นของเพื่อนๆบ้าง คุยกันสนุกๆนะครับ
22 พฤษภาคม 2549 08:56 น.
ตราชู
กระทู้นี้ตั้งขึ้นมาด้วยความอยากทราบจริงๆครับ หนังสือกวีนิพนธ์ซีไรท์นั้นมีหลายเล่ม แต่หากถามใจผมให้เลือกเล่มโปรดมา ๕ เล่มแล้วหละก็ เล่มที่ผมเลือกมีดังนี้
นาฏกรรมบนลานกว้าง ของ ท่านคมทวน คันธนู ผมเลือกเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยเหตุสำคัญที่ว่า กวีท่านใช้ฉันทลักษณ์หลากหลาย มีการประสมประสานร้อยกรองของหลวง กับร้อยกรองของราษฎร์อย่างกลมกลืน (ท่านผู้อ่านสามารถพบกลอนเพลงพื้นบ้านต่างๆในบทกวีหลายบท) อีกข้อซึ่งผมชื่นชมก็คือ ความอหังการ์กล้าแกร่ง จนบางบทดูจะเป็นกล้ากลั่นเสียด้วย (ดูบทกวีชุด รุ้งเจ็ดสีเป็นตัวอย่าง)คำแต่ละคำทรงพลังหนักหน่วง แสดงถึงอุดมการณ์อันมั่นคงยิ่งของกวี
เพียงความเคลื่อนไหว ถือเป็นอีกเล่มซึ่งวิเศษยิ่ง เล่มนี้ต่างจากนาฏกรรมฯ ตรงที่ แม้กวีมีจุดประสงค์จะใช้ผลงานเป็นอาวุธต่อสู้เผด็จการเหมือนกัน แต่ลีลา น้ำเสียง ของท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ละเมียดกว่า แข็งแกร่ง ทว่าไม่ถึงแข็งกร้าว ยิ่งกว่านั้น ในด้านพัฒนาการกลอน ผู้อ่านจะพบลักษณะกลอนเสภาซึ่งเน้นสัมผัสอักษรตรงจังหวะตกกระทบ ต่างจากกลอนในหนังสือคำหยาด ซึ่งเดินท่วงทำนองกลอนท่านสุนทรภู่โดยใกล้ชิด กลอนเยี่ยงนี้เหมาะจะใช้เป็น กลองรบ อย่างยิ่ง เพราะฟังน้ำเสียงหนักแน่นจริงจังขึงขังดีนัก
ใบไม้ที่หายไป ต้องขอคารวะและทึ่งกับความสามารถของท่านจิรนันท์ พิตปรีชาไม่รู้วาย ท่านเขียนกลอนได้พลิ้ว ในขณะเดียวกันก็ทรงพลัง การจัดคำในวรรคประณีตบรรจง กระทบใจทุกคำ เป็นคำง่ายๆ อ่านเข้าใจทันที แม้กลอนที่เดินสัมผัสในเยี่ยงคติท่านสุนทรภู่ ท่านก็หยิบมาร่ายเพลงศึกได้อย่างคล่องแคล่ว
ม้าก้านกล้วย นับว่าเป็นบทกวีสะท้อนวิถีชีวิตของชาวชนบทที่ชัดเจนที่สุด คำของท่านไพวรินทร์ ขาวงาม ง่าย ทว่ากินใจ บางช่วงประชดประชันถึงใจเหลือเกิน เป็นการประชดแบบเสียดสีระคนขมขื่นซึ่งผู้อ่านจับอารมณ์ได้ และกวีสามารถทำให้ผู้อ่านคล้อยตามได้ด้วย ผมไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองเป็นคนเมือง หาก รู้สึกว่า ผมเป็นคนชนบทซึ่งประสบชะตากรรมในเมืองใหญ่โดยแท้
ปณิธานกวี ผมยอมรับตรงๆครับ ว่าตีความอภิปรัชญาในเล่มนี้อย่างยากลำบาก (ก็อย่างว่า ผมมันปัญญาน้อยอยู่แล้ว) แต่ยิ่งตีความยาก ก็ยิ่งบูชาท่านผู้นิพนธ์ เสน่ห์อีกประการหนึ่งของท่านอังคาร กัลป์ยาณพงศ์ คือลีลาโคลง โคลงของท่านมิใช่เดินตามขนบนิราศนรินทร์ หากแต่ยึดถือขนบกวีสมัยอยุธยา น่าสังเกตตรงที่ ท่านอังคารมักจะใช้คำเอกจริงโทจริงเสียเป็นส่วนมาก (ข้อยกเว้นต่างๆ เช่น ใช้คำตายแทนคำเอกได้ฯลฯ ท่านจะใช้น้อย) ทำให้ระลอกคลื่นเสียงสูงต่ำดีหนักหนา ที่กล่าวมาคือหนังสือกวีนิพนธ์ซีไรท์ห้าเล่มที่ผมบูชาครับ เพื่อนๆเล่าครับ มีความคิดเห็นอย่างไร ผมอยากรู้จังเลย