29 พฤศจิกายน 2553 17:26 น.
ตราชู
ประจานลักษณ์ ประจักษ์ลือ
ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒
อนาถชี้อะนี้ชัด
อบายซัด อุบาทว์ซวย
ไถลแสร้งแถลงสวย
ประพจน์ศิลป์ประพิณสรรค์
แน่ะเริงร่า นรารู้
สุภาหมู่สิพวกมัน
มลักทางมล้างทัณฑ์
กระแหน่เท็จกระเหน็จทำ
ผลิผิดผลผละพ้นผิด
กระหยิ่มฤทธิ์ กระหยับรำ
ระเริงนาน ระรานหนำ
กระเลียดนี่กระลีหนอ
ประทบเหตุประเทศไห้
วิลาสไร้ วิลัยรอ
ขนัดบ้าคณาบอ
สนัดบุกสนุกเบียน
อสัตย์ทูน อสูรถม
เจอะอาจมจะอาเจียน
สยบซอนสยอนเศียร
กระสือซั้นกระสันสรวล
เขมือบซ้ำขม้ำสิ้น
ขยอกกินขยำกวน
ประเชิญม่าห์ ประชามวล
กระหม่าหม่นกระมลมัว
กิเลสแท้ก็แลถ่อง
สุภาผองซิพันพัว
กระดกริกกระดิกรัว
ประยูรโรจน์ ประโยชน์หรู
ประเดพิษประดิษฐ์พ่น
ขยองฉลขยันชู
แสดงร่ำ เสาะดำรู
มุอุ้มร้าย มิอายหรือ?
ระลวงนึกระลึกหน่วง
ธเรศปวงทุเรศปือ
ประจานลักษณ์ ประจักษ์ลือ-
สะพัดหล้า สุภาลวง
(๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓)
25 พฤศจิกายน 2553 11:00 น.
ตราชู
เฉาแด
กลอน๖ กลอักษรถอยหลังเข้าคลอง (ในที่นี้ เขียนในรูปลักษณ์ซึ่งถอดกลเสร็จสมบูรณ์แล้ว)
แถเสือกเกลือกมั่วกลั้วเปือก
เปือกกลั้วมั่วเกลือกเสือกแถ
ความแปรแท้เลื่อนเชือนแช
แชเชือนเลื่อนแท้แปรความ
ห่ามยิ่ง สิ่งถ่อยบ่อยสิง
สิงบ่อยถ่อยสิ่ง ยิ่งห่าม
ไวปามหลามโลภโอบลาม
ลามโอบโลภหลามปามไว
ใคร่ต่างอ้างอรรถคัดสร้าง
สร้าง, คัด อรรถอ้างต่างใคร่
คดใน ไร้ธรรม คล้ำใจ
ใจคล้ำ ธรรมไร้ ในคด
กฎแก้แย่แล้วแน่วแน่
แน่แน่วแล้วแย่แก้กฎ
ยงยศปดพรั่งหลั่งพจน์
พจน์หลั่งพรั่งปดยศยง
หลงทางข้างหันปั่นคว้าง
คว้างปั่นหันข้าง ทางหลง
เลวบ่งพงศ์พันธุ์มั่นคง
คงมั่นพันธุ์พงศ์บ่งเลว
เหลวแหลกแดกด่วนถ้วนแถก
แถกถ้วนด่วนแดก แหลกเหลว
กรานเปลว เหวนั้นนั่นเปลว
เปลวนั่นนั้นเหว เปลวกราน
บ้านไทยใส่ถมซมไข้
ไข้ซมถมใส่ไทยบ้าน
เรารานพาลดาษกลาดมาร
มารกลาดดาษพาลรานเรา
เศร้าสุด ทรุดมากยากหยุด
หยุดยากมากทรุด สุดเศร้า
แดเฉา เหงาซึมงึมเซา
เซางึมซึมเหงา เฉาแด
(๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓)
หมายเหตุ:
๑. ผมฟังข่าวการเมือง ยินแต่ละขั้ว แต่ละฝ่ายเถียงกันเรื่องแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญมิรู้จบโดยอ้างประโยชน์ชาติบังหน้า เนื้อแท้ปองอวยประโยชน์แก่พวกตน เหล่าตนแล้วทนไม่ไหว จึงเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นครับ
๒. การเล่นกลอักษรถอยหลังเข้าคลองกับกลอน ๖ นั้น ผมศึกษาจากหนังสือ กฎบนกลบท รจนาโดย ท่านคมทวน คันธนู ครับผม
21 พฤศจิกายน 2553 09:45 น.
ตราชู
ถ้อยจำนรรจ์ถึงจันทร
วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
ลอยล่องคระลองศศินเลื่อน
ชุติเดือนพิบูลย์ดวง
แสงซ่านพิศาลคคนะสรวง
ทิพสุขสนุกแสน
ยลโสมสิโทรมมนะวิสัย
วิเคราะห์ไทยประเทียบแทน
หมองด้าว เสาะดาวระดะ ณ แดน
และเสาะเดือนก็เลือนดู
อึงอวล กระอ่วนนรสะอื้น
ฐิตะผืนสยามภูว์
ร้างไร้อุไรวิมลหรู
นคราชะตาราน
บาปนำกระหน่ำขณะผนวก
คณะพวกนิสัยพาล
ต่างห้ำระห่ำรณประหาร
ยุตเหตุธเรศหายน์
เขายีขยี้กรขยำ
ทรกรรมพะใจกาย
ราษฎร์รุมระรุ่มกปณราย
ภยรัดนิพัทธ์รึง
แขท่านประทานเถอะสุขท้น
ลุสุภณสภาพพึง
พ้นข่ายระคายสถุลขึง-
เขะขะคาสิมาขัณฑ์
ขอเลื่องเมลืองรุจิระหล้า
คณนาสุขานันต์
ขอไทยผละไถ่ยุคอธรรม์
กระจะเทียมพระจันทร
(ร่างเดิม๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒)
19 พฤศจิกายน 2553 09:58 น.
ตราชู
เหลือพร่ำจำนรรจ์
กว่าได้เป็นเช่นนี้ เป็นชีวาตม์
ผ่องผุดผาดพึงชมผงมถนอม
ดวงฤดี ชีวิน แม่ยินยอม
ทุกสิ่งพร้อมปั้นปลูกเลี้ยงลูกยา
น้ำเนตรพลั่งหลั่งตวงไหลร่วงตก
ซากทารกถูกผลาญ ถูกลาญ, พร่า
มากเหลือพร่ำจำนรรจ์ ยากพรรณนา
อนิจจาทำได้โดยไม่คิด
คืออีกบทจดจำภาพกำสรด
คืออีกบทการห้ำอย่างอำมหิต
ฆ่าชีวิต ปลิดมณีค่าชีวิต
ระทดจิตจ่อมจมระทมใจ
บาปประดังสังคมสั่งสมขื่น
ยุคครึกครื้นเคล้าคลุกสนุกใคร่
บั่นสายใยให้สลายรักสายใย
ดูดั่งไร้กรุณา ปราศปรานี
นี่หรือเรือง เมืองพุทธ์ พิสุทธิ์ลักษณ์
หล้าตระหนก โลกตระหนัก มากสักขี
จะซ้ำซ้ำจำเจอเวจี
อยู่กระนี้นานไกลเพียงไรกัน
โปรดหยุดเข็ญเข่นขยี้เค้นชีวาตม์
โดยคล้องบาศรักรัดมนัสมั่น
รักของแม่แน่นักคือรักนิรันดร์
ซึ่งรังสรรค์โลกาสถาพร
(๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓)
หมายเหตุ:
ผมเขียนงานชิ้นนี้ขึ้น ภายหลังได้ฟังข่าวการพบศพทารกจำนวนมาก ณ วัดไผ่เงิน ครับผม
19 พฤศจิกายน 2553 07:23 น.
ตราชู
หกเดือน
ธารหลั่งรินถั่งเลือด
ไม่หายเดือดแม้หกเดือน
รอบเมืองมากเรื่องเหมือน
สุมมูนมองสิ่งหมองมล
ค้านธรรมกับคำถาม
ใครคุกคาม ใครฆ่าคน?
บัญหาไหลบ่าหน
โดนบีบหดโดนบดหาย
ยอกช้ำเจ็บย้ำชาติ
ถมรุมราษฎร์ที่เรียงราย
โว่งว้างหวังวางวาย
ขวัญวังเวงคว้างเคว้งเวียน
หาแสงหลายแห่งส่อง
สิ้นแสงทอง สูญแสงเทียน
ปั่นผวนลมป่วนเผียน
ไป่พ้นผ่านปวงพาลโพย
รอยร่อยคงรอยร้าว
ยินเรื่องราวยิ่งแรงโรย
พูนผิดเพิ่มพิษโผย
ยายีแผ่ย่ำแย่ภูว์
เมฆคลุ้ม หมอกคลุมเคลื่อน
ทั้งหกเดือนถ้าหันดู
ยักษ์พล่านหลายย่านผลู
สื่อถ้อยไพล่สาไถยแพลง
ธารหลั่งรินถั่งเลือด
ส่อเค้าเดือดสาดข้นแดง
หวาม ยั่น นึกหวั่น แหยง
เกรงทวนยุคกรมทุกข์เยือน
แด่วาระครบรอบหกเดือนเหตุการณ์สงครามความขัดแย้งทางการเมือง ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ครับผม
(๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓)