18 ตุลาคม 2553 11:37 น.
ตราชู
ยังคงเนา
กลอนกลอักษรลิ้นตะกวด
ทางที่ ๑
คำเขานั้นจรรจามาหวานแว่ว
ฟังสารแล้วสอดคล้องพร้องใสสวย
ว่าเจตน์จ่อก่อเกื้อเอื้อใจอวย
พร้อมได้ช่วยชุบกมลคนตรมตรึง
ทั้งหลายแหล่แลผู้หมู่ทรัพย์ไร้
สร้างสรรพให้ทิ้งแอกแบกถมอึ้ง
พอกันทีชีวิตติดจมบึง
ทรวงรมย์ซึ้งซาบสุขทุกวันคืน
นักกินเมืองเนืองย้ำพร่ำแจ้งบ่ง
แล้วแกล้งหลงลืมแท้แปรผันอื่น
ถ่มน้ำลายปรายบ้วนด่วนพลันกลืน
ชนนั้นดื่นสะอื้นช้ำคร่ำครวญคราง
ลิ้นสองแฉกแตกประเด็นเห็นถ่อยมั่ว
หว่านถ้อยชั่วทำคนล้นป่วนหมาง
เฝ้าไขว่หาคว้าฝันอันอวลจาง
แล้วล้วนร้างนิราศหวังดั่งวายชนม์
พิรุณซู่พรูพร่าง ร่างร้อนลด
ใช่รอน ปลด ดวงใจให้หายหม่น
ร้อนรึงภัยไหม้, ผาก ยากคลายรน
เมื่อพรายกล่นผีกระหังยังคงเนา
กลอักษรลิ้นตะกวด ทางที่ ๒
คำเขานั้นจรรจามาแว่วหวาน
ฟังแล้วสารสอดคล้องพร้องสวยใส
ว่าเจตน์จ่อก่อเกื้อเอื้ออวยใจ
พร้อมช่วยได้ ชุบกมลคนตรึงตรม
ทั้งหลายแหล่แลผู้หมู่ไร้ทรัพย์
สร้างให้สรรพ ทิ้งแอกแบกอึ้งถม
พอกันทีชีวิตติดบึงจม
ทรวงซึ้งรมย์ซาบสุขทุกคืนวัน
นักกินเมืองเนืองย้ำพร่ำบ่งแจ้ง
แล้วหลงแกล้งลืมแท้แปรอื่นผัน
ถ่มน้ำลายปรายบ้วนด่วนกลืนพลัน
ชนดื่นนั้นสะอื้นร่ำคร่ำครางครวญ
ลิ้นสองแฉกแตกประเด็นเห็นมั่วถ่อย
หว่านชั่วถ้อยทำคนล้นหมางป่วน
เฝ้าไขว่หาคว้าฝันอันจางอวล
แล้วร้างล้วนนิราศหวังดั่งชนม์วาย
พิรุณซู่พรูพร่างร่างลดร้อน
ใช่ปลด รอน ดวงใจให้หม่นหาย
ร้อนรึงภัยไหม้ผากยากรนคลาย
เมื่อกล่นพรายผีกระหังยังเนาคง
(๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓)
หมายเหตุ:
กลอักษรลิ้นตะกวด มีปรากฏทั้งในวรรณคดีไทยเรื่อง สิริวิบูลกิตติ์ ของ ท่านหลวงศรีปรีชา (เส้ง) แหละในหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพน สำหรับสิริวิบูลกิตติ์นั้น เรียกกลนี้ว่า ลิ้นตะกวดคะนอง ผมศึกษารูปแบบจากหนังสือรวมบทกวีชุด รอยทราย ของท่านอาจารย์วันเนาว์ ยูเด็น ครับ
12 ตุลาคม 2553 09:03 น.
ตราชู
ตุลาลวง
กลอน กลบทจตุรงคประดับ
ตุลาคมตรมสลักสลดแสน
ตุลาแค้นแน่นประดังประเดียงขาน
ตุลาเดือนเตือนอเนจอนาถนาน
ตุลากาลดาลกะปลกกะเปลี้ยใจ
มวลชนเอยเคยขนัดขนาบสู้
มวลชนพรูกู่สะท้านสะเทือนไหว
มวลชนดาษกลาดขยับเขยื้อนไคล
มวลชนไม่ไหวระเนนระนาบยอม
หนึ่งหกปีที่จรูญจรัสใส
หนึ่งหกได้ไม้ผลิดอกผลิเด่นหอม
หนึ่งหกเหมือนเลือนอุบัติอุบาทว์ตรอม
หนึ่งหกห้อมล้อมแฉล้มฉลวยพราว
หนึ่งเก้าปีที่ประชาประเชิญศึก
หนึ่งเก้าตรึกนึกสยดสยองหนาว
หนึ่งเก้าวับดับสลายสลอนดาว
หนึ่งเก้าร้าวคราวฤดูฤดีภินท์
ไม่มีชัยไหนจะนับจะเนิ่นยุค
ไม่มีสุข ทุกข์ตระหนกตระหน่ำถิ่น
ไม่มีเพลงเปล่งประเล้าประโลมยิน
ไม่มีรินสินธุ์กระแสกระสานติ์เย็น
สาหัสคลั่งดั่งเสมือนสมัยนี้
สาหัสชี้ นี่ระทดระทวยเห็น
สาหัสซ้ำกรรมวิบากวิบัติเป็น
สาหัสเข็ญเน้นมิจากมิจางคลาย
ตุลาคม งมแสวงไสวสิทธิ์
ตุลาฤทธิ์พิษทุรนทุเรศพ่าย
ตุลานี้มีอสัตย์อสูรราย
ตุลากลายคล้ายกระเหน็จกระแหน่ลวง
(๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓)
หมายเหตุ:
กลบทจตุรงคประดับ มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยเรื่อง สิริวิบูลกิตติ์ ของ ท่านหลวงศรีปรีชา (เส้ง) ผมศึกษารูปแบบจากหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์เรื่อง รอยทราย ผลงานของท่านอาจารย์วันเนาว์ ยูเด็น ครับ
7 ตุลาคม 2553 11:28 น.
ตราชู
รำลึก ๗ ตุลา ๒๕๕๑
การประท้วงล่วงปะทะจึงจะถึง-
เป้าหมายซึ่งเร่งเร้าสู่เป้าหมาย
จึ่งความตายขยายลามต่อความตาย
ท่ามเหตุร้ายร้อนรุ่มเร้ารุมรณ
กี่ร่างที่พลีร่างปูทางทอด
ทางยังวอด หวังว้างอยู่หว่างหน
กี่เหล่าขืนยืนท้าปัจจาประจญ
เมืองยังท้นท่วมขนัดเนืองปัจจา
ครั้นสองข้างต่างเคียดโกรธเกลียดคุ
ก็ปะทุโถมกระทั่งกำลังถา
ยามช้างสารหาญสู้บำรูงา
ย่อมพลอยพาหญ้าแพรกลาญแหลกพัง
พอซากศพกลบเสร็จสำเร็จหาย
เรื่องก็คล้ายคลื่นกลบกระทบฝั่ง
ลืมโลหิตติดแดงคราบแห้งกรัง
อีกกี่ครั้ง ยังฉะนี้อีกกี่คราว?
เมื่อไรเมืองเคืองหม่นล่วงพ้นหมอง?
เมื่อไรห้องเวหาศวิลาสหาว?
เมื่อไรดาวพราวรายผกายดาว?
เมื่อไรก้าวผ่านบ่วงแห่งห้วงอบาย?
การประท้วงล่วงปะทะจึงจะถึง-
เป้าหมายซึ่งเร่งเร้าสู่เป้าหมาย
ฉะนั้นเหงื่อ, เนื้อ, เลือด ต้องเดือดละลาย
ไม่สิ้นสายแม้เสร็จสิ้นเจ็ดตุลา
(ร่างเดิม ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ แก้ไขเพิ่มเติม ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒)
7 ตุลาคม 2553 09:02 น.
ตราชู
ดิ่ง ด้อย ถอย ไทย
กลอน กลบทจตุรงคนายก
ยังร้าวยังร้อนยังบ่อนยังบึ้ม
หม่นครองหม่นครึ้มหม่นทึมหม่นถ้วน
ขวัญจากขวัญจรขวัญรอนขวัญรวน
พวกปั่นพวกป่วนพวกก๊วน...พวกกัน
วันผ่านวันผัน วันนั้น วันนี้
หมดแดนหมดดีหมดศรีหมดสันต์
เติมเหี้ยมเติมโหดเติมโทษเติมทัณฑ์
ยิ่งคร้ามยิ่งครั่นยิ่งงันยิ่งงง
เมืองธรรมเมืองทองเมืองผ่องเมืองพุทธ์
ไยโทรมไยทรุดไยหลุดไยหลง?
นอกเยี่ยงนอกอย่างนอกทางนอกธง
ซ้ำเจตน์ซ้ำจงซ้ำวงซ้ำเวียน
วนบ้าวนบาปวนหยาบวนย้ำ
พาชอกพาช้ำพาห้ำพาเหี้ยน
อา! แดอาดูรอากูลอาเกียรณ์
เลวผวนเลวเผียนเลวเจียรเลวจอง
คนหลอกคนล่อคนฉ้อคนฉก
เขายอเขายกเขาปกเขาป้อง
ทรัพย์มีทรัพย์มอบทรัพย์ครอบทรัพย์ครอง
เพลินเที่ยวเพลินท่องเพลินล่องเพลินลอย
ผลาญหน่อผลาญเนื้อผลาญเชื้อผลาญชาติ
อกหวั่นอกหวาดอกราษฎร์อกร่อย
หวังสุขหวังสร้างหวังค้างหวังคอย
เมืองดิ่งเมืองด้อยเมืองถอย...เมืองไทย!
(๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓)
หมายเหตุ:
กลบท จตุรงคนายก มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยเรื่อง สิริวิบูลกิตติ์ ของ ท่านหลวงศรีปรีชา (เส้ง) ผมอาศัยศึกษาลีลากลบทชนิดนี้ จากหนังสือกวีนิพนธ์เรื่อง รอยทราย ของ ท่านอาจารย์วันเนาว์ ยูเด็น ครับผม
3 ตุลาคม 2553 11:23 น.
ตราชู
ปฏิวัติปกรณัม
๑. ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒
ผนิดลึกผนึกหล้า
ติลกค่า ตุลาคม
ระเบ็งชื่อระบือชม
อเนกชนอนลฉาย-
พลังมาดพิลาสมั่น
ถวิลวันเทวษวาย
อุดมรุ้งอะดุงราย
จรูญรัตน์จรัสเรียง
ประชุมหน้าประชานาศ
อธรรม์ฆาตอธึกเคียง
สะเทื้อนซ่านสะท้านเสียง
ระทกซึกระทึกทรวง
สนามลานสนานเลือด
ระด่าวเดือดฤดีดวง
นิมิตเลือง ณ เมืองหลวง
สลายลับ สลับเลว
สขาเร้าสิเข้าเร่ง
เพราะพลุ่งเปล่งพระเพลิงเปลว
จะฝ่าห่า...จะฝ่าเหว
กระโจนหัต กระจัดหืน
ถลาหัน ถลันหา
ไสวป่า แสวงปืน
จุเร้นแฝงแจรงฟืน
อุราใฝ่อุไรฝัน
๒. วสันตวงศะฉันท์ ๑๕
เซ็งแซ่กระแสสรพะ สู้
พละจู่ประจญประจัญ
ก่อการก็ก่านมนฉกรรจ์
ยุตกิจ ณ จิต สกนธ์
โดยเราระเร่าพลวรุด
ตะละจุดประจัญประจญ
โดยพรรคฯ จะผลักประทุฐผล
อภิภพประสบวิภา
ไม่หยุดประยุทธปะทะแย้ง
ธชะแดงสล้างระดา
เหินหาวจะห้าวจรเสาะหา
บถให้พิชัยลุเห็น
เฉกนี้ฤหนีหทยหน่าย
ผิวสายรุเธียรกระเซ็น
ใจผองน่ะผ่องพิริยะเพ็ญ
นรผองจะต้องประไพ
๓. วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
ขวัญว้างคว้างหวิว
หวังลิ่ววูบหล่น
ดลมานดาลหม่น
อกล้นอาลัย
ภาพลักษณ์ พรรคล่ม
โศกจมสิงใจ
วารวันหวั่นไหว
โอ้ว่าอาวรณ์
ทรุดล้มซมล้า
ผันหน้าผินหนี
เด่นแสงแดงสี
ริบหรี่รอนรอน
เหมือนล่ามาหลง
ภูดงเผื่อนดอน
ต่างทาง ต่างถอน
เกลื่อนทัพกลับถอย
เล่ห์เขาเล่าขาน
เชี่ยวชาญช่ำชอง
ปรีดาปรองดอง
กลบร่องเกลี่ยรอย
ท่วงช้อยถ้อยฉ่ำ
สารอำ สำออย
เนื่องเขาเนาคอย
เค้น, กำ, ค้ำ, กุม
พ้องพานผ่านเพ่ง
งันเคร่งเงียบขรึม
เมืองครองหมองครึ้ม
มัวทึมม่านธุม
พาลควั่กพรรคไขว่
จัญไรจึงรุม
เลวทรามลามสุม
มาใส่ไม่เซา
๔. สัทธราฉันท์ ๒๑
ทบทวน ถ้วนถิ่นทมิฬเงา
ปริทิศนภเทา
ชาติอนาถเฉา
ชนาแด
เพลาพาปรวนกระสวนแปร
ชนตุลขณะแล
พร้อยปรุรอยแผล
ไถลพลำ
บ้างเพลินเงินงามอร่ามงำ
สธนะวณิชนำ
หนาธนาหนำ
เกาะเนานาน
บ้างเข้าเคารพสยบคลาน
กะบทพลทหาร
ชัดถนัดชาญ
แฉลบเฉ
สับสนคนส่ำคะมำเซ
ทลิททกประเด
พลั้งผุพังเพ
สภาพโรย
แล้วใครใดเล่าจะเผาโพย
ภิทะวิฆนะประโดย
ปรายสุหร่ายโปรย
ประพรมสินธุ์
ใครชิดติดด้าวสกาวดิน
หตะนิกรทมิฬ
เชิดประเสริฐฉิน
ประชาชน
(ร่างเดิม๒๙ ถึง ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ปรับแปรแก้ไขบางถ้อยคำ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓)
หมายเหตุ:
วสันตวงศะฉันท์ ผมเขียนตามในหนังสือ ความรู้เกี่ยวกับร้อยกรอง ซึ่งท่านอาจารย์มะเนาะ แหละท่านอาจารย์วันเนาว์ ยูเด็น เรียบเรียงร่วมกันครับ ผู้เรียบเรียงทั้งสองท่านกล่าวว่า ฉันท์นี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงประดิษฐ์ขึ้น โดยทรงนำวสันตดิลกฉันท์กับ อินทรวงศ์ฉันท์ มาประสมกันครับผม