27 สิงหาคม 2555 09:27 น.

สิ้นเสียง จิตรกรกวี อังคาร กัลยาณพงศ์

ดาวศรัทธา

(คัดลอกมาจากบทความ โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 	26 สิงหาคม 2555 22:03 น.)

    " ใครดูถูกดูหมิ่นศิลปะ
       อนารยะไร้สกุลสถุลสัตว์
       ราวลิงค่างเสือสางกลางป่าชัฏ
       ใจมืดจัดกว่าน้ำหมึกดำ
       เพียงกินนอนสืบพันธุ์นั้นฤๅ
       ชื่อว่าสิ่งประเสริฐเลิศ (ล้ำ)
       หยามยโสกักขฬะอธรรม
       เหยียบย่ำทุกหย่อมหญ้าสาธารณ์
       ภพหน้าอย่ามีรูปมนุษย์
       จงผุดเกิดในร่างดิรัจฉาน
       หน้าติดดินกินขี้เลื้อยคลาน
       ทรมาณทุกข์ร้อนร้ายนิรันดร์เอย "
       
       ไม่ได้ยินอีกแล้ว เสียงอันอหังการ์ ของ จิตรกรกวีรุ่นใหญ่นาม อังคาร กัลยาณพงศ์
       
       เขาผู้มักเปล่งชื่อ และนามสกุลของตัวเอง ให้เราได้ยินอย่างชัดถ้อยชัดคำ ในทุกครั้งที่ร่ายกวีจบบท และเขาผู้มักบอกใครต่อใครว่า "ผมต้องเกิดเป็นจิตรกรเขียนรูป เป็นกวีเขียนบทกวีไปอีกหลายชาติและทุกชาติ"
       เพราะเมื่อเช้ามืดของของวันนี้ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 00.35 น. ท่านอังคาร (ที่คนจำนวนมากเรียกติดปาก) ในวัย 86 ปี ได้อำลาจากโลกนี้ไปแล้ว ด้วยโรคชรา
       หลังมีข่าวแพร่กระจายให้คนในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กได้รับรู้ก่อนหน้านั้นไม่นานว่า “ท่านอังคารป่วยหนัก ขณะนี้อยู่ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์” แต่ใครจะฉุกใจคิดว่า วาระสุดท้ายของจิตรกรกวีผู้นี้ได้เดินทางมาถึงแล้ว 
       
       ดังนั้น วันซึ่งเป็นวันสิ้นเสียงของเขา กลับเป็นวันที่เสียงสะอื้นไห้ของใครหลายคนได้เริ่มต้นดังขึ้น
       
       พร้อมบอกเลื่อนภารกิจอื่นๆออกไป เพื่อเตรียมตัวไปร่วมพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และการสวดพระอภิธรรมศพที่มีต่อเนื่องกันไปเป็นเวลา 7 วัน
       
       ณ วัดตรีทศเทพ ศาลา 2 จึงกลายเป็นสถานที่รวมตัวของคนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชมและรักใคร่ในผลงานและตัวตนของอังคารโดยมิได้นัดหมาย
       
       ซึ่งเชื่อแน่ว่าวิญญาณของ เจ้าของรางวัลกวีนิพนธ์ดีเด่นคนแรกของ มูลนิธิเสฐียรโกเศศนาคะประทีป ปี 2515 , รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ (S.E.A. Write ) ปี 2529 จากผลงานกวีรวมเล่มชื่อ ปณิธานกวี และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์)ปี 2532 คงรับรู้ได้ ถึงหัวใจของกัลยาณมิตรผู้ยังอยู่ ที่ต่างรู้สึกร่วมกันว่า “เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง”
        
       ศิลปินผู้ไม่ดัดจริต
       
       หนึ่งในจำนวนนั้นคือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการคนแรกของ "สังคมศาสตร์ปริทัศน์" ที่มีส่วนทำให้บทกวีของอังคารได้เผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง,ผู้ทำหน้าที่เป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอภรรยา “อุ่นเรือน” ให้อังคาร, ผู้เป็นประธานฝ่ายเจ้าสาว ให้กับงานแต่งของ “วิศาขา” ลูกสาวคนเล็กของอังคาร ตลอดจนเป็นคนที่ภรรยาของอังคารโทร.ไปแจ้งบอกข่าวการจากไปของสามีเป็นคนแรก
       
       และโอกาสสุดท้าย ขอมาทำหน้าที่เป็นผู้อัญเชิญน้ำหลวงอาบศพรดดร่างที่ไร้วิญญาณของกัลยาณมิตรที่เขานิยามว่าเป็น “ศิลปินผู้ไม่ดัดจริต”
       
       “ท่านอังคารเป็นคนที่ไม่ดัดจริตเลย คนไทยดัดจริตกันเยอะครับ ยิ่งศิลปิน ยิ่งกวี ดัดจริตกันมากเลย อวดรู้ในสิ่งที่ตนไม่รู้ อวดความงามในสิ่งที่ตัวเข้าไม่ถึง ท่านอังคารเข้าถึงความงามแม้ในอดีต และปัจจุบัน และแม้จะไม่รู้ภาษาฝรั่งแต่เขียนกวีนิพนธ์ออกมา ฝรั่งอาย มีความเป็นไทย มีความเป็นสากล มีความเป็นเลิศ และไม่ได้มุ่งถึงสตางค์ อุทิศตนทั้งหมด เพื่อสิ่งที่ถูกต้องดีงาม
       
       กรณี 6 ตุลา 14 ตุลา ก็ดี คุณอังคารโกนหัวเลยนะครับ เพื่ออุทิศให้กับคนที่ถูกรังแก รักคนเล็กคนน้อย คนยาก คนจน รักความยุติธรรม กล้าท้าทายอำนาจอธรรม คนอย่างนี้หาได้ยากมาก และไม่ใช่ธรรมดา สามารถแสดงออกด้วยถ้อยคำ ซึ่งคนอย่างเราแสดงออกไม่ได้ และไม่ใช่ถ้อยคำอย่างเดียว ภาพเขียนก็วิจิตร และประเสริฐ เพราะฉะนั้น คนอย่างนี้ ผมถือว่าเป็นกุศลผลบุญที่ได้รู้จัก ได้เป็นกัลยาณมิตร”
       
       เช่นเดียวกับ ถวัลย์ ดัชนี ผู้ที่บอกว่า ครั้งหนึ่งตนก็มีโอกาสได้รับอริยทรัพย์อันยิ่งใหญ่ จากรุ่นพี่คณะจิตกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ผู้นี้
       
       “พี่อังคารไม่สะสมทรัพย์ แต่ให้อริยทรัพย์แก่น้องๆ นั่นคือทัศนคติและความรู้ที่ยิ่งใหญ่ของความเป็นนักปราชญ์ ผมอยู่ภายใต้ร่มเงาที่พี่อังคารสอนมาตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยปี 1 แต่ตอนนั้นพี่อังคารจบออกไปแล้ว เพราะผมกับพี่อังคารห่างกัน 20 ปี
       
        แล้วเราก็มาเป็นเพื่อนสนิทกันตอนที่ผมจบออกมา แล้วต้องเขียนรูป ผมตามไปดูพี่อังคารที่นู่นที่นี่ แล้วก็เอารูปของพี่อังคารไปแสดงหลายแห่งที่อังกฤษ เยอรมัน และที่ไหนต่อที่ไหน ซึ่งเป็นที่ฮือฮา น่าปรารถนาของนักสะสมรูปในยุโรปหรือในอเมริกาที่ไม่เคยเห็นรูปของพี่อังคารมาก่อน
       
        แต่น่าเสียดายที่ภายหลังต่อมาพี่อังคารไม่ได้ทุ่มเทให้กับงานจิตรกรรมเท่าไหร่ ทุ่มเทในการที่จะเป็นกวีมากกว่า แต่กระนั้นแกก็เขียนรูปที่ยิ่งใหญ่ไว้หลายรูป”
       
       และ ปัญญา วิจินธนสาร ที่บอกว่า อังคารเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลังกล้าที่จะคิดสร้างสรรค์งานศิลปะไทยในแนวใหม่ขึ้นมา
       
       “ในยุคสมัยที่ ท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เริ่มสอนงานศิลปะสมัยใหม่ให้กับพวกเรา ท่านอังคารกลับทำงานศิลปะร่วมสมัยที่เป็นไทย ซึ่งไม่มีใครคิด ท่านอาจารย์ศิลป์ยังชมว่า ท่านมีแนวคิดริเริ่มในการทำงานศิลปะไทยลักษณะใหม่ที่เป็นร่วมสมัย หรือเป็นสากลได้น่าชื่นชมมาก และผมคิดว่า ผลงานของท่าน เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลังๆแม้กระทั่งผม ให้กล้าที่จะคิดหรือกล้าที่จะทำงานศิลปะที่สืบทอดจากประเพณีให้เป็นลักษณะใหม่ขึ้นมา”
       
       ไม่ไปนิพพาน ฉันจะเป็นกวี
       
       ความกล้าที่จะแหกกฎและแตกต่างพบได้เช่นเดียวในบทกวีของอังคาร ยืนยันได้จากปากคำของ ชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประทศไทย
       
       ผู้เคยได้สัมผัสกับถ้อยอักษรอันพิเศษ ของกวีชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชผู้นี้ มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และครั้งหนึ่งในฐานะประธานชมรมวรรณศิลป์ เคยเชิญอังคารไปเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนบทกวีด้วยเช่นกัน
       
       “ท่านอังคารเป็นกวีที่ไม่เหมือนใคร คือถ้าเราดูกัน กวีทั้งหลายอาจจะมีเส้นทางของตัวเองที่ อาจจะเดินตามรอยสุนทรภู่ หรือเขียนตามแบบฉบับที่เคยมีมา แต่สำหรับท่านอังคารเราถือว่าท่านเป็นคนที่แตกต่าง แหวกไปจากคนอื่น
       
        งานของท่านในยุคแรกๆ บางคนจะรู้สึกว่าเป็นอะไรที่แตกต่าง จนกระทั่งบางคนไม่ยอมรับ เพราะว่าเป็นการเขียนกลอนที่ไม่ได้อยู่ในวิสัยของกลอนสุนทรภู่ คนจะงงมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความแตกต่างที่ตื่นเต้นมากสำหรับคนอ่าน เรารู้สึกว่าคนนี้ไม่เหมือนใคร มีอะไรพิเศษ การใช้คำของท่านมีเนื้อหาสาระที่แตกต่าง เนื้อหามีความลึกทางจิตวิญญาณมากที่สุด ไม่มีกวีคนไหนหรอกค่ะ ที่บอกว่าไม่ไปนิพพาน มีคนเดียว คือคนนี้ ไม่สนใจจะไปนิพพาน เพราะว่าฉันจะเป็นกวี และมีความรัก มีความเข้าใจโลก เข้าใจจักรวาล เข้าใจธรรมชาติสูงมาก”
       
            
       
       ความทุกข์มันเจียระไนมนุษย์
       
       อังคาร เคยให้สัมภาษณ์กับ “ธรรมลีลา” นิตยสารธรรมะในเครือ ASTVผู้จัดการ และชี้ให้เราได้เห็นถึงประโยชน์ของความทุกข์ว่า
       
       “ความทุกข์มันสอนมนุษย์ ถ้าเราไม่เข้มแข็งก็ตายไปเลย ผมว่าความทุกข์มีประโยชน์ที่สุด เพราะความทุกข์มันเจียระไนมนุษย์ (น้ำเสียงสะอื้น) ถ้าเราเกิดเป็นเพชรพลอยที่ไม่มีเหลี่ยมมุมอันงดงาม ความทุกข์มันเจียระไนเราให้เป็นมนุษย์ที่มีเหลี่ยมแพรวพรายขึ้น เป็นแก้วมณี หรือเป็นเพชรก็ได้ ดังนั้นอย่าคิดว่าความทุกข์จะไม่มีประโยชน์”
       
       และยังเน้นย้ำเรื่องการดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทว่า
       
       “ให้ใช้วันคืนบำเพ็ญประโยชน์ ถ้าเราบวชอยู่ เราก็รีบทำวิปัสสนาให้ลุล่วงถึงพระอรหันต์ แต่ถ้าเราอยู่ในโลกมนุษย์ โลกโลกียะ เราก็ต้องรีบทำงานที่เราคั่งค้าง งานที่จะเป็นอนุสาวรีย์ของชีวิต ถ้าเราเป็นแบบเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เราก็ต้องรีบแต่งกาพย์ห่อโคลง ให้เสร็จ ถ้าแต่งค้าง ก็แต่งให้เสร็จเสีย เดี๋ยวจะตายเสียก่อน
       
        ผมเกิดมาเป็นกวีจะให้ทำอะไร คงต้องแต่งกวีไปจนตาย เกิดชาติหน้าหรือไปโลกไหนก็ต้องไปแต่ง ตกนรก ถ้าว่างก็ต้องแต่ง สมมติว่าเราอยู่ในกระทะทองแดง ถ้าว่าง ก็แต่งโคลงไปด้วยก็ได้ ถ้าไม่ร้อนจนเกินไปนะ (หัวเราะ) ต้องแต่งทุกแห่ง เพราะว่าผมต้องเกิดเป็นจิตรกรเขียนรูป เป็นกวีเขียนบทกวีไปอีกหลายชาติและทุกชาติ”
       
       งดพวงหรีด เพื่อ กองทุนอังคาร กัลยาณพงศ์
       
       ก่อนหน้านี้ จากคำกล่าวของอังคาร ที่เคยกล่าวว่า “คนเราชอบทำอะไรดีๆให้กัน ต่อเมื่อตายไปแล้ว ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำไมไม่ทำสิ่งดีๆให้กัน” เป็นแรงบันดาลใจให้คนในแวดวงศิลปะจำนวนหนึ่งก่อตั้ง กองทุนสิปปปชา
       
       หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยจัด งานมุทิตาจิต โอกาสอายุครบ 85 ปี ให้แก่อังคาร ที่นิด้า และ งานมุทิตาจิต ให้แก่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ จ.นครศรีธรรมราช
       
       การสูญเสียผู้ที่เคยเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้กองทุนฯ เกิดความคิดที่จะก่อตั้ง กองทุนอังคาร กัลยาณพงศ์ ตลอดจนสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บผลงานให้อย่างเป็นทางการ โดยขออนุญาตทุกคนงดพวงหรีด แล้วเปลี่ยนเป็นเงินบริจาคเข้ากองทุนที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้ว่าอังคารจะเคยกล่าวว่าไม่ปรารถนาที่จะให้ใครทำอะไรเพื่อตัวเอง
       
       “ช่วงนี้เราพยายามที่จะรวบรวมผลงานของท่านให้เป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งงานส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน เดิมทีเราก็คิดกันถึงเรื่องที่จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ท่าน หรือแม้กระทั่งตั้งกองทุนของท่าน แต่ด้วยที่ยังไม่พร้อมทีเดียว เราก็เลยทำกองทุนสิปปปชา ให้เป็นรูปธรรมขึ้นก่อน
       
       ถ้าพูดถึงตัวท่านเองก็แทบไม่อยากมีอะไรเลย นอกจากผลงานที่ท่านอยากจะทำแล้ว แต่ว่าเราเห็นความสำคัญของงานท่าน เราก็อยากที่จะสืบสานให้สังคมโดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ ได้เห็นคุณค่าของงานที่ท่านทำ มากยิ่งขึ้น” ปัญญา วิจินธนสาร ประธานกองทุนสิปปปชา กล่าว
       
       คุณพ่อผู้สุนทรีย์
       
       ด้านครอบครัว ลูกๆทั้ง 3 คนของอังคาร ได้เปิดใจว่า ทุกคนรวมถึงคุณแม่ เตรียมใจต่อการจากไปของคุณพ่อมาระยะหนึ่งแล้ว และกล่าวว่าตลอดมาทุกคนมีความผูกพันกับคุณพ่อมาก แม้จะมีอายุห่างกับคุณพ่อมากก็ตาม
       
       “คุณพ่อเป็นคุณพ่อที่น่ารักมาก อารมณ์ดี มีสุนทรีย์ได้ตลอดทุกช่วงเวลาของชีวิต และทุกลมหายใจเลย
       
        แม้แต่บนโต๊ะอาหารก็สามารถสร้างเรื่องที่สนุกสนาน คุณพ่อสามารถผูกเรื่องและจินตนาการได้ทุกอย่างนับแต่เรื่องขำขัน ไปจนถึงเรื่องของชาวบ้านและจักรวาล”
       
       และบอกด้วยว่า คุณพ่อได้มอบหมายให้ ภูหลวง(ลูกชายคนโต) เป็นผู้จัดการมรดก,อ้อมแก้ว (ลูกสาวคนกลาง) เป็นผู้จัดการผลงานจิตรกรรม และ วิศาขา(ลูกสาวคนเล็ก) เป็นผู้จัดการผลงานบทกวี
       
       “แต่สรุปแล้วทั้งหมดทุกคนจะช่วยกันดูแล เพื่อช่วยกันดำรงในส่วนที่เป็นชื่อเสียงและเจตนารมณ์ของคุณพ่อ”
       
       จำลองแนะ ปฏิบัติบูชา ระลึกถึงอังคาร
       
       ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชาเพื่อประชาธิปไตย ทั้งในช่วงการชุมนุม 193 วันในปี 2551 และการชุมนุม 158 วัน ในปี 2554 ด้วยอังคาร เคยขึ้นเวทีอ่านบทกวีและขับเสภาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ร่วมชุมนุมอยู่หลายครั้ง
       
       หลังการรดน้ำศพ จำลอง ศรีเมือง หนึ่ง ในแกนนำ ฯ ได้เปิดใจว่า ส่วนตัวมีความประทับใจ ในอังคารหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นผู้ที่มองเห็นว่าอะไรผิดก็บอกว่าผิด และการดำรงมั่นในการแต่งกายแบบไทยโบราณ
       
       และด้วยความที่อังคารจากไปอย่างกะทันหัน จึงยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าจะทำอะไรเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติให้บ้าง ทว่าจะมีการปรึกษาหารือกันหลังจากนี้ อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่า อยากให้ทุกคนร่วมกันระลึกถึงจิตรกรกวีผู้นี้ด้วยการปฏิบัติบูชา
       
       “แต่ละคนจะต้องดำเนินรอยตามท่านบ้าง ท่านเป็นคนตรง และเป็นคนที่พยายามทำเพื่อสังคมบ้านเมือง ยิ่งเรามาเสนอความคิดความเห็นให้บ้านเมืองเราอยู่รอดเท่าไหร่ ก็นับว่าเราได้ทำตามท่านแล้ว อย่างนี้เราเรียกว่าปฏิบัติบูชา ดีกว่าที่จะไปสร้างอะไรเป็นที่ระลึกถึงท่าน เพราะนั่นเป็นเพียงอามิสบูชาเท่านั้นเอง ซึ่งผลจะสู้ปฏิบัติบูชาไม่ได้”
       
       ประวัติ
       
       อังคาร กัลยาณพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของ นายเข็ม กัลยาณพงศ์ (อดีตกำนันตำบลท่าวัง) และ นางขุ้ม กัลยาณพงศ์
       
       ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาที่ โรงเรียนวัดจันทาราม แล้วมาเรียนต่อที่โรงเรียนวัดใหญ่ จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
       
       จากนั้นจึงย้ายไปเรียน โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดที่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช แล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาศึกษาด้านศิลปะที่ โรงเรียนเพาะช่าง และที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
       
       เป็นศิษย์ของศิลปินใหญ่อย่าง ศ.ศิลป์ พีระศรี, อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ และ อ.เฉลิม นาคีรักษ์ ทำให้ได้ติดตามและร่วมงานกับอาจารย์ในการศึกษาค้นคว้างานด้านต่าง ๆ ทั้งศิลปกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์
       
       ชีวิตที่ต้องร่อนเร่เพื่อเรียนรู้และสร้างสรรค์การวาดภาพและเขียนบทกวี ของอังคาร ทำให้ได้มีโอกาสคุ้นเคยกับศิลปินและกวีร่วมยุคสมัยหลายคนและ มีผลงานบทกวีปรากฏในหนังสือ "อนุสรณ์น้องใหม่" มหาวิทยาลัยศิลปากร
       
       กระทั่งได้พบกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการคนแรกของ "สังคมศาสตร์ปริทัศน์" บทกวีของอังคาร กัลยาณพงศ์ จึงได้พิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง และมีผลงานจัดพิมพ์ที่สร้างความตื่นตัวตื่นใจให้กับวรรณกรรมไทยมาเนิ่นนาน อาทิ กวีนิพนธ์ (2507), ลำนำภูกระดึง (2512), สวนแก้ว (2515), บางกอกแก้วกำสรวลหรือนิราศนครศรีธรรมราช (2512) ฯลฯ
       
       เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ดีเด่นคนแรกของ มูลนิธิเสฐียรโกเศศนาคะประทีป พ.ศ.2515 กระทั่งปี พ.ศ.2529 ผลงานกวีรวมเล่มชื่อ ปณิธานกวี ถูกเลือกให้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ (S.E.A. Write )
       
       จากนั้น ในปี พ.ศ.2532 ได้รับคัดเลือกให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ทว่าตลอดชีวิตของเขา ได้รับยอมรับทั้งในด้านวรรณศิลป์และทัศนศิลป์				
ไม่มีข้อความส่งถึงดาวศรัทธา